ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > คำมั่นแรกจาก Cop26 กว่า 100 ประเทศหยุดการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030

คำมั่นแรกจาก Cop26 กว่า 100 ประเทศหยุดการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030

3 พฤศจิกายน 2021


นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ประกาศปฏิญญาผู้นำกลาสโกว์ว่าด้วยการป่าไม้และการใช้ที่ดิน ที่มาภาพ: https://news.un.org/en/story/2021/11/1104642

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่สองของการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ UN Climate Change Conference of the Parties (COP26) ที่มีขึ้นในเมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ผู้นำจากประเทศหลักและประเทศอื่นๆรวมกว่า 100 ประเทศได้ให้คำมั่นที่จะหยุดยั้งการทำลายป่าพร้อมฟื้นฟูผืนป่าและผืนดินที่เสื่อมโทรม ภายในปี 2030

ผู้นำระดับโลกได้ตอกย้ำความสำคัญของป่าไม้ในการสร้างสมดุลระหว่างการปล่อยและกำจัดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรักษาความเข้มแข็งของระบบนิเวศให้แข็งแรง และเรียกร้องให้ดำเนินการ “ปฏิรูป” ผ่านความพยายามร่วมกันในการอนุรักษ์ป่าไม้ ส่งเสริมนโยบายการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเปราะบางของมนุษย์ ออกแบบนโยบายการเกษตรใหม่ และเพิ่มแรงจูงใจทางการเงินในนามของ “การเปลี่ยนผ่านการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน”

การประกาศคำมั่นมีขึ้นในห้องประชุมที่สร้างบรรยากาศให้เสมือนอยู่ในผืนป่าที่สมบูรณ์ ด้วยการใช้ไฟสีเขียว มีเสียงนกร้อง และเสียงใบไม้สายเสียดกราวเกรียวจากหน้าจอและลำโพงขนาดยักษ์ ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมรู้สึกสงบ และรู้สึกราวกับว่าได้สูดอากาศสดชื่นอย่างเต็มปอด

“วันนี้จะเป็นวันที่ยิ่งใหญ่ เรากำลังกำหนดแนวทางว่าเราจะรักษาปอดของโลกได้อย่างไร” Sandrine Dixson-Declève พิธีกรของานกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานสำคัญด้านป่าไม้และการใช้ที่ดินในที่ประชุม COP26 เมื่อวันอังคาร(2 พ.ย.)

เมื่อการกล่าวต้อนรับเสร็จสิ้นลงได้มีการฉายภาพยนตร์ที่บรรยายโดยเซอร์เดวิด แอตเทนบะระห์ ขึ้นบนหน้าจอ

“การทำลายป่า คือ การที่เรากำลังทำร้ายความหลากหลายทางชีวภาพและชีวิตของเรา… ป่าไม้เป็นแหล่งน้ำจืด อากาศสะอาดให้เราหายใจ สร้างแรงบันดาลใจให้คุณค่าทางจิตวิญญาณ และให้อาหารแก่เรา… ความท้าทายของเราในตอนนี้คือต้องหยุดการตัดไม้ทำลายป่าและเริ่มฟื้นฟูป่า เป็นงานใหญ่และทุกประเทศจะต้องมีแนวทางของตัวเอง”

เสียงของเซอร์เดวิด แอตเทนบะระห์ ก้องกังวานไปทั่วห้องประชุมและทุกคนรับรู้ถึงการเรียกร้อง

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน เดินไปยังโพเดียม เพื่อประกาศว่า อย่างน้อย 110 ประเทศ ซึ่งมีสัดส่วน 85% ของป่าไม้ทั่วโลกได้ลงนามใน”ปฏิญญาผู้นำกลาสโกว์ว่าด้วยการป่าไม้และการใช้ที่ดินของผู้นำกลาสโกว์” (Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use) ในการประชุม COP26 โดยมุ่งมั่นที่จะหยุดและฟื้นฟูการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030

“การปกป้องผืนป่าของเราไม่เพียงเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอนาคตที่เจริญรุ่งเรืองอีกด้วย” นายจอห์นสันกล่าว

นายจอห์นสันเน้นว่า จีน รัสเซีย และบราซิล ได้เข้าร่วมในปฏิญญานี้ด้วย ซึ่งเชื่อว่าอาจเป็นโอกาส “คู่ขนาน” สำหรับการสร้างงาน

ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน และประธานาธิบดีจาอีร์ โบลโซนาโรของบราซิล ปรากฏตัวในวิดีโอที่บันทึกไว้ล่วงหน้า เพื่อสนับสนุนการให้คำมั่น

“การลงนามในปฏิญญาเป็นส่วนที่ง่าย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการดำเนินการในขณะนี้สำหรับผู้คนและโลก” นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องผ่านทวิตเตอร์

ประเทศที่ลงนาม Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Useมีทั้งหมด 122 ประเทศ

ปฏิญญาว่าด้วยการป่าไม้และการใช้ที่ดินของผู้นำกลาสโกว์คืออะไร

ด้วยปฏิญญานี้ ผู้นำให้คำมั่นว่าจะเสริมสร้างความพยายามร่วมกันในการอนุรักษ์ป่าไม้และระบบนิเวศบนบกอื่นๆ และเร่งการฟื้นฟู ตลอดจนอำนวยความสะดวกด้านนโยบายการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับสากลและในประเทศ

เนื้อหาของปฏิญญายังระบุถึง การให้อำนาจแก่ชุมชนท้องถิ่น รวมถึงชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งมักได้รับผลกระทบในทางลบจากการแสวงประโยชน์และความเสื่อมโทรมของป่า

ปฏิญญานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อดำเนินการและออกแบบนโยบายและแผนงานด้านการเกษตรใหม่ เพื่อลดความหิวโหยและมีผลทางบวกต่อสิ่งแวดล้อม

การเงินยังเป็นประเด็นสำคัญของการให้คำมั่น โดยผู้นำสัญญาว่า จะอำนวยความสะดวกในการจัดสรรกระแสเงิน โดยมีเป้าหมายระดับโลกที่จะฟื้นฟูการสูญเสียและความเสื่อมโทรม ในขณะเดียวกันก็รับประกันนโยบายเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ซีอีโอจากสถาบันการเงินกว่า 30 แห่งซึ่งมีทรัพย์สินรวมกันกว่า 8.7 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก มุ่งมั่นที่จะลดการลงทุนในกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่าและสินค้าเกษตร ควบคู่ไปกับการระดมเงินของเอกชนหลายพันล้านเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจป่าไม้ผ่าน 3 ความคิดริเริ่มที่สำคัญ

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เงินได้ไหลเข้าไปสู่การใช้ที่ดินที่สร้างผลกระทบทางลบและทำให้ดินเสื่อมโทรม มากกว่าการปกป้องป่า การทำการเกษตรเชิงอนุรักษ์และยั่งยืนถึง 40 เท่า

นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซีย ร่วมกับนายบอริส จอห์นสัน ประกาศว่า 28 ประเทศ ซึ่งมีสัดส่วน 75% ของการค้าทั่วโลกในผลิตภัณฑ์หลักที่คุกคามผืนป่า เช่น น้ำมันปาล์มและโกโก้ ได้ให้คำมั่นที่จะดำเนินมาตรการเพื่อส่งมอบการค้าที่ยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีอังกฤษชี้ว่า Forest, Agriculture and Commodity Trade Roadmap for Action (FACT) ซึ่งเป็นโรดแมปความร่วมมือใหม่ระหว่างรัฐบาลของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่และประเทศผู้บริโภคจะตัดการเชื่อมโยงระหว่างการตัดไม้ทำลายป่าและสินค้าเกษตร

โรดแมปใหม่นี้จะเร่งการดำเนินการที่จูงใจให้เกิดความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้เข้าร่วมในตลาด เพิ่มความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทาน และขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่

การระดมเงิน

ประเทศผู้บริจาค 12 รายให้คำมั่นว่าจะจัดหาเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศมูลค่า 12 พันล้านดอลลาร์ (8.75 พันล้านปอนด์) ในช่วงปี 2021 ถึง 2025 ให้กับ Global Forest Finance Pledge ซึ่งจะสนับสนุนการดำเนินการในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการฟื้นฟูที่ดินที่เสื่อมโทรม การแก้ไขปัญหาไฟป่า และการส่งเสริมสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น

นอกจากนี้ 12 ประเทศและผู้บริจาคเพื่อการกุศลให้คำมั่นว่าจะให้เงินอย่างน้อย 1.5 พันล้านดอลลาร์ (1.1 พันล้านปอนด์) เพื่อปกป้องป่าในลุ่มน้ำคองโก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความพยายามระดับโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค

14 ประเทศและผู้บริจาคเพื่อการกุศลยังได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนเงินอย่างน้อย 1.7 พันล้านดอลลาร์ช่วงปี 2021 ถึง 2025 เพื่อพัฒนาสิทธิการครอบครองป่าของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น และสนับสนุนบทบาทของพวกเขาในฐานะผู้พิทักษ์ป่าและธรรมชาติ

Lowering Emissions by Accelerating Forest Finance (LEAF) บรรลุผลเกินเป้าหมายในการระดมเงิน 1 พันล้านดอลลาร์จากภาครัฐและเอกชน โดยLEAF จะจัดหาเงินทุนให้กับประเทศเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนที่ประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยมลพิษจากการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรม ส่วนเงินจากภาคเอกชนจะมาจากบริษัทที่มุ่งมั่นจะลดการปล่อยมลพิษในห่วงโซ่อุปทานของตนเองเท่านั้น แต่สอดคล้องกับเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์(science-based targets) ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นหนึ่งในการดำเนินการของภาครัฐและเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในการปกป้องป่าเขตร้อนและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

ธนาคารเพื่อการพัฒนา 9 แห่งยังได้ออกแถลงการณ์ร่วมซึ่งระบุถึงสิ่งที่จะดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย การวิเคราะห์ การประเมิน คำแนะนำ การลงทุน และการปฏิบัติงาน ตามภารกิจและรูปแบบการดำเนินงาน

การค้าสินค้าเกษตร

รัฐบาล 28 ประเทศ ซึ่งมีสัดส่วน 75% ของการค้าสินค้าหลักทั่วโลกที่อาจะเป็นภัยต่อป่าไม้ ได้ลงนามใน FACT ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานการดำเนินงานที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งมอบการค้าที่ยั่งยืนและลดแรงกดดันต่อป่าไม้ รวมถึงการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยและการปรับปรุงความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทาน

นอกจากนี้ บริษัทที่ใหญ่ที่สุด 10 รายที่มีการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อป่าไม้ที่สำคัญกว่าครึ่งโลก เช่น น้ำมันปาล์มและถั่วเหลือง ได้ประกาศว่าภายในการประชุม COP27 จะจัดทำแผนงานร่วมกันสำหรับการดำเนินการในห่วงโซ่อุปทานที่ดีขึ้นซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ผลของการประชุมแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการกับป่าไม้และการใช้ที่ดิน ช่วยให้ทางการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส มีความเป็นไปได้ เพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน และเพื่อให้เป็นไปตามคำมั่นร่วมกันในเรื่องการปรับตัวและการเงิน

ที่มา: World leaders summit on ‘Action on forests and land use’
World leaders, corporations at COP26, take major step to restore and protect forests