“จีน” เปิดสมรภูมิข้อมูล วิกฤติน้ำโขงแห้ง ร่วม 6 ประเทศศึกษาผลกระทบจากเขื่อนบนลุ่มแม่น้ำโขง ชิงพื้นที่ลุ่มน้ำโขงคืนหลังสหรัฐฯ เปิดผลศึกษาเขื่อนมีผลระดับน้ำลุ่มน้ำโขง ขณะที่นักวิชาการ กลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย ชี้ เขื่อนคือต้นเหตุระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงเสียหาย
การศึกษาผลกระทบจากการสร้าง “เขื่อน” ของจีนต่อการเปลี่ยนแปลงของลุ่มน้ำโขง กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากผู้เชี่ยวชาญจีนไม่ยอมรับผลการศึกษาของ บริษัทอายส์ ออน เอิร์ท (Eyes on Earth) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านน้ำ และได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ
ผลวิจัยอายส์ ออน เอิร์ท ระบุชัดว่า การสร้างเขื่อนของจีนส่งผลให้ประเทศผู้ใช้น้ำด้านล่างประสบปัญหาภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงในปี 2562 ขณะที่ระดับน้ำเฉลี่ยในจีนสูงกว่าประเทศด้านล่าง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ “จีน” เห็นว่าผลการศึกษาดังกล่าวยังไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงด้านอุทกศาสตร์ เนื่องจากปริมาณกระแสน้ำมาจากการคำนวณ แต่ไม่ใช่ผลจากการวิเคราะห์ปริมาณกระแสน้ำจริงที่ผ่านเชียงแสน
ขณะที่ผลการวิเคราะห์อุทกศาสตร์และน้ำฝนของผู้เชี่ยวชาญจีนแสดงให้เห็นว่า ความแห้งแล้งในปี 2562 ของประเทศผู้ใช้น้ำด้านล่างมีสาเหตุสำคัญคือปริมาณฝนในฤดูฝนไม่เพียงพอ ประกอบกับการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดอุณหภูมิสูงผิดปกติ และอุณหภูมิที่สูงนี้ทำให้น้ำระเหยไปมาก จนทำให้ปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงแห้งผิดปกติไป
ข้อถกเถียงที่ยาวนานตลอด 28 ปี ที่ว่าอะไรเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การไหลของน้ำและระดับน้ำของแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง ไปอาจจะจบลงดวยการศึกษาครั้งใหม่ หลังจากจีนกระโดดเข้าร่วมศึกษาวิจัยภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง–ล้านช้าง (Mekong–Lancang Cooperation: MLC) ที่มีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน
นายชุมลาภ เตชะเสน ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เชื่อมั่นในอนาคตว่า หลังจากที่จีนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล จะทำให้ดีขึ้นกว่าในอดีต จากเดิมที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) มีแค่ 4 ประเทศ กัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม
“ผมเชื่อว่าหลังจากคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง (MRC) และกรอบความร่วมมือแม่โขง–ล้านช้าง (MLC) ได้ร่วมมือกันในเรื่องของการแชร์ข้อมูลทำให้มีข้อมูลเรื่องระดับน้ำในประเทศต้นน้ำอย่างจีนมากขึ้น อย่างน้อยทำให้สามารถพัฒนาระบบการแจ้งเตือนชุมชนริมแม่น้ำโขงได้มากขึ้น”
ข้อตกลงร่วมกันของ 6 ประเทศ จะส่งนักวิจัยมาร่วมกันศึกษาในโครงการศึกษาวิจัยปัญหาผลกระทบของลุ่มน้ำโขงซึ่ง นายชุมลาภเชื่อว่า ข้อมูลทางด้านวิชาการจะทำให้ข้อถกเถียงหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในลุ่มแม่น้ำโขงได้รับความชัดเจนมากขึ้นจนเกิดการยอมรับร่วมกัน เนื่องจากงานวิชาการคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งทุกประเทศจะต้องยอมรับ
