ThaiPublica > คนในข่าว > “ศ. นพ.จรัส สุวรรณเวลา” วิพากษ์ระบบการศึกษาไทยยังไม่ตื่น “หัวโต – แขนขาลีบ” ชี้เข้าสู่กับดักความยากจนข้ามรุ่น

“ศ. นพ.จรัส สุวรรณเวลา” วิพากษ์ระบบการศึกษาไทยยังไม่ตื่น “หัวโต – แขนขาลีบ” ชี้เข้าสู่กับดักความยากจนข้ามรุ่น

8 พฤศจิกายน 2018


ศ. นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) และอดีตอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภายใต้ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่สะท้อนให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของโครงสร้างที่ไม่ตอบโจทย์การก้าวไปสู่ประเทศที่เน้นนวัตกรรมในการขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภาพที่นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ยังคงเรียนในสาขาสังคมศาสตร์อยู่เกินครึ่งของนักศึกษาทั้งหมด หรือหลักสูตรที่สถาบันอุดมศึกษาเปิดสอนอยู่ครึ่งหนึ่ง หรือกว่า 4,600 หลักสูตร ยังคงเน้นการสอนในวิชาสายสังคมศาสตร์ และทำให้การผลิตบัณฑิตสายวิทยาศาสตร์ยังขาดแคลนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  • การศึกษาไทย 4.0 (ตอน 1): 12 ปีที่ผ่านมาเด็กไทยเรียนจบอะไร!! ทำไมต้องรัฐต้องควักอีก 1.4 หมื่นล้านผลิตบัณฑิต – อาชีวะพันธุ์ใหม่
  • การศึกษาไทย 4.0 (ตอน 2): เปิดหลักสูตรมหาวิทยาลัยไทย – 9,333 หลักสูตร สอนอะไร? จบจากไหน?
  • อย่างไรก็ตาม หากจะดูปัญหาการศึกษาให้ลึกลงไป เราจำเป็นต้องสืบค้นกลับไปยังต้นตอของระบบการศึกษานับตั้งแต่เด็กเริ่มต้นเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อตอบคำถามดังกล่าว สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์ ศ. นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) และอดีตอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้มีประสบการณ์ทำงานในภาคการศึกษามาอย่างยาวนาน ถึงความเป็นไปในระบบการศึกษาของไทยว่า หากมองภาพรวมของการศึกษาไทยทั้งระบบ ปัจจุบันสถานการณ์เป็นอย่างไร ต้นตอปัญหาอยู่ตรงไหน และเราจะหาทางออกได้อย่างไร?

    ศ. นพ.จรัส เริ่มต้นจากข้อสรุปว่า ปัญหาของการศึกษาไทยจากหลักฐานข้อมูลในปัจจุบันที่คณะกรรมการรวบรวมมาอาจจะสรุปได้ 4 ประเด็น คือ
    1) คุณภาพต่ำและไม่ได้มาตรฐานของไทยและสากล
    2) ความเหลื่อมล้ำสูงกับดักความยากจนของประเทศ 
    3) ความสามารถในการแข่งขันไม่ดีพอ ถ่วงความเจริญของประเทศ
    4) การบริหารจัดการด้อยประสิทธิภาพ

    “ปัญหาค่อนข้างจะหนักนัก มันวิกฤตอย่างยิ่งยวด เราศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งข้อมูลที่ได้มาจากการไปรับฟังความคิดเห็น ไปดูของจริงที่มีอยู่ อย่างปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นกับดักความยากจน เพราะว่าพ่อแม่ที่อยู่ในชนบทเป็นคนยากจน ก็พยายามส่งลูกเข้าไปเรียนหนังสือ หวังว่าจะไม่ต้องเป็นแบบพ่อแม่ แต่พอคุณภาพการศึกษาของเราไม่ได้ดีพอ ลูกก็ก้าวไปต่อไม่ได้ มันก็ยังเป็นความยากจนอยู่ นี่คือกับดักความยากจน มันไม่ใช่ปัญหาของคนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง แต่มันข้ามรุ่นเลย มันเป็นความร้ายแรงมากกว่า เราอาจจะบอกว่าเรื่องสุขภาพมันทำให้คนตาย ฉะนั้นมีความเหลื่อมล้ำและรุนแรง แต่อันนี้อาจจะรุนแรงกว่าในลักษณะที่มันส่งต่อข้ามรุ่นด้วย ที่ร้ายสุดคือยังไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหา ทั้งในส่วนของสังคม ชุมชนโดยรวม จริงๆ เราก็รู้อยู่ว่ามันมีปัญหา แต่ไม่รู้ความร้ายแรงของมัน เวลาไปพูดบอกว่าตระหนัก ขอเอาไม้หันอากาศออกเป็นต้องตระหนกแล้วนะ ไม่ใช่แค่ตระหนักแล้ว”

    คุณภาพการศึกษาต่ำ – ยิ่งเรียนยิ่งแย่

    ศ. นพ.จรัส ขยายความต่อไปว่า ถ้าดูผลการสอบระดับชาติตามมาตรฐานหลักสูตรไทย หรือโอเน็ตของมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีที่ผ่านมา คนเข้าสอบ 300,000 คน ตกหมดทุกวิชา แล้วยังไม่รวมไปถึงเด็กจำนวนหนึ่งที่เรียนไม่ถึง ม.6 คือขึ้นไปเรียนแค่ ม.3 หรือหลุดไปก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ ซึ่งหลักสูตรแบบไทยๆ ที่เน้นเนื้อหาสาระ เน้นท่องจำ เด็กยังได้ผลอย่างนี้เลย ฉะนั้นคนไทยมีคุณภาพการศึกษาโดยรวมต่ำมาก และต่ำมากในมาตรฐานไทยด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้น หากเปรียบเทียบประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในวิชาต่างๆ จะเห็นว่ายิ่งเรียนคะแนนยิ่งตก ผิดจากที่เราคาดหวังไว้ว่าเวลาเรียนสูงขึ้นๆ คุณภาพมันควรจะต้องยิ่งสูงขึ้น แต่ปรากฏว่ากลับยิ่งตกต่ำมากขึ้นๆ อาจจะมีคะแนนภาษาไทยที่ดีขึ้นมา แต่โดยรวมคะแนนแบบนี้มันแปลว่าการศึกษาระดับสูงขึ้นไปเด็กไทยไม่ได้ดีขึ้นเลย เด็กไม่ได้มีสติปัญญาดีขึ้น

    หากหันไปดูมาตรฐานโลกอย่างคะแนนสอบ PISA สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเด็กอายุ 15 ปี การสอบ PISA จะวัดสมรรถนะ 3 ด้าน คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ซึ่งจากการสอบ 15 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทย เราตกตลอดเลย ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานโลก อยู่ที่ประมาณ 500 คะแนน และไม่ได้ดีขึ้นเลยใน 15 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นในมาตรฐานโลกแล้ว เราก็ยังมีคุณภาพต่ำค่อนข้างชัดเจน

    “ถามว่าเวลาเราส่งเด็กไปสอบแข่งขันโอลิมปิก ย้อนกลับไปจริงๆ ตอนแรกเราสู้ไม่ได้หรอก ไปสู้ ไม่มีทางได้เหรียญมา แต่เราต้องกลับมา สร้างหลักสูตรใหม่ คือทำตามมาตรฐานโลกแล้วและเตรียมเด็กไปสอบลักษณะสอบสมรรถนะ ไม่ใช่ท่องจำ แล้วตั้งแต่นั้นมาเราก็ได้ชนะ เรามีเด็กที่ได้เหรียญทองกลับมา บางอันเราชนะประเทศอื่นด้วย อันนี้พิสูจน์ว่าเด็กไทยมีสติปัญญา แต่สิ่งที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้ เพราะระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบัน”

    หากวิเคราะห์ข้อมูลลึกไปกว่านั้น โดยเปรียบเทียบจำนวนเด็กที่มีผลการศึกษาสูงกว่ามาตรฐานและต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น สำหรับค่าเฉลี่ยของ OECD พบว่ามีเด็กที่มีผลการศึกษาสูงกว่าระดับมาตรฐาน 7.72% ของนักเรียนทั้งหมด มีนักเรียนต่ำกว่ามาตรฐาน 21.24% ส่วนของไทยที่ต่ำกว่ามาตรฐานมีอยู่ครึ่งหนึ่งของนักเรียนทั้งหมดเลย ที่สูงกว่าระดับมาตรฐานมีอยู่ 0.46% ของนักเรียนทั้งหมด หันไปดูเวียดนาม มีต่ำกว่ามาตรฐานแค่ 6% และมีสูงกว่ามาตรฐาน 8.25% สะท้อนชัดเจนว่าเวียดนามดีกว่าไทยในเรื่องการศึกษา หรือประเทศอื่นก็ทำนองเดียวกัน สิงคโปร์ ฮ่องกง เอสโตเนีย ชนะไทยชัดเจน ยิ่งสนับสนุนว่าถ้าดูในเชิงผลสัมฤทธิ์ที่มีอยู่ การศึกษาของไทยอยู่ในระดับต่ำ คุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับต่ำ

    เมื่อแยกรายวิชา จากการวิเคราะห์ผลของ PISA หากแบ่งเป็นจำนวนนักเรียนที่มีมาตรฐานต่ำกว่าจุดต่ำสุดที่ควรจะเป็น ปานกลาง และระดับสูง ประเทศไทยคะแนนวิชาคณิตศาสตร์มากกว่าครึ่งต่ำกว่าที่ควรจะเป็น วิชาวิทยาศาสตร์ประมาณครึ่งหนึ่งต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ลองไปเทียบกับเวียดนามจะมีจำนวนนักเรียนต่ำกว่าไม่มาก ทุกวิชา หรือแม้แต่มาเลเซียเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นเราแพ้ แล้วสังคมไม่ตระหนักเลยว่าเราแพ้เรื่องการศึกษา แต่มันมากกว่านั้น มันมีหลักฐานชัดเจนว่ามันแพ้

    ในแง่ของการนำไปใช้งานในชีวิตประจำวันอย่างวิชาคณิตศาสตร์ ศ. นพ.จรัส กล่าวว่า ของไทย 46% ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนจบออกมายังไม่สามารถนำไปใช้งานได้ มีส่วนที่ใช้ได้ใช้ประโยชน์จริงและมีคุณภาพมากแค่ 1% ที่เหลือคือใช้ได้ในงานพื้นฐานทั่วไป พอไปเทียบกับเวียดนามมีใช้งานไม่ได้ 11% แต่ใช้พื้นฐานได้ 75% แล้วมีแบบชั้นดีใช้งานได้เต็มที่อีก 10% หรือพอมาเทียบกับจีนหรือเกาหลีใต้ก็จะเห็นภาพแบบเดียวกันว่าเราแพ้ลิ่วเลย แล้วยิ่งไปกว่านั้นการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 ในทางกฎหมายคือการศึกษาภาคบังคับ ก่อนที่จะสามารถเลือกออกมาเป็นแรงงานได้ แต่จากคะแนนแสดงว่าเด็กที่จบออกมาจะเป็นแค่แรงงานไร้ฝีมือ

    คำถามคือประเทศไทยจะไปอย่างไร ถ้าคนของเราเรียนจบขั้นพื้นฐานออกมาแบบไร้ฝีมือ

    การศึกษาเหลื่อมล้ำสูง เมื่อเด็กชนบทสู้เด็กในเมืองลำบาก

    ศ. นพ.จรัส กล่าวต่อไปว่า สำหรับความเหลื่อมล้ำหากดูคะแนนสอบ PISA มาแยกตามโรงเรียน ปรากฏว่า โรงเรียนวิทยาศาสตร์อย่างโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เด็กนักเรียนของโรงเรียนเหล่านี้อยู่เหนือคะแนนมาตรฐานหมดเลย แล้วคนที่ไปแข่งขันชนะมากันก็คือคนจากกลุ่มนี้เหมือนกัน อย่างโรงเรียนสาธิตต่างๆ อยู่แถวค่าเฉลี่ยตามมาตรฐาน แต่โรงเรียนที่เหลือของไทยต่ำกว่ามาตรฐานหมดเลย แล้วพอไปแยกสถานที่ตั้งของโรงเรียน โรงเรียนที่อยู่ในเมืองเก่งกว่าโรงเรียนในชนบท โรงเรียนสังกัดพื้นที่ ไม่ได้สังกัดกับส่วนกลาง แม้แต่ใน กทม. ยังต่ำกว่ามาตรฐานเลย แล้วพอไปดูจำนวนนักเรียนจะพบกลุ่มข้างบนที่เป็นโรงเรียนดีๆ มีนักเรียนอยู่ 1% ของนักเรียนทั้งหมด ส่วนโรงเรียนที่เหลือสอนเด็กนักเรียน 99% ของประเทศอยู่ สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย

    กลับมาดูการสอบมาตรฐานไทยอย่างคะแนนโอเน็ตในวิชาต่างๆ ก็จะเห็นภาพคล้ายๆ กัน ไล่จากขนาดโรงเรียน โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ขนาดใหญ่ จนถึงเล็ก คุณภาพมันต่างกันตามขนาดโรงเรียน ส่วนที่เป็นปัญหาใหญ่คือโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งจากโรงเรียนทั้งหมดที่มีอยู่ 30,000 โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กไป 15,000 โรงเรียน หรือไปกว่าครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั้งหมดแล้ว พอไปดูพื้นที่โรงเรียนตามชายขอบชายแดนคะแนนก็ต่ำกว่าอีกเช่นกัน

    “เมื่อเป็นแบบนี้สรุปคือเป็นกับดักของคน ติดอยู่ในความยากจน ฝรั่งเรียกว่า social mobility คือคนจะยกระดับฐานะของตัวเองขึ้นอย่างไร ประเทศไทยจะเจริญได้อย่างไร ถ้าตรงนี้มันยาก คนยากจนไม่สามารถพ้นความยากจนได้ อันนี้หลักฐานจริงที่เราว่ามาทั้งหมด อย่างเราไปที่โรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูก ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ที่ไกลๆ ไปถามว่าทำไมคุณสู้สวนกุหลาบฯ ไม่ได้ จริงๆ ประเทศไทยควรให้เด็กที่นั้นสู้ได้สิ มันถึงแก้ปัญหาประเทศได้ นี่คือคำตอบ”

    ศ. นพ.จรัส กล่าวต่อไปว่า นอกจากภาพความเหลื่อมล้ำของการศึกษาที่อยู่ในระบบแล้ว ในความเป็นจริงยังมีเด็กอีกกลุ่มที่แม้แต่จะเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการก็ยังทำไม่ได้ ข้อมูลจำนวนประชากรไทย 64 ล้านคน มีคนอายุน้อยกว่า 18 ปีหรือต้องอยู่ในระบบการศึกษา 14.8 ล้านคน แต่ข้อมูลพบว่ามีคนอยู่ในระบบการศึกษาเพียง 10 ล้านคน แสดงว่ามีคนหลุดจากระบบการศึกษาไป 4.8 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนหนึ่งที่เข้าไปเรียนแต่ไม่จบ หรืออีกจำนวนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงโรงเรียน

    “อันนี้เป็นเหตุที่เราเสนอกฎหมายเรื่องกองทุนเพื่อความเสมอภาค คือมันชัดเจนว่าคนเหล่านี้เป็นคนไทยเหมือนกันนะ เป็นพลังของชาติ ถ้าไม่ช่วยเหลือคนเหล่านี้เรื่องการศึกษา ไปพัฒนาอย่างอื่นไม่เกิดอะไรขึ้นมาเท่าไหร่หรอก ยังมีปัญหาเกิดขึ้นต่อ”

    การศึกษาฉุดประเทศ – มหาวิทยาลัยไทยแข่งขันกับโลกไม่ได้

    ศ. นพ.จรัส กล่าวถึงปัญหาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยว่ายังอยู่ในระดับต่ำ จากข้อมูลของ World Economic Forum 2017 ประเทศไทยอยู่ที่ 32 จากประมาณ 140 ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจ ซึ่งรายละเอียดบางอย่างไทยเป็นที่ 4 ที่ 6 ของโลก อย่างไรก็ตาม พอหันมาดูการศึกษาไทยกลับอยู่ที่ 56 ของโลก เรียกว่าในบรรดาตัวชี้วัดต่างๆ การศึกษาของไทยเป็นตัวถ่วงความสามารถในการแข่งขันของชาติอยู่ และถ้าไม่แก้การศึกษาแล้วบอกว่าประเทศไทยจะไป 4.0 มันไปไม่สำเร็จแน่นอน

    หากดูอันดับของมหาวิทยาลัยไทยปีนี้ ใน Times Higher Education เทียบกัน 100 อันดับแรกของโลก ไทยไม่ติดเลย สิงคโปร์ติดที่ 22 มี 2 แห่ง, ฮ่องกงติดไป 3 แห่ง, เกาหลี 2 แห่ง, ญี่ปุ่นไป 2 แห่ง, จีนไป 2 แห่ง

    ถัดมา 200 อันดับแรก ไทยก็ยังไม่ติดเลยอยู่ดีจากมหาวิทยาลัย 150 กว่าแห่ง แต่ฮ่องกงติดไป 5 แห่ง ไต้หวันเข้ามาติด 1 แห่ง แต่พอมาเทียบกันในเอเชีย 200 อันดับแรก ไทยเริ่มติดอันดับมา 4 แห่ง เทียบกับจีนมี 50 แห่ง ญี่ปุ่น 30 แห่ง เกาหลีใต้ 21 แห่ง ไต้หวัน 18 แห่ง อินเดีย 17 แห่ง ตุรกี 11 แห่ง อิหร่าน 11 แห่ง มาเลเซีย 8 แห่ง ฮ่องกง 7 แห่ง อิสราเอล 6 แห่ง  สิงคโปร์ 2 แห่ง

    นอกจากนี้ ถ้าดูระบบของ QS World University Rankings เปรียบเทียบ 200 อันดับแรกของโลก ไทยไม่ติด เทียบ 300 อันดับแรก ไทยติดมา 1 แห่ง เทียบ 500 อันดับแรกไทยติดมา 2 แห่ง เทียบ 1,000 อันดับแรกไทยติดมา 8 แห่ง แต่ลองดู 300 อันดับแรก ฮ่องกงติดไป 5 แห่ง ไต้หวันติดไป 4 มาเลเซียติดไป 3

    “เหมือนระบบการศึกษาไทย รู้สึกจะยังไม่ตื่น ถามว่าตื่นจากอะไร นี่คือสภาพปัญหา มหาวิทยาลัยทั้งหลายยังไม่ตื่นเลยว่าทำไม ถ้ามองดูตรงนี้ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของโลก เราอยู่กลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราเป็นอิสระไม่เป็นเมืองขึ้นใครมา 700-800 ปี เรามีสถาบันดีๆ ทั้งหลาย ทำไมเราแพ้ แพ้ฮ่องกง แพ้ไต้หวัน มหาวิทยาลัยไทยพยายามจะไม่แสดงตัวเลขตรงนี้ เพราะกลัวว่าชาวบ้านจะรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยไทยไม่ดี แต่ตัวเลขมันก็บอกไม่ดีจริงๆ แบบนี้ถ้าบอกว่าไทยแข่งขันได้มันไม่ใช่แล้ว มันฟ้องอยู่ทั้งหมดเลย ถ้าใครจะเถียงว่าฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย ไม่ได้แซงไทย มันไม่จริงแล้ว มันแซงไปแล้ว คำถามคือใครจะแซงเราต่อไป ที่กำลังหายใจรดคอเราอยู่คือเวียดนาม กัมพูชาไม่รู้อีก 5-10 ปีข้างหน้าจะแซงเราหรือไม่ ถ้าเราเดินอยู่อย่างนี้ อันนี้เป็นเหตุผลที่เรียนเสนอไปบอกว่าอุดมศึกษาต้องปฏิรูปแล้วนะ คุณอยู่เฉยๆ แบบนี้ไม่ได้แล้วนะ”

    อีกส่วนหนึ่งปัญหาของอุดมศึกษา ถ้าดูประเทศไทยมีคนว่างงาน 440,000 คน 150,000 คนเป็นคนจบปริญญาตรี หมายความว่าไงมันเรียนปริญญาแล้วยังไม่ได้งานทำนะ เป็นปัญหาของอุดมศึกษานะ คนที่ไปขึ้นทะเบียนเป็นคนยากจน มีเงินไม่ถึง 100,000 บาทต่อปี หรือเดือนละ 8,000-9,000 บาท เป็นคนจบปริญญาเอกอยู่ 700 กว่าคน จบปริญญาโทอยู่ 20,000 คน มันเป็นไปได้ไง คุณหาเงินได้เดือนละ 8,000 ไม่ได้ มันต้องมีอะไรมั่วอยู่ตรงไหนแน่ๆ มั่วอันแรกคือคุณโกหก หรือคุณภาพการศึกษาเป็นอย่างไรถึงได้ปริญญามาแล้วยังหาเงิน 8,000 บาทต่อเดือน ขายของอะไรง่ายๆ ก็อาจจะยังได้มากกว่าเลย แล้วจำนวนมากขนาดนี้จะบอกว่าเป็นปัญหาเฉพาะตัวก็ได้ แต่แบบนี้ระบบการศึกษามีปัญหา แล้วใครจะช่วยแก้ไข ทุกคนดูดายหมดเลย

    ชัดเจนว่าอุดมศึกษาต้องเปลี่ยน แต่มหาวิทยาลัยก็ยังดูดายว่าจบไปแล้วก็พ้นหน้าที่แล้ว แล้วถามว่าทำไมมหาวิทยาลัยถึงยอมให้จบออกมา เพราะมหาวิทยาลัย 95% เป็นค่าครูหมดเลย ไม่มีเงินที่จะใช้ทำอย่างอื่น ค่าน้ำค่าไฟก็ยังไม่มีปัญญาจะจ่าย ไม่มีแหล่งรายได้เลย มีแค่ค่าธรรมเนียมการศึกษาของเด็ก แล้วค่าเทอมก็รับมาจากคนยากจนทั้งนั้นที่จะมาเรียนต่อ เมื่อเป็นแบบนั้นก็เก็บแพงไม่ได้ ก็ต้องเพิ่มจำนวนนักเรียนมากขึ้น ตอนนี้เดือดร้อนอีกว่าเด็กน้อยลง ก็ต้องแข่งกัน ที่ไหนเด็กเข้าไปแล้วรู้ว่าจบแน่ๆ ที่นั้นก็รับเยอะขึ้นๆ ที่ไหนเรียนยากก็ไม่มีคนไป คุณภาพมันก็ต้องตกหมด เด็กอยากจะเรียนอะก็ต้องเปิดวิชานั้น ถามว่าเด็กอยากเรียนอะไร อย่างครูอยากอยู่ในเมืองก็ต้องเรียนวิชาเฉพาะหมดเลย ไม่มีใครอยากเรียนประถมศึกษา นี่คือความยุ่งยากของตัวระบบ เรียกว่าวงจรอุบาทว์ยังได้เลย มันหลายชั้นซ้อนกันมากมาย

    ฉะนั้น พอเห็นว่ามหาวิทยาลัยเริ่มปิดหลักสูตร มันก็ต้องปิดแน่นอน เพราะเราลงทุนไป 150,000 ล้านบาท แล้วผลิตผลอย่างที่เป็นอยู่มันต้องปรับหรือไม่ มันก็ต้องปรับ บางแห่งที่ลงทุนแล้วอยู่ไม่รอดมันก็ต้องปิดไป บางแห่งขณะนี้ทำงานซ้ำซ้อนกันเกิดประสิทธิผลน้อย คำตอบคือรวมตัวกัน ธนาคารยังทำแบบนั้น แต่มหาวิทยาลัยพอรวมกันแล้วมีอธิบการบดีอยู่คนเดียว นี่คือปัญหาไม่เห็นประโยชน์ส่วนรวมแล้ว แทนที่จะบอกว่าต้องรวมแล้วจะเสียสละอย่างไร ตอนนี้มหาวิทยาลัยพวกหนึ่งเก่งวิทยาศาสตร์ อีกพวกเก่งสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่เก่งสังคมก็พยายามขยายไปวิทยาศาสตร์ พวกที่เก่งวิทยาศาสตร์ก็เติมสังคมศาสตร์ แทนที่จะมาร่วมกันเป็น 1 เดียว ทั้งหมดเป็นของรัฐทั้งสิ้นเลยนะ ทำไมไม่มีคำตอบแบบนี้ คำตอบเป็นว่าเราแข่งขันกันเองเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เมื่อไรจะตื่นขึ้นมาว่าปัญหาจริงๆ มันคือปัญหาของชาติ ไม่ใช่ปัญหาของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ปัญหาของโรงเรียน และฉันจะช่วยแก้ปัญหาของชาติ มีใครเริ่มขึ้นแบบนี้หรือไม่

    “เราเป็นกรรมการอิสระ เราก็บอกตรงไปตรงมาเลยว่านี่คือปัญหาจริงๆ ที่คุณต้องแก้ไขนะ คุณต้องเปลี่ยนนะ สังคมมันมีปัญหาแล้ว คุณอย่ากลัวว่าจะต้องปิดมหาวิทยาลัย คุณแข่งขันในโลกไม่ได้ก็ต้องหาทางแข่งให้ได้ ถ้าไปแข่งขันโอลิมปิกแล้วมีกติกาแบบนี้ เราก็ต้องวิ่งให้ได้ตามกติกา ไม่ใช่มาบอกว่ากติกาไม่ดี ฉันไม่ทำตาม มหาวิทยาลัยก็ไม่ค่อยพูดว่าไปแพ้มานะ ผมก็พูดกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนะว่าเมื่อไรคุณจะตื่นขึ้นมาแล้วบอกว่าจะวิ่งไปอยู่ในอันดับ 200 ของโลกให้ได้ ก็เสนอให้มีกองทุนใหม่หรือไม่ ให้ช่วยอุดมศึกษา แล้วถ้าทำไม่ได้ก็เอาคืนมาด้วยนะ”

    จัดสรรงบ “หัวโต-แขนขาลีบ” – ครูงานล้นมือ ไม่มีเวลาสอน

    ศ. นพ.จรัส กล่าวถึงปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่ขาดประสิทธิภาพ เริ่มจากการจัดสรรงบประมาณว่า หากนำผลสัมฤทธิ์จากคะแนนสอบเทียบกับงบประมาณที่ใช้ลงไปต่อหัวนักเรียน 1 คนพบว่าไทยใช้เงินงบประมาณไปกว่า 20% ของงบประมาณแผ่นดิน หรือประมาณ 4.2% ของจีดีพี แต่คะแนนการสอบของนักเรียนยังอยู่ในระดับแย่ เทียบกับเวียดนามที่ใช้เงินน้อยกว่าแต่คะแนนสอบออกมาได้ระดับดีมาก หรือไต้หวันใช้เงินมากกว่าไม่มาก แต่คะแนนอยู่ในระดับดีมากเหมือนกัน แปลว่าไทยใช้เงินกับการศึกษาไปค่อนข้างมาก แต่ว่าคุณภาพออกมาไม่ได้ดี

    เจาะลึกลงไปที่การกระจายตัวของงบการศึกษา พบว่าไทยใช้งบประมาณสำหรับการศึกษาทั้งระบบไปสูงถึง 900,000 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่เงินกลับอยู่ในส่วนกลางของระบบการศึกษา แต่งบประมาณสำหรับโรงเรียนหากดูโดยรวมจะพบว่ามากกว่า แต่เมื่อเทียบต่อโรงเรียนด้วยจำนวนโรงเรียนที่มาก ทำให้งบประมาณที่โรงเรียนได้รับน้อยกว่าส่วนกลางมาก

    ขณะที่งบบุคลากรในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไทยใช้เงินประมาณ 350,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเมื่อแบ่งเป็นครูระดับปฏิบัติการ 20% ของจำนวนทั้งหมด และเป็นครูที่เป็นชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ 80% ของครูทั้งหมด แต่หากดูเงินเดือนพบว่าครูทั่วไปได้ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน พอชำนาญการหรือชำนาญการพิเศษจะได้เพิ่มขึ้นเป็น 40,000 บาทต่อเดือน และหากขึ้นไปเป็นครูเชี่ยวชาญขึ้นไปถึง 70,000 บาทต่อเดือน แปลว่าครูส่วนบนๆ 80% ของระบบได้เงินเดือนสูง แต่ว่าผลิตภาพต่ำ ขณะที่ครูปฏิบัติการที่ต้องสอนในห้องเรียนได้เงินเดือนน้อย

    “ที่ร้ายกว่าคือจำนวนครูไม่พอ ต้องไปจ้างครูอัตราจ้างกับครูจ้างเหมา คือจ้างเป็นคาบแล้วจ่ายตามคาบ สอน 3 คาบก็ได้ 3 คาบ รายได้อาจจะแค่ 8,000 บาท ทั้งๆ ที่มีวุฒิการศึกษานะ คนเหล่านี้เรียกว่าเป็นกำลังหลักของการสอนเลย ความมั่นคงในอาชีพก็ไม่มี เงินเดือนก็น้อย แล้วจะหวังผลให้เกิดอะไรได้อย่างไร ในเมื่อสภาพของบุคลากรเป็นแบบนี้”

    ศ. นพ.จรัส กล่าวต่อไปว่า นอกจากการจัดสรรงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพแล้ว การจัดสรรเวลาของครูก็มีปัญหาเช่นกัน จากผลการศึกษาที่เคยทำจากตัวอย่างครู 427 คน พบว่าใน 1 ปีมีเวลาเรียน 200 วัน แต่ครูใช้เวลาไป 84 วันอยู่นอกห้องเรียน เพราะมีหน้าที่ต้องเขียนรายงาน รวมไปถึงทำตามคำสั่งที่มาจากส่วนกลางปีละ 800-1,000 คำสั่ง ซึ่งมาจากทุกกระทรวงเลยว่าให้ทำอะไรบ้าง ส่วนครูและโรงเรียนมีหน้าที่รับคำสั่ง บางคำสั่งที่ไม่ได้เรื่องเขาก็ต้องเขียนรายงานว่าทำไปแล้ว ทำไปแล้ว เพราะต้องตอบกลับ ที่เหลืออยู่ 116 วัน หรือครึ่งหนึ่งที่ได้สอนจริงๆ  แล้วเวลาลงพื้นที่ไปถึงตรงไหน ครูก็บอกว่านี่คือปัญหาของเขาจริงๆ  ระบบการศึกษาการประเมินเรากำลังเอาครูออกไปจากห้องเรียน พอครูหลุดไปจากห้องเรียน มันจะเกิดคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร ในเมื่อครูต้องไปทำงานขนาดนั้น

    สิ่งที่ร้ายกว่านั้นคือบางคำสั่งในทางปฏิบัติทำไม่ได้ ตัวอย่างเช่น เดิมโรงเรียนอนุบาล กระทรวงจะทำอนุบาลแค่อนุบาล 2-3 หรืออายุ 6-7 ขวบ ส่วนเอกชนจะเปิดศูนย์เด็กเล็กทำอนุบาล 1 ปรากฏว่าอยู่ดีๆ กระทรวงประกาศว่าจะทำด้วย เมื่อประกาศก็มีเงินค่าหัวจ่ายให้ตามจำนวนนักเรียน เมื่อรัฐบาลจ่ายเงิน เด็กก็เข้ามาอยู่ในโรงเรียนรัฐบาลหมดเลย ศูนย์เด็กเล็กของเอกชนตายเลย เพราะว่าพ่อแม่ไม่ต้องจ่ายเงินแล้วก็มาตรงนี้หมด บางโรงเรียนที่รัฐมนตรีออกไปตรวจ ปรากฏว่าอนุบาล 1 มีนักเรียน 1 คน เพราะจะต้องทำตามคำสั่ง โรงเรียนก็บอกว่าเปิดแล้วแต่มีนักเรียนมาเรียนคนเดียว นี่คือหลักฐานว่าทำไมต้องมาเขียนรายงาน ต้องเสียเวลา เพราะมันมีคำสั่งลงไปให้เปิด ประสิทธิภาพของระบบมันเป็นอย่างที่มีอยู่นี่

    “นอกจากขาดเวลา ขาดเงินแล้ว ก็มีปัญหาการเข้าสู่วิทยฐานะ พอจะเข้าสู่วิทยฐานะ สิ่งที่ต้องทำคือการเขียนรายงานว่าทำอะไร ผลคือก็ลอกรายงานกันมาเป็นโหลเลย ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบันก็เห็น ก็บอกให้ปรับแก้ตรงนี้ แต่ปรับไปแล้วมันก็กลับมาอยู่ที่เดิมอีก ไม่ได้แก้ตัวปัญหาตรงนี้ นี่คือปัญหาใหญ่ของระบบ คือตัวครู การจัดสรรเวลาที่มีและการใช้เงินสำหรับครูบิดเบี้ยว มันไม่นำไปสู่การเพิ่มคุณภาพ จากยอดครูมีอยู่ 400,000 คนทั้งประเทศ มันไม่ได้ประโยชน์เพียงพอ เงินที่ลงไปมันถึงไม่เกิดประโยชน์

    1 ปีมีเวลาเรียน 200 วัน แต่ครูใช้เวลาไป 84 วันอยู่นอกห้องเรียนต้องเขียนรายงาน ทำตามคำสั่งที่มาจากส่วนกลางปีละ 800-1,000 คำสั่ง สิ่งที่ร้ายกว่านั้นคือบางคำสั่งในทางปฏิบัติทำไม่ได้

    ปฏิรูปการผลิตครูเน้นคุณภาพ-ยืดหยุ่น

    ศ. นพ.จรัส กล่าวต่อไปว่า นอกจากการบริหารทรัพยากรครูที่มีอยู่แล้ว การผลิตครูก็นับว่าเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบันและต้องปฏิรูปครูและบุคลากรการศึกษา ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันใครเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้อำนวยการ ผู้บริหารโรงเรียน 10-20 ปีแล้ว ปัญหามันคือพอมาถึงจุดนี้ พอพูดถึงอาชีวศึกษา มันไม่ใช่เรียนที่โรงเรียนแล้วนี่ มันมีโรงงานที่จะต้องทำจริงๆ แต่กลับไปที่โรงงานเราบอกว่าคุณจะมาสอนตรงนี้คุณต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู มันได้อย่างไร ก็ต้องยอมว่าให้ยืดหยุ่น ให้มาสอนเป็นครูได้

    “ตอนนี้กลายเป็นว่า ถ้าโรงงานจะเกิดเป็นโรงเรียนมาสอน อยากจะสอนคนให้รู้ศาสตร์ของเขา เขาเปิดไม่ได้นะ เพราะมันต้องเป็นครูแล้วเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต ที่เขาแก้ไขตอนนี้คือทำเป็นตัวแทน เอาคนที่มีใบอนุญาตมาเป็นผู้บริหาร เรียกตามตัวอักษรนะ แต่คนที่บริหารจริงไม่ใช่หรอก ทำไมต้องเป็นแบบนั้น มันเป็นสิ่งที่ขวางแน่ๆ เลย คำตอบกลายเป็นว่าผู้บริหารสถานศึกษามันเป็นเรื่องบริหารนะ ไม่ใช่เรื่องผู้ที่จะต้องสอนไปสอบเอาใบอนุญาตมาสอนนะ มันต้องทักษะทางการบริหารองค์กร ความเป็นผู้นำ ความมีวิสัยทัศน์ อะไรต่อมิอะไร ดังนั้น การบริหารงานบุคคลตอนนี้เป็นตัวปัญหาที่ขวางอยู่”

    เรื่องของคุณภาพครู ดูการผลิตครู เมื่อปี 2559 เรารับนิสิตนักศึกษาเข้าไป 31,000 คน โดยรู้เลยว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีตำแหน่งว่าง 24,000 ตำแหน่ง แปลว่าคนที่เข้าเรียนตอนนี้จะว่างงาน 7,000 คน แล้วมันจะเป็นอย่างไร ในคนที่เข้าไปเรียนสาขานี้ในมหาวิทยาลัย เข้าไปเรียน 1,000 คน เป็นครูประถมศึกษา 60 คน ครูอนุบาล 30 คน ที่เหลือ 910 คนเป็นวิชาเฉพาะ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีโรงเรียน 30,000 โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กชั้นประถมอยู่ 15,000 โรงเรียน แล้วบอกว่าครูไม่ตรงสาระวิชาหรือไม่มีคุณภาพ ใครเป็นคนทำ การศึกษาเป็นคนทำหรือครูเป็นคนทำ ครูที่จริงควรเน้นสมรรถนะ ทำไมครูสมัยนี้จะต้องสอนได้แค่ภาษาอังกฤษ คุณควรจะกดกูเกิลเลยแล้วรู้ทุกอย่าง คุณมีสมรรถนะในการเป็นครู มีจิตวิญญาณในการเป็นครู คุณก็สอนได้ทุกแห่งทุกวิชา ตอนนี้มีครูว่างงานอยู่เยอะเลย เขาจะสอบเข้ามาเป็นครู คือมาเป็นครูผู้ช่วย 6,000 ตำแหน่ง มีคนเข้ามาสอบ 200,000 คน

    ปฏิวัติดิจิทัล เพราะมันข้ามเวลา ข้ามสถานที่ได้ มันเข้าไปถึงพื้นที่ได้ เด็กที่อยู่ห่างไกลก็สามารถเข้าถึงความรู้ได้ อยู่ที่ทำอย่างไรให้เข้าไปให้ถึง ข้อนี้เราเสนอว่าดิจิทัลแพลตฟอร์มคือคำตอบ

    บริบทโลกเปลี่ยนสู่โลกดิจิทัล ต้องมีทักษะใหม่

    ศ. นพ.จรัส กล่าวต่อไปว่า นอกจากปัญหาภายใน บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปก็มีความสำคัญ เริ่มตั้งแต่ 1) เรื่องของ 21st Century Skills หรือทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 คือขณะนี้ไม่ต้องการเนื้อหาสาระอีกแล้ว คนที่อยู่ในปัจจุบันและอนาคตจิ้มลงไปมันก็ได้เนื้อหาสาระเต็มไปหมด สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือสมรรถนะในการเข้าไปหาความรู้ ในการใช้ความรู้ การศึกษามันต้องเปลี่ยน ถ้าเราเปลี่ยนได้มันก็แก้ปัญหาได้

    2) ปฏิวัติดิจิทัล เพราะมันข้ามเวลา ข้ามสถานที่ได้ มันเข้าไปถึงพื้นที่ได้ เด็กที่อยู่ห่างไกลก็สามารถเข้าถึงความรู้ได้ อยู่ที่ทำอย่างไรให้เข้าไปให้ถึง ข้อนี้เราเสนอว่าดิจิทัลแพลตฟอร์มคือคำตอบ เด็กที่อยู่ที่อ่างขาง อยู่ห่างไกล ชายแดนเลย เขาอยากได้ภาษาอังกฤษ เด็กประถมนะ ถามว่าทำไมอยากได้ เขาบอกว่าในพื้นที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยอะเลย ถ้าเขารู้ภาษาอังกฤษ เขาได้รายได้มากขึ้น เด็กอยากได้ เขาควรจะได้หรือไม่?

    เมื่อสมัยก่อนเราเรียนภาษาอังกฤษด้วยอะไร เป็นไปได้หรือไม่ที่สมัยนี้จะเอามือถือใส่เข้าไปให้เด็กจ้องเอาเอง ใส่เข้าไปเรียนคนเดียวก็ได้ ท่องคนเดียว หรือเรียนเป็นกลุ่มก็ได้ เรียนกับครูก็ได้ หรือจะสอนครูก็ได้ จะเป็น on air ผ่านโทรทัศน์ online ผ่านไปทางอินเทอร์เน็ต หรือไปกับ on ground มือถือสมัยนี้ใส่เข้าไปเท่าไหร่ก็ได้บทเรียนต่างๆ นักเรียนโรงเรียนขนาดเล็กแทนที่จะต้องไปยืมหนังสือที่ห้องสมุด ให้ยืมมือถือแล้วไปเลือกเอาเอง สร้างบทเรียนให้เป็นบทเรียนสั้นๆ 7 นาที 15 นาที ให้เรียนได้ แล้วให้เลือกว่าจะท่องอย่างไร มีของแบบนี้เด็กเหล่านั้นก็สู้ได้

    แล้วการปฏิวัติดิจิทัลจะทำให้โจทย์ของการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปเป็นการศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาเปลี่ยนจากเมื่อก่อนนี้ที่เราเน้นการศึกษาที่โรงเรียนแล้วไปเน้นที่โรงเรียน แต่ตอนนี้มันจะขยายมากกว่านั้นเป็นการศึกษาตลอดชีวิต ตั้งแต่ก่อนคลอด ไปจนคลอดออกมา ไปถึงประถม มาถึงระบบการศึกษาหลัก ไปถึงวัยแรงงานที่ทำงาน ไปถึงวัยผู้บริหาร ไปถึงวัยสูงอายุ ทั้งหมดต้องการการศึกษาทั้งหมดเลย แล้วไม่ใช่เฉพาะคนกลุ่มกลาง แต่เป็นคนทุกกลุ่ม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นตัวปรัชญา ออกมาทั่วโลก กำลังพูดถึงเรื่องนี้อยู่ ไม่ให้ใครหลุดไป การศึกษาก็ปล่อยให้ใครหลุดไม่ได้ พอเป็นแบบนี้การศึกษาต้องเปลี่ยนใหม่หมดเลย

    “ผมก็เรียนท่านนายกรัฐมนตรีเลยนะว่าให้ผมมาทำมันเป็นไปไม่ได้ mission impossible มันแก้อย่างไรในเมื่อสภาพมันเป็นแบบนี้ แต่ว่าโดยสภาพผมก็เรียนเพิ่มเติมว่าเราลองไปดูแล้ว เราเห็นว่ามีแสงหิ่งห้อยตามที่ต่างๆ เยอะ มีคนพยายามที่จะปรับปรุง มีโรงเรียนขนาดเล็กที่พยายาม มีชาวบ้านพยายาม มีแสงเทียน มีแสงตะเกียงตามที่ต่างๆ นอกจากนั้นแล้วรัฐธรรมนูญก็ออกมาชัดเจน สังคมก็ออกมาตั้งความหวังว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะสำเร็จ รัฐบาลก็มีความหวัง เราจะไปโทษเรื่องการเมืองไม่ได้ สังคมให้ว่าจะต้องแก้ไขให้สำเร็จให้ได้ แล้วเราเห็นตัวอย่างโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ”

    เร่งจัดทำธรรมนูญการศึกษาใหม่ แก้ปัญหาทุกมิติ

    เนื่องจากปัญหาที่ซับซ้อนหลายชั้น การจะแก้ปัญหาจะต้องแก้ไขจะต้องแก้ไขหลายอย่างผสมกัน นอกจากกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษาแล้วเราทำอะไรอีกบ้าง ส่วนแรกที่เป็นจุดหลักคือประถมวัย ตรงนี้จะมีพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กประถมวัย เพราะการศึกษาการพัฒนาสมองมันต้องพัฒนาตั้งแต่เล็กๆ การพัฒนาภาษาที่ 2 คนที่มี 2 ภาษาได้กำไรมากกว่ามากเลย หลักฐานมันยืนยันอยู่ว่าคนที่เรียนภาษาที่ 2 มันเกิดตอนทารก อายุแค่ 6 เดือน พอเลยไปแล้วความสามารถในการแยกเสียงมันลดลง พอเลยมาถึงประถมหนึ่งมันสายไปแล้วที่จะเก็บข้อมูลเสียง เพราะเวลาเรียนภาษามันฟังด้วยหูก่อน แล้วหูมันเก็บเสียงต่างๆ ไว้ แต่พอเลยไป 6-7 ปีแล้วเสียงมันหายไปแล้ว จะเรียนภาษาโดยสำเนียงมันทำไม่ได้แล้ว ประถมหนึ่งก็สายไปแล้ว สังคมไทยยังไม่ตระหนักว่าประถมก็สายไปแล้ว ปัญหาตอนนี้คืออนุบาลยังไม่พัฒนาเลยในประเทศไทย อนุบาลที่พัฒนาเป็นอนุบาลของคนที่มีเงินรวยอยู่ในเมือง เห็นหรือไม่ว่าเกิดโรงเรียนนานาชาติอนุบาลเต็มไปหมดเลย เพราะคนที่มีฐานะรู้ดีว่าจะต้องให้เด็กเรียนภาษาที่ 2 ตั้งแต่เด็กมากๆ แล้วเด็กสมัยใหม่พูดเก่งกว่าเราเยอะเลย เราพูดภาษาอังกฤษมันก็ทองแดงตลอดเลยนะ แต่เด็กที่เรียนตั้งแต่เล็กๆ ก็เรียนการออกเสียงสำเนียงมาได้จริงๆ ด้วย เด็กรุ่นใหม่ต้องการแบบนั้นแล้ว

    อีกด้านในภาพรวมใหญ่ เรากำลังจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติใหม่ แทนของปี 2542 เป็นธรรมนูญการศึกษา เป็นการแปลรัฐธรรมนูญออกมาว่าการศึกษาอนาคตควรจะเป็นอย่างไร เปลี่ยนสภาพอย่างที่เล่าให้ฟังคือเป็นการศึกษาตลอดชีวิต ไม่ใช่เน้นเฉพาะในวัยเรียน และการศึกษาของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะชาวเขา คนยากจนในเมือง คนพิการ ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้นรวมอยู่หมดเลย แล้วก็มีกฎหมายลูกของมันตามมา กฎหมายลูกที่รองรับจะเกิดขึ้นต้องมีนวัตกรรมซ้อนเข้ามา

    จากตรงนี้เรามีอีกอันคือแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา อันนี้เสนอแล้ว ส่งไปรัฐบาลแล้ว ก็ตามกระบวนการต่อไป มีกฎหมายลูกหลายอัน เช่น พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา ประกาศใช้แล้วรองรับเด็กที่หลุดจากระบบ ขณะเดียวกันกฎหมายพัฒนาเด็กประถมวัย ก็เสนอไปแล้วยังเป็นร่างอยู่ เรามีพระราชบัญญัติอุดมการศึกษา เสนอไปแล้วกำลังแก้ในกฤษฎีกา

    นอกจากนี้ มีพระราชกฤษฎีกาสถาบันหลักสูตรและการเรียนการสอนแห่งชาติ เพื่อเอาเรื่องการปรับหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาสาระเป็นเน้นฐานสมรรถนะ ทั้งหลักสูตร ทั้งวิธีการเรียนการสอน เปลี่ยนวิธีจากการท่องจำเป็นการสร้างสมรรถนะ เปลี่ยนจากการสอนเป็นการเรียนรู้ แล้วไปถึงการประเมินด้วยก็ต้องประเมินคุณสมบัติอย่างไรด้วย ขณะนี้กลายเป็นว่าโรงเรียนประเมินตัวเองแล้วให้นักเรียนผ่าน นักเรียนที่สอบตกทั้งหมดนั้นนะ โรงเรียนให้ผ่านหมด นี่คือปัญหา คุณภาพในที่สุดมันก็เลยไม่ได้ ต้องปรับทั้งหมดเมื่อเป็นอย่างนี้ แล้วปัญหายิ่งไปกว่านั้นคือขณะนี้มีสำนักวิชาการ ที่ดูกลุ่มหลักสูตร อยู่ที่สำนักการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีคนอยู่ 10 คน มันทำไม่ได้หรอก นี่คือปัญหาเลย เราเสนอให้หลุดออกมาแล้วทำกับทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาใช้ที่เอกชน ที่ กศน. ด้วย ให้เอาไปใช้เพื่อพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวการปฏิรูปที่เป็นการศึกษาจริงๆ

    คืนศรัทธาให้ครูให้โรงเรียนใหม่ คำสั่งทั้งหมดเกือบ 1,000 คำสั่ง ให้ครูมีสิทธิเลือก แค่นั้นที่เขาต้องการ อันไหนที่ได้ประโยชน์เขาก็ใช้ อันนั้นไม่ได้ประโยชน์ขอไม่รับได้หรือไม่

    คืนศรัทธาสู่ครู – นักเรียน – โรงเรียน

    ทั้งนี้ หากถอยกลับมาในหลักการแนวทางการแก้ไขปัญหาจะต้องเริ่มจาก 1) คืนศรัทธาให้ครูและนักเรียน เอาคืนไปที่โรงเรียน แทนที่จะอยู่ที่ระบบบริหารแต่เปลี่ยนให้โรงเรียนเป็นตัวหลัก เพราะระบบที่แล้วมาไปเน้นการบริหารจัดการแล้วมันหนักหัวกินเงินไปที่หัวจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการกระจายอำนาจ แต่การกระจายก็ยังไม่ถึงโรงเรียน ไปได้แค่เขตพื้นที่และส่วนกลางยังมีอำนาจสั่งการเต็มที่ แต่ว่าต่อไปนี้จะให้ความเป็นอิสระของโรงเรียน ให้มีความสามารถมีมาตรฐานสากล ต้องมีสถาบันหลักสูตรพัฒนาให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อที่จะไปแข่งขันกับเขาได้ ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่จำนวนมากที่เราไปแปลมาเป็นของไทยได้แล้วด้วยซ้ำ และทำอย่างไรจะให้การศึกษาเกิดประโยชน์ตรงนั้นได้ โรงเรียนต้องรับความช่วยเหลือ หลักสูตรการเรียนการสอนการประเมินใหม่

    “ปัญหาเราคือจะคืนความศรัทธาให้กับครูได้หรือไม่ คืนศรัทธาให้กับนักเรียนได้หรือไม่ ขณะนี้การกระจายอำนาจอยู่แค่เขตพื้นที่การศึกษา ไม่ลงไปถึงโรงเรียน ผมจึงสรุปเรียนท่านนายกรัฐมนตรีไปว่าขณะนี้เรามีการปฏิรูปการศึกษาไปเมื่อปี 2542 แล้วนี่ผ่านมา 18-19 ปีแล้ว ยังไม่สำเร็จปัญหายังรุนแรงและร้ายแรง อีก 5-10 ข้างหน้า ถ้าไปถึงจุดนั้นแล้วหันกลับมา ถ้าทำครั้งนี้ไม่สำเร็จ ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ถึงตอนนั้นถ้ากัมพูชาแซงเราไปแล้วจะทำอย่างไร ข้อสรุปคือเราเห็นทุกข์แล้ว เห็นสภาพแล้ว เห็นสมุทัย สาเหตุของปัญหาแล้ว อันนี้คือนิโรธ ว่าครั้งนี้ไม่สำเร็จไม่ได้นะ ไม่สำเร็จประเทศไทยไม่รู้จะยืนอยู่ตรงไหน จะอยู่อย่างไร ถ้าประเทศไทยแพ้มากขึ้นเรื่อยๆ มันสูญเสียไปถึงอย่างอื่นด้วยไทยแลนด์ 4.0 เกิดไม่ได้หรอกถ้าไม่เกิดสิ่งเหล่านี้ก่อน เพราะฉะนั้นเที่ยวนี้แพ้ไม่ได้ ไม่สำเร็จไม่ได้”

    สร้าง Digital Platform เปิดโลกการศึกษาเข้าถึงง่าย

    2) อีกอันคือมี Platform ใหม่ที่เกิดขึ้น เราเสนอแล้วด้วย Digital Platform อาจจะอยู่ในรูปของความร่วมมือภาครัฐกับเอกชน หรือ PPP มันมีอยู่ทั่วไป แต่มันไม่ตรงกับปัญหาของเรา มันไม่ไปช่วยเด็กโรงเรียนขนาดเล็ก ชั้นประถม มันยังสะเปะสะปะตามที่ต่างๆ เยอะเลย ไม่เป็นระบบ ก็เลยว่าถ้าเป็น National Digital Learning Paltform ระดับชาติแล้ว ไปทำเป้าหมายจริงๆ ที่มุ่งตอนนี้คือลงไปชั้นประถมศึกษาสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล เพราะอันนั้นคือปัญหาหลักที่ต้องแก้ไขในปัจจุบัน เรากำลังให้คนมาทำออกมา 

