ThaiPublica > เกาะกระแส > สำนักงบฯแจงตั้งงบลงทุนไม่ได้ตามเกณฑ์วินัยการคลัง ชงครม.เห็นชอบแนวทางแก้ปัญหา

สำนักงบฯแจงตั้งงบลงทุนไม่ได้ตามเกณฑ์วินัยการคลัง ชงครม.เห็นชอบแนวทางแก้ปัญหา

17 มีนาคม 2021


ครม.เห็นชอบมาตรการแก้ปัญหา กรณีตั้งงบลงทุนปี 65 ต่ำกว่าที่ พ.ร.บ.วินัยการคลัง ฯกำหนด 75,600 ล้าน สำนักงบ ฯ เตรียมแผนเพิ่มเม็ดเงินลงทุนเสนอรัฐสภา 3 ช่องทาง “ดึงเอกชนร่วมทุน-ออกหน่วยลงทุน TFF -กู้เพิ่ม”

นายสมหมาย ลักขณานุรักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบมาตรการแก้ไข กรณีตั้งงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ 2565 น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณรายจ่าย ซึ่งตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (1) ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปีเอาไว้ว่า “จะต้องมีรายจ่ายลงทุนในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น” โดยในปีงบประมาณ 2565 ทางสำนักงบประมาณได้พิจารณาจัดสรรงบลงทุนเอาไว้ที่ 624,399.9 ล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วน 20.14% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้สำนักงบประมาณได้ดำเนินการตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ แต่วงเงินงบลงทุนยังมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลที่กำหนดกรอบการกู้ยืมเงินไว้ที่ 700,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ตามมาตรา 20 วรรคสุดท้ายแห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ระบุว่า “ให้แสดงเหตุผลความจำเป็น และมาตรการในการแก้ไขเสนอต่อรัฐสภา พร้อมกับพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีด้วย”

“วันนี้สำนักงบประมาณจึงเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบ แนวทางการเพิ่มงบลงทุนจากแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่น นอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย อันได้แก่ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และการลงทุนของหน่วยงานผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) รวมทั้งพิจารณาการใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม” นายสมหมาย กล่าว

นายกรณินทร์ กาญจโนมัย ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้สำนักงบฯไม่สามารถตั้งงบลงทุนปี 2565 ให้เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐได้นั้น เป็นผลมาจากในปีนี้รัฐบาลมีรายจ่ายประจำโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นถึง 2,475,600 ล้านบาท ประกอบไปด้วยรายจ่ายประจำที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย , รายจ่ายตามสิทธิและสวัสดิการข้าราชการ , รายจ่ายตามข้อผูกพันต่าง ๆ ,รายจ่ายในการจัดบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานดูแลประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และยังมีรายจ่ายพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีก เช่น รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินทุนสำรองจ่ายจำนวน 24,978.6 ล้านบาท ซึ่งเบิกไปใช้ในการจ่ายเงินเยียวยาประชาชนคนละ 5,000 บาท ก่อนหน้านี้ และก็มีรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังอีก 597.7 ล้านบาท รวมทั้งยังมีรายจ่ายในการชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้นในปีนี้จึงไม่มีวงเงินงบประมาณเหลือเพียงพอที่จะมาจัดสรรเป็นงบลงทุนให้ได้ครบถ้วนตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ แต่อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 วรรคสุดท้ายได้กำหนดแนวทางแก้ไขเอาไว้ชัดเจน คือ ให้สำนักงบฯนำเสนอเหตุผลความจำเป็นที่ไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และมาตรการแก้ไขต่อรัฐสภา พร้อมกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีประจำปี 2565

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบรายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 และแนวทางการปรับปรุงดังนี้

1.หน่วยรับงบประมาณ ได้ยื่นคำขอใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี , นายกรัฐมนตรี , รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณา รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 5,274,444.3 ล้านบาท

2. วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 มีวงเงินทั้งสิ้น 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 ที่กำหนดไว้ 3,285,962.5 ล้านบาท เป็นจำนวน 185,962.5 ล้านบาท หรือลดลง 5.66% โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประกอบด้วย

    2.1 รายจ่ายประจำ 2,360,543 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 177,109.3 ล้านบาท หรือ ลดลง 6.98% โดยคิดเป็นสัดส่วน 76.15% ของวงเงินงบประมาณ
    2.2 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 100% เนื่องจากในปีงบประมาณปี 2564 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ คิดเป็นสัดส่วน 0.02% ของวงเงินงบประมาณ
    2.3 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 24,978.6 ล้านบาท เพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่ายที่ได้นำไปใช้จ่ายได้ตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 100% จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และคิดเป็นสัดส่วน 0.81% ของวงเงินงบประมาณ
    2.4 รายจ่ายลงทุน 624,399.9 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 24,910.3 ล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วน 20.14% ของวงเงินงบประมาณ
    2.5 รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,000 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 1.01% และคิดเป็นสัดส่วน 3.22% ของวงเงินงบประมาณ

3.จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณมีทั้งหมด 6 ยุทธศาสตร์ กับอีก 1 รายการ ดังนี้

    3.1 ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 387,852 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12.51% ของวงเงินงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท
    3.2 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 338,547 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10.92%
    3.3 ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 548,185 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.68%
    3.4 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 733,749 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 23.67%
    3.5 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 119,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.86%
    3.6 ยุทธศาสตร์ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 559,357.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18.05%
    3.7 รายการค่าดำเนินการภาครัฐ 412,706 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.31%

4.แนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่ ครม.เห็นชอบมีดังนี้

    4.1 ปรับปรุงรายละเอียดภายในกรอบวงเงินของแต่ละกระทรวง หรือ หน่วนรับงบประมาณที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
    4.2 งบประมาณที่ได้รับจัดสรรสำหรับรายการต่อไปนี้ ไม่ควรเปลี่ยนแปลงรายการไปจัดสรรให้รายการอื่นๆ เช่น ไม่ควรเปลี่ยนแปลงรายจ่ายลงทุนไปเพิ่มในรายจ่ายประจำ และไม่ควรเปลี่ยนแปลงงบประมาณในแผนงานบูรณาการ หรือ แผนงานยุทธศาสตร์ไปเพิ่มในแผนงานพื้นฐาน และการปรับปรุงงบประมาณ ไม่ควรเพิ่มรายการใหม่ที่มีภาระผูกพัน

ทั้งนี้ ให้หน่วยรับงบประมาณปรับปรุงรายละเอียด ตามแนวทางการดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด พิจารณาเห็นชอบ และส่งผลการพิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 18 มีนาคม 2564 และให้สำนักงบประมาณพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 23 มีนาคม 2564 ต่อไป