ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > มองโควิด-19 ระบาดใหญ่ครบ 2 ปี “ยังไม่รู้ที่มา ยังไม่จบ สู่โรคประจำถิ่น”

มองโควิด-19 ระบาดใหญ่ครบ 2 ปี “ยังไม่รู้ที่มา ยังไม่จบ สู่โรคประจำถิ่น”

13 มีนาคม 2022


สองปีที่แล้ววันที่ 11 มีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization — WHO) ได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก ขณะนี้โลกเข้าสู่ปีที่สามของการระบาด เมื่อมองย้อนกลับไปวิกฤติที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่อย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพกายและใจของคนจำนวนมากนั้นยังไม่สามารถวัดได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นอาการป่วยในระยะยาวจากโควิดหรือ “ลองโควิด” (long COVID) ที่หลายคนกำลังประสบอยู่ หรือผลกระทบต่อสมองและร่างกาย ที่นักวิทยาศาสตร์ยังตรวจสอบอยู่

เมื่อองค์การอนามัยโลกประกาศว่าโควิด “could be characterized as a pandemic” หรือ “อาจถูกจัดเป็นโรคระบาดใหญ่” เราไม่รู้อะไรมาก แต่ ณ วันนี้โลกมีผู้ป่วยแล้วกว่า 452 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตกว่า 6 ล้านราย จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ที่ยังคงบันทึกจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่มหาศาลจนลืมไปว่า การเสียชีวิตแต่ละครั้งเป็นการสูญเสียที่น่าเศร้าใจสำหรับบางคนหรือบางครอบครัว

แม้ค่าใช้จ่ายของคนและผลกระทบทางอารมณ์ที่เกิดจากโรคระบาดไม่สามารถประเมินได้ แต่ก็มีความสำเร็จที่เกิดขึ้นระหว่างการระบาดใหญ่ และทำให้มีการมองโลกในแง่ดีในวันที่ไฟเซอร์รายงานผลการทดลองทางคลินิกเบื้องต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงในการต้านโควิด ซึ่งสะท้อนว่า บริษัทสามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ของ BioNTech ในเยอรมัน ขึ้นได้อย่างรวดเร็วจนทำลายสถิติ และเป็นสัญญาณการรอดพ้นจากการระบาดใหญ่

นับแต่นั้นมา ผู้ผลิตระดับโลกส่วนหนึ่งได้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิดเป็นจำนวนหลายล้านโดส โดยประเทศที่ร่ำรวยไม่เพียงแต่ได้รับการฉีดวัคซีน 2 โดสตามมาตรฐานเท่านั้น แต่ยังได้รับเข็มกระตุ้นอีกด้วย แต่สำหรับประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก วัคซีนโควิดก็ไม่ต่างจากการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานรูปแบบอื่นๆ ที่ยังคงเข้าถึงได้ยาก และผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า น่าจะเป็นจุดด่างทางมโนธรรมของประเทศร่ำรวยฝั่งตะวันตก

ในขณะที่ 63.4% ของประชากรโลกได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างน้อยหนึ่งเข็ม และมีการแจกจ่ายวัคซีนมากกว่า 1 หมื่นล้านโดสทั่วโลก แต่มีเพียง 13.7% ของคนในประเทศที่มีรายได้ต่ำได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม จากข้อมูลของ Our World in Data ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญอีกแหล่งหนึ่งในช่วงการระบาดใหญ่

แม้มีการแจกจ่ายวัคซีนไปทั่วโลกแล้วมากกว่า 1 หมื่นล้านโดส แต่องค์การอนามัยโลกระบุว่า การระบาดใหญ่ยังไม่จบ

ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวเมื่อวันที่ 9 มีนาคมว่า แม้รายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตทั่วโลกจะลดลง และหลายประเทศได้ยกเลิกข้อจำกัด แต่ ยังอีกนานการระบาดใหญ่กว่าจะสิ้นสุด และจะไม่มีที่ไหนสิ้นสุดจนกว่าจะสิ้นสุดในทุกที่

ดร.เทดรอสเตือนทั่วโลกว่า หลายประเทศในเอเชียและแปซิฟิกกำลังเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยและการเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว

“ไวรัสยังคงระบาด และเรายังคงเผชิญกับอุปสรรคสำคัญในการแจกจ่ายวัคซีน การตรวจหาเชื้อ และการรักษายังมีความจำเป็นในทุกที่”

วันที่ 9 มีนาคม องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่แนวทางใหม่เกี่ยวกับการใช้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเอง พร้อมแนะนำว่าควรมีการตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองนอกเหนือจากบริการตรวจหาเชื้อที่ที่ผู้เชี่ยวชาญดูแล ซึ่งอาจจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ แต่วิธีการที่แต่ละประเทศจะใช้สำหรับการตรวจหาเชื้อด้วยตัวเอง ขึ้นอยู่กับบริบทของจัวเอง ทั้งการระบาด และความพร้อมของทรัพยากร ข้อมูลจากชุมชน

องค์การอนามัยโลกคาดหวังว่า แนวทางใหม่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ ซึ่งสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำหลายแห่งนั้นมีราคาแพง การตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองจะช่วยในการขยายการตรวจหาเชื้อ

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้อนุญาตให้ใช้ชุดตรวจ ATK จำนวน 5 ยี่ห้อสำหรับการใช้งานด้วยมืออาชีพ และกำลังรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการใช้ชุดตรวจหาเชื้อด้วยตัวเอง

ยังไม่รู้ที่มา

จนทุกวันนี้ ยังมีคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบมากมายเกี่ยวกับโควิดเช่นกัน คำถามที่ใหญ่ที่สุดคือ ไวรัสมาจากไหน
โควิดกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองกับจีนในช่วงการระบาดใหญ่ ซึ่งไวรัสได้อุบัติขึ้นครั้งแรกในอู่ฮั่นเมื่อปลายปี 2019 โดยปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นแหล่งต้นตอของการระบาดใหญ่ หลังจากที่ล่าช้ามานาน ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขก็ได้รับอนุญาตให้เข้าจีนเพื่อทำการตรวจสอบ ซึ่งก็ไม่สามารถระบุที่มาของไวรัสได้ แม้ตัดทฤษฎี “การรั่วไหลของห้องปฏิบัติการ” ออกไป แต่ก็ยังยังคงเป็นปริศนาสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่ายังคงมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์

ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกกลับมาเปิดอีกครั้ง และหลายประเทศกำลังเรียนรู้ที่จะ “ใช้ชีวิต” กับไวรัส ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขต่างเน้นย้ำว่าการระบาดใหญ่ยังไม่สิ้นสุด

เราได้เรียนรู้แล้วว่าไวรัสสามารถกลายพันธุ์เป็นสายใหม่ได้ และทุกครั้งที่มีการกลายพันธุ์ เราก็รู้ว่า ไวรัสมีความรุนแรงมากขึ้นมากกว่าสายพันธุ์เดิม

การกลายพันธุ์ไปเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งระบาดได้ง่ายกว่า แต่มีอาการน้อยกว่า และทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกมีทั้งขึ้นไปสู่จุดสูงสุดและลดลงอย่างมาก จนรัฐบาลบางประเทศประหลาดใจ และแสดงให้เห็นถึงระดับความอดทนที่แตกต่างกัน ของผู้นำที่เต็มใจจะ “อยู่กับโควิด”

เมื่อไรจะสิ้นสุด

รายงาน When will the COVID-19 pandemic end? ของ McKinsey&Company ระบุว่า หลังจากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดรวดเร็วและรุนแรงในช่วงแรก การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ดูเหมือนจะสิ้นสุดลงแล้วในแทบทุกที่ของโลก เว้นแต่ว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่ที่มีนัยสำคัญและรุนแรงปรากฏขึ้น

รายงานฉบับนี้ได้ประเมินสิ่งที่เรียนรู้จากโอมิครอน แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2565 และนำเสนอเกณฑ์ที่เป็นไปได้ 3 ข้อในการกำหนดว่าโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น

นับตั้งแต่องค์การอนามัยโลกได้ตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่ของโควิด-19 ว่า โอมิครอน (Omicron) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2021 ไวรัสสายพันธุ์นี้ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือน โอมิครอนได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อทำสถิติสูงสุดใหม่ในหลายที่ และตอนนี้ก็ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ในหลายพื้นที่การระบาดระลอกใหม่ด้วยสายพันธุ์โอมิครอนได้ผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้ว ทำให้บางประเทศผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุขในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในระยะเวลาเกือบ 2 ปี ในทางตรงกันข้าม บางเขตปกครอง เช่น ฮ่องกง ที่กำลังเผชิญกับจำนวนผู้ติดเชื้อสูงและยังไม่ถึงระดับพีก อีทั้งยังใช้มาตรการเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง

การประเมินสถานการณ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดในเดือนธันวาคม 2021 ก็มีความถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ โดยโอมิครอนสามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากทั้งการติดเชื้อครั้งก่อนและการฉีดวัคซีนที่ไม่ครบ (ภาพที่ 1) ปัจจัยเหล่านี้ บวกกับการพฤติกรรมของคนที่ถูกจำกัดจากจากการระบาดใหญ่จนเบื่อหน่ายได้เปลี่ยนไปและตัวเร่งการแพร่กระจาย 2 ตัว คือ การเดินทางในช่วงวันหยุด และการรวมตัวของคนจำนวนมาก ทำให้โอมิครอนแพร่กระจายในกลุ่มประชากรได้อย่างรวดเร็ว โชคดีโดยเฉลี่ยแล้วโอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา ทำให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายแต่สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนหรือ BA.2 อาจทำให้การระบาดระลอกนี้แย่ลง แต่ไม่ได้เปลี่ยนภาพรวม

เราเรียนรู้อะไร

การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้ได้เรียนรู้มากมายกี่ยวกับประสิทธิผลของการตอบสนองทางสังคม
ประการแรก การฉีดวัคซีนจนถึงวันนี้รวมถึงเข็มกระตุ้นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันโอมิครอน ประเทศที่มีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากได้มีการฉีดวัคซีน 3 เข็ม รวมถึงวัคซีน mRNA อย่างน้อย 1 โดส ส่งผลให้การรักษาในโรงพยาบาลน้อยลง แม้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งหมายความว่าหลายประเทศในยุโรปที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า แต่รักษาตัวในโรงพยาบาลในการระบาดระลอกนี้น้อยกว่าก่อนหน้านี้ ในทางกลับกัน บางที่ที่มีความครอบคลุมวัคซีนน้อยกว่า รวมทั้งบางส่วนของสหรัฐอเมริกา ได้สร้างสถิติการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตตลอดเวลา ในการระบาดระลอกก่อน ประเทศที่มีรายได้ต่ำและประเทศที่มีประชากรอายุน้อยกว่าได้รับการคุ้มครองบ้าง แม้ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงวัคซีนทั่วโลกนั้นหมายความว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศที่ได้รับวัคซีน 3 เข็ม และส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับแม้แต่เข็มเดียว

ประการที่สอง ความเชื่อมโยงระหