ภายใต้ “วิสัยทัศน์” ไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเป้ายกระดับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า “การศึกษา” และการผลิตแรงงานที่มี “ฝีมือ” หรือ “ทักษะ” นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลัก นอกเหนือไปจากการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้เพียงพอและรองรับการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นโยบายของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านมา ที่มีศูนย์กลางหลักอยู่ที่การพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ 10 อุตสาหกรรมผ่านกลไกการอุดหนุนและจัดตั้งเขตส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand: EECd) และการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการขนส่งทางบก อากาศ น้ำ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา, โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา ฯลฯ การสร้างเมืองและศูนย์กลางธุรกิจใหม่ และการพัฒนาระบบชลประทานและการเกษตร
ขณะที่ “นโยบายการศึกษา” ที่เป็นรูปธรรมล่าสุดเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 ภายใต้ชื่อโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่และอาชีวะพันธุ์ใหม่ ระยะเวลา 5 ปี (2561-2565) ด้วยวงเงินรวม 14,135.52 ล้านบาท เพื่อรองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี โดยรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนเป็นแรงจูงใจสถาบันการศึกษารายหัวที่ปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ตามมาตรฐานโลก ร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งจะเน้นไปที่หลักสูตรวิทยาศาตร์เป็นหลัก
เบื้องหลังของโครงการสืบเนื่องจากปัญหาการผลิตแรงงานที่มีทักษะไม่ตรงกับที่อุตสาหกรรมและตลาดแรงงานต้องการ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันมายาวนานหลายสิบปีและทุกรัฐบาลได้พูดถึงเรื่องการผลิตคนที่ไม่ตรงกับตลาดแรงงาน และวันนี้ก็ยังพูดเรื่องนี้กันอยู่ แต่ก็ไม่ได้ทำการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะนักศึกษาที่จบปริญญาตรี นายจ้างมักจะบ่นว่าไม่มีความรู้ ไม่มีทักษะ ต้องมาสอนกันใหม่ และส่วนใหญ่จบทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์
บัณฑิตไทย 1.9 ล้านคน จาก 154 สถาบัน – 54% เรียน “สังคมศาสตร์-มนุษศาสตร์”
เพือค้นหาคำตอบว่าเด้กไทยเรียนจบอะไรกันบ้าง “ไทยพับลิก้า” ได้ตรวจสอบข้อมูลสถิติจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้จำแนกประเภทสาขาวิชาออกเป็น 8 ประเภท ตามการจำแนกขององค์การยูเนสโก (International Standard Classification of Education: ISCED) ในปี 2554 ได้แก่
- ศึกษาศาสตร์และการฝึกหัดครู
- มนุษยศาสตร์และศิลปะ เช่น โบราณคดี, ภาษาศาสตร์, วรรณคดี, ปรัชญา, ประวัติศาสตร์, ศาสนาและเทววิทยา, ล่ามและนักแปล, ศิลปศึกษา, การละครและนาฏศาสตร์, จิตรกรรม, ช่างฝีมือ, ประวัติและปรัชญาศิลปะ, การออกแบบภายใน, ดนตรีและดุริยางคศาสตร์, การถ่ายรูปและภาพยนตร์, ประติมากรรม
- สังคมศาสตร์, นิติศาสตร์ และธุรกิจ เช่น เศรษฐศาสตร์, รัฐศาสตร์, สังคมวิทยา, ประชากรศาสตร์, มานุษยวิทยา, ภูมิศาสตร์, จิตวิทยา, สันติศึกษา, ชาติพันธุ์วิทยา, สื่อสารมวลชนและวารสารศาสตร์, วิชาสําหรับนักเทคนิคด้านพิพิธภัณฑ์, การจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์, การประชาสัมพันธ์, การค้าปลีก, การตลาด, การขาย, อสังหาริมทรัพย์, การเงินการธนาคาร, การประกัน, การลงทุน, บัญชีและตรวจสอบ, การจัดการ, การบริหารรัฐกิจ, การเลขานุการ, นิติศาสตร์
- วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการประมวลผล เช่น ชีววิทยา, พฤกษศาสตร์, พิษวิทยา, จุลชีววิทยา, สัตววิทยา, กีฏวิทยา, นกวิทยา, ชีวเคมี, ดาราศาสตร์และอวกาศวิทยา, ฟิสิกส์, เคมี, อุตุนิยมวิทยา, คณิตศาสตร์, คณิตศาสตร์ประกันภัย, สถิติ, วิทยาการคอมพิวเตอร์
- วิศวกรรมศาสตร์, การผลิต และก่อสร้าง เช่น การเขียนแบบทางวิศวกรรม, กลศาสตร์, งานเหล็ก, ไฟฟ้า, โทรคมนาคม, พลังงานและวิศวกรรมเคมี, การสำรวจ, การบำรุงรักษาเครื่องยนต์, กระบวนการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม, สิ่งทอและเสื้อผ้า, การผลิตรองเท้า, งานหนัง, วัสดุศาสตร์, เหมืองแร่และการสกัด, สถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง, วิศวกรรมโยธา
