ThaiPublica > เกาะกระแส > อนาคตของรัสเซีย มหาอำนาจพลังงาน เมื่อถูกตัดขาดจากเศรษฐกิจโลก

อนาคตของรัสเซีย มหาอำนาจพลังงาน เมื่อถูกตัดขาดจากเศรษฐกิจโลก

23 มีนาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://russiabusinesstoday.com/energy/russneft-neftisa-to-boost-oil-supplies-to-belarus-amid-pricing-problems/

การบุกโจมตีของรัสเซียต่อยูเครน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบหักมุมครั้งใหญ่ด้านนโยบายพลังงานของกลุ่ม EU โดยคณะกรรมธิการ EU เสนอแผนงานที่จะทำให้กลุ่ม EU เป็นอิสรภาพจากพลังงานด้านฟอสซิลของรัสเซียก่อนปี 2030 Ursula von der Leyen ประธานกรรมธิการ EU แถลงว่า…

เราไม่อาจจะพึ่งพาซัพพลายเออร์ ที่คุกคามเราอย่างชัดแจ้ง

ในปี 2021 สมาชิก EU อาศัยพลังงานจากรัสเซีย เป็นก๊าซธรรมชาติ 45% และน้ำมันดิบ 27% การลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ทางกลุ่ม EU จะอาศัยการประหยัดพลังงานและการกระจายไปหาซัพพลายเออร์อื่นๆ เช่น ซัพพลายเออร์ใหม่ๆด้านก๊าซธรรมชาติ ที่จะมาจากสหรัฐฯ กาตาร์ และอียิปต์ แต่ก็จะเกิดปัญหาที่ว่า EU ต้องไปแข่งขันกับประเทศลูกค้าเดิมเช่น จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลโจ ไบเดน ได้ประกาศว่า สหรัฐฯห้ามการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ปี 2021 สหรัฐฯนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย 8% ของการนำเข้าทั้งหมด ส่วนสหราชอาณาจักรก็ประกาศว่า การนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียจะยุติลงในสิ้นปีนี้

เยอรมันไม่คว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย

Robert Habeck รัฐมนตรีเศรษฐกิจและพลังงานของเยอรมันแถลงว่า หากยกเลิกการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบจากรัสเซียทันที จะทำให้การว่างงานครั้งใหญ่ ความยากจน และการขาดแคลนพลังงานของเครื่องทำความร้อนในบ้าน เยอรมันเป็นประเทศพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียสูงมาก คือ 55% ของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ 34% ของการนำเข้าน้ำมันดิบ และในแต่ละวัน เยอรมันจ่ายเงินซื้อพลังงานจากรัสเซียหลายร้อยล้านยูโร

นักวิเคราะห์เห็นว่า การคว่ำบาตรการนำเข้าทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย จะมีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจเยอรมัน การยุตินำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย สามารถไปหาน้ำมันดิบจากแหล่งอื่นได้ แต่รัสเซียสามารถตอบโต้ โดยการระงับการส่งก๊าซธรรมชาติ เศรษฐกิจเยอรมันก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทันที โดยอาจติดลบถึง 3%

น้ำมันคือทุกอย่างของรัสเซีย

หนังสือชื่อ Putin’s Russia กล่าวว่า รัสเซียถูกเรียกว่า “รัฐน้ำมัน” (Petro-State) รายได้จากน้ำมันมีความหมายเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศแทบจะในทุกด้าน เช่น การเติบโตของ GDP งบประมาณรัฐบาล การผลิตของภาคส่วนอื่นๆ และการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภค สิ่งที่สะท้อนรายได้ของประเทศรัสเซียคือ การเคลื่อนๆไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลก

อุตสาหกรรมน้ำมันของรัสเซียเริ่มจากการค้นพบน้ำมันดิบครั้งแรก ในกลางศตวรรษที่ 19 บริเวณที่ปัจจุบันคือ อาเซอร์ไบจาน แต่เหตุการณ์สำคัญที่สุดที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมน้ำมันรัสเซีย คือ ในปี 1969 มีการค้นพบแหล่งน้ำมันดิบทางไซบีเรียตะวันตก เรียกว่า Samotlor ผู้เชี่ยวชาญเรื่องรัสเซียเคยบอกว่า หากไม่มีการค้นพบแหล่งน้ำมับดิบในไซบีเรีย สหภาพโซเวียตอาจจะล้มพังลงไปนานแล้วก่อนหน้าปี 1991

แหล่งน้ำมันและก๊าซในไซบีเรียตะวันตก ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Samotlor_Field#/media/File:West_Siberia_oil_and_gas_fields.png

ความหมายของ “ปิโตรเลียม”

หนังสือ Putin’s Russia กล่าวว่า คำว่า “ปิโตรเลียม” หมายถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พลังงานทั้งสองอย่างนี้มักจะพบอยู่ในแหล่งเดียวกัน แต่จะมีปริมาณที่ขุดพบแตกต่างกัน การผลิตจึงจะเน้นหนักในพลังงานอย่างใดอย่างหนึ่ง

น้ำมันดิบจะมีการซื้อขายแบบในตลาดโลก การส่งมอบน้ำมันดิบมีได้หลายแบบ เช่น ทางท่อน้ำมัน เรือบรรทุกน้ำมัน รถบรรทุก และรถไฟ การซื้อขายน้ำมันจึงสามารถมาจากประเทศต่างๆทั่วโลก ที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งผลิต เพราะต้นทุนการขนส่งต่ำ ส่วนการขนส่งก๊าซธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะขนส่งโดยท่อก๊าซ

คุณสมบัติของน้ำมันดิบกับก๊าซธรรมชาติที่แตกต่างกันนี้ มีผลต่อสภาพทางเศรษฐกิจของพลังงาน 2 ชนิดนี้ การซื้อขายน้ำมันเกิดขึ้นในแบบตลาดโลก แต่ตลาดซื้อขายก๊าซธรรมชาติเป็นแบบระดับภูมิภาค เพราะเหตุนี้ ราคาน้ำมันดิบจึงเป็นราคาตลาดโลก ส่วนราคาของก๊าซธรรมชาติเป็นราคาระดับภูมิภาค การเข้าใจความแตกต่างนี้ จะช่วยให้เห็นถึงการที่รัสเซีย ใช้ราคาสูงหรือต่ำของก๊าซธรรมชาติ เป็นนโยบายสร้างอิทธิพลกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เบลารุสหรือยูเครน

พลังงานคือเศรษฐกิจแห่งชาติ

Daniel Yergin ผู้เชี่ยวชาญพลังงานเขียนไว้ใน The New Map ว่า นอกจากกำลังทหารแล้ว น้ำมันและก๊าซคือสิ่งที่แสดงออกถึงอำนาจของรัสเซีย แม้ปูตินเองจะเคยกล่าวว่า ตัวเขาเองไม่เคยเชื่อว่า รัสเซียคือมหาอำนาจด้านพลังงาน แต่รัสเซียก็คือ 1 ใน 3 ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก รองจากสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย และเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ

รายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซ เป็นพื้นฐานการเงินของประเทศและอำนาจของรัสเซีย ในยามปกติ 40-50% ของงบประมาณรัฐบาลมาจากพลังงานนี้ 55-60% ของรายได้การส่งออกทั้งหมด และมูลค่า 30% ของ GDP มาจากพลังงาน ทรัพยากรด้านพลังงานจึงทำให้รัสเซีย มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก พลังงานยังเป็นสะพานเชื่อมทางเศรษฐกิจของรัสเซียกับยุโรปและจีน Daniel Yergin บอกว่า

ความสัมพันธ์ของรัสเซียกับจีน ได้เปลี่ยนจากเดิมมีพื้นฐานที่ความคิดของมาร์กซและเลนิน มาเป็นพื้นฐานด้านน้ำมันกับก๊าซ

เมื่อปูตินขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกในปี 2000 รัฐบาลรัสเซียหาทางกลับเข้ามามีอำนาจควบคุมอุตสาหกรรมพลังงาน ทรัพย์สินบริษัทน้ำมัน Yukos ของมหาเศรษฐี Mikhail Khodorkovsky ถูกยึดมาเป็นของบริษัทน้ำมันรัฐชื่อ Rosneft ทุกวันนี้ Rosneft ผลิตน้ำมัน 40% ของการผลิตของรัสเซียทั้งหมด รัฐบาลรัสเซียยังเข้าไปยึดครอง Gazprom บริษัทยักษ์ใหญ่ก๊าซธรรมชาติ

ช่วงปี 2000-2012 รายได้การส่งออกน้ำมันของรัสเซียในแต่ละปีเพิ่ม 8 เท่า จาก 36 พันล้านดอลลาร์ เป็น 284 พันล้านดอลลาร์ ส่วนการส่งออกก๊าซธรรมชาติเพิ่มจาก 17 พันล้านดอลลาร์ เป็น 67 พันล้านดอลลาร์ เงินได้รายได้จากพลังงานที่พุ่งขึ้นมหาศาล ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียที่อ่อนแอ กลับฟื้นมาเข้มแข็ง สามารถชำระหนี้ต่างประเทศ เพิ่มค่าแรงในประเทศ เพิ่มเงินบำนาญ และเพิ่มงบป้องกันประเทศ

แผนที่แสดงท่อส่งก๊าซรัสเซียที่สำคัญไปยังสหภาพยุโรป โดยรัสเซียเป็นผู้เล่นหลักในภาคพลังงานของยุโรปทั้งน้ำมันดินและก๊าซธรรมชาติ ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Russia#/media/File:Major_russian_gas_pipelines_to_europe.png

ก๊าซธรรมชาติกลายเป็นอาวุธ

การที่รัสเซียถูกเรียกว่ามหาอำนาจพลังงาน หมายความว่า การมีแหล่งพลังงานมากมาย สามารถใช้มาเป็นอาวุธ พลังงานที่กล่าวนี้ ไม่ใช่น้ำมันดิบ แต่เป็นก๊าซธรรมชาติ การที่ผู้ผลิตน้ำมันขู่ที่จะระงับการจัดส่งน้ำมัน ประเทศผู้ซื้อสามารถหันไปหาซัพพลายเออร์อื่นได้ น้ำมันดิบในตัวมันเอง จึงถูกนำมาใช้เป็นอาวุธไม่ได้

ต่างจากกรณีก๊าซธรรมชาติ ที่ประเทศลูกค้าไม่สามารถเปลี่ยนไปหาซัพพลายเออร์อื่นได้ง่าย ประเทศที่อาศัยก๊าซธรรมชาติผ่านท่อก๊าซของรัสเซีย จึงมีจุดอ่อนที่จะถูกแรงกดดันจากรัสเซีย

บริษัท Gazprom ของรัสเซียจึงมักใช้ “ราคาการเมือง” ของก๊าซธรรมชาติ หรือการขู่ที่จะปิดท่อส่งก๊าซ เป็นอาวุธที่จะลงโทษหรือตอบแทนแก่ประเทศที่มีท่าทีต่อรัสเซีย ปี 2009 รัสเซียเคยขายก๊าซให้แก่ยูเครนในราคาลดลงมาก เพื่อที่ยูเครนจะไม่ไปร่วมมือกับ EU มากขึ้น แต่เมื่อรัฐบาลยูเครนที่นิยมรัสเซียล้มลงในปี 2014 รัสเซียก็ยกเลิกราคาส่วนลดของก๊าซที่ขายยูเครนทั้งหมด

ในเวลาเดียวกัน รัสเซียก็หาทางลดการอาศัยยูเครนเป็นทางผ่านของท่อส่งก๊าซไปยุโรป โดยการเริ่มโครงการท่อก๊าซที่หลีกเลี่ยงยูเครน เส้นทางท่อก๊าซทางเหนือคือโครงการ Nord Stream ที่จะส่งก๊าซให้กับเยอรมันผ่านทะเลบอลติก ที่เริ่มเปิดดำเนินงานในปี 2011

ในปี 2015 เกิดโครงการท่อก๊าซผ่านทะเลบอลติกแห่งที่ 2 เรียกว่า Nord Stream 2 ความยาว 1,234 กม. มูลค่า 11 พันล้านดอลลาร์ ที่ลงทุนโดย Gazprom และบริษัทในยุโรป โครงการนี้เสร็จตั้งแต่กันยายน 2021 แต่ยังเปิดดำเนินการไม่ได้ คนที่คัดค้าน Nord Stream 2 มากที่สุดคือโดนัลด์ ทรัมป์ ที่พูดกับเลขาธิการองค์การนาโต้ว่า รัสเซียสามารถควบคุมเยอรมัน ท่อก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 2 จะทำให้เยอรมันต้องอาศัยพลังงานจากรัสเซีย 60-70% เดือนธันวาคม 2019 ทรัมป์ลงนามกฎหมายงบประมาณกลาโหมสหรัฐฯ โดยมีมาตรการที่คว่ำบาตร Nord Stream 2

เส้นทางท่อก๊าซ Nord Stream 1 และ 2

น้ำมันราคาพุ่ง เพราะการคว่ำบาตรอัตโนมัติ

Daniel Yergin ให้สัมภาษณ์กับ New York Times ถึงกรณีที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 22% หลังจากรัสเซียบุกยูเครนว่า ตลาดการค้าน้ำมันดิบทั่วโลก จะมีปริมาณวันละ 100 ล้านบาร์เรล รัสเซียส่งออกน้ำมันดิบวันหนึ่ง 7.5 ล้านบาร์เรล แต่ทุกวันนี้ น้ำมันดิบรัสเซีย 1-2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หายไปจากตลาด ตามปกติจะถูกลำเลียงลงในเรือบรรทุกน้ำมัน

แต่ตอนนี้ ไม่มีการดำเนินการดังกล่าว เพราะไม่มีเรือไปบรรทุกน้ำมันรัสเซีย หรือไม่ก็ไม่มีคนรับซื้อ ธนาคารเองก็ไม่ปล่อยสินเชื้อซื้อน้ำมันของรัสเซีย ไม่มีใครอย่างเสี่ยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับน้ำมันดิบรัสเซีย ทุกอย่างอยู่ในสภาพ “การคว่ำบาตรอัตโนมัติ” (self-sanction) สภาพแบบนี้นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น

สภาพดังกล่าวทำให้รัสเซีย ที่มีสัดส่วนการผลิตน้ำมัน 13% ของโลกทั้งหมด คงต้องลดการผลิตลง เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะรักษาปริมาณการผลิตเท่าเดิม ในเมื่อไม่มีคนซื้อ บริษัทน้ำมันรัสเซียคงจะหาหนทางไปขายแก่ลูกค้าในเอเชีย โดยเฉพาะกับจีน

ทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้รัสเซียมีบทบาทในเวทีโลก เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก น้ำมันและก๊าซยังเป็นสิ่งที่สร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับยุโรปและจีน

แต่การบุกยูเครนของรัสเซีย ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ของโลก แต่ยังเปลี่ยนภูมิศาสตร์เศรษฐกิจด้วย ทำให้รัสเซีย ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 11 ของโลก ถูกตัดขาดออกจากระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ของศตวรรษที่ 21

เอกสารประกอบ

The European Union seeks independence from Russian oil and gas, nytimes.com, March 8, 2022.
Putin’s Russia, Edited by Stephen K. Wegren, Rowman & Littlefield, 2019.
The New Map, Daniel Yergin, Penguin Press, 2020.
Daniel Yergin Thinks Russia’s Days as an Energy Superpower Might Be Over, nytimes.com, March 22, 2022.