สหรัฐฯ และจีนได้ออกแถลงการณ์ร่วมถึงความมุ่งมั่นการยกระดับความร่วมมือในการดำเนินการด้านสภาพอากาศ เมื่อวานนี้(10 พ.ย.) โดยผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯกล่าวว่า แม้จะมีความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศ แต่ความร่วมมือเป็น “วิธีเดียวที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ”
แถลงการณ์ร่วมที่ประกาศในวันปิดการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ในเมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ได้ครอบคลุมถึงคำมั่นที่จะให้ความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซมีเทน ปกป้องป่าไม้ ยกระดับเทคโนโลยีและการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น
“ผมคิดว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และหากเราทำงานอย่างหนัก เราก็สามารถยกระดับให้ดีขึ้นได้” นายจอห์น เคอร์รี ผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกลาสโกว์
ในฐานะที่เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสองรายใหญ่สุดของโลก สหรัฐฯและจีนต้องแสดงให้เห็นถึงแนวทาง นายเคอร์รี่กล่าวและว่า “เราต้องยกระดับความมั่งมั่นและเราต้องลงมือปฏิบัติในทศวรรษที่ต้องแน่วแน่นี้”
แถลงการณ์ร่วมยังได้ระบุว่า มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อเน้นการปฏิบัติการ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(climate change)ในทศวรรษ 2020 นี้
คณะทำงานจะพบปะกันเป็นประจำเพื่อหารือ การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เช่น การแลกเปลี่ยนด้านวิชาการ การประชุมผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและไม่ใช่ภาครัฐ ตลอดจนพิจารณาการกำหนดข้อบังคับของแถลงการณ์ร่วมนี้
เซี่ย เจิ้นหัว หัวหน้าคณะจรจาด้านสภาพอากาศของจีนกล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นผลจากการประชุมเสมือนจริงและแบบพบหน้ากันมากกว่า 30 ครั้งระหว่างเจ้าหน้าที่ด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ และจีนในปีที่ผ่านมา
ทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นที่จะ “กระชับการดำเนินการด้านสภาพอากาศในปี 2020 ภายใต้กรอบข้อตกลงปารีส” เซี่ย กล่าว โดยบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ยังมี“ช่องว่าง” ระหว่างความพยายามในปัจจุบันของจีนและสหรัฐฯ และเป้าหมายที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปี 2015
ภายใต้ข้อตกลงปารีส ทั้งสองประเทศให้คำมั่นว่าจะรักษาอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้น 1.5-2 องศาเซลเซียส
“เราจะร่วมกับดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างแข็งขันและร่วมมือตามสถานการณ์ระดับประเทศของเรา เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คาร์บอนต่ำ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อปิดช่องว่าง” เซี่ยกล่าว
ประกาศในแถลงการณ์ยังรวมไปถึงความมุ่งมั่นของจีนในการพัฒนาแผน “ครอบคลุมและทะเยอทะยาน” ในการลดก๊าซมีเทนก่อนการประชุมสุดยอด COP27 ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในอียิปต์ในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า แต่ไม่รวมข้อผูกมัดฉบับปรับปรุงของจีนที่จะปล่อยมลพิษสูงสุดก่อนเป้าหมายปัจจุบันในปี 2030 ซึ่งนายเคอร์รีเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าช้าเกินไป
ขณะที่แถลงการณ์ร่วมมีแนวทางการกำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณใหม่เพียงเล็กน้อย แต่ก็ถูกมองว่าเป็นประโยชน์ต่อความพยายามที่จะบรรลุผลที่ตั้งไว้สูงจากการประชุมกลาสโกว์ ซึ่งกำลังมีการเจรจาเพื่อวางพัฒนากฎระเบียบใหม่เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นไปตามเป้าหมาย
เคลลี ซิมส์ กัลลาเกอร์ คณบดีและผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการนโยบายสภาพภูมิอากาศของ Fletcher School of Law and Diplomacy แห่งมหาวิทยาลัย Tufts กล่าวว่า “แถลงการณ์ที่ประกาศมีความสำคัญอย่างยิ่ง และความสำคัญก็คือเกิดขึ้นเลย”
“การที่ทั้งสองประเทศสามารถหาวิธีออกแถลงการณ์ร่วมในขณะที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีตึงเครียดส่งสัญญาณที่มีพลังไปยังผู้เจรจา COP26 เพราะแสดงให้เห็นว่าผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลักทั้งสองนี้ยังสามารถทำงานร่วมกันได้” กัลลาเกอร์กล่าว
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติแสดงความยินดีต่อการออกแถลงการณ์นี้ โดยโพสต์บน Twitter ว่า “การรับมือกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากนานาชาติ และนี่เป็นก้าวสำคัญในทิศทางที่ถูกต้อง”
เซซิลเลีย ฮัน สปริงเกอร์ นักวิจัยอาวุโสของ Global China Initiative ของมหาวิทยาลัยบอสตัน ระบุว่าข้อตกลงนี้ “ค่อนข้างครอบคลุม” แต่ ประเด็นที่โดดเด่นคือข้อที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซมีเทน
“มีเทนเป็นประเด็นสำคัญและน่าตื่นเต้นจริงๆ ที่จะได้เห็นความร่วมมือนี้ เพราะทั้งสองประเทศกำลังประสบปัญหาใหญ่จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเทน” สปริงเกอร์กล่าว “มีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการมากมายที่สามารถทำได้”
การออกแถลงการณ์ที่สร้างความประหลาดใจนี้ขึ้นแม้จะมีคำเตือนซ้ำๆ จากทางการจีนว่า สหรัฐฯไม่ควรคาดหวังความร่วมมือจากพวกเขาในหลายประเด็น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(climate change)และการไม่สะสมอาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่ยังมีความตึงเครียดในด้านอื่นๆ
ความตึงเครียดที่ว่านี้ไปปะทุขึ้นอีกหลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวหาว่า จีนหนีประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนตัดสินใจไม่เข้าร่วมประชุม COP26
เมื่อถามว่าสหรัฐฯได้หยิบยกความกังวลต่อการกดขี่แรงงงานในห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นมาในการหารือก่อนออกแถลงการณ์หรือไม่ นายเคอร์รีกล่าวว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีไบเดน มีความซื่อตรงและชัดเจนต่อประเด็นที่ต่างจากจีน แต่ระบุว่าเขาหวังว่าจะทำให้การเจรจาเรื่องสภาพอากาศไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าว
“หน้าที่ผมคือ งานด้านสภาพภูมิอากาศและมุ่งไปที่การดำเนินการเพื่อผลักดันวาระการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เดินหน้า”
เคอร์รีเปรียบความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในการดำเนินการด้านสภาพอากาศกับความพยายามของวอชิงตันและอดีตสหภาพโซเวียตในการลดขนาดคลังอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงสงครามเย็น แม้แต่ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนในขณะนั้นเรียกสหภาพโซเวียตว่าเป็น “จักรวรรดิแห่งความชั่วร้าย”
ขณะที่สหรัฐฯ จะไม่เพิกเฉยต่อความคับข้องใจที่มีกับจีน แต่นายเคอร์รี่ กล่าวว่าวาระด้านสภาพอากาศ “ต้องไม่มีสิ่งเหล่านั้นจึงจะมีประสิทธิภาพ” และกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการที่จำเป็นมากขึ้น