ThaiPublica > คนในข่าว > ถอดแก่นคิด “สาธิตธรรมศาสตร์” ปั้นเด็ก ปั้นอนาคตไทย (จบ)

ถอดแก่นคิด “สาธิตธรรมศาสตร์” ปั้นเด็ก ปั้นอนาคตไทย (จบ)

18 กุมภาพันธ์ 2022


ต่อจากตอนที่1

เมื่อตอนที่แล้วดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงโจทย์การตั้งโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ว่าต้องการสร้างคนในอนาคตที่มีทักษะในทุกมิติ มีอัตลักษณ์ในการเคารพความแตกต่างหลากหลาย และขับเคลื่อนด้วยการเจาะลึกถึง pain point ของระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมา ทั้งเรื่องของสายสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน นักเรียน และผู้ปกครอง ให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กนักเรียนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สุดท้าย คือการปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับวิถีการเรียนของเด็กรุ่นใหม่ (learning style)

บ่มเพาะ “ครู” รุ่นใหม่ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

จากโจทย์ที่ว่าการศึกษาคือความทุกข์ของชาติ ทำอย่างไรให้ครูรักเด็ก เด็กรักครู ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไป และเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญอีกส่วนหนึ่ง ในการปั้นอนาคตเด็กไทยตามโจทย์ที่ตั้งไว้ คือ “ครู”

ดร.อนุชาติ กล่าวว่า โรงเรียนแห่งนี้ ต้องการครูที่มีทัศนคติ กระบวนการวิธีคิด ที่มีความทุ่มเทต่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษา พร้อมที่จะเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง คือ ครูต้องมีใจว่า การศึกษาเป็น pain point ของประเทศ และอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานหนักและลงไปแก้ปัญหา ที่ต้องทำงานหนัก เพราะโรงเรียนเพิ่งเริ่มต้น ก่อตั้งมาได้ 5-6 ปี จึงยังไม่มีอะไรลงตัว ครูต้องทำงานเยอะกว่าที่อื่นพอสมควร ต้องสอนเยอะ เพราะฉะนั้น กระบวนการรับสมัครครู นอกจากจะต้องมีเกรดเฉลี่ย 3.25 ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยแล้ว ผู้สมัครต้องเริ่มจากการทำข้อสอบแบบนำกลับไปทำที่บ้าน มีข้อสอบ 2-3 ข้อ แล้วส่งคำตอบกลับมาเป็นข้อสอบที่จะตรวจสอบวิธีคิดของผู้สมัครต่อการศึกษา ทัศนคติ รวมถึงวิชาการว่ามีฐานบางเรื่องเพียงพอ โดยจะรับสมัครจากผู้จบการศึกษา ศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ประมาณ 20-30% นอกเหนือจากนั้นจะรับผู้จบสายตรง เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เป็นต้น

“เป็นโชคดีของที่นี่ที่แต่ละปีมีผู้มาสมัครจำนวนมาก ทำให้มีตัวเลือกจำนวนพอสมควร และเราไม่คาดหวังให้คนเหล่านี้มาถึงทำงานได้ทันทีโดยพอคัดเลือกได้ คุณครูก็จะให้มาทำเวิร์กชอปร่วมกัน ดูพฤติกรรม ดูวิธีการโต้ตอบ ดูพลังของเขา ทดลองการสอน แล้วสัมภาษณ์เดี่ยว ก่อนจะคัดครูเข้ามา และโดยเฉลี่ย ครูคนหนึ่งใช้เวลา 2 ปีถึงจะสอนได้เก่ง คือร้อยทั้งร้อยเข้ามาเอ๋อหมด ต้องเริ่มต้นใหม่ สิ่งที่เราทำคือตอนนี้ มี คอร์สฝึกฝนภายใน (inhouse training course) ให้กับครู 5-6 โมดูล ครูก็ต้องมีพัฒนาด้านใน ต้องมี inner growth คือทำ 3-4 ก้อนใหญ่ๆ นี้ ใช้เวลา 2 ปี ”

แต่ที่สำคัญคือ ที่นี่จะมีกระบวนการกลุ่ม เพื่อใช้ในการสะท้อนการสอนทุกครั้ง ทุกคาบ ใช้กลุ่มของเขาช่วยกัน และไม่ได้เป็นการสอนเดี่ยว โรงเรียนนี้เก็บค่าเทอมแพง เพราะชั้นเรียนหนึ่งมีเด็ก 25 คน จะมีครูประจำชั้น 2 คน ครูประจำชั้นต้องบันทึกเรื่องราวเด็กตลอดเวลา มีการสอนเป็นทีมเพื่อให้ครูช่วยเหลือเด็กได้มากขึ้น ห้องหนึ่งครูเข้าสอนอย่างน้อย 2 คน ถ้าคลาสวิชาการที่ใหญ่หน่อย เด็ก 30-35 คน ก็ครูหลายคน ฉะนั้น ครูต้องเตรียมการสอนเยอะมาก จะไปค้างกลางอากาศไม่ได้

ดร.อนุชาติ กล่าวว่า กระบวนการเหล่านี้เป็นการลงทุนที่ท้าทายระบบการผลิตครู แม้จะมีครูที่ดีที่เก่งเยอะ แต่สิ่งที่เราอยากได้จากครูผู้สอนคืออยากเห็นการทุ่มเทต่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษา เพราะต้องมีใจต้องเข้าใจว่าการศึกษาเป็น pain point ของประเทศ คุณอยากเป็นคนที่ทำงานหนักและลงไปแก้โจทย์นี้ ต้องมีตรงนี้ คุณต้องทำงานหนัก เราเป็นองค์กรเริ่มต้น ยังไม่มีอะไรลงตัว คุณต้องทำงานเยอะกว่าที่อื่นๆ พอสมควร คุณพร้อมที่จะเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงไหม

หลักสูตรเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยน แต่เปลี่ยนวิธีการสอนตลอดเวลา ยึดแก่นและสาระที่เด็กจะต้องได้ครบถ้วน ฉะนั้น หากในเทอมนี้ครูสอนแบบหนึ่งไม่เวิร์ก เทอมหน้าจะปรับใหม่

พร้อมยกตัวอย่าง เช่น กลุ่มหนึ่งสนใจการสอนที่นำบอร์ดเกมมาใช้ แต่อีกกลุ่มอาจจะไม่ชอบ ครูก็จะมีวิธีการ มีเครื่องมืออื่นๆ มากมาย ตัวอย่างวิชาภาษาไทย มีการเชิญลำตัด แม่ศรีนวล ขำอาจ มา 3 สัปดาห์ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องดีมากที่เด็กได้สัมผัสปราชญ์ชาวบ้านตัวจริง ศิลปินตัวจริง นักเขียนซีไรต์ก็เชิญมา และเด็กที่นี่เป็นนักอ่าน นักเขียน เยอะมาก สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก

“หลายคนมักจะพูดว่า โรงเรียนนี้รวย ก็ทำได้สิ ไม่ใช่… มันอยู่ที่วิธีคิด จะเป็นโรงเรียนในพื้นที่อื่นๆ ก็ทำได้ พื้นที่ตรงนั้นมีปราชญ์ชาวบ้านมากมาย แค่ให้คุณค่าแก่เขาหรือไม่ อย่างผมไปทำงานที่พังงา ที่บ้านน้ำเค็มกับไมตรี จงไกรจักร์ ผู้ประสานงานชุมชนบ้านน้ำเค็ม ตอนนี้คุณครูพาเด็กไปเรียนเรื่องการแกะสลักไม้กับชาวบ้าน นี่คือฐานคิดแบบนี้ต้องมี แต่อย่าไปปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นวิชาเสริม หลักสูตร มันคือแกนของชีวิต แกนของหลักสูตรเลย เด็กก็ไม่เบื่อ นี่คือสิ่งที่เราค้นหาบ่อยๆ จนได้วิธีการเรียนการสอนรูปแบบต่างๆ ที่ไม่หนีจากแก่น จากสาระของหลักสูตร

สร้างระบบนิเวศน์ให้พร้อม ดึงศักยภาพเด็กก้าวสู่อนาคต

เมื่อวางระบบแล้ว คัดเลือกครูแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญ คือ “เด็กนักเรียน” กระบวนการคัดเลือกเด็กทำอย่างไร

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตั้งแต่ปีที่ 1-6 แต่ละปีรับนักเรียน 150 คน ดร.อนุชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีพัฒนาการในการรับเด็กที่เปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยน คือจะไม่มีการสอบเพื่อคัดเลือกเด็กเข้าเรียน โดยกระบวนการรับเด็ก จะเริ่มจากการรับสมัครผ่านระบบออนไลน์ จากนั้นเด็กจะต้องยื่นแฟ้มสะสมงาน (portfolio) แต่ไม่ใช่แฟ้มที่เอาใบประกาศต่างๆ เช่น ใบประกวดขับร้อง ดนตรี ประกวดทำนองเสนาะ การแข่งขันเพชรยอดมงกุฎ มาใส่ไว้ในแฟ้ม เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อโรงเรียนแห่งนี้ โรงเรียนไม่สนใจว่าเด็กจะได้มากี่รางวัล แฟ้มหนาแค่ไหน แต่โรงเรียนจะให้เด็กมาทำเวิร์กชอป มาเทรนก่อนว่า แฟ้มสะสมงานที่อยากเห็น คือ ให้เด็กตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่หนูอยากจะเป็น 1 หรือ 2 อย่างก็ได้ ที่อยากจะทำ มี passion ลึกๆ อยากเป็นอะไร เป็น Youtuber หรือนักวาดการ์ตูน อยากเต้น cover dance เป็นต้น ให้เด็กเล่าให้ฟังว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะพิสูจน์ว่านี่คือความฝันที่อยากจะทำ มีทรัพยากรเงินทองมากน้อยไม่สำคัญ แต่ได้ใช้ความพยายามมากน้อยเพียงใด ให้สาธิตให้ดู

“เด็ก ป.6 จะมีความใฝ่ฝันเยอะ ก็ให้เด็กเลือกฝันที่ใช่ ที่โดนมาหนึ่งเรื่อง ปรากฏว่าเด็กทำกันมามากมาย บางคนมีรูปถ่าย ถ่ายวิดีโอมา เราก็คัดจากตรงนี้ ยังไม่พอ ให้เด็กตอบคำถาม 3 ข้อ ทำไมอยากมาเรียนที่นี่ เป็นต้น นี่ถามลูก อีก 4 ข้อถามพ่อแม่ วิธีการเลี้ยงลูก เพราะอยากจะเช็คทัศนคติ คือ เราก็ต้องเลือกเหมือนกันว่า ถ้าเลี้ยงลูกให้เป็นนักกีฬาทีมชาติ หรือโอลิมปิกวิชาการ ก็ไปเรียนที่อื่น อย่ามาที่เรา เพราะพ่อแม่จะเป็นทุกข์ พ่อแม่ไม่ผิด แต่ที่นี่ไม่เหมาะ ตอบสนองความต้องการพ่อแม่ไม่ได้ นี่เป็นกระบวนการกลั่นกรอง หลังจากนั้นก็เป็นกระบวนการสัมภาษณ์ โดยให้เด็กมาทำเวิร์กชอปครึ่งวัน เล่นเกม ทำ scenario โดยมีการออกแบบ เช่น ให้เด็กปีนขึ้นไปบนโต๊ะ โยนไข่ลงมาอย่างไรไม่ให้ไข่มันแตก อะไรอย่างนี้ โดยมีเกณฑ์ในการดู เช่น ความสามารถในการทำงานเป็นทีม ภาวะผู้นำ การกำกับดูแลตนเอง เช่น เด็กบางคนมีภาวะผู้นำล้นเหลือจนกินพื้นที่เพื่อน คือถูกบอกมาว่า การเป็นคนกล้าแสดงออก คือ ต้องพูด แย่งพูดเยอะๆ จนไม่เคารพคนอื่น ครูจะแบ่งทีมลงไปดู ส่วนภาคบ่ายจะสัมภาษณ์เด็กรายบุคคล รวมทั้งพ่อแม่ จนพ่อแม่หลายคนแซวตัวเองว่า กลัวทำให้ลูกสอบตก”

ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.อนุชาติ ยอมรับว่า แม้พ่อแม่จำนวนมากจะยอมรับแนวคิดการเรียการสอนของโรงเรียน แต่ลึกๆ แล้วพ่อแม่ก็ยังคาดหวังว่าลูกจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ซึ่งทางโรงเรียนจะบอกพ่อแม่ตั้งแต่ต้นว่า โรงเรียนไม่รับประกันว่าลูกจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ และไม่มีโรงเรียนไหนในประเทศไทยที่ให้หลักประกันนี้ได้

“แต่คำถามคือต้องย้อนกลับไปที่ว่า พ่อแม่อยากเห็นลูกเติบโตแบบไหน นี่เป็นจุดตัดระหว่างความคาดหวังของพ่อแม่ แต่ผมมีความมั่นใจว่ากระบวนวิธีแบบเรา คุณจะได้เด็กที่มีความครบถ้วน ไม่ใช่แค่สมองโต แต่ร่างกายและจิตใจเขาโตไปด้วย อย่างเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ ถ้าพูดถึงตลาดการแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ตลาดเริ่มเปลี่ยนไปเป็นของผู้ขายแล้ว คือเด็กน้อยลง มหาวิทยาลัยต้องมาขอให้เด็กไปเรียน จริงอยู่ว่า พ่อแม่ที่ส่งลูกมาเรียนที่นี่ ก็จะมาด้วยอารมณ์และความรู้สึกว่า เขาเห็นจริตลูกว่าชอบทำกิจกรรมโน่น นี่ นั่น ก็ลดความคาดหวังกับเรา แต่ลึกๆ ก็อยากให้ลูกเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งลดแรงกดดันทางเราลง แต่เราก็ไม่ได้ประนีประนอมกับเรื่องวิชาการ

พร้อมเล่าว่า “วันก่อนเด็กไปสอบโอเน็ตแล้วโรงเรียนไม่ติวให้เลย แต่ให้เด็กจะมาเจอกับครูประมาณชั่วโมงเศษ เพื่อที่ครูจะบอกว่า สิ่งที่เด็กกำลังจะไปเผชิญเป็นอย่างไร ข้อสอบจะมาแบบไหน แล้วให้เด็กจัดการกันเอง เพื่อให้เด็กรู้ว่าจะไปอยู่ในสนามแบบนี้ มีข้อสอบ หรือคำถามที่ไม่คุ้นกับที่ครูสอนมา แต่ว่าไปพิสูจน์ตัวเอง ปีแรกที่เด็กเราไปสอบผมใจสั่นนะ กลัวเด็กสอบตกระเนระนาด คือลึกๆ เรารู้สึกว่าเราเต็มที่กับเด็กมาก แต่ในสนามสอบจะเจอข้อสอบอีกแบบหนึ่ง เด็กเราจะเอาตัวรอดได้มั้ย คิดไปสารพัด เราจะรอดมั้ย เพราะสำนักการศึกษาจะมีรายงานออกมา ค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ค่าเฉลี่ยของโรงเรียนสาธิต ค่าเฉลี่ยของ สพฐ. แล้วโรงเรียนเราจะได้เท่าไหร่ ตอนนั้นคิดว่า วิชา วิทย์ คณิต เรากวาดรางวัลบ๊วยในกลุ่มแน่นอน เพราะเราไม่ได้เน้น ปรากฏว่าคะแนน วิทย์ คณิต ของเราเกาะกลุ่มบนของโรงเรียนสาธิต 50-60 แห่งทั่วประเทศ แม้จะสู้สาธิตอื่นๆ ไม่ได้ ก็ตาม แต่ไม่ได้น่าเกลียดหรือถูกทิ้ง

ขณะที่ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ของเราอยู่ระดับทอปของประเทศ ถือเป็นความภาคภูมิใจของเรา ว่าที่นี่จะเป็นโรงเรียนของคนไทย ออกแบบโดยคนไทย เพื่อคนไทย ไม่ต้องเป็นโรงเรียนนานาชาติ เราไม่มีห้องเรียนภาษาอังกฤษ (EP) เพราะห้องเรียน EP คือห้องเรียนที่เก็บเงินเพิ่ม ค่าเรียนแพง ที่นี่ไม่มี แต่มั่นใจว่า ถ้าให้น้ำหนักการเรียนที่ดี คุณครูของเราใช้มาตรฐานการสอบของเคมบริดจ์ ภาษาจีนก็โอเค แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม”

อย่างไรก็ตาม ดร.อนุชาติ มองว่า การเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้รับปริญญายังมีความจำเป็นในระดับหนึ่งอยู่ แต่จะถูกลดความสำคัญลงในอนาคต และมีแนวโน้มว่าต่อไปองค์กร หรือธุรกิจต่างๆ จะรับบุคคลากรโดยดูว่าเด็กทำอะไรเป็น มากกว่าจะดูคะแนน ดูเกรด เห็นได้จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากจะมีการออกเกรดให้นักศึกษานำไปสมัครงานแล้ว จะมีอีกใบ เรียกว่า competency-based transcript อีกใบ ที่จะบอกว่า ในช่วง 4 ปีที่เรียน นักศึกษามีสมรรถนะ 6 ด้านในระดับไหน พร้อมคิวอาร์โค้ดให้ดูว่า เด็กเคยฝึกฝนและมีความสามารถนั้นจริงหรือไม่ โดยพบว่าเวลาเด็กไปสมัครงาน แล้วมีการยื่นใบนี้แนบไปด้วย มีประโยชน์มาก จึงเชื่อว่าทัศนคติของผู้ประกอบการจะเปลี่ยนไปหมด คือ ต้องการคนที่ทำงานเป็น

ที่สำคัญ ดร.อนุชาติ เชื่อว่า คนรุ่นใหม่ในอนาคตไม่ได้เรียนมาเพื่อป้อนเข้าสู่สถานประกอบการหรือธุรกิจเท่านั้น ไม่มีใครรู้ว่าโลกแห่งอาชีพในอนาคตเป็นอย่างไร เวลาสื่อสารกับพ่อแม่เด็ก จึงขอความร่วมมือพ่อแม่เปลี่ยนคำถามกับลูกที่ว่า โตไปลูกอยากเป็นหมอหรือเป็นวิศวกรดี หรืออยากเป็นพยาบาล อยากเป็นนักอะไร ขอให้เปลี่ยนคำถาม เพราะเวลานี้อาชีพต่างๆ ถูกดิสรัปต์หมด การถามลูกว่าจะเป็นนักอะไร อย่างจะเรียนหมอ ต่อไปจะไม่ใช่เรียนหมอแล้วออกมาเป็นหมอ แต่ถ้าจะเปิดโรงพยาบาล เป็นเจ้าของสถานพยาบาล ก็ต้องเรียนรู้เรื่องธุรกิจ ต้องบริหารตลาดเป็น ต้องวางแผนการเงินเป็น หมออาจจะต้องมีความรู้เรื่องศิลปะ เพื่อให้เป็นคนคนหนึ่งที่พร้อม นี่คือหัวใจของเรื่อง

