ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > โลกรวนกับตลาดทุน (ตอน 2) : ตัวอย่าง Climate Action สู่ Net Zero ของภาคธุรกิจ

โลกรวนกับตลาดทุน (ตอน 2) : ตัวอย่าง Climate Action สู่ Net Zero ของภาคธุรกิจ

18 พฤศจิกายน 2021


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “Understanding Climate Change as Business Drivers” เพื่อทำความเข้าใจธุรกิจกับ Climate Change ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของนโยบาย-ตลาดโลก และรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ โดยมีศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ต่อจากตอนที่ 1 ภาวะโลกรวนกับตลาดทุน (ตอน 1) : “อีอาร์เอ็ม-สยาม” มอง ‘แรงกดดัน’ จากนักลงทุน คือหัวใจขับเคลื่อนโลกร้อน

ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวในหัวข้อ Climate Change The New Economy ว่าหลังจากที่รัฐบาลไทยประกาศนโยบายเศรษฐกิจ BCG ให้เป็นวาระแห่งชาติ ทำให้ประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องกลไกการทำให้เกิดการรีไซเคิลอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนที่ยังต้องพัฒนาต่อ

“ถ้าภาคธุรกิจเปลี่ยนวัตถุดิบขึ้นมาก็จะส่งผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจก หรือเปลี่ยนวงจรการผลิต หรือการเอาวัตถุดิบหมุนเวียนมาใช้ ทั้งหมดเป็นยุทธศาสตร์ของ circular economy สอดคล้องกับเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย”

สำหรับการผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่โมเดล Circular Economy ดร.พงษ์วิภาให้ข้อมูลว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวงอว.)ได้วางโรดแมปเป้าหมายการผลักดันอุตสาหกรรม 3 ประเภทให้ใช้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ (1) อุตสาหกรรมพลาสติก (2) อุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะประเด็น Food Waste และ (3) อุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเหตุผลที่เลือกอุตสาหกรรม 3 ประเภทนี้เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน เช่น พลาสติกมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องและทับซ้อนกัน

ต่อมาเป็นการขับเคลื่อนของกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการโดยสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งจัดทำมาตรการโรงงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐฏิจหมุนเวียน เพื่อผลักดันให้นิคมอุตสาหกรรมและโรงงานเดินหน้าสู่ ECO-Champion ตลอดจนการประกวดอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ทำให้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมองค์กรของโรงงานโดยมีภาครัฐช่วยสนับสนุน

อีกมาตรฐานที่รัฐบาลทำคือการช่วยเหลืออุตสาหกรรมพลาสติกให้เป็นไปตามเกณฑ์สากล ช่วยยกระดับมาตรฐานการส่งออกของสินค้าไทยไปต่างประเทศ

ด้านนายประสิทธิ์ ไวยาวัจมัย กรรมการบริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด กล่าวถึงกลไกการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน เช่น การให้สินเชื่อสำหรับธุรกิจที่ยึดหลักความยั่งยืน (Sustainability Loan) โดยประเมินจากหลักการของสหประชาชาติ (SDGs) ในด้านต่างๆ หรือการประเมินว่าบริษัทมีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกปริมาณเท่าไร โดยสิทธิประโยชน์เหล่านี้ทำให้ธุรกิจสามารถกู้เงินได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าธุรกิจที่ไม่ได้สนใจประเด็นความยั่งยืน

“การขอแหล่งเงินกู้และการปล่อยเงินกู้ในกลุ่มบอนด์ และ Sustainability Bond มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี สอดคล้องกับเป้าหมายของโลกที่พูดเรื่อง Climate Changes และ Circular Economy นอกจากนั้นธุรกิจยังต้องมีมิติสังคมหรือ ‘Governance’ ซึ่งเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้”

‘ปิด-ปรับ-เปลี่ยน’ เป้าหมายเอสซีจีสู่ Net Zero 2050

นายนำพล ลิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี เล่าเป้าหมายสู่การนำพาองค์กรให้เป็น Net Zero ภายในปี 2050 ว่า การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไม่ใช่แค่เรื่องของการผลิตสินคาเพื่อตอบสนองผู้บริโภคเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือการมองโลกใบนี้ให้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง ‘กำไร’ กับ ‘สิ่งแวดล้อม’ ไปพร้อมกัน

“ตั้งแต่ปี 2000 อุณหภูมิโลกพึ่งกระโฉด แต่ก่อนคนจะเรียกกันว่า Climate Changes แต่โลกทุกวันนี้กลับเรียกกันว่า ‘Climate Emergency’ เพราะถ้าเปรียบเทียบเป็นอ่างน้ำ ตัวอ่างเหมือนชั้นบรรยากาศ ไซส์อ่างคืออุณหภูมิที่จะกำหนดว่าโลกไม่ควรเกิน 1.5 หรือ 2 องศา เวลาเปิดน้ำใส่อ่างมันคืออากาศที่ปล่อยไปชั้นบรรยากาศทุกปี ขณะเดียวกันถ้าเราเปิดน้ำให้มันออกมาจากอ่างซึ่งปัจจุบันคือภาคป่าไม้ ในระดับที่การเปิดและปล่อยสมดุลกัน ระดับน้ำจะคงที่ หมายความว่าความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศก็ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ปัญหาคือมันปล่อยมากกว่าที่ดูดออก”

“มีคนเปรียบเทียบว่า ถ้าอ่างน้ำ 1.5 องศาเซลเซียล เป็นไซส์ 100 หน่วย ตอนนี้จะมีน้ำในอ่าง 92 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันโลกปล่อยปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าอีก 8 ปี (คาร์บอนไดออกไซด์) เต็มอ่าง แต่ถ้าคิดแบบ 2 องศาเซลเซียล แสดงว่าตอนนี้มีน้ำในอ่าง 75 เปอร์เซ็นต์ เหลือเวลา 25 ปี ที่จะทำให้เป็น net zero 2050”

นายนำพลกล่าวว่าสิ่งที่เอสซีจีทำคือการทำให้นักลงทุนภายนอกเข้าใจการปรับเปลี่ยนภายในองค์กรผ่านเวทีต่างๆ ที่สำคัญคือบริษัทก็ต้องประกาศว่าจะเป็น Net Zero ด้วยเช่นกัน

“ปลายปีที่แล้ว เอสซีจีประกาศเป็น Net Zero ภายในปี 2050 เราเข้าใจว่า Green House Gas ที่เราปล่อยไม่ใช่แค่ภาคพลังงาน แต่เรามีซีเมนต์และอื่นๆ นี่เป็นเป้าที่ท้าทายของเรา เพราะธุรกิจเราก็อยากโต อยากขยายตลาด แต่ขยายแล้วการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องลดลง”

นายนำพลกล่าวต่อว่า ในอดีต ภาคธุรกิจมีหน้าที่เพียงตอบคำถามว่าธุรกิจจะไปสร้างผลกระทบให้สิ่งแวดล้อมอย่างไร แต่ปัจจุบันคณะทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) จะถามว่าภาวะโลกรวนมากระทบธุรกิจอย่างไร และองค์กรต้องตอบคำถามเรื่องการเปลี่ยนแปลง 4 เรื่องคือกระบวนการธุรกิจ (strategic) การกำกับดูแล (governance) การจัดการความเสี่ยง (risk management) และเป้าหมายองค์กรระยะสั้นและยาว (metric and target)

ในด้านการดำเนินการอย่างรูปธรรม นายนำพลเล่าว่า เอสซีจีดำเนินการตามแนวทาง 3ป. คือ ปิด ปรับ เปลี่ยน กล่าวคือปิดพลังงานเมื่อไม่ใช้ ปรับพลังงานให้พอดี และเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูล “SD Report” โดยที่ผ่านมาพบว่าบริษัทเคยวางเป้าหมายว่าปี 2020 จะต้องลดลง 10% เทียบกับปีก่อน แต่ในทางปฏิบัติบริษัททำได้ดีกว่าเป้าที่วางไว้คือ 10.9% และตั้งเป้าอีก 5 ปีจะต้องลดให้ได้ 20% (2568) และปี 2573 ตั้งเป้าเป็น 28%

“วิธีไปสู่เป้าความสำเร็จของเราคือการสร้างคน ซึ่งเป็นฐานราก และทำให้เรื่อง Low Carbon เป็นวัฒนธรรมองค์กร ถัดมาเป็นเรื่องผู้นำ (Leadership) และการวางเป้าหมายให้ครอบคลุมทั้งองค์กร”

เครือเจริญโภคภัณฑ์ 5 แกนสู่การปกป้องโลกผ่านธุรกิจ

นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศในแถบยุโรปตื่นตัวกับประเด็น Climate Changes ในระดับสูง ทั้งในมิติธุรกิจและการวางนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการขึ้นภาษีสำหรับธุรกิจที่ไม่ใส่ใจในประเด็นภาวะโลกรวน

“ผลกระทบต่อประเทศไทยคืออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ แก้ว เหล็ก ปุ๋ย และถ่านหิน จากนั้นจะเริ่มกระจายเข้าสินค้าอื่นๆ แต่ก็อย่าลืมว่าถ้าเราปรับธุรกิจให้รับมือ Climate Changes ได้สำเร็จ คู่แข่งเราจะน้อยลง รวมถึงเรื่องการตลาดในยุโรปที่จะประเมินว่าสินค้าสร้างมลพิษขนาดไหน โดยเฉพาะตลาดน้ำมันปาล์ม เพราะการปลูกปาล์มเป็นการทำลายป่า แต่ถ้าเราควบคุมโดยไม่ทำลายป่าได้ คู่แข่งจะน้อยลงมาก”

นายนพปฎล กล่าวต่อว่า ผลกระทบเชิงกายภาพที่จะมาถึงกลุ่มธุรกิจของซีพีคือ ‘ภาคการเกษตร’ เพราะทุกอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียล ทำให้ประสิทธิผลลดลง 10% ต่อ 1 ไร่ และถ้าโลกไม่มีการควบคุมอุณหภูมิจนถึงปี 2050 เท่ากับว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 4 องศาเซลเซียล ทำให้ซีพีทำการเกษตรแล้วได้ผลผลลิตแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นายนพปฎลมองว่า ท่ามกลางภาวะโลกรวนก็มีโอกาสที่ซีพีต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยที่ผ่านมามีการตั้งเป้าสู่ Net Zero และ Zero Food Waste ตลอดจนการใช้พลังงานหมุนเวียน และเลิกใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

นายนพปฎลยกตัวอย่างการปลูกข้าว ซึ่งเป็นพืชที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนสูง แต่เครือซีพีได้ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกโดยปล่อยให้น้ำท่วมข้าวเพื่อจัดการศัตรูพืช เป็นพื้นที่เลี้ยงปลา-กุ้ง โดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลงในกระบวนการปลูก นอกจากนี้ยังไม่รับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรรายย่อยที่ทำการเผา โดยขอให้เกษตรกรแสดงเอกสารสิทธิประกอบกับการตรวจสอบจากภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อยืนยันว่าเกษตรกรคู่ค้าไม่ได้สร้างผลกระทบภาวะโลกรวน ตลอดจนการใช้โซลาร์เซลล์ในโรงงานและพื้นที่ต่างๆ

“บางคนมองว่าการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจยังเป็นแค่การประชาสัมพันธ์เท่านั้น แต่ความเป็นจริงคือการปกป้องโลกผ่านธุรกิจ โดยต้องอาศัย 5 องค์ประกอบสำคัญคือ (1) ผู้นำ (Leadership) (2) ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ (Transparency) (3) ความร่วมมือ (Collaboration) (4) เข้าใจคู่ค้า และยกระดับมาตรฐานภายในองค์กร และ (5) เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation and Technology)” นายนพปฎลกล่าว

FPI ยึดคู่ค้าคู่ความยั่งยืน

นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) (FPI) กล่าวว่า FPI เป็นบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ครบวงจรตั้งแต่กระบวนการผลิต แม่พิมพ์ ขึ้นรูป และชุดพลาสติก โดยแทบทุกกระบวนการผลิตล้วนใช้พลังงานและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ได้รับรองจาก SBTi

เหตุผลที่ FPI ปรับยุทธศาสตร์องค์กรเพื่อเดินหน้าสู่ความยั่งยืนเนื่องมาจากโตโยต้า ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้ากับ FPI ได้ประกาศเป้าหมายสู่การเป็น Carbon Neutral ภายในปี 2035 จึงทำให้ FPI ปรับตัวตามไปด้วย

นายสมพลให้ข้อมูลว่า FPI ตั้งเป้าที่จะลดก๊าซคาร์บอนฯ ให้ได้ 42% ภายในปี 2026 โดยเทียบกับปี 2016 และตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2035

“ตั้งแต่ปี 2015 เราวางกรอบความยั่งยืนของบริษัทจาก SDGs Mapping แบ่งเป็น ‘3ES’ คือพลังงาน (Energy) สิ่งแวดล้อม (Environment) และสังคม (Social) ทั้งหมดเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญมาก คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องลดลง เช่น เดิมทีเราใช้ก๊าซ LPG ต่อมาเราก็พยายามลดการใช้ลงมา หรือเปลี่ยนเป็นไบโอแมสหัวเผา 100% (Biomass Boiler) และสร้างความยั่งยืนด้วยการใช้เครื่องทำความเย็นแบบดูดซึม (Absorption Chiller) เนื่องจากบริษัทเราต้องใช้เครื่องฉีดพลาสติก ทำให้อุณหภูมิสูงถึง 40 องศา พนักงานบ่นว่าร้อนมาก แต่ถ้าจะติดแอร์ก็เสียอีก 8-10 ล้าน ค่าไฟเดือนละ 6 แสน มันไม่ยั่งยืน เราจึงคิดว่าความยั่งยืนคือการลงทุนที่ประหยัดพลังงาน

นายสมพลกล่าวต่อว่า วิธีการไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutral ถัดมาคือลดการใช้พลาสติกในค่ายรถยนต์ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของค่ายรถยนต์แทบทุกบริษัท โดยเฉพาะอีซูซุที่ตั้งเป้าลดพลาสติก 100% ภายในปี 2050

“เราต้องคิดโมเดลใหม่ๆ เพราะถ้ายังทำธุรกิจเหมือนเดิมจะไม่มีทางลดคาร์บอนได้ ยกตัวอย่าง 3D Printing สมัยก่อนเราใช้เวลาทำโปรโตไทป์ให้โตโยต้าประมาณ 90 วัน เสียพลังงานไปเยอะมาก แต่พอเราใช้เทคโนโลยีจากจีนเข้ามาทำให้เหลือเวลาแค่ 3 วัน ซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา หรือการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็นเอาแม่พิมพ์ไปให้เช่าในพื้นที่ต่างๆ ช่วยลดลงขนส่งดีกว่าการขนย้ายเป็นครั้งๆ”

เมื่อถามถึงบทเรียนการแก้ปัญหาภาวะโลกรวน นายสมพลมองว่า การผลักดันประเด็นดังกล่าวต้องมี 4 เรื่อง ได้แก่ การมอบหมาย (Commitment) การสื่อสาร (Communication) การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) และด้านวัฒนธรรมองค์กร (Culture)

GC ปรับพอร์ตสู่ Low Carbon

ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวถึงกลยุทธ์การเดินหน้าไปสู่ Net Zero ขององค์กรว่าบริษัทขับเคลื่อนโดยคำนึงถึ 3 เรื่องคือ (1) การทำให้ประสิทธิภาพการผลิตสูงที่สุด (Effciency Driven) (2)ปรับพอร์ตธุรกิจให้ไปสู่ Low Carbon ให้มากที่สุด (Portfolio Driven) และ (3) เทคโนโลยีและแผนการลงทุนทั้งระยะสั้นและยาว (Compensation Driven)

“Paris Agreement ทำให้เราตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก (Net Zero) ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นเป้าที่ท้าทายมาก เพราะธุรกิจเราเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง แต่เราก็พยายามรักษาการเติบโตธุรกิจและลดการปล่อยก๊าซดังนั้นเป้าหมายของเราคือปี 2050 และปี 2030 ต้องลดให้ได้ 20% เราต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนจะได้รู้เครื่องมือ ผลกระทบ และโอกาสทางธุรกิจ”

ดร.ชญาน์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในระยะยาว 30 ปีข้างหน้าบริษัทได้เตรียมงบลงทุนประมาณ 5,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.6 – 1.7 แสนล้านบาท สำหรับปรับธุรกิจไปไปสู่ Low Carbon นอกจากนี้ยังเตรียมงบลงทุนอีกราว 1.7 หมื่นล้านเหรียญ เพื่อปรับพอร์ตธุรกิจด้วยการซื้อบริษัทที่เกี่ยวข้อง

“ผู้บริหารระดับสูงต้องมีความตั้งใจ ทำให้ทุกคนในบริษัทต้องเชื่อ แม้จะมีความไม่แน่นอนสูงทั้งการประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงของแต่ละอุตสาหรรม แต่ความท้าทายของเราคือความสามารถในการประเมินอนาคตได้ว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจะมีผลกระทบและเราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง ที่สำคัญคือเราไม่ควรตั้งเป้าอย่างเดียว เราต้องมีแผนงานที่ชัดเจนตั้งแต่ฝั่งจัดการ บริหาร และพนักงานในองค์กร ถ้าแผนงานชัดเจนแล้วทุกคนในบริษัทจะรู้ว่าเราต้องทำอะไร”