ThaiPublica > เกาะกระแส > ยุคที่เศรษฐกิจจะเติบโต ต้องอาศัยนวัตกรรม “มาเลเซีย” จะหลุดจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” หรือไม่

ยุคที่เศรษฐกิจจะเติบโต ต้องอาศัยนวัตกรรม “มาเลเซีย” จะหลุดจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” หรือไม่

15 กันยายน 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/1/18/KL-Skyline_Night_HDR.JPG/1024px-KL-Skyline_Night_HDR.JPG

เศรษฐกิจประเทศต่างๆ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่จะส่งผลกระทบในระดับพื้นฐานต่อสังคม เศรษฐกิจ และคนเราทุกคน นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ อินเทอร์เน็ตระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ รถยนต์ที่ไร้คนขับ หรือโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตแบบ Cloud Computing ล้วนสร้างภาวะชะงักงันที่ทำให้เทคโนโลยีเดิมๆ ล้าสมัยลงไป แต่โดยรวมแล้ว เทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ ทำให้โลกเราเปลี่ยนแปลงไป

การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตถูกคาดหมายในรูปแบบต่างๆ Klaus Schwab จาก World Economic Forum เรียกโลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” (the fourth industrial revolution) แต่ Alec Ross ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเรียกว่า “อุตสาหกรรมของอนาคต” (industries of the future) ส่วน Martin Ford ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ เรียกว่า “การก้าวขึ้นมามีบทบาทและอิทธิพลของหุ่นยนต์” (rise of the robots)

แม้จะมีการเรียกเศรษฐกิจในอนาคตที่แตกต่างกันไป แต่นักวิเคราะห์ทุกคนมองเห็นร่วมกันว่า สภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทำให้ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจจะถูกขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (innovation-led economic growth) ที่ให้ทั้งความเสี่ยงและโอกาส คือเศรษฐกิจจะมั่งคั่งมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และคุณภาพชีวิตคนเราจะดีขึ้น แต่หากบริหารจัดการไม่ดีพอ ก็มีความเสี่ยง เพราะเป็นปัจจัยที่จะกระทบการจ้างงานที่เป็นอยู่ และกระทบต่อเส้นทางการพัฒนา เพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจนของหลายๆ ประเทศ

“กับดักรายได้ปานกลาง”

เมื่อเร็วๆ นี้ Center for Strategic and International Studies (CSIS) ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง Innovation-Led Economic Growth ที่กล่าวถึงปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจต่อประเทศกำลังพัฒนา ที่จะก้าวข้าม “กับดักรายได้ปานกลาง” โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม นับเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศกำลังพัฒนา จะสร้างความสามารถของตัวเอง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมและเทคโนโลยี

ที่มาภาพ : businesslive.co.za

รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจเดิมๆ จะอาศัยเกษตรกรรม สินค้าโภคภัณฑ์ และแรงงานราคาถูก เป็นกระบวนการสร้างทักษะ เป็นวิธีการเพื่อไต่บันไดห่วงโซ่คุณค่าของโลก และการเพิ่มรายได้ประชาชาติ แม้ว่าสิ่งนี้จะยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจที่อาศัยความรู้ (knowledge economy) ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องอาศัยทักษะแบบใหม่ การศึกษาที่จะพัฒนาแรงงานสมัยใหม่ การเข้าเชื่อมต่อกับเครือข่ายความรู้ในโลก และความสามารถที่จะเผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลง

รายงานของสถาบัน CSIS กล่าวว่า สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องการหลุดออกจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ช่วงเวลาและโอกาสแห่งอนาคตนั้นได้มาถึงแล้ว เพราะธนาคารโลกกล่าวว่า 2 ใน 3 ของงานทั้งหมดในประเทศกำลังพัฒนา เสี่ยงที่จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ แรงกดดันดังกล่าวทำให้ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ หาทางปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้หันมาอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น แต่จะดำเนินการได้ประสบความสำเร็จก็ต้องอาศัยทั้งนโยบายที่มีประสิทธิผล และระบบธรรมาภิบาลที่ดี

ธนาคารโลกเคยให้ข้อสังเกตไว้ว่า นับจากทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ทำให้มีประเทศจำนวนมากก้าวขึ้นมามีฐานะเป็นประเทศรายได้ปานกลาง แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจรายได้สูง ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากติดอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” โดยเศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่คงที่แต่ต่ำ และมีปัญหาภาวะชะงักงันด้านนวัตกรรม

เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์ The Guardian ก็รายงานข่าวว่า ที่ผ่านๆ มาการคาดการณ์เกี่ยวกับงานที่หายสาบสูญไปเป็นเรื่องที่กล่าวกันเกินเลยความเป็นจริง เทคโนโลยีสร้างงานใหม่ให้เกิดขึ้นมากกว่าจำนวนงานที่เป็นอยู่แล้วสูญหายไป ความหวาดกลัวที่ว่านี้เรียกว่า “การหลงผิดลัดไดต์” (Luddite Fallacy) ที่คนงานโรงงานทอผ้าในศตวรรษที่ 19 ได้ทำลายเครื่องทอผ้าเพราะคิดว่าเครื่องจักรกลพวกนี้ทำให้โรงงานไม่ต้องการทักษะของคนงานอีกต่อไป แต่ปรากฏว่า ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ระบบอัตโนมัติทำให้งานหายไปเพียงประเภทเดียว คือ คนทำหน้าที่ควบคุมการขึ้นลงของลิฟต์

แต่การปฏิวัติทางเทคโนโลยีในปัจจุบันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันเป็นแบบก้าวกระโดด และเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง Jerry Kaplan นักวิชาการของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่เขียนหนังสือโด่งดังชื่อ Humans Need Not Apply กล่าวว่า ระบบอัตโนมัติไม่สนใจทั้งสิ้นว่า คุณจะเป็นคนทำงานที่ใช้แรงงานกายหรือแรงงานสมอง ไม่สนใจว่าจะเป็นคนงานในโรงงาน ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือว่าคนเป่าฟลุต

เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

รายงานของ CSIS กล่าวว่า สำหรับประเทศที่มุ่งจะให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ การมองมาที่คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของตัวเอง ทักษะและความรู้ที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวางในเศรษฐกิจ คือจุดเริ่มต้นของความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ สิ่งนี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญของการบรรลุการเติบโตอย่างยั่งยืน และคนทุกคนได้ประโยชน์

ที่มาภาพ : the-scientist.com

ปัจจัยสำคัญที่จะสร้างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศที่ต้องการหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง คือการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การศึกษาทำให้แรงงานของประเทศมีทักษะ ความรู้ และการสร้างสรรค์ ที่จะแข่งขันในเศรษฐกิจของโลกที่ตั้งบนฐานความรู้ การศึกษาระดับพื้นฐานเป็นจุดเริ่มต้น แต่ทักษะความชำนาญเฉพาะด้านและการฝึกอบรมกลายเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ได้ประโยชน์จากโอกาสที่มาจากเศรษฐกิจบนฐานความรู้

ในช่วงที่ผ่านมา ทักษะพื้นฐานของแรงงานได้มาจากการศึกษาในระดับมัธยม การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียในทศวรรษ 1980 และ 1990 รวมทั้งยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความเกี่ยวพันกับการศึกษาระดับมัธยมมากกว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษาของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย แต่เมื่อประเทศเหล่านี้พัฒนามาถึงจุดที่เรียกว่า “เส้นพรมแดนเทคโนโลยี” การศึกษาระดับอุดมศึกษากลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมและการคิดค้นใหม่ๆ

เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนระบบการศึกษาเพื่อเป้าหมายเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในปี 1945 มีประชากรของเกาหลีใต้เพียง 1 ใน 4 ที่รู้หนังสือ 1 ใน 5 ของเยาวชนเข้าเรียนระดับมัธยม จากนโยบายของรัฐและการทุ่มการลงทุนด้านการศึกษา ในปี 1964 เด็กเข้าเรียนระดับประถมศึกษาสูง 90% ระดับมัธยมศึกษา 90% ในปี 1979 และระดับมัธยมปลาย 90% ในปี 1993

ในทศวรรษ 1990 เกาหลีใต้หันมาให้ความสำคัญกับอุดมศึกษา ปัจจุบัน 65% ของเยาวชนจบการศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดในบรรดากลุ่มประเทศ OECD ความสำเร็จด้านการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา รวมทั้งคุณภาพการศึกษา ทำให้นักเรียนของเกาหลีใต้ได้คะแนนการสอบระดับโลกที่สูงในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เกาหลีใต้ได้สร้างระบบการศึกษา ที่กลายเป็นรากฐานเพื่อความสำเร็จของเศรษฐกิจที่อาศัยองค์ความรู้

มาเลเซียกับประเทศรายได้สูง

มาเลเซียตั้งเป้าหมายเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2020 แต่เศรษฐกิจจะต้องเติบโตปีละ 6% ที่มาภาพ : nst.com.my

มาเลเซียเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ในปี 2016 รายได้ต่อคนอยู่ที่ 9,503 ดอลลาร์สหรัฐฯ รัฐบาลของนายนาจิบ ราซัก คาดหมายว่า เศรษฐกิจมาเลเซียจะต้องเติบโตปีละ 6% จึงจะทำให้มาเลเซียก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2020 แต่องค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก คาดหมายว่า มาเลเซียจะเติบโต 4.2% ในปี 2016-2017 องค์กร UNESCO ก็เห็นว่า จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ มาเลเซียจะต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรมที่จะมาช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

มาเลเซียประสบความสำเร็จในการพัฒนายกระดับเศรษฐกิจจากประเทศรายได้ต่ำสู่ประเทศรายได้ปานกลาง แต่มาเลเซียก็เหมือนประเทศรายได้ปานกลางอื่นๆ คือวิตกกังวลว่าตัวเองจะติด “กับดักรายได้ปานกลาง” ที่ถือกันว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่ด้านหนึ่งถูกขนาบจากประเทศที่ค่าแรงถูก ส่วนอีกด้านหนึ่งจากประเทศที่แรงงานมีทักษะและนวัตกรรมสูง ประเทศที่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้จะมีการเติบโตต่ำลง เพราะความได้เปรียบเดิมๆ เรื่องค่าแรงสูญหายไป ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีองค์กรด้านองค์ความรู้หรือแรงงานมีทักษะในปริมาณมากพอจะขับเคลื่อนนวัตกรรมเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

ในเอกสารของธนาคารโลกชื่อ How to Avoid Middle-Income Traps?Evidence from Malaysia กล่าวว่า มาเลเซียประสบความสำเร็จ ในการเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน แต่ธุรกิจภาคบริการยังต้องพัฒนาให้ทันสมัยและเข้ามามีส่วนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลมาเลเซียจะต้องส่งเสริมการประกอบการและนวัตกรรม โดยอาศัยประโยชน์จากแรงงานที่มีทักษะที่มีอยู่ การขยายการศึกษาระดับมัธยมและอุดมศึกษาให้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลิตทักษะของแรงงานที่อุตสาหกรรมต้องการ

มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ซับซ้อน ที่มาภาพ : thestar.com.my

รายงานของ CSIS ก็หยิบยกเอามาเลเซียมาเป็นกรณีศึกษาของการสร้างเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ประกาศชัดเจนว่า มาเลเซียไม่อาจจะติดอยู่กับ “กับดักรายได้ปานกลาง” รัฐบาลถือว่า การสร้างนวัตกรรมจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และทุ่มเทให้กับการสร้าง “ระบบนิเวศด้านนวัตกรรม” (Innovation Ecosystem) ที่ประกอบด้วยการตั้งหน่วยงานขึ้นมาบริหารและดูแลเรื่องนี้โดยตรง เช่น หน่วยงาน Performance Management and Delivery Unit (PEMANDU) ตั้งขึ้นในปี 2009 เพื่อขับเคลื่อนโครงการของรัฐที่จะทำให้มาเลเซียเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2020 หน่วยงาน Agensi Innovai Malaysia (AIM) ตั้งขึ้นปี 2010 เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรม และหน่วยงาน Malaysian Global Innovation and Creativity Centre ตั้งขึ้นมาปี 2014 เพื่อสนับสนุนด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ

การที่มาเลเซียจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2020 จำเป็นที่เศรษฐกิจจะต้องมีการขยายตัวจากปีละ 4% เป็น 6% ในระยะ 4 ปีข้างหน้า การเติบโตที่สูงดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมรวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความสามารถของสถาบันการศึกษาระดับสูง การวิจัยและการพัฒนา การปรับปรุงผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SME ความสำเร็จของมาเลเซียที่จะไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงจึงขึ้นอยู่กับประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายในด้านต่างๆ ในกรอบระยะเวลาดังกล่าว

เอกสารประกอบ
Innovation-Led Economic Growth. Center for Strategic and International Studies, September 2017.
How to Avoid Middle-Income Traps? Evidence from Malaysia. Aaron Flaaen, Ejaz Ghani and Saurabh Misha, the World Bank, June 2013.
Can Malaysia Avoid the Middle-Income Trap? The UNESCO Science Report, December 22, 2016.