“ทั้ง 6 ประเทศส่งนักวิชาการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมาทำงาน ซึ่งผลการศึกษาที่ออกมาจะได้รับความเชื่อถือจนสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มในการทำงานร่วมกันในเรื่องการติดตามผลกระทบของแม่น้ำโขงในอนาคตได้” นายชุมลาภกล่าว
เช่นเดียวกับนายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 หวังเช่นกันว่า เมื่อจีนให้ความร่วมมือในเรื่องข้อมูลการระบายน้ำของเขื่อนหรือการศึกษาผลกระทบ รวมไปถึง 4 ประเทศในเอ็มอาร์ซี จะทำให้สถานการณ์แม่น้ำโขงดีขึ้น
“ตอนนี้ สทนช. ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ และเฝ้าระวังระดับน้ำในลุ่มน้ำโขง ถ้าระดับน้ำสูงขึ้นมาเราจะแจ้งเตือนชาวบ้าน แต่ยอมรับว่าการแจ้งเตือนชาวบ้านยังทำได้ไม่ดีตามเป้าหมาย ด้วยระยะเวลาประสานงานกับจีน ซึ่งในเรื่องนี้จะกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันในอนาคต”
ส่วนในเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนจีน นายเจนศักดิ์บอกว่า ความเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เห็นชัดเจนมากที่สุดคือระยะทางการไหลของน้ำและระดับน้ำที่ต่างจากอดีต ที่ระยะเวลาการไหลของน้ำจากสถานีเชียงแสน จ.เชียงราย ไปถึงสถานีเชียงคาน จ.เลย ใช้เวลา 1-2 วัน แต่ปัจจุบันใช้เวลา 14 วัน ทำให้ต้องการการบริหารจัดการมากขึ้น
สำหรับการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของลุ่มน้ำโขงภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง–ล้านช้าง (MLC) ซึ่งมีจีนเป็นเข้าร่วมในครั้งนี้จะเริ่มศึกษาในปี 2565–2566 โดยในปีแรกจะศึกษาสาเหตุความเปลี่ยนแปลงระดับน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งในเรื่องของสภาพภูมิกาศและระดับน้ำ
ส่วนปีที่สอง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะมีแนวทางในการปรับตัวอย่างไร โดยจะเป็นแนวทางกาจัดการปัญหาของแต่ละประเทศร่วมกัน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา “จีน” ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนกับ “คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง” หรือเอ็มอาร์ซี ซึ่งมี 4 ประเทศแม่โขงตอนล่างมาโดยตลอด การเข้ามาของ “จีน” ในครั้งนี้จึงมีความหมายมากกว่าการศึกษาผลกระทบของลุ่มน้ำ เพราะอาจหมายถึงการชิงการนำในเชิงข้อมูลหลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มเปิดหน้าศึกษาไปก่อนหน้านั้นแล้ว
น้ำแม่โขง: สมรภูมิชิงข้อมูล สหรัฐฯ–จีน
การที่ “จีน” เข้ามาร่วมศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ไม่ได้มีความหมายเพียงการให้ความร่วมมือในฐานะประเทศต้นน้ำ หากทำให้แม่น้ำนานาชาติอย่างแม่น้ำโขงกลายเป็นสมรภูมิข้อมูลระหว่าง 2 มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนไปทันที
สหรัฐฯ ได้ให้ความสนใจการเปลี่ยนแปลงในลุ่มน้ำโขง โดยให้งบประมาณสนับสนุนการทำงานของภาคีลุ่มน้ำโขงมาตลอดนับจากปี 2552-2564 สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือกับภาคลุ่มน้ำโขงไปแล้วกว่า 4,300 ล้านดอลลาร์
