ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ทั่วโลก ต้องใช้โมเดล “นักสาธารณสุขสตรี” (LHW) ของปากีสถาน

จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ทั่วโลก ต้องใช้โมเดล “นักสาธารณสุขสตรี” (LHW) ของปากีสถาน

24 ธันวาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ: http://pakistan.blogs.wm.edu/current-health-issues/

เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังจะย่างเข้าสู่ปีที่ 3 โลกเราก็เผชิญกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ชื่อว่าโอมิคอน ที่อาจจะหลบภูมิคุ้มกันของวัคซีนที่มีอยู่ ทำให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อออกไปอีก ทั้งๆที่วัคซีนเคยให้ความหวังว่า จะทำให้การแพร่ระบาดสิ้นสุดลง ภัยจากการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ ทำให้การเข้าถึงถึงวัคซีนของคนทั่วโลก กลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ของไวรัส เกิดขึ้นเมื่อไวรัสสามารถระบาดในหมู่ประชากรที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน

ดังนั้น วิธีการดีที่สุดที่จะยับยั้งการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ที่อันตราย คือ การป้องกันให้คนจำนวนมากไม่ติดเชื้อ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ คนส่วนใหญ่ในประเทศร่ำรวยได้รับวัคซีนแล้ว แต่คนจำนวนมากในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว

บทเรียนจากปากีสถาน

เจ้าหน้าที่ Lady Health Worker (LHW) ของปากีสถาน ที่มาภาพ : foreignaffairs.com

บทความของ foreignaffairs.com ชื่อ Women Are the Key to Vaccinating the Worldบอกว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว สตรีชาวปากีสถานคนหนึ่งชื่อ Sadia Rizwa ที่อาศัยในชุมชนแห่งหนึ่งในนครการาจี เป็นผู้รับผิดชอบการให้วัคซีนโปลิโอแก่บรรดาเด็กๆในชุมชน ในแต่ละวัน เธอต้องไปเยี่ยมบ้านเรือนคนในชุมชนกว่าสิบหลังคา ใน 10 วัน เธอไปเยือนบ้านเรือนชาวบ้านกว่า 350 แห่ง

Sadia Rizwa คือหนึ่งในนักฉีดวัคซีนกว่า 100,000 คน ที่รู้จักกันในนามของ “นักสาธารณสุขสตรี” (Lady Health Workers – LHW) ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของปากีสถาน

คนกลุ่มนี้คือนักรบแนวหน้าในการขจัดโรคโปลิโอ การทำงานในชุมชนของตัวเอง ทำให้มีความคุ้นเคยกับชาวบ้าน ช่วยลดความหวาดละแวงของชาวบ้านต่อวัคซีน การเป็นผู้หญิง ทำให้สามารถเข้าถึง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

บทความของ foreignaffairs.com กล่าวว่า ในยามที่โลกเรามีภาระกิจใหญ่หลวง ที่จะฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่คนหลายพันล้านคนทั่วโลก บทเรียนความสำเร็จในการทำงานด้านการฉีดวัคซีนโปลิโอของ LHW ในปากีสถาน จึงโดดเด่นมาก ในหลายชุมชนที่มีความคิดหัวเก่าหรืออนุรักษ์นิยม ผู้นำศาสนาต่อต้านการฉีดวัคซีน ความสำเร็จของการฉีดวัคซีน จึงขึ้นกับบุคลากรสาธารณสุขที่เป็นสตรี

ที่มาภาพ : researchgate.net

ความเป็นมาของโครงการ LHW

เอกสารวิจัยของ Harvard School of Public Health ชื่อ Lady Health Workers in Pakistan (2014) กล่าวว่า ในปี 1994 รัฐบาลปากีสถานได้เริ่มต้นโครงการ LHW (Lady Health Workers Program) เพื่อให้บริการสาธารณสุขพื้นฐาน สามารถเข้าถึงครัวเรือนในชุมชนและหมู่บ้านต่างๆ

เจ้าหน้าที่ LHW จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน โดยเป็นบุคลากรที่ให้บริการสาธารณสุข ทั้งการป้องกันและรักษา เป็นตัวกลางระหว่างระบบสาธารณสุขของรัฐกับชุมชน ปัจจุบัน ปากีสถานมีนักสาธารณสุขสตรี LHW 110,000 คน ทำให้ LHW เป็นโครงการนักสาธารณสุขชุมชน (Community Health Worker – CHW) ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

