ThaiPublica > เกาะกระแส > การคว่ำบาตรของตะวันตกต่อรัสเซีย ผลกระทบสำคัญ 4 ด้านต่อเศรษฐกิจโลก

การคว่ำบาตรของตะวันตกต่อรัสเซีย ผลกระทบสำคัญ 4 ด้านต่อเศรษฐกิจโลก

29 มีนาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https___d1e00ek4ebabms.cloudfront.net_production_ba9ca531-ddad-4aa2-81af-e5084a91724b

เว็บไซต์ bbc.com รายงานสรุปสาระสำคัญของการคว่ำบาตร ที่ประเทศตะวันตกดำเนินการต่อรัสเซีย หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ทางกลุ่ม EU และสหราชอาณาจักรห้ามการส่งออกรถยนต์และสินค้าแฟชั่นชั้นนำไปยังรัสเซีย อังกฤษเก็บภาษี 35% กับสินค้านำเข้าบางอย่างจากรัสเซีย เช่น เหล้าว็อดกา

ห้ามเครื่องบินพาณิชย์ของรัสเซียบินผ่านน่านฟ้าของสหรัฐฯ แคนาดา สหราชอาณาจักร และกลุ่ม EU กลุ่มประเทศ G7 ได้ยกเลิกฐานะ “ประเทศที่ได้รับการอนุเคราะห์อย่างยิ่ง” (MFN) ที่ให้กับรัสเซีย ทำให้รัสเซียสูญเสียสิทธิประโยชน์ทางการค้าหลายอย่าง นอกจากนี้ สหรัฐฯ, EU และสหราชอาณาจักร ยังคว่ำบาตรนักการเมืองรัสเซียและมหาเศรษฐีรัสเซีย ที่เรียกว่ากลุ่ม Oligarch ซึ่งมีความใกล้ชิดกับผู้นำรัสเซีย

  • ใครคือกลุ่มมหาเศรษฐีการเมือง ที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลรัสเซีย (Oligarchs) ที่ตะวันตกคว่ำบาตร
  • สหรัฐฯ ห้ามการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซจากรัสเซียทั้งหมด สหราชอาณาจักรจะยุติการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียภายในสิ้นปี 2022 ส่วน EU ที่ 1 ใน 4 ของน้ำมันดิบและ 40% ของก๊าซธรรมชาติ นำเข้าจากรัสเซีย จะกระจายการนำเข้าจากแหล่งอื่น และยุติการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ภายในสิ้นปี 2030 และทางเยอรมันยังสั่งระดับการดำเนินงานของท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2

    ประเทศตะวันตกยังอายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซีย มูลค่า 630 พันล้านดอลลาร์ ธนาคารพาณิชย์ของรัสเซียถูกระงับการเข้าร่วมบริการโอนเงินระหว่างประเทศ หรือ SWIFT บริษัทธุรกิจชั้นนำของโลก เช่น McDonald, Coca-Cola, Starbucks ก็ยุติการให้บริการในรัสเซีย

    การคว่ำบาตรกับชาติยักษ์ใหญ่

    Nicholas Mulder ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสงครามเศรษฐกิจ เขียนบทความลงใน foreignaffairs.com ชื่อ The Toll of Economic War โดยกล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจโลก การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของตะวันตกที่มีต่อรัสเซีย ซึ่งไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นเลย แต่ ณ เวลานี้ ประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 11 ของโลกอย่างรัสเซีย ที่เคยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ ได้มาถึงจุดสิ้นสุดลงแล้ว

    ที่ผ่านมา มาตรการคว่ำบาตรถือเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจที่ประเทศประชาธิปไตยใช้กับประเทศเผด็จการ แทนการใช้วิธีการทำสงครามทางทหาร แนวคิดพื้นฐานของการคว่ำบาตรมีอยู่ว่า การคว่ำบาตรที่เข้มแข็งเอาจริงเอาจังมีโอกาสประสบความสำเร็จ แต่จากประสบการณ์ในอดีต การคว่ำบาตรแทบไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมาตรการนี้มีช่องโหว่มากมาย หลายประเทศก็ขาดเจตนาทางการเมืองที่จะบังคับใช้อย่างจริงจัง

    แต่บทความนี้กล่าวว่า การปิดล้อมทางเศรษฐกิจของตะวันตกต่อรัสเซียในครั้งนี้ แตกต่างออกไป ไม่เคยปรากฏมาก่อนที่จะมีการดำเนินการคว่ำบาตรกับประเทศยักษ์ใหญ่ สมาชิกกลุ่ม G20 อย่างรัสเซีย ที่มีภาคพลังงานใหญ่โต มีอุตสาหกรรมทางทหารที่เข้มแข็ง และมีการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่หลากหลาย

