ThaiPublica > เกาะกระแส > รัสเซีย มหาอำนาจที่เป็นจำเลยของสภาพภูมิศาสตร์การเมือง

รัสเซีย มหาอำนาจที่เป็นจำเลยของสภาพภูมิศาสตร์การเมือง

28 กุมภาพันธ์ 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : bbc.com

ยูเครนเป็นดินแดนที่มีความสำคัญต่อระเบียบความมั่นคงของโลก ความสำคัญนี้มักจะถูกมองข้าม สงครามบุกยูเครนของรัสเซียทำให้ยูเครนกลายเป็นจุดเดือดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ของการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจตะวันตกกับรัสเซีย ทำให้โลกเราไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ภายในเวลาแค่ชั่วข้ามคืน เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนจุดหักเหของโลกจากยุคที่อเมริกาเคยเป็นมหาอำนาจขั้วเดียวของโลก มาสู่ยุคการแข่งขันของมหาอำนาจ ที่จะมีอิทธิพลต่อโลกในหลายปีข้างหน้า

นักวิเคราะห์มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอะไรคือสาเหตุที่ทำให้รัสเซียบุกยูเครน ส่วนหนึ่งเห็นว่า หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง การขยายสมาชิกองค์การนาโต้มายังอดีตประเทศในยุโรปตะวันออกคือสิ่งที่รัสเซียมองว่าเป็นภัยคุกคาม การบุกยูเครนคือการกอบกู้อำนาจชื่อเสียงที่เคยรุ่งเรืองในอดีต Gerard Toal นักรัฐศาสตร์ด้านภูมิศาสตร์การเมืองกล่าวว่า เป้าหมายของปูตินคือ การกอบกู้ฐานะมหาอำนาจของรัสเซียขึ้นในดินแดนยูเรเซียเหนือ ทำให้รัสเซียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

จำเลยทางภูมิศาสตร์การเมือง

รัสเซียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่สุดของโลก การแบ่งเวลาในดินแดนรัสเซียมีถึง 11 เขตเวลา หนังสือชื่อ Prisoners of Geography เขียนถึงสภาพภูมิศาสตร์รัสเซียที่มีอิทธิพลต่อการเมืองโลกไว้ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวว่า เขาเป็นคนมีศรัทธาในศาสนา ก่อนนอนทุกคืน ปูตินอาจจะสวดมนต์โดยถามพระเจ้าว่า “ทำไมพระองค์ไม่ประทานพื้นที่ภูเขาบางส่วนให้อยู่ในยูเครน”

หากพระเจ้าสร้างภูเขาขึ้นในยูเครน พื้นที่ราบขนาดใหญ่ทางตอนเหนือยุโรปก็จะสะดุดลง รัสเซียจะไม่ถูกโจมตีครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะเหตุนี้ ปูตินจึงต้องหาทางควบคุมพื้นที่ราบทางทิศตะวันตก สภาพของภูมิศาสตร์การเมืองจึงมีอิทธิผลต่อการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภูเขาที่เป็นสิ่งขวางกั้นแบบธรรมชาติ เครือข่ายแม่น้ำ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ

Prisoners of Geography กล่าวว่า สภาพภูมิศาสตร์ที่ปูตินขบคิดคือ พื้นที่ที่มีลักษณะแบบแผ่นพิซซ่า บริเวณที่เป็นจุดปลายแหลมแผ่นพิซซ่าคือโปแลนด์ บริเวณดังกล่าวคือจุดเริ่มต้นของพื้นที่ราบยุโรปเหนือ (North European Plain) ที่กว้างใหญ่ แผ่ขยายจากฝรั่งเศสมาถึงเทือกเขายูรัล ความยาว 1,000 ไมล์ และกว้าง 300 ไมล์ บริเวณพื้นที่ราบยุโรปเหนือ ประกอบด้วยทางเหนือฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ทางเหนือเยอรมัน และโปแลนด์เกือบทั้งหมด

ในทัศนะของรัสเซีย พื้นที่ราบยุโรปเหนือ มีสภาพเป็นดาบสองคม โปแลนด์เป็นพื้นที่ระเบียงที่ราบแคบๆ หากจำเป็น กองทัพรัสเซียสามารถรับมือกองทัพศัตรู ที่บริเวณนี้ ก่อนศัตรูจะบุกเข้ามาประชิดกรุงมอสโก แต่จากจุดปลายแหลม ระเบียงที่ราบเริ่มขยายกว้างออกไป เป็นพื้นที่ราบไปจนถึงพรมแดนรัสเซีย ตลอดไปจนถึงกรุงมอสโก และพ้นออกไปอีก

ความกว้างของพื้นที่ราบยุโรปเหนือ ทำให้แม้จะมีกองทัพขนาดใหญ่และเข้มแข็ง ก็ยังวิตกกังวลในเรื่องแนวป้องกันตลอดพื้นที่ราบที่กว้างใหญ่นี้ แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมารัสเซียไม่เคยถูกศัตรูพิชิตได้จากการบุกมาทิศทางนี้เลย สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากความลึกทางยุทธศาสตร์ของพื้นที่ราบ เมื่อกองทัพศัตรูบุกมาประชิดกรุงมอสโก จะเกิดปัญหามากในเรื่องเส้นทางส่งกำลังบำรุงที่ยาวไกล ความผิดพลาดในจุดนี้ คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับกองทัพนโปเลียนที่บุกรัสเซียในปี 1812 และฮิตเลอร์มาซ้ำรอยความผิดพลาดในปี 1941

หนังสือ Prisoners of Geography บอกว่า ส่วนภูมิศาสตร์ทางตะวันออกไกลของรัสเซีย มีสภาพแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง คือมีสภาพภูมิประเทศที่ให้การปกป้องรัสเซีย ทำให้เป็นเรื่องยากลำบากที่จะนำทัพบุกมาโจมตีรัสเซียทางเอเชีย นอกจากไม่มีจุดที่จะโจมตีได้มากแล้ว ยกเว้นหิมะ การบุกโจมตีมาได้ไกลสุดก็แค่เทือกเขายูรัล พื้นที่ทำการยึดครองก็กว้างใหญ่มหาศาล ในสภาพภูมิอากาศที่ยากลำบาก และก็มีปัญหามากเรื่องเส้นทางส่งกำลังบำรุง

ที่มาภาพ : amazon.com

ความวิตกที่ไม่มั่นคงของรัสเซีย

คนทั่วไปมักคิดว่า ไม่มีประเทศไหนต้องการจะบุกรัสเซีย แต่รัสเซียเองไม่ได้คิดแบบนี้ และก็มีเหตุผลด้วยที่จะคิดแบบนี้ ในอดีต รัสเซียถูกบุกโจมตีหลายครั้ง ที่มาจากทางตะวันตก หากนับจากปี 1812 ที่กองทัพโปเลียนบุกรัสเซียเป็นต้นมา จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัสเซียต้องทำสงครามในบริเวณที่ราบยุโรปเหนือโดยเฉลี่ยประมาณทุก 35 ปีต่อครั้ง

George Kennan นักการทูตที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ ที่เป็นคนต้นคิดนโยบาย “ปิดล้อม” โซเวียต ในสมัยสงครามเย็น ก็เขียนไว้ว่า นโยบายต่างประเทศของโซเวียตไม่ได้มาจากการวิเคราะห์สถานการณ์เป็นจริงที่อยู่นอกพรมแดนรัสเซีย แต่มาจากความรู้สึกลึกๆ ภายใน ที่มีความวิตกกังวลต่อโลกภายนอก สิ่งนี้คือต้นตอที่มาของความรู้สึกไม่มั่นคงของรัสเซีย เมื่อได้ติดต่อสัมพันธ์กับตะวันตกก็ยิ่งกลัวต่อฝ่ายที่มีความสามารถมากกว่า มีอำนาจมากกว่า และการบริหารจัดการดีกว่า

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัสเซียยึดครองดินแดนยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ปี 1949 องค์การนาโต้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องยุโรป จากการรุกรานของโซเวียต ประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปก็ตั้งองค์การสนธิสัญญาทางทหารเรียกว่า สนธิสัญญาวอร์ซอ เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายลงในปี 1989 กลุ่มวอร์ซอก็พังลงเช่นกัน

ปูตินวิจารณ์กอร์บาชอฟว่าเป็นคนทำลายความมั่นคงของรัสเซีย โดยบอกว่าการปล่อยให้เกิดการแยกตัวของอดีตสหภาพโซเวียตที่เคยประกอบด้วย 15 รัฐนั้น “เป็นหายนะภัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ใหญ่หลวงของศตวรรษ”

ต่อจากนั้น รัสเซียก็จับตามองด้วยความวิตกกังวล ที่นาโต้ขยายสมาชิกไปยังประเทศเหล่านั้น นาโต้เองเคยให้คำมั่นว่า ประเทศเหล่านี้จะไม่เข้าร่วมกับนาโต้ แต่ในที่สุด สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี โปแลนด์ บัลแกเรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย โรมาเนีย สโลวาเกีย และแอลเบเนีย ก็กลายเป็นสมาชิกนาโต้ แต่นาโต้บอกว่า ไม่เคยให้คำมั่นดังกล่าวนี้แก่รัสเซีย

  • เงามืดของสงครามยูเครน ชาติตะวันตกมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤติที่เกิดขึ้น
  • รัสเซียบุกภูมิภาคดอนบาส (Donbas) ดินแดนที่เป็นหัวใจความขัดแย้งของวิกฤติยูเครน
  • มหาอำนาจทางยุโรป ไม่ใช่เอเชีย

    รัสเซียเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่สุดของโลก มีขนาดเป็น 2 เท่าของสหรัฐฯ หรือของจีน มีขนาด 5 เท่าของอินเดีย แต่มีประชากรน้อยเพียง 144 ล้านคน น้อยกว่าไนจีเรียหรือปากีสถาน ฤดูการเพาะปลูกพืชเกษตรก็มีช่วงสั้นๆ และต้องกระจายผลิตผลไปพื้นที่ต่างๆ ที่มีเวลาต่างกัน 11 เขต พื้นที่ทางตะวันตกที่ขยายมาถึงเทือกเขายูรัลคือ รัสเซียยุโรป

    รัสเซียจึงเป็นมหาอำนาจยุโรป แต่ไม่ใช่มหาอำนาจเอเชีย แม้จะมีพรมแดนติดกับคาซัคสถาน มองโกเลีย จีน และเกาหลีเหนือ มีพรมแดนทางทะเลติดกับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ นางซาราห์ เพลิน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยพูดว่า…

    คุณสามารถมองเห็นรัสเซียจากดินแดนของอะแลสกา พูดอีกอย่างหนึ่ง คุณสามารถมองจากอเมริกาไปรัสเซีย

    Prisoners of Geography บอกว่า เทือกเขายูรัลคือจุดที่ยุโรปสิ้นสุดลง และเป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่เอเชีย บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าต้นเฟอร์ยาวหลายกิโลเมตรที่มุ่งไปทางตะวันออก ในฤดูหนาวจะถูกปกคลุมด้วยหิมะเหมือนที่ราบในไซบีเรีย ต่อจากนั้นไปถึงเมืองเยแคเตอร์รินเบิร์ก (Yekaterinburg) นักท่องเที่ยวนิยมมาเยือนบริเวณนี้ โดยวางขาข้างหนึ่งที่ฝั่งยุโรป และอีกข้างที่ฝั่งเอเชีย นอกจากนี้ ยังช่วยเตือนให้รู้ว่า รัสเซียมีดินแดนกว้างใหญ่ จากเมืองเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก มาถึงเทือกเขายูรัล มีระยะทาง 1,500 ไมล์ และยังต้องมาอีก 4,500 ไมล์ จึงจะมาถึงจุดที่มองเห็นดินแดนอะแลสกา

    มีสาเหตุหลายอย่างที่รัสเซียไม่ใช่มหาอำนาจเอเชีย แม้ว่า 75% ของดินแดนรัสเซียจะอยู่ในเอเชีย ประชากรเพียง 22% ที่อาศัยอยู่ในรัสเซียเอเชีย ดินแดนไซบีเรียอาจเป็นขุมทรัพย์ เพราะเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แร่ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ แต่เป็นดินแดนที่อาศัยอยู่ยากลำบาก น้ำแข็งปกคลุมหลายเดือน เป็นพื้นที่ป่าเขา ที่ดินไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก และระบบคมนาคมมีเพียงรถไฟสายสายทรานส์ไซบีเรีย

    พื้นที่ราบใหญ่ยุโรปเหนือ ที่มาภาพ : Prisoners of Geography (2019)

    จุดอ่อนคือขาดท่าเรือน้ำอุ่น

    Prisoners of Geography ชี้ให้เห็นว่า การขาดท่าเรือน้ำอุ่นที่สามารถเข้าถึงทะเล คือจุดอ่อนทางภูมิศาสตร์ของรัสเซีย ท่าเรือน้ำอุ่นเป็นพื้นที่คมนาคมทางเรือที่น้ำไม่แข็งตัวในฤดูหนาว ทำให้สามารถเข้าถึงเส้นทางการค้าทางทะเลได้ตลอดปี ท่าเรือเมอร์แมนสก์ (Murmansk) ใกล้ขั้วโลกเหนือ มีน้ำแข็งปกคลุมปีหนึ่งหลายเดือน ส่วนท่าเรือเมืองวลาดีวอสตอค ท่าเรือใหญ่สุดทางตะวันออกไกล ถูกน้ำแข็งขวางกั้นปีหนึ่ง 4 เดือน ทำให้กองเรือรัสเซียไม่สามารถมีบทบาทระดับโลก

    เมื่อโซเวียตล่มสลาย เกิดการแยกตัวออกเป็น 15 ประเทศ ประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มเป็นกลาง กลุ่มที่นิยมตะวันตก และกลุ่มนิยมรัสเซีย กลุ่มเป็นกลาง ได้แก่ อุซเบกิสถาน อาเซอร์ไบจาน และเติร์กเมนิสถาน ท่าทีเป็นกลางมาจากการที่ประเทศเหล่านี้มีแหล่งน้ำมันของตัวเอง

    กลุ่มสนับสนุนรัสเซีย ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาร์จิกิสถาน เบลารุส และอาร์เมเนีย เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ผูกติดกับรัสเซีย เหมือนกับดินแดนทางตะวันออกของยูเครน คาซัคสถานและเบลารุสเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มที่เรียกว่า Eurasian Union ที่นักวิเคราะห์บางคนเรียกว่า กลุ่ม EU ของประเทศยากจน และอยู่ในกลุ่มพันธมิตรความมั่นคงของรัสเซีย เรียกว่า Collective Security Treaty organization

    ส่วนกลุ่มสนับสนุนตะวันตก ได้แก่ โปแลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย เอสโตเนีย สาธารณรัฐเช็ก บัลแกเรีย ฮังการี สโลวาเกียแอลเบเนีย และโรมาเนีย ส่วนอีก 3 ประเทศ คือ ยูเครน จอร์เจีย และมอลโดวา ต้องการที่จะเข้าร่วมทั้งกลุ่ม EU และนาโต้ แต่คงไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน เพราะอยู่ติดกับรัสเซีย บางประเทศมีทหารรัสเซียหรือกองกำลังพลเมืองติดอาวุธรัสเซียอยู่ในประเทศ หากเป็นเข้าสมาชิกนาโต้ ก็จะเกิดสงครามขึ้นมา

    Prisoners of Geography บอกว่า ด้วยเหตุนี้ รัสเซียจึงจับตาการเมืองภายในยูเครนอย่างใกล้ชิด หากรัฐบาลยูเครนยังสนับสนุนรัสเซีย รัสเซียก็เชื่อมั่นว่า ยูเครนยังคงเป็นรัฐกันชนของรัสเซีย ทางพื้นที่ราบยุโรปเหนือ ยูเครนที่เป็นกลางไม่เป็นสมาชิก EU หรือนาโต้ จะยังคงให้รัสเซียเช่าฐานทัพเรือ Sevastopol ที่ไครเมีย ท่าเรือแห่งเดียวที่เป็นท่าเรือน้ำอุ่น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัสเซียอาจรับได้

    แต่ถ้ายูเครนมีรัฐบาลสนับสนุนตะวันตก เป็นสมาชิก EU และนาโต้ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนที่รัสเซียจะเข้าถึงท่าเรือในทะเลดำ และในวันหนึ่งข้างหน้า กลุ่มนาโต้อาจมีฐานทัพเรือในยูเครน สิ่งนี้เป็นเรื่องที่รัสเซียรับไม่ได้เลย ในปี 2014 รัสเซียเข้ายึดไครเมีย และต่อจากนั้น ก็ให้สนับสนุนกลุ่มแยกดินแดน ในเขตอุตสาหกรรมดอนบาสที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียทันที

    เอกสารประกอบ
    Prisoners of Geography, Tim Marshall, Elliot & Thomson Limited, 2019.