ThaiPublica > คนในข่าว > ถอดแก่นคิด “โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์”
ปั้นเด็ก ปั้นอนาคตไทย(1)

ถอดแก่นคิด “โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์”
ปั้นเด็ก ปั้นอนาคตไทย(1)

17 กุมภาพันธ์ 2022


โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ว่า “กำลังให้หน่วยงานเกี่ยวข้องไปดูกรณีที่มีข้อห่วงใยหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบัน” เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 นั้น ชื่อ “โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” จึงเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งมาแล้ว 6 ปี ช่วงแรกใช้เวลาในการจัดเตรียมหลักสูตร และจัดหาบุคคลากร เป็นเวลาปีเศษ จึงเปิดการเรียนการสอนได้ ปัจจุบันมีเด็กนักเรียนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1-5 ถือเป็นโรงเรียนสาธิตน้องใหม่มาก เมื่อเกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์โรงเรียนแห่งนี้ ว่า “ล้างสมองเด็ก” ด้วยเหตุจากการเชิญนักวิชาการมาร่วมให้แนวทาง ให้ข้อมูลความรู้กับคุณครูผู้สอน ซึ่งเป็นวิถีปกติของโรงเรียนแห่งนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพของคุณครูผู้สอน และต่อมาบานปลายไปถึงเรื่องเด็กไม่ใส่เครื่องแบบ ไม่มีการยืนเข้าแถวเคารพธงชาติ ไม่เคร่งครัดเรื่องทรงผม ไม่สอนวิชาลูกเสือ เนตรนารี ฯลฯ

เป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้านลบ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการจัดการเรียนการสอน เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กรับมือกับโลกยุคใหม่ การเดินเข้ารั้วโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจนว่า การเรียนการสอน ณ โรงเรียนแห่งนี้ เป็นกระบวนการล้างสมองเด็ก หรือแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่หลายฝ่ายกำลังเรียกร้องอยู่ในขณะนี้

ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โจทย์แรกตั้งโรงเรียน “สร้างคนในอนาคต”

ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงแนวคิดเมื่อแรกตั้งโรงเรียนแห่งนี้ว่า

“ตอนแรกพอมีโจทย์จะทำโรงเรียน คำถามแรกของเราคือ จะทำโรงเรียนเพื่อสร้างคนแบบไหน ลักษณะอย่างไร ซึ่งจะง่ายมากถ้าเราไปก็อปปี้จากโรงเรียนอื่น ๆ หรือไปซื้อหลักสูตรนานาชาติมา แต่หลังจากที่เห็น pain point พอสมควรในระบบการศึกษา จากการศึกษาค้นคว้าของนักการศึกษาทั่วโลก รวมถึงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มองเรื่องการศึกษาอย่างไร”

มีข้อสรุปชัดเจนว่า 1.การสร้างคนในอนาคต ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ๆ สมัยนั้นยังไม่มีคำว่า metaverse อย่างดีก็แค่คำว่า technology disruption แต่เรารู้ว่าโลกเปลี่ยนทุกวัน ฉะนั้น เราจะสร้างคนที่เก่งแต่ทำงานไม่ได้ เก่งแต่ขาดทักษะชีวิต เก่งแต่ปรับตัวไม่ทัน ที่ผ่านมาจะเห็นบริษัท/องค์กรที่เริ่มกังวลกับคนเกรดสูง ๆ แม้มีใบปริญญา แล้วอยู่ไม่รอด โจทย์นี้ชัดเจน

2.เด็กรุ่นใหม่เกิดน้อย เด็กรุ่นใหม่หรือที่เราเรียกรุ่นอัลฟ่า มีแคแรกเตอร์เฉพาะของตัวเอง และมีวิธีการเติบโตที่แตกต่างจากพ่อแม่ของเขา เป็นความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า พูดเล่นๆ ว่า สมัยเราถ้าลูกคนรวยหน่อย ก็มีคำว่า คาบช้อนเงินช้อนทองมา แต่เด็กสมัยนี้ ทุกคนคาบสมาร์ทโฟนออกมา แปลว่าเขาโตมาพร้อมกับระบบข้อมูลข่าวสารแลเทคโนโลยีที่ประชิดตัวตลอดเวลา กระบวนการเติบโตคือ เกิดแล้วเจอเลย ฉะนั้นพัฒนาทั้งในเชิงสมอง เชิงร่างกาย ภาวะอารมณ์ต่อสถานการณ์ ต่อการเปลี่ยนแปลง มันย่อมไม่เหมือนรุ่นพวกเราแน่นอน มากไปกว่านั้นมีการวิเคราะห์ว่า เด็กรุ่นใหม่ มีลักษณะที่ต้องการการประสบความสำเร็จรวดเร็วเขาจะเบื่อหน่ายการถูกสั่งสอน หรือถูกบอก เพราะเขาสามารถเข้าไปค้นคว้าหาข้อมูล ไปอ่านตำรา หรือหนังสือได้เท่ากับพวกเราหรือมากกว่าพวกเราด้วยซ้ำ ทำให้ passion เขาเปลี่ยนไป ไม่ใช่เขาเป็นเด็กที่ดีหรือไม่ดี เราไม่ได้พูดถึงเขาในมุมนั้น ภาษานักการศึกษาคือมี learning style หรือวิธีการเรียนรู้เปลี่ยนไป ต่างจากรุ่นพวกเราที่รอให้คุณครูบอก ”

ดร.อนุชาติ ยกคำของ ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช นักการศึกษา ที่บอกว่า การปั้นเด็กรุ่นใหม่ ต้องเปลี่ยนคำว่า teacher ให้เป็น facilitator ครูจะไม่ใช่คนมายืนบอกสอนหน้าห้อง แต่ต้องเป็นผู้อำนวยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราพยายามทำตลอดคือเชิญนักวิชาการเก่งๆ มาสอนครู เพื่อพัฒนาวิธีการสอนให้สามารถเชื่อมต่อกับเด็กได้ ต้องเอาห้องเรียนให้อยู่ ถ้าเอาไม่อยู่ เด็กจะไม่เรียนเหมือนเด็กทั่วประเทศตอนนี้ ทำให้ความรู้หดหาย เพราะขาดคนช่วยดูแลเขาอย่างเป็นระบบ เด็กจึงไปของเขาเองตามแนวของเขา

ดังนั้นภาพรวมๆเหล่านี้ที่เรียกว่าทักษะแห่งอนาคต หรือทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยหลัก คือ

สามารถคิดวิเคราะห์เป็น คิดเชิงระบบได้ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการกำกับตัวเอง โลภ โกรธ หลง รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง รวมทั้งความมีภาวะผู้นำ แต่ต้องทำงานเป็นทีมได้ นี่เป็นภาพรวม เป็นก้อนทักษะแห่งอนาคตที่เชื่อว่าทั่วโลกกำลังปั้นเด็กของเขาแบบนี้

ดร.อนุชาติ กล่าวว่า ทักษะในอนาคต เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับเด็กนักเรียน เพราะปัญหาใหญ่ที่ครูทุกโรงเรียนพบในเวลานี้ไม่ใช่เรื่องความรู้ แต่เป็นเรื่องทักษะชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องความเครียด ภาวะซึมเศร้า ความรู้ไม่เท่าทันสื่อ การตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ถูก bully ในโรงเรียน ปัญหาเพศสัมพันธ์ ท้องไม่พร้อม เป็นเรื่องการจัดการตัวเองทั้งสิ้น ซึ่งเป็นทักษะก้อนใหญ่ และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น

ยิ่งหลังวิกฤติโควิด-19 ในวงการนักการศึกษาหลายถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล ปัญหาความรู้ถดถอย learning lost จากการที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน 2 ปี เรียนอยู่หน้าจอ เรียนออนไลน์ที่ผู้ใหญ่บอกว่ามันเกิดการเรียนแต่ไม่ได้เรียนรู้ และไม่ได้เป็นเครื่องมือที่สอดคล้องกับช่วงวัยของเด็ก จริง ๆ อาจจะไม่ใช่แค่ academic learning lost และยังทำให้เกิด social learning lost อีกด้วย

“การที่จะช่วยไม่ให้เกิด social learning lost หมายความว่า ให้เด็กมาโรงเรียนแต่ทำตามาตรการป้องกัน มีระยะห่างเด็ก อาจจะติดโควิดที่โรงเรียน 3 คน 5 คน แต่จะได้ทักษะการเจอกับเพื่อน การมีปฏิสัมพันธ์ เล่นกันให้เหงื่อซ่ก มีระยะห่างบ้าง ไม่มีระยะห่างบ้าง ผมว่านี่คือวัยของเขาในการเรียนรู้ การเข้าสังคม ฟังดูเป็นนามธรรม แต่ผมรู้สึกว่าสำคัญมากกับการสร้างคน แล้วระยะเวลา 2 ปี(วิกฤติโควิด-19) นี่มันหายไปเลย เพราะถูกกักแต่ในบ้าน ผมไม่รู้ว่ามันจะสะสมไปเป็นปรากฏการณ์อะไร แต่เขาควรได้รับการบ่มเพาะ โอกาสเขาหายไป อาจจะชดเชยในตอนหลังได้บ้าง แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่อาจจะไม่สามารถช่วยเด็กได้ อาจจะอมไปด้วยปัญหา”

ห้องเรียนในช่วงพักกลางวัน

แตกต่างแต่ไม่แตกแยก-จูงเด็กมาเรียนอย่างมีความสุข

สำหรับโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้มีเพียงโจทย์การปั้นเด็กให้มีทักษะในอนาคตเท่านั้น สิ่งสำคัญอีกสิ่งคือ การสร้างอัตลักษณ์เฉพาะ ดร.อนุชาติ กล่าวว่า อัตลักษณ์ดังกล่าวมีที่มาจากความเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความเป็นคณะวิทยาการจัดการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่มีปรัชญา ปณิธานตั้งแต่ต้นว่า “ร่วมสร้างสังคมการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน” เป็นแกนหลักของการทำงานในเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะสังคมปัจจุบันที่เริ่มปริออกจากกัน มีความแตกแยกสูงมาก ฉะนั้น แกนหลักของโรงเรียน และดีเอ็นเอของเด็กนักเรียนต้องมี คือ เคารพความแตกต่างหลากหลากหลาย มีความเคารพทั้งเรื่องอุดมการณ์ ความคิด ฯลฯ แล้วสามารถอยู่ร่วมกันได้

“สองเรื่องนี้เป็นโจทย์ของเราว่าอยากจะปั้นเด็กแบบนี้ขึ้นมา และคิดว่าเป็นแก่นการพัฒนาเด็กไทยทั้งประเทศด้วยซ้ำ เมื่อเรามีโอกาสทำ ตั้งใจทำให้มันดีด้วยเป้าหมายอันนี้ และคิดว่าเป็นเป้าหมายที่ไม่ได้หลุดจากการพัฒนาของประเทศ เราเชื่อว่า เรามาถูกทาง”

ดร.อนุชาติ กล่าวว่า เมื่อได้โจทย์มาว่า แล้วจะทำอย่างไร โรงเรียนแห่งนี้จะไม่ใช่เพียงสอนหนังสือในห้องเรียน แต่จะต้องทำทั้งระบบโรงเรียน โดยแบ่ง 3 ก้อนใหญ่

ก้อนที่หนึ่ง การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับเด็ก โรงเรียนกับผู้ปกครอง ผู้ปกครองกับเด็ก เป้าหมายเพื่อให้เด็กมาโรงเรียนอย่างมีความสุข และที่สำคัญ หากพ่อแม่เห็นคุณค่าของการศึกษาแบบที่โรงเรียนกำลังทำอยู่ ก็จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาได้ เพราะได้เห็นประจักษ์พยาน คือ ลูก

“ก้อนนี้มาจากโจทย์ที่เรามองว่า ระบบการศึกษาตอนนี้เครื่องยนต์มันหลุดจากกัน คือ น็อต ล้อ ไปคนละทางหมดแล้ว เวลาพูดถึงโรงเรียน ประกอบด้วยเด็ก ครู ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ชุมชน คนเกี่ยวข้องเยอะแยะมากมาย แต่มัน disconnected วันนี้มันพลัดพรากจากกัน นอกจากต่างคนต่างอยู่แล้ว ยังเป็นศัตรูกันด้วย ถ้าไปคุยกับโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน จะพบว่าโรงเรียนเยอะมากที่ ผู้ปกครองกับโรงเรียนเป็นศัตรูกัน ผู้ปกครองจะตรวจสอบโรงเรียน คอยจับผิด ทัศนะจับผิดนำไปสู่การกดดัน ครูก็จะเกร็ง โรงเรียนที่มีฐานะหน่อย พ่อแม่จะนึกว่า ส่งลูกที่ปากประตู ก็คิดว่า ฉันจ่ายเงินแพงมาก ลูกต้องกลายเป็นคนดี ซึ่งมันไม่ใช่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ห้องเรียนที่ครูไม่รักลูกศิษย์ เอาแต่ก่นด่า ที่เกิดจากระบบอำนาจนิยม เจอระบบเฆี่ยนตี แม้การเฆี่ยนตีจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายทั้งหมด ผมได้ดีเพราะโดนครูตีนะ แต่เมื่อเกิดความไม่ไว้วางใจกัน ผู้ปกครองกดดันครู ครูมาลงกับนักเรียน เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ปกครอง มันสัมพันธ์กันไปหมด”

คำว่า connection จึงเป็นหัวใจของการทำเรื่องการศึกษา แปลว่า ถ้าจะออกแบบโรงเรียน จำเป็นต้องออกแบบให้ครู ผู้ปกครอง เด็ก ทำงานด้วยกัน มีสายสัมพันธ์ที่ดี สมาคมผู้ปกครองไม่ใช่สมาคมที่ทำหน้าที่นายหน้าคอยเด็กเข้าโควตา หรือหาเงินบริจาค

ในเรื่องของความสัมพันธ์นั้น โรงเรียนแห่งนี้ยังลงลึกไปถึงการร่วมกับพ่อแม่ในการบริหารความรู้ความเข้าใจในการสื่อสารกับลูก เพราะเชื่อว่าถ้าครอบครัวบริหารความสัมพันธ์ได้ดี ก็จะส่งผลต่อการเติบโตของเด็กที่ดีด้วย

“เราพบว่าปัญหาของเด็กส่วนใหญ่ มาจากที่บ้านเกือบ 100% ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม หย่าร้าง พ่อแม่ทะเลาะกัน ฯลฯ สองพบว่า พ่อแม่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการสื่อสารกับลูก และเข้าใจจิตวิทยาการเติบโตของลูก ความรักของพ่อแม่มีล้นเหลือ จนกลายเป็นขี้บ่น ขี้จิก จี้เด็ก รวมถึงความคาดหวังของพ่อแม่ อยากให้เป็นหมอ หรืออื่น ๆ ไม่เปิดโอกาสให้ลูกโตในแบบฉบับของเขา ด้วยสาเหตุเหล่านี้ สิ่งที่เราทำมากในฐานะโรงเรียน คือ เปิดห้องเรียนพ่อแม่ขึ้น ชวนพ่อแม่มาทำเวิร์กชอป พูดคุยกัน ใช้ภาษาของเราว่า ลูกวัยทีน แม่วัยทอง มาเจอกัน วัยทีนกำลังโต อยากมีอัตลักษณ์ของตัวเอง ให้ความสำคัญกับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ พ่อแม่ก็น้อยใจ ลูกไม่รักชั้นแล้ว เฮ้ย ไม่ใช่ เขายังรักพ่อแม่เหมือนเดิม แต่ขอเวลาเขากับเพื่อน ขอสร้างตัวเองสักพักนึงได้มั้ย อะไรอย่างนี้

วิธีคิด มุมมอง ความเข้าใจ ต่อการบริหารความสัมพันธ์ในครอบครัว ก็มีโครงการห้องเรียนพ่อแม่มาเป็นระยะ ๆ พยายามสื่อสารให้ความรู้ความเข้าใจเขา ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เราทำจริงจังมากขึ้น มีศูนย์ที่เรียกว่า Empathy Center คล้ายๆ คลินิก นัดหมายพ่อแม่มาคุยทั้งปัญหาในครอบครัว ปัญหากับลูก อนาคตอันใกล้ ก็จะเปิดห้องเรียนพ่อแม่แบบครบวงจรมากขึ้น ทำเป็นแพกเกจใหญ่ หมายความว่า พ่อแม่เองที่มีความรู้ความสามารถก็มาก ก็จะแบ่งกลุ่มกัน กลุ่มหนึ่งอาจสนใจเรื่องเย็บปักถักร้อย ทำขนม อบขนมปัง การทำธุรกิจ ก็นำความรู้เหล่านี้มาแลกเปลี่ยนกัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่ เพราะแทนที่จะส่งลูกแล้วไปชอปปิง ก็มาเรียนหนังสือ”

ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ คือ ทำอย่างไร หนึ่ง เด็กมาโรงเรียนแล้วต้องมีความสุข ห้องเรียนต้องดี สองเราจะค่อยๆ ทำงานกับผู้ปกครอง ให้ผู้ปกครองมีปฏิสัมพันธ์กับเรา แล้วเราก็สื่อสารกันให้ดี จูนความคาดหวังร่วมกัน นี่คือก้อนที่หนึ่ง เป็นเรื่องความสัมพันธ์ ซึ่งผมก็ยังไม่สามารถทำได้ดีมาก ๆ แต่มีความพยายามอยู่

เด็กนักเรียนใช้พื้นที่ลานเอนกประสงค์เล่นแบดมินตันช่วงพักกลางวัน

  • “ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” รมต.ศึกษา…สร้างครูพันธุ์ใหม่ – รื้อระบบ – ล้างงานขยะ – ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้
  • “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ชวนถก “การศึกษาไทย” ถึง “Population Disruption” และอนาคตวิถีจ้างงาน 2 รอบ
  • “ศ. นพ.จรัส สุวรรณเวลา” วิพากษ์ระบบการศึกษาไทยยังไม่ตื่น “หัวโต – แขนขาลีบ” ชี้เข้าสู่กับดักความยากจนข้ามรุ่น
  • การศึกษาไทย 4.0 (1): 12 ปีที่ผ่านมาเด็กไทยเรียนจบอะไร!! ทำไมต้องรัฐต้องควักอีก 1.4 หมื่นล้านผลิตบัณฑิต – อาชีวะพันธุ์ใหม่
  • โอกาสที่เสียไป : 12 ข้อเท็จจริงการศึกษาไทย … เด็กเสียโอกาส ประเทศเสียอะไร

  • สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กในทุกมิติ

    ก้อนที่สอง สำหรับการวางระบบโรงเรียนคือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก มาจากหลักที่ว่า เมื่อจะวางระบบการศึกษาให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เราต้องมองว่าเด็กมี pain point อย่างไรในการเดินเข้ามาในระบบการศึกษา เราพบว่า…

    ระบบการศึกษาปัจจุบัน เด็กมีความทุกข์มากกับการไปโรงเรียน เรียนหนังสือแล้วไม่มีความสุข

    ด้วยเหตุปัจจัยหลากหลาย หนึ่ง คือ เนื้อหาสาระที่เรียนแล้วเป็นทุกข์ ถูกบีบคั้น ตัวอย่างโรงเรียนระดับทอป เด็กเรียนตั้งแต่เช้าถึงเย็น เสร็จแล้วต้องไปติวต่อ เพราะระบบการแข่งขันมันบีบ รีดคนเหมือนสายพานโรงงานอุตสาหกรรม คนเก่งคือคนที่อยู่แถวหน้า คือผู้ชนะ แล้วมีผู้แพ้อีกมากมาย 49 คนจาก 50 คน คือมีผู้ชนะคนเดียว ฉะนั้น คน 49 คน คือ คนทุกข์ หรือเบอร์หนึ่งก็เป็นทุกข์ด้วย ทุกข์อีกแบบ ถ้าเราไปวิเคราะห์ระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจในโรงเรียน ด้วยสาเหตุที่ไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อใจกัน หรือระบบราชการที่แข็งตัวมาก ครูถูกสั่งการลงมา เหยื่อสุดท้ายก็คือเด็ก ถูกกระทำทั้งหลายจากกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ไปสะสมอยู่ข้างล่าง ไปตกอยู่กับตัวเด็กหมด

    “มันจะโยงไปถึงเรื่องเครื่องแบบ การเข้าแถว การเคารพธงชาติ ถูกบังคับให้เรียนในสิ่งที่ไม่ใช่ learning style ของเขา ไม่ใช่วิถีของเขา นี่เป็นสาเหตุที่ทำไมเราถึงสลัดเรื่องเครื่องแบบออก เพราะถ้าอยากสร้างเด็กให้มีระเบียบวินัย จำเป็นหรือเปล่าว่าเขาต้องใส่เครื่องแบบทุกวันมาโรงเรียน เด็กเขาต้องการสร้างอัตลักษณ์ ต้องการความมีตัวตนของเขา แล้วเราค่อยมีวิธีการมากมาย ในการกล่อมเกลาเขา สลัดเรื่องที่ไม่จำเป็นออก เช่น เครื่องแบบ ก็เปลี่ยนมาเป็นเสื้อยืด ที่ถือว่าเป็นเครื่องแบบโรงเรียน เพราะเดิมเรียนที่อาคารเก่า ติดกับตลาดนัด และไม่มีรั้ว เราก็บอกเด็กว่า ให้ใส่เสื้อยืดของโรงเรียน วันอังคารกับวันพฤหัสบดี ที่มีตลาดนัดนะ จะได้แยกแยะออกว่าใครเป็นนักเรียน เพื่อความปลอดภัย และเด็กให้ความร่วมมือ 100% บอกกับเขาดีๆ ใช้เหตุผล แล้วเขาน่ารักมาก เวลามีพิธีการ ไหว้ครู ดูงานนอกสถานที่ เด็กก็จะใส่เสื้อของโรงเรียนพร้อมเพรียง”

    อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ เด็กที่นี่ไม่ต้องเข้าแถวเคารพธงชาติ ก็ถูกว่า สอนให้เด็กไม่รักชาติ การเข้าแถวทำให้คนรักชาติจริงหรือ? นักการศึกษารวมถึงสังคมต้องตั้งคำถามว่า สิ่งที่เคยทำ ๆ มา(เข้าแถวเคารพธงชาติ)ตอบโจทย์มั้ย การที่เราเคารพธงชาติตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน ทำให้เรารักชาติจริงไหม แล้วทำไมต้องให้เด็กมายืนตากแดดตอนเช้า ๆ แล้วครูก็มายืนใต้อาคารพูดอบรมสั่งสอนเด็ก

    “ในมุมผม จะดีกว่ามั้ย ถ้าใช้เวลา 30 นาทีในการเข้าแถวเคารพธงชาติ ให้เป็นนาทีทองในการเรียนรู้ของเด็ก เอาเด็กมาเข้ามาอยู่ในห้องของเขา ให้มาเจอครูประจำชั้น ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เป็นยังไงวันนี้ถูกแม่ดุมามั้ย ทำไมถึงถูกดุ อารมณ์ความรู้สึกวันนี้เป็นไง โอเคมั้ย ฯลฯ เอาเด็กเป็นตัวตั้ง เตรียมความพร้อมให้เด็กก่อนเรียนหนังสือ ถ้าอยากให้เด็กมีสมาธิ ชวนกันนั่งสมาธิก็ได้ 10 นาที อยากสวดมนต์ก็สวดมนต์ในห้องได้ ก็ให้โจทย์นี้กับครูประจำชั้น โดยโจทย์หลักคือใช้ 30 นาทีนี้เตรียมความพร้อมก่อนเด็กจะเข้าเรียนคาบที่ 1 ไม่ดีกว่าหรือ ส่วนเรื่องรักชาติจะตามมาเอง ไม่ใช่มาจาก 30 นาทีที่เด็กต้องตากแดด เขาจะยิ่งกบฏ เพราะพอเหงื่อซ่ก ไม่โอเคกับร่างกาย จะหงุดหงิด พอเข้าห้องเรียน เรียนหนังสือคาบแรกก็ไม่รู้เรื่องแล้ว”

    ดร.อนุชาติ บอกว่า ก้อนนี้จึงเป็นก้อนที่ใช้คำว่า “โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กในทุก ๆ มิติ” คือ สิ่งแวดล้อมต้องดี ความสะอาดร่มรื่น อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติได้ มีโอกาสสัมผัสธรรมชาติ มีสุขอนามัยที่ดี โรงเรียนอื่นไม่จำเป็นต้องเหมือนที่นี่ทุกอย่าง แต่ต้องยึดหลักนี้และทำตามกำลังของแต่ละแห่ง และที่จะปลอดภัยมากกว่านั้น คือ ความสัมพันธ์ การ bully ต้องลดลง คือ เด็กต้องเล่น ต้องแกล้งกัน แต่ต้องไม่เกิดภาวะรังแกกัน รังเกียจเดียดฉันท์กันตลอดเวลา และเด็กสมัยนี้ก็มีเด็กที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษหลุดเข้ามาในระบบอยู่แล้ว

    เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการมีพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กทุก ๆ คน ต้องให้เด็กรู้สึกว่า เวลามีความทุกข์ ถ้าคุยกับพ่อแม่ไม่ได้ อย่างน้อย ๆ ต้องมาหาครู เราจะให้เขาซ่อนปัญหาไว้ แล้วไปแก้กันเองหรือ หรือให้มาคุยกับเรา เราอาจจะแก้ไขให้ไม่ได้ แต่ปรึกษาหารือกันได้ นี่คือความหมายของพื้นที่ปลอดภัย และหัวใจของโรงเรียน ผมไม่รู้จักนักเรียนเลว แต่ทำไมเขาต้องถูกกล้อนผม เดินเข้าโรงเรียนปุ๊บถูกกล้อนผม มันไม่โอเค แต่โรงเรียนเราจะไว้ผมยาว ผมสั้น แล้วแต่สะดวกใจ เด็กผู้หญิงที่นี่ ตอนนี้แฟชั่นย้อมผมกำลังมา แต่ครูขออย่างเดียว ให้คุยกับพ่อแม่ให้รู้เรื่อง ถ้าพ่อแม่โอเค ก็จัดไป จะผมทอง ผมฟ้า ผมม่วง”

    “สิ่งเราใช้ให้เป็นประโยชน์คือ หนูไม่ใส่เครื่องแบบ ใส่ไปรเวทมา เราก็บอกให้รู้จักการแต่งกายตามกาลเทศะ แต่งกายตามความเหมาะสม ความสุภาพ เป็นอย่างไร เราคุยกับเด็กเขา มีคนต่อว่า ว่าการไม่ใส่เครื่องแบบทำให้เด็กแข่งขัน แต่งตามแฟชั่นกัน ขอให้ไปดูเลยว่า โรงเรียนนี้ ใครแต่งแฟชั่นถือว่าเชย เสื้อผ้าไม่ต้องรีด เขารู้สึกว่านี่โอเคกับเขา แล้วไม่เกิดภาวะการแข่งขันเรื่องการแต่งเนื้อแต่งตัว เพราะเด็กเขารู้ว่าเขาต้องแต่งอะไร แค่ไหน นี่คือความเชื่อใจในตัวเขา อนุญาตให้เขาเติบโตแบบของเขา อาจจะมีบ้างที่เด็กผู้หญิงใส่กางเกงขาสั้น ครูก็ชวนมาคุย บอกว่าอันนี้ครูไม่ค่อยสบายใจนะ ไม่ตำหนิ หรือตัดสินเขา แต่คุย เรื่องเสื้อผ้า ทรงผม เราคุยไปถึงขั้นว่า หนูย้อมผมแล้วรู้มั้ยว่าการย้อมผมต้องกัดสีออก รู้วิธีบำรุงรักษามั้ย เลือกแชมพู ยานวดผม เป็นมั้ย เราคุยมุมนี้กลับเลย ความสะอาดของเสื้อผ้าคืออะไร ยังไง เขายิ่งโอเคกับเรา ว่าเราใส่ใจดูแลเขาในอีกมิติหนึ่ง ฉะนั้น เรื่องเสื้อผ้า ทรงผม จะมีการพลิกมุมเล่นกับเขาหมด พอพลิกมุมเล่น เขาก็จะมีความสบายใจเวลาเดินเข้ารั้วโรงเรียน”

    สิ่งที่เป็นจุดพลิกผันเลยที่เราพบ ผู้ปกครองจะบอกว่าพฤติกรรมลูกเปลี่ยน จากที่ไม่เคยอยากมาโรงเรียน ตอนนี้ไม่ต้องปลุกตอนเช้า เด้งตัวจากที่นอนด้วยตัวเอง แล้วจะรบเร้า หรือหงุดหงิดถ้ามาส่งที่โรงเรียนสาย แล้วที่นี่ไม่มีปัญหาเรื่องเด็กโดดเรียน ขาดเรียน หนีเรียน ไม่มีเลย แปลว่าเราเริ่มทำโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ของเขาได้แล้ว และเราจะต่อยอดให้เขาเรียนรู้ได้เต็มที่อย่างไร

    บรรยากาศในโรงเรียน
    บรรยากาศในโรงเรียน

    ก้อนที่สาม คือ หลักสูตร ดร.อนุชาติ บอกว่า ที่มีทั้งเรื่องการทำให้หลักสูตรมีความทันสมัย สอดคล้องและตอบโจทย์ของโลกให้ได้ ไม่ใช่ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เราเอาหลักสูตรจากทุกที่ แล้วนำมาปรุง นำมาทำรายวิชาให้มีความสนุก และหัวใจสำคัญ คือ พลิกวิธีการจัดการเรียนการสอน ครูสามารถพลิกการสอน พัฒนาความเชี่ยวชาญตลอดเวลา และเป็นสาเหตุที่โรงเรียนเชิญนักวิชาการมากมายมาพูดคุย แม้คุณครูที่รับมาจะเก่ง เรียนได้เกียรตินิยม แต่ต้องใช้เวลา 2 ปีถึงจะสอนเก่ง และยิ่งสอนเด็กยุคนี้ด้วย จะเอาเด็กให้อยู่อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ใส่ใจมาก

    “ตอนร่างหลักสูตร เราจำเป็นต้องปรุงวิชาใหม่ เพราะมันจะพ่วงกับวิธีการสอน เนื้อหาที่มีมามากมายสะสมมา 1 ศตวรรษไม่สามารถเอามาใส่ในหนึ่งหลักสูตรให้เด็กเรียน แต่เราจะสอนอย่างไรให้เด็กไปค้นคว้าต่อ รวมถึงการเรียนประวัติศาสตร์ แทนที่จะให้เรียนแบบท่องจำ ก็เป็นการเรียนแบบวิเคราะห์ ตั้งคำถาม ตั้งโจทย์ นี่คือที่มาของการออกแบบหลักสูตรที่แบ่งเป็น 5 กลุ่มประสบการณ์ คือ คณิต-วิทย์ มนุษย์กับสังคม สุนทรียศิลปะ คือภาษาและการสื่อสารที่มีทั้งภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และแยกเรื่องวรรณกรรมออกจากภาษาไทย เพราะคิดว่าเด็กเราต้องอ่านหนังสือเยอะ การอ่านวรรณกรรมเป็นหัวใจของการพัฒนาคนแบบหนึ่ง เรายอมลงทุนเอาครูวรรณกรรมแยกจากครูภาษาไทย

    หลักสูตรอีกกลุ่ม ที่ปรุงใหม่ เรียกว่า สุขภาพและสุขภาวะ (health and well being) ที่รวมเรื่องกีฬา phisical activity รวมถึงพัฒนาด้านจิต คือ ว่าด้วยเรื่องสุขภาพกายและใจ พอปรุงอย่างนี้ก็จัดวิชาใหม่ อย่างลูกเสือ จะมาแต่งชุด ผูกผ้าพันคอ แบกไม้พลอง ทำไม แก่นของลูกเสือคือต้องเอาชีวิตรอดใช่มั้ย เราก็สอนวิชาอยู่รอดปลอดภัย (Survival in Everyday Life) อย่างเรื่องซ้อมหนีไฟ ไม่ใช่แค่กดกริ่งหนีไฟแล้วเดินไปนั่งคุย นั่งเล่น แต่จะจริงจัง มีผู้บาดเจ็บ สอนการปฐมพยาบาล การทำ CPR คือเริ่มจากแก่นของเรื่อง หรือการเรียนว่ายน้ำ ก็เป็นการเรียนเพื่อเอาชีวิตรอด ตกน้ำไม่ตาย จึงเป็นที่มาว่าของคำว่า “อย่าผีเสื้อ” ต้องเอาว่ายน้ำให้รอดก่อน หน้าที่ครูพละคือเด็กทุกคนเรียนจบแล้ว ต้องตกน้ำไม่ตาย ถ้าจะให้ดีก็รู้จักวิธีช่วยเพื่อนได้ด้วย เทอมต่อไปคือเรียนการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำก่อนดีมั้ย วิชาพละเมื่อก่อนในห้องเรียน จะมีเด็ก 10 คนที่เป็นนักกีฬา แต่อีก 40 คนนั่งอยู่ข้างสนามคอยดูเพื่อน ไม่โอเคนะ ต้องเอาเด็กทั้งห้องให้อยู่ พอพลิกโจทย์ให้ครูพละ เขาก็สนุก เขาเห็นประเด็นว่าโจทย์ของเรา เด็กของเราต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

    นอกจากนี้ โรงเรียนให้ความสำคัญว่าเมื่อร่างกายแข็งแรงแล้ว แล้วจิตใจก็ต้องแข็งแรง ก็มีวิชาเกี่ยวข้องกับภาวะอารมณ์ จิตใจทั้งหมด ที่ผ่านมาการสอนเพศศึกษา มาสอนว่าจะสวมถุงยางอนามัยอย่างไร เด็กก็หัวเราะคิกคักกัน เราเปลี่ยนใหม่ เริ่มจากการพัฒนาด้านร่างกายและจิตใจทั้งหมด ปรุงเป็นวิชาวัยรุ่นศาสตร์ เรียนหลายเทอม วัยรุ่นศาสตร์ 1 เรียนกายวิภาค เนื้อตัวร่างกายเราเติบโตขึ้นมาอย่างไร ขี้ไคล เหงื่อ ออกมาได้อย่างไร growth hormone ทำงานอย่างไร ซึ่งเด็กมัธยม 1 เป็นช่วงที่ฮอร์โมนกำลังพลุ่งพล่านมาก เด็กผู้หญิงบางคนเริ่มมีประจำเดือน เด็กผู้ชายนมเริ่มตั้งพาน ก็เอาเรื่องนี้มาสอนให้สังเกตร่างกายตัวเอง สังเกตอารมณ์ เด็กก็สนุก สอนวิธีการเลือกชุดชั้นใน กางเกงใน ทำให้เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต พอวัยรุ่นศาสตร์ 2 ก็มีเรื่องความสัมพันธ์กับครอบครัว ความสัมพันธ์กับเพื่อน จุดนี้เพศศึกษาจะเข้ามา หรือเวลาทะเลาะกับเพื่อนจะทำอย่างไร จะปรับทุกข์อย่างไร หรือเวลาโกรธ โกรธเพราะอะไร ทำอย่างไรจะคลี่คลายเรื่องนี้ได้ ไล่มาเป็นตามลำดับ พอมาเรื่องเพศสัมพันธ์ก็ง่าย เพราะเรียนบนฐานที่เข้าใจเรื่องร่างกาย อารมณ์ ทำให้รู้เท่าทันแบบเป็นจริง เด็กที่นี่มีชมรมให้คำปรึกษา ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ตั้งกันเอง เป็นผลจากการเรียน และเด็กจะชอบเรียนจิตวิทยา

    ดร.อนุชาติเล่าต่อว่าในด้านการประเมินผล ระบบการศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นระบบแพ้คัดออก แต่โรงเรียนนี้ จะบอกผู้ปกครองว่า นอกจากไม่ต้องเสียค่าติววิชาการให้กับเด็กแล้ว โรงเรียนไม่สนับสนุนการเข้าแข่งขันประกวดใด ๆ อย่าคาดหวังว่าจะเห็นโรงเรียนนี้มีการติดป้ายเชิดชูเกียรติ เพราะที่นี่ต้องการให้เด็กทุกคนมีความสามารถ มีความเก่งเฉพาะทาง ระบบประเมินจึงไม่มีการออกเกรด แม้จะมีเกรด แต่เด็กจะไม่รู้ สิ่งที่เขารู้ คือ ระบบประเมินผล ที่เรียกว่า แถบความสามารถ (competency) ตรงกลางคือ “สามารถ” จากนั้นจะเป็น “ยังต้องปรับปรุง” “ทำได้ดีแล้ว” “ทำได้ดีมาก” ในแต่ละวิชา และแต่ละแถบจะมีคำอธิบาย เช่น สามารถ คือสามารถอย่างไร

    นักเรียนทุกคนมีล็อกเกอร์ของตัวเอง
    ถอดรองเท้าเข้าห้องเรียน

    สุดท้ายตอนสิ้นเทอม เด็ก พ่อแม่ ครู สามฝ่ายจะมานั่งคุยกัน โดยครูจะรายงานว่าลูกเรียน 4-5 วิชานี้ ลูกคุณได้แถบความสามารถแต่ละวิชาอย่างไร อันนี้ต้องพัฒนาอีก อันนี้ทำได้ดีมาก แต่ว่าจะไปต่อมั้ย ตั้งคำถามกับเด็ก เด็กอาจจะบอกว่า อันนี้ผมทำไม่ได้ดี เหตุผล 1-2-3 แต่เทอมหน้าอยากทำให้ดีขึ้น ขอแก้ตัวอันนี้ อันนี้ทำได้ดีแล้ว แต่ผมยังไม่พอจะไปอีก พ่อแม่จะสนับสนุนอย่างไร โรงเรียนยอมเสียเวลา ให้ครูประจำชั้นคุยกับพ่อแม่-เด็ก เป็นรายครอบครัว ครบทุกคน เพราะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

    “ผลเชิงประจักษ์ คือ บรรยากาศของโรงเรียนนี้ เด็กไม่แข่งขันกันในความหมายเชิงชิงดีชิงเด่น ไม่แข่งขันเชิงเอาตัวรอด แต่จะเป็นแบบว่า เพื่อนคนนี้เก่งประวัติศาสตร์มาก ทำได้ดี เพื่อนคนนี้เก่งชีววิทยา เล่นดนตรีก็เก่ง ทุกคนจะรู้ทางกันหมด และไม่รู้สึกมีปมด้อย เวลาเราฟังเขาคุยกันแล้วแฮปปี้ว่า เรามาถูกทางแล้วพอสมควร เด็กนักเรียนบางคนชัดเจนว่า อยากจะเข้าแข่งขัน เมื่อสองปีที่แล้ว มีเด็กคนหนึ่งจะไปแข่งภาษาจีน ก็มาหาครูให้พาไปหน่อย อันนี้เด็กต้องชัดเจนว่าจะไปในทางนี้ แต่ถ้าให้โรงเรียนลุกขึ้นมาติว เพื่อพาไปล่ารางวัล เด็กจะรู้ว่าโรงเรียนไม่ทำ ฉะนั้น โดยรวมแล้วมีการทำงานเป็นทีม การอยู่ร่วมกันมันโอเค”

    อ่านต่อตอนที่ 2

    ดูเพิ่มเติม