นักสาธารณสุขสตรีแต่ละคน จะทำงานเหมือนกับผู้ให้บริการสาธารณสุขของรัฐในชุมชน ได้รับการฝึกอบรม เงินเบี้ยเลี้ยง และเวชภัณฑ์ต่างๆ การฝึกอบรมใช้เวลา 15 เดือนในเรื่องการป้องกันและรักษาโรคพื้นฐานทั่วไป 3 เดือนแรกเป็นการการอมรมในห้องเรียน ที่เหลืออีก 12 เดือนเป็นการอมรมในภาคสนาม แต่ในทุกเดือน มี 1 วันเป็นการอบรมการแก้ปัญหาในห้องเรียน

ที่มาภาพ : FB Lady Health Wokers Program GB

ในเรื่องทักษะการบริหารงาน นักสาธารสุขสตรีจะไม่ได้รับการฝึกอบรมในเรื่องความเป็นผู้นำ แต่เป็นเรื่องการบันทึกประวัติคนไข้และการรักษา ทำประวัติกลุ่มเป้าหมาย เช่น คู่สมรสที่อยู่ในข่ายการวางแผนครอบครัว หรือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี นักสาธารณสุขสตรี 1 คน จะรับผิดชอบประชากร 1 พันคน ใน 200 ครอบครัว ใช้บ้านตวเองเป็นสำนักงาน ชาวบ้านจึงมักเรียกว่า “บ้านสาธารณสุข”

คุณสมบัติขั้นต่ำสตรีที่จะเข้าร่วมโครงการอบรม LHW คือ การแนะนำจากชุมชน การศึกษาระดับมัธยม อาศัยอยู่ในชุมชนนั้น สมรสแล้ว หรือมีอายุ 18 ปีขึ้นไป นักสาธารณสุขสตรีจะไปเยี่ยมเยือนครัวเรือน เพื่อสร้างการรับรู้ด้านสุขภาพให้กับชาวบ้าน ฉีดวัคซีนให้กับเด็ก ตามตารางเวลาที่ระบบสาธารณสุขส่วนกลางกำหนดไว้

โครงการสาธารณสุขที่ได้ผลคุ้มค่า

โครงการ LHW มีส่วนสำคัญที่ทำให้ปากีสถาน เกิดความก้าวหน้าในเรื่องการดูแลสาธารณสุขพื้นฐานที่ทั่วถึง (universal health care) แม้ปากีสถานจะเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง งบประมาณด้านสาธารณสุขมีสัดส่วนแค่ 0.9% ของ GDP เฉลี่ยการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขอยู่ที่ 9.31 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศ ที่แนะนำว่า ควรจะอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี

โครงการ LHW เป็นการให้บริการสาธารณสุขพื้นฐานฟรีของรัฐที่ให้กับชุมชน การประเมินผลโครงการ LHW ให้ผลที่คุ้มค่าอย่างมาก แม้การจัดสรรงบประมาณสาธารณสุขของปากีสถาน จะมีความเหลื่อมล้ำ เจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือน สามารถเข้าถึงบริการที่ดี โดยอาศัยงบประมาณของรัฐ

ต้นทุนงบประมานที่สนับสนุนการทำงานของนักสาธารณสุขสตรี 1 คน อยู่ที่ 745 ดอลลาร์ นักสาธารณสุขสตรี 1 คนให้บริการคนในชุมชน 1,000 คน หมายความว่า รัฐมีค่าใช้จ่ายโครงการ LHW ที่ 0.75 ดอลลาร์ต่อคนในชุมชน 1 คน งบประมาณที่ใช้ทางด้านการบริหารจัดการและการฝึกอบรม มีสัดส่วนน้อย ส่วนใหญ่หมดไปกับการจัดหาอุปกรณ์ทางเวชภัณฑ์และยา การเพิ่มงบประมาณจากรัฐ ทำให้โครงการ LHW มีบุคลสากรเพิ่มขึ้นเป็น 110,000 คนในปัจจุบัน