ในช่วงวันที่ 23-25 มีนาคม ที่ผ่านมาสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้นำคณะะสื่อมวลชนจากกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และเชียงรายลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายเพื่อได้รับข้อมูลจริงเรื่องน้ำจากชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ ผู้เชี่ยวชาญที่มีความสนใจและศึกษาผลกระทบของการพัฒนาในลำน้ำโขง รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานในพื้นที่ พร้อมฟังการบรรยายสรุปจากหน่วยงานภาครัฐ และการให้ข้อมูลเรื่องความร่วมมือไทยสหรัฐในลุ่มแม่น้ำโขงจากหน่วยงานของสหรัฐฯ
ซาราห์ ควินซิโอ รองผู้อำนวยการ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภูมิภาค สำนักงานเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และสุขภาพ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย บอกว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลุ่มแม่น้ำโขงอาจจะมาจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือการพัฒนาบนลุ่มน้ำโขง ซึ่งแม่น้ำโขงมีความสำคัญในระดับนานาชาติ ทำให้สหรัฐฯ เข้ามาให้ความร่วมมือกับภาคีในระดับพื้นที่ซึ่งไม่ใช่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่รวมถึงประเทศอื่นในลุ่มแม่น้ำโขงด้วย เช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้สนับสนุนการทำงานของภาคลุ่มน้ำโขง โครงการที่สหรัฐฯ สนับสนุนงบประมาณมีตั้งแต่ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข มนุษยธรรม เศรษฐกิจ และการพัฒนาในภาวะฉุกเฉินเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 โครงการจัดการข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขง โครงการลุ่มน้ำโขงเพื่ออนาคต
และโครงการ Mekong Dam Monitor ที่ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อแสดงข้อมูลตัวชี้วัดในลุ่มน้ำโขงโดยเป็นข้อมูลแบบใกล้เคียงเวลาจริงและชาวบ้านเข้าถึงได้, โครงการ SERVIR MEKONG นำเสนอข้อมูลดาวเทียมที่บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้เพื่อลดความเปราบางต่อภัยแล้ง อุทกภัย และการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ซึ่งรุนแรงขึ้นเพราะเขื่อนต้นน้ำ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการระบบคลังข้อมูลเพื่อการเตือนภัยแล้งล่วงหน้า ซึ่งโครงการนี้เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ MRCและโครงการ SERVIR MEKONG พัฒนาขึ้นเพื่อติดตามภัยแล้งของภูมิภาค, โครงการ Mekong Safeguards เป็นโครงการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดีสำหรับโครงการพลังงานและการขนส่งในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ต่อความเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเมืองของสหรัฐฯ ที่ต้องการต่อสู้ข้อมูลกับจีน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ “Global Times” สื่อทางการของจีน ออกมาเผยแพร่บทความในหัวข้อ “ใครคือกระบอกเสียงของสงครามความคิดเห็นสาธารณะที่นำโดยสหรัฐฯ เกี่ยวกับภัยคุกคามเขื่อนของจีนริมฝั่งแม่น้ำโขง” ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนว่า กลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงกลุ่มที่เรียกว่า งานวิจัยไทบ้านร่วมเชื่อมโยงกับ Stimson Center และ Eyes on Earth ของสหรัฐฯ ที่รายงานข้อมูลโจมตีจีนนั้น
