ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > จีน-สหรัฐฯ แข่งลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

จีน-สหรัฐฯ แข่งลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

9 มกราคม 2021


ที่มาภาพ: http://global.chinadaily.com.cn/a/202101/06/WS5ff4f015a31024ad0baa0ab1.html

ถ้าหากว่าจีนและสหรัฐฯ สองประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดในโลก ลดการปล่อยก๊าซลงเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษนี้ ทุกคนก็จะดีขึ้น กลยุทธ์การแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ แทนที่จะแข่งกันแบบเอาเป็นเอาตาย จะทำให้ทั้งสองประเทศบรรลุเป้าหมายเร็วขึ้น

จากบทความ The Sino-American Race to Zero โดยแอนดรูว์ เฉิง และเสี่ยว เกิง

แอนดรูว์ เฉิง นักวิจัยอาวุโส แห่งสถาบัน Asia Global Institute ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง รวมทั้งเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติด้านการเงินยั่งยืน (UNEP Advisory Council on Sustainable Finance) และยังเป็นอดีตประธานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายล่วงหน้าของฮ่องกง โดยมีงานเขียนล่าสุดคือหนังสือ From Asian to Global Financial Crisis.

เสี่ยว เกิง ประธานสถาบันการเงินระหว่างประเทศประจำฮ่องกง(Hong Kong Institution for International Finance) และเป็นศาตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง บัณฑิตวิทยาลัย HSBC Business School และยังเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเส้นทางสายไหม(Research Institute of Maritime Silk-Road)ของมหาวิทยาลัยเดียวกัน

ขณะที่สหรัฐฯเตรียมการที่จะแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยแนวทางแบบก้าวกระโดด จีนได้ยกระดับให้เข้มข้นขึ้นอีก การดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กลายเป็นอีกหน้าหนึ่งของการแข่งขันระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ใครจะก้าวสู่เส้นชัยการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์

โจ ไบเดน ผู้ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯเตรียมพร้อมที่จะลงสนาม ไบเดนให้คำมั่นที่จะเข้าร่วมข้อตกลงปารีส(ข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศ)ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง และให้คำมั่นว่าจะให้ความสำคัญกับการดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอนและด้านพลังงานสะอาด และยึดเป็นหลักของการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจจากคณะบริหาร โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ไม่เกินปี 2050 และเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการ ไบเดนได้ตั้งสำนักงานนโยบายสภาพภูมิอากาศของทำเนียบขาวขึ้นใหม่ และแต่งตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในตำแหน่งสำคัญๆ เช่น อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศจอห์น เคอร์รี ที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เช่นเดียวกันกับจีน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ให้คำมั่นที่จะบรรลุการไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิสู่ชั้นบรรยากาศ(carbon neutral) ภายในปี 2060 นอกจากนี้ในที่ประชุม Climate Ambition Summit เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของจีนลง“ อย่างน้อย” 65% จากระดับปี 2005 ภายในปี 2030 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนหน้า “สูงถึง” 65%

ต้นทุนทางเศรษฐกิจในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้จะไม่สูงเกินไป รายงานของเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน( Sustainable Development Solutions Network:SDSN) แห่งสหประชาชาติระบุว่า คณะกรรมาธิการการเปลี่ยนผ่านพลังงาน(Energy Transitions Commission )ประเมินว่า

จีนสามารถบรรลุเศรษฐกิจคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2020 โดยมีต้นทุนไม่ถึง 0.6% ของ GDP ส่วนสหรัฐฯก็สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยต้นทุนเพียง 0.4% ของ GDP

แม้สหรัฐฯและจีนจะมุ่งหน้าสู่เส้นชัยเดียวกัน แต่ก็มีแนวโน้มที่จะใช้แนวทางที่แตกต่างกันมาก เช่น จากประสบการณ์ที่สะสมมานานในการปลูกป่าใหม่ จีนมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับการกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติมากกว่าที่สหรัฐฯจะทำได้ ผู้นำของจีนได้สัญญาว่า จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้นอีก 6 พันล้านลูกบาศก์ตารางเมตรในทศวรรษหน้า

ยิ่งไปกว่านั้น จีนได้วางแผนเส้นทางของตัวเองที่ลงรายละเอียดมากกว่าแผนที่สหรัฐฯมี ผู้นำของประเทศได้นำเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ขยายวงกว้างมากขึ้น รวมถึงยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม Made in China 2025 ซึ่งครอบคลุมเป้าหมายทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมด้วย

ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/science-environment-55498657

ผู้วางแผนเศรษฐกิจจีนมองว่า วิสัยทัศน์ความเป็นกลางของคาร์บอนเป็นรากฐานของการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเติบโตและการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง เมื่อเร็วๆ นี้ Energy Foundation China ได้เผยแพร่ รายงานที่ตรวจสอบแนวทางปฏิบัติตามคำมั่นเรื่องความเป็นกลางของคาร์บอนและบรรลุวิสัยทัศน์การเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล

หากสหรัฐฯต้องการที่จะจะบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนภายในกลางศตวรรษนี้ คณะบริหารของไบเดนจะต้องใช้แนวทางแบบองค์รวมที่คล้ายกัน ซึ่งครอบคลุมถึงการสร้างงานและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีด้วย ขณะที่ไบเดนดูเหมือนจะตระหนักถึงสิ่งนี้ แต่ในหลายๆด้านไบเดนต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เพียงล้มเหลวในการดำเนินการด้านสภาพอากาศเท่านั้น แต่กลับทำลายลงอย่างมาก เช่น โดยยกเลิกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม

ข่าวดีก็คือไบเดนมีกรอบที่จะช่วยให้คณะบริหารของเขาประสบความสำเร็จ นั่นคือแผนปฏิบัติการคาร์บอนเป็นศูนย์(Zero Carbon Action Plan:ZCAP) ของ SDSN ซึ่งก็เช่นเดียวกับกลยุทธ์ของจีน ZCAP มุ่งเน้นไปที่ภาคส่วนที่ใช้พลังงานอย่างเข้มข้น 6 กลุ่ม ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าการขนส่ง อาคาร อุตสาหกรรม การใช้ที่ดิน และวัสดุ ที่มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ

อย่างไรก็สหรัฐอเมริกาต่างจากจีน ตรงที่มีโครงสร้างเป็นสหพันธรัฐ และระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้การดำเนินกลยุทธ์เช่น ZCAP จะไม่เพียงแต่ต้องการความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งของรัฐบาลกลาง (และเงินทุนจำนวนมาก) แต่ยังต้องมีความร่วมมือกับรัฐบาลของแต่ละรัฐและรัฐบาลท้องถิ่น ตลอดจนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และการร่วมมือจากประชาชนในวงกว้าง

นอกจากนี้ เพื่อเดินหน้าการปฏิรูปอย่างห้าวหาญ คณะบริหารของไบเดนจะต้องผ่านการต่อต้านจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งทั้งต่อต้านการดำเนินการเชิงรุกด้านสภาพภูมิอากาศและขัดขวางแนวนโยบายอุตสาหกรรมด้วยเหตุผลเชิงอุดมการณ์ และมีความเป็นไปได้ที่จะเจอความท้าทายทางกฎหมายจากพลังของผลประโยชน์ทับซ้อน

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่า การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของจีนเป็นเรื่องจากบนลงล่างเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามจีนประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ จากการทดลองดำเนินการในระดับท้องถิ่น การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และการประยุกต์ใช้แนวทางที่ใช้แล้วได้ผลในวงกว้าง

นอกจากนี้แม้จีนจะขึ้นชื่อว่าเป็นระบอบเผด็จการ แต่กระบวนการกำหนดนโยบายได้มีกลไกการรับฟังที่ช่วยให้ผู้นำตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ ตัวอย่างคือ ในการจัดประชุม Central Economic Work Conference ประจำปี ซึ่งผู้นำของจีนกำหนดนโยบายและเป้าหมายสำหรับปีต่อๆไป คณะทำงานจะหารือกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อทำความเข้าใจเงื่อนไขต่างๆที่ชัดเจน และขอความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกเช่น เช่นธนาคารโลก

ตลาดเป็นอีกหนึ่งกลไกการตอบรับที่สำคัญ ตรงกันข้ามกับความเชื่อนอกประเทศจีน ตลาดมีบทบาทสำคัญและขยายตัวในการจัดสรรทรัพยากรสร้างงาน เชื่อมโยงอุปสงค์และอุปทาน และกระตุ้นนวัตกรรม และประเด็นสำคัญชนชั้นกลางที่เติบโตอย่างรวดเร็วของจีน ต้องการสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นมากกว่าการเติบโตของ GDP

อย่างไรก็ตามโดยรวมแล้ว ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์ของจีน ทำให้ผู้นำอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าสหรัฐฯในการดำเนินการปฏิรูปอย่างกล้าหาญและมีส่วนร่วมในการวางแผนระยะยาว จีนมีแนวโน้มที่จะต้องพยายามอย่างหนักเพื่อทำความเข้าใจขนาด ขอบเขตและต้นทุนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้พลังงานมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับต้นทุนตลอดอายุของพลังงานสีเขียว วัสดุ ระบบขนส่ง เทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการเกษตร และแนวทางการใช้ที่ดิน

นี่คือจุดที่ “การแข่งขันที่สร้างสรรค์” กับสหรัฐฯสามารถช่วยได้ ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของ “การแลกเปลี่ยนที่ตรงจุด” ขณะที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เฮนรี พอลสัน เมื่อเร็วนี้ให้ความเห็นต่างว่า แทนที่จะเรียกร้องการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันใน“ อะไรก็ได้และทุกอย่างที่จีนทำ” สหรัฐฯควร “ตั้งเป้าความต้องการในการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันในภาคส่วนและด้านที่อเมริกาแข็งแกร่งที่สุด” ที่ “มีการแข่งขันสูงที่สุด” และมี “ต่อยอดสูงสุด” นี่อาจหมายถึงการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อแลกกับความโปร่งใสที่มากขึ้น และมาตรฐานที่ใช้ร่วมกันที่สูงขึ้น

ทั้งนี้มีแนวนโยบายเพียงไม่กี่ด้าน ที่ความก้าวหน้าในหนึ่งหรือสองประเทศจะทำให้ทุกคนบนโลกนี้ดีขึ้น นั่นก็คือ จีนและสหรัฐฯซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ที่สุดสองแห่งของโลก บรรลุการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษ และกลยุทธ์ของการแข่งขันที่สร้างสรรค์ แทนที่จะเป็นการแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตายจะทำให้ทั้งสองประเทศเข้าเส้นชัยได้เร็วขึ้นมาก