ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Cop26 สิ่งที่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดต้องการจากการประชุม

Cop26 สิ่งที่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดต้องการจากการประชุม

4 พฤศจิกายน 2021


ภาพต้นแบบจาก https://unctad.org/news/scaling-climate-adaptation-finance-must-be-table-un-cop26

ประเทศกำลังพัฒนาถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะถูกทำลายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) อย่างเช่นน้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟป่า

การจัดการกับความต้องการของประเทศที่เล็กกว่าและร่ำรวยน้อยกว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP26 ในกลาสโกว์ ซึ่งจะมีการขอให้ผู้นำยอมรับข้อตกลงใหม่ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แต่ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดกลับผิดหวังกับ Cop26

โซนัม วังดี ประธานกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด( Least Developed Countries: LDC) กล่าวเมื่อวันพุธ(3 พ.ย.)ว่า ความคืบหน้าของการประชุม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ COP26 ในเมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ นั้น “น่าผิดหวัง” และถึงขั้น “น่าผวา” โดยอ้างว่ากลุ่มประเทศ LDC ได้รับเงินเพียงเล็กน้อยจากกองทุนภูมิอากาศที่มีมูลค่า 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

“จนถึงตอนนี้ ความคืบหน้าของการประชุมน่าผิดหวัง ในทางที่น่าหวาดผวาด้วย” วังดี ซึ่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของรัฐบาลภูฏานกล่าวในการแถลงข่าว

วังดีชี้ว่า 46 ประเทศในกลุ่ม LCD มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด แต่ 1 ใน 10 ของประชากร 1 พันล้านคนจากประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วังดีเน้น….

“ดังนั้น ชีวิตของเราจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจที่จะมีขึ้นที่นี่ ในกลาสโกว์ การตัดสินใจที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุม COP26”

วังดีบ่นว่า แม้การประชุมที่กลาสโกว์จะเป็นการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศครั้งที่ 26 แต่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงเพิ่มขึ้นและเงินจำนวน 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อช่วยประเทศยากจนในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ให้คำมั่นเมื่อทศวรรษที่แล้ว ยังไม่มีการส่งมอบ

“เรายังไม่แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับเงิน 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ที่รู้คือเราได้รับน้อยมาก” วังดีกล่าว

เมื่อถามถึงการให้คำมั่นที่จะทุ่มเงินเพิ่มเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน หยุดการตัดไม้ทำลายป่า และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาของผู้นำโลกในการประชุม COP26 ประธานกลุ่มประเทศ LDC กล่าวว่า “คำมั่นสัญญาเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เราอยากจะเห็นหลักฐาน”

วังดีกล่าวว่า หลักฐานดังกล่าวจะมาในรูปแบบของแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก(Nationally Determined Contribution:NDC) ฉบับใหม่ที่มีเป้าหมายชัดเจน ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและยุทธศาสตร์ระยะยาวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

โซนัม วังดี ประธานกลุ่มประเทศ LDC แถลงใน Cop26 ที่มาภาพ: https://www.thethirdpole.net/en/climate/ldc-group-chair-cop26-wind-is-blowing-in-the-right-direction/

ความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา

สิ่งที่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries: LDCs) ต้องการจากประเทศที่รวยและประเทศที่พัฒนาแล้วคือ

  • ทำตามสัญญาที่จะส่งมอบเงินจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 73,000 ล้านปอนด์ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ในแต่ละปี เพื่อนำไปช่วยลดการปล่อยมลพิษและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ตกลงที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ก่อนปี 2050 โดยกำหนดเป้าหมายเฉพาะสำหรับผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่ เช่นสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศในสหภาพยุโรป
  • รับทราบความสูญเสียและความเสียหายที่พวกเขาได้รับ เช่น ผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นหรือน้ำท่วมบ่อยครั้ง
  • กำหนดกฎเกณฑ์ว่าประเทศต่าง ๆ จะดำเนินการตามข้อตกลงก่อนหน้านี้อย่างไร
  • ในแถลงการณ์ก่อนหน้าการประชุม กลุ่มของประเทศพัฒนาน้อยที่สุดกล่าวว่า “การเพิ่มความทะเยอทะยานทั่วโลกและการเพิ่มการเงินด้านสภาพอากาศเป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่รอดของเรา”

    “วิกฤตินี้ไม่ได้ถูกจัดการอย่างวิกฤติ ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนในกลาสโกว์” โซนัม วังดี ประธานกลุ่มกล่าว

    ประเทศที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

    ในอดีตที่ผ่านมาประเทศกำลังพัฒนามีสัดส่วนในการปล่อยมลพิษที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และในปัจจุบันประชากรที่ร่ำรวยที่สุด 1% ของโลกคิดเป็นมากกว่า 2 เท่าของการปล่อยมลพิษของประชากรที่ยากจนที่สุด 50% รวมกัน

    นอกจากนี้เหล่าประเทศที่ยากจนยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (extreme weather) เนื่องจากส่วนมากพวกเขาจะต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในการหาอาหารหรือทำงาน และพวกเขาไม่มีเงินมากพอที่จะนำมาการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 2 ใน 3 ของการเสียชีวิตใน 47 ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดมีสาเหตุมาจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว อย่างเช่นภัยแล้ง ไฟป่า และน้ำท่วม

    สิ่งที่ประเทศร่ำรวยจะทำเพื่อแก้ไขปัญหา

    ในปี 2009 ประเทศที่ร่ำรวยสัญญาว่าจะหาเงินจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2020 จากภาครัฐและเอกชน เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา

    โดยเงินส่วนนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือมาตรการลดการปล่อยมลพิษที่เป็นอันตรายและป้องกันผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว อย่างเช่นระบบป้องกันน้ำท่วมที่ดีขึ้นและลงทุนในแหล่งพลังงานทดแทน

    อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ร่ำรวยส่งมอบเงินรวมทั้งหมดเพียงแค่ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2019 และเป้าหมาย 1 แสนล้านดอลลาร์ในปัจจุบันไม่น่าจะเป็นไปได้ก่อนปี 2023

    หากต้องการจะบรรลุเป้าหมายเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส การรักษาข้อตกลงเป็นสิ่งสำคัญ

    ลาซารัส ชาเควรา ประธานาธิบดีของมาลาวีกล่าวเมื่อมาถึงกลาสโกว์เพื่อเข้าร่วมการประชุมว่า “มันไม่ใช่การทำเพื่อการกุศล ดังนั้นให้เงินมา ไม่ก็ย่อยยับไปกับเรา”

    บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ได้จัดให้การบรรลุเป้าหมาย 1 แสนล้านดอลลาร์เป็น 1 ใน 4 เรื่องสำคัญของเขาในการประชุมที่กลาสโกว์

    นายกรัฐมนตรีของอังกฤษกล่าวว่า ประเทศที่ร่ำรวย “เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการปล่อยมลพิษอย่างอิสระมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งมักจะต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายของประเทศกำลังพัฒนา” และพวกเขาก็มี “หน้าที่” ในการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาด้วยเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ และเงิน

    ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/science-environment-59054696

    อุปสรรคในการประชุมของเหล่าประเทศขนาดเล็ก

    “เรากำลังเจรจาเพื่อความอยู่รอดของพวกเรา” ตากาโลอา คูเปอร์ จากสำนักเลขาธิการโครงการสิ่งแวดล้อมภูมิภาคแปซิฟิก (Secretariat of the Pacific Regional Environment Programme) ซึ่งเป็นองค์กรที่ประกอบด้วยสมาชิกจากประเทศและดินแดนในหมู่เกาะแปซิฟิก

    ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้บางประเทศที่เป็นเกาะเหล่านี้เสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด แต่คูเปอร์กล่าวว่า การขาดกำลังเงินนั่นหมายถึงพวกเขาไม่สะดวกที่จะส่งผู้แทนจำนวนมากมาเข้าร่วม

    “บางส่วนของผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดของเราจะต่อสู้เพื่อที่จะมีสิทธิ์มีเสียงและถูกรับฟังในการประชุมเหล่านี้”

    การวางแผนการเดินทางมาประชุมในกลาสโกว์ให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ถือเป็นอุปสรรคของตัวแทนหลาย ๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งอัตราการติดเชื้อยังคงต่ำในช่วงการแพร่ระบาด

    มีรายงานว่าจะมีผู้นำจากหมู่เกาะแปซิฟิกเพียง 4 คนเท่านั้นที่จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอด โดยประเทศอื่น ๆ จะเป็นตัวแทนจากเอกอัครราชทูตและทีมที่เล็กกว่า

    แต่ผู้เจรจาที่อยู่เบื้องหลังและเข้าร่วมจากทางไกล อาจจะเสียเปรียบจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ไม่น่าเชื่อถือและความแตกต่างของเวลา อย่างเช่น ซามัวที่เวลาเร็วกว่าสหราชอาณาจักรถึง 13 ชั่วโมง

    การร่วมมือกันของ “กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด”

    ประเทศกำลังพัฒนามักไม่ค่อยมีสิทธิ์มีเสียงในเวทีระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องสร้างกลุ่มขึ้นมาเพื่อขยายเป้าหมายของพวกเขา

    กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเป็นกลุ่มประเทศ 46 ประเทศ รวมถึงเซเนกัล บังคลาเทศ และเยเมน และคิดเป็นตัวแทนของประชากรกว่า 1 พันล้านคน

    โดยประเทศเหล่านี้สามารถสร้างจุดยืนการเจรจาที่แข็งแกร่งขึ้นได้เมื่อ “มีเป้าหมายและความสนใจที่สอดคล้องกัน” โซนัม วังดี ประธานคนปัจจุบันจากภูฏานกล่าว

    พวกเขาทำงานร่วมกันมาตลอดทั้งปีและจะพบกันทุกวันที่กลาสโกว์

    โดยข้อตกลงสุดท้าย ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 197 ประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องลงนาม

    นั่นหมายความว่าข้อตกลงสุดท้ายจะต้องเป็นที่ยอมรับของทั้งประเทศที่ร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนา

    และที่เหล่าผู้ของนำโลกล้มเหลวในการรักษาข้อตกลงซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมายในโคเปนเฮเกนในปี 2009 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศกำลังพัฒนาจำนวนหนึ่งรวมถึงซูดานและตูวาลูคัดค้านข้อตกลงสุดท้าย

    ที่มา: COP26: What do the poorest countries want from climate summit?

    Least developed countries voice concern over progress at Glasgow Climate Summit