ผศ. ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยสารคาม กล่าวว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ใครทั้งนั้น แต่อยู่ที่ “จีน” ไม่เคยยอมรับการสร้างเขื่อนส่งผลกระทบทำให้แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง ดังนั้น สิ่งที่ “Global Times” สื่อทางการของจีนกล่าวหา จึงไม่เป็นความจริงเพราะกลุ่มงานวิจัยไทบ้านและชาวบ้านในพื้นที่ เชียงของ เชียงแสน ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนต้นน้ำของจีน ศึกษาและทำงานด้านนี้มานานกว่า 20 ปีตั้งแต่ปี 2547 เพราะพวกเขาเดือดร้อนจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ขณะที่ Stimson Center ตั้งขึ้นมาได้เพียงปีครึ่งเท่านั้น
“ผมในฐานะงานวิจัยไทบ้าน พูดและศึกษาเรื่องผลกระทบจากเขื่อนจีนมานานเกิน 20 ปี ก่อนที่ Stimson จะตั้งขึ้นด้วยซ้ำ และข้อมูลผลกระทบจาการสร้างเขื่อนของจีนก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหามีเพียงแค่จีนไม่เคยยอมรับกับผลกระทบบเหล่านี้เท่านั้น” ผศ. ดร.ไชยณรงค์ กล่าว
ผศ. ดร.ไชยณรงค์ ระบุว่า ผลกระทบจาการสร้างเขื่อนของจีนทำให้ระบบนิเวศน์แม่น้ำเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ระบบน้ำขึ้นน้ำลงที่ไม่เหมือนเดิม ปริมาณปลาในแม่น้ำที่หายไป รวมทั้งตะกอนดินที่ชาวบ้านเคยทำเกษตรกรรมชายฝั่งก็หายไปเช่นกัน นอกจากนี้ ยังรวมถึงปัญหาการกัดเซาะตลิ่งที่รุนแรงมากขึ้น
“ผมเสนอมาตลอดว่าควรจะหยุดสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง และเขื่อนต้นน้ำของจีน 11 เขื่อนที่สร้างไปแล้วควรจะยกเลิกการใช้เพื่อให้แม่น้ำกลับมาเหมือนเดิม”
ผศ. ดร.ไชยณรงค์ ยอมรับว่า ข้อเสนอของเขาที่ต้องการให้ยกเลิกการสร้างเขื่อนและเลิกการใช้งานของเขื่อนที่สร้างไปแล้ว เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่เป็นมันคือคำตอบเดียว ที่จะทำให้แม่น้ำกลับมาเหมือนเดิมและเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ทุกประเทศใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
วิกฤติแม่น้ำโขงแบก 20 เขื่อนเกินรับไหว?
ถึงแม้ว่าหลายหน่วยงานยังไม่มีข้อสรุป “เขื่อน” กั้นแม่น้ำโขง คือปัจจัยหลักที่ทำให้แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับ “ครูตี๋” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว “กลุ่มรักษ์เชียงของ” จังหวัดเชียงราย และชาวบ้านในพื้นที่ 3 อำเภอ เชียงของ, เชียงแสน, เวียงแก่น จังหวัดเชียงราย มีข้อมูลเชิงประจักษ์ในพื้นที่จริงมานานกว่า 20 ปีแล้ว
“แม่น้ำโขงไม่มีอะไรปกติอีกต่อไป” ครูตี๋บอกว่า หลังจากสร้างเขื่อน ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนคือ การขึ้นลงของน้ำผันผวนไม่เหมือนเดิม โดยในช่วงมีนาคมถึงเมษายนน้ำเคยแห้งจนสามารถเดินข้ามไปฝั่งลาวได้ แต่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำมาก จนทำให้ปลาที่เคยเตรียมตัววางไข่ในเดือนพฤษภาคมก็หลงฤดู ไม่สามารถวางไข่ได้เช่นเดิม ส่งผลให้ความหลากหลายของพันธุ์ปลาก็หายไป รวมไปถึงนกหลากหลายชนิดพันธุ์ที่เคยทำรัง วางไข่ บริเวณเนินทรายในแม่น้ำโขงในช่วงเดือนมีนาคม ก็ไม่สามารถทำรังวางไข่ได้เพราะเนินทรายหายไป
ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงวิถีหาอยู่หากินของชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเคยเก็บสาหร่ายแม่น้ำที่เคยเป็นอาชีพสำคัญก็ทำได้ยากขึ้น เพราะระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นลงไม่ปกติทำให้สาหร่ายหลุดหายไป ขณะที่ชาวบ้านที่เคยปลูกผัก ทำถั่วงอก จากเนินทราย ริมฝั่งโขงก็ทำได้น้อยลง เพราะตะกอนดินแม่น้ำไม่เหลือให้เกิดเนินทรายเพื่อปลูกผักอีกต่อไป
