ThaiPublica > เกาะกระแส > “ก่อการครู” ผู้จุดสตาร์ตเปลี่ยนการศึกษา “ทุกข์ของแผ่นดิน” สู่หมุดหมายการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป (1)

“ก่อการครู” ผู้จุดสตาร์ตเปลี่ยนการศึกษา “ทุกข์ของแผ่นดิน” สู่หมุดหมายการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป (1)

11 พฤษภาคม 2022


การปฏิรูประบบการศึกษาไทยมีการพูดกันมาหลายสิบปี นอกจากไม่มีความคืบหน้ายังถดถอยจนถึงขึ้นไม่สามารถรับมือกับโลกใหม่ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงครู ที่เป็นข้อต่อสำคัญหนึ่งในระบบการศึกษาไทย “ไทยพับลิก้า” จึงเชิญชวนสังคมมาร่วมกันถกเถียง เพื่อเปิดทางให้ระบบสามารถดึงขีดความสามารถความเป็นครูออกมา และร่วมปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง ผ่านกระบวนการ “ก่อการครู” ที่มุ่งสร้างครูให้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียน การสอน

ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งใน “ก่อการครู” เล่าว่า การศึกษาเป็นทุกข์ของแผ่นดิน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมดไม่มีใครที่ไม่ทุกข์ เด็กมาโรงเรียนก็ทุกข์ เป็นเรื่องขมขื่น พ่อแม่ก็เป็นทุกข์ ครูก็เป็นทุกข์ ผู้บริหารโรงเรียนก็เป็นทุกข์ ทุกข์ไปถึงนายกรัฐมนตรี ผู้ประกอบการก็ยิ่งทุกข์ หาคนทำงานที่มีฝีมือและคนที่ “ใช่” ไม่ได้

“ก่อการครู” จึงมีโจทย์ว่า หากจะขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงการศึกษา ครูน่าจะเป็นกุญแจดอกสำคัญ และครูมีความทุกข์เยอะมาก เพราะถูกกดทับด้วยระบบอำนาจ รวมทั้งครูรุ่นใหม่กำลังจะหลุดออกจากระบบจำนวนมาก เพราะรับมือไม่ไหว

“แนวคิดหลักของก่อการครูคือพัฒนาครู ปฏิรูปการศึกษาผ่านครูเป็นหลัก ให้เขาเปลี่ยนห้องเรียน ทำในมุมที่เป็นไปได้ก่อน ภายใต้สิ่งแวดล้อมเดิม กฎเกณฑ์เดิม โดยพบว่า มีครูจำนวนไม่น้อยอยากจะเปลี่ยนแปลง วิธีนี้อาจเหนื่อยหน่อย เพราะต้องวิ่งหาทุน โชคดีที่ได้ธนาคารกรุงเทพมาช่วย ได้กลุ่มธุรกิจ TCP มาช่วย ไม่ใช่การฝึกอบรม แต่เป็นเวิร์กชอป อย่างโมดูล (module) ที่หนึ่ง ครูคือมนุษย์ เพื่อเชื่อมต่อกับคุณค่าดั้งเดิมของเขา ว่าทำไมเขาอยากจะเป็นครู คุณค่าชีวิตเขาคืออะไร แล้วที่ผ่านมามีปัญหา อุปสรรคอะไร มาเล่าสู่กันฟัง คุยกัน เพื่อให้เขารู้สึกว่าหันหน้าไปทางไหนก็มีเพื่อนร่วมทุกข์ เราไม่ได้แก้ปัญหาอะไรให้เลย กลับไปเขาจะเจอทุกอย่างเหมือนเดิม แต่มีเพื่อนร่วมทุกข์แล้ว และเติมเครื่องมือ วิธีคิด ฝึกการรับฟังเด็กให้เป็น อย่ารีบด่วนตัดสินเด็ก ก้อนแรกนี้เป็นเหมือน empowering เขาขึ้นมา คือ ดึงเขาออกจากหล่มก่อน ค่อยเติมเครื่องมือ จากนั้นก็มีโมดูลอื่นๆ ตามมา”

ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.อนุชาติ กล่าวว่า สิ่งที่ก่อการครูทำต่อคือ การสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ มีคอร์สออนไลน์ต่อเนื่อง เช่น ก่อการครูกาฬสินธุ์ ก่อการครูขอนแก่น ก่อการครูวิจิตรศิลป์ ก่อการครูฉะเชิงเทรา ฯลฯ รวมตัวกัน 10 กว่าเครือข่าย และให้เติบโตเองโดยธรรมชาติ มีการใช้เงินมีบ้างนิดหน่อย เช่น ระดมทุนได้ประมาณ 2 แสนบาท นำไปสนับสนุนโครงการในโรงเรียน โครงการละ 2 หมื่นบาท ทำได้เกือบ 10 โครงการ เช่น โรงเรียนบ้านบางขวาง จังหวัดสุพรรณบุรี โจทย์ของครูเริ่มจากพอมีโควิด-19 เด็กไม่รู้จะทำอะไร ออนไลน์เด็กไม่เรียนอยู่แล้ว อย่างที่ทราบกัน ปรากฏว่าเด็กคนนึงไปตกปลา เชี่ยวชาญเรื่องการตกปลา ครูอยากซื้อเบ็ดไปให้เด็กนักเรียน เราบอกไม่ได้ อย่าเอาเรื่องเงินทองไปแลก แต่ให้ชวนเด็กเอาความสามารถเรื่องตกปลา มาเชื่อมกับหลักสูตรของโรงเรียน ไปคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียน คุยกับหัวหน้าฝ่ายวิชาการ แล้วพัฒนากลุ่มตกปลาของเด็ก พอเริ่มโจทย์นี้ เด็กไปถึงขั้นทำตลาดออนไลน์ ขายปลา เป็นต้น

ด้าน “อธิษฐาน์ คงทรัพย์” ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะรองผู้อำนวยการโครงการ ก่อการครู กล่าวว่า ก่อการครูก้าวเดินมาได้เป็นปีที่ 4 เป็นโครงการที่ได้มาจากการตกผลึกการพูดคุยกันระหว่างการก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับเครือข่ายพันธมิตร เช่น กลุ่มมะขามป้อม กลุ่ม black box รวมถึงครูอาจารย์ในสถาบันอื่นๆ เพื่อมาร่วมกันทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงการศึกษา เพราะในภาพใหญ่ของระบบการศึกษา พบว่ามีความเจ็บปวดมากมาย มีความซับซ้อน ปัญหาหลากหลายมิติมาก ขณะที่พันธมิตรเครือข่ายจะมีจุดแข็ง มีความชำนาญ เชี่ยวชาญในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงกับคนได้

“เรามองว่า ครู เป็นหนึ่งใน change agent ที่สำคัญ และมักจะเป็นกลุ่มที่ถูกกล่าวโทษเวลาเกิดปัญหาเรื่องการศึกษา แต่เราเชื่อว่ายังมีครูดีๆ อีกมากที่อยากเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ไม่มีโอกาส จึงคิดที่จะทำงานกับครู เพราะทำงานกับเด็ก เด็กผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ถ้าอยากจะเปลี่ยนระบบการศึกษา คนที่จะอยู่ตรงนั้นและทำงานต่อเนื่องกับเราได้ ก็คือครู”

อธิษฐาน์บอกว่า เป้าหมายแรกของก่อการครูจึงต้องการให้ครูเป็น change agent โครงการนี้ครูต้องเขียนในใบสมัครด้วยว่า ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งส่วนใหญ่ความต้องการเปลี่ยนแปลงจะมุ่งไปที่เด็ก ต้องการให้ความเป็นครูมีความหมายกับเด็ก เพราะเด็กไม่มีความสุขกับการเรียน อยากหาวิธีให้เด็กกลับมามีชีวิตชีวากับการเรียน มีความสุขมากขึ้น ได้ประโยชน์จากการเรียนจริงๆ ไม่ใช่ถูกบังคับให้มาเรียน เพราะการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่เปลี่ยนไปแล้ว การให้ครูพูดคนเดียวในห้องไม่ช่วยอะไร วิธีสอนแบบเดิมไม่ได้ผลแล้ว ถ้าเด็กเรียนรู้ได้ ครูก็มีพลังมากขึ้น อีกประเด็นคือ ครู burnout (หมดไฟ) ทั้งที่เป็นครูรุ่นใหม่ เพิ่งสอนได้ไม่กี่ปีแต่ทุกข์เหลือเกิน เขาอยากหาวิธีกลับมามีไฟอีกครั้ง กลุ่มนี้มีประมาณ 15%

เป้าหมายที่สอง คือ การสร้างชุมชนการเรียนรู้ (professional learning community — PLC) มีครูมากมายที่อยากเปลี่ยนแปลง แต่ทำได้ยากเพราะขาดเพื่อน หรือครูจำนวนมาก burnout ขาดพื้นที่หล่อเลี้ยงพลังของเขา หรือเติมเต็มความคิดความเข้าใจ เป็น PLC ที่ไม่ใช่แบบของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ไม่มีชีวิตชีวา เป็นภาระมากกว่าจะได้ประโยชน์

แต่ PLC ของก่อการครู จะทำให้ครูคืนความเป็นมนุษย์ให้ตัวเอง เป็นพื้นที่ที่ให้ครูได้แนวคิดใหม่ๆ ได้กำลังใจเพิ่ม ได้เพื่อนใหม่เพิ่ม

