หลายคนอาจจะคุ้นตากับ “ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ในบทบาทของนักธุรกิจและนักอุตสาหกรรมที่บุกเบิกอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทย จนกลายเป็นรากฐานของการเติบโตของเศรษฐกิจและประเทศไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ในฐานะอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด, กรรมการ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด, กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด ก่อนเริ่มมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาในปี 2560 และรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปีเดียวกัน
หลายคนหากเคยได้ฟัง ดร.ไพรินทร์พูดเรื่องการศึกษา ก็จะรู้สึกว่าเป็นรัฐมนตรีที่อยู่ผิดกระทรวง แม้วันนี้ไม่อยู่ในเก้าอี้รัฐมนตรีคมนาคมแล้วก็ตาม สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า สัมภาษณ์ ดร.ไพรินทร์ถึงที่มาที่ไปของความสนใจในประเด็นการศึกษาของไทย รวมไปถึงประเด็นใหญ่อย่าง population disruption ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่โลกและไทยจะต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ หากไม่เริ่มปรับตัว
จากอาจารย์จุฬาฯ ถึงซีอีโอ ปตท.
ดร.ไพรินทร์เล่าว่า เคยได้รับโอกาสเป็นนักเรียนทุนมาโดยตลอดตั้งแต่เรียนปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยนั้นถ้าเกรด 3.2 ขึ้นไปไม่ต้องเสียค่าหน่วยกิต จึงเสียค่าเล่าเรียนเพียงเทอมแรกเทอมเดียว จากนั้นได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์ โอกาสเหล่านี้ทำให้ ดร.ไพรินทร์เกิดความคิดว่าต้องตอบแทนอะไรกลับไปยังระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กรุ่นต่อๆ ไปได้มีโอกาสเหมือนที่ตัวเองเคยได้รับมาแล้ว
“ตอนเรียนจบปริญญาเอกตั้งใจมากว่าจะกลับมาสอนหนังสือ ไปสมัครคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ตอนนั้นปี 2528 สมัยป๋าเปรม (พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์) ลดค่าเงินบาท เศรษฐกิจไม่ดี หน่วยราชการไทยเขาไม่รับข้าราชการใหม่ เป็นนโยบาย zero growth จึงเข้ามาเป็นลูกจ้างชั่วคราว คณะวิศวะฯ หาเงินมาจ้าง 4,500 บาท/เดือน ไม่มีสวัสดิการ ขึ้นรถเมล์ไปสอน พออยู่ได้สักปีหนึ่งมีรุ่นพี่แนะนำว่าไปอยู่ ปตท. เขากำลังตั้งองค์กรใหม่ ปลายปี 2529 จึงไปสมัครงานที่ ปตท. ที่พูดมานี้คือเริ่มต้นชีวิตการทำงานผมก็ผูกพันกับการศึกษา ด้วยความที่เคยเป็นครูมาก่อนก็ผูกพันกับเรื่องนี้ ตอนนั้นสอนหลายวิชา เพราะอาจารย์มีไม่เยอะ เราก็สอนปี 2, 3, 4 แต่สอนอยู่ปีเดียว”
เรียกว่าชีวิตการทำงาน 30 ปี ครึ่งหนึ่งอยู่กับรัฐวิสาหกิจ อีกครึ่งอยู่กับเอกชน (ธนาคารกรุงเทพ) แต่ในที่สุดก็กลับมาที่ ปตท. ในช่วง 10 ปีสุดท้าย จนจบที่ตำแหน่งซีอีโอ ปตท. แต่ก่อนหน้านี้ไปเป็นซีอีโอที่ IRPC ตอนนั้นหลังเหตุการณ์ปฏิวัติแล้วมีรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้เกิดวิกฤติในภาคอุตสาหกรรมอันหนึ่ง คือมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 พูดถึงเรื่องที่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ คือ EIA กับ EHIA มีคนไปฟ้องศาลว่าให้ระงับการสร้างโรงงานในมาบตาพุดทั้งหมด เป็นเรื่องราวใหญ่โตมาก เพราะคำว่า EHIA ไปปรากฏในรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ประหลาดมหัศจรรย์มาก เป็นประเทศเดียวที่เอาเรื่องแบบนี้ไปใส่เอาไว้
“ก็เลยมีปัญหาประท้วง ผมทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผมเป็นซีอีโอ ขึ้นเวทีประชาพิจารณ์ด้วย เรามานั่งคิดว่าผมเองก็เข้ามาบตาพุดตั้งแต่สมัยบุกเบิกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ไปเวนคืนที่ดินตรงนั้น จนกระทั่งเจริญเติบโตเป็นศูนย์อุตสาหกรรมของพวกไฮโดรคาร์บอน ติดอันดับทอปเทนของโลก แล้วเราใหญ่ที่สุดในอาเซียน แซงหน้าสิงคโปร์ มีคำถามในใจว่าพวกเราวิศวกรเข้ามาพัฒนามาบตาพุดจนกระทั่งมีส่วนสร้างจีดีพี 15-20% ของประเทศมาจนทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่ดึงประเทศไทยขึ้นมาในช่วง 30 ปีหลังนี้”
“ทีนี้ก็มีคำถามว่า เรามาพัฒนา แต่ทำไมชาวบ้านเขาประท้วง เขาปิดถนน มันมีบางสิ่งบางอย่างผิดแล้ว หรือเรามาทำความลำบาก คนทำอย่างเรามองว่าเป็นความเจริญของประเทศชาติส่วนรวม แต่สำหรับเขามองว่าไอ้นี่เป็นภาระ ตอนนั้นผมมีแนวคิดหนึ่งว่าเราต้องชดเชยให้เขา เรามาใช้ดินใช้น้ำของเขา ในใจคิดว่ามันมีอยู่ 2 อย่างที่ทำได้ อันแรกคือการศึกษา อีกอันคือเรื่องสาธารณสุข เราต้องทำให้อีสเทิร์นซีบอร์ดดีมากๆ เลย เป็นสัญลักษณ์เลยว่าเรามามีเจตนาดี ไม่ได้มาทำร้าย มาทำลายคุณ ผมพูดตรงๆ แวบนี้เกิดขึ้นในสมองตอนที่ขึ้นเวทีประชาพิจารณ์ ยังจำวันที่ได้เลย 6 มีนาคม 2552 ตอนนั้นผมเป็นซีอีโอของ IRPC ก็คุยกับอร์ดของ IRPC ซึ่งเขาเห็นด้วย ผมพาบอร์ดไปดูการศึกษาที่เกาหลีใต้ แล้วตอนนั้นผู้ว่าฯ ปตท.คือคุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ บอกว่าความคิดนี้ดี แต่ว่าอย่าเพิ่งทำที่นี่ มาทำที่ ปตท.ก่อนดีกว่า มันจะได้ใหญ่ และให้ผมพาบอร์ด ปตท.ไปดูด้วย แล้วจากนั้นก็เริ่มคิด แต่ยังไม่ได้มีโอกาสได้ทำ”
