ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > การศึกษาไทย ใช้งบประมาณมากที่สุด แต่ผลลัพธ์กลับตรงข้าม

การศึกษาไทย ใช้งบประมาณมากที่สุด แต่ผลลัพธ์กลับตรงข้าม

17 สิงหาคม 2012


ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้กับกระทรวงศึกษาธิการมากเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด ยกเว้นปี 2555 ที่ตกมาเป็นอันดับ 2 โดยงบประมาณแต่ละปีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งหมด และจัดสรรงบประมาณในวงเงินที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

ล่าสุด คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2556 ให้กับกระทรวงศึกษาธิการมากที่สุดเป็นจำนวนเงิน 460,411,648,800 บาท หรือประมาณร้อยละ 19.18 ของงบประมาณรวม 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับในปี 2556 นี้สูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 4 หมื่นล้านบาท

อีกทั้งสัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่อจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และงบประมาณด้านการศึกษาต่องบประมาณแผ่นดิน อยู่ในอัตราที่สูง หากดูย้อนไป 15 ปี ตั้งแต่ปี 2540 -2554 จะพบว่า งบประมาณด้านการศึกษาต่อจีดีพี โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.12 และต่ำสุดคือร้อยละ 3.7 ในปี 2548 และสูงสุดที่ร้อยละ 4.48 ในปี 2543 ส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่องบประมาณแผ่นดินนั้น 15 ปีที่ผ่านมายังไม่มีปีไหนที่ต่ำกว่าร้อยละ 20 เลย

จากการรวบรวมข้อมูลคุณภาพหรือผลลัพธ์ทางการศึกษาที่สะท้อนออกมา และถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ลงทุนด้วยจำนวนเงินในปริมาณใกล้เคียงกับเราอย่างสิงคโปร์ จะพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระหว่างไทยกับสิงคโปร์ยังไกลกันอยู่มาก

จากผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาที่จัดโดย สถาบันเพื่อการพัฒนาการจัดการ หรือ IMD(Institute for Management Development) พบว่าตั้งแต่ปี 2548-2553 ประเทศไทยอยู่ในลำดับ 40 กว่า รั้งท้ายมาโดยตลอด หรือติด 1 ใน 14 ประเทศสุดท้ายทุกปี จากทั้งหมดประมาณ 55 -61 ประเทศ ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 10 ต้นๆ และประเทศมาเลเชียที่นำประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 30 กว่าๆ

หรือผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกโดยนิตยสารไทมส์ไฮเออร์เอดูเคชันซัปพลีเมนต์ ก็พบว่ามีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับ 1 ใน 200 ของโลกในปี 2005 -2006 และ 2008-2009

และในการจัดอันดับครั้งล่าสุด ในปี 2010-2011 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยมหิดลเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับ 1 ใน 400 มหาวิทยาลัยทั่วโลก โดยอยู่ในลำดับที่ 351-400

สำหรับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยเพียงครั้งเดียวในปี พ.ศ. 2549 โดยแบ่งผลการจัดอันดับออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการเรียนการสอน และด้านการวิจัย ซึ่งทั้ง 2 ด้านสรุปผลออกมาได้ 5 กลุ่มตามคะแนนที่ได้รับคือ 1. ดีเลิศ (ร้อยละ 75 ขึ้นไป) 2. ดีเยี่ยม (ร้อยละ 70-75) 3. ดี (ร้อยละ 65-69) 4. ดีพอใช้ (ร้อยละ 55-64) 5. ต้องปรับปรุง (ร้อยละ 55 ลงไป)

จากมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการจัดอันดับทั้งหมด 50 แห่งทั่วประเทศ พบว่าทั้งในด้านการเรียนการสอนและด้านการวิจัย มีมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเกณฑ์ข้อ1-3 ทางด้านการเรียนการสอน 14 แห่ง ด้านวิจัย 14 แห่ง เท่านั้น เมื่อคิดเป็นสัดส่วน ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นไปเพียงร้อยละ 28 เท่านั้น

ทั้งนี้การจัดอันดับดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าไม่น่าเชื่อถือ ด้วยตัวชี้วัดที่เน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์มากเกินไป ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมหาวิทยาลัยบางแห่งที่เน้นสายสังคมศาสตร์มากกว่า ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งปฏิเสธที่จะเข้าร่วมจัดอันดับ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในส่วนของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของทางมหาวิทยาลัย เว็บโอเมตริกซ์ได้จัดอันดับเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกไว้ 500 อันดับ เป็นประจำทุกเดือนมกราคมและกรกฎาคมของปี โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนหลักๆ คือ เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่เผยแพร่ข้อมูลหรือผลงานทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอ มีข้อมูลเผยแพร่บนเว็บไซต์ที่หลากหลายรูปแบบ เช่น มีทั้ง .doc, .pdf และสามารถสืบค้นข้อมูลย้อนหลังกลับไปได้มาก

ในการจัดอันดับตั้งแต่กรกฎาคม 2552 – กรกฎาคม 2554 มีมหาวิทยาลัยของไทยติดอันดับอยู่บ้างครั้งละประมาณ 3-4 แห่ง โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในอันดับที่ 300 กว่าเป็นต้นไป มีเพียงบางปีเท่านั้นที่มหาวิทยาลัยจะอยู่ในอันดับสูงๆ เช่น กรกฎาคม 2552 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อยู่อันดับที่ 175 และมกราคม 2553 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่อันดับที่ 229

แต่ล่าสุด ในเดือนมกราคม ปี 2555 กลับมีมหาวิทยาลัยของไทยติด 1 ใน 500 อันดับของโลกมากถึง 7 แห่ง โดย 6 อันดับแรกติด 1 ใน 300 มหาวิทยาลัยทั่วโลก ได้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับ 116 ของโลก อันดับที่ 12 ของเอเชีย อันดับที่ 2 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอันดับ 1 ของไทย

ส่วนมหาวิทยาลัยอีก 6 แห่งที่เหลือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในอันดับโลกที่ 200, 207, 230, 234, 296 และ 481 ตามลำดับ

ด้านผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O -NET) ที่ผ่านมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2552, ปีการศึกษา 2553 และปีการศึกษา 2554 นั้น ได้สะท้อนคุณภาพการศึกษาไทยออกมาว่า ผลการสอบโอเน็ตมีค่าเฉลี่ยรวมทั้งประเทศไม่ถึงร้อยละ 50 เช่นเดียวกับค่าเฉลี่ยแยกตามรายวิชา ซึ่งเป็นเหมือนกันหมดในทุกระดับตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเป็นไปในทางเดียวกันทั้ง 3 ปี

โดยเฉพาะผลคะแนนในวิชาหลักทั้ง 5 วิชา คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์นั้น ตลอดทั้ง 3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีค่าเฉลี่ยของวิชาใดที่เกินร้อยละ 50 เลย ไม่ว่าจะเป็นผลคะแนนโอเน็ตของระดับชั้น ป.6 ม.3 หรือว่า ม.6

ในส่วนของผลคะแนนโอเน็ตของนักเรียนชั้น ป.6 พบว่า คะแนนเฉลี่ยรวมของปี 2553 ต่ำลงจากปี 2552 แต่คะแนนเพิ่มขึ้นมากในปี 2554 โดยหากดูเฉพาะกลุ่มวิชาหลัก คะแนนสูงสุดอยู่ที่วิชาวิทยาศาสตร์ร้อยละ 38.67 ในปี 2552 และวิชาสังคมศึกษาร้อยละ 47.07, 52.22 ในปี 2553 และ 2554 ตามลำดับ ในขณะที่วิชาภาษาอังกฤษมีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดทุกปี อยู่ที่ร้อยละ 31.75, 20.99 และ 38.37 ตามลำดับ

สำหรับผลคะแนนโอเน็ตของนักเรียนชั้น ม.3 นั้น มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่ 3 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่มีวิชาใดมีค่าเฉลี่ยเกินร้อยละ 50 ยกเว้นวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา ด้านกลุ่มวิชาหลัก พบว่า วิชาสังคมศึกษามีค่าเฉลี่ยสูงสุดร้อยละ 39.70 ในปี 2552 และวิชาภาษาไทยค่าเฉลี่ยร้อยละ 42.80 และ 48.11 ในปี 2553 และ 2554 ตามลำดับ ส่วนวิชาที่ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำสุดทุกปีคือภาษาอังกฤษ มีคะแนนเฉลี่ย 22.54, 16.19, 30.49 ตามลำดับ

ด้านผลคะแนนโอเน็ตของนักเรียนชั้น ม.6 มีแนวโน้มคะแนนที่ต่ำลงเรื่อยๆ และเป็นระดับชั้นที่มีผลคะแนนน้อยที่สุด โดยในปี 2552 มีคะแนนเฉลี่ยรายวิชาหลักจากมากไปน้อยดังนี้ ภาษาไทยร้อยละ 46.46 สังคมศึกษา 36 วิทยาศาสตร์ร้อยละ 29.05 คณิตศาสตร์ร้อยละ 28.56 และภาษาอังกฤษ 23.98 ในปี 2553 คือ สังคมศึกษา 46.51 ภาษาไทยร้อยละ 42.61 วิทยาศาสตร์ร้อยละ 30.9 ภาษาอังกฤษ 19.22 และคณิตศาสตร์ร้อยละ 14.99 และในปี 2554 คือ ภาษาไทยร้อยละ 41.88 สังคมศึกษา 33.39 วิทยาศาสตร์ร้อยละ 27.9 คณิตศาสตร์ร้อยละ 22.73 และภาษาอังกฤษร้อยละ 21.80

ส่วนอีก 3 วิชาที่เหลือคือ สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ และการงานอาชีพและเทคโนโลยี พบว่า นักเรียนในทุกระดับชั้นสามารถทำคะแนนในกลุ่มวิชาเหล่านี้ได้ดีกว่าวิชาหลัก โดยสามารถทำคะแนนวิชาสุขศึกษาและพลศึกษาได้มากที่สุด คือเกินร้อยละ 50 ในทุกระดับชั้นและทุกปี ยกเว้นผลสอบของนักเรียนชั้น ม.6 ปี 2552 ที่มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 45.37

จากสถิตินักเรียนที่ออกกลางคันในปีการศึกษา 2548-2552 พบว่า ความยากจนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยไม่ได้รับการศึกษา แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเรียนฟรีและให้เงินอุดหนุนเพื่อการมากที่สุดก็ตาม แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ผู้เรียนต้องจ่ายให้กับสถานศึกษาที่เป็นของรัฐบาลก็ยังราคาสูงอยู่ดี เช่น ค่าบำรุงรักษาห้องสมุด ห้องปฏิบัติการต่างๆ ในโรงเรียน หรือค่าหน่วยกิตที่เพิ่มขึ้นของมหาวิทยาลัยนอกระบบ

แม้แต่คนที่ได้รับการศึกษาเรียนจบมีปริญญาก็ประสบปัญหาว่างงานหรือทำงานไม่ตรงกับสาย

จากรายงานการวิจัยของมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ในงานสัมมนา “Thailand at the Crossroads: อนาคตไทย…เราเลือกได้” พบว่า อัตราการว่างงานของไทยปี 2010 เป็นเยาวชนมากถึงร้อยละ 45 และร้อยละ 75 ของเยาวชนที่เรียนจบมาทำงานไม่ตรงวุฒิการศึกษา

เนื่องจากมีแรงงานเพียงส่วนน้อยที่มีเงินพอสำหรับเรียนหนังสือ และเมื่อเรียนจบแล้วมีโอกาสไม่มากที่จะได้ทำงาน ซึ่งในจำนวนนี้มีคนที่ทำงานตรงวุฒิเพียงร้อยละ 25 ในกลุ่มงานที่ต้องใช้ทักษะ พบว่า มีการจ้างแรงงานจำนวน 18.6 ล้านคน แต่เป็นคนที่จบมาตรงในระดับ ปวช. และ ปวส. เพียง 2.9 ล้านคน ซึ่งแรงงานที่ขาดอีก 15.7 ล้านคนนั้นถูกเติมเต็มด้วยแรงงานวุฒิมัธยม 14.3 ล้านคน และแรงงานปริญญาตรีที่จบมาล้นตลาดอีก 0.9 ล้านคน