อีกเป้าหมาย คือ กระบวนการอบรมครูโมเดลใหม่ที่เคารพความเป็นมนุษย์ ความมีศักดิ์ศรีของครู ให้ครูได้เรียนรู้ในสิ่งที่อยากเรียน และนำความรู้ที่ได้ไปใช้ได้จริง ไม่มีพิธีกรรม ไม่มีความเป็นเจ้ายศเจ้าอย่าง ไม่ต้องทำรายงาน เหมือนการอบรมครูทั่วไป ที่ทำให้ครูรู้สึกเสียเวลา และเกลียดการอบรม แต่ของก่อการครูเชื่อว่า กระบวนการเรียนรู้เกิดจากทั้งสองฝั่ง จึงสร้างการมีส่วนร่วมกับครูสูงมาก ครูต้องลุกขึ้นมาพูด ทำอะไรก็ตามที่ถอดความรู้ของเขาออกมา แล้วเกิดองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมา

อธิษฐาน์ คงทรัพย์” ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะรองผู้อำนวยการโครงการ ก่อการครู

หลังเข้าโครงการของก่อการครู โดยเฉพาะโมดูลแรก ครูคือมนุษย์ ที่ต้องใช้เวลาอยู่ร่วมกัน 3 วัน 2 คืน อธิษฐาน์บอกว่า สีหน้าและประกายตาครูที่เข้าโครงการเปลี่ยนไป และลุกมาพูดเองว่า มีบางอย่างข้างในเขาเปลี่ยนไป ทำให้ได้คิดว่า

ที่ผ่านมา เขาหลงลืมบางอย่าง และทำผิดกับเด็กด้วย ครูบางคนพูดเลยว่า เขาใช้อำนาจมากกับเด็กในห้องเรียน เด็กต้องนั่งนิ่ง ฟังเขาเท่านั้น ถ้ายุกยิก จะโดนลงโทษ เขาคิดว่านี่ความหวังดี แต่กลับทำให้เด็กไม่มีความสุข โดยที่เขาไม่รู้ตัว

และยังพบว่า โมดูลนี้สำคัญที่สุด เพราะเป็นเรื่องของใจ เรื่องความมีคุณค่า ความเป็นมนุษย์ในตัวครู ถ้าใจครูไม่เปิด จะไปต่อกับโครงการยากมาก เพราะแต่ละรุ่นจะทำต่อเนื่อง 1 ปี

โมดูลต่อมา คือ การเปิดวิชาให้ครูเลือกลงตามความสนใจประมาณ 10 วิชา เช่น ออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้ โมดูลห้องเรียนแห่งรัก ที่ทำงานเชิงจิตวิทยาในห้องเรียนกับเด็ก ที่ลงเยอะคือเกม แย่งกันลงตลอด

โมดูลสาม ครูคือกระบวนการ เปลี่ยนจาก teacher เป็น facilitator ให้ความเข้าใจว่า ถ้าครูจะเปลี่ยนจาก teaching ไปเป็นครูที่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ โดยเป็นผู้อำนวยการสร้างความเรียนรู้ จะทำอะไรได้บ้าง

โมดูลสุดท้าย คือครูปล่อยแสง เน้นให้ครูมีพื้นที่บอกเล่าว่าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ได้ปล่อยแสง เชิญขึ้นเวทีเล่าเรื่องของครู

อย่างไรก็ตาม อธิษฐาน์ยอมรับว่าเมื่อครูเหล่านี้กลับไปสู่โรงเรียน จะมีทั้งจุดปะทะและจุดเปลี่ยน คือ ครูจะได้พลังจากเวทีนี้ แต่พอกลับไปก็รู้ว่าต้องเจอระบบเดิม เจอการวัดและประเมินผลแบบเดิม เจอสังคมเพื่อนครูจำนวนหนึ่งที่อาจไม่เข้าใจว่าจะเปลี่ยนอะไร หลายคนร้อนวิชา อยากปล่อยของให้เพื่อน ก็ถูกต่อต้าน ล้มกลับมา แต่หลายคนก็มีจุดเชื่อมที่จะทำให้งานกับเพื่อนครูต่อได้ บางคนก็รู้ว่าทำงานโดยตรงกับโรงเรียนตัวเองไม่ไหว ก็เลือกจะเชื่อมกับเครือข่ายในพื้นที่ใกล้เคียง

“แต่ที่เปลี่ยนแปลงได้จริง คือ เด็กที่เขาดูแลในห้องที่เปลี่ยนการเรียนการสอนใหม่ จากเดิมเด็กเงียบแล้วฟัง ก็มีส่วนร่วมมากขึ้น ครูบอกกลับมาว่า เมื่อก่อนเด็กกลัวเขา ได้ยินเสียงรองเท้าเดินมาก็ลนลานไปหมด แต่ตอนนี้กลายเป็นครูที่เด็กรัก อยากรู้ว่าวันนี้ครูจะสอนอะไร เด็กที่มีปัญหาก็เลือกมาหาเขา มาคุย ปรึกษา”

อธิษฐาน์ระบุว่า ปัจจุบัน ก่อการครูได้รับเงินทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหลัก และบางส่วนได้จากกลุ่มธุรกิจ TCP และธนาคารกรุงเทพ แต่ที่น่าประหลาดใจคือ จากการไปขอทุนสนับสนุนจากองค์กรหลายแห่ง พบว่า ครูเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมีใครอยากให้การสนับสนุน เพราะคิดว่าไม่ใช่กลุ่มที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ องค์กรหลายแห่งจะให้กับเด็ก ขณะที่กลุ่มครูมีเสียงสะท้อนว่า ครูมีสถาบันอบรมอยู่แล้วบ้าง มีกระทรวงศึกษาธิการ มีงบประมาณดูแลแล้วบ้าง แม้หลายองค์กรจะมี CSR แต่เป็น CSR ที่ต้องตอบโจทย์องค์กร เช่น องค์กรเกี่ยวกับพลังงานก็จะเน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ขณะที่เราต้องการทำกับครูทั้งหมด ในก่อการครูรุ่น 1 ครูต้องออกค่าเดินทางเอง หรือบางโมดูลออกค่าที่พักเอง

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/korkankru

อธิษฐาน์ประเมินว่า ก่อการครูแต่ละรุ่นที่มี 80 คน น่าจะสร้าง change agent ได้ประมาณ 30 คนต่อประเด็น เพราะเป้าหมายไม่ได้จบที่การอบรม แต่อยู่ที่ได้เห็นครูกลับไปขยับ ขับเคลื่อนอะไรก็ได้ในมุมที่ครูถนัดและสนใจในระบบการศึกษา เพื่อการเปลี่ยนแปลง ถ้าก่อการครูสามารถขยับและเปลี่ยนไปถึงระดับนโยบายได้ยิ่งดี แม้จะยากมากและต้องใช้เวลา เพราะปัญหาเรื่องระบบการศึกษามีมานานกว่า 50 ปี โครงการเก่าและแข็งแรง การขยับหรือปรับไม่ได้ง่าย

การเปลี่ยนแปลงจึงเหมือนการ “วิ่งมาราธอน” แม้ก่อการครูจะขยับโครงสร้างทั้งหมดไม่ได้ แต่ครูสามารถทำอะไรกับเด็ก กับโรงเรียน กับชุมชนได้ เมื่อการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากฐานรากมีพลังมากพอ การเปลี่ยนจะเกิดขึ้น เพราะโลกที่เปลี่ยนไป ระบบเก่าอยู่ไม่ได้ ครูจะสอนแบบเดิมไม่ได้แล้ว

ฉะนั้น เมื่อเด็กเปลี่ยน แต่ระบบพัฒนาครูยังไม่เปลี่ยน ครูก็ต้องดิ้นรน หาทางหาเครื่องมือให้เขาทำหน้าที่ได้ ถ้าระบบไม่เปลี่ยนก็จะตาย

“โครงการก่อการครู ไม่จำเป็นต้องขยายเร็ว แต่ต้องหยั่งรากลึก เป้าชัด แข็งแรง เพราะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากคน ที่เป้าหมายชัด มีใจ น่าจะเขย่าหรือเปลี่ยนอะไรบางอย่างได้ และถ้าเปลี่ยนระบบไม่ได้ อย่างน้อยความทุกข์ที่มีอยู่ก็ลดลง ได้คลี่คลายในระดับหนึ่ง เด็กที่มาโรงเรียนไม่ต้องมาแบกรับความทุกข์บางอย่างที่เกิดในระบบโรงเรียน แต่ได้รับโอกาสเรียนรู้ที่มีความหมายในชีวิต”

อธิษฐาน์สรุปในตอนท้ายว่า ก่อการครูไม่ใช่ทีมงาน แต่เป็นตัวครูแต่ละคนที่ลุกมาสร้างความเปลี่ยนแปลง พื้นที่ก่อการครูอยู่ทุกที่ ไม่ว่าครูจะอยู่ตรงไหน ใช้ชื่ออะไร แต่มีเป้าหมาย เป็นหมุดหมายร่วมเดียวกัน ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะได้สร้างเมล็ดพันธุ์ให้เกิดขึ้นภายในตัวครูแล้ว