ผลกระทบต่างๆ เกิดขึ้นกับลุ่มแม่น้ำโขง ครูตี๋บอกว่า มาจากเขื่อนกั้นแม่น้ำ ดังนั้น เขาไม่สนใจว่าใครจะบอกว่าพื้นที่ลุ่มน้ำโขงจะกลายเป็นสมรภูมิปัญหาการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจหรือไม่ เพราะสิ่งที่เขาและชาวบ้านพูดมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมาคือ เขื่อนเป็นสาเหตุที่เข้ามาทำลายระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงทั้งหมด
“ผมพูดเรื่องนี้มานาน และคงจะพูดต่อไปแม้จะไม่มีใครได้ยินก็ตามว่า เขื่อนคือตัวทำลายแม่น้ำโขง หยุดการสร้างเขื่อนและคืนชีวิตให้แม่น้ำเถอะครับ”
จับตาอีก 9 เขื่อนใหม่สร้างบนแม่น้ำโขง
ขณะที่ครูตี๋ และกลุ่มรักษ์เชียงของ เรียกร้องให้หยุดการสร้างเขื่อนบนลุ่มแม่น้ำโขง แต่ทั้งลาว ไทย กัมพูชา มีแผนจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอีกอย่างน้อย 9 แห่ง นอกเหนือจาก 11 แห่งของจีนที่สร้างไปแล้ว ประกอบด้วย
-
1. เขื่อนปากแบง ที่จะสร้างในเขตเมืองปากแบง แขวงอุดมไซ ทางภาคเหนือของลาว
2. เขื่อนหลวงพระบาง ที่จะสร้างที่เมืองหลวงพระบาง ทางเหนือของลาว
3. เขื่อนปากลาย ซึ่งตั้งอยู่ท้ายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรี และอยู่ห่างจากชายแดนไทยที่ อ.ท่าลี่ จ.เลย
4. เขื่อนสะนะคาม หรือชนะคราม จะสร้างที่แขวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว
5. เขื่อนปากชม ซึ่งอยู่บริเวณพรมแดนไทย-ลาว บริเวณ อ.ปากชม จ.เลย
6. เขื่อนบ้านกุ่ม จะตั้งอยู่บริเวณพรมแดนไทย-ลาว บริเวณ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
7. เขื่อนภูงอย หรือเขื่อนลาดเสือ จะอยู่ที่แขวงจำปาสัก ประเทศลาว
8. เขื่อนสตึงเตร็ง จะอยู่ที่จังหวัดสตึงเตร็ง ในประเทศกัมพูชา
9. เขื่อนซำบอ จะอยู่ที่เมืองซำบอ จ.กระแจ๊ะ ประเทศกัมพูชา
ครูตี๋ และกลุ่มรักษ์เชียงของ เห็นว่า หากลาวสร้างเขื่อนปากแบงและเขื่อนหลวงพระบางสำเร็จ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเชียงของ เชียงแสน เวียงแก่น จะมากขึ้นกว่าเดิม เพราะอยู่ห่างแค่ 90 กิโลเมตรเท่านั้น
เช่นเดียวกับมานพ ไทยหล่อ ผู้อำนวยการส่วน 4 กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ที่ติดตามระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำเชียงของ มานานกว่า 30 ปี บอกว่า การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้ง 11 เขื่อนต้นน้ำของจีน และเขื่อนไชยะบุรีของลาว ทำให้อำเภอเชียงของมีสภาพเป็นอ่างน้ำขนาดกลางของเขื่อน ซึ่งหากลาวสร้างเพิ่มอีกสองเขื่อน พื้นที่แม่น้ำโขงของเชียงรายจะเป็นเพียงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กทันที
“11 เขื่อนของจีนทำให้แม่โขงช่วงเชียงของ เชียงราย เวียงแก่น กลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของเขื่อน แต่พอเขื่อนไซยะบุรีก่อสร้างก็ลดขนาดมาเหลือเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง แต่ถ้าเขื่อนปากแบงและหลวงพระบางก่อสร้างจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไปทันที ซึ่งในเรื่องนี้คงจะต้องศึกษาผลกระทบกันอย่างรอบคอบอีกครั้ง”
