ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > นบข. ปรับยุทธศาสตร์ข้าว ”การตลาดนำการผลิต” ของบกลางกว่า 10,000 ล้าน อุ้มชาวนาครบวงจร

นบข. ปรับยุทธศาสตร์ข้าว ”การตลาดนำการผลิต” ของบกลางกว่า 10,000 ล้าน อุ้มชาวนาครบวงจร

25 กุมภาพันธ์ 2016


เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 9.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)ครั้งที่ 1/2559  ณ ห้องประชุม ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 9.00 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2559 ณ ห้องประชุม ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2559 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้มีการนำเสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรหลายเรื่องที่เป็นวาระสำคัญ คือ “เรื่องการจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวอย่างครบวงจร” ตั้งแต่เริ่มการเพาะปลูกข้าว การบริหารจัดการการผลิตไปถึงการตลาด จัดทำแผนระยะสั้น ปานกลางและระยะยาว เพื่อที่จะนำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ข้าวในช่วง 20 ปี สำหรับแผนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยแผนการผลิตและการตลาดข้าวแบบครบวงจรให้เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นไป จากนั้นต้องจัดทำแบบการผลิตและการตลาดยาง, มันสำปะหลัง, อ้อย แบบครบวงจรต่อไป

“การแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรวันนี้จะคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว มันต้องคิดแบบครบวงจร และต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำที่มีอย่างจำกัด รวมทั้งความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูกด้วย จึงต้องหามาตรากรสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกพืช เพื่อลดปริมาณการผลิตข้าว ขอย้ำ ไม่ใช้มาตรการบังคับ ปีนี้จึงกำหนดเป้าหมายในการผลิตข้าวไว้ที่ 25 ล้านตันข้าวเปลือก แต่ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาด กรณีเกิดปัญหาภัยแล้งหรือเกิดโรคระบาด ศัตรูพืช จึงตั้งเป้าหมายการผลิตข้าวไว้ที่ 27 ล้านตันข้าวเปลือก” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

จากนั้น พล.อ. ประยุทธ์ เปิดให้ผู้สื่อข่าวซักถาม ตามกติกาไม่เกิน 4 คำถาม ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ สอบถามถึงมูลค่าความเสียหายจากการดำเนินโครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นคำถามแรก ปรากฏว่า พล.อ. ประยุทธ์ ตอบด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวว่า “ยังไม่มีการสรุปตัวเลขความเสียหาย ให้ผู้สื่อข่าวไปสอบถามคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเอง ทำไม จะต้องเอาให้ได้หรือไง ฝากไปบอกรอยเตอร์ด้วยเมื่อวานนี้ พูดให้ดีด้วย” (เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 สำนักข่าวรอยเตอร์สัมภาษณ์นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล) จากนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ก็ยุติการแถลงข่าว เดินกลับเข้าตึกไทยคู่ฟ้า

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เดือนธันวาคม 2558 ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ศึกษาแผนงานการผลิตและการตลาดข้าวอย่างครบวงจรในระยะเวลา 6 เดือน, 12 เดือน และ 18 เดือน พร้อมกับทบทวนยุทธศาสตร์ข้าวให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ 20 ปี โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับการผลิตข้าวไทยให้มีคุณภาพดีและขายตามราคาตลาดโลก หลังจากที่คณะทำงานศึกษาเสร็จเรียบร้อย ตนในฐานะเลขานุการ นบข. จึงนำผลการศึกษาทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุม นบข.

จากผลการศึกษาของคณะทำงาน พบว่าเกษตรกรมีปัญหา 6 ด้าน คือ

1. ปัญหาอุปสงค์และอุปทานขาดความสมดุล
2. ปัญหาความไม่เป็นธรรม เช่น เครื่องมือตรวจวัดความชื้นวัดถูกต้องหรือไม่ ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้สะท้อนราคาส่งออกข้าวหรือไม่ ปัญหาเหล่านี้ต้องการแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรม
3. ปัญหาข้อมูลข่าวสาร เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสารได้เท่าเทียมกับภาคการผลิตอื่น
4. ปัญหาการผลิตไม่ตอบสนองกับความต้องการของตลาด
5. การจัดการมีปัญหาตั้งแต่การเริ่มเพาะปลูกจนถึงการตลาด ขาดปัจจัยการผลิต ต้นทุนสูง รวมทั้งการตลาด ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลอย่างครบวงจร
6. ขาดนวัตกรรม ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่มีข้าวที่มีนวัตกรรมการผลิตที่สร้างมูลค่าเพิ่มประมาณ 10% ของข้าวที่ผลิตได้ เช่น ข้าวที่มีโภชนาการพิเศษ ข้าวอินทรีย์ ข้าวจีไอ เป็นต้น ปัญหาคือ ประเทศไทยจะมุ่งส่งออกข้าวเพียงอย่างเดียวหรือ

“ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการบริหารจัดการผลิตข้าวแบบครบวงจร ตั้งแต่เริ่มผลิต เก็บเกี่ยว ไปจนถึงจัดจำหน่าย โดยมีแผนงานชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม และมีกระบวนทัศน์ในการทำงานใหม่ 4 ด้าน คือ 1. การตลาดนำการผลิต 2. แบ่งตลาดเป็น 2 ส่วน พัฒนาการผลิตเพื่อตอบสนองตลาดใหญ่ (Mass Market) และตลาดเฉพาะ (Niche market) 3. ปรับโครงสร้างการผลิตให้ครบวงจรและเหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก 4. สร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งเครื่องชั่ง ตวง วัด ตรวจความชื้น ต้องมีความเที่ยงตรง ทั้งหมดจัดทำเป็นแผนการผลิตและการตลาดข้าวอย่างครบวงจร 3 ระยะ คือ แผน 6 เดือน, แผน 12 เดือน และแผน 18 เดือน ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม นบข. ให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ฤดูการผลิต 2559 เป็นต้นไป” น.ส.ชุติมากล่าว

น.ส.ชุติมากล่าวต่อว่า จากการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ การตลาดนำการผลิต ก่อนลงมือผลิตข้าว ก็ต้องตกลงกันก่อน ปีนี้ประเทศไทยจะผลิตข้าวให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศและส่งออกที่เหมาะสมควรมีปริมาณเท่าไหร่ จากการศึกษาของคณะทำงานของ นบข. พบว่าควรอยู่ที่ระดับ 25 ล้านตัน แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงภัยแล้ง โรคระบาด จึงต้องเพิ่มความยืดหยุ่นหรือเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ 8% เป้าหมายการผลิตข้าวปีนี้จึงอยู่ที่ระดับ 27 ล้านตัน น้อยกว่าปี 2558 กำลังการผลิตจริงอยู่ที่ 32 ล้านตัน

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (ขวา)
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (ขวา)

หลังจากกำหนดเป้าหมายการผลิตข้าวแล้ว ทางคณะทำงานของ นบข. ก็มีการกำหนดมาตรการที่จะนำไปสู่เป้าหมายการผลิตข้าว 27 ล้านตัน ดังนี้

1. โครงการสนับสนุนเกษตรกรหันไปเพาะปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนข้าวในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเจ้าภาพ ตั้งเป้าหมายมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 60,000 ราย หรือคิดเป็นพื้นที่ 3 แสนไร่ กระทรวงเกษตรฯ ขอใช้ “งบกลาง” ในปีงบประมาณ 2559 สนับสนุนวงเงิน 648 ล้านบาท

จากการศึกษาของคณะทำงาน พบว่าในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานิยมปลูกนาปรัง ปลูกได้ปีละหลายครั้ง ทำให้เกิดปัญหาปริมาณข้าวล้นตลาด ขณะที่ภาคอีสานปลูกข้าวได้ปีละครั้ง (นาปี) ดังนั้น กำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ที่ 22 จังหวัด ที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเชิญเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนข้าว ทั้งในรูปแบบที่ถาวรและไม่ถาวร (ปลูกพืชอายุสั้น)

สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนในเรื่องปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ค่าใช้จ่ายในการเตรียมแปลงเพาะปลูก หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็จะมีกระทรวงพาณิชย์ดูแลด้านการตลาด

2. โครงการปลูกพืชพักดินของกรมพัฒนาที่ดิน กำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ที่ 5 แสนไร่ในเขตพื้นที่ 22 จังหวัด คาดว่ามีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 25,000 ราย ของบกลางสนับสนุน 2,382 ล้านบาท ในช่วงที่เกษตรกรทำนาไม่ได้ ควรสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกพืชปรับปรุงดิน หรือเรียกว่า “ปลูกพืชปุ๋ยสดในนาข้าว” อย่างเช่น ปอเทือง โดยกรมพัฒนาที่ดินจะนำเมล็ดพันธุ์ไปแจกจ่ายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ คอยให้คำแนะนำเกษตรกร หลังเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์เสร็จ ก็ทำการไถกลบ เพิ่มปุ๋ยให้กับดิน จากนั้น กรมพัฒนาที่ดินจะกลับมารับซื้อเมล็ดพันธุ์ กำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำตามคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ เพื่อนำไปเพาะปลูกในฤดูกาลหน้า

“ข้อดีของโครงการนี้ คือ 1. ลดพื้นที่เพาะปลูกข้าว 2. พัฒนาดิน โดยการสนับสนุนให้เพาะปลูกพืชปุ๋ยสด 3. พักดิน ตัดวงจรชีวิตแมลงหรือเป็นศัตรูพืช” น.ส.ชุติมากล่าว

3. โครงการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี โดยมีกรมการข้าวเป็นผู้รับผิดชอบ กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 20 จังหวัด พื้นที่ 64,000 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 64,000 ราย ขอรับการสนับสนุน “งบกลาง” วงเงิน 206 ล้านบาท โดยกรมการข้าวจะคัดเลือกเกษตรกรและชุมชนที่มีพื้นที่ที่เหมาะสม นำเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีไปให้เกษตรกรเพาะปลูก ติดตามดูแลผลผลิตให้มีประสิทธิภาพ และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ชาวบ้าน คัดเลือกและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีไว้ใช้ในฤดูกาลผลิตต่อไปอย่างน้อย 2 ไร่

4. โครงการสินเชื่อสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาแปลงใหญ่ ตามข้อเสนอของสมาคมชาวนาไทย โดย ธ.ก.ส. จะสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำแก่ชาวนารวมพื้นที่นาปล่อยกู้กลุ่มละไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยกลุ่มชาวนา 0.1% ต่อปี ชำระหนี้ภายใน 1 ปี ซึ่งทาง ธ.ก.ส. จะมาขอรับเงินชดเชยค่าดอกเบี้ยจากรัฐบาล 3.9% ต่อปี ตั้งเป้าหมายปล่อยกู้ 426 กลุ่ม คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 83 ล้านบาท

5. โครงการส่งเสริมนวัตกรรมการผลิตข้าว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น สนับสนุนให้เกษตรกรสกัดน้ำมันหรือวิตามินจากข้าว เป็นต้น

6. โครงการยกระดับโรงสีให้มีคุณภาพ เปิดโรงเรียนฝึกอบรมโรงสีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล มอบรางวัลโรงสีติดดาว รวมทั้งบริหารจัดการรถเกี่ยวข้าวให้พอเพียง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับเกษตรกร ถูกบังคับให้เก็บเกี่ยวข้าวในช่วงที่ยังไม่ถึงเวลาเกี่ยว เนื่องจากขาดแคลนรถเกี่ยวข้าว

7. มาตรการบริหารจัดการด้านการตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

1) ตลาดในประเทศ มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันราคาข้าวที่ยุ้งฉางเช่นเดียวกับปีก่อน โดยเกษตรกรจะได้รับเงินจาก ธ.ก.ส. 90% ของราคาตลาด และได้รับค่าจ้างเก็บข้าวอีกตันละ 1,500 บาท เป็นระยะเวลา 5 เดือน หากราคาข้าวตกต่ำ เกษตรกรก็จะไม่ขาดทุน เพราะได้รับเงินจากรัฐบาลไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการให้ผู้ประกอบการหรือสถาบันรับซื้อข้าว เพื่อชะลอประมาณข้าวที่จะเข้าสู่ตลาด

2) มาตรการเจาะตลาดใหม่และรักษาตลาดเดิมเอาไว้ เป้าหมายการส่งออกข้าวปีนี้อยู่ที่ 9.5 ล้านตัน เนื่องจากเกิดปัญหาภัยแล้ง ปริมาณข้าวที่ผลิตลดลง การเจาะตลาดยังเน้นกลุ่มเอเชียทั้งหมด กลุ่มตะวันออกกลาง ตลาดแอฟริกา กำลังซื้อก็ลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง ทำให้กำลังซื้อจากแอฟริกาลดลงมา ส่วนผลการดำเนินการประมูลข้าว 5.7 แสนตัน น่าจะประมูลได้ประมาณ 3.62 แสนตัน หมายถึงราคาสูงสุดที่เสนอเข้ามาอยู่ในเกณฑ์ที่ นบข. เห็นชอบได้อยู่ที่ 3.62 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วน 65% ของปริมาณข้าวที่เปิดประมูล

และจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการบริโภคข้าว 190 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ตอนนี้ลดเหลือ 100 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จึงต้องส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงคุณประโยชน์ของข้าว ข้าวดี รับประทานแล้วไม่อ้วน กินแล้วไม่แพ้ นบข. มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งทำการประชาสัมพันธ์ สร้างภาพลักษณ์ เพื่อขยายตลาดข้าวมากขึ้น

“สำหรับแผนงานด้านการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรทั้ง 3 ระยะ ส่วนใหญ่ใช้งบประมาณปกติ แต่มีโครงการของกระทรวงเกษตรฯ 4 โครงการ ขอใช้ “งบกลาง” ในปีงบประมาณ 2559 วงเงิน 3,319 ล้านบาท ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ ต้องทำเรื่องขออนุมัติ ครม. เร็วๆ นี้ ส่วนมาตรการพยุงราคาข้าวของ ธ.ก.ส. ขอใช้งบกลางปี 2560 ประมาณ 6,764 ล้านบาท โดยที่ประชุม นบข. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงาน ซึ่งทางคณะอนุกรรมการชุดนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงาน 29 คณะ ที่มีผู้ตรวจราชการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ เข้ากำกับดูแลพื้นที่เพาะปลูกข้าว 67 จังหวัดอย่างใกล้ชิด” ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวทิ้งท้าย

ในวันเดียวกันนั้น นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรสู้วิกฤติภัยแล้ง 3 โครงการ วงเงินรวม 93,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย วงเงินสินเชื่อรวม 72,000 ล้านบาท, โครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤติภัยแล้ง วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็นของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งปี 2558/2559 วงเงินสินเชื่อ 6,000 ล้านบาท

ดูรายละเอียดของมาตรการสินเชื่อช่วยเหลือเกษตรกรสู้วิกฤติภัยแล้งที่นี่