ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > IEA เตือนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 5%

IEA เตือนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 5%

22 เมษายน 2021


ที่มาภาพ: https://newseu.cgtn.com/news/2021-04-21/CO2-emissions-expected-to-surge-by-almost-5-this-year-warns-IEA-ZCr6Hc2SBy/index.html

องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) เตือนว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกในปีนี้จะเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ในประวัติศาสตร์ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤติการณ์โควิด-19

Global Energy Review ปี 2021 ของ IEA คาดการณ์ว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเกือบ 5% เป็น 3 พันล้านเมตริกตัน โดยเพิ่มขึ้น 1.5 พันล้านเมตริกตันจากปี 2020 ในปีที่แล้วการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเพราะเศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

แม้คาดการณ์ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในปี 2019 แต่ IEA คาดการณ์ว่า ความต้องการพลังงานทั่วโลกจะสูงขึ้นกว่าในปี 2019 จากความต้องการก๊าซและถ่านหินที่สูงขึ้นกว่าก่อนการระบาด

ดร.ฟาติห์ ไบรอล ประธานองค์การพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA กล่าวว่า “นี่เป็นการเตือนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤติการณ์โควิด-19 ที่ไม่ยั่งยืน”

โอกาสในที่ประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ

ดร.ไบรอลกล่าวอีกว่า การประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ในวันที่ 22-23 เมษายนนี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับหลายประเทศที่จะให้คำมั่นในการเร่งดำเนินการ ก่อนการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (UN Climate Change Conference, COP26) ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ที่ประเทศสกอตแลนด์

ดร.ไบรอลยังกล่าวเพิ่มว่า “หากรัฐบาลทั่วโลกไม่เร่งดำเนินการลดการปล่อยก๊าซ เรามีแนวโน้มที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งขึ้นในปี 2022”

IEA เผยว่า ความต้องการถ่านหินที่เพิ่มขึ้น 4.5% จากปี 2019 ซึ่งใกล้แตะระดับสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นในปี 2014 เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น

โดย 3 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซมาจากภาคไฟฟ้า และกว่า 80% ของความต้องการถ่านหินที่เพิ่มขึ้นมาจากเอเชีย

แม้ว่าการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นจะทำให้การใช้พลังงานหมุนเวียนลดลงถึงเกือบ 80% แต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังคงเพิ่มขึ้นมากกว่า 8% ในปีนี้ โดย IEA คาดว่าการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และลม จะสูงขึ้นกว่าที่เคยประมาณ 17%

อีกทั้งคาดการณ์ว่าในปี 2021 กว่า 30% ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกจะใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงสุดที่เคยมีมา เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่มีการใช้น้อยกว่า 27% โดยคาดว่าเกือบครึ่งหนึ่งของการเพิ่มขึ้นมาจากจีน

เป้าหมายใหม่

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ในสัปดาห์นี้เตรียมที่จะเปิดเผยแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 78% ภายในปี 2035 ซึ่งเร็วกว่าแผนก่อนหน้านี้ 15 ปี

จากรายงานของสื่ออังกฤษ แผนนี้จะครอบคลุมการปล่อยมลพิษจากการบินและการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม

การเปิดเผยแผนนี้มีขึ้นก่อนที่จะการประชุม COP26 ที่มีสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ ที่กลาสโกว์ ที่เลื่อนออกไปเป็นเดือนพฤศจิกายน

ทางด้านแคนาดาก็ได้ประกาศในงบประมาณถึงเป้าหมายใหม่ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 37% จากปี 2005 ให้ได้ภายในปี 2030 และพยายามที่จะทำให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (neet-zero) ภายในปี 2050

โดยเป้าหมายใหม่จะเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายการปล่อยก๊าซให้น้อยลง 30% ตามที่ตกลงไว้ในข้อตกลงปารีส ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเงินทุนใหม่หลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยบริษัทในแคนาดาลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงเปิดตัวเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน และเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน

ภายใต้ข้อตกลงปารีส เกือบทุกประเทศที่ได้ลงนามจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างมาก และต้องเสนอแผนใหม่ภายในสิ้นปี 2020 ซึ่งราวครึ่งหนึ่งของประเทศภาคีได้ส่งแผนเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่หลายรายซึ่งรวมถึงสองอันดับแรก คือ จีนและสหรัฐอเมริกา ยังไม่ได้เสนอแผน ขณะที่สหรัฐฯ เผยว่า จะมีการเปิดเผยเป้าหมายใหม่ภายในสัปดาห์นี้

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้ประกาศในปีที่แล้วว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของจีนจะขึ้นถึงค่าสูงสุดก่อนปี 2030 และจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2060