ThaiPublica > เกาะกระแส > คตง. ตรวจสอบพบโรงหนัง 241 แห่งละเลยระบบป้องกันอัคคีภัย จี้ผู้ว่า กทม. เร่งบังคับใช้ กม.

คตง. ตรวจสอบพบโรงหนัง 241 แห่งละเลยระบบป้องกันอัคคีภัย จี้ผู้ว่า กทม. เร่งบังคับใช้ กม.

10 เมษายน 2017


เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2560 มีการประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) โดยมีนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม เป็นประธานฯ ได้พิจารณาผลการตรวจสอบกรณีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตามแผนการตรวจสอบการดำเนินงานแบบต่อเนื่องหลายปี (Multi-Year Performance Audit Plan: MPAP) ในช่วงปีงบประมาณ 2559-2561 ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยได้ตรวจสอบอาคาร 9 ประเภท ได้แก่ อาคารสูง อาคารใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรม อาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัยรวม อาคารโรงงาน ป้ายโฆษณา และสถานบริการ ทั้งนี้เพื่อพิจารณาว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ผลการตรวจสอบของ สตง. มีรายละเอียดดังนี้

ข้อตรวจพบที่ 1 อาคารส่วนใหญ่ไม่ยื่นรายงานการตรวจสอบสภาพอาคารตามที่กฎหมายกำหนด

จากการตรวจสอบอาคารที่เข้าข่ายต้องยื่นรายงานการตรวจสอบสภาพอาคารต่อกรุงเทพมหานคร จำนวน 3,372 แห่ง จากอาคารทั้งหมด 7,683 แห่ง พบว่าไม่ยื่นรายงานการตรวจสอบ จำนวน 2,765 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 82% ของอาคารที่เข้าข่ายต้องยื่นรายงานต่อ กทม. และจากการติดตามผลการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร ทางสำนักการโยธาได้มีหนังสือแจ้งเตือนไปถึงเจ้าของอาคารที่เข้าข่าย ให้ดำเนินการจัดส่งรายงานการตรวจสอบสภาพอาคารภายใน 60 วัน พบว่าเจ้าของอาคารเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ จำนวน 2,561 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 90.99% ส่งผลกระทบให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือใช้บริการอาคาร ซึ่งสาเหตุเกิดจากกรุงเทพมหานครไม่กำหนดมาตรการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่เพิกเฉย หรือไม่ยื่นรายงานตรวจสอบตามมาตรา 32 ทวิ ที่ระบุให้เจ้าของอาคารต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบสภาพอาคาร และส่งรายงานตรวจสอบสภาพต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น

เหตุการณ์เพลิงไหม้โรงหนังเมเจอร์ปินเกล้า เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2559
ที่มาภาพ: http://www.thairath.co.th/content/677168

ข้อตรวจพบที่ 2 ระบบป้องกันอัคคีภัยในโรงภาพยนตร์ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

จากการตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัยในโรงภาพยนตร์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 330 โรง ในอาคาร 44 แห่ง ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ออกหนังสือด่วนแจ้งเจ้าของอาคารให้ดำเนินการแก้ไขภายใน 30 วัน นับจากวันแจ้ง (ครบกำหนดวันที่ 17 กันยายน 2559) แต่ยังไม่ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จ จำนวน 89 โรง (ขอขยายเวลาเพิ่มเติม) ขณะที่โรงภาพยนตร์อีกจำนวน 241 โรง ยังคงเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ

นอกจากนี้ สตง. ได้ตรวจสอบการติดตั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีอยู่เดิมและที่สร้างใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 1,067 ป้าย พบว่ามีป้ายผิดกฎหมาย จำนวน 242 ป้าย คิดเป็น 22.68% ของป้ายทั้งหมด (ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 212 ป้าย และก่อสร้างผิดแบบ จำนวน 30 ป้าย) ซึ่งสำนักงานเขตลาดกระบังมีป้ายผิดกฎหมายมากที่สุด จำนวน 35 ป้าย ได้มีคำสั่งให้รื้อถอน จำนวน 31 ป้าย ปัจจุบันยังคงฝ่าฝืนใช้ประโยชน์เพื่อการโฆษณา จำนวน 25 ป้าย คิดเป็น 80.65% ของป้ายที่มีคำสั่งให้รื้อถอน

หลังจากที่ประชุม คตง. พิจารณาผลการตรวจสอบของ สตง. แล้ว จึงมีมติให้ดำเนินการตามมาตรา 44 และมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยแจ้งข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการดังนี้

1. กำหนดมาตรการและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับเจ้าของอาคารที่เพิกเฉยไม่ยื่นรายงานตรวจสอบสภาพอาคาร เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือใช้บริการ

2. สำรวจอาคารที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และตรวจสอบการยื่นรายงานตรวจสอบสภาพอาคาร หากพบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด

3. กำหนดมาตรการและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับเจ้าของอาคารที่ประกอบการโรงภาพยนตร์ที่เพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมาย

4. ศึกษาปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไข กรณีป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมายไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่งและยังมีการใช้ประโยชน์ โดยหารือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อกำหนดมาตรการและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป