ThaiPublica > เกาะกระแส > แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง: ข้อเท็จจริงจากชายแดน ภาคเหนือ

แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง: ข้อเท็จจริงจากชายแดน ภาคเหนือ

7 เมษายน 2021


รายงานโดย ศรีนาคา เชียงแสน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. (ในขณะนั้น)และนาง ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เปิดสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 2 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในเมียนมา เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2563 แทบจะไม่มีใครคาดการณ์มาก่อนว่ากองทัพเมียนมาได้เตรียมการหลายๆ อย่างเพื่อจะสกัดกั้นพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซาน ซูจี เป้าหมายของกองทัพคือทำอย่างไรก็ได้เพื่อไม่ให้พญาหงส์บินสู่ดวงดาวที่รุ่งโรจน์ได้ดั่งใจหวัง แต่สำหรับผู้ที่ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิดกลับพบว่ามีสิ่งบอกเหตุหลายสิ่งหลายอย่างส่งสัญญาณออกมาเป็นระยะๆ ว่า กองทัพเมียนมาไม่ต้องการให้สถานะของตนเองตกต่ำไปกว่านี้อีกแล้ว

ฉากทัศน์ (scennerio) ถูกฉายภาพและประเมินแนวโน้มออกมาหลายรูปแบบ แต่ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ชัยชนะอย่างท้วมท้นของพรรค NLD ที่เหนือการควบคุมของกองทัพเมียนมา ทำให้สิ่งที่กองทัพเมียนมาเคยหวาดกลัวมากที่สุดกลายเป็นความจริงขึ้นมา

ชัยชนะครั้งใหม่แบบมโหฬารกำลังจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการรุกครั้งใหญ่อันจะนำไปสู่การต้องยอมถอยบทบาทของกองทัพเมียนมาออกจากการเป็นสถาบันหลักของประเทศ และทำให้กองทัพต้องลดบทบาททางการเมืองลง จนกองทัพเมียนมาต้องตัดสินใจลงมือตัดโค่นต้นไม้แห่งประชาธิปไตยลงไปเพื่อจะปลูกต้นไม้สายพันธุ์ที่ไม่เป็นอันตรายกับกองทัพทดแทน

เรื่องนี้ แม้แต่หน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วย ที่มีบุคลากรทำงานอยู่ในเมียนมาในสถานะต่างๆ ก็ยังประเมินผิดพลาดกันมาแล้ว โดยส่วนใหญ่ไม่มีใครเชื่อว่ากองทัพเมียนมาจะกล้าทำการรัฐประหารเงียบ แต่คนที่ทำงานด้านองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศกลายเป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกๆ ที่ตรวจพบกลิ่นโชยการรัฐประหารใหญ่ และสุดท้าย มันก็ไม่เหนือการคาดหมาย…

รูปธงของพรรค NLD ที่มาภาพ : https://th.wikipedia.org/wiki/

ชายแดนภาคเหนือในวันนี้…ปกคลุมด้วยความกลัว

ภายหลังการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา สถานการณ์ทางการเมืองมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองสำคัญหลักๆ ที่อยู่ตอนในของประเทศ เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พะโค ตองยี แต่สำหรับเมืองสำคัญๆ ที่อยู่ตรงข้ามกับพื้นที่ภาคเหนือของไทย เช่น จ.ท่าขี้เหล็ก ด้านตรงข้าม อ.แม่สาย และ จ.เมียวดี ด้านตรงข้าม อ.แม่สอด ของไทย สถานการณ์การชุมนุมประท้วงต่อต้านทหารเมียนมาและการปราบปรามผู้ชุมนุมมีความรุนแรงน้อยกว่าพื้นที่ชั้นในอย่างเห็นได้ชัด

แม้ว่าหลังการรัฐประหารใหม่ๆ เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งสองเมืองหลักนี้มีประชาชนจำนวนมากนับหมื่นๆ คน ออกมารวมตัวเคลื่อนไหว แสดงออกเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา แต่หลังจากที่มีการส่งกำลังทหารเข้าเสริมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เข้าควบคุมพื้นที่ และมีการจัดการเป้าหมายที่เป็นแกนนำผู้ชุมนุมในพื้นที่อย่างเด็ดขาด ทั้งด้วยการจับกุมตัวไปคุมขังโดยไม่มีการตั้งข้อหาหรือสอบสวน รวมทั้งการสังหารโหดแกนนำเพื่อสร้างความหวาดกลัว

สภาพของขบวนการเคลื่อนไหวในพื้นที่ทั้งสองเมืองนี้ก็เปลี่ยนไป หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ในพื้นที่ตรงข้ามจังหวัดและอำเภอชายแดนภาคเหนือ แทบไม่มีการชุมนุมเชิงกายภาพของมวลชนที่เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ๆ อีกเลย ไม่เหมือนในพื้นที่ตอนในของเมียนมาที่ยังมีการชุมนุมของมวลชนกลุ่มใหญ่อย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่พบในเมืองท่าขี้เหล็กและเมียวดีมีเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการติดธงสัญลักษณ์สีแดง และป้ายข้อความต่อต้านการยึดอำนาจของทหาร ตามจุดชุมชนต่างๆ แต่ไม่พบการรวมตัวเพื่อชุมนุมประท้วงต่อต้านการรัฐประหารในลักษณ์ที่เป็นการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ๆ ใดๆ เนื่องจากทางทหารและตำรวจเมียนมาได้รับคำสั่งให้ใช้มาตรการเด็ดขาดในการเข้าปราบปรามจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงอย่างจริงจัง และมีการส่งกำลังทหารออกลาดตระเวนในพื้นที่ที่กลุ่มผู้ชุมนุมชอบมาปรากฏตัวแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง

นักวิเคราะห์และสังเกตการณ์ด้านความมั่นคงชายแดนให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นที่เมืองหลักอย่าง จ.ท่าขี้เหล็ก ด้านตรงข้าม อ. แม่สาย จ. เชียงราย และ จ.เมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ค่อนข้างสงบกว่าพื้นที่ชั้นในของเมียนมา เนื่องมาจากพื้นที่ทั้งสองไม่ใช่เมืองศูนย์กลางการศึกษา ไม่มีมหาวิทยาลัยชั้นนำ จึงขาดแกนนำที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่กล้าลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจของกองทัพ รวมทั้งทั้งสองเมืองเป็นเมืองการค้าและเศรษฐกิจหลัก อีกทั้งยังมีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ กลุ่มคนที่คุมเศรษฐกิจและการค้าในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มว้า (ใน จ. ท่าขี้เหล็ก) และจีน (ใน จ.เมียวดี) ซึ่งคนเหล่านี้พยายามปรับตัว รักษาสถานะของตัวเองให้รอดพ้น ด้วยการพยายามไม่เข้ามายุ่งหรือสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐประหารมากนัก เพราะกล้วว่าตนเองจะกลายเป็นเป้า และอาจถูกฝ่ายกุมอำนาจในเมียนมาจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งได้

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญานบางอย่างที่น่าสนใจ นั่นคือ เมื่อ 5 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ปรากฏข่าวสารการลอบวางระเบิดที่สำนักงานผู้บังคับการตำรวจเขตท่าขี้เหล็ก โดยยังไม่มีกลุ่มไหนออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่คาดว่ากลุ่มที่มีศักยภาพในพื้นที่ที่จะดำเนินการเช่นนี้ได้มีเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น

การจุดไฟเผาสัญลักษณ์ที่เกี่ยวพันธ์กับกองทัพพม่า ในเมืองปางโหลง รัฐฉาน ที่มาภาพ : Shan News https://www.facebook.com/shannews

จะฝากความหวังไว้ที่ใคร

การออกมารวมตัวชุมนุมประท้วงต่อต้านกองทัพของกลุ่มมวลชนกลุ่มต่างๆ ในเมียนมา รวมทั้งกลุ่มข้าราชการออกมาแสดงอารยะขัดขืนร่วมเคลื่อนไหวในนาม “CDM” รวมถึงกลุ่มชนกลุ่มน้อย ที่มีกองกำลังของตัวเอง (ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ 10 กลุ่ม) ที่ลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) และได้มีท่าทียืนยันชัดเจนว่าไม่เอารัฐประหาร และพร้อมทําตามมติคณะกรรมการทีมขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ (Peace Pocess Steering Team: PPST) และขออยู่ข้างประชาชนเมียนมา ส่งเสริมการเคลื่อนไหวของประชาชนและ CDM ที่ต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร และประกาศให้การสนับสนุนคณะกรรมการ Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw – CRPH มีสถานะเป็นรัฐบาลเงา ที่จัดตั้งโดยสมาชิกพรรค NLD ซึ่งหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ (บางรายงานแจ้งว่า แกนนำหลักเคลื่อนไหวอยู่ในเขตประเทศอินเดีย)

อย่างไรก็ตามต้องขอย้ำว่า ที่ผ่านมา กองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธทั้ง 10 กลุ่มไม่ค่อยไว้วางใจบทบาทของพรรค NLD มากนัก เพราะตลอดเวลาที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ พรรค NLD แสดงออกถึงความไม่จริงใจในการเจรจาสันติภาพมากนัก โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “การจัดตั้งสหพันธรัฐ” ที่ดูเหมือนจะไม่เป็นไปตามที่ชนกลุ่มน้อยต้องการ โดยฝ่าย NLD ก็เล่นเกม โยนบาปไปให้ฝ่ายกองทัพแทน แต่มาถึงวันนี้ รัฐบาลเงา ในนาม CRPH ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประกาศจัดตั้ง “สหพันธรัฐ” เอาใจชนกลุ่มน้อย ก็ต้องดูกันต่อไปว่าสถานการณ์จากนี้จะเป็นอย่างไรกันต่อไป

กลุ่มสหภาพชนชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union — KNU) เป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่เอารัฐประหาร และมีการจัดมวลชน มีการจัดการชุมนุมประท้วงการรัฐประหารในเขตพื้นที่ของตัวเอง รวมทั้งมีการนํากําลังออกมาคุ้มกันกลุ่มผู้ชุมนุมในเขต จ.เมียวดี

ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว KNU ยังออกมาสร้างประเด็นข่าวเพื่อขัดขวางการขนส่งเสบียงและยุทธปัจจัย ผ่านจากไทยไปให้ทหารเมียนมาที่ตั้งฐานในเขตอิทธิพลของ KNU “กองข้าว 700 กระสอบ ริมสาละวิน” ที่เป็นประเด็นร้อน จนทำให้กองทัพภาค 3 ต้องออกมาชี้แจงกันสารพัด รวมทั้งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้นายกรัฐมนตรีไทยต้องหัวเสีย เพราะถ้าเป็นวาระปกติ การขนส่งเสบียงเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ทำกันได้ตามช่องทางความสัมพันธ์ของคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-เมียนมา หรือ TBC ที่เป็นช่องทางติดต่อ ช่วยเหลือ แบบไม่เป็นทางการอยู่แล้ว และที่มากไปกว่านั้น กะเหรี่ยง KNU แอบส่งกองกำลังเข้าโจมตีและยึดฐานฯ ซิมูทะ และได้จับกุมทหารเมียนมา จำนวน 8 นาย มี ผบ.พัน 1 นาย , ร.อ. 1 นาย ทหารเมียนมาเสียชีวิต 8 นาย พร้อมยึดอาวุธจำนวนมาก จนทำให้กองทัพเมียนมาต้องหัวร้อน

จากรายงานเหตุการณ์ กองกำลังกะเหรี่ยง KNU เข้าตี ทหารเมียนมาฐานฯ ซิมูทะ พัน. คร. 264 บริเวณ พิกัด LA 364266 ด้านตรงข้ามหน่วยพิทักษ์ป่าไม้นอป่าหน่า ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ผลการปะทะ ได้มีชาวบ้านหมู่บ้านแพท่าและหมู่บ้านสะกอท่า จำนวน 294 คน อพยพมาอาศัยอยู่ที่ชายหาดแม่น้ำสาละวิน บริเวณใกล้กับหน่วยรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน (ศูนย์สบแงะ) ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ช่วงบ่าย 25 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมาเครื่องบินรบ YAK 103 บินจากฐานบินตองอู จ.ผาปูน รัฐกะเหรี่ยง บินมาทิ้งระเบิดฐานที่มั่นของกองพลน้อยที่ 5 กองกำลังกะเหรี่ยง KNU ที่บ้านเดปู่โน๊ะ จังหวัดผาปูน ซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านดิบุนุ ส่งผลให้ชาวบ้านเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 20 คน

ที่มาภาพ : https://www.theguardian.com/world/2021/apr/03/desperate-burmese-refugees-flee-to-thailand-and-india-to-escape-crisis

หญ้าแพรกที่แหลกลาญ

สถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับ KNU ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยนับตั้งแต่เวลาประมาณเที่ยงวันของวันที่ 28 มีนาคม 2564 ทหารเมียนมาได้ส่งกำลังโจมตี แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหายของกองกำลังพลกะเหรี่ยง ทั้งนี้ บ้านเดโปโน๊ะ ถือว่าเป็นศูนย์ราชการของกองกำลังกะเหรี่ยงKUN ห่างจากแม่น้ำสาละวินที่เป็นเส้นแบ่งเขตประเทศเมียมากับประเทศไทยประมาณ 18 กิโลเมตร และนอกจากนี้การสู้รบที่เข้มข้นและมีเสียงปืนดังอยู่เป็นระยะ ทำให้ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs) ที่อาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวอิตุท่า และหมู่บ้านในรัฐกะเหรี่ยง ฝั่งพม่า ด้านตรงข้ามบ้านแม่สะเกิบ ม.5 ต. แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ในรอบแรกจำนวนประมาณ 1,900 คน ต้องมีการอพยพผู้ป่วย เด็ก และผู้สูงอายุ ข้ามแม่น้ำสาละวินมายังฝั่งไทย

ปัจจุบันไทยรับผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา ที่อพยพเข้ามาพักพิงอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวด้านพื้นที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ 19 มี.ค. – 4 เม.ย. 2564 มีจํานวน 2,027 คน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยดูแลรับผิดชอบตามหลักมนุษยธรรม

นอกจากนี้ทางคณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (พรมแดนไทย — Shan State Refugee Committee Thai Border) ซึ่งมีจายแลง ผู้รับผิดชอบค่ายพักพิงกุงจ่อ เป็นประธาน คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน-พรมแดนไทย เรียกร้องรัฐบาลไทย เมื่อ 2 เม.ย. 2564 ขอให้รับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs) ประมาณ 6,000 คน ที่อยู่ทางใต้ของรัฐฉาน เคลื่อนย้ายเข้าสู่ไทยทันทีที่เริ่มมีการโจมตี RCSS จาก ทมม. โดยให้ที่พักพิง/หลบภัย ที่ปลอดภัย และเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ภายหลังจาก ทมม. ประกาศจะโจมตีที่ตั้งของ RCSS ตรงข้าม จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจาก RCSS แสดงจุดยืนเข้าข้างผู้ประท้วงที่ต่อต้านกองทัพที่เข้ายึดอำนาจ (ดูรายละเอียด ภาคผนวก)

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ปรากฏข่าวสารว่าทางกองทัพไทยพยายามทุกวิถีทางที่จะผลักดันผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) กลับออกไปทันทีที่เหตุการณ์สงบลง รวมทั้งปรากฏข่าวสารตลอดว่า หน่วยทหารในพื้นที่รับผิดชอบไม่ยอมให้กองทัพสื่อมวลชน รวมทั้งภาคเอกชน หรือองค์กรพัฒนาเอกชน ต่างๆ เข้าพื้นที่เพื่อไปทำข่าว หรือขนเสบียง สิ่งของรับบริจาคต่างๆ นำไปให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยเหล่านี้ จนเกิดกระแสดราม่าเรื่องมนุษยธรรม และสิทธิมนุษยชนตามมามากมาย ซึ่งในมุนมองของกองทัพและฝ่ายความมั่นคงของไทยในพื้นที่ภาคเหนือ พวกเขาต้องทำในสิ่งที่ต้องทำเท่านั้น

ด้วยบทเรียนที่ผ่านมา เป็นเวลากว่า 40 ปี แล้ว ที่ประเทศไทยต้องรับภาระ “ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา” ที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกระจายอยู่ 9 ศูนย์ ในพื้นที่ จ. แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ. กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรี การเข้ามาชั่วคราวของคนเหล่านี้ ยาวนานมาถึง 40 ปีแล้ว ปัจจุบันมียอดผู้หลบหนีเข้ามานับหมื่นคน คนเหล่านี้มีลูก มีหลาน เป็นมรดกทางมนุษยธรรม ที่ยังไม่การเหลียวแลและช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศใดๆ

และอีกประเด็นหนึ่งที่จะละเลยไม่กล่าวถึงไม่ได้ นั่นคือ มาถึงวันนี้ นโยบายความมั่นคงชายแดนของไทยเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ได้ใช้นโยบายรัฐกันชน (buffer state) ที่ต้องอาศัยชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไว้เป็นแนวกันชนกับทหารเมียนมาแล้ว แต่ลึกๆ ระดับนำของกองทัพไทยมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น พูดคุยกับระดับนำของเมียนมาได้โดยตรงและง่ายกว่า และต้องยอมรับว่าชนกลุ่มน้อยในเมียนมาเองก็เปลี่ยนไปมาก หลายกลุ่มกลายเป็นกองกำลังพิทักษ์ผลประโยชน์เฉพาะถิ่นไปแล้ว การพูดคุย เจรจา ทำได้ไม่ง่ายเหมือนก่อนแล้ว …จึงไม่แปลกที่เวลานี้ประเทศไทยจะวางตัวต่อสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาได้ยากลำบาก

ที่มาภาพ : https://napavalleyregister.com/entertainment/myanmar-junta-charges-celebrities-with-promoting-protests/image_fac0204f-b145-5120-a739-8d0e218e1037.html

แนวโน้มสถานการณ์ด้านชายแดนภาคเหนือ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา กองทัพเมียนประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว กับกองกำลังชนกลุ่มน้อย เป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งไม่ได้รับการตอบรับจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยมากนัก เพราะทุกกลุ่มไม่ไว้วางใจกองทัพเมียนมา เนื่องจากแบบแผนและพฤติกรรมในอดีตของกองทัพเมียนมาที่ผ่านมามักจะไม่มีความตรงไปตรงมา และแฝงนัยและเกมที่เหนือชั้นไว้เสมอ อย่างไรก็ตาม อาจพิจารณาได้ว่าการประกาศหยุดยิงครั้งนี้น่าจะมีนัยเพียงเพื่อต้องการลดกระแสการประณามจากนานาชาติ กรณีการใช้ความรุนแรงกับประชาชนและชนกลุ่มน้อย และไม่ต้องการเปิดศึกหลายด้านกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย รวมทั้งมีการอ้างถึงว่าเพื่อต้องการลดผลกระทบที่มีต่อไทย กรณีทําให้มีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา อพยพข้ามชายแดนมาฝั่งไทย ซึ่งอาจส่งผลให้ชาติอาเซียนมีมติกดดันต่อรัฐบาลทหารเมียนมามากยิ่งขึ้น

ทางด้านกองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ก็ไม่ได้ไว้วางใจในสถานการณ์ และได้เร่งเตรียมการทุกๆ ด้านเพื่อรองรับสถานการณ์การสู้รบใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งการเกณฑ์กำลังพล ฝึกทบทวนยุทธวิธีในการป้องกันฐานที่มั่น และจัดเตรียมเสบียง อาวุธยุทธภัณท์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น จึงไม่แปลกที่ในห้วงนี้ รายการสินค้าสำคัญๆ เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้าง อาหาร มีการส่งออกตามช่องทางชายแดนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากปัจจัยหลายๆ ด้านรวมกัน เชื่อว่าสถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนภาคเหนือในห้วงเวลาใกล้ๆ นี้ ยังไม่มีแนวโน้มเกิดการสู้รบใหญ่ แต่จะมีเพียงการสู้รบในพื้นที่จำกัด หรือการปะทะในระดับพื้นที่เฉพาะ กระจายไปตลอดแนวชายแดน ตั้งแต่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ทั้งนี้เนื่องจากกองทัพเมียนมายังต้องทุ่มเทกําลังพลของตนจํานวนมากไปในการควบคุมการชุมนุมประท้วงในเมืองเป็นหลัก การเปิดศึกกับชนกลุ่มน้อยยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมนัก

อีกประเด็นหนึ่ง คือ หากเกิดการสู้รบใหญ่กับชนกลุ่มน้อย กองทัพเมียนมาก็ยังหวาดระแวงการเข้าแทรกแซงของกองกำลังนานาชาติ (แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ยากมาก ถ้าพิจารณาจากเหตุปัจจัยในขณะนี้) รวมทั้งพี่ใหญ่อย่างจีน ก็ไม่อยากให้เกิดการสู้รบกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยในขณะนี้ เพราะจีนไม่อยากให้กระทบต่อผลประโยชน์ของจีนในเมียนมา โดยเฉพาะเส้นทางท่อลําเลียงก๊าซและน้ำมันระยะทาง 793 กม. จากเมืองจ๊อกผยิ่ว รัฐยะไข่ – เมืองรุ่ยลี่ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งดําเนินโครงการโดยบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติจีน (CNPN) นอกจากนี้ จีนยังดําเนินโครงการขนาดใหญ่ในเมียนมา เช่น สร้างท่าเทียบเรือและคลังน้ำมันขนาดใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าจีนคงไม่ยอมให้ความไม่สงบใดๆ มากระทบต่อผลประโยชน์ของจีนในเมียนมาได้

  • กองทัพชาติพันธุ์…ตัวแปรสำคัญในเมียนมา
  • วันกองทัพพม่า 27 มีนาคม 2564 : วันแห่งการสูญเสีย
  • สหรัฐฯคว่ำบาตรลูกนายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมา
  • ภาคผนวก

    (1)จุดพักพิง ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) จ. แม่ฮ่องสอน 4 จุด รวมจำนวน 1,235 คน (ยอด วันที่ 2 เม.ย 2564 ลดลง 165 ราย) รายละเอียด ดังนี้

      1. พื้นที่ด้านทิศใต้ของหน่วยพิทักษ์ป่าผาแดง (ห้วยคอกิ) พิกัด LA 303444 รวมจำนวน 101 คน (ชาย 49 คน หญิง 52 คน)
      2. พื้นที่ด้านทิศใต้หน่วยพิทักษ์ป่านอปานา (ห้วยโกแก๊ระ) พิกัด LA 379241 รวมจำนวน 917 คน (ชาย 397 คน หญิง 520 คน)
      3. พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวบริเวณพื้นที่ด้านทิศใต้หน่วยพิทักษ์ป่าสบแงะ พิกัด LA 561216 รวมจำนวน 108 คน (ชาย 64 คน หญิง 44 คน)
      4. พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวบริเวณห้วยมะระ (ใต้ฐาน ตชด.จอท่า) รวมจำนวน 109 คน (จำนวนยอด ชาย 57 คน หญิง 52)

    (2)จุดผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs)
    ปัจจุบันค่ายพักพิงจำนวน 6 แห่ง ที่อยู่ทางตอนใต้ของรัฐฉาน/ใกล้ทางแนวชายแดนไทยและจำนวน ผู้พักพิง เมื่อ ธ.ค. 2563 รวมทั้งสิ้น 5,798 คน ดังนี้

      1. ค่ายพักพิงกองมุ่งเมือง ตรงข้าม บ.รักไทย ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 215 คน (ชาย 106 คน หญิง 109 คน)
      2. ค่ายพักพิงดอยไตแลง ตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 2,381 คน (ชาย 1,188 คน หญิง 1,193 คน)
      3. ค่ายพักพิงดอยก่อวัน ตรงข้าม บ.พญาไพร ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย จำนวน 2,559 คน (ชาย 1,257 คน หญิง 1,302 คน)
      4. ค่ายพักพิงดอยสามสิบ ตรงข้าม ต.ม่อนปิน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ จำนวน 390 คน (ชาย 223 คน หญิง 167 คน)
      5. ค่ายพักพิงดอยดำ ตรงข้าม อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ จำนวน 253 คน (ชาย 115 คน หญิง 138 คน)
      6. ค่ายพักพิงกุงจ่อ บ.กุงจ่อ ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ มีผู้พักพิง 303 คน (ชาย 149 คน หญิง 155 คน) **อยู่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่