ThaiPublica > เกาะกระแส > 36 บริษัทยาทั่วโลกลงนามสัญญาผลิตยาสามัญของ Pfizer รักษาโรคโควิด-19

36 บริษัทยาทั่วโลกลงนามสัญญาผลิตยาสามัญของ Pfizer รักษาโรคโควิด-19

18 มีนาคม 2022


ที่มาภาพ : wef.org

หนังสือพิมพ์ New York Times รายงานข่าวว่า บริษัทผู้ผลิตยาทั่วโลก 35 บริษัท ได้ลงนามในสัญญา ที่จะทำการผลิตยาสามัญ ของยารักษาโรคโควิด-19 ของ Pfizer ที่ผลิตออกมาขายในชื่อว่า Paxlovid โดยยาสามัญจะผลิตขายในราคาไม่แพงให้กับ 95 ประเทศทั่วโลก ที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ประเทศเหล่านี้มีประชากรรวมกัน 53% ของประชากรโลก

องค์กรที่สหประชาชาติให้การสนับสนุนชื่อ Medicines Patent Pool (MPP) เป็นฝ่ายที่เจรจากับ Pfizer เรื่องสัญญาใบอนุญาตการผลิตยาสามัญของ Pfizer มาตั้งแต่ปลายปี 2021 และเมื่อวันพฤหัส 17 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ทาง MPP ได้เผยแพร่รายละเอียดในเรื่องนี้ออกมา

สัญญาใบอนุญาตแก่บุคคลที่ 3

MPP ประกาศว่า ทาง MPP ได้ลงนามในสัญญากับ 35 บริษัทที่จะผู้ผลิตยา nirmatrevir ซึ่งเป็นยาสามัญรักษาโควิด-19 ของบริษัท Pfizer เพื่อสนองให้กับ 95 ประเทศทั่วโลก ที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 MPP ได้ลงนามสัญญาข้อตกลงการอนุญาตโดยสมัครใจกับ Pfizer ส่วนบริษัทผู้ผลิตรับช่วง ที่ทำข้อตกลงการผลิตยาสามัญกับ MPP จะเป็นข้อตกลงแบบ sublicense agreement คือ สัญญาข้อตกลงใบอนุญาตบุคคลที่สาม

สัญญาใบอนุญาตบุคคลที่สาม อนุญาตให้บริษัทผู้ผลิตยาสามัญ ทำการผลิตวัตถุดิบ สำหรับยา nirmatrelvir หรือการผลิตยาเม็ด nirmatrelvir หรือดำเนินการทั้งสองอย่างในกระบวนการผลิต บริษัทผู้ผลิตที่ลงนามสัญญาบุคคลที่สาม จะต้องบรรลุเงื่อนไขของ MPP คือความสามารถในการผลิต การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งมาตรฐานสากลในเรื่องการผลิตยามีคุณภาพ

MPP เปิดเผยว่า มีอยู่ 6 บริษัทที่จะทำการผลิตวัตถุดิบของยา nirmatrelvir อีก 9 บริษัทจะทำการผลิตเม็ดยาสำเร็จรูป และบริษัทที่เหลืออีก 20 บริษัท จะผลิตทั้งวัตถุดิบและยาเม็ด บริษัทที่ลงนามในสัญญาบุคคลที่สามกับ MPP กระจายอยู่ใน 12 ประเทศ คือบังคลาเทศ บราซิล จีน โดมินิกัน จอร์แดน อินเดีย อิสราเอล เม็กซิโก ปากีสถาน เซอร์เบีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม ทาง MPP เสนอสัญญาให้กับบริษัทในยูเครน แต่ยังไม่ได้ลงนาม

35 บริษัทยาลงนามในสัญญากับ MPP เพื่อผลิตยาสามัญของ Pfizer รักษาโควิด-19 ที่มาภาพ : medicinespatentpool.org

เงื่อนไขการเสียค่าสิทธิบัตร

ทาง MPP เปิดเผยว่า ในการเจรจาสัญญาข้อตกลงระหว่าง Pfizer กับ MPP ทาง Pfizer เป็นฝ่ายกำหนดเงื่อนไข เช่น ข้อเสนอขอรับการผลิตยาสามัญของบริษัทผู้ผลิต จะต้องเสนอและผ่านการพิจารณาของ Pfizer ทาง Pfizer จะไม่รับค่าสิทธิบัตรจากการขายยา nirmatrelvir ที่ผลิตภายใต้สัญญาบุคคลที่สามที่ทำกับ MPP ตราบใดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังถือว่าโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่น่ากังวลของนานาชาติ (public health emergency of international concern)

แต่ในช่วงการแพร่ระบาด การขายยาในประเทศรายได้ต่ำ จะยังไม่มีค่าสิทธิบัตร ส่วนการขายยา ในประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างและระดับบน จะเสียค่าสิทธิบัตร 5% ของการขาย ที่ให้แก่ภาครัฐ และ 10% ที่ขายให้แก่ภาคเอกชน

MPP เปิดเผยว่า nirmatrelvir เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่จำเป็นต้องอาศัยความสามารถในการผลิตค่อนข้างมาก ในการผลิตยานี้ขึ้นมา และประทับใจต่อความสามารถในการผลิตของบริษัทเหล่านี้ โดย 15 บริษัททำสัญญาใบอนุญาตการผลิตเป็นครั้งแรกกับ MPP ทาง MPP มีนโยบายที่จะสร้างหุ้นส่วนกับรัฐบาลประเทศต่างๆ ผู้นำสาธารณสุขระหว่างประเทศ และผู้ผลิตทั่วโลก เพื่อช่วยให้คนไข้ทั่วโลก สามารถเข้าถึงการรักษาโควิด-19 จากการทานยาเม็ด

รายข่าวของ nytimes.com กล่าวว่า การผลิตยาสามัญ ที่ Pfizer ผลิตออกมาขายในชื่อ Paxlovid จะทำให้มียารักษาโควิด-19 กระจายไปทั่วโลก การรักษาด้วยยาของ Pfizer พบว่ามีประสิทธิผลมากในการหยุดยั้งอาการรุนแรง หากว่าคนที่มีความเสี่ยงสูงได้รับยาในระยะแรกของการติดเชื้อ เนื่องจากเป็นการรักษาในรูปของยาเม็ด คนติดเชื้อสามารถทานยาที่บ้าน การรักษาด้วยยา Paxlovid จึงมีความสะดวกในรักษาโควิด-19 มากกว่าวิธีการอื่น

ยาชุด Paxlovid ของ Pfizer ประกอบด้วยยา 30 เม็ด ที่ใช้ทานเป็นเวลา 5 วัน ยา 20 เม็ดเป็นตัวยาหลักคือ nirmatrelvir ที่พัฒนาโดย Pfizer ซึ่งบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตการผลิต จะผลิตยาตัวนี้ ส่วนอีก 10 เม็ดเป็นยาต้านไวรัสแบบเก่าชื่อ ritonavir
ก่อนหน้านี้ ทาง Pfizer ได้บรรลุข้อตกลงกับศูนย์ป้องกันโรคระบาดของแอฟริกา ที่ Pfizer จะจัดหายา Paxlovid ให้ประเทศในแอฟริกา ที่มีประชากร 1.2 ล้านคน แต่ได้รับวัคซีนเพียง 13% หน่วยงานสาธารณสุขในแอฟริกาต้องการให้มีการตรวจโควิดในประเทศยากจนมากขึ้น เพื่อหาการติดเชื้อในระยะแรก แล้วรักษาด้วยยาต้านโควิดของ Pfizer ซึ่งจะได้ผลมากที่สุดในช่วงแรกการติดเชื้อ

เมื่อคนทั่วไปสามารถเข้าถึงยาต้านโควิด ก็สามารถตรวจเชื้อเอง และรักษาเองได้ที่บ้าน วิธีการรักษาดังกล่าว ช่วยลดภาวะของระบบสาธารณสุข เพราะที่ผ่านมา การรักษาโควิด-19 ต้องผ่านการรักษาที่โรงพยาบาล

เอกสารประกอบ
35 companies sign on to produce generic version of Pfizer’s Covid pill, nytimes.com, 18 MAR 2022.
News & Press Release, medicinespatentpool.org, 17 March 2022.