“ด้วยเหตุที่ผมเชื่อว่า โลกแห่งอาชีพ ต่อไปจะเปลี่ยนไปหมด บวกกับวิธีการเติบโตของเด็กรุ่นใหม่ที่ชอบฟรีแลนซ์ เขาต้องเป็นนักปั้นอาชีพของเขาเอง ที่เขารัก เขาชอบที่จะทำ อันนี้ต่างหากที่จะเป็นความหวังของอนาคตที่ยั่งยืน เพราะเราจินตนาการไม่ออกว่าอาชีพในอนาคตคืออะไร เขานั่นแหละจะเป็นคนบอกเองว่าอาชีพในอนาคตของตัวเขาคืออะไร”

“เพียงแต่เราจะเตรียมความพร้อมให้เขามากที่สุดได้อย่างไร โรงเรียนมีหน้าที่เป็นพื้นที่จะบ่มเพาะศักยภาพของเขา ทำอย่างไรให้เด็กค้นพบศักยภาพอันหลากหลายของเขา ไม่ใช่อย่างเดียว พ่อแม่บางครอบครัวจะมุ่งไปเลยว่าลูกต้องเป็นแบบนี้ อย่างอื่นทิ้งหมด ผมว่าไม่ใช่ ต้องหลากหลาย แล้วเด็กจะผสมของเขาเอง”

นอกจากนี้พบว่า เด็กสมัยนี้ วิ่งเข้าสู่โลกแห่งการทำมาหากินเร็วขึ้นมากๆ เด็กปริญญาตรีที่นี่ 80% มี second job หมด ด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม เรียนหนังสือแล้วขายรองเท้าออนไลน์ มีรายได้ของตัวเอง คือ พฤติกรรมในการทำมาหากิน ไม่เหมือนรุ่นเรา หากถอยมาดูระดับมัธยม ที่นี่มัธยมต้นก็เริ่มทำตลาดออนไลน์เป็นแล้ว รู้วิธีการขายของออนไลน์ แปลว่าอะไร แปลว่า เนื้อหาหลักสูตร วิธีการสอนต้องเปลี่ยนไปหมด เทอมที่แล้ว ผมต้องไปเชิญแบงก์ชาติมาสอนเรื่อง financial literacy ตั้งแต่วางแผนชีวิต วางแผนการลงทุน ความเสี่ยงต่างๆ แบงก์ชาติเองก็ตื่นเต้นว่าเด็กที่นี่กระตือรือร้น เทอมหน้าจะเปิดสอนเรื่อง crypto currency เพราะเด็กเรียกร้องอยากจะรู้ ในฐานะโรงเรียน ไม่ใช่เรื่องสอนการลงทุน แต่สอนให้มีความเท่าทัน เราคิดแทนเด็กไม่ได้ แต่เรามีหน้าที่ให้เขาเกิดการรู้เท่าทัน อันนี้มันถึงได้เปลี่ยนกระบวนการหมด

“ดังนั้น โรงเรียนมีหน้าที่เป็นพื้นที่บ่มเพาะศักยภาพของเขา เตรียมความพร้อมให้เขา และทำอย่างไรให้เขาค้นพบศักยภาพอันหลากหลายของเขา และมี passion ที่จะทำ นี่คือความหวังของอนาคตที่ยั่งยืน ผมถึงใช้คำว่า “นิเวศน์” คือไม่ใช่ใช้สอนหนังสือให้ใบประกาศนียบัตร สิ่งที่เราทำแบบนี้ เพราะเราเป็นโรงเรียนสาธิต และเชื่อว่าชุดความเข้าใจ ความรู้ ระหว่างทาง เล็กๆ น้อยๆ ไม่ต้องเรื่องใหญ่ไปถึงขั้นเปลี่ยนทั้งประเทศ แต่เรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นแก่นของมันน่าจะเป็นประโยชน์ และเอาไปทำงานกับสังคม กับโรงเรียนอื่นๆ ในบริบทของตัวเอง หลักคือ คิด แล้วลงมือทำ”