- การเกษตรและสัตวแพทย์ เช่น เกษตรศาสตร์, การปศุสัตว์, พืชสวนและการทำสวน, วนศาสตร์, การประมง, สัตวแพทย์
- สุขภาพและสวัสดิการ เช่น แพทย์, การบริการทางการแพทย์, การพยาบาล, เวชศาสตร์, ทันตแพทย์, สังคมสงเคราะห์ศาสตร์
- การบริการ เช่น การโรงแรมและการจัดเลี้ยง, การท่องเที่ยว, การกีฬา, การดูแลความงาม, วิทยาศาสตร์การเดินเรือ, วิทยาศาสตร์การเดินอากาศ, การบริหารระบบราง, การบริหารระบบถนน, การไปรษณีย์, การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, การควบคุมมลพิษ, การตำรวจและบังคับใช้กฎหมาย, อาชญาวิทยา, การทหาร
โดย ณ ภาคการศึกษาที่ 1 ของปี 2560 (ผู้สำเร็จการศึกษาปี 2559) ระบุว่ามีผู้สำเร็จการศึกษา 339,002 คน โดยส่วนใหญ่ 40.7% เรียนอยู่ในสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และธุรกิจ รองลงมาคือสาขาวิศวกรรมศาสตร์ การผลิต และก่อสร้าง 11.8%, สาขาศึกษาศาสตร์และการฝึกหัดครู 11.6%, สาขามนุษยศาสตร์และศิลปะ 10.6%, สาขาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการประมวลผล 9.9%, สาขาสุขภาพและสวัสดิการ 7.6%, สาขาการบริการ 4.8% และสุดท้ายคือสาขาการเกษตรและสัตวแพทย์ 2.9%
เมื่อดูข้อมูลผู้จบการศึกษาย้อนหลัง 12 ปีตั้งแต่ปี 2549-2559 รวมมีผู้สำเร็จการศึกษา 3,403,785 คน โดยเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และธุรกิจ 1,486,871 คน หรือคิดเป็น 43.7% ของผู้สำเร็จการศึกษาทั้งหมด และมีผู้สำเร็จการศึกษาในสาขามนุษยศาสตร์และศิลปะ 305,956 คน หรือคิดเป็น 9% ขณะที่ในสาขาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการประมวลผล และสาขาวิศวกรรมศาสตร์ การผลิต และก่อสร้าง มีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษา 779,235 คน หรือรวมกันคิดเป็นเพียง 22.9% ของผู้สำเร็จการศึกษาทั้งหมด โดยที่โครงสร้างของอุดมศึกษาไทยตลอด 12 ปีแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยการผลิตบัณฑิตสายสังคมศาสตร์มากกว่าสายวิทยาศาสตร์ประมาณ 2 เท่าทุกปี (ดูกราฟิก)
ขณะที่หากดูที่จำนวนผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ ณ ปัจจุบัน ระบบการศึกษาไทยมีจำนวนนักศึกษาระดับอุดมศึกษาตั้งแต่อนุปริญญาจนถึงปริญญาเอก 1,907,424 คน จากสถาบันการศึกษา 154 แห่ง โดย 42.4% เรียนอยู่ในสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และธุรกิจ รองลงมาคือสาขามนุษยศาสตร์และศิลปะ 11.9%, สาขาวิศวกรรมศาสตร์ การผลิต และก่อสร้าง 11%, สาขาศึกษาศาสตร์และการฝึกหัดครู 9.5%, สาขาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการประมวลผล 8.7%, สาขาสุขภาพและสวัสดิการ 6.7%, สาขาการบริการ 5.3% และสุดท้ายคือสาขาการเกษตรและสัตวแพทย์ 2.6%
สวนทางนักเรียนทุนไทย 62% เรียนวิทยาศาสตร์
ขณะเดียวกัน ข้อมูลนักเรียนทุนรัฐบาลจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พบว่า ณ มีนาคม 2561 มีอยู่จำนวน 2,549 คน 61 สาขาวิชาใน 29 ประเทศ โดยแบ่งเป็นทุนเล่าเรียนหลวง 2.9%, ทุนรัฐบาล ก.พ. 16.2%, ทุนรัฐบาลกระทรวงการต่างประเทศ 0.9%, ทุนรัฐบาลกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 30.5%, ทุนรัฐบาลกระทรวงสาธารณสุข 1.7%, ทุนรัฐบาลสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ 12.6%, โครงการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 18.2% และทุน 1 อำเภอ 1 ทุน 17.1%
ทั้งนี้ ประเทศที่นักเรียนทุนได้ไปศึกษาต่อ 5 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศอังกฤษ 35.5%, ประเทศสหรัฐอเมริกา 34.1%, ประเทศเยอรมนี 6.4%, ญี่ปุ่น 5%, ออสเตรเลีย 3.7% โดยสาขาวิชาที่มีนักเรียนทุนเรียนมากที่สุด 10 อันดับแรก คือวิศวกรรมศาสตร์ 20.7% รองลงมาคือชีววิทยา 8.36% วิทยาการคอมพิวเตอร์ 6.24%, ฟิสิกส์ 6.2%, คณิตศาสตร์ 6%, เคมี 4.9%, บริหารธุรกิจ 4.8%, วิทยาศาสตร์ 4.12%, นิติศาสตร์ 4.1% และเศรษฐศาสตร์ 4%
อนึ่ง หากรวมสาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการประมวลผล และสาขาวิศวกรรมศาสตร์ การผลิต และก่อสร้าง ตามการจำแนกขององค์การยูเนสโก จะพบว่ามีนักเรียนทุนเรียนต่อในสาขาดังกล่าวถึง 62% ซึ่งเรียกว่าสอดคล้องกับแนวนโยบายและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ที่พยายามผลิตบุคคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น