หลังจากนั้นประมาณปี 2555 ผมได้เป็นซีอีโอของ ปตท. ก็หยิบเรื่องนี้กลับขึ้นมาทำต่อ ใช้เวลาวางแผนตั้งแต่ปี 2552 และเริ่มทำจริงๆ คือปี 2557 ปีที่ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เข้ามาพอดี
“ตอนที่เราทำเราตั้งเป้าหมายแบบนี้ว่าจะทำสถาบันการศึกษาที่ดีที่สุด ที่เป็นต้นแบบโดยกลุ่ม ปตท.ที่จังหวัดระยอง ถามว่าดีขนาดไหน ดีขนาดว่าพาใครในโลกนี้มาดูแล้วไม่อายเขา นี่คือนิยามง่ายๆ แบบนี้ แล้วตอนนั้นที่เราไปดูหลายประเทศ รวมทั้งเกาหลีใต้ ถามว่าทำไมต้องเกาหลีใต้ คือตอนนั้นผมคุยกับอาจารย์เก่าที่ญี่ปุ่น เขาบอกอย่ามาตามเลยเราห่างกันมากแล้ว แต่คุณไปดูเกาหลีใต้สิ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขายังซื้อข้าวคุณให้คนมาสอนปลูกข้าว ตอนนี้เขาแซงหน้าคุณไปขายเทคโนโลยีให้คุณแล้ว ให้ไปดูต้นแบบจากที่นั่น เราก็ยึดต้นแบบมาจากเกาหลีใต้”
ดร.ไพรินทร์กล่าวว่า “ผมคิดแบบนี้ว่าวัตถุประสงค์ของโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยที่เราสร้างขึ้นมา (รร.กำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธีหรือ VISTEC) ในวันนี้เราพิสูจน์แล้ว เพราะมีเด็กจบออกมาแล้ว ว่าตัวมหาวิทยาลัยมีความเป็นเลิศทางการวิจัยจริงๆ
“ทีนี้ทำไมต้องวิจัย เพราะว่า Thailand 4.0 เราพูดถึงเทคโนโลยีอนาคต ตามเป้าหมายรัฐบาล ดังนั้นมันจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากงานวิจัย สมัยก่อนที่เราพึ่งพาจากตะวันตก ตั้งแต่รัชกาลที่ 4-5 มา เขาวิจัยกันมาเป็น 100 ปี แล้วเราไปเอาของเขามา แต่ปัจจุบันนี้ศาสตร์ใหม่ๆ อย่างนาโนเทคโนโลยีมันไม่ได้เป็นของตะวันตก แต่มันอยู่ที่ว่าใครวิจัยเร็ว ใครทำก่อนได้ก่อน เราจึงเห็นว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีของเกาหลี ญี่ปุ่น จีน อย่างหัวเว่ย ชนะตะวันตกด้วย คือเราไม่ได้พึ่งพิงเทคโนโลยีที่เขาทำมา 100 ปี ซึ่งเราไม่มีทางตามทันเลย แต่ว่าตอนนี้มันเป็นศาสตร์ใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทุกวัน ถ้าเกิดเราทำเองวันนี้ เราเริ่มวันนี้เราก็ไม่ได้ตามตะวันตก แต่เราไปด้วยกัน เคียงบ่าเคียงไหล่กัน แล้วเอเชียเราทำได้ดีด้วย ซึ่งตรงนี้เราถึงบอกว่ามหาวิทยาลัยยุคใหม่มันไม่ใช่แบบเดิม”
ดร.ไพรินทร์เล่าต่อว่า “หลังจากนั้นเราก็ตัดสินใจว่าอยากจะทำสถาบันอุดมศึกษาที่ระยองให้ดีมากๆ เลย บอร์ด ปตท.ทุกชุดที่เสนอเรื่องนี้เข้าไปก็ดีมาก เขาบอกว่าคุณอยากจะทำสถาบันอุดมศึกษาชั้นเลิศ คุณต้องมีวัตถุดิบที่ดีนะ จะไปหาจากไหนละ ตอนนั้นเราเริ่มมีมหิดลวิทยานุสรณ์ แล้วมีเตรียมอุดม สวนกุหลาบ แต่เขาบอกว่าจะพอหรือ คุณเอาเปรียบรัฐบาลหรือไม่ คือคุณไปคัดเด็กดีเข้ามา ตอนนั้นเราในคณะทำงานก็เสนอว่าทำโรงเรียนมัธยมดีกว่า เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องตั้งทั้งโรงเรียนทั้งสถาบันอุดมศึกษา ก็ตั้งคณะทำงานตอนนั้น เรามีที่อยู่ริมทะเลมากมาย เรามีที่ว่างของ IRPC อยู่ประมาณ 4,000-5,000 ไร่ แต่หลายคนบอกว่าอย่าเอามาปะปนกับอุตสาหกรรมเลย เราก็ไปดูเจอว่ามีที่ผืนหนึ่งเป็นที่ของ TPI เดิม แล้วก็ไม่ได้ใช้อยู่ 3,000 ไร่อยู่ที่วังจันทร์ ไปสร้างที่นั้นดีกว่า ตอนนั้นเราก็กลัวว่าแล้วใครจะตามไป กันดารมาก แล้วเด็กที่ไหนจะมา แต่เมื่อเป็นการตัดสินใจของคณะทำงานว่าให้มาเราก็ไป ก็ออกแบบสัญญาก่อสร้างปีที่ คสช.เข้ามา ตอนนั้นก็สรุปว่าเรากันที่ 1,000 ไร่ให้โรงเรียนกับมหาวิทยาลัยขึ้นมา มีแนวคิดว่าให้ใครมาดูก็ไม่อายเขา”
ดังนั้น โรงเรียนกับมหาวิทยาลัยของ ปตท.ที่วังจันทร์ต้องเรียกว่าเป็นการทดลองเล็กๆ นะ แล้วมันพิสูจน์ออกมาว่าเป็นการทดลองที่ดี แล้วมีผลสำเร็จ ถามว่าโรงเรียนทุกโรงเรียนต้องเป็นแบบนั้นหรือไม่ เปล่า แต่มันจะต้องมีโรงเรียนกลุ่มหนึ่ง ถ้าเราต้องการเปลี่ยนว่าเด็ก 60% เรียนสายวิทย์มันต้องมีอะไรระดับสูง แล้วแห่งเดียวก็ไม่พอ ต้องมีทุกภาคอะไรแบบนี้ เพื่อเปลี่ยนกระแส ซึ่งการเปลี่ยนให้เด็กมาเรียนวิทย์มากขึ้นยากมาก ไม่เช่นนั้นประเทศไม่เจริญ
“เมื่อหลายปีที่แล้วตอนผมพูดเรื่องแบบนี้ เราไม่มีของจริงให้เห็นนะ แต่วันนี้มีแล้ว แล้วถ้ามีแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ผมเสียใจมาก ปัจจุบันเราใช้งบประมาณการศึกษาเป็นแสนล้านลงไปทุกปีๆ หากทุกอย่างเหมือนเดิม และที่น่ากลัวคือโลกกำลังเปลี่ยน เราบอกว่าเราเป็น Thailand 4.0 แล้วจะไปอย่างไร การเรียนการสอนเหมือนเดิม ห้องหนึ่งมีเด็ก 45 คน ครู 1 คน กระดานดำ แค่ไปมาเลเซียหรือสิงคโปร์เขาก็ไม่สอนแบบนี้แล้ว ผมบอกว่าผมเรียนมาอย่างไร 50 ปีที่แล้ว ผมกลับไปดู มันเหมือนเดิมอะ แล้วปฏิรูปอะไร เรียนฟรีก็ไม่มีจริง”
Population Disruption กับการจ้างงาน 2 รอบ!
ดร.ไพรินทร์เล่าต่อไปถึงแนวคิดว่าทำไมถึงต้องเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และคำถามคือระบบการเรียนการสอนมันรองรับอนาคตหรือไม่ คำตอบคือไม่ ในหลายๆ เรื่อง อยู่ดีๆ เราก็บอกว่าแบ่งการศึกษาออกเป็นชิ้นๆ แบ่งวิทย์กับศิลป์ แล้วก็แบ่งเป็นคณะ คณะแล้วยังแบ่งเป็นวิชาเอก เด็กคนหนึ่งอายุ 18 ตกไปอยู่ในวิชาเอกหนึ่งแล้วทั้งชีวิตเขาจะไม่หลุดจากนี้ ถ้าคุณเริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นวิศวกรเคมี จะไปเป็นวิศวกรโยธาไม่ได้แล้วนะ เกิดอะไรขึ้นถ้าตัดสินใจผิด ตอนนั้นยังเด็กๆ ยังไม่รู้เลย เขาก็ผิดไปตลอดชีวิต
“อนาคตมันเป็นเรื่องของบูรณาการ ข้ามศาสตร์กัน คำว่านวัตกรรมก็ดี หรืออะไรก็ดี สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ก็ดี ที่รองรับความต้องการในอนาคต มันเกิดจากการบูรณาการของศาสตร์ใหม่ๆ ไม่ใช่ศาสตร์เดียว เดิมเราเรียนศาสตร์เดียว เรียนลึกๆ แคบๆ แต่อนาคตบอกว่ากว้างๆ เป็นที่มาว่าเรานำแบบการศึกษาแบบที่เกาหลีเขาใช้ ซึ่งมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ที่ใช้รูปแบบที่สถาบันวิทยสิริเมธีใช้มีความเป็นเลิศทางวิจัยสูงมาก หรือว่าการสอนเด็กมัธยมปลาย เตรียมเด็กให้เก่ง เราพบว่าการมีโรงเรียนแบบนี้ (กำเนิดวิทย์) จุดประสงค์คือตั้งมาส่งเสริมให้เด็กเป็นนักวิทยาศาสตร์ ต้องผลิตนักวิทยาศาสตร์ให้ประเทศ KPI ของเราบอกว่าเราอยากเห็นนักเรียนส่วนใหญ่ไปเป็นนักวิทยาศาสตร์เป็นวิศวกร ซึ่งนักเรียนรุ่นแรกของเราพบว่าไปเรียนแพทย์ประมาณ 30% ที่เหลือไปเรียนอย่างอื่น เราก็หวังว่าถ้ารักษาแนวโน้มแบบนี้ไป เราจะเป็นโรงเรียนที่สร้างนักวิทยาศาสตร์ได้ แล้วชาติเจริญไม่ได้ด้วยจากแพทย์หรือวิศวกรอย่างเดียว มันต้องมีนักวิทยาศาสตร์ด้วย”
ดร.ไพรินทร์มองว่าปัญหาสำคัญในอนาคตที่เรียกว่าเป็น population disruption จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของประเทศไทย 3 ประการ
เรื่องแรก คือ ประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่ภาวะของการเป็นประเทศสูงอายุด้วยอัตราเร็วมาก ประเทศที่เป็นแบบนี้แล้วก็พวกญี่ปุ่นกับยุโรปตะวันตก คือคนส่วนใหญ่อายุ 50-60 ปี เด็กเกิดใหม่ของไทยเมื่อปี 2515-2516 อยู่ประมาณล้านคนต่อปี ปีที่แล้วเกิดแค่ 600,000 คน ถามว่าอนาคตจะเหลือเด็กเกิดกี่คน 400,000 คน? ถามว่ารู้ได้อย่างไร ไปดูญี่ปุ่น เขาเทียบกับช่วงเวลาที่เด็กเกิดมากที่สุด ปัจจุบันเด็กญี่ปุ่นเกิดแค่ 40% ของช่วงเวลานั้น
“ฉะนั้นเราเคยเชื่อว่าโลกอนาคตเป็นโลกของคนรุ่นใหม่ บอกว่าผิด เข้าใจผิด เพราะเด็กที่เกิดตอนนี้มันลดลงไปมากมาย มันมาถึงขั้นที่ว่าเด็กมัธยมต้นสมัยก่อนต้องจับฉลากเข้าโรงเรียน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ยินข่าวแล้วใช่หรือไม่ เพราะเด็กมันลดลงปัญหามันก็คลายตัวออกไปเอง กระทรวงศึกษาธิการที่เคยรับงบประมาณ 500,000 ล้านบาทต่อปี ก็รับเท่าเดิม แต่เด็กที่อยู่ในระบบมันลดลงไปทุกที”
ปัญหาที่ตามมาจากเรื่องนี้คือมีประชากรวัยทำงานที่เสียภาษีเลี้ยงประชากรที่เหลือ อยู่ในช่วง 20-60 ปี ตัวเลขตอนนี้มันอยู่ประมาณ 30 ล้านคน คนกลุ่มนี้เขาจะต้องเลี้ยงตัวเขาเองและคนแก่กับเด็กๆ อีก 1 คน แต่ตัวเลขนี้มันกำลังเสียสมดุลไปเพราะว่าช่วงวัยทำงานมันน้อยลง เรากำลังพ้นจุดที่ว่า 1 คนเลี้ยงดูอีก 2 คน ตัวเองกับเด็กหรือคนแก่รวมกันอีก 1 คน พ้นจากนี้มันจะเลี้ยง 2.1, 2.2 ไปเรื่อยๆ แต่ว่าคน 1 คนมันจะเลี้ยงไม่ไหว ภาษีที่จ่ายไป เงินที่จ่ายในกองทุนเกษียณมันจะไม่พอจ่าย เพราะปัญหาคนแก่มากขึ้น ในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศจะมีคำพูดหนึ่งว่า What do you need to do to live to one hundred? คือเด็กตอนนี้เป็นรุ่นที่เรียกว่า “เจนอัลฟา” จะมีอายุถึง 100 ปี