    นอกจากนี้ ปัจจุบันกำลังรอกฎหมายวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise เพราะสิ่งนี้มันควรจะเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม อันนี้เหมาะที่จะเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม และช่วยให้ไปตามที่ต่างๆ ได้ บทเรียนที่มหาวิทยาลัยจะออกก็ให้ทุกคนเรียนหนังสือได้หมดเลย คนทำงานอยู่คุณก็เรียนได้เจริญได้

    “อย่างเรื่องภาษาไทยของเด็กประถม 1 2 3 ควรรู้อะไร รู้ภาษาไทยกี่คำ รู้ถูกต้องกี่คำแล้วถ้าภาษาแม่ของเขาไม่ใช่ภาษาไทยจะทำอย่างไร จะช่วยอย่างไร เช่น ภาษายาวีหรือภาษาชาวเขาทางเหนือ มันต้องมีลักษณะพิเศษ แบบนี้ดิจิทัลจะเข้าไปช่วยได้ ตรงนี้ประเทศไทยได้รับรางวัลของ UNICEF ด้วยซ้ำที่บุกเบิกสร้างการศึกษาสำหรับที่ภาษาแม่ไม่ใช่ภาษาไทย ฉะนั้นมันมีวิธี เราเก่ง แต่มันเก่งแบบเล็กๆ มันไม่ได้ใช้ประโยชน์จริงในภาพใหญ่ เราต้องทำให้ใช้ได้ แล้วการใช้ดิจิทัลมันมีอารมณ์ด้วย ยกตัวอย่างที่ถ้ำหลวง ข่าวออกมาเป็นคลิปวิดีโอหมดเลย ที่เราเห็นรอง ผบ.ตร. ไปโวยวายอะไรทั้งหลาย นายกรัฐมนตรีถามว่าคุณมาทำอะไร สังคมเข้าใจชัดเจนเลยนะว่าบทบาทของคุณผิดแล้วนะ แต่ถ้ามาเขียนบรรยายไม่ได้หรอก มันบรรยายให้เกิดอารมณ์แบบนั้นไม่ได้หรอก อนาคตไม่ใช่แค่ตัวอักษรเท่านั้น มันกลายเป็นความสามารถที่จะรับสื่อ ความสามารถที่จะสื่อให้คนอื่นรู้ หรือตัวอย่างเด็กที่อ่างขางเป็นเด็กประถม ทำคลิปวีดีโอมือถือในเรื่องที่เขาอยากจะเล่า กลายเป็นมี storyline เลยนะ เด็กก็เอามาให้ดู มันชัดเจนเลยนะว่าเด็กเก่งกว่าเรา”

    เมื่อเป็นแบบนี้ปัญหาของดิจิทัลมันไม่ใช่ผู้รู้หรือไม่รู้แล้ว แต่เป็นผู้ที่เรียนทุกคนอยู่บนนี้ได้ ถ้าเราสร้างสำเร็จให้เด็กเข้ามาถึงได้แล้วนักเรียนแห่งหนึ่งส่งเรื่องเข้ามาให้เพื่อนได้ดู อย่างนักเรียนที่ภูเก็ตทำเรื่องหนังสั้นไว้เยอะเลย เรื่องการสอนวิชาต่างๆ เขาทำเป็นห้องเรียนสำหรับทำเกม เกมไม่ใช่เล่นๆ แต่เป็นเกมความรู้ทั้งสิ้นเลย เด็กทำได้แล้วแลกเปลี่ยนกันได้ มันจะดีกว่าเราทำ เราไม่เข้าใจอยู่ดีว่าเขาจะชอบอย่างไร แล้วพอเอาการตลาดเข้ามามันก็ชัดว่าอันไหนไม่ดีมันก็หายไปเอง โลกของดิจิทัลมันเข้ามาเป็นเครื่องมือการศึกษาเต็มที่เลย นี่คือโลกอนาคต จำเป็นต้องปรับไปเป็นแบบนั้นแล้ว

    มองดูแล้วระบบการศึกษาของไทยอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ยังไม่ได้ปรับเลย ตัวอย่างปีนี้ใช้เงิน 9,000 ล้านบาทในการพิมพ์หนังสือที่กระทรวงออกข่าวว่าจ่ายไปหมดแล้วนะ พิมพ์ทันนะ คุณไม่ต้องจ่ายแล้วด้วยซ้ำ นี่คือสภาพของสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้าคุณใส่ไปในแพลตฟอร์มแล้วให้เด็กเข้าไปดู จำนวนหนึ่งมีมือถืออยู่ เด็กก็เข้าไปดูก็ได้ เด็กที่ไม่มีก็ให้ที่โรงเรียนมีห้องสมุดอยู่ แทนที่จะไปยืมหนังสือ ยืมมือถือมาสิ นักเรียนเอาไปอ่านตรงไหนก็ได้ 9,000 ล้านบาทเหลือเฟือเลยที่จะทำตรงนี้ การปฏิรูปการศึกษามันไม่ใช่การเปลี่ยนกระบวนการ คือการเปลี่ยนวิธีคิดนะ มันจะแก้ตรงนี้อย่างไร เราก็บอกว่าทั้งหมดนี้มันจะไปแก้ต่อไปยังอาชีวศึกษา อุดมศึกษา การศึกษาตลอดชีวิตต่อไปอีกได้ ทั้งหมดมันอยู่ในกฎหมายหมดเลย แต่ว่าตัวหลักของการปฏิรูป หัวใจจริงๆ มันอยู่ตรงการปฏิรูปที่โรงเรียน

    จัดตั้งสมัชชาการศึกษาจังหวัด ทุกคนต้องช่วยกัน

    3) ระบบบริหารที่มีแทนที่จะเป็นเจ้านายสั่งการจะต้องเป็นช่วยเหลือสนับสนุน ถ้าทั้งหมดเปลี่ยนหน้าที่ คุณมีหน้าที่ทำให้โรงเรียนทำงานให้สำเร็จให้ได้ ไม่ใช่เป็นผู้สั่งการเขา โรงเรียนที่สตูลเขาขอมาคือคำสั่งทั้งหมดเกือบ 1,000 คำสั่ง ให้เขามีสิทธิเลือก แค่นั้นที่เขาต้องการ อันไหนที่ได้ประโยชน์เขาก็ใช้ อันนั้นไม่ได้ประโยชน์ขอไม่รับได้หรือไม่ นี่คือการคืนศรัทธาให้ครูให้โรงเรียนใหม่ มีหลายจังหวัดเกิดขึ้นแล้ว เรียกว่าสมัชชาการศึกษาระดับจังหวัด ที่เชียงใหม่เรียกว่าภาคีการศึกษา คือคนในจังหวัด พ่อค้า นักธุรกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายของเมือง ผู้มีบารมี เข้ามาปรึกษาหารือกันว่าจะช่วยการศึกษากันอย่างไร

    เราก็ไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เราเลยใส่ไว้ในกฎหมายเลยว่าให้มีสมัชชาการศึกษาจังหวัด เปลี่ยนวิธีคิดว่าการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของรัฐเท่านั้นอีกแล้ว เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ประชาชน จริงๆ แล้วพ่อแม่ควรจะเป็นคนรับผิดชอบการศึกษาของลูก แต่ตอนนี้เขาไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลยนะ ฉะนั้นสมัชชาการศึกษาจังหวัดจะมีบทบาทเกิดขึ้น เขาอาจจะมีลูกของเขาเป็นสมัชชาอำเถอ สมัชชาตำบลลงไปอีกได้ แต่เราปรับตรงนี้ให้มีความหลากหลายเกิดขึ้น แต่ให้เขามีส่วนไม่ใช่รัฐเท่านั้นที่เป็นคนดูแล แต่ว่ามีอีกส่วนของประชาสังคมเข้ามา

    เน้นบริหารความหลากหลายในพื้นที่

    4) อันต่อไปคือการแก้ไขทั้งประเทศมันก็จะออกมาแบบเดิม รูปแบบเดียวทั้งประเทศ เราก็ใส่พื้นที่นวัตกรรมคือเปลี่ยนไปตามพื้นที่ สตูลเป็นจังหวัดหนึ่ง เนื่องจากเป็นจังหวัดเล็กกว่าที่อื่น อาจจะทำได้ง่ายขึ้น  อีกอันคือที่ระยองที่กำลังเป็นอีอีซี กำลังจะพัฒนาอุตสาหกรรม แล้วโรงเรียนที่อยู่ตรงนั้น ถ้าคุณปรับไม่ทันใช้ประโยชน์ของสิ่งนี้ไม่ได้ มันก็ไม่ใช่เรื่องนะ มันต้องปรับโรงเรียนที่ระยองให้คนธรรมดาตรงนั้นได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นนวัตกรรมอีกแบบหนึ่งเลย ไปอีกที่คือศรีสะเกษ เป็นอีกที่ที่รายได้ต่ำที่สุด ที่หลุดจากระบบมากที่สุด ต้องหาทางไปแก้ไขตรงนั้นอย่างไร พอเรื่องนี้เสนอไปที่รัฐบาล รัฐบาลบอกว่าแต่ 3-4 แห่งไม่พอ ขอให้ทำ 6 แห่งทั่วประเทศ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ก็ไปทำภาคเหนือ ไปอีสานเพิ่มด้วย พื้นที่นวัตกรรมก็จะมาเป็นกลยุทธ์อีกอันที่จะปรับแก้การศึกษาไทยในเรื่องความหลากหลาย ให้บริหารความหลากหลาย แล้วจะทำได้อย่างไร ก็ต้องกระจายอำนาจ แล้วปล่อยอำนาจให้อยู่ที่โรงเรียนคือคำตอบ

    “พอเราเสนอไปที่รัฐบาล รัฐบาลถามว่าแล้วโครงสร้างจะว่าอย่างไร? คำตอบคือทั้งหมดนี้มันต้องไปแก้ข้างล่าง แล้วแก้ไขกลับขึ้นมาเป็น disruption จากข้างล่าง ถ้าไปแก้กระทรวงแล้วบอกว่ากระทรวงต้องเป็นแบบนี้นะ มันหัวชนฝา ไม่ได้ออกมาหรอก คนเสียประโยชน์ได้ประโยชน์เยอะแยะไปหมด เราจะต้องแก้ไขจากข้างล่าง โลกปัจจุบันนี้ต้อง disruptive technology แล้ว นี่คือการ disrupt การศึกษา”

    ตรงส่วนนี้จะมีพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อันนี้เป็นตัวการเปลี่ยนแปลง เอาหัวเป็นหาง หางเป็นหัว แก้จากข้างล่าง เพราะฉะนั้นไปแก้ที่โรงเรียน ซึ่งมันก็มีความหลากหลาย แต่ตอนนี้เป็นการจัดการความเหมือน เราไม่ได้จัดการความหลากหลาย เราออกแบบเดียวหมดใช้ทั้งประเทศเลย อย่างเนื้อหา 8 สาระ ใช้ทั้งประเทศเลย แล้วโรงเรียนตามที่ต่างๆ ก็บอกว่าไม่ตรงกับที่เขาต้องการใช้ ฉะนั้นคำตอบคือให้มีนวัตกรรมเกิดตามที่ต่างๆ ก็มีนวัตกรรมการศึกษาที่เกิดขึ้นแล้ว โรงเรียนประชารัฐของเอกชนเข้ามาช่วย โรงเรียนร่วมพัฒนากำลังเกิด มีพื้นที่นวัตกรรมประกาศให้สตูลเป็นพื้นที่นำร่องแล้ว เรากำลังมีพื้นที่อื่นที่จะทำเพิ่มเติมอีก

    ตัวอย่างโรงเรียนอนุบาลสตูล ก็เอาระบบการวิจัยเข้าไปให้พัฒนาพื้นที่ ใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือการเรียน ผู้อำนวยการเห็นเข้าใช้ในการสอนด้วย เขาก็แบ่งนักเรียนเป็น 10 กลุ่มให้นักเรียนตั้งโจทย์ว่าอยากรู้เรื่องอะไร ต้องหาข้อมูลอย่างไร เก็บข้อมูลอย่างไร วิเคราะห์อย่างไร เด็กชั้นประถมก็มาช่วยคิดว่าปัญหาเป็นอย่างไร อันหนึ่งเด็กถามว่าในอำเภอเมืองมีฟอสซิลหรือไม่ เพราะเขารู้ว่าที่เกาะตะรุเตามี ก็คิดว่าอำเภอเมืองมีหรือไม่ ก็ไม่รู้ต้องหาความรู้ วิธีก็ไปสำรวจตามที่ต่างๆ ไปที่ภูเขา ก็บังเอิญไปเจออยู่ลูกหนึ่งที่เขาขุดเอาหินออกไปเป็นหน้าตัดลึกลงไปในเขา ลงไปกว่า 5 เมตร เด็กก็เห็นว่ามีหอยอยู่ เด็กก็ถามว่าน่าจะใช่ฟอสซิลนะ ก็ไปขอสถานีธรณีวิทยาที่สุราษฎร์ธานีมาดู ก็ยืนยันว่าเป็นฟอสซิล แล้วมาชี้ให้เด็กดูว่ามีใบไม้ด้วย มีเฟิร์นด้วย มีปลาหมึกโบราณในนั้นด้วย เด็กยังดูไม่ออก ไม่รู้ว่าเป็นฟอสซิล แต่เด็กก็ได้เรียนรู้ในที่สุด

    “ตอนที่ผมไปเยี่ยมว่าเป็นอย่างไร เขาเอาเด็กมาอธิบายว่าหินตรงนี้เป็นแบบนี้นะ 350 ล้านปีมาแล้ว หอยมีกี่ชนิด ชื่อภาษาวิทยาศาสตร์คืออะไร เกิดขึ้นมาอย่างไร มันเห็นชัดว่าเด็กทำงานเป็นทีมได้ ตั้งโจทย์ได้ สามารถหาวิธีหาคำตอบได้ แล้วเด็กรักเมืองสตูลมากขึ้น ก่อนที่จะเกิด Global Geo Park ของสตูลนะ เด็กรู้สึกรักเมืองของเขาว่ามีของดีเป็นพิเศษ มันมีฟอสซิลอยู่ เด็กประถม 4 นะเป็นคนค้นพบฟอสซิล นอกจากรักเมืองแล้ว เด็กก็ถามเลยว่าเมื่อก่อนมันน่าจะมีมากกว่านี้นะ คนเก็บไปเยอะแยะ ทำไมไม่กั้นพื้นที่ไม่ให้คนเก็บ เห็นหรือไม่ว่าสิ่งที่เราอยากได้ ให้รักประเทศชาติ รักพื้นที่ ชุมชน มันเกิดขึ้นเอง ให้เขาหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติมันก็เกิดขึ้นเอง ทั้งหมดมันเกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้เอง นอกจากเรื่องนี้ก็มีอีกเยอะเลย เรื่องเหยี่ยวแดงที่จะสูญพันธุ์ เด็กยกขึ้นมาเป็นปัญหาของเขาเอง”

    ตอนนี้ชาวเมืองสตูลตื่นขึ้นมาทั้งหมดเลย ทั้งหอการค้า ประชาสังคม ขอให้ปรับโรงเรียนในสตูลทั้งหมด เขามี 159 โรงเรียน ก็ขอนำร่องไปก่อน 12 โรงเรียน แล้วปีต่อๆ ไปจะเพิ่มขึ้น ให้ทดลองในพื้นที่ของเขา เพื่อจะปรับวิธีการเรียนการสอน เอาครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เข้าไปช่วยเรื่องหลักสูตร เขาต้องการเรื่องความเป็นอิสระทางวิชาการเท่านั้น ณ จุดนี้ แต่มันมีของขวางอย่างอื่นอยู่ ตอนที่ประกาศ ท่านเลขาธิการ สพฐ. ลงไปด้วยเลย บอกว่าเห็นด้วยให้ผลักดันให้สตูลเป็นตัวอย่าง เด็กเชื่อได้นะ ถ้าเราปล่อยโอกาสให้เขา เขามีสติปัญญาที่จะทำจริงๆ นี่คือพื้นฐานของพื้นที่นวัตกรรม ที่อื่นๆก็จะมีบริบทต่างๆ กัน แต่ต้องคืนศรัทธาให้เด็กแล้วเด็กสู้ได้

    ศ. นพ.จรัส กล่าวสรุปว่า “นี่คือคำตอบของเรื่องทั้งหมดว่ามันมีอยู่หลายมิตินะ มีมิติของความจำเป็น มิติของพื้นที่ที่แตกต่าง มีมิติของเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน บางแห่งอาจจะต้องการไปทำอะไรเป็นพิเศษในแต่ละพื้นที่ เป้าหมายของบุคคลคือเรื่องใหญ่ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้คนทำได้เต็มที่ด้วยความถนัด บางคนไม่ต้องได้ปริญญา คนที่เป็นนักกีฬาทั้งหลาย คนที่เป็นดารา ไม่ต้องจบก็ยังได้ แต่ได้รายได้มากกว่าเราเยอะเลย เพราะเป็นความถนัดของเขา ขณะนี้คนเหล่านั้นมาเข้าในระบบหมดเลย ความถนัดของเขาถูกปิดหมดเลย ไม่แสดงออกมาเลย ภาพทั้งหมดนี้จะต้องไปแก้ทั้งภาค รัฐภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคปฏิบัติการ นี่คือความซับซ้อนของปัญหา”

    ดูข้อมูลเพิ่มเติม กอบกู้วิกฤตการศึกษาไทย