ที่มาภาพ: https://www.thenewhumanitarian.org/fr/node/259774

โมเดลของสาธารณสุข

บทความของ foreignaffairs.com บอกว่า ในดัชนีความเหลื่อมล้ำทางเพศของสหประชาชาติ ปากีสถานอยู่อันดับ 135 จากทั้งหมด 162 ประเทศ เพราะสตรีมีโอกาสในการทำงานน้อยมาก นักกิจกรรมคนหนึ่งบอกว่า สตรีในปากีสถานจะไม่มีโอกาสยกฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ หากไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ชาย แต่โครงการ LHW ที่สร้างนักฉีดวัคซีนสตรี ทำให้สตรีในชุมชนและหมู่บ้านของปากีสถาน มีโอกาสในการทำงาน มีรายได้ มีอิสรภาพ และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของชุมชน

เดือนพฤษภาคม 2020 เมื่อโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดมากขึ้นในปากีสถาน นักสาธารณสุขสตรีเร่งออกไปแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้คนในชุมชน ทำการรณรงค์ให้คนเว้นระยะห่างทางสังคม และล้างมือ ทุกวันนี้ บรรดานักสาธารณสุขสตรีพร้อมแล้วที่จะมีบทบาทสำคัญในการกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพียงแต่รอให้รัฐบาลปากีสถานประกาศแผนงาน ที่จะให้นักฉีดวัคซีนสตรีได้ดำเนินการในเรื่องนี้

โครงการ LHW ไม่ได้สมบูรณ์ไปทั้งหมด นักสาธารณสุขสตรีเหล่านี้ มีรายได้ต่ำเมื่อเทียบกับงานที่ทำอยู่ และขาดการสนับสนุนที่พอเพียงจากรัฐ แต่พวกเขาได้ให้บทเรียนความสำเร็จแก่โลกเรามาแล้ว ในเรื่องประสิทธิภาพของการกระจายการฉีดวัคซีนโปลิโอ

ส่วนเรื่องวัคซีนโควิด-19 ประชาชนในประเทศรายได้สูงและปานกลาง ได้รับวัคซีน ถึง 85% จากปริมาณทั้งหมด 2 พันล้านโดส ที่กระจายไปทั่วโลก แต่ประเทศรายได้ต่ำได้ส่วนแบ่งเพียงแค่ 0.3% ความเหลื่อมล้ำของการกระจายวัคซีนโควิด-19 คงจะดำรงอยู่อีกหลายปี

แต่ก็มีความหวังว่า สถานการณ์กำลังดีขึ้น สหรัฐฯสัญญาว่าจะบริจาควัคซีนโควิด 500 ล้านโดส ให้กับโครงการแบ่งปันวัคซีนนานาชาติเรียกว่า COVAX ทำให้มีความหวังว่า แม้แต่ประเทศยากจน ก็มีโอกาสบรรลุเป้าหมายที่ WHO วางไว้ว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา 10% ของประชากรในประเทศยากจน จะได้รับการฉีดวัคซีน เพิ่มเป็น 30% เมื่อสิ้นปี 2021

ที่มาภาพ: https://chwcentral.org/pakistans-lady-health-worker-program-2/

แต่ปัญหาประชากรที่มีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูง ไม่ได้อยู่ที่ปริมาณของวัคซีนเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องการกระจายวัคซีน ในจุดนี้ทำให้โมเดล “นักสาธารณสุขสตรี” ของปากีสถาน กลายเป็นทางเลือกของรูปแบบการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โครงการนักสาธารสุขสตรีที่เข้มแข็งของชุมชน ทำให้สามารถฉีดวัคซีนแก่ชุมชนชนบทและที่อยู่ห่างไกล ช่วยลดช่องว่างการฉีดวัคซีนในหมู่ประชาชนในประเทศเดียวกัน

คณะกรรมาธิการการจ้างงานสาธารณสุขและการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหประชาชาติ (UN Commission on Health Employment and Economic Growth) กล่าวว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกขาดแคลนนักสาธารณสุขชุมชนถึง 18 ล้านคน ความสำเร็จของโครงการ LHW ของปากีสถาน พิสูจน์แล้วว่า การลงทุนการจ้างงานสตรี ก็เหมือนกับการลงทุนให้กับสาธารณสุขของชุมชน

เอกสารประกอบ

Women Are the Key to Vaccinating the World, Manish Sreevatsava, June 21, 2021, foreignaffairs.com
Lady Health Workers in Pakistan, Harvard School of Public Health, 2014.