มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังภาครัฐ ขยายกรอบเพดานก่อหนี้จาก 30% เป็น 35% จนถึงปีงบประมาณ 2565 เตรียมนำงบประมาณไปจ่ายให้โครงการประกันรายได้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการยโบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 2/2564 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติขยายกรอบเพดานวงเงินตามมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง จากร้อยละ 30 เป็นไม่เกินร้อยละ 35 ของงบประมาณประจำปี โดยขยายกรอบวงเงินเป็นระยะเวลา 1 ปีจนถึงปีงบประมาณ 2565 หลังจากนั้นกลับไปอัตราเดิมคือร้อยละ 30 และเมื่อครบกำหนด 1 ปี กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะเสนอให้กรรมการพิจารณาอีกครั้ง
นายอาคมให้ข้อมูลว่า ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน มีวงเงินคงเหลือ 5,630 ล้านบาท เมื่อเปิดวงเงินเพิ่มอีก 5% จะมีวงเงินเพิ่มถึง 115,000 ล้านบาท รวมเป็น 160,360 ล้านบาท สำหรับจ่ายชดเชยโครงการประกันรายได้และพืชผลเกษตร
“มีความจำเป็นต้องขยายกรอบอัตรายอดคงค้างของภาระที่รัฐต้องชดเชยตามมาตรา 28 และขอสนับสนุนจากงบกลางอีก 7.6 หมื่นล้านบาท”
นายอาคมกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีเสนอว่าในปีงบประมาณ 2566 ต้องมีการพิจารณารูปแบบการประกันรายได้และวิธีปฏิบัติ รวมถึงการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณล่วงหน้า
นายอาคมกล่าวต่อว่า โครงการประกันพืชผล โดยเฉพาะการปลูกข้าวมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยมติที่ประชุมวันนี้ได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณพิจารณา บรรจุวงเงินโครงการประกันพืชผลไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามพ.ร.บ.งบประมาณ เพื่อไม่ให้มีภาระสะสมทางการคลังในมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เนื่องจากยังมีภาระการคลังจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น มาตรการสินเชื่อของสถาบันการเงินของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. บ.ส.ย. และการชดเชยอัตราค่าบริการสาธารณะ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธ.ก.ส.เป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินโครงการภาครัฐให้เกษตรกรโดยตรง โดยนายอาคมอธิบายว่า ภายหลังจากได้งบประมาณมาแล้ว กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณจะเร่งรัดคืนวงเงินให้
ทั้งนี้ นายอาคมคาดว่า ข้อสรุปจากที่ประชุมจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน 2564