ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > WHO ปรับแผนหนุนทุกประเทศฉีดวัคซีนโควิด 40% ในสิ้นปี

WHO ปรับแผนหนุนทุกประเทศฉีดวัคซีนโควิด 40% ในสิ้นปี

9 ตุลาคม 2021


ภาพต้นแบบ:https://cdn.who.int/media/docs/default-source/immunization/covid-19/strategy-to-achieve-global-covid-19-vaccination-by-mid-2022.pdf?sfvrsn=5a68433c_5

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้เปิดตัวยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลก ภายในกลางปี 2565 ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการระบาดสองทาง (two-track pandemic) คือ ทั้งประชาชนในประเทศยากจนที่ยังคงมีความเสี่ยง และประเทศร่ำรวยที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงจะได้รับการคุ้มครองที่เพิ่มขึ้น

องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนให้ได้ 10% ในทุกประเทศ ทุกเขตเศรษฐกิจ และทุกเขตปกครองภายในสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังมี 56 ประเทศไม่สามารถทำได้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในแอฟริกาและตะวันออกกลาง

ยุทธศาสตร์ใหม่นี้ได้จัดทำแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ WHO ในการฉีดวัคซีนให้ได้ 40% ของประชากรในทุกประเทศภายในสิ้นปีนี้ และ 70% ภายในกลางปี 2565

ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกกล่าว ว่า “วิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยการส่งมอบเครื่องมือที่ทรงพลังและช่วยชีวิตได้เร็วกว่าการระบาดใดๆ ในประวัติศาสตร์ แต่การกระจุกตัวของเครื่องมือเหล่านั้นในมือของบางประเทศและบริษัทต่างๆ ได้นำไปสู่หายนะระดับโลก โดยคนรวยได้รับการปกป้อง ในขณะที่คนจนยังคงเผชิญกับไวรัสอันตราย เรายังคงสามารถบรรลุเป้าหมายสำหรับปีนี้และปีหน้าได้ แต่จะต้องใช้ความมุ่งมั่น การลงมือทำ และความร่วมมือทางการเมืองที่มากกว่าสิ่งที่เราได้เห็นมาจนถึงทุกวันนี้”

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า “นี่เป็นทางออกจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 สำหรับทุกคนทั่วหนแห่ง แต่เป็นเส้นทางที่มีค่าใช้จ่าย ต้องมีการประสานงาน และวางใจได้ หากปราศจากแนวทางที่ประสานกันและเป็นธรรม ก็จะไม่สามารถลดจำนวนการติดเชื้อในประเทศใดประเทศหนึ่งได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ของทุกคน เราต้องเร่งให้ทุกประเทศมีการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมในระดับสูง”

“เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนทั่วโลก ควรแบ่งแนวทางการฉีดวัคซีนออกเป็น 3 ระดับ โดยผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และกลุ่มเสี่ยงสูงทุกช่วงอายุ ในทุกประเทศจะฉีดวัคซีนก่อน ตามมาด้วยกลุ่มผู้ใหญ่ทุกกลุ่ม ในทุกประเทศและขยายการฉีดวัคซีนไปยังกลุ่มวัยรุ่นในท้ายสุด”

การฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากรโลก ก็ต้องมีการวัคซีนอย่างน้อย 11 พันล้านโดส ณ สิ้นเดือนกันยายน ทั่วโลกมีการแจกจ่ายวัคซีนไปแล้วกว่า 6 พันล้านโดส ด้วยการผลิตวัคซีนทั่วโลกในขณะนี้ที่มีจำนวนเกือบ 1.5 พันล้านโดสต่อเดือนและเมื่อประเมินในด้านอุปทานก็มีวัคซีนเพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนทั่วโลกหากมีการกระจายปริมาณที่เท่าเทียมกัน

ที่ผ่านมามีการจัดหาเงินทุนจำนวนมากเพื่อจัดหาวัคซีนให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำและระดับปานกลางถึงต่ำผ่านโครงการ COVAX, African Vaccine Acquisition Trust (AVAT) และสัญญาทวิภาคี แต่ต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อจัดหาวัคซีนที่ยังขาดแคลนให้กับประเทศเหล่านี้ รวมทั้งการลงทุนเพื่อสนับสนุนการจัดส่งภายในประเทศ

  • COVAX ลดคาดการณ์กระจายวัคซีนเหลือ 1.4 พันล้านโดส
  • โลก (ไม่) จัดการกับวัคซีนส่วนเกินและหมดอายุอย่างไร
  • ยุทธศาสตร์ใหม่นี้ได้สรุปการดำเนินการตามลำดับความสำคัญที่จำเป็นจากผู้รับผิดชอบด้านต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ได้แก่

    สิ่งที่ทุกประเทศต้องทำ

  • กำหนดเป้าหมายและแผนวัคซีนป้องกันโควิด-19 ระดับประเทศด้วยข้อมูลล่าสุด พร้อมปริมาณวัคซีนที่ต้องการเพื่อเป็นแนวทางการลงทุนในภาคการผลิตและการแจกจ่ายวัคซีน และความต้องการทางการเงินและอื่นๆเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนภายในและการสนับสนุนจากภายนอก
  • ตรวจสอบความต้องการวัคซีนและการรับวัคซีนอย่างระมัดระวัง เพื่อปรับเปลี่ยนบริการได้อย่างรวดเร็วและเพื่อความต่อเนื่องของการจัดหาวัคซีน
  • มุ่งมั่นที่จะแจกจ่ายวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันตามแนวทาง 3 ระดับขององค์การอนามัยโลก
  • ทบทวนกลยุทธ์ นโยบาย และการจัดลำดับความสำคัญของการฉีดวัคซีนระดับประเทศตามความจำเป็นเพื่อใช้ข้อมูลใหม่จากฉีดวัคซีนที่ยังมีอยู่ วัคซีนที่ปรับปรุง และวัคซีนทีผลิตใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • สิ่งที่ประเทศที่มีการฉัดวัคซีนครอบคลุมสูงต้องทำ

  • สลับกำหนดการส่งมอบวัคซีนกับ COVAX และ AVAT เพื่อเพิ่มความครอบคลุมในประเทศที่ต้องการ
  • ปฏิบัติตามและเร่งรัดการจัดสรรวัคซีนและการบริจาควัคซีนให้กับ COVAX ในระยะเวลาอันใกล้ ให้กับผู้ที่ร้องขอไว้แล้ว
  • ให้คำมั่นในการแบ่งสรรวัคซีนใหม่ เพื่อให้การดำเนินการไปสู่เป้าหมายครอบคลุม 70% ในทุกประเทศมีความราบรื่น
  • สิ่งที่ประเทศผลิตวัคซีนต้องทำ

  • อนุญาตให้ฉีดวัคซีนและวัคซีนที่ผลิตสำเร็จแล้วข้ามพรมแดนได้เสรี
  • เปิดให้มีการผลิตวัคซีนที่หลากหลาย ทั้งในด้านภูมิศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการอนุญาตและการแบ่งปันความรู้ที่ไม่ผูกขาดและโปร่งใส เพื่อให้สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีและการขยายกำลังการผลิต
  • สิ่งที่ผู้ผลิตวัคซีนต้องทำ

  • จัดลำดับความสำคัญและปฏิบัติตามสัญญา COVAX และ AVAT อย่างเร่งด่วน
  • ให้ข้อมูลการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 รายเดือนโดยรวม และกำหนดการรายเดือนที่ชัดเจนสำหรับวัคซีนที่ส่งมอบไปยัง COVAX, AVAT รวมทั้งประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางอย่างโปร่งใส เพื่อให้มีการวางแผนระดับโลกและระดับประเทศอย่างเหมาะสม และการใช้วัคซีนที่ขาดแคลนได้อย่างเหมาะสม
  • มีส่วนร่วมอย่างจริงจังและทำงานร่วมกับประเทศที่มีความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนสูงและได้ทำสัญญาจัดส่งกับวัคซีนในปริมาณมาก เพื่อที่จะให้ความสำคัญกับสัญญาของ COVAX และ AVAT ได้ ก่อน รวมถึงการสลับกำหนดการส่งมอบ
  • มุ่งมั่นที่จะแบ่งปันความรู้ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น อำนวยความสะดวกในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และมอบใบอนุญาตโดยสมัครใจแบบไม่ผูกขาดที่โปร่งใส เพื่อให้แน่ใจว่าการจัดหาวัคซีนในอนาคตมีความน่าเชื่อถือ ราคาไม่แพง พร้อมใช้งาน และนำไปใช้กับทุกประเทศในทุกปริมาณและจังหวะเวลาที่เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน
  • สิ่งที่ภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน และภาคเอกชนต้องทำ

  • สนับสนุนการเข้าถึงวัคซีน ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับสากล การทดสอบและการรักษาโควิด เรียกร้องและติดตาม โดยเฉพาะการดำเนินการเฉพาะที่จำเป็นสำหรับผู้ผลิต รัฐบาล และผู้ดำเนินการพหุภาคี
  • ระดมและส่งเสริมชุมชน รวมถึงผ่านโซเชียลมีเดียและเครือข่ายชุมชน เพื่อสร้างความต้องการวัคซีนที่แข็งแกร่งและจัดการกับข้อมูลที่ผิดและความเข้าใจผิดที่ส่งผลต่อความลังเลของวัคซีน
  • ให้การสนับสนุนโครงการและบริการฉีดวัคซีนในประเทศ
  • สิ่งที่ธนาคารและสถาบันเพื่อการพัฒนาพหุภาคีระดับโลกและระดับภูมิภาคต้องทำ

  • ช่วยให้ประเทศต่างๆ เข้าถึงเงินทุนและการสนับสนุนภายนอกที่จำเป็นสำหรับการจัดส่งวัคซีนในประเทศได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มหรือพื้นที่ที่มีรายได้ต่ำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดเป้าหมายการสนับสนุนด้านเทคนิค การขนส่ง และทรัพยากรมนุษย์ที่จำเป็น
  • มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับโครงการ COVAX/ACT-Accelerator และ AVAT ด้วยการทำงานแบบบูรณาการและการแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
  • สนับสนุนกลไกการจัดซื้อจัดจ้างและการจัดสรรระหว่างประเทศ เพื่อให้ทุกประเทศบรรลุเป้าหมายวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียม มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว
  • สนับสนุนแผนการแจกจ่ายวัคซีนและการรณรงค์เพื่อถ่ายทอดความสำคัญในการรักษาชีวิตคนด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ได้รับอนุมัติ
  • สำหรับ WHO, Gavi, UNICEF และ CEPI ต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับธนาคารโลก องค์การการค้าโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ แอฟริกา CDC, AVAT และพันธมิตรหลักอื่น ๆ เพื่อติดตามความคืบหน้า ระบุสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาคอขวด ประสานงานข้อมูล และจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการ รวมทั้งยังคงร่วมเป็นผู้นำและจัดการโครงการ COVAX ของ ACT-Accelerator สนับสนุนการจัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ระดับปานกลางถึงต่ำ และตามหลังประเทศอื่น สนับสนุนโดยตรงให้ประเทศต่างๆ พัฒนาและคงไว้ซึ่งโครงการจัดส่งวัคซีนโควิดที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพสูง ซึ่งสามารถบรรลุ 3 เป้าหมายระดับโลก ซึ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีน จัดการกับการวิจัยหลัก นโยบายความปลอดภัย และประเด็นด้านกฎระเบียบที่จะเพิ่มประสิทธิภาพที่จะมีผลต่อเป้าหมายการฉีดวัคซีนทั่วโลก รวมไปถึงการที่มีประสิทธิภาพในการจัดหา การแจกจ่าย และกำหนดการวัคซีน การผสมและจับคู่ผลิตภัณฑ์ การป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ และปัญหาอื่นๆ และติดตามและรายงานความคืบหน้าการเข้าสู่เป้าหมายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกทุกเดือน