ThaiPublica > คนในข่าว > ธกส. “อภิรมย์ สุขประเสริฐ” กางสินเชื่อ-งบฯให้เปล่า 2.2 แสนล้าน อุ้มแรงงานกลับบ้าน-เกษตรกร ฝ่าโควิดฯ

ธกส. “อภิรมย์ สุขประเสริฐ” กางสินเชื่อ-งบฯให้เปล่า 2.2 แสนล้าน อุ้มแรงงานกลับบ้าน-เกษตรกร ฝ่าโควิดฯ

25 สิงหาคม 2020


นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยถดถอย ภาคธุรกิจหลายแห่งปิดกิจการ แรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้างงาน เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม 6 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาชนบทได้เข้าไปช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มนี้อย่างไรบ้าง นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.เปิดเผยว่า หลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 เราก็ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) จัดทำโครงการสินเชื่อฉุกเฉินปล่อยกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน หรือที่เรียกว่า “Clean Loan” ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี ล่าสุดมีทั้งเกษตรกรและกลุ่มลูกหลานเกษตรกรขอกู้เงินผ่านเว็บไซต์กว่า 2 ล้านคน อนุมัติและเบิกจ่ายเงินกู้ไปแล้ว 6 แสนราย คิดเป็นเงิน 5,749 ล้านบาท ที่เหลืออยู่ระหว่างการทำสัญญาเงินกู้กันอยู่ การให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น เราต้องทำให้เขา “ตั้งหลัก” หรือยืนให้ได้ก่อน จากนั้นก็จะเป็นการตั้งฐานและตั้งมั่นเป็นขั้นตอนต่อไป

“ก่อนที่จะปล่อยกู้เราให้เกษตรกรกรอกข้อมูลในใบสมัครขอกู้เงินผ่านเว็บไซต์ของธนาคาร นอกจากซื่อ ที่อยู่อาชีพแล้ว เราถามต่อไปว่าถ้าอยู่ในชนบท คุณอยากจะประกอบอาชีพอะไรมากที่สุด เราได้ข้อมูล Big Data จำนวนหนึ่งมาวิเคราะห์ พบว่าเกษตรกรที่มาขอกู้เงินฉุกเฉิน ส่วนใหญ่มีความชำนาญด้านธุรกิจให้บริการ เช่น เดิมประกอบอาชีพแม่ครัว ทำอาหาร นวดแผนโบราณ กลุ่มที่ 2 คือ ไม่มีความเชี่ยวชาญ หรือ ไม่รู้ตนเองเชี่ยวชาญด้านไหน ตอบไม่ค่อยถูก จึงจัดหมวดหมู่ยาก กลุ่มที่ 3 อยากทำเกษตรผสมผสาน และกลุ่มสุดท้ายอยากทำเกษตรอินทรีย์ , เกษตรเทคโนโลยี , บริการทางการเกษตร คำถามต่อไปต้องการเข้ารับการอบรมอาชีพหรือไม่ ส่วนใหญ่ตอบว่าต้องการมากเลย ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจผู้กู้นี้ ธนาคารสามารถนำมาออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้”

แต่น่าสนใจมาก คือ กลุ่มผู้กู้ที่ตอบว่าไม่รู้จะทำอะไร หรือ ทำอะไรก็ได้ เหตุผลที่เขาตอบแบบนี้ เพราะเกษตรกรรมไม่ใช่อาชีพหลักของเขา แต่ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้เป็นลูกหลานเกษตรกรที่เข้าไปทำงานในเมือง ไม่ใช่คนที่เคยทำการเกษตรอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น ในช่วงปีแรกคงจะเป็นเรื่องยากที่จะให้แรงงานที่เดินทางกลับบ้านกลุ่มนี้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ทันที ในระยะสั้นช่วงที่กำลังปรับตัว ธ.ก.ส.ก็เตรียมวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินไว้ให้แรงงานกลุ่มนี้กู้ เพื่อให้เขาตั้งหลักให้ได้ก่อน

จัดสินเชื่อฉุกเฉินวงเงินแสนล้าน

นายอภิรมย์กล่าวต่อว่าจากนั้นก็เป็นเรื่องของการตั้งมั่น เราเตรียม “โครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย” โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนนโยบาย จริง ๆ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของ “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” คือเรื่องของความพอประมาณ ความมีเหตุ มีผล สร้างภูมิคุ้มกัน ภายใต้กรอบของความรู้คู่คุณธรรม และยังมีเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียงอีก 3 ขั้น ซึ่งเรานำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนนโยบาย จำแนกแบบง่ายๆ คือ ขั้นแรก พึ่งพาตนเองในระดับครัวเรือน ขั้นที่ 2 พึ่งพา ซึ่งกันและกันในระดับชุมชน และ ขั้นที่ 3 คือการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายระหว่างองค์กรของชุมชนขนาดใหญ่ เช่น สหกรณ์การเกษตร, เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ

“ทั้ง 3 ขั้น เราแยกกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่ม มาตรการระยะสั้นในปีนี้ คือ ต้องพยายามอัดเม็ดเงินลงไปในภาคชนบท และพักชำระหนี้ให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส โควิด-19 ทุกราย รายไหนที่ผ่อนชำระหนี้ให้กับแบงก์ไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบมาผ่อน เราพักหนี้ให้ 1 ปี แต่ไม่ได้ลดหนี้ให้ ส่วนดอกเบี้ยยังเดินอยู่ แค่บรรเทาภาระหนี้ให้ในช่วงโควิดฯระบาด ส่งไม่ได้ ก็ไม่ต้องส่ง แต่ต้องมาคุยกันก่อน”

ปกติลูกค้าที่เข้าโครงการพักหนี้ ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ไม่ได้ แต่รอบนี้เราเตรียมวงเงินสินเชื่อเอาไว้ 100,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินให้กับเกษตรกร รายละไม่เกิน 50,000 บาท แต่จะนำเงินไปใช้อย่างอื่นไม่ได้ นอกจากซื้อปัจจัยการผลิตเท่านั้น เหตุที่เราต้องปล่อยกู้เพิ่ม เพราะไม่ต้องการให้เกษตรกรไปกู้เงินนอกระบบ จึงปรับแนวความคิดใหม่เป็นปล่อยเงินกู้ให้เกษตรกรไปเลย ซึ่งเรื่องนี้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดของ ธ.ก.ส. ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2563

ปลดหนี้เกษตรกร ต้องแก้ถึงลูกหลาน

ตอนนี้เกษตรกรที่อยู่ในชนบท จริง ๆมีภาระหนี้สินหนักมาก ดังนั้น สิ่งแรกที่เราต้องเข้าไปดูแลก่อนคือ พักชำระหนี้ให้กับลูกค้าชั่วคราวไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 และในระหว่างที่พักหนี้ให้เราก็สอบทานสถานะของลูกหนี้ไปด้วย

หากพบว่าลูกหนี้มีภาระหนักจริง ๆ ก็ต้องเข้าไปปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก่อนที่เขาจะกลายเป็น NPLs ต่างจากในสมัยก่อนต้องรอให้เป็น NPLs ก่อนถึงจะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้ แต่รอบนี้พิเศษ เราปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าปกติก็ได้ หากตรวจสถานะหนี้แล้วพบว่าเขามีภารหนักจริง ๆ ก็ต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ก่อน หรือ ที่เรียกว่า “Pre-emptive” ซึ่งได้รับอนุญาตจากแบงก์ชาติให้ทำได้มา 2 ปีแล้ว

“ในระหว่างที่เราเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกร เราก็พบว่า หนี้ของเกษตรส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดจากครอบครัว เป็นหนี้ของลูก เช่น ลูกไปสร้างครอบครัวใหม่ ไปเรียนหนังสือ ไปทำงาน พ่อและแม่ก็ต้องช่วยเหลือลูกทั้งหมด มันเป็นหนี้ที่มีความผูกพัน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่ถูกต้อง ควรจะต้องลงไปดูถึงลูกหลานของเขาด้วย”

จัดสินเชื่อพอเพียง 10,000 ล้าน รองรับคนตกงาน

นายอภิรมย์เล่าต่อว่า…ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่ามีคนเดินทางกลับชนบทเท่าไหร่ แต่ที่แน่ ๆมีคนมาขอกู้เงินกับ ธ.ก.ส.แล้วกว่า 2 ล้านคน ไม่ต้องค้ำประกันอะไรทั้งสิ้น เมื่อได้รับเงินกู้ฉุกเฉินไปแล้ว อยากจะลงทุนประกอบอาชีพเล็ก ๆน้อย ๆในชุมชนต่อ เราก็มี “สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ” วงเงิน 10,000 ล้านบาท ปล่อยกู้อีกรายละ 50,000 บาท แต่อันนี้ต้องขอมีหลักประกัน โดยใช้บุคคลค้ำประกัน เพราะมีความเสี่ยงระดับหนึ่ง ดอกเบี้ยก็ต้องแพงขึ้น ชื่อก็บอกเอาไว้ชัดเจนว่าเป็นอาชีพเล็ก ๆน้อย ๆ เอาพอให้ผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้ก่อน

พร้อมย้ำว่าอย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ล้านคน คงไม่ได้มาใช้เงินกู้ประเภทนี้กันทุกคน รายไหนคิดว่าตนมีช่องทางทำมาหากิน หากขาดแคลนเงินทุน ก็ไม่ต้องไปหาเงินที่ไหน มากู้กับธ.ก.ส.ได้ แต่ที่สำคัญต้องตอบเจ้าหน้าที่ธนาคารให้ได้ว่าเอาเงินไปลงทุนทำอะไร ซึ่งแตกต่างจากสินเชื่อฉุกเฉินตามที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ถ้าคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วน ธนาคารอนุมัติให้ทั้งหมด แต่สินเชื่อพอเพียงเลี้ยงชีพให้กู้เฉพาะคนที่มีช่องทางทำมาหากิน ไม่ได้ปล่อยกู้ทุกคน

รวมเม็ดเงินสินเชื่อเยียวยาโควิดฯ 1.7 แสนล้าน

นายอภิรมย์กล่าวต่อว่าหลังจากตั้งหลักและตั้งมั่นได้แล้ว ขั้นต่อไปก็ต้อง “ตั้งฐาน” สำหรับแรงงานที่เดินทางกลับบ้านเกิด ธ.ก.ส.ก็เตรียม “สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด” เอาไว้ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หากใครมีประสบการณ์ หรือ มีองค์ความรู้ในสายวิชาชีพใดวิชาหนึ่งเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ต้องการลงทุนมากกว่า 50,000 บาท เช่น ต้องการลงทุนสร้างโรงเรือนปลูกเมลอน ลงทุนมากขนาดนี้ เข้าใจว่ารายนี้คงไม่กลับไปทำงานเป็นลูกจ้างในเมืองแล้ว กรณีอย่างนี้ ธ.ก.ส. ก็เตรียมวงเงิน “สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด” เอาไว้อีก 60,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ผ่อนชำระ 3 ปี ดังนั้นรวมกับวงเงินสินเชื่อฉุกเฉิน และสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ ธนาคารได้เตรียมวงเงินสินเชื่อไว้รองรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโควิดฯทั้งหมด 170,000 ล้านบาท เป็นสินเชื่อของธนาคารล้วนๆ

ชูดอกเบี้ย “ล้านละร้อยบาท” ช่วยคนตกงาน

ทั้งนี้ ยังไม่รวมโครงการเงินกู้ 400,000 ล้านบาท ที่ธนาคารทำเรื่องของบฯสนับสนุนจากรัฐบาลอีก 55,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้อยู่ในขั้นที่ 2 ของเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นพึ่งพากันในชุมชน โดย ธ.ก.ส.จะนำเงินมาใช้ใน “โครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย” เจตนารมณ์ คือต้องการช่วยคนตกงาน โดยใช้กลุ่มเกษตรกรที่มีเข้มแข็งอยู่แล้วเข้าไปดูแลแรงงานที่เดินทางกลับบ้าน หากรับแรงงานกลุ่มนี้เข้าทำงาน เราจะมีแต้มต่อให้หลายตัว

ประการแรก หากคุณต้องการจ้างงานกับผู้ที่เดินทางกลับบ้าน เข้าทำงาน สามารถมาขอใช้สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยได้ โดย ธ.ก.ส.คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แค่ 0.01% ต่อปี หรือ กู้ 1,000,000 บาท คิดดอกเบี้ย 100 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าต้องจ้างคนตกงานนะ

ประการที่ 2 คือ หาก ครม.อนุมัติงบฯให้ ธ.ก.ส. เราจะนำงบฯ ไปช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มเกษตรกรอีกครึ่งหนึ่ง ยกตัวอย่าง คุณจ้างคนเข้าทำงาน 10 คน สมมติมีค่าใช้จ่ายเงินเดือน 500,000 บาท ธกส.นำงบฯจากรัฐบาลมาสมทบให้ 250,000 บาท ที่เหลืออีก 250,000 บาท เป็นเงินกู้ ปีแรกคิดดอกเบี้ยพิเศษ 100 บาท ต่อวงเงิน 1,000,000 บาท

“ปีแรก เราต้องจูงใจกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง อย่างเช่น สหกรณ์การเกษตร หรือ วิสาหกิจชุมชน เข้ามาช่วยจ้างคนเข้าทำงานก่อน จากนั้นองค์กรการเกษตรเหล่านี้ ต้องการลงทุนขยายกิจการ เช่น สร้างห้องเย็นไว้เก็บสินค้า หรือ ต้องการทุนหมุนเวียนใช้รับซื้อสินค้าเกษตร สามารถมาขอสินเชื่อกับธนาคารได้อีกหลายโครงการ หากโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย ถ้าผ่านความเห็นชอบจากครม. ก็จะมีเงินสบทบแบบให้เปล่าอีก 50% ของวงเงินกู้ แต่ขอย้ำว่าต้องเป็นธุรกิจของชุมชน ไม่ใช่ธุรกิจส่วนตัว”

หนุน 5 กลุ่มสร้างความเข้มแข็งชุมชน

สำหรับการพึ่งพากันในระดับชุมชน ธกส.มีเป้าหมายที่จะเข้าไปสนับสนุนอยู่ 5 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มเดิมที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว ซึ่งเราจะใช้เป็นหัวขบวนเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร กลุ่มนี้ต้องเข้าเพิ่มความแข็งแกร่งให้เขาอยู่รอดก่อน จากนั้นถึงจะเข้าไปช่วยเหลือสมาชิกได้

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมอยู่แล้ว กลุ่มนี้เข้าไปช่วยพัฒนาแหล่งน้ำกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่ผ่านมากรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เข้าไปลงทุนสร้างระบบแหล่งน้ำให้เกษตรกรแล้วกว่า 8,000 กลุ่ม หากได้รับการจัดสรรเงินกู้ 4 แสนล้านบาทมา เราตั้งเป้าหมายจะขยายความช่วยเหลือออกไปให้ได้ 10,000 กลุ่ม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ก็จะมีหน้าที่เจาะหาน้ำ ส่วน ธ.ก.ส.จะเข้าไปช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร การให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ใช่เจาะน้ำบาดาลให้อย่างเดียว เมื่อมีน้ำแล้ว ก็ต้องยกระดับอาชีพให้ด้วย

กลุ่มที่ 3 เป็น “สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน” มีกลุ่มหลักกระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณ 42 จังหวัด และมีเครือข่ายสมาชิกอีก 71 จังหวัด ธกส.จะไปช่วยเขา ตั้งแต่เรื่องสร้างอาชีพทำเกษตรกรรมยั่งยืน 5 อาชีพ ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ , เกษตรธรรมชาติ , เกษตรผสมผสาน , เกษตรทฤษฎีใหม่ และนวเกษตร คือการสร้างรายได้จาก “ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง” กลุ่มนี้ก็มีข้อจำกัดตรงที่ไม่ได้ถือครองที่ดิน จึงทำการเกษตรแบบปกติไม่ได้

แต่ข้อดีของกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนทั้ง 42 จังหวัด คือมีเครือข่ายสมาชิกครอบคลุม 71 จังหวัด จัดตั้งกลุ่มกันเรียบร้อยแล้ว ประกอบอาชีพแตกต่างกันไป มีทั้งในระดับหมู่บ้าน , ตำบล , อำเภอ และจังหวัด สำหรับในระดับจังหวัดเราจะยกระดับให้เป็น “วิสาหกิจเพื่อสังคม” อันนี้มีอยู่แล้วหลายจังหวัด โดยนำผลผลิตทางการเกษตรเอามาทำการตลาด ทั้งในระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด หากโครงการดีมีความเป็นไปได้สูง เราจะจัดงบฯ พร้อมสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษเข้าไปสนับสนุน

กลุ่มที่ 4 คือ “เกษตรแปลงใหญ่” เป็นโครงการของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีทั้งที่เป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้ ส่วนที่เป็นไปได้ก็เข้าไปสนับสนุน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

กลุ่มสุดท้าย คือ สร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจฐานราก โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรใส่องค์ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไป นำผลิตผลออกสู่ตลาดภายนอก โดยจะเน้นไปที่กลุ่มสหกรณ์การเกษตร , กลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดใหญ่ และองค์กรชุมชน ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้เตรียมสินเชื่อไว้ให้บริการหลายรูปแบบ ยกตัวอย่าง กลุ่มที่ให้บริการทางการเกษตร เช่น รับจ้างไถนาให้สมาชิก หรือ “รถเกี่ยว” หากจะให้เกษตรกรแต่ละรายไปลงทุนเองคงลำบาก ต้องปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มเกษตรเกษตรนำเงินไปลงทุนซื้อรถไถ , ซื้อโดรนเพื่อใส่ปุ๋ย หรือ ขยายโรงสีข้าว ให้เกษตรกรในพื้นที่เข้ามาใช้บริการในราคาพิเศษ โครงการลักษณะนี้คงต้องใช้งบฯจากรัฐบาลเข้าสมทบ 50% ส่วนกลุ่มสหกรณ์ หรือ กลุ่มเกษตรกรขนาดใหญ่ที่ต้องการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าเกษตร กรณีนี้ต้องใช้เงินมากหน่อย เราได้เตรียมเงินลงทุนไว้ให้ รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท

“ปีนี้เป็นปีที่ธ.ก.ส. ครบรอบ 54 ปี เราได้ปรับปรุงวิสัยทัศน์ และปรับโครงสร้างขององค์กรใหม่ เดิมเราตั้งเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาเกษตร มีความยั่งยืน มั่นคง และทันสมัย แต่ปีนี้เราเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ดูแลทั้งระบบ กล่าวคือ ไม่ได้ดูเฉพาะเกษตรกรเพียงอย่างเดียว แต่เราจะดูแลไปครอบครัวของเกษตรกรด้วย ดังนั้น ปีนี้ถือเป็นปีแห่งการปรับเปลี่ยน โดยอาศัยวิกฤติโควิดฯ เป็นโอกาส ใช้จังหวะนี้เข้าไปทำงานกับคนรุ่นใหม่ 2 ล้านคน ที่เดินทางกลับบ้านเกิด”

นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาจบใหม่อีก 5 แสนคน ช่วงวิกฤติโควิดฯครั้งนี้ อาจจะต้องตกงาน เราก็จะชวนพวกเขากลับบ้าน เริ่มต้นประกอบอาชีพเกษตรสมัยใหม่ ยังไม่แน่ใจทำได้หรือไม่ อันนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเขา แต่ถ้าขาดอะไร ธ.ก.ส.เติมให้

ร่วมกับช่อง ONE 31 ค้นหาเกษตรกร New Gen

นายอภิรมย์กล่าวต่อว่าทางธ.ก.ส.ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ช่อง ONE 31 จัดทำ “โครงการ New Gen HUG บ้านเกิด” เชิญชวนเด็กรุ่นใหม่ หรือ ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา คิดโครงการเข้าประกวด โดยผู้ชนะการประกวด นอกจากจะได้รับเงินรางวัลแล้ว ยังได้รับวงเงินสินเชื่อ เพื่อใช้ในการลงทุนด้วย

“ตอนนี้ก็มีทั้งเด็กรุ่นใหม่ , องค์กรชุมชน , กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร สมัครเข้ามาแล้วเกือบ 6,000 ราย การประกวดจะแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มเกษตรกรที่ประกอบธุรกิจการเกษตรอยู่แล้ว ส่งผลงานเข้าประกวด หากชนะก็จะเป็น “ไอดอล” ให้กับคนรุ่นใหม่ กับ กลุ่มเกษตรกรยังไม่ได้ลงมือทำ แต่มีไอเดียใหม่ๆ และเป็นโครงการที่ดี คืออยากสร้างทั้ง 2 กลุ่ม ให้เป็นแรงบันดาลใจแก่คนอื่นที่อยากจะทำ และที่สำคัญทำแล้วต้องประสบความสำเร็จด้วย”

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม สร้าง “ไอดอลเกษตรกรรุ่นใหม่” โดยเปิดรับสมัครผู้ที่ต้องการฝึกอบรมอาชีพ โดยเชิญเนตไอดอลมาเป็นวิทยากร อาทิ เถ้าแก่น้อย หรือ เค้ก AfterYou ตอนนี้มีผู้ผ่านการฝึกอบรมไปแล้วกว่า 3,000 คน และเราคัดเลือกเหลือผู้ชนะ 30 คน ซึ่งธนาคารพร้อมสนับสนุนสินเชื่อให้ทั้งหมดเลย

ยุทธศาสตร์ “ปรับ-เปลี่ยน-พัฒนา” ฝ่าโควิดฯ

นายอภิรมย์กล่าวย้ำว่าการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทย เราต้องไม่ทิ้งภาคการเกษตร ยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ “ปั้น-ปรุง-เปลี่ยน” ส่วนยุทธศาสตร์ของธ.ก.ส. คือ “ปรับ-เปลี่ยน-พัฒนา” โดยเริ่มจากการ “ปรับ” วิธีการผลิตของเกษตรกร ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการให้บริการด้านการเกษตร สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตร เรื่องการ “เปลี่ยน” ก็ต้องดูว่าตรงไหนไม่มีศักยภาพ ต้องเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชที่ตลาดต้องการ หรือเปลี่ยนวิธีการผลิต ส่วนเรื่องการ “พัฒนา” จะใช้สหกรณ์การเกษตร หรือ กลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว เป็นคนดึงเกษตรกรให้ “ปรับ-เปลี่ยน-พัฒนา” เพราะถ้าให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงตัวเองคงจะยาก ต้องใช้เครือข่ายๆเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และก็ไม่ใช่เฉพาะ “ปรับ-เปลี่ยน-พัฒนา” อย่างเดียว ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรแปรรูป สร้างช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่ดีๆขายตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

“และที่สำคัญคือเราก็มองกรอบของความยั่งยืน ESG ตามที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเคยกล่าวเอาไว้ถึงเรื่อง “sustainable banking” ซึ่ง ธ.ก.ส.ยึดเป็นแนวปฏิบัติมาโดยตลอด กรอบของธนาคารที่ยั่งยืน ต้องมี E คือ สิ่งแวดล้อม (Environment) S คือ Social และ G คือ Governance

ผลิตภัณฑ์ของเราที่เกี่ยวกับความยั่งยืน อาทิ สินเชื่อสีเขียว , สินเชื่อปลูกป่า , สินเชื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น หากเม็ดเงินที่จะนำมาปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ไม่พอ เราจะออก “Green bond” ตามแผนงานในปีนี้ ธกส.จะออกประมาณ 20,000 ล้านบาท เฉพาะในเดือนสิงหาคมนี้ออก 6,000 ล้านบาท เป้าหมายเพื่อระดมทุนมาใช้ในการปล่อยสินเชื่อเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องป่าไม้ วนเกษตร ภายใต้กรอบความยั่งยืน

ส่วนการดูแลสังคม หรือ Social เราไม่ได้สนับสนุนเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่เราสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน ลูกหลานได้กลับมาอยู่กันพร้อมหน้า นี่คือสิ่งที่เราเข้าไปส่งเสริมกิจกรรมต่างๆเพื่อให้ชุมชนและสังคมมีความสุข และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี

ด้านธรรมาภิบาล ต้องดูทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งเราเอง ธนาคารต้องสร้างความเชื่อมั่น ยึดหลักการควบคุมตรวจสอบภายในที่ดี โปร่งใส ส่วนองค์กรชุมชนเองก็ต้องมีธรรมาภิบาล เพื่อให้สมาชิกเกิดความเชื่อมั่นด้วยเช่นกัน

รู้หรือไม่พื้นที่ไหน – ปลูกพืชอะไร?

นายอภิรมย์ได้เล่าต่อว่าขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามปรับปรุงวฐานข้อมูลด้านการเกษตร อย่าง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีระบบ “Farmer One” เป็นฐานข้อมูลของเกษตรกรทั้งประเทศ ส่วนกรมส่งเสริมการเกษตรมีหลายระบบสามารถบอกได้ว่าพื้นที่ไหนใครปลูกอะไร ผ่านแพลตฟอร์มที่เรียกว่า “Agri-Map” เป็นแผนที่การเกษตรที่ใช้ในการบริหารจัดการเชิงรุก กับ “what2grow” สามารถบอกได้ว่าพื้นที่นี้ปลูกอะไรดี

ข้อมูลประเภทนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีทั้งหมดแล้ว ไม่ได้ดูเฉพาะทางกายภาพเพียงอย่างเดียว โดยแพลตฟอร์มนี้เชื่อมโยงฐานข้อมูลเดียวกัน ดูทั้งในเรื่องของปัจจัยการผลิต ดิน น้ำ อากาศที่เหมาะสม แหล่งขายอยู่ที่ไหน ฐานข้อมูลเหล่านี้อยู่ที่กระทรวงเกษตร ฯเป็นหลักกระจายอยู่ตามกรมในสังกัด ตอนนี้กระทรวงเกษตรฯพยายามรวบรวมมาไว้ที่เดียว เนื่องจากเกษตรกรมีคนดูแลถึง 3 กระทรวง โดยมีกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ดูแลหลัก ส่วนอ้อยและน้ำตาลมีกฎหมายเฉพาะแยกมาให้กระทรวงอุตสาหกรรมดู หรือส่วนเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล สำหรับยางพาราอยู่ในกระทรวงเกษตรฯก็จริง แต่มีการยางแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำกับดูแล

แต่ในวันนี้ข้อมูลภาคการเกษตรจะมารวมอยู่ที่ “Farmer One” โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจะเป็นศูนย์กลางในการแจกจ่ายข้อมูล อย่างช่วงที่ผ่านมาก็ส่งรายชื่อเกษตรกรมาให้ธ.ก.ส.แจกเงินเยียวยานอกจากรายชื่อเกษตรกรแล้ว ยังระบุข้อมูลพื้นที่ และชนิดของพืชที่เกษตรกรทำการเพาะปลูกด้วย

ถามว่าธ.ก.ส.มีข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ ก็มีเหมือนกัน โดยฐานข้อมูลสินเชื่อของธนาคารสามารถระบุได้ว่าใครเพาะปลูกอะไร เอามาตรวจเช็คกับฐานข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯ ข้อมูลเกษตรกรเหล่านี้ เรานำมาจัดทำเป็นแผนพัฒนารายพืช เน้นพืชหลัก ๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย เป็นต้น ซึ่งพืชพวกนี้จะมีคณะกรรมการระดับชาติคอยกำกับดูแล มีการจัดทำแผนพัฒนาทั้งระยะสั้น กลาง และยาว

เกษตรกรยั่งยืน “ชุมชนอุดมสุข”

นายอภิรมย์กล่าวต่อว่าอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ถ้าจะให้เกษตรกรยั่งยืนจริง ๆ เกษตรกรต้องไม่เป็นหนี้นอกระบบ เพราะต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยหนักมากไม่สอดคล้องกับรายได้ ประการที่ 2 เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร สร้างงาน อาชีพเสริม รวมไปถึงปฏิรูปภาคการเกษตร ซึ่งเรากำลังทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ดึงเอกชน เข้าไปช่วยกันพัฒนาชุมชน ตามแนวทาง “ปรับ-เปลี่ยน-พัฒนา” และประการที่ 3 ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การผลิต ปฏิรูปที่ยั่งยืน ส่วนนี้เราทำเองโดยลำพังไม่ได้ ต้องทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ รวมไปถึงการทำโซนนิ่งร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ตามแนวทาง”ปรับ-เปลี่ยน-พัฒนา”

“ปรับ” คือของเดิมต้องทำให้ดีขึ้น “เปลี่ยน” ก็คือจะมีการทำโซนนิ่ง อันนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐและสภาพตลาด โดยมีชุมชน หรือ เกษตรกรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อน รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันและบริหารจัดการความเสี่ยงให้เกษตรด้วย ทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรออมเงิน นำระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตรเข้ามารับความเสี่ยงแทนเกษตรกร ทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม

เกษตรกรต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือที่เรียกว่า “ชุมชนอุดมสุข” โดยใช้สหกรณ์การเกษตรเป็นกลไกสำคัญที่นำการปรับ-เปลี่ยน-พัฒนา จะเห็นได้ว่า ธ.ก.ส.มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตร ตั้งแต่เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรด้านเงินทุน พัฒนาชุมชน ส่งเสริมการออม และประกันภัยพืชผล สร้างระบบสวัสดิการให้ชุมชน เราทำครบวงจร

เดินหน้า “ธนาคารน้ำใต้ดิน” แก้อีสานแล้ง

ส่วนการแก้ปัญหาภัยแล้งในภาคตะวันเฉียงเหนือมีหลายโมเดล ซึ่งธนาคารน้ำใต้ดินก็เป็นโมเดลที่สำคัญ ภาคอีสานมีปริมาณน้ำบาดาลมากกว่าน้ำในเขื่อนของประเทศไทยรวมกัน แต่ถ้าเจาะลงไปแล้วเป็นน้ำกร่อย หรือ น้ำเค็ม ก็ทำการเกษตรไม่ได้ ข้อมูลเหล่านี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลรู้ทั้งหมด การแก้ปัญหาภัยแล้งก็ต้องปรับระบบชลประทาน รวมทั้งน้ำบนผิวดิน และมีการเติมน้ำใต้ดินด้วย ซึ่งรัฐบาลบรรจุไว้เป็นยุทธศาสตร์ชาติแล้ว

กรณีตัวอย่างระบบธนาคารน้ำใต้ดินที่ทำแล้วประสบความสำเร็จเป็นโครงการของหลวงพ่อสมาน สิริ ปัญโญ ช่วงที่ท่านเป็นธรรมทูตเดินทางไปรัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐ ได้เห็นเทคโนโลยีเติมน้ำลงไปในใต้ดิน พอท่านเดินทางกลับมาที่หนองคาย ท่านเชิญชวนญาติโยมมาช่วยกันทำ

“ระบบการเติมน้ำที่สหรัฐเป็นระบบปิด คือ เติมจากท่อเจาะไปที่ชั้นใต้ดินเลย แต่ของหลวงพ่อสมานท่านทำ 2 ระบบ มีระบบเปิดโดยอาศัยน้ำในช่วงฤดูฝน ซึ่งภาคอีสานฝนตกเยอะ แต่มีปัญหาเก็บน้ำไม่ได้ โมเดลเดิมคือเก็บน้ำไว้บนดินทำเป็นเขื่อน หรือ อ่างเก็บน้ำ อีกระบบก็นำไปเก็บไว้ใต้ดินเป็นระบบเปิด มีแผนภูมิชัดเจนเติมน้ำลงไปทางทิศไหน ต้องขุดตรงไหน ลึกเท่าไหร่ และต้องมีบ่อระบายอากาศด้วย มิฉะนั้นน้ำจะไม่ไหลลง”

โครงการธนาคารน้ำบ้านเก่าขาม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี กลายเป็นโครงการต้นแบบ ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาดูงาน จังหวัดอื่นก็เอาไปทำต่อ ด้วยท่านเป็นพระ ชาวบ้านนับถือ เชิญชวนชาวบ้านช่วยกันทำ นายกเทศมนตรีก็เอาด้วยจัดงบประมาณมาสนับสนุนจนประสบความสำเร็จ วันนี้พื้นที่บริเวณนั้นไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำอีกต่อไป ฝนตกลงมาก็เอาไปเก็บไว้ใต้ดิน ต้นทุนต่ำกว่าระบบชลประทาน และไม่เกิดการสูญเสียด้วย แต่ถ้าไม่ไปขุดขึ้นมาใช้น้ำมันก็ไม่หายไปไหน

“ในส่วนของธ.ก.ส.เราก็เข้าไปสนับสนุนเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ สนับสนุนสินเชื่อสร้างโรงเรือน เราเข้าไปพัฒนาร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลทำไปแล้วประมาณ 8,000 จุด จะทำเพิ่มอีกสัก 4,000 กลุ่ม ทำนาจากน้ำบาดาลอย่างเดียวคงไม่ไหว แต่จะหาอะไรมาปลูกเสริมก็ว่ากันอีกที”

จัดหลักสูตร 4-5-9 เพิ่มองค์ความรู้เกษตรกร

นายอภิรมย์เล่าต่อว่า “วิกฤติโควิดฯรอบนี้ เบื้องต้นเราต้องอัดเม็ดเข้าไปช่วยเหลือให้เขาอยู่รอดก่อน เพื่อตั้งหลัก จากนั้นก็ตั้งฐานและตั้งมั่น ถูกปลดออกจากงาน เดินทางกลับบ้าน เราก็ใช้ศูนย์การเรียนรู้ของเราทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง เปิดอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ที่ธ.ก.ส.ให้ความสำคัญมากคือ “โครงการ 459 มีกิน มีใช้” แค่เดินออกจากบ้านไป 4-5 ก้าว ก็จะมีกิน มีรายได้ เป็นหลักสูตรสำเร็จ สอบปลูกพืชระยะสั้นใช้เวลาแค่ 45 วัน ก็ได้กินแล้ว โดยจะเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนหลักสูตรนี้ผ่านออนไลน์ก่อน

หากโควิดฯคลี่คลาย ก็ไปเรียนที่ศูนย์การเรียนรู้ 1,000 แห่ง สอนปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เพื่อลดค่าใช้จ่าย และเอาไว้กินก่อน ซึ่งไม่ได้ยากอะไร และก็มีหลักสูตรการเตรียมดินสำหรับเพาะปลูกพืชต่างๆ หลักสูตรทำน้ำหมักชีวภาพและทำปุ๋ยสำหรับครัวเรือน จากนั้นค่อยขยายผลต่อไป แนวคิดของเราคือร่วมกันคิด แยกกันทำ และอยากให้ทำกันทุกบ้าน บ้านนี้ปลูกผักคะน้า บ้านนี้ปลูกผักชี เอามาแลกเปลี่ยนกันภายในชุมชน โครงการ 459 เราก็สร้างแบรนด์ของเราขึ้นมา แลก็มีช่องทางการจัดจำหน่าย โดยนมีภาคเอกชนมารับซื้อไว้วางขายตามห้างสรรพสินค้าในภาคเหนือเกือบทุกจังหวัด

“ส่วนที่สำนักงานใหญ่ ธ.ก.ส. ผมก็ส่งเสริมให้พนักงาน ลูกจ้าง แม่บ้านว่างๆ ก็ไปปลูกผักอยู่ด้านล่างของอาคารนี้ เดินไป 4-5 ก้าว ก็เด็ดมารับประทานได้เลย เป็นผักปลอดสารพิษ เราใช้เศษอาหารจากโรงอาหารมาทำปุ๋ย น้ำจากระบบแอร์เอามารดน้ำผัก เอามาขายช่วงที่เราจัดตลาดนัด ใครจะซื้อต้องสั่งจอง ของดีมีน้อย จึงส่งเสริมที่นี่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เรามีพิพิธภัณฑ์ มีห้องสมุดสาธารณะ เปิดให้เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พวกแม่บ้าน และรปภ.ที่นี้จึงมีอาชีพเสริม หลายคนก็นำแนวคิดดังกล่าวกลับไปทำที่บ้าน ตามนโยบายพึ่งพาซึ่งกันและกัน พนักงานที่นี่มีหลายพันคนอยากซื้อผักปลอดสารพิษ ก็ต้องจองกันเป็นรอบๆ”

สำหรับ e-learning ตอนนี้ธกส.มีเนื้อหาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ ธ.ก.ส. ช่วงแรก ๆเราใช้คอนเทนต์ของมหาวิทยาลัย แต่ในระยะหลังเรามีระบบภายในอยู่แล้ว จึงใช้ห้องสมุดของเราเป็นศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งมีอยู่หลายหลักสูตร แต่วันนี้เน้นหลักสูตร 459 ก่อน เอาแบบ Quick win เลย

จับมือห้างฯช่วยเกษตรกรขายสินค้า

นายอภิรมย์กล่าวต่อถึงความร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าว่าทำร่วมกันมานานแล้ว แต่ทำกันอย่างจริงจังในช่วงที่ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนากยรัฐมนตรีได้เชิญบรรดาเจ้าสัวทั้งหลายมาประชุม และขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งภาคเอกชนก็ยินดีที่เข้ามาช่วยเหลือ แต่เกษตรกรต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพคงเส้นคงวา สามารถควบคุมคุณภาพได้ ซึ่งธ.ก.ส.ก็ได้ทำโครงการนี้กับห้างเซ็นทรัล “ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต” มาเกือบ 10 ปีแล้ว

“เราต่างหากที่ผลิตสินค้าให้เขาไม่ได้ตามออร์เดอร์ ตอนหลังก็มีห้างบิ๊กซีเข้ามาช่วยอีกแรง และยังมีไทยเบฟเวอเรจเข้ามาช่วยผ่านบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ส่วนห้างเซ็นทรัลก็มีมูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ รับซื้อผลิตผลทางการเกษตรมาขายที่ห้างสรรพสินค้าผ่านร้าน “good goods” ส่วนบริษัทเบทาโกร ก็สอนชาวบ้านให้เลี้ยงไก่ไข่ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมด้าน CSR หรือ ความยั่งยืนของภาคเอกชน เพื่อช่วยให้สังคม

ภารกิจของ ธ.ก.ส. จากนี้ไปคงจะต้องพยายามสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก ไม่ใช่ปล่อยเงินกู้เพียงอย่างเดียว ต้องสร้างอาชีพให้ชุมชนด้วย ซึ่งในปีนี้เราจึงปรับเป้าหมายในการสร้าง smart farmer จาก 100,000 คน เป็น 500,000 คน และกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ ก็คือคนรุ่นใหม่ที่เดินทางกลับบ้านเกิด 2 ล้านคน วันนี้เราได้เชื่อมต่อ LINE กับลูกค้ากลุ่มนี้แล้ว พยายามชักชวน และให้โอกาสคนกลุ่มนี้กลับเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยการสนับสนุนให้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่บ้านเกิด อยู่พร้อมหน้า พร้อมตากับครอบครัวอีกครั้ง