ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ยาชุดรักษาโควิด-19 จะทำให้โรคระบาดกลายเป็นโรคเฉพาะถิ่น (Endemic)

ยาชุดรักษาโควิด-19 จะทำให้โรคระบาดกลายเป็นโรคเฉพาะถิ่น (Endemic)

25 พฤศจิกายน 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตยา Merck เปิดเผยว่า ผลการทดลองทางคลินิก ยารักษาโรคโควิด-19 ชื่อว่า Molnupiravir สามารถลดความเสี่ยงในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและจากการเสียชีวิตลงได้ครึ่งหนึ่ง หากคนที่มีความเสี่ยงสูงได้รับยาในระยะแรกของการติดเชื้อ

Molnupiravir ของ Merck จะเป็นยาตำรับแรกที่ใช้ในรักษาโควิด-19 และคาดว่าจะมีตัวยาต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัทยาอื่นๆ ออกตามมาในอีกไม่นาน ยารักษาโควิด-19 จะทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการรักษาโควิด-19 ได้มากกว่าวิธีการรักษาในปัจจุบัน ที่เป็นแบบแอนติบอดี้ซึ่งสร้างจากเม็ดเลือดขาว (monoclonal antibody)

ความเป็นมาของยาต้านไวรัส

บทความชื่อ How Will the Covid Pills Change the Pandemic? ของ newyorker.com เขียนไว้ว่า เดือนมีนาคม 2020 นักวิจัยของ Emory University ได้พิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับโมเลกุลเรียกว่า NHC/EIDD-2801 ที่มีศักยภาพในการยับยั้งการขยายตัวของโคโรนาไวรัส จึงมีศักยภาพที่จะต่อต้าน SAR-CoV-2 อย่างได้ผล หลังจากนั้น Emory University ได้ให้ใบอนุญาตเกี่ยวกับโมเลกุลนี้แก่บริษัท Ridgeback ที่เคยผลิตยาต้านไวรัส Ebola ทาง Ridgeback ได้ไปร่วมมือกับ Merck เพื่อพัฒนายารักษาโควิด-19 ออกมา

ในเดือนตุลาคม Merck และ Ridgeback ประกาศว่า ยา Molnupiravir ช่วยลดคนติดเชื่อโควิด-19 ที่จะต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลลงได้ 50% ในการทดลองยา Molnupiravir กับคนไข้เกือบ 400 คนไม่มีคนเสียชีวิต และก็ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง

ในวันที่ 4 พฤศจิกายน อังกฤษเป็นประเทศแรกที่รับรองการใช้ยา Molnupiravir นักวิเคราะห์เชื่อว่า ในเดือนธันวาคมนี้ องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ จะอนุมัติการใช้ยานี้ในกรณีฉุกเฉิน

ที่มาภาพ: https://www.merck.com/wp-content/uploads/sites/5/2021/09/molnu-capsule5.jpg

พลิกโฉมหน้าการรักษาโควิด-19

การรักษาโควิด-19 ด้วยยากิน จะพลิกโฉมหน้าใหม่ในการรักษาโควิด-19 รวมทั้งต่อการแพร่ระบาดโดยรวมของโควิด-19 ในปัจจุบันการรักษาโควิด-19 จะผ่านทางโรงพยาบาลหรือคลินิก เมื่อคนป่วยเดินทางไปเข้ารับการรักษา ก็มักจะป่วยหนักแล้ว

แต่กรณีการรักษาด้วยการกินยาสีส้ม Molnupiravir คนคนหนึ่งตื่นนอนขึ้นมารู้สึกไม่สบาย ทำการตรวจเชื้อโควิดด้วยตัวเอง หากติดเชื้อก็ไปซื้อยาชุดที่ร้านขายยา จากนั้นก็กินยาชุดวันหนึ่ง 2 ครั้ง ครั้งละ 2 เม็ด ติดต่อกัน 5 วัน

บริษัท Merck กำลังทดลองว่า Molnupiravir จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่ เช่น ถ้าคนคนหนึ่งมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากมีคนในครอบครัวติดเชื้อแล้ว ก็สามารถไปรับใบสั่งยาจากแพทย์ แล้วก็ซื้อยามากินเพื่อป้องกัน

หลังจากที่อังกฤษอนุมัติให้ใช้ยา Molnupiravir ในเวลาต่อมาทาง Pfizer ก็แถลงว่า ยารักษาโควิด-19 ของ Pfizer ชื่อ Paxlovid ก็มีประสิทธิภาพสูง ในการรักษาคนป่วยโควิด-19 ที่ความเสี่ยงสูง ยาของ Pfizer ต้องกินภายใน 3 วันนับจากที่ปรากฏอาการ สามารถลดความเสี่ยงจากการป่วยหนักต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้เกือบ 90% ในการทดลองยา Paxlovid กับคนป่วยเกือบ 400 คน มีเพียง 3 คนต้องเข้าโรงพยาบาล และไม่มีคนเสียชีวิต Pfizer ก็กำลังทดลองเช่นเดียวกับ Merck ว่า ยา Paxlovid จะป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่

Merck เตรียมผลิตเป็นจำนวนมาก

John McGrath ผู้บริหารด้านการผลิตของ Merck บอกกับ newyorker.com ว่า Merck เตรียมผลิตยา Molnupiravir เป็นจำนวนมาก เพราะได้เตรียมการเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตยา ก่อนที่ผลการทดลองในระยะที่ 3 จะช่วยพิสูจน์ประสิทธิผลของยา ตามปกติ บริษัทจะประเมินความต้องการต่อตัวยา แล้วก็ดำเนินการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป

แต่สำหรับ Molnupiravir ทาง Merck ได้ตั้งโรงงานการผลิต 17 แห่งใน 8 ประเทศทั่วโลก จนถึงสิ้นปีนี้ จะสามารถผลิตยาชุดนี้ออกมาได้ 10 ล้านชุด และอย่างน้อย 20 ล้านชุดในปี 2022

บทความของ newyorker.com กล่าวว่า ยารักษาโควิด-19 จะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ประเทศในแถบแอฟริกา ที่ประชากร ได้รับการฉีดวัคซีนครบเพียง 6% ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ได้ดำเนินการแบบเดียวกับการจัดหาวัคซีน คือได้ทำสัญญาซื้อยานี้ไปแล้วเป็นจำนวนมาก

แต่ Merck ได้ให้ใบอนุญาตการผลิตที่ไม่คิดค่าสิทธิบัตรแก่ Medicines Patent Pool (MPP) องค์กรสาธารณสุข ที่ส่งเสริมการพัฒนายาให้แก่ประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง MPP เป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ ใบอนุญาตนี้จะทำให้ผู้ผลิตยาสามารถผลิตยาสามัญจากยาต้นแบบ Molnupiravir สำหรับประเทศยากจน 105 ประเทศ

ดังนั้น สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ยาสามัญ Molnupiravir ชุดหนึ่ง จะมีราคาต้นทุนเพียง 20 ดอลลาร์ แต่ในสหรัฐฯ ราคายาจะตกชุดละ 700 ดอลลาร์ Paul Schaper ผู้บริหารด้านนโยบายเภสัชกรรมระหว่างประเทศของ Merck บอกกับ newyorker.com ว่า นโยบายของ Merck ต้องการให้ยาไปถึงประเทศรายได้สูง รายได้ปานกลาง และรายได้ต่ำ ในเวลาที่พร้อมกัน

ประเทศกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ได้ติดต่อกับองค์กร MPP เพื่อขอรับช่วงใบอนุญาตในการผลิตยาของ Merck แล้ว ทางด้านมูลนิธิ The Gates Foundation ของ Bill Gates สัญญาที่จะให้เงิน 120 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้การสนับสนุนแก่ผู้ผลิตยาสามัญของ Molnupiravir ผู้บริหารของ MPP กล่าวว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ในโลกได้รับวัคซีนเพียงไม่เพียงพอ ยารักษาโควิด-19 จะช่วยได้อย่างมาก

ที่มาภาพ: https://theconversation.com/pfizers-pill-is-the-latest-covid-treatment-to-show-promise-here-are-some-more-171589

ส่วน Pfizer ก็ประกาศว่าจะทำให้ยา Paxlovid ผลิตและขายในราคาไม่แพงในประเทศยากจน 95 ประเทศ ที่ครอบคลุมประชากรครึ่งหนึ่งของโลก ทาง Pfizer จะให้ใบอนุญาตที่ไม่เสียค่าสิทธิบัตรแก่ MPP ส่วนโรงงานผู้ผลิตยาก็จะเป็นฝ่ายรับช่วงใบอนุญาต (sublicense) อีกทอดหนึ่ง โดยผู้ผลิตจะได้รับสูตรยาของ Pfizer

แต่มีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ที่อยู่นอกความตกลงกับ Pfizer เช่น บราซิล คิวบา อิรัก ลิเบีย และจาเมกา รวมทั้งจีนและรัสเซีย ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องซื้อยาโดยตรงจาก Pfizer ในราคาที่อาจแพงกว่ายาสามัญ ที่ผู้ผลิตได้รับใบอนุญาตจาก Pfizer

นโยบายของ Pfizer ในเรื่องยารักษาโควิด-19 Paxlovid ตรงกันข้ามกับนโยบายวัคซีนของ Pfizer ที่กระจายไปทั่วโลกแล้ว 2 พันล้านโดส แต่ให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพียง 167 ล้านโดส

Pfizer ไม่ได้ให้ใบอนุญาตการผลิตวัคซีนแก่ผู้ผลิตรายใด ทำให้ในปี 2021 นี้ Pfizer จะมีรายได้จากวัคซีนถึง 36 พันล้านดอลลาร์

ยารักษาคือ Game-Changer

ส่วนบทความใน washingtonpost.com ชื่อ Pills bring new hope in the global fight against Covid-19 บอกว่า ยาชุดรักษาโควิด-19 คือ game-changer หรือสิ่งที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญอย่างมากต่อการต่อสู้กับโควิด-19 ในขอบเขตทั่วโลก ในประเทศรายได้สูง วัคซีนคือมาตรการยับยั้งสำคัญที่ใช้รับมือกับโควิด-19 แต่ความเหลื่อมล้ำของอุปทานการผลิตวัคซีนทำให้ประเทศจำนวนมากในโลกขาดแคลนวัคซีน

ดังนั้น ยาชุดรักษาโควิด-19 จึงเป็น game-changer สำหรับประเทศกำลังพัฒนาหรือยากจน ในประเทศกำลังพัฒนาที่โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขไม่เข้มแข็ง ยารักษาโควิด-19 เป็นสิ่งที่สะดวกและง่ายในการผลิต การขนส่ง การเก็บรักษา และนำมาใช้กับคนป่วย

การฝึกบุคลากรด้านสาธารณสุขในเรื่องการใช้ยารักษาโควิด-19 ก็ไม่ยุ่งยาก ในหลายกรณี คนป่วยสามารถกินยาเองได้ที่บ้าน โดยไม่ต้องการคำแนะนำที่ซับซ้อน การใช้ยากับคนป่วยอย่างกว้างขวางยังช่วยลดภาระของโรงพยาบาล ไม่ให้มีสภาพที่คนป่วยล้นเกิน จนเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต

กลยุทธ์การรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการฉีดวัคซีนหรือการบำบัดรักษา ปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุดคือเรื่องการเข้าถึง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แต่ยาชุดรักษาโควิด-19 จะสามารถเอาชนะข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ และทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการบำบัดรักษา

เอกสารประกอบ
How Will the Covid Pills Change the Pandemic? November 21, 2021, newyorker.com
Pfizer will allow its Covid pills to be made and sold cheaply in poor countries, November 16, 2021, nytimes.com
Pill brings new hope in the global fight against nCovid-19, November 5, 2021, washingtonpost.com