ThaiPublica > เกาะกระแส > นายก ฯสั่งคลังจัดเยียวยาเพิ่ม-มติ ครม.ตั้ง “วิษณุ” สอบปม “ไทยคม” ไฟเขียว “อินทัช” ถือหุ้นเกิน 51%

นายก ฯสั่งคลังจัดเยียวยาเพิ่ม-มติ ครม.ตั้ง “วิษณุ” สอบปม “ไทยคม” ไฟเขียว “อินทัช” ถือหุ้นเกิน 51%

7 กันยายน 2021


ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

นายกฯจี้ ศธ.เร่งแจกเยียวยาผู้ปกครอง นร. 2,000 บาท-สั่งคลังทบทวน “บัตรคนจน-คนละครึ่ง”-เสนอมาตรการเพิ่ม-มติ ครม.ตั้ง “วิษณุ” สอบปม “ไทยคม” ไฟเขียว “อินทัช” ถือหุ้นเกิน 51%-แจกเยียวยา “นายจ้าง-ลูกจ้าง” 13 จว.สีแดงเข้ม รอบ 2 โอนเงิน ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. วันนี้นายกรัฐมนตรีไม่แถลงข่าวและไม่ได้มอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

จี้ ศธ.เร่งแจกเยียวยาผู้ปกครอง นร. 2,000 บาท

โดย ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนการประชุม ครม.วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวทักทายคณะรัฐมนตรีทุกคน เนื่องจากเป็นการประชุมแบบพบปะกันครั้งแรก หลังจากประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) โดยนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการหลักมี 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งรัดการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ปกครองนักเรียนรายละ 2 พันบาทให้เร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้มี 11 ล้านราย โดยมีการโอนเงินไปแล้ว 60% นายกรัฐมนตรีย้ำให้เร่งจ่ายเงินเยียวยาให้เร็วที่สุด

สั่งคลังทบทวน “บัตรคนจน-คนละครึ่ง”-เสนอมาตรการเยียวยาเพิ่ม

เรื่องที่ 2 นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงการคลังทบทวนในเรื่องของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง โดยขอให้เสนอมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมเข้ามา เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น โดยพิจารณาทั้งพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายว่ามีกลุ่มไหนตกหล่น โดยทำให้ถูกต้อง และครอบคลุม ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยทุกคน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ปรารภก่อนประชุม ครม. โดยมีการทักทายรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นการพบปะกันครั้งแรก หลังจากประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไป และแจ้งรัฐมนตรี ให้ระมัดระวังเรื่องการปฏิบัติตนอย่างสูงสุดในการป้องกันตนเองแบบ universal prevention รวมทั้งได้กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีทุกท่าน และทุกหน่วยงานได้รวมกันในการสนับสนุนข้อมูลต่าง ๆในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา และให้รัฐมนตรีทุกท่าน ทำงานตามภารกิจและนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปด้วยกัน ในแบบวิถีใหม่ที่มีการผ่อนคลายมาตรการ รวมถึงการเดินหน้าเศรษฐกิจภายใต้กรอบสาธารณสุข เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในวันนี้ และในอนาคต ลดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำ เดินหน้าพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและมั่งคั่งต่อไป

มติ ครม.มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำ ฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษก ฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

แจกเยียวยา “นายจ้าง-ลูกจ้าง” 13 จว.สีแดงเข้ม รอบ 2 โอนเงิน ก.ย.นี้

ดร. ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปลี่ยนแปลงรายละเอียด โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบการและแรงงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ดังนี้

    1. ขยายกรอบวงเงินจาก 17,050.4 ล้านบาท เป็น 17,912.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 862.2 ล้านบาท จากการปรับปรุงจำนวนนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่ 29 จังหวัด โดยมีนายจ้างจำนวน 226,394 ราย เพิ่มขึ้น 18,900 รายและผู้ประกันตน ม. 33 จำนวน 3,877,936 ราย เพิ่มขึ้น 400,375 ราย ซึ่งเป็นผลจากการขยายเวลาให้นายจ้างในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 16 จังหวัด สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ได้ภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้ ยังขยายระยะเวลาในการเบิกจ่ายและดำเนินโครงการฯ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม นี้
    2. อนุมัติเงิน 16,103.3 ล้านบาท ช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด เพิ่มเติม 1 เดือน (สิงหาคม) แบ่งเป็น 1) ช่วยเหลือนายจ้างจำนวน 194,660 ราย โดยจ่ายให้ 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,257 ล้านบาท 2) ช่วยเหลือผู้ประกันตนตาม ม. 33 สัญชาติไทย จำนวน 3,538,530 คน โดยจะจ่ายให้ 2,500 บาท/คน/เดือน เป็นจำนวนเงิน 8,846.3 ล้านบาท โดยจะเริ่มโอนเงินเยียวยาเดือนที่ 2 ภายในเดือนกันยายน 2564 นี้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้เป็นการอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมจำนวน 16,965.5 ล้านบาท เดิมที่อนุมัติไปแล้ว (เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564) จำนวน 17,050.4 ล้านบาท ทำให้โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ที่ประกอบด้วยการให้ความช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ม. 33 ในพื้นที่ 13 จังหวัดในระยะเวลา 2 เดือน (กรกฎาคม – สิงหาคม 2564) และในพื้นที่ 16 จังหวัด ระยะเวลา 1 เดือน (สิงหาคม 2564) มีกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 34,015.9 ล้านบาท

“ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังห่วงใยกลุ่มผู้ขับแท็กซี่และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยา กลุ่มผู้ขับแท็กซี่ และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันมาตรา 40 เนื่องจากมีคุณสมบัติอายุเกินที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างครอบคลุมด้วย” ดร.ธนกรฯ กล่าว

  • ครม.แจกเยียวยา “นายจ้าง-ลูกจ้าง” ม.33 ใน 13 จว.สีแดงเข้มรอบ 2 โอนเงิน ก.ย.นี้
  • อนุมัติ 4,254 ล้าน สั่งซื้อ “ซิโนแวค” 12 ล้านโดส รองรับฉีดไขว้

    ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติ เห็นชอบอนุมัติกรอบวงเงิน 4,254.36 ล้านบาท สำหรับจัดหาวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติม จำนวน 12 ล้านโดส เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชน ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

      1.กลุ่มประชาชนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง (ปอดอุดกั้น หอบหืด) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 (ไตวายเรื้อรัง) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน และโรคอ้วน (BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 35 น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม)
      2. ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป
      3. เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย เช่น ด่านควบคุมโรคตามชายแดน สถานกักกันโรค ทหาร ตำรวจ เจ้าที่เก็บขยะติดเชื้อเป็นต้น
      4. ประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

    นายธนกรฯ กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนซิโนแวคจำนวน 12 ล้านโดสนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชน เพราะเป็นวัคซีนที่ผลิตแล้วไม่ต้องทำการจัดซื้อล่วงหน้าเช่นเดียวกับวัคซีน ทำให้สามารถส่งมอบได้ในช่วงเดือน กันยายน – ตุลาคม 2564 และยังเป็นการรองรับการฉีดวัคซีนสูตรผสมและเพิ่มความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศที่รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มวัยแรงงาน 8 ล้านคน และกลุ่มแรงงานต่างด้าว 2 ล้านคน โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อชะลอไม่ให้เกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายในวงกว้าง การฉีดวัคซีนไขว้ระหว่างวัคซีน Sinovac และ แอสตร้าเซนเนก้า จะสามารถร่นระยะเวลาการฉีดลงได้ และยังทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับสูงตามผลการวิจัย ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชน ลดอัตราการป่วย/การเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 รวมทั้งลดผลกระทบ ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว

    มอบ กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศในปีนี้

    ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นสมควรกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของ อปท. ได้แก่ อบต. กทม. และเมืองพัทยา ซึ่งทั้งกระทรวงมหาดไทยเตรียมพร้อมด้านงบประมาณ และ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งออกระเบียบ และประกาศ กกต. พร้อมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไว้ด้วยแล้ว

    กระทรวงมหาดไทยจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ขององค์การบริหารส่วนตำบล , กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา โดยกำหนดรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ไว้ในข้อบัญญัติรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติมสำหรับกรณีการจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019

    ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง ได้ดำเนินการออกระเบียบและประกาศ กกต. ดำเนินการสรรหา กกต. ประจำอปท. ครบทุก อปท. แล้ว พร้อมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไว้ด้วยแล้ว

    นายธนกรฯ ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นว่า หากมีความพร้อม ก็อาจพิจารณาสมควรให้มีการเลือกตั้ง อบต. ทั่วประเทศภายในปีนี้ โดยได้มอบให้ กกต.พิจารณากรอบระยะเวลาที่เหมาะสม สำหรับการเลือกตั้ง กทม. และเมืองพัทยา จะมีพิจารณาในลำดับต่อไป

    เพิ่มวงเงินสินเชื่อ “บ้านล้านหลัง” เฟส 2 อีก 2 หมื่นล้าน

    ดร. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อย และรายได้ปานกลางเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอย่างมั่นคง ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนิน “โครงการบ้านล้านหลัง” โดยให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ปล่อยสินเชื่อแก่ประชาชนให้สามารถซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 1.2 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีผู้ยื่นขอสินเชื่อจนใกล้เต็มกรอบวงเงินโครงการแล้ว โดยข้อมูลตั้งแต่เริ่มโครงการ จนถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ธอส.ได้อนุมัติสินเชื่อโครงการบ้านล้านหลังแล้ว 52,514 ราย เป็นเงิน 39,522.37 ล้านบาท จากวงเงินโครงการรวม 50,000 ล้านบาท

    ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาและอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ที่ประชุม ครม.จึงเห็นชอบทบทวนมติเดิมโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการดังนี้

      1.ปรับชื่อเป็นโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2) พร้อมปรับกรอบรวงเงินโครงการเพิ่มจำนวน 20,000 ล้านบาท ทำให้วงเงินโครงการบ้านล้านหลังรวมทั้งสิ้น 70,000 ล้านบาท
      2.ธอส.ไม่กำหนดเกณฑ์รายได้ผู้กู้ เงินงวดผ่อนชำระรายเดือนไม่เกิน 1 ใน 2 ของรายได้สุทธิต่อเดือน จากเดิมที่กำหนด 1) ผู้กู้มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 25,000 บาท ผ่อนชำระรายเดือนไม่เกิน 1 ใน 2 ของรายได้สุทธิต่อเดือน 2) ผู้กู้มีรายได้ต่อเดือนเกิน 25,000 บาท ผ่อนชำระรายเดือนไม่เกิน 1 ใน 3 ของรายได้สุทธิต่อเดือน
      3.ปรับอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 1.99 ต่อปี เป็นระยะเวลา 4 ปี (จากเดิมดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับผู้กู้ที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 25,000 บาท)
      4.ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 หรือจนกว่า ธอส. ให้สินเชื่อจนเต็มวงเงินโครงการ จากเดิมสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564

    นอกจากนี้ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 700 ล้านบาท เพื่อชดเชยให้ ธอส. สำหรับส่วนต่างระหว่างรายได้ดอกเบี้ยรับตามแผนวิสาหกิจของ ธอส. กับรายได้ดอกเบี้ยรับจากโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2)

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่านอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังให้กระทรวงการคลังติดตามการดำเนินโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 อย่างใกล้ชิด และกำกับดูแลให้ ธอส. พิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดยมุ่งเน้นผู้กู้ที่ยังไม่เคยมีที่อยู่อาศัยมาก่อนเป็นอันดับแรก

    ตั้ง “วิษณุ” สอบปม “ไทยคม” ไฟเขียว “อินทัช” ถือหุ้นเกิน 51%

    ดร. รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบแนวทางการดำเนินการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และปัจจุบันชื่อบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)) เป็นผู้ได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ มีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 10 กันยายน 2564 สำหรับแนวทางดำเนินการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศมีรายละเอียด ดังนี้

      1.กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (สัญญาฉบับที่ 5) เห็นควรให้ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นใน บมจ. ไทยคม ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

      ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ในปี 2547 ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์) ในบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อย 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น และ บมจ. ไทยคม ผู้รับสัมปทานจากรัฐโดยไม่สมควร การที่สัญญาหลักระบุให้บริษัทต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เป็นไปเพื่อให้บริษัทคู่สัญญามีอำนาจควบคุมการบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และความมั่นคงในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของรัฐ

      2.กรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เห็นควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา โดยกำหนดให้ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ผนวกเข้ามาเป็นดาวเทียมภายใต้สัญญา และดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
      3.ครม.เห็นชอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดำเนินการตั้งคณะทำงานในการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการที่ผ่านมาว่าเกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งกำหนดแนวทางแก้ไขและผู้รับผิดชอบ เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป

    นายก ฯ ตอบรับร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ปท.ลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 7

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ที่จะมีการรับรองโดยไม่มีการลงนาม ในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (The Greater Mekong Subregion Economic Coordination : GMS) ครั้งที่ 7 ในวันที่ 9 กันยายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีกัมพูชาและธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ตอบรับเข้าร่วมการประชุมเรียบร้อยแล้ว สำหรับสาระสำคัญของเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 3 ฉบับ มีดังนี้

      1.ร่างปฏิญญาร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 7 เป็นการยืนยันความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ(ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน) ผ่านการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่เท่าเทียม เปิดกว้าง ครอบคลุม ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบผลสำเร็จของแผนงาน GMS ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อาทิ (1) การเชื่อมต่อด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ถนนความยาวกว่า 11,000 กิโลเมตร (2)การขนส่งข้ามพรมแดนด้วยขั้นตอนที่เรียบง่าย และ (3)การมีระบบตรวจจับและควบคุมการแพร่กระจายของโรคติดต่อ รวมทั้งการรับรองกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 และแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2564 – 2566
      2.ร่างกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 เป็นการกำหนดแนวทางในการพัฒนาอนุภูมิภาคในอีก 10 ปีข้างหน้า เช่น (1) การสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างครอบคลุม (2)การยกระดับแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ และ (3)การสนับสนุนการมีส่วนร่วมและสร้างเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ทั้งนี้ กรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นเอกสารที่ปรับปรุงได้ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
      3.ร่างเอกสารแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2564 – 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือของประเทศสมาชิกในประเด็นที่ต้องอาศัยการบูรณาการในระดับอนุภูมิภาค โดยมีเป้าหมายในระยะเร่งด่วน คือ มุ่งควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิต สนับสนุนโครงการฉีดวัคซีน และลดผลกระทบต่อกลุ่มประชากรยากจนและกลุ่มเปราะบาง

    ดร. รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญของไทยที่จะได้นำเสนอบทบาทความเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้ร่วมหารือแนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาอนุภูมิภาค GMS ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย ทั้งนี้ การประชุมระดับสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 8 จะจัดขึ้นในปี พ.ศ.2567 โดยจีนเป็นเจ้าภาพ

    เห็นชอบกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลี

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างถ้อยแถลงของประธานร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 11 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเป็นประธานร่วม ซึ่งกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลี (Mekong – Republic of Korea Cooperation : Mekong-ROK) ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และเกาหลี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก สำหรับสาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงของประธานร่วมฯ มีดังนี้

      1.การแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิก ในการส่งเสริมความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-เกาหลี บนพื้นฐานหลัก 3 เสา คือ “ประชาชน ความเจริญรุ่งเรือง และสันติภาพ” และ 7 สาขาความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ 1) วัฒนธรรมการท่องเที่ยว 2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 3)การเกษตรและการพัฒนาชนบท 4) โครงสร้างพื้นฐาน 5) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 6) สิ่งแวดล้อม และ7) ความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ของโลก และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด19

      2.การย้ำบทบาทของเกาหลีในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาค ผ่านการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนามาเป็นเวลากว่า 30 ปี โดยสนับสนุนเงินจำนวน 10.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านกองทุน Mekong- ROK Cooperation Fund: MKCF มาตั้งแต่ปี 2556

      3.การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดย่อม และขนาดกลาง (MSMEs) เพื่อช่วยกระตุ้นความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน

      4.การสอดประสานระหว่างกันของกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ เช่น ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady – Choa Phraya- Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)

      5.ความร่วมมือในประเด็นระดับภูมิภาคและโลก โดยการเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล

    ไฟเขียวเซ็น MOU กับสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย หนุน SMEs ไทย

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภายใต้กรอบความร่วมมือสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association: IORA) โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นผู้ลงนาม ซึ่งที่ผ่านมา ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2564 มีประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจแล้วจำนวน 17 ประเทศ จากทั้งหมด 22 ประเทศได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน มาดากัสการ์ มาเลเซีย มัลดีฟส์ มอริเชียส โมซัมบิก เซเชลส์ สิงคโปร์ โซมาเลีย แอฟริกาใต้ ศรีลังกาแทนซาเนีย อาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน

    บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จัดทำขึ้น เพื่อเสริมสร้างโอกาสและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพื่อให้ SMEs ได้มีโอกาสจากการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิกใน IORA สมาคมอุตสาหกรรมในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ มาตรฐานการผลิตและบริการ การแข่งขันผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยี การค้าอิเล็กทรอนิกส์และเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยจะดำเนินการภายใต้แนวทางความร่วมมือ ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่เห็นชอบร่วมกันในด้านต่างๆ เช่น

      1.พัฒนาความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างสถาบันที่ทำงานด้านการพัฒนาของ SMEs สมาคมอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย รวมทั้งหน่วยร่วมดำเนินการและ SMEs ของผู้มีส่วนร่วมในด้านต่างๆ

      2.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ SMEs ในเวทีธุรกิจ งานแสดงสินค้า งานสัมมนาและเวทีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

      3.แลกเปลี่ยนบทเรียนที่ได้เรียนรู้ในการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจสำหรับ SMEs และผู้ประกอบการ รวมถึงแบ่งปันแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ได้มาตรฐานการรับรองและการเข้าถึงเทคโนโลยี

      4.ส่งเสริมเยาวชน คนพิการ และสตรีในการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนผู้ประกอบการ

      5.สนับสนุน SMEs ในการหาโอกาสและตลาดในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย

      6.แบ่งปันวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศในการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีรวมถึงการค้าอิเล็กทรอนิกส์และเศรษฐกิจดิจิทัล

    ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อ สสว. ลงนามแล้ว จะประสานกระทรวงการต่างประเทศในการจัดส่งบันทึกความเข้าใจให้เลขานุการ IORA รับทราบต่อไป

    ดร. รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทย เนื่องจากสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย เป็นเวทีที่เน้นส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน ความมั่นคงและความปลอดภัยทางทะเล การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน อีกทั้งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เป็นแหล่งทรัพยากรและแหล่งความร่วมมือทางเทคโนโลยีที่สำคัญด้วย

    จัดงบกลาง 2,909 ล้าน เพิ่มความเข้มแข็ง ศก.ฐานราก 14 จังหวัด

    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 3 จำนวน 1,766 โครงการ วงเงินรวม 2,909 ล้านบาท ดำเนินการ ใน10 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดแพร่ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อำนาจเจริญ อยุธยา ปราจีนบุรี และ สระแก้ว ใน 4 กลุ่มโครงการ ประกอบด้วยกลุ่มพัฒนาสินค้า ท่องเที่ยวบริการ และการค้า, กลุ่มยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร, กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และ กลุ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน โดยมีระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม –ธันวาคม 2564 คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 29,765 คน และมีผู้ได้รับประโยชน์ประมาณ 3.54 ล้านคน

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ครม. ยังได้เห็นชอบในหลักการสำหรับโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 4 จำนวน 1,434 โครงการ วงเงินรวม 3,753 ล้านบาท ดำเนินการใน 14 จังหวัด ประกอบด้วย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ เลย นครพนม บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ลพบุรี อ่างทอง สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครนายก และยะลา ซึ่งหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้จัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอขอรับงบประมาณจาก ครม. ต่อไป

    ทั้งนี้ ครม. มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามข้อสั่งการคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้อย่างเคร่งครัด และในกรณีที่เป็นโครการก่อสร้าง ปรับปรุงและซ่อมแซมถนนหรือเสริมผิวทางด้วยยางพารา ให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสม เหตุผลและความจำเป็นในการดำเนินการเป็นรายเส้นทางอีกครั้ง เนื่องจากโครงการลักษณะดังกล่าวมีงบประมาณดำเนินการค่อนข้างสูง เพื่อให้การใช้จ่ายเกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด

    เพิ่มเงินอุดหนุนครูสอน ปวช.โรงเรียนเอกชนคนละ 450 บาท/ปี

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ปรับอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนของเงินสมทบเป็นเงินเดือนครูสำหรับนักเรียนในโรงเรียนเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยเพิ่มขึ้น 450 บาทต่อคนต่อปี จากอัตรา 8,582.50 บาทต่อคนต่อปี เป็น 9,032.50 บาท ต่อคนต่อปี เท่ากับการอุดหนุนนักเรียนในโรงเรียนเอกชน ประเภทสามัญศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ปลาย) เพื่อประกันรายได้ครูโรงเรียนเอกชนให้ได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่ทางราชการกำหนด คือ เดือนละ 15,050 บาท ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป

    นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ โดย สอศ. ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามที่เสนอตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป โดยตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 97,419,600 บาท

    เวนคืนที่ดิน “ปากเกร็ด” สร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู “ศรีรัช-เมืองทองธานี”

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลบางตลาด ตำบลคลองเกลือ และตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน ในท้องที่ตำบลบางตลาด ตำบลคลองเกลือ และตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ

    โดยสาระสำคัญ เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งซึ่งเป็นกิจการสาธารณูปโภค และเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิ์เข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

    รวมถึงเป็นการให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพ ลักษณะ และการเข้าใช้ประโยชน์บน เหนือ หรือใต้พื้นดินหรือพื้นน้ำเพื่อการวางแผนหรือออกแบบกิจการขนส่งมวลชนในบริเวณโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี โดยทางคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลขนแห่งประเทศไทยได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวแล้ว และทางสำนักงบประมาณได้แจ้งว่าผู้รับสัมปทานจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด ดังนั้นจะไม่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณแผ่นดิน

    นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และตำบลคอกกระบือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน –เอกชัย ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งทางสำนักงบประมาณแจ้งว่าจะจัดสรรงบประมาณเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับแล้ว

    ขณะเดียวกันครม.ยังได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่นิติบุคคลสำหรับรายรับที่เป็นเงินค่าทดแทนเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการขายหรือถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งเรื่องนี้ครม.ได้เคยอนุมัติหลักการไปแล้ว และผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วเช่นกัน

    กนง.รายงานภาวะ ศก.ปี’64 ขยายตัว 1.8% – ปี’65 โต 3.9%

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยที่ประชุมกนง.เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 และ 23 มิถุนายน 2564 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

    โดยกนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการเดิม และคาดว่าในปี 2564 และ 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 และ 3.9 ตามลำดับ

    ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ 1.ความยืดเยื้อของการระบาดและการกลายพันธุ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) 2. เม็ดเงินเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอาจน้อยกว่าคาด 3. ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่จนต้องปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก และ 4. ปัญหาห่วงโซ่การผลิตหยุดชะงัก (Supply Disruption) และต้นทุนค่าขนส่งทางเรือที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจส่งออกของไทยมากกว่าที่คาด

    ขณะที่กนง.เห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน คือ การจัดหาและการกระจายวัคซีนที่เหมาะสมให้เพียงพอและทันการณ์และควรเร่งดำเนินมาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟูและการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะช่วยภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบได้อย่างตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและทุกภาคส่วนต้องเร่งผลักดันมาตรการต่างๆให้เห็นผลโดยเร็วเพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในระยะ 6 เดือนข้างหน้า

    แจงภาพรวมงบ ฯปี’64 เบิกจ่ายแล้ว 77.13%

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ครั้งที่ 2/2564 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 โดยพบว่าภาพรวมการเบิกจ่ายเงินปีงบประมาณ 2564 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 3,452,273 ล้านบาท จากวงเงิน 4,476,189 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 77.13 แยกเป็นงบประมาณรายจ่ายปี 2564 วงเงิน 3,285,963 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 2,488,890 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.74 เป็นรายจ่ายประจำเบิกจ่ายแล้ว 2,168,515 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.19 รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายแล้ว 320,375 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.49 เงินกันไว้เหลื่อมปีเบิกจ่ายแล้ว 166,031 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 77.60

    สำหรับเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายแล้ว 262,410 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78.33 และโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพี่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 พ.ศ.2563 กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยมีแผนการใช้จ่ายที่วงเงิน 641,259 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 534,942 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83.42

    ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2564 มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มูลค่าโครงการตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปรวม 103 โครงการ มูลค่าโครงการทั้งหมด 2,544,708 ล้านบาท มีแผนการใช้จ่าย 190,245 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 96,675 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.82

    สำหรับกระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เบิกจ่ายได้ร้อยละ 81.48 , กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงคมนาคม, สำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงพลังงาน

    ส่วนกระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายต่ำสุด 10 อันดับ ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศเบิกจ่ายได้ร้อยละ 33.48, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา,กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงการคลัง, กระทรวงแรงงาน และกระทรวงวัฒนธรรม ด้านรัฐวิสาหกิจที่คาดว่าจะมีปัญหาการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2564 ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), การประปานครหลวง, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, องค์การเภสัชกรรม, บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ การท่าเรือแห่งประเทศไทย

    ขณะที่ปัญหาอุปสรรคการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐที่สำคัญได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ทำให้ขาดแคลนแรงงานในการก่อสร้าง ประกอบกับหลายพื้นที่มีการประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัดทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในงวดงานต่างๆตามที่ระบุในสัญญา รวมทั้งไม่สามารถตรวจรับงานในพื้นที่ที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า

    สำหรับมาตรการแก้ไขการเบิกจ่ายล่าช้า ทางกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือเร่งรัดการดำเนินการ และแจ้งเวียนมาตรการและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เช่น ให้หน่วยงานเจ้าของงบประมาณกำชับเจ้าหน้าที่บริหารจัดการเพื่อเร่งรัดการก่อหนี้และเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 เพื่อไม่ให้เงินงบประมาณถูกพับไป เป็นต้น

    โยก “ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์” นั่งเลขาธิการ ครม.-ต่ออายุอธิบดีกรมการแพทย์ 1 ปี

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการ ดังนี้

    1.เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงมหาดไทย)

    ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นายณรงค์ สืบตระกูล รองอธิบดีกรมที่ดิน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงคมนาคม)

    ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ แต่งตั้ง นายสิทธิชัย บุญสะอาด วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผนและวางโครงการก่อสร้าง) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวง ให้ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและออกแบบ) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

    ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติรับโอน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่าง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้ง นายกฤษฎา อักษรวงศ์ ที่ปรึกษาด้านการดำเนินงานข่าวกรองในต่างประเทศ (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    5. เรื่อง การโอนข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ

    ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ รับโอน นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหารระดับสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อประโยชน์ของทางราชการและสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบ และผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมการโอนแล้ว โดยให้ผู้ได้รับแต่งตั้งได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และสิทธิประโยชน์อื่นที่ได้รับอยู่เดิม

    6. เรื่อง การโอนข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

    ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติรับโอน นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ของทางราชการและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

    7. เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

    ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างดังกล่าว และเพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียนในคราวเดียวกัน รวมจำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ดังนี้

      1. แต่งตั้ง นายอนุกูล ปีดแก้ว รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหาร) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
      2. แต่งตั้ง นายธนสุนทร สว่างสาลี ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
      3. แต่งตั้ง นางจตุพร โรจนพานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดี (นักบริหาร) กรมกิจการเด็กและเยาวชน

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    8. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)

    ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 จำนวน 4 ราย ดังนี้

      1. นางอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
      2. นายยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
      3. นายธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
      4. นายสวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์) ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง) ประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    9. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของอธิบดีกรมการแพทย์

    ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ ให้ นายสมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์ ต่อไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 เนื่องจากมีภารกิจสำคัญในการบริหารจัดการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารงาน

    10. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการแทนตำแหน่งที่ว่าง

    ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้ง นายเธียรชัย ณ นคร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการแทนตำแหน่งที่ว่างลง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2564 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ตนแทน

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 7 กันยายน 2564 เพิ่มเติม

    ป้ายคำ :