ปัญหาคือตอนนี้เราบอกว่า 60 ปีจบแล้ว แต่ต้องอยู่ต่อไปอีก 40 ปี มันต้องใช้เงินใช้ทองใช้ทรัพยากร แต่คนที่เลี้ยงดูมันมีอยู่แค่นี้ แล้วต้องเลี้ยงตัวเองอีก มันไม่ยั่งยืน ดังนั้นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั่วโลกเจ๊ง มันก็เลยมีแนวความคิดอันหนึ่ง จะเห็นแนวโน้มอันหนึ่งว่าเด็กทำงานเร็วขึ้น เด็กรุ่นใหม่ startup อยากได้ปริญญาน้อยลง แล้วก็บริษัทใหญ่ๆ ก็บอกว่าไม่ต้องจบปริญญาก็มาได้ คือเงื่อนไขหนึ่งในการสมัครงานในอนาคตคือต้องมีใบรับรองอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อให้คุณเริ่มทำงานเร็วขึ้น
ดร.ไพรินทร์เล่าต่อว่า แล้วในอนาคตจะมีการจ้างงาน 2 รอบ อย่าง “หัวเว่ย” เป็นอะไรที่ประหลาดมาก คนเขาจะเกษียณอายุ 45 ปี ผมไปที่เซินเจิ้นก็ถามเขาว่าแล้วไม่กลัวเหรอ เขาบอกว่าถ้าเกษียณตอนนั้นดีแล้ว เงินเดือนเขาจ่ายดี มีเงินทุนเพียงพอ เพราะช่วงนั้นพวกเขาอายุ 35-45 ปี เขาคิดหมดเลยว่าจะไปทำอะไรต่อ เขาเตรียมตัวสำหรับอนาคต ถ้าเขาจะอายุไปถึง 80-100 ปี
“ผมเชื่อว่าการจ้างงานจะเกิดขึ้น 2 รอบ รอบแรกไม่ต้องอายุ 24 ปี (จบปริญญาตรี) อาจจะจ้างงานที่อายุ 16-17 ปี พอทำงานไปประมาณ 40-45 ปี เกิดการทำงานครั้งที่สอง ผมเชื่อว่าแนวคิดการขยายการเกษียณไป 65 ปี อะไรเนี่ย…มันไม่ใช่ เกษียณลดลงไป 45 ปี ซึ่งคุณยังแข็งแรง มีเงินแล้ว คุณเริ่มทำงานใหม่ มีตัวเลขวิจัยว่าคนที่ทำ startup ที่อายุ 40 ปี ประสบความสำเร็จมากกว่ากลุ่มอายุ 20 ปีที่เราทำอยู่มากเลย”
ดังนั้นกลับมาที่แนวความคิดเรื่องระบบการศึกษา อย่างของ MIT หรือสิงคโปร์เขาประกาศแล้วว่าจะมีปริญญาสำหรับคนที่มีอายุ หลักสูตรระยะสั้น ฝึกอบรม พูดง่ายๆ คือหน่วยการศึกษาจะต้องทำให้เด็กทำงานได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการศึกษารอบสองตอนที่อายุ 40-45 ปี วิธีแบบนี้การเกษียณจะขยายไปถึง 70-75 ปีได้ เพื่อจะมีคนที่มาทำงาน มีประสบการณ์ จะได้จ่ายภาษีเลี้ยงคนที่เหลือได้ แล้วเขาจะมีความสุข
“ดังนั้น การขยายอายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 65 ปี มันไม่ได้ตอบโจทย์ คุณจะทำเรื่องเดียวตลอดชีวิตหรือ ถ้าผมเป็นตำรวจมาจนถึงอายุ 45 ปี แล้วทำไมต้องเป็นต่อไปจน 70 ปี ผมอยากเป็นทหารเรือบ้าง ไปขี่เรือบิน ผมทำได้หรือไม่ หรือเราเคยทำเป็นลูกจ้างกินเงินเดือน พอ 45 ปี ผมขอออกไปทำร้านขนมปังได้หรือไม่ ได้ทำสิ่งที่อยากทำ”
“เหตุผลเพราะว่าอายุขัยเรามันไปถึง 100 ปีแล้ว มันเป็น disruption มหาวิทยาลัยทั้งหมดบอกว่าเนื่องจากเด็กเกิดใหม่น้อย ต้องไปสอนคนแบบ mid-career ดีกว่า ทีนี้ถ้าเราเชื่อว่านี่คือภาพอนาคต ผมถามว่าการศึกษาจะต้องปรับอย่างไร ผมไม่แปลกใจที่หัวเว่ยขึ้นมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกได้ เพราะเขาเข้าใจเรื่องนี้แล้ว”
สังคมเมืองกับปัญหาการกระจายความเจริญ
เรื่องที่ 2 คือการเกิดของสังคมเมือง เด็กรุ่นใหม่จะเข้าสู่เมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ มีตัวเลขบอกว่า 70% ของประชากรอยู่ในเมืองใหญ่ ของไทยน่าจะประมาณ 50 ล้านคนอยู่ในเมืองใหญ่ แต่เมืองใหญ่เรานับแล้วไม่ถึง 10 เมือง กทม. เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ ขอนแก่น ดังนั้น กทม. 10 ล้านคนจะเพิ่มขึ้นไป 15 ล้านคน แล้วเมืองเล็กๆ ก็จะไม่มีคนอยู่ ชาวนาก็จะแก่ขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลเพราะการศึกษาใหม่ส่งให้เด็กเข้าเมือง เราไม่เคยสอนให้เด็กไปทำไร่ทำนานะ เราสอนให้เขาเรียนศาสตร์สมัยใหม่ เขาคุ้นเคยกับการเดินห้างใช้มือถือ เด็กพวกนี้โตขึ้นมาก็เข้าเมือง แล้วพอคนมาอยู่ในเมืองมากๆ เมืองคือที่มีงานให้ทำ…ไม่แปลก ทุกประเทศที่เราไปมาก็เป็นแบบนี้ ไปต่างจังหวัดคนน้อยๆ เงียบๆ ไม่มีอะไร วันหนึ่งเราก็จะเป็นแบบนั้น
แล้วพอคนเข้าสู่เมือง โรงเรียนในเมืองก็จะเป็นโรงเรียนใหญ่ 1,000-4,000 คน แล้วต่างจังหวัดจะเหลือ 15 คน เช้าๆ จะมีรถตู้วิ่งออกจากข้างนอกเข้ามาส่งในเมือง เย็นๆ วิ่งออกไป โรงเรียนข้างนอกก็ไม่มีคน ดังนั้นโรงเรียนเล็กลงเราก็ต้องบอกว่ามันมีโรงเรียนที่ใหญ่ขึ้น ทีนี้เนื่องจากเรากระจายงบประมาณต่อหัวเท่ากัน ซึ่งในกรรมการปฏิรูปการศึกษาผมเคยเสนอว่าไม่ได้ เพราะว่าถ้าเท่ากันโรงเรียนใหญ่มันมีการประหยัดจากขนาดที่มากขึ้น ก็จะใหญ่ขึ้นๆ จะสร้างตึก จ้างอาจารย์ได้ โรงเรียนเล็กๆ ที่เฉลี่ยต่อหัวเท่ากันก็แย่ จริงๆ ต้องไปเฉลี่ยให้เขามากขึ้น ให้อยู่ได้ ดึงเด็กในต่างจังหวัดไว้ ให้คุณภาพดีทัดเทียมกับโรงเรียนในเมือง เฉลี่ยต่อหัวเท่ากันคุณภาพมันก็ไม่เท่ากัน โรงเรียนขนาด 4,500 กับ 200 คน ไม่ได้เท่ากัน
การปะทะระหว่างเจนเนอเรชัน
เรื่องสุดท้ายคือปัญหาช่องว่างระหว่างวัย หรือ generation gap ในอดีตสมัยก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ประมาณสมัยพระนารายณ์ตอนนั้น มีชนชั้นปกครองกับถูกปกครอง เพราะว่าเป็นสังคมเกษตร ฉะนั้นการต่อสู้จะเกิดระหว่างชนชั้นปกครองกับผู้ถูกปกครอง แล้วพอเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดคำว่าทุนขึ้น ความขัดแย้งก็เปลี่ยนมาเป็นระหว่างผู้ใช้แรงงานกับนายทุน
แต่ปัจจุบันนี้ในยุคดิจิทัล สิ่งที่เกิดขึ้นคือมันเกิดขึ้นระหว่างรุ่นของคน ผมเป็น Baby Boomer หลังจากนั้นก็มีเจนเอ็กซ์ วาย แซด แล้วก็อัลฟา ซึ่งเขากับเราต่างกันมาก อย่างเด็กอายุ 18-24 ปีตอนนี้มีอยู่ 6 ล้านคน ผมศึกษาเรื่องพวกนี้มาสักพักแล้ว ถกเรื่องของช่องว่างของเจเนอเรชัน คือว่าใน 6 ล้านคน ในนั้นอาจจะมีนายทุน มีชาวนา แต่ในโลกดิจิทัลเขาเสมอกัน เขาคิดอย่างเดียวกัน พวกนี้ถ้าตามหลักของมาสโลว์ (อับราฮัม มาสโลว์ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน) คนกลุ่มนี้มีเงิน เพราะครอบครัวมีลูกไม่กี่คน พ่อแม่ให้เงิน วันๆ มีเงินขับรถกัน ผมต้องการอะไร ผมต้องการประชาธิปไตย แต่คนกลุ่มนี้เมื่อเติบโตขึ้นมาเข้าสู่ตลาดแรงงาน อายุ 23-24 ปี เรียนจบปริญญาโท ชีวิตเริ่มเปลี่ยน
ในตลาดแรงงานผมปากกัดตีนถีบ ผมอยากได้เงิน คนกลุ่มนี้ก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง พรรคการเมืองที่หาเสียงกลุ่มนี้ก็จะเน้นคำว่าปากท้องๆ บอกว่าปากท้องแย่ ทั้งที่มันไม่ได้แย่ขนาดนั้น เพราะว่าจะเอากลุ่มนี้เป็นฐานเสียง เวลาเรียกร้องเขาก็ต้องบอกว่าเอาประชาธิปไตย เพราะว่าคนที่เอาประชาธิปไตยคือคนท้องอิ่ม มันเป็นธรรมชาติของคนนะ ตามหลักของมาสโลว์ แล้วเราก็ย้ายไปตามวัฏจักรนี้
“ตอนที่คุณธีรยุทธ บุญมี เรียกร้องประชาธิปไตย เขาเป็นนักศึกษา คือคนรุ่นเดียวกับผม เป็นเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วมาถึงช่วง 14 ตุลา คือช่วงที่เขาเติบโตขึ้นมาพอดีมันถึงเป็นกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ กลุ่มนี้กินอิ่มมีฐานะ เรียกร้องประชาธิปไตย แต่คนกลุ่มนี้ตอนนี้ย้ายไปอยู่อีกกลุ่มหนึ่งแล้ว พอพ้นสถานะในวัยนั้นเราก็คิดเรื่องอื่น พอเริ่มทำงาน เราต้องการเงินต้องการความมั่นคง ต้องการเรื่องปากท้อง ต้องการลาภยศสรรเสริญ เราก็จะลืมประชาธิปไตย ฉะนั้นมันเป็นวัฏจักรที่อธิบายได้หมดด้วยเรื่องของประชากรศาสตร์”
แล้วพอมาดูคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์หมด และท่านกำลังวางแผนสำหรับรุ่นอัลฟา ท่านยังพูดอยู่เลยว่าเด็กจะต้องเป็นคนดีคนเก่ง ผมถามว่าที่ท่านเขียนดี แต่ว่าเด็กจะยอมให้สอนหรือไม่ ท่านรู้หรือไม่ว่าคนที่ท่านจะไปสอนคือใคร เป็นอย่างไร ผมคุยกับลูกสาวยังไม่ค่อยรู้เรื่องเลย แค่เจนวายเท่านั้น สำหรับเด็กรุ่นใหม่แล้ว แก่ จน เพศ ไม่ได้เป็นปัญหาเลย ชายหญิงไม่สำคัญ เขามีเพื่อนเป็นล้านคนที่พูดภาษาเดียวกัน เชื่ออย่างเดียวกัน ซึ่งเราไม่เหมือนกัน แล้วนับประสาอะไรกับเจนอัลฟาที่ผมก็ไม่รู้ตัวตนของเขาแล้ว ขนาดองค์การอนามัยโลกก็ยังเตือนว่าอย่าให้เด็กเล็กเล่นมือถือ
คำถามคือ แล้วเราจะคุยกับคนเจนนี้อย่างไร เขาเชื่อมือถือ นี่คือพระเจ้า มันมีงานวิจัยว่าคนบวกกับกูเกิลฉลาดกว่า แต่ความจริง แม้ว่าเราจะสามารถเข้าถึงทุกเรื่องได้ก็จริง แต่มนุษย์โดยธรรมชาติจะอ่านจะเสพสิ่งที่เราสนใจ เรื่องที่ไม่ชอบผมก็ไม่อ่าน ถ้าผมชอบผมอ่านทั้งวัน แล้วผมก็ไม่ตามอย่างอื่นเลย ฉะนั้นเราจะมีแนวโน้มรับข้อมูลข้างเดียวมากกว่าสมัยก่อน สมัยก่อนเราเรียนทุกวิชา เราถูกบังคับเรียน ซึ่งเราไม่ชอบเลย เราถูกบังคับให้กว้าง แต่ตอนนี้เราถูกบังคับให้แคบและลึกมาก มันกลับไปหาเรื่องปัญหาการศึกษาที่เราไปแบ่งวิทย์กับศิลป์ แบ่งคณะ แบ่งวิชาเอก แล้วลงอันเดียวผมต้องเรียน 4 ปีให้จบนะ แล้วผมข้ามวิชาเอกลำบากมาก
แล้วที่หนักไปกว่านั้นกูเกิลเป็นพระเจ้าเพราะว่าใช้ปัญญาประดิษฐ์ พอเป็นแบบนี้มันอัปเดตทุกวันนะ มันรู้หมดเลยว่าเราตื่นกี่โมง ไปซื้อของที่บิ๊กซีก็รู้ว่าชอบมาวันไหน ชอบซื้ออะไร แล้วมันก็จะยัดสิ่งนั้นเข้ามา สมมติผมชอบนาฬิกา ผมไปกดหาครั้งเดียวนะ มันก็จะส่งนาฬิกามาทุกวันเลย ผมก็ดูมันทุกวันต่อไป ผมก็ลืมดูรถยนต์ ลืมดูอะไรๆ ไปหมด มีงานวิจัยว่าการมีกูเกิลทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น มันก็จริงนะถ้าเราจัดการมันได้ แต่ตอนนี้เรากำลังอยู่กับปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดขึ้นทุกวัน แล้วไม่รู้จะหยุดมันอย่างไรด้วย อยู่ดีๆ มันก็ใส่เข้ามาแล้ว แต่คนรุ่นใหม่คุ้นเคยกับเรื่องพวกนี้ เขาก็อาจจะจัดการมันได้หรือไม่รู้ตัวถูกครอบงำไปแล้ว เรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาแต่ละเจเนอเรชันมันจะแตกต่างกันมากขึ้นทุกที
“ผมกลัวว่ามัมจะทำให้ต่อไปพ่อแม่ต่างคนต่างอยู่ เดิมเราเป็นครอบครัวใหญ่ แล้วก็เป็นครอบครัวเล็ก ต่อไปการเลี้ยงลูกจะเปลี่ยนไป ปู่ย่าจะไปเลี้ยงหลานไม่ได้ วิธีคิดอะไรก็ไม่เหมือนกันแล้ว พ่อแม่ยังคุยไม่รู้เรื่องแล้ว แล้วต่อไปยังเป็นขนมชั้นแล้ว เราก็อยู่กันต่อไปในรุ่นของเรา มีเงินมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่เราจะคุยกับคนละรุ่นไม่รู้เรื่อง”
ถกระบบการศึกษาไทยยังไม่รองรับอนาคต
ดร.ไพรินทร์กลับมาพูดถึงเรื่องการศึกษาว่า “มันสะท้อนกลับมาว่าเราต้องเตรียมคนสำหรับอนาคต แต่เตรียมคนอนาคตเรากำลังเตรียมคนรุ่นอัลฟา ถามว่าอัลฟามันก็ต่างจากเจนวาย เจนวายก็ต่างจากเจนเอ็กซ์ แต่เราที่เป็นเบบี้บูมเมอร์จะไปคุยอย่างไรให้รู้เรื่อง แล้วถ้าไม่ระวังมันก็จะเกิดการปะทะกันของเจเนอเรชันแทน นายทุนก็แทรกอยู่ในทุกๆ เจเนอเรชันแล้ว แรงงานก็แทรกอยู่ในนั้น แต่ในโลกดิจิทัล คุณไม่สนใจ คุณจะแก่ เด็ก หรือเป็นใคร คำว่าความแตกต่างของชนชั้นมันหมดไปแล้ว มันทำให้เสมอกันหมด แต่ระหว่างเจเนอเรชันมันแตกต่างกัน ความรู้สึก ความคิด วิธีการเรียนรู้มันต่างกันหมด
“หันมาดูวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยไทยที่ผมเรียกว่าเน้นสอน ผลผลิตแบบเดิมคือผลิตคนรับใช้สังคม คำพูดพวกนี้มันจะเขียนอยู่ในวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย แม้กระทั่งของกระทรวงศึกษาธิการ ผลิตคนเพื่อรับใช้สังคม มีคนเก่งไว้รับใช้สังคม ถามว่ามันเลวร้ายหรือไม่ ไม่เลวร้าย ดีมาก ผมเป็นผลผลิตของวิสัยทัศน์แบบนี้”
แต่ถ้าเราไปดูภารกิจของมหาวิทยาลัย จริงๆ มันต้องผลิตองค์ความรู้หรือทรัพย์สินทางปัญญา แล้วเวลาเขาวัดว่ามหาวิทยาลัยดีหรือไม่ดีในโลก เขาวัดว่าผลิตคนเยอะหรือเปล่า ไม่ใช่…เขาวัดผลผลิตทางการวิจัย แล้วผลิตนวัตกรได้เท่าไหร่ มหาวิทยาลัยในยุโรป ในสหรัฐฯ ในจีน ในเกาหลี เขาแข่งกันนะว่าใครผลิต startup ได้มากที่สุด มันไปแบบนั้นแล้ว ไม่ได้ผลิตคนดีคนเก่งรับใช้สังคม มันไม่ใช่ ผลิตองค์ความรู้แล้วเอาไปทำเป็นสินค้าได้ ความรู้ที่ไปทำเป็นอุตสาหกรรมได้ แปลว่าคือคำว่าเทคโนโลยี คือเอาวิทยาศาสตร์ไปทำให้เป็นอุตสาหกรรมได้ ฉะนั้นพูดง่ายๆ คือเน้นตัวเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยของเราก็จะมุ่งไปทางนั้น แต่เดิมเราเน้นแต่ว่าคุณผลิตปริญญาตรีกี่คน ปริญญาโทกี่คน คือผลิตคน แต่เราบอกว่าไม่ใช่มหาวิทยาลัย คือผลิตคนเรามอบให้มหาวิทยาลัยบางส่วนไปทำ แต่มหาวิทยาลัยชั้นดีของไทยจะต้องผลิตองค์ความรู้ ภารกิจนี้ แล้วเนื่องจากว่ามหาวิทยาลัยของเราส่วนใหญ่จะยังเป็นแบบผลิตคน เวลาเราดูอันดับโลกของเรามันก็ตกลงไปเรื่อยๆ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วเราอยู่ประมาณ 200-300 ตอนนี้จะหลุด 1,000 แล้ว เขาเอามาพิจารณาจัดอันดับแค่ 2,000 กว่านะทั่วโลก เดิมเราเคยอยู่หลัก 100 นะ แล้วลงไป 1,000 แล้วยิ่งลงล่างยิ่งลงเร็ว เพราะว่าเขาวัดองค์ประกอบเรื่องผลงานวิจัย เขาไม่ได้วัดว่าคุณผลิตปริญญาตรีได้กี่หมื่นคน
ดังนั้นมหาวิทยาลัยที่เราสร้างขึ้น อันแรกคือเน้นวิจัย แล้วก็มีรูปแบบที่แตกต่างคือเราไม่แยกเป็นคณะวิทยาศาสตร์อะไรแบบนั้น เราไม่มีชื่อด้วย เราจับเอาวิทยาศาสตร์กับวิศวกรรมศาสตร์มารวมด้วยกัน ผมเป็นวิศวกร ผมไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมต้องแยกออกจากกัน มันเป็นเรื่องเดียวกัน วิศวกรก็ต้องเรียนวิทยาศาสตร์ให้เก่ง แล้วเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องเรียนวิธีประยุกต์ คือทำให้เป็นอุตสาหกรรมแบบวิศวกร โลกอนาคตมันไปแบบนั้นแล้ว คำว่าคณะเป็นคำที่ไม่มีประโยชน์ในอนาคต ยิ่งลงไปว่าวิชาเอกอะไรแบบนั้น ยิ่งต้องทิ้ง ไม่มีประโยชน์
แต่ปัญหาของระบบการศึกษาไทยคือ อยู่ดีๆ มีมหาวิทยาลัยขึ้นมาเต็มไปหมดเลย แล้วพอไปสร้างเราจ่ายงบประมาณให้ตามหัวเด็ก เขาก็ต้องไปตามหาเด็ก แต่เด็กมันเกิดน้อยลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือมหาวิทยาลัยเอกชนเจ๊งก่อนเลย มหาวิทยาลัยหลายแห่งนักศึกษาจากหมื่นคนเหลือพันคนด้วยซ้ำ แล้วมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดอีก ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นอีกคือเรื่องกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา คือเอาใครก็ไม่รู้ว่าเป็นนักเรียน เรียนหรือไม่ ไม่รู้ แต่มหาวิทยาลัยต้องการชื่อต้องการเด็ก พวกนี้พอเรียนจบก็ไม่จ่ายเงินคืน มันก็มีปัญหา อันที่สองคือไปเรียนแล้วไม่เรียน ในประเทศที่ประสบความสำเร็จ อย่างไต้หวันหรือสิงคโปร์ เด็กที่เรียนสายวิทย์ 60% สายศิลป์แค่ 40% แต่บ้านเราเรียนกลับกันหมด ซึ่งมันผิด
เพราะว่าเรามีระบบที่เน้นผลิตคน แต่คนมันน้อยลง คว้าเอาใครก็ไม่รู้มาเป็นนักศึกษา มันทำลายระบบอุดมศึกษาของเรามาก มันเกิดปัญหาที่ว่าจ่ายครบจบแน่ เพราะเขาไม่สนใจ เขาแค่ต้องการให้มีคนผ่านมาแล้วบันทึกไว้ว่ามีเท่าไหร่ แต่ไม่ยอมรับความจริงว่าคนมันเล็กลง
แล้วระบบมหาวิทยาลัยเป็นระบบขยายตัว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีนักศึกษาประมาณ 60,000 คน จุฬาฯ 40,000 คน แต่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมีแค่ 10,000 กว่าคนทั้งนั้น เขาไม่ได้เน้นปริมาณ แล้วมหาวิทยาลัยไทยขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เราเพิ่มสาขาวิชา เพิ่มหลักสูตร เพิ่มคณะขึ้น คือเน้นผลิตคน ไม่ได้ผลิตความเป็นเลิศ ไม่ได้ผลิตทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าเกณฑ์ยังเป็นแบบนี้ ผลิตคนออกมาเยอะๆ ผมเป็นบอร์ดในมหาวิทยาลัยมาก่อนนะ เวลาเขาของเปิดหลักสูตรใหม่ เขาจะมีใบคำนวณว่ามีคนจะเข้าเรียนเท่านี้ มีอาจารย์เท่านี้ ค่าใช้จ่ายเท่านี้ รวมแล้วกำไร จบ เสร็จแล้วพอมันไม่มีเด็กเข้ามาจริงๆ ก็เจ๊งไง แล้วมีแต่เปิดไม่มีปิด แล้วทำเพราะกำไร ไม่ได้ทำเพราะเป็นเลิศทางนี้หรืออะไร บางมหาวิทยาลัยไม่มีแพทย์ก็จะเปิดแพทย์ แล้วถ้าทุกคนบอกว่าตัวเองต้องมีแพทย์ คำถามแล้วไม่อยากเอาดีทางวิศวกรรมศาสตร์เหรอ มันจะเป็นอะไรแบบนี้ไปหมดเลย
“แล้วเทียบกับทุกปีที่เราเสียเงินงบประมาณไปสัก 200,000 ล้านบาทต่อปีกับมหาวิทยาลัยไทย คำถามคือได้เงินไปขนาดนี้ ถามว่าคุณผลิตอะไร ผลิตปริมาณไง ผมจึงต้องเสนอแบบเล็กๆ ที่วังจันทร์ ถ้าทุกคนคิดว่าใช่ก็ลองทำ ถ้าคิดว่าไม่ใช่ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ได้ใช้เงินแผ่นดิน แต่เราก็ถือว่า 5 ปีที่ผ่านมาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเฉพาะด้านการวิจัยเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ เรากำลังไปแข่งกับสิงคโปร์ เพราะเราไม่ได้บอกว่าต้องผลิตคนเยอะ ทั้งมหาวิทยาลัยเรามี 200-300 คน อาจารย์อีกประมาณ 20-30 คน แต่ผลิตปริญญาเอกเกือบทั้งหมดที่มีผลงานวิจัย ไม่ต้องมี 40,000 คน สถาบันวิทยาสิริเมธีแซงหน้ามหิดลกับจุฬาฯ ที่งบประมาณหมื่นล้าน แต่งบที่นี่ใช้ 200-300 ล้านบาท ผมถามว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าบอกว่าแข่งขันผลิตคน ผมยอมแพ้ ในทางตรงข้าม ถ้าคุณทำแบบผมนะ คุณก็ชนะผมถล่มทลาย เขามีอาจารย์ตั้งเท่าไหร่ งบประมาณอีกเท่าไหร่”
ปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษา ต้องมีการคานอำนาจ
ดร.ไพรินทร์กล่าวต่อไปถึงระดับการบริหารการศึกษาในภาพใหญ่อย่างกระทรวงศึกษาธิการว่า ต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน โดยมีแนวคิดว่าอะไรก็ตามที่เป็นสาธารณประโยชน์ควรจะแยกระหว่างนโยบายและผู้กำกับดูแล คนที่คิดแบบนี้คนแรกคือ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บอกว่า กระทรวงการคลัง คุณดำเนินนโยบายการคลังได้ แต่นโยบายการเงินไม่ได้ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลไป รูปแบบนี้เป็นพีระมิดหัวกลับแล้ว มุมแหลมข้างบนมีสองข้างแล้ว คือนโยบายให้นักการเมืองว่าไป แล้วผู้กำกับที่มาคานอำนาจ แล้วก็มีคนปฏิบัติไป
“ผมบอกว่าถ้าจะทำให้กระทรวงศึกษาธิการดี ต้องกลับหัวแบบนี้ กระทรวงที่เป็นแบบนี้แล้วคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มี กสทช.แยกออกมา คลื่นความถี่คุณให้นักการเมืองกำหนดนโยบายได้ทุกอย่างหรือ ไม่ได้ ต้องให้คนกลางทำ คุณบอกมาสิว่าจะต้องประมูลเพื่อเอาไปใช้เป็นประโยชน์ของชาติ แต่คนกำหนดวิธีการประมูลคือ กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) กระทรวงพลังงานก็ทำแบบนี้แล้ว กระทรวงคลังทำเยอะที่สุด คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ดูเรื่องประกันภัยก็แยกออกมา พอเริ่มค้าหลักทรัพย์ก็แยก ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ออกไป ทางการเงินเขามีอะไรพวกนี้ชัดเจน”
แต่พอกลับมาดูโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการมันใหญ่มาก แต่ถามว่าการศึกษาอะไรเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของการศึกษา เด็กกับโรงเรียน มากมายเป็นล้านคนเลย 5 ล้านกว่าคน และเราไปสร้างโครงสร้างของระบบการศึกษาเยอะมาก ตั้งแต่ศึกษาจังหวัด เขต ภาค โครงสร้างยังแบบทหารคือจากบนลงล่าง พอไปปฏิรูปในกระทรวงศึกษา ที่ผานมามันก็ผิดตรงที่ว่าในกระทรวงที่เป็นพีระมิดอยู่แล้ว ก็ไปแยกเป็นพีระมิดเล็กลงไปอีก 3 อัน สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) เลขา สพฐ.เทียบเท่าปลัดกระทรวง มีอำนาจสิ้นสุดในตัวเอง คือถ้าเป็นทหารมันได้ เพราะ ผบ.ทบ.ต้องสั่งทุกคนในกองทัพบกได้ แต่นี่ไม่ใช่…
แล้วทำไมกระทรวงการศึกษาไม่มีผู้กำกับดูแล ในอดีตเรามีสภาการศึกษานะ ตอนนั้นตั้งสภาพัฒน์ สภาการศึกษา สภาวิจัย อยู่กับนายกรัฐมนตรี มาคอยคานกับกระทรวงต่างๆ ได้ สภาพัฒน์ยังอยู่ สภาวิจัยกลายเป็นอะไรไปไม่รู้แล้ว สภาการศึกษาจุดหนึ่งก็เอามาเป็นส่วนงานในกระทรวงศึกษาธิการ เขาควรเป็นผู้กำกับดูแล แต่ตอนนี้โดนย้ายไปย้ายมาเป็นว่าเล่น เขาก็ไม่กำกับดูแลอะไร”
“อยากเห็นพีระมิดกลับหัว ลดโครงสร้างในกระทรวงลง กระทรวงต้องเล็ก คนที่ใหญ่คือโรงเรียนกับเด็กนักเรียน กระจายอำนาจ ทำไมโรงเรียนที่อยู่บนดอยต้องเรียนเหมือนโรงเรียนที่หาดใหญ่ ผมถามหน่อย เด็กบนดอยอยากเรียนภาษาอังกฤษเพราะเขาต้องเจอนักท่องเที่ยว เด็กหาดใหญ่ก็อยากทำอะไรอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ แต่วันนี้มีอันเดียวมีแกนกลาง ให้ยืดหยุ่นได้สัก 20% ซึ่งกระทรวงก็ยังไม่เข้าใจ เรื่องการปฏิรูปการศึกษาก็มีอะไรออกมา พ.ร.บ.การศึกษาอะไรพวกนี้ เขียนได้ดีนะ แต่มันก็ยังคิดอะไรเดิมๆ ผมเล่าเรื่องที่โลกกำลังจะเปลี่ยนหมดแล้ว คุณจะสอนอย่างไร เขารู้ทุกอย่างหมดแล้วตั้งแต่ 2 ขวบ แล้วสอนไปเขาจะเชื่อเหรอ”
นี่คือแนวคิดการรับมือกับยุค population disruption ของ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร