ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > COP26 คืออะไร มีบทบาทอย่างไรในการต่อสู้กับ Climate Change

COP26 คืออะไร มีบทบาทอย่างไรในการต่อสู้กับ Climate Change

30 ตุลาคม 2021


การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ UN Climate Change Conference of the Parties (COP26) จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคมถึง 12 พฤศจิกายน นี้ ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ โดยมีสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ

ในสายตาของหลายๆ คน การประชุม COP26 ไม่ได้เป็นเพียงแค่การประชุมระดับนานาชาติงานหนึ่งเท่านั้น แต่ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะกำหนดว่าเราจะสามารถป้องกันภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้ได้ดีเพียงใด ซึ่งเว็บไซต์การประชุมอย่างเป็นทางการระบุว่า COP26 “มีความเร่งด่วนเป็นพิเศษ” และอาจเป็น “โอกาสสุดท้ายของโลกที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) อยู่ภายใต้การควบคุม”

COP26 คืออะไร

COP ย่อมาจาก Conference of the Parties เป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วง 26 ปีที่ผ่านมา (แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 การประชุมในปีที่แล้วจึงถูกเลื่อนไป) และถือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยนำปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่ระดับโลก

การประชุม Conference of the Parties ครั้งที่ 26 หรือ COP26 จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ การประชุมจะจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 12 พฤศจิกายน โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งหมดราว 30,000 คน ประกอบด้วย ผู้นำระดับโลก ผู้แทนองค์กรผู้สังเกตการณ์ และนักข่าว

COP26 สำคัญอย่างไร

เนื่องจากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้เมื่อก่อนหน้านี้

ในการประชุม COP21 เมื่อปี 2015 ณ กรุงปารีส 196 ประเทศได้ตกลงที่จะร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้เกิดข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ขึ้น ภายใต้ข้อตกลงนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมุ่งมั่นที่จะสร้างการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions หรือ NDCs) ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการลดการปล่อยมลพิษระดับชาติ โดยทุกๆ 5 ปี ประเทศต่างๆ จะต้องกลับมาด้วยแผนการฉบับที่ปรับปรุงใหม่ (NDCs ล่าช้าไปหนึ่งปีเนื่องจากการระบาดของโควิด-19)

สำหรับ COP26 ทั้ง 200 ประเทศจะประกาศแผนการลดการปล่อยมลพิษภายในปี 2030 นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับการเลิกใช้ถ่านหิน การเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะไฟฟ้า และคาดว่าจะมีการดำเนินการเพื่อปกป้องธรรมชาติมากขึ้น

ซึ่งฉันทามติเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ปารีสเมื่อปี 2015 ถึงแม้ว่าเป้าหมายจะยิ่งใหญ่เพียงใด แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามรายงานของ BBC แค่เพียงเป้าหมายเหล่านี้อาจจะทำให้อุณหภูมิของโลก “เพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม”

รายงานล่าสุดของ UN ชี้ว่าแผน NDCs ปัจจุบัน ซึ่งรวมที่เสนอเข้ามาใหม่และที่แก้ไขปรับปรุงของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรปและอีกกว่า 100 ประเทศ ยังไม่เพียงพอ เพราะมีผลให้การปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้น 16% ห่างไกลจากเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซลง 45% อีกมาก

ดังนั้น แผนการลดการปล่อยมลพิษระดับชาติที่ประเทศต่างๆ จะเปิดเผยในการประชุม COP26 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากแต่ละประเทศถูกกระตุ้นให้ปรับแก้ไข NDCs ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าการปล่อยมลพิษจะต้องลดลง 45% เมื่อเทียบกับระดับปี 2010 ภายในปี 2030 และการปล่อยมลพิษจะเป็นศูนย์ภายในปี 2050 อุณหภูมิของโลกก็มีโอกาสที่จะอยู่ในเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส

ทำไม 1.5 องศาเซลเซียสถึงมีความหมาย

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงปารีส คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานชั้นนำของโลกด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ ได้ประเมินผลที่มีต่อโลกจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสอย่างละเอียดถึง โดบพบว่าความเสียหายที่เกิดจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสกับ 2 องศาเซลเซียสนั้นแตกต่างกันมาก และสรุปได้ว่าอุณหภูมิที่ต่ำกว่านั้นมีความปลอดภัยกว่ามาก

แม้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสก็ยังคงส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แนวปะการังฟอกสี และการเพิ่มขึ้นของคลื่นความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุที่รุนแรง และรูปแบบอื่นๆ ของสภาพอากาศที่รุนแรง แต่จะน้อยกว่าผลสุดขั้วของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส

ผลการวิจัยเพิ่มเติมจาก IPCC ที่เผยแพร่ในเดือนสิงหาคม เน้นย้ำคำเตือนเหล่านี้ และสรุปว่ายังมีโอกาสที่โลกจะอยู่ภายในเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส แต่จะต้องมีความพยายามร่วมกัน ที่สำคัญคือ ยังพบว่าทุกๆ ระดับของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิมีความสำคัญ

น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลสูงขึ้น ที่มาภาพ: https://sealevel.nasa.gov/news/223/nasas-oceans-melting-greenland-mission-leaves-for-its-last-field-trip/

ยังห่างจากเป้าแค่ไหน

อุณหภูมิทั่วโลกอยู่เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมประมาณ 1.1-1.2 องศาเซลเซียส และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงในช่วงล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว แต่เป็นเพียงชั่วคราวและเพิ่มขึ้นอีกครั้งนับตั้งแต่เศรษฐกิจฟื้นตัว การปล่อยมลพิษทั่วโลกต้องลดลงประมาณ 7% ต่อปีในทศวรรษนี้ เพื่อให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ได้ไหม

เพื่อให้ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เราต้องหยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล จากการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งทำให้เกิดก๊าซมีเทน จากการตัดต้นไม้และจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมบางประเภทให้ได้เกือบทั้งหมด ภายในช่วงกลางศตวรรษนี้ การปล่อยสิ่งตกค้างที่เหลืออยู่ในขณะนั้น เช่น จากกระบวนการที่ไม่สามารถแก้ไขได้ จะต้องชดเชยด้วยการเพิ่มปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บในโลก เช่น ป่าไม้ พื้นที่พรุ และพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนขนาดใหญ่ ยอดคงเหลือนั้นคือ การปล่อยที่เป็นศูนย์สุทธิ

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายระยะยาวยังไม่เพียงพอ สภาพภูมิอากาศตอบสนองต่อการปล่อยมลพิษสะสม และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะคงอยู่ในบรรยากาศเป็นเวลาประมาณหนึ่งศตวรรษหลังจากที่มีการปล่อยก๊าซออกไป ดังนั้นเราจึงสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 แต่ยังคงปล่อยก๊าซออกมามากในระหว่างนี้จนเกินเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียสอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

COP26 ประชุมเฉพาะ 1.5 องศาเซลเซียสเท่านั้นหรือ?

NDCs เป็นประเด็นสำคัญของการหารือ และการทำให้ประเทศต่างๆ ลงนามในเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในระยะยาวก็มีความสำคัญเช่นกัน แต่การที่สหราชอาณาจักรเป็นประธานการประชุมครั้งนี้ก็หวังที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้โดยมุ่งเน้นไปที่ด้านอื่นๆ อีก 3 ด้าน ได้แก่ การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอากาศ การเลิกใช้ถ่านหิน และการแก้ปัญหาที่อิงธรรมชาติ

การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือเงินที่จ่ายให้กับประเทศยากจน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยประเทศเหล่านี้ลดการปล่อยมลพิษและรับมือกับผลกระทบของสภาพอากาศที่รุนแรง ประเทศยากจนได้รับคำมั่นที่การประชุม COP ที่โคเปนเฮเกนในปี 2009 ว่าจะได้รับเงิน 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2020

แต่การสนับสนุนทางการเงินพลาดเป้า โดยรายงานของ OECD ในเดือนกันยายนระบุว่า ได้มีการให้เงินประเทศยากจนเพียง 80 ล้านดอลลาร์เท่านั้นในปีที่แล้ว ประเทศกำลังพัฒนาต้องการการรับประกันว่าจะได้รับเงินเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และต้องการเห็นข้อตกลงทางการเงินรูปแบบใหม่ที่จะขยายเงินทุนที่มีอยู่มากให้นานเกินกว่าปี 2025

การเลิกใช้ถ่านหินมีความสำคัญเพื่อให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส หลายประเทศต่างๆ ได้ดำเนินการในทิศทางนี้ เช่น จีน ซึ่งเป็นผู้ใช้ถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลก จะหยุดการจัดหาเงินทุนสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในต่างประเทศ เป็นต้น แต่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศยังคงเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคถ่านหินรายใหญ่ และยังต้องทำอีกมาก

การแก้ปัญหาที่อิงธรรมชาติคือโครงการต่างๆ เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าที่มีอยู่ พื้นที่พรุ พื้นที่ชุ่มน้ำ และแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติอื่นๆ และปลูกต้นไม้เพิ่ม สิ่งเหล่านี้เป็นความคิดริเริ่มที่สำคัญ และป่าแอมะซอนและป่าฝนอื่นๆ ทั่วโลกที่ถูกทำลาย มีส่วนอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า แม้ว่าการปลูกต้นไม้จะเป็นความคิดที่ดี แต่ก็ไม่มีที่ว่างให้ปลูกต้นไม้ทุกต้นอย่างที่บางคนแนะนำ และไม่สามารถแก้ไขวิกฤติสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียวได้ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลก็ต้องสิ้นสุดลงเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าในประเด็นต่างๆ เช่น ก๊าซมีเทน ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมาจากการเลี้ยงสัตว์ ของเสียทางการเกษตร การขุดเจาะน้ำมัน และการสำรวจเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ ที่ทำให้โลกร้อนได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้จับมือเป็นพันธมิตรกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนทั่วโลกภายในปี 2030 ซึ่งงานวิจัยล่าสุดพบว่าส่วนใหญ่สามารถทำได้โดยเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีค่าใช้จ่ายเลย

ที่มาภาพ: https://phys.org/news/2020-05-global-co2-emissions-.html

ทำไม COP ถึงมีมาอย่างยาวนานจนถึงครั้งที่ 26

หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม โลกยุคใหม่ก็ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล เราอยู่ในยุคที่ความเจริญและเทคโนโลยีเกือบทั้งหมดถูกสร้างขึ้นด้วยพลังงานราคาถูกและเข้าถึงได้ง่ายจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การที่จะยุติยุคของเชื้อเพลิงฟอสซิลได้นั้น เราจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบพลังงาน สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง การขนส่ง รวมทั้งในพฤติกรรมและอาหารของเรา

การจะทำให้ทั้ง 196 ประเทศเห็นด้วยกับสิ่งที่ค่อนข้างซับซ้อนเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่เต็มใจที่จะแบกรับภาระ ในขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนาเรียกร้องสิทธิในการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไปเพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยังมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ การร่วมแบ่งเบาภาระ ค่าใช้จ่าย วิทยาศาสตร์ และการเมือง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลในประเทศสำคัญๆ เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีส

อย่างไรก็ตาม ในทางบวก ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันมีราคาถูกเหมือนกับเชื้อเพลิงฟอสซิลในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าก็ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และเชื้อเพลิงใหม่ๆ เช่น ไฮโดรเจนก็กำลังถูกพัฒนา

หัวข้อสำคัญในการประชุม COP26

ในการประชุมที่กลาสโกว์ มีหัวข้อสำคัญมากมาย ตั้งแต่เรื่องการเงิน บทบาทของประเทศจีน ไปจนถึงผลลัพธ์ของ COP26 ที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนทั่วไป

โดยจากการบรรยายสรุปของ Covering Climate Now และ Climate Central ได้แบ่งหัวข้อเป็น 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

“1.5 องศาเซลเซียส” ตัวเลขที่สำคัญที่สุดใน COP26
ตัวเลขดังกล่าวมาจากการเปิดเผยของนักวิทยาศาสตร์ว่าเราต้องรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรายงานของ IPCC ที่ได้เผยแพร่ในเดือนสิงหาคมปีนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเราต้องรักษาระดับอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ไมเคิล ออปเพนไฮเมอร์ ศาสตราจารย์ด้านธรณีศาสตร์และวิเทศสัมพันธ์ที่ Princeton เผยในการบรรยายสรุปเมื่อไม่นานนี้ว่าหากอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส “มีความเสี่ยงที่สภาพอากาศจะควบคุมไม่ได้ เกินกว่าความสามารถของเราที่จะปรับตัวให้เข้ากับมัน”

ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ที่ 1.1 องศาเซลเซียส การรักษาอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นให้อยู่ในระดับ 1.5 องศาเซลเซียสยังคงเป็นไปได้ ตามที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้กล่าวไว้ แต่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน

ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ
ในปัจจุบัน ผลกระทบเชิงลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบมากที่สุดต่อประเทศยากจน แม้ว่าประเทศเหล่านั้นจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้เกิดภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟไหม้ และภัยพิบัติอื่นๆ

“เหยื่อของมลพิษคือเหล่าประชาชนที่ยากจนบนโลก” ซาลีมูล ฮุก ผู้อำนวยการของ International Center for Climate Change and Development ที่กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ กล่าวในระหว่างการบรรยายสรุป

ในฐานะส่วนหนึ่งของเส้นทางสู่ความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ เหล่าประเทศที่ยากจนต้องการแผนการว่า ประเทศที่ร่ำรวยจะส่งมอบเงินจำนวน 5 แสนล้านดอลลาร์ที่พวกเขาค้างชำระในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมาได้อย่างไร

โดยเงินที่ได้รับจากประเทศที่ร่ำรวย 80% นำไปช่วยประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดใหญ่ลดการปล่อยมลพิษ มีเพียงแค่ 20% เท่านั้นที่นำไปช่วยเหลือประเทศที่อ่อนแอให้ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “เงินครึ่งหนึ่งควรนำไปช่วยเหลือเหล่าประเทศที่อ่อนแอ เพื่อช่วยพวกเขาปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ฮุก กล่าว

หากไม่ช่วยเหลือประเทศที่ยากจน โลกก็มีความหวังเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่จะรักษาอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งหมายความว่าประเทศที่ร่ำรวยก็จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงเช่นกัน

อุปสรรคทางการเมือง
บริษัทและประเทศต่างๆ มักขัดขวางความคืบหน้าในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากเชื้อเพลิงคาร์บอนที่ฝังลึกลงในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายด้านภาษีและกฎระเบียบเกี่ยวกับคาร์บอน ยกตัวอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา จีน และซาอุดีอาระเบีย ที่สนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล

Covering Climate Now ระบุว่า “ความมั่งคั่งและอำนาจของบริษัทต่างๆ เช่น Exxon และ Aramco อาจเป็นเหตุผลใหญ่ที่สุด ว่าทำไมการเจรจาด้านสภาพอากาศของ UN ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาจึงประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”

เป้าหมายพิเศษของ COP26 คืออะไร

เว็บไซต์ทางการของ COP26 ได้วางเป้าหมายที่ COP26 ต้องบรรลุไว้ 4 เป้าหมายที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • ทำให้การปล่อยมลพิษสุทธิทั่วโลกเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษและรักษาระดับอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส
  • ประเทศต่างๆ จะถูกขอให้นำเสนอแผนการที่จะช่วยยกเลิกการใช้ถ่านหิน การเร่งให้เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า การใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น และการควบคุมการตัดไม้ทำลายป่า

  • ปรับตัวเพื่อปกป้องชุมชนและธรรมชาติ
  • รวมถึงการปกป้องระบบนิเวศ ฟื้นฟูระบบนิเวศที่ได้รับความเสียหาย และป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟไหม้

  • ระดมทุน
  • ในปี 2020 ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะมอบเงินจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจน ซึ่งประเทศเหล่านั้นจะต้องทำตามคำมั่นสัญญานี้

  • ทำงานร่วมกัน
  • การที่จะเร่งการดำเนินการได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของภาครัฐบาล ธุรกิจ และประชาสังคม

    ออปเพนไฮเมอร์กล่าวในการบรรยายสรุปของ Covering Climate Now ล่าสุดว่า “สิ่งต่างๆ อาจเลวร้ายลงได้เสมอ และไม่ว่ามันจะดีขึ้นหรือแย่ลง มนุษย์ก็จะได้รับความเสียหาย แทนที่จะยอมแพ้ เราต้องพยายามทำให้มันดีขึ้น”

    กลาสโกว์ ที่มาภาพ: https://www.transport.gov.scot/news/51-days-to-go-until-cop26-arrives-in-glasgow/

    ทำไมต้องจัดที่กลาสโกว์

    การเป็นประธานการประชุมในแต่ละปีขึ้นอยู่กับว่าใครได้ไป และมีแนวโน้มที่จะแกว่งไปมาระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา และทั่วโลกเพื่อให้ทุกภูมิภาคเป็นตัวแทน การประชุมที่มีชื่อเสียงก่อนหน้านี้จัดขึ้นในโคเปนเฮเกน, เกียวโต, มาร์ราเกช, ลิมา และเดอร์บัน และในปีหน้ามีแนวโน้มที่จะจัดที่อียิปต์ อันที่จริงสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ COP26 ร่วมกับอิตาลี ซึ่งได้เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำหลายครั้ง รวมถึงการประชุมล่วงหน้าและการประชุม COP เยาวชนในมิลาน

    จะเกิดอะไรขึ้นหาก COP26 ล้มเหลว


    ผู้ร่วมประชุมรายใหญ่ ทั้งสหประชาชาติ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ยอมรับแล้วว่า COP26 จะไม่บรรลุทุกสิ่งที่หวังไว้ NDCs ที่จะประกาศในกลาสโกว์จะไม่มีผลมากขึ้นเมื่อรวมกับสิ่งที่ทำมาทั้งหมด ที่จะคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

    ผู้สังเกตการณ์หลายคนผิดหวัง แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะความซับซ้อนของการประชุมหารือ ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบก็มีความเป็นไปได้น้อย สิ่งที่เจ้าภาพสหราชอาณาจักรมุ่งเน้นในตอนนี้คือ การทำให้แน่ใจว่ามีความคืบหน้าเพียงพอในการลดการปล่อยมลพิษในปี 2030 เพื่อหล่อเลี้ยงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส และเพื่อดำเนินการตามแนวทางอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งการเลิกใช้ถ่านหิน การลดมีเทน การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อการขนส่ง การทำให้ภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน และหน่วยงานรัฐระดับย่อยลงไป วางแผนลดการปล่อยมลพิษให้สอดคล้องกับการรักษาอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

    ประเด็นสำคัญประการหนึ่งในขณะนี้คือ การทำให้แน่ใจว่าการหารือราบรื่น การประชุมที่โคเปนเฮเกนในปี 2552 ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นความล้มเหลว แม้จะมีข้อตกลงบางส่วนที่กลายเป็นรากฐานของปารีส แต่ก็ปิดฉากแห่งความโกลาหล การแบ่งแยก การกล่าวหา และความบาดหมางกัน หากสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้ และมีแผนที่มีแนวทางชัดเจนซึ่งสามารถป้องกันโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้อย่างน่าเชื่อถือ การประชุม COP26 อาจยังคงประสบความสำเร็จ

    ที่มา: greenqueen,The guardian