แม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติกำลังเผชิญวิกฤติ หลังจากทุกประเทศมีแผนพัฒนาสิ่งก่อสร้างโดยเขื่อนขวางลำน้ำ หากนับรวมจาก 11 เขื่อนของจีนและเขื่อนไซยะบุรี, เขื่อนดอนสะโฮง ลาว และเขื่อนใหม่ที่กำลังจะสร้าง 9 เขื่อน ทำให้แม่น้ำโขงต้องแบกเขื่อนมากถึง 22 เขื่อน
คำถามคือ แม่น้ำโขงยังรับการพัฒนาเหล่านี้ไหวหรือไม่
MRC เพิ่มสถานีตรวจวัดน้ำเหนือสุดลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่แขวงหลวงนํ้าทา, สปป.ลาว คณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง (MRC) ได้มีการเปิดดําเนินงาน สถานีตรวจวัดระดับนํ้าสถานีใหม่ที่ติดตั้งอยู่บริเวณด้านเหนือสุดของลุ่มนํ้าโขงตอนล่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการดําเนินงานของคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงที่ขยายวงกว้างขึ้นเพื่อการลดความเสี่ยงของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายล้านคน ซึ่งอยู่อาศัยและมีวิถีการดํารงชีวิตอยู่ด้านท้ายนํ้าของแม่นํ้าโขงและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการไหลของนํ้าอย่างกระทันหันโดยไม่คาดคิด
การดําเนินงานของสถานีตรวจวัดใหม่ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเซียงกก บริเวณพรมแดนด้านเหนือของ สปป.ลาวติดกับประเทศเมียนมาร์นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือในการดําเนินงานร่วมกันในรูปแบบที่คณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงได้ให้การสนับสนุนมาอย่างยาวนาน ในกรณีของสถานีตรวจวัดแห่งนี้ประเทศเมียนมาร์มีโอกาสร่วมดําเนินงานกับ สปป.ลาวในการรวบรวมข้อมูลปริมาณการไหลซึ่งจะช่วยให้ผู้คนนับล้านที่อาศัยอยู่ด้านท้ายนํ้าสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้ผู้คนเหล่านั้นสามารถปรับตัวได้อย่างทันท่วงทีเช่น ชาวนาที่กําลังวางแผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือชาวประมงที่อาศัยแม่นํ้าเป็นแหล่งจับปลาในแต่ละวัน
ดร.อานุลัก กิดติคูน ประธานเจ้าหน้าที่คณะบริหารสํานักงานเลขาธิการ คณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงได้อธิบายความสําคัญของสถานีตรวจวัดแห่งใหม่ซึ่งจะทําการบันทึกข้อมูลการไหลของนํ้าจากแม่นํ้าโขงตอนบนที่ในประเทศจีนเรียกว่าล้านช้าง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวสถานีตรวจวัดประมาณ 130 กิโลเมตร
“สถานีแห่งนี้คือสถานีตรวจวัดเชิงกลยุทธ์” ดร. อานุลักกล่าว “หากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ อันเนื่องมาจากการปล่อยนํ้า การปิดประตูระบายนํ้าหรือฝนตกกะทันหัน เราสามารถรู้แทบจะในทันทีและด้วยศักยภาพที่เพิ่มขึ้นจะทําให้เราสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ประเทศสมาชิกและชุมชนท้องถิ่นของเรา อย่างไรก็ตามเรายังคงมีความต้องการให้ทุกประเทศแบ่งปันข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดําเนินงานเขื่อน”
สถานีเซียงกกเป็นหนึ่งในสถานีตรวจวัดใหม่หลายแห่งซึ่งการก่อสร้างมีความล่าช้าเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้การจัดส่งวัสดุและอะไหล่สําคัญ ๆ มีความล่าช้า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานีใหม่เหล่านี้อยู่ระหว่างเร่งดําเนินงานเนื่องจากประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงทั้งสี่ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม ได้ผลักดันให้มีการปรับปรุงความสามารถในการติดตามและคาดการณ์สถานการณ์การไหลของภูมิภาค นับเป็นระยะเวลาอันยาวนานที่ผู้อยู่อาศัยในลุ่มนํ้าโขงตอนล่างมักเผชิญความเสี่ยงต่อกระแสนํ้าที่ไหลหลาก ไม่ว่าจะเกิดจากฝีมือมนุษย์หรือนํ้ามือธรรมชาติหมู่บ้านต่าง ๆ อาจถูกนํ้าท่วมครั้งแล้วครั้งเล่าซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น
นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 ถึง พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นระยะแรกของโครงการระบบสังเกตการณ์วัฏจักรอุทกวิทยาของลุ่มแม่นํ้าโขง (HYCOS) ได้มีการก่อสร้างสถานีจํานวน 49แห่งในแม่นํ้าโขงและแม่นํ้าสาขาต่าง ๆ เพื่อวัดปริมาณนํ้าฝน และระดับนํ้าอย่างต่อเนื่อง โดยมี12สถานีก่อสร้างและติดตั้งในกัมพูชา สปป. ลาว เวียดนาม 11สถานีในประเทศไทย และอีก 2 สถานีตั้งอยู่ในตอนใต้ของประเทศจีนซึ่งเป็นพื้นที่ที่แม่นํ้าส่วนใหญ่ไหลผ่าน โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสํานักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั ่งเศส (AFD)
จากจํานวนทั้งสิ้น 49 สถานียังคงมี45สถานีเปิดดําเนินการอยู่และยังคงมีความต้องการสถานีตรวจวัดอีกมากทั้งนี้การขยายจํานวนและยกระดับการทํางานของสถานีตรวจวัดผ่าน HYCOS จะส่งผลให้มีสถานีตรวจวัดทั้งหมด 56 แห่งตามแนวแม่นํ้าโขงในเร็ว ๆ นี้และจะมี13สถานีที่จะติดตั้งเพิ่มขึ้นในแม่นํ้าสาขาภายใต้โครงการจัดการภัยแล้งของญี่ปุ่น รวมถึงสถานีตรวจวัดอีก 2 แห่งภายใต้โครงการนําร่องการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมร่วมของคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง
ในขณะนี้คณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงได้สร้างสถานีใหม่1แห่งและดําเนินการปรับปรุงอีก 1แห่งในกัมพูชาส่วนในสปป. ลาวมีการปรับปรุงสถานีแล้ว 2แห่ง และก่อสร้างสถานีใหม่2แห่งรวมถึงสถานีเซียงกก ทั้งนี้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทําให้สถานีที่สร้างแล้วเสร็จเมื่อเร็ว ๆ นี้สามารถเริ่มดําเนินการได้ในประเทศไทยและเวียดนามด้วยเช่นกัน
ที่สําคัญสถานีตรวจวัดแต่ละแห่งในปัจจุบันมีระบบ “การวัดระยะไกล” ที่ทันสมัยซึ่งจะส่งข้อมูลการตรวจวัดระดับนํ้าในปัจจุบันและข้อมูลปริมาณนํ้าฝนทุก ๆ 15 นาทีไปยังฐานข้อมูลกลางที่สํานักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงจากนั้นจึงเผยแพร่ไปยังประเทศสมาชิกโดยมีเป้าหมายไม่ได้เพียงเพื่อเตือนผู้คนหลายล้านคนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันแต่ยังเพื่อให้รัฐบาลของทั้งสี่ประเทศของคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงมีข้อมูลเพียงพอ เพื่อใช้ประกอบในการกําหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อสังคมริมฝั่งแม่นํ้าของพวกเขา
ในพิธีเปิดสถานีเซียงกก ผู้แทนสํารองคณะมนตรีจาก สปป.ลาว คือ ฯพณฯ จันทะเนด บัวลาพา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงแรงจูงใจของ สปป.ลาวและกล่าวขอบคุณผู้ให้ทุนและพันธมิตร
“จากการติดตั้งและเปิดใช้งานสถานีเหล่านี้ในอาณาเขตของเรา เราหวังว่าจะเป็นการส่งข้อความให้ทราบว่าเรากําลังก้าวสู่การมีบทบาทในการบริหารจัดการแม่นํ้าโขงและการพยากรณ์ที่มีประสิทธิภาพในอนาคต”ฯพณฯ บัวลา พากล่าว “จึงอยากให้ทุกท่านลองพิจารณาความสําคัญของความร่วมมืออันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภูมิภาคและประชาชนของเรา”