ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” มอง 48 ปี ‘ตลาดทุนไทย’ ความท้าทายบนเส้นทาง ESG

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” มอง 48 ปี ‘ตลาดทุนไทย’ ความท้าทายบนเส้นทาง ESG

27 เมษายน 2022


27 เมษายน 2565 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา “SET ก้าวสู่ปีที่ 48 ขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคต Make it Work for Future” โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาในหัวข้อ “บทบาทตลาดเงิน ตลาดทุน สู่จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย” (Towards the Future of Thai Economy)

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเริ่มเปิดทำการซื้อขายหลักทรัพย์วันที่ 30 เมษายน 2518 อยู่คู่การเติบโตของเศรษฐกิจมาต่อเนื่อง และในวันที่ 30 เมษายน 2565 จะเป็นวันครบรอบ 47 ปีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับโอกาสและความท้าทายของตลาดทุนไทยในก้าวต่อไปคือปีที่ 48 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมี 5 เรื่องสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

(1) พัฒนาการด้านภูมิรัฐศาสตร์ “ความขัดแย้งหรือสงครามต่างๆ สามารถกระจายความเสี่ยงไปได้ทั่วโลกและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ”

ในช่วงที่ผ่านมา ความเสี่ยงด้าน geopolitics มีมากขึ้น ครอบคลุมทั้งเหตุการณ์การเมือง ความสัมพันธ์ ปัญหาสังคม และความขัดแย้งทั้งในและต่างประเทศ มีการกระจายตัวไปทั่วโลกและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ มีผลเชื่อมโยงต่อตลาดทุนโลกและตลาดทุนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายๆ ด้าน เช่น ความผันผวนของราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อที่กระทบต่อผู้คนในสังคมจำนวนมาก ความผันผวนของค่าเงินและการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนธุรกรรมในภาคการเงิน

ดังตัวอย่างเรื่องความตึงเครียดด้านเศรษฐกิจการค้าของสหรัฐ-จีน หรือความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่กำลังเกิดขึ้นที่อาจเกิดฉากทัศน์และพัฒนาการของความขัดแย้งได้หลายรูปแบบ

“แต่ละฉากทัศน์มีเครื่องมือหรือมาตรการที่แตกต่างกัน ทั้งมาตรการด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง ระยะหลังทำสงครามมีการดึงธุรกิจหรือเศรษฐกิจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ”

(2) ความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19 “เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ขณะที่บางธุรกิจยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว”

ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งโลกต่างได้รับผลกระทบโดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจไทยตอนนี้เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด ปี 2564 จีดีพีขยายตัว 1.6% จากปีก่อนที่หดตัว 6.1% ขณะที่บริษัทจดทะเบียนก็มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากการปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขัน มีการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนานวัตกรรมและธุรกิจ ตลอดจนการขยายไประดับภูมิภาค แต่ในด้านเศรษฐกิจและตลาดทุนยังคงได้รับผลกระทบและฟื้นตัวได้แตกต่างกันไป

ดร.ประสาร กล่าวต่อว่า การฟื้นตัวของภาคธุรกิจเป็นการฟื้นตัวแบบ K Shape โดยตัวK ขาบนคือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวได้เร็วเนื่องจากได้รับประโยชน์จากสถานการณ์โควิด-19 หรือสอดคล้องกับการฟื้นตัวกับประเทศเศรษฐกิจชั้นนำที่เน้นการส่งออก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก แต่ก็มีอีกหลายกลุ่มที่ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว หรือเป็น K ขาล่าง เช่น ภาคการท่องเที่ยวและบริการ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสถานการณ์โควิด-19ซึ่งต้องได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ

“ตลาดทุนมีหน้าที่หลักในการจัดสรรทรัพยากรและเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ เติบโตพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ และมีความก้าวหน้าในอันดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียนทั้งในแง่การระดมทุนและสภาพคล่อง และมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น”

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็มีการผลักดันและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้ธุรกิจ SMEs และ startups สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้น ผ่าน LiVE Platform ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งแหล่งความรู้ให้กับธุรกิจ เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดทุน และเปิดกระดานซื้อขายในตลาดรองผ่าน LiVE Exchange ที่จะเปิดให้บริการในปี 2565 นี้

(3) การปรับตัวและกระบวนการ Digitalization “Digital Disruption คือโอกาสและความท้าทายของตลาดทุนไทย” โดยก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ และตลาดทุนเริ่มมีการปรับตัวไปสู่การ digitalization มากขึ้น แต่โควิด-19 ยิ่งเร่งกระบวนการดังกล่าวและผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่ากระบวนการภายใน วิถีชีวิตและการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ

ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบทบาทหลัก 4 ด้านที่ช่วยผลักดันให้เกิดกระบวนการ digitalization เพื่อส่งเสริมความคล่องตัวให้กับภาคธุรกิจผ่านการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานด้วยเช่นกัน ได้แก่

  1. การปรับปรุงบริการจดทะเบียนแบบ end-to-end process
  2. การใช้ระบบดิจิทัลในกระบวนการทางธุรกิจ เช่น e-Service Platform, e-Proxy Voting, e-Dividend, e-Onboarding, e-Signature และ e-Document
  3. การเพิ่มช่องทางดิจิทัลเพื่อการเข้าถึงบริษัทจดทะเบียนของนักลงทุน เช่น Digital OppDay, Digital Roadshow, e-AGM และ e-Learning Platform
  4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุน กล่าวคือพัฒนาซื้อขายระบบกองทุน FundConnext และเชื่อมโยงการซื้อขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศ อาทิ Clearsteam

“Digital Disruption เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของหลายองค์กรและธุรกิจ การปรับตัวจะช่วยให้ภาคธุรกิจแข่งขันได้ดีขึ้น และในตลาดทุนเองมีการผลักดันด้านนี้ผ่านบริการ e-Service หลากหลายรูปแบบ เพื่อส่งเสริมความคล่องตัวในการปรับตัว”

อย่างไรก็ตาม องค์กรในตลาดทุนควรให้ความสำคัญกับเรื่อง cybersecurity ด้วย เพราะกระบวนการ digitalization ที่เข้ามา อาจเป็นช่องทางให้ผู้ไม่ประสงค์ดีก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร ทั้งทางการเงินและชื่อเสียงได้

(4) พัฒนาการด้านสินทรัพย์ดิจิทัล “Cryptocurrency โอกาส หรือ ความเสี่ยง ?” โดยเฉพาะเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งถูกนำมาใช้ในภาคการเงิน นำไปสู่ ‘คริปโตเคอเรนซี่’ ซึ่งได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่จำนวนมาก

Digital technology เข้ามามีบทบาทในภาคการเงิน โดยเฉพาะ Distributed Ledger Technology (DLT) หรือ blockchain ที่ถูกนำมาใช้ในภาคการเงินอย่างกว้างขวาง และเป็นพื้นฐานของ cryptocurrency ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก เทคโนโลยียุคดิจิทัลสมัยใหม่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีกฎระเบียบที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“เทคโนโลยีช่วยให้คนเข้าถึงตลาดทุนง่ายขึ้น และนักลงทุนก็สนใจกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่างๆ รวมถึงแบ่งเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ทางเลือกประเภทต่างๆ จากเดิมอสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ และน้ำมัน แต่ต่อจากนี้ จะรวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลที่คนทั่วไปลงทุนได้ง่าย”

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นทั้งโอกาสด้านนวัตกรรมและความเสี่ยง ควรมีการพัฒนา กำกับดูแลให้มีความสมดุลระหว่างความเสี่ยงและการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม

ดร.ประสาร กล่าวต่อว่า การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นโอกาสในการลงทุนนวัตกรรมใหม่ที่เติบโตสูง (New Asset Class) เพิ่มทางเลือกในการจัดสรรสินทรัพย์และกระจายความเสี่ยง (Diversification) ตลอดจนการเข้าถึงและมีส่วนร่วมในตลาดทุน (Democratization) แต่อีกด้านคือความเสี่ยง ทั้งความผันผวนที่สูงมาก (High Volatility) มีความไม่แน่นอนในการกำกับดูแล (Regulatory Uncertainly) และความไม่แน่นอนในการยืนยันตัวตนและภัยทางไซเบอร์ (Authenticity & Cyber Risk)

สำหรับประเทศไทยนั้น ภายใต้โครงสร้างการกำกับดูแลในปัจจุบัน สินทรัพย์ดิจิทัลแบ่งได้ 3 ประเภทหลักๆ คือ cryptocurrency, investment token และ utility token โดยภาคธุรกิจและกิจการต่างๆ อาจเลือกระดมทุนด้วยการออก investment token และ utility token

ดร.ประสาร กล่าวต่อว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เตรียมพร้อมด้วยการพัฒนา ecosystem ที่น่าเชื่อถือและพร้อมเชื่อมโยงการลงทุนทั้งในตลาดการลงทุนเดิม (traditional) และตลาดการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) โดยส่วนของสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือที่เรียกว่า Thailand Digital Exchange (TDX) มีหน้าที่ครอบคลุมตั้งแต่การเชื่อมโยงระบบซื้อขาย ICO เพื่อตอบสนองการลงทุน รวมถึงซื้อขายในตลาดรอง และให้บริการกระเป๋าเงิน (digital asset wallet)

(5) ความยั่งยืนกับการพัฒนาตลาดทุน “ESG ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอดของธุรกิจในอนาคต” โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย และปัจจัยด้าน ESG (Environmental Social แลละ Governance) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักธรรมาภิบาลเป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

การดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น ต้องมีการขยายแนวคิดให้กว้างขวางขึ้น โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยด้าน ESG (Environmental, Social and Governance)

“ธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ไม่ว่าเทคโนโลยี ภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะโลกร้อน กลายเป็นความท้าทายว่าทำอย่างไรถึงจะมีทรัพยากรเพียงพอต่อความต้องการในอนาคต ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของโลก ดังนั้นมีความจำเป็นที่องค์กรต้องบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรองค์กร ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ”

“การทำธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG ไม่ใช่ทางเลือกของธุรกิจ แต่เป็นทางรอดที่จะช่วยให้มองเห็นโอกาสและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง”

ดร.ประสาร กล่าวต่อว่า การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนหมายความว่า องค์กรให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยมีนโยบายภายใต้หลักธรรมาภิบาล และบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ มีเงินทุน ผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้นควบคู่กับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ต้องผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อมูล ESG ซึ่งกว้างกว่าข้อมูลทางการเงิน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กรทั้งด้านความสามารถ ความโปร่งใส ความสามารถในการแข่งขัน และผลตอบแทนระยะยาว เพื่อนำไปสู่การลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัย ESG ควบคู่กับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน

ดร.ประสาร กล่าวต่อว่า ตลาดทุนไทยได้รับการยอมรับด้านความยั่งยืน โดยปี 2564 มี 24 บริษัทจดทะเบียนได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในดัชนีด้านความยั่งยืน DJSI นับเป็นจำนวนที่สูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 

“ตลาดทุนไทยเติบโตขึ้นมากทั้งการเป็นแหล่งเงินทุนและช่องทางการลงทุน ส่งเสริมความคล่องตัวให้ภาคธุรกิจผ่านการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และสนับสนุนความยั่งยืนให้ผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ เมื่อมองไปข้างหน้าเราน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องอีก เช่น บริษัทจดทะเบียนที่ขยายการดำเนินธุรกิจออกไปสู่สากลมากขึ้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้นทั้งบริษัทขนาดใหญ่ เล็ก และธุรกิจที่เป็น new economy การมีทางเลือกลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ควบคู่สินทรัพย์หลัก การพัฒนา e-Service และ digitalization ในตลาดทุน รวมถึงความยั่งยืนต่อเนื่องจากการพัฒนา ESG”

ดร.ประสาร ทิ้งท้ายว่า ความท้าทายทั้งหมด 5 ด้าน เป็นตัวกำหนดการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต ดังนั้นสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องทำคือ rethink และ redesign เพื่อปรับตัวและใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะกฎระเบียบข้อบังคับและเทคโนโลยี