    การล้มเหลวของกรณีการคว่ำบาตรรัสเซีย จึงจะไม่ใช่จากจุดอ่อนของตัวมาตรการคว่ำบาตรเอง เหมือนกับกรณีที่ผ่านๆ มา แต่จะเป็นเพราะผลลัพธ์ที่คาดการณ์ไม่ได้ ที่มาจากจุดแข็งของการคว่ำบาตรครั้งนี้ ที่ผ่านมา ประเทศตะวันตกเคยชินกับการใช้การคว่ำบาตรกับประเทศเล็ก และการคว่ำบาตรจึงมีต้นทุนต่ำ ดังนั้น ประเทศตะวันตกจึงมีประสบการณ์และความเข้าใจที่จำกัด ในเรื่องการคว่ำบาตรต่อประเทศยักษ์ใหญ่ ที่เศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก

    ผลกระทบสำคัญ 4 ด้านต่อโลก

    ชาวรัสเซียต่อแถวถอนเงิน ที่มาภาพ : https://theconversation.com/the-russian-economy-is-headed-for-collapse-178605(AP Photo/Dmitri Lovetsky)

    ความรุนแรงของมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียครั้งนี้ สามารถดูได้จากผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีต่อโลก สำหรับผลกระทบต่อรัสเซียเอง นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า เศรษฐกิจรัสเซียจะติดลบ 9-15% ในปีนี้ เงินรูเบิลรัสเซียมีค่าลดลง 1 ใน 3 แรงงานมีทักษะของรัสเซียเดินทางออกนอกประเทศ ความสามารถในการนำเข้าสินค้าผู้บริโภคและไฮเทคหดหายไป นักรัฐศาสตร์รัสเซียคนหนึ่งบอกว่า “30 ปีของการพัฒนาเศรษฐกิจ ถูกโยนทิ้งลงถังขยะ”

    The Toll of Economic War ระบุว่า การคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ที่มีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโลก มีอยู่ 4 ด้านที่สำคัญ

    (1) ผลกระทบแบบกระจายไปเกิดขึ้น (spillover effects) กับประเทศข้างเคียงและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์
    (2) ผลกระทบแบบทวีคูณ (multiplier effects) จากการถอนตัวทางธุรกิจของภาคเอกชน
    (3) ผลกระทบที่บานปลายออกไป (escalation effects) ที่เกิดจากปฏิกิริยาตอบโต้ของรัสเซีย
    (4) ผลกระทบที่มีต่อทุกภาคส่วน (systemic effects) ของเศรษฐกิจโลก

    ผลกระทบแบบกระจายไปเกิดขึ้นนอกรัสเซียคือ ความปั่นป่วนของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ข้าวสาลี ทองแดง ปุ๋ยเคมีและทอง พุ่งสูงขึ้น ประเทศในเอเชียกลางที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงกับรัสเซียได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตร ค่าเงินของคาซัคสถานและทาจิกิสถาน ตกต่ำลง เศรษฐกิจถดถอยของรัสเซีย ทำให้แรงงานจากเอเชียกลางในรัสเซีย ต้องหาทางไปทำงานที่อื่นแทน

    การคว่ำบาตรที่มาจากรัฐบาลกลุ่ม G7 และกลุ่ม EU เป็นตัวเร่งทำให้ธุรกิจนานาชาติถอนตัวออกจากตลาดรัสเซีย โดบเฉพาะบริษัทชั้นนำของตะวันตก ในด้านเทคโนโลยี น้ำมันกับก๊าซ รถยนต์ สินค้าผู้บริโภค และสถาบันการเงิน การถอนตัวของบริษัทเหล่านี้มาจากความกังวลในเรื่องชื่อเสียงองค์กร ต้องการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับการบุกยูเครน และการตื่นตระหนกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเหตุนี้ การคว่ำบาตรที่มาจากภาครัฐบาล ทำให้เกิดผลกระทบแบบทวีคูณ คือความเสียหายจากการถอนตัวของธุรกิจเอกชน

    รัสเซียเองได้ดำเนินการตอบโต้ในหลายรูปแบบต่อการคว่ำบาตร เช่น นโยบายรักษาเสถียรภาพฉุกเฉิน เพื่อปกป้องเงินสำรองระหว่างประเทศ และมาตรการรักษาค่าเงินรูเบิล เงินทุนของต่างประเทศถูกสั่งอายัด ทรัพย์สินของธุรกิจตะวันตกที่ถอนตัวออกไปอาจถูกยึด กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจรัสเซียเตรียมออกกฎหมาย ให้อำนาจรัฐบาลเข้าไปดูแลกิจการเป็นเวลา 6 เดือน หากธุรกิจล้มละลายหรือปิดกิจการ

    ประธานาธิบดีปูตินได้ลงนามคำสั่งจำกัดการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์และปุ๋ยเคมี ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตอาหารของโลก การตอบโต้ของรัสเซียอาจจะออกมาเป็นมาตรการห้าม หรือจำกัดการส่งออกแร่อุตสาหกรรม เช่น นิกเกิล แร่แพลเลเดียม หรือแซฟไพร์ ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ และไมโครชิป

    ในระบบการผลิตแบบห่วงโซ่อุปทานโลก ต้นทุนที่สูงขึ้นของวัตถุดิบ จะทำให้ผู้บริโภคแบกรับภาระราคาสินค้าที่สูงขึ้น มาตรการตอบโต้ของรัสเซียจะกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ และเซมิคอนดักเตอร์ ที่ปีหนึ่งมีมูลค่า 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ หากการคว่ำบาตรยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นทั้งปี โลกเราจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีสาเหตุมาจากการคว่ำบาตร

    เรือบรรทุกก๊าซเหลวของรัสเซีย ที่มาภาพ : https://www.dw.com/en/explainer-how-severe-are-the-new-sanctions-on-russia/a-60908391

    มีแค่บทเรียนคว่ำบาตรชาติเล็ก

    บทความ The Toll of Economic War บอกว่า ผลกระทบของการคว่ำบาตรแบบกระจายไปสู่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และต่อประเทศใกล้เคียง ผลกระทบแบบทวีคูณในเชิงลบ และผลกระทบที่ขยายตัวออกไปทั่วโลก ทำให้การคว่ำบาตรรัสเซียครั้งนี้ส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจโลก แบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์

    ทำไมไม่มีการคาดการณ์กันมาก่อน ถึงผลกระทบของการคว่ำบาตรที่จะเกิดขึ้นในวงกว้างทั่วโลก คำตอบคือว่า ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรกับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดกลางและเล็ก ประเทศอย่างเกาหลีเหนือ ซีเรีย เวเนซุเอลา หรือเมียนมา มีการเชื่อยโยงกับเศรษฐกิจโลกไม่มาก ส่วนใหญ่เชื่อมโยงแบบฝ่ายเดียว กรณีการคว่ำบาตรอิหร่าน ที่มีการดูแลผลกระทบที่จะมีต่อตลาดราคาน้ำมันดิบ แต่โดยรวม สหรัฐฯ มองว่า การคว่ำบาตรไม่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐฯ

    ผลที่ตามมาจากการทำสงครามเศรษฐกิจครั้งนี้ คือ การบริหารจัดการเศรษฐกิจระดับมหภาค ยุโรปได้รับผลกระทบมาก ที่ผ่านมากลุ่มยูโรโซนมีการเชื่อมโยงอย่างมากด้านการค้าและพลังงานกับรัสเซีย นอกจากนี้ จะยกเว้นก็ฝรั่งเศส ประเทศในกลุ่มยูโรโซนล้วนใช้นโยบายการเติบโต โดยอิงการค้าและส่งออก โครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้จึงไม่เหมาะกับการใช้มาตรการคว่ำบาตรที่ยาวนาน เพราะทำให้การค้าการส่งออกหดตัว

    ที่สำคัญ จะต้องหาทางลดผลกระทบต่อประเทศยากจน เช่น กลุ่มประเทศร่ำรวยอาจเสนอเงินช่วยเหลือ เพื่อการจัดหาสินค้าอาหารและพลังงาน การเข้าแทรกแซงของรัฐจะกลายเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะสิ่งนี้คือต้นทุนของการทำสงครามเศรษฐกิจ เช่น การควบคุมราคาสินค้า และการอุดหนุนทางการเงินของรัฐ เพื่อลดผลกระทบต่อคนยากจน อันเนื่องมาจากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น

    แต่ไม่ว่าผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะออกมาเป็นอย่างไร การทำสงครามเศรษฐกิจกับรัสเซีย ทำให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า ยุคการใช้มาตรการการคว่ำบาตรที่ไม่มีต้นทุนเศรษฐกิจ ไม่มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ คงจะหมดไปแล้ว

    เอกสารประกอบ
    What sanctions are being imposed on Russia over Ukraine invasion? bbc.com
    The Toll of Economic War, Nicholas Mulder, foreignaffairs.com, March 22, 2022.