ThaiPublica > เกาะกระแส > เงามืดของสงครามยูเครน ชาติตะวันตกมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤติที่เกิดขึ้น

เงามืดของสงครามยูเครน ชาติตะวันตกมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤติที่เกิดขึ้น

14 กุมภาพันธ์ 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://ecfr.eu/article/why-the-war-in-ukraine-could-reshape-the-european-nuclear-order/

สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงเมื่อพฤษภาคม 1945 คนทั่วโลกเสียชีวิตกว่า 60 ล้านคน ไม่มีใครคาดคิดว่า เวลาผ่านมาแล้ว 77 ปี และกำแพงเบอร์ลินพังทลายลงไปแล้วกว่า 33 ปี วิกฤติการณ์ในยูเครนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ยุโรปกำลังจะกลายเป็นสนามรบอีกครั้ง ที่ประเทศมหาอำนาจกำลังนับถอยหลัง ไปสู่การเผชิญหน้าทางทหารครั้งใหม่

ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯเปิดเผยว่า วิกฤติการณ์ยูเครนที่ดำเนินมาหลายเดือน ได้มาถึงจุดสำคัญ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน อาจตัดสินใจปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน ในเวลาใดเวลาหนึ่ง ก่อนหน้านี้ ทางการสหรัฐฯคาดการณ์ว่า ปูตินจะรอจนกว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง ที่จะสิ้นสุดลง ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อไม่ไปสร้างปัญหายุ่งยากแก่สี จิ้นผิง พันธมิตรสำคัญของรัสเซีย
ส่วนในการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างโจ ไบเดนกับปูติน เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐฯได้เตือนว่า หากรัสเซียบุกยูเครน จะทำให้เกิดความยากลำบากต่อผู้คนอย่างกว้างขวาง และลดฐานะความสำคัญของรัสเซียลง

จุดเริ่มต้นจาก The End of History

หนังสือชื่อ Frontline Ukraine กล่าวว่า รากฐานของความขัดแย้งในยูเครน ส่อให้เห็นเมื่อ 20 ปีมาแล้ว สงครามเย็นสิ้นสุดลงในแบบที่ไม่สมดุล โดยฝ่ายหนึ่งประกาศชัยชนะ แต่ฝ่ายหนึ่งไม่พร้อมที่จะยอมรับความพ่ายแพ้ แตกต่างจากท่าทีเยอรมันและญี่ปุ่นในปี 1945 ที่ยอมรับผิดและความพ่ายแพ้ สองประเทศนี้เป็นจุดเริ่มต้น ที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ประเทศประชาธิปไตยแบบตะวันตก

แต่รัสเซียไม่ถือว่า หลังจากการสิ้นสุดสงครามเย็น ตัวเองเป็นมหาอำนาจที่พ่ายแพ้ ส่วนสหรัฐฯที่เป็นผู้ชนะกลับเห็นว่า การพ่ายแพ้ของโซเวียต คือ “การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” (the end of history) ที่เป็นยุคชัยชนะของอุดมการณ์ประชาธิปไตยเสรีนิยม แนวคิดดังกล่าว นำไปสู่การขยายประเทศสมาชิกองค์กรสนธิสัญญานาโต้ และกลุ่มสหภาพยุโรป ออกไปประชิดพรมแดนของรัสเซีย

ที่มาภาพ : amazon.com

Frontline Ukraine กล่าวว่า ความขัดแย้งเรื่องยูเครน สะท้อนความต่อเนื่องของความขัดแย้ง ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก แต่เป็นไปในรูปแบบใหม่ สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงด้วยการทำสนธิสัญญาแวร์ซายในปี 1919 โดยการลงโทษเยอรมันที่เป็นฝ่ายแพ้ แต่เยอรมันไม่ยอมรับฐานะการเป็นมหาประเทศที่พ่ายแพ้ นำไปสู่การขึ้นมามีอำนาจของฮิตเลอร์

ประวัติศาสตร์จุดนี้ช่วยชี้ว่า สงครามจบลงแบบไหน จะเป็นตัวกำหนดว่า สงครามครั้งต่อไป จะเป็นแบบไหนเช่นกัน

เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงนั้น ไม่ได้มีการประชุมสันติภาพเกิดขึ้น ในเดือนธันวาคม 1991 สหภาพโซเวียตล่มสลายลง รัสเซียยังเป็นประเทศที่คงอยู่ต่อเนื่อง รับผิดชอบดูแลอาวุธนิวเคลียร์เดิมของอดีตสหภาพโซเวียต ฝ่ายตะวันตกถือว่า หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น รัสเซียมีส่วนร่วมในชัยชนะ กำแพงเบอร์ลินล้มพังลง แสดงถึงการที่ยุโรปแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย ได้สิ้นสุดลงแล้ว

สถาบันของสงครามเย็นในค่ายยุโรปตะวันออก ถูกยกเลิกไป เช่นกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอว์ แต่สถาบันของสงครามเย็นจากค่ายตะวันตก กลับแพร่ขยายออกไป กลุ่มนาโตที่ตั้งขึ้นในปี 1949 ขยายสมาชิกไปยังอดีตประเทศยุโรปตะวันออก โปแลนด์ ฮังการี และสาธารณรัฐเช็ค เข้าเป็นสมาชิกในปี 1999 ปี 2004 นาโต้ขยายสมาชิกครั้งใหญ่รวมไปถึง เอสโตเนีย แลตเวีย ลิธัวเนีย บัลกาเรีย โรมาเนีย สโลวาเกีย และสโลวีเนีย ส่วนแอลบาเนีย และโครเอเทีย เข้าเป็นสมาชิกในปี 2009

รัสเซียเตือนฝ่ายตะวันตกมาตลอดว่า การขยายสมาชิกนาโต้มาติดพรมแดนรัสเซีย ถือเป็นภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ต่อรัสเซีย แต่การขยายประเทศสมาชิกนาโต้ ยังคงดำเนินต่อไป ในเดือนเมษายน 2008 การประชุมสุดยอดนาโต้ที่โรมาเนีย นาโต้ให้คำมั่นว่า ในที่สุด ยูเครนและจอร์เจีย จะได้เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ แต่แผนดำเนินการเข้าเป็นสมาชิกต้องชะลอออกไป เพราะเยอรมันและฝรั่งเศสเกรงว่า การล้อมกรอบรัสเซีย อาจเป็นการท้าทาย

Frontline Ukraine สรุปว่า การดำรงอยู่ของนาโต้กลายเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรม เพื่อจะจัดการปัญหาความไม่มั่นคง ที่มีสาเหตุมาจากการที่ตัวกลุ่มนาโต้เองขยายตัวใหญ่โตมากขึ้น ส่วนประเทศอดีตยุโรปตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ ก็เพื่อทำให้ตัวเองเกิดความมั่งคง แต่การกระทำดังกล่าวกลับไปสร้างปัญหาด้านไม่ความมั่งคงแก่รัสเซีย

การที่รัสเซียเกิดไม่มั่นคงขึ้นมา กลายเป็นตัวที่บ่อนทำลายความมั่นคงของทุกๆฝ่าย

นักรัฐศาสตร์จึงอธิบายสิ่งที่เรียกว่า “สถานการณ์ยากลำบากด้านความมั่นคง” (security dilemma) คือสภาพที่ประเทศหนึ่งดำเนินมาตรการเพิ่มความมั่งคงของตัวเอง แต่ประเทศอื่นไม่ได้มองว่าเป็นมาตรการป้องกันตัวเอง แต่กลับเป็นมาตรการเชิงรุก ทำให้ประเทศอื่น ต้องดำเนินการเพิ่มความมั่นคงของตัวเองขึ้นมาเช่นเดียวกัน การดำเนินการดั่งกล่าวนี้คือ สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดวิกฤตการณ์ยูเครน

ตะวันตกมีส่วนสำคัญที่ก่อวิกฤติ

บทความ foreignaffairs.com ชื่อ Why the Ukraine Crisis Is the West’s Fault นักรัฐศาสตร์มีชื่อของมหาวิทยาลัยชิคาโก John Mearsheimer เขียนไว้ว่า ความคิดของฝ่ายตะวันตกมองว่า วิกฤติยูเครนที่เกิดขึ้น สามารถประณามเรื่องทั้งหมดไปที่การรุกรานของรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ผนวกดินแดนไครเมียร์ เพราะต้องการจะปั๊มหัวใจที่หยุดเต้นไปแล้วของอาณาจักรโซเวียตในอดีต ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ แผนการต่อไปของปูตินคือ การยึดครองยูเครน และประเทศอดีตยุโรปตะวันออก

John Mearsheimer กล่าวว่า ความเข้าใจดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผิด สหรัฐฯและพันธมิตรในยุโรป มีส่วนรับผิดชอบอย่างมากต่อวิกฤติที่เกิดขึ้น รากเหง้าของปัญหาทั้งหมดคือการขยายองค์การนาโต้ออกไป โดยมียุทธศาสตร์สำคัญคือ การดึงยูเครนออกจากวงโคจรของรัสเซีย และมารวมกับฝ่ายตะวันตก ขณะเดียวกัน กลุ่มอียูก็ขยายตัวไปทางตะวันออก และชาติตะวันตกสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยในยูเครน ก็เป็นปัจจัยสำคัญ โดยเริ่มจากการปฏิวัติสีส้ม (Orange Revolution) ในปี 2004

ประเทศสมาชิก NATO (สีน้ำเงิน) ประเทศที่อยู่ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก NATO (สีม่วง) และ CSTO ที่นำโดยรัสเซีย (สีแดง) ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Ukraine%E2%80%93NATO_relations#/media/

รัสเซียถือว่า การที่ตะวันตกนำสองประเทศคือจอร์เจียและยูเครน เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ จะเป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ ซึ่งจะมีผลร้ายแรงต่อความมั่นคงของยุโรปโดยรวม หนังสือพิมพ์รัสเซียเคยเปิดเผยว่า

ปูตินกล่าวกับประธานาธิบดีจอร์จ บุช ตรง ๆ ว่า หากยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ ประเทศนี้ก็จะไม่มีอยู่อีกต่อไป

John Mearsheimer กล่าวว่า การดำเนินการของปูติน เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก ยูเครนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นที่ 2 ของยุโรป รองจากรัสเซีย มีขนาดใหญ่กว่าฝรั่งเศส มีพรมแดนทางเหนือและทางตะวันออกติดกับรัสเซีย เป็นพื้นที่ราบเรียบ ทำให้กองทัพนโปเลียนและนาซี เคยใช้เป็นทางผ่านเข้าไปโจมตีรัสเซียในอดีต ยูเครนจึงเป็นเหมือนรัฐกันชน ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของรัสเซีย

ทางออกของวิกฤติยูเครน

John Mearsheimer วิเคราะห์ว่า เนื่องจากผู้นำชาติตะวันตกยังไม่ยอมรับว่า พฤติกรรมของปูตินมาจากความวิกตกังวลด้านความมั่นคงของรัสเซีย จึงใช้วิธีการลงโทษทางเศรษฐกิจ เพื่อยับยั้งการรุกรานมากขึ้นของรัสเซีย แต่มาตรการดังกล่าวมีผลกระทบน้อย เยอรมันไม่ต้องการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจรุนแรง เกรงว่าจะเสียหายทางเศรษฐกิจต่อกลุ่มอียู

แม้สหรัฐฯจะสามารถชักจูงให้ประเทศพันธมิตรใช้มาตรการทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น ก็จะไม่สามารถเปลี่ยนการตัดสินใจของปูตินได้ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า ประเทศต่าง ๆ จะยอมแบกรับการถูกลงโทษทางเศรษฐกิจ เพื่อปกป้องสิ่งที่เป็นแก่นของผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์

John Mearsheimer เสนอว่า การแก้ปัญหาวิกฤติยูเครนนั้น ตะวันตกจะต้องมีแนวคิดแบบใหม่ต่อยูเครน ยกเลิกแผนการที่จะทำให้ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของตะวันตก เปลี่ยนให้ยูเครนกลายเป็นรัฐกันชนที่วางตัวเป็นกลาง ระหว่างนาโต้กับรัสเซีย ทำให้ยูเครนเป็นประเทศคล้ายกับ “ออสเตรีย” ในสมัยสงครามเย็น คือเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยของตัวเอง แต่วางตัวเป็นกลางระหว่างตะวันตกกับรัสเซีย

เอกสารประกอบ
Frontline Ukraine: Crisis in the Borderland, Richard Sakwa, I.B. Tauris & Co. Ltd. 2016.
Why the Ukraine Crisis Is the W3est Fault, John J. Mearsheimer, September-October/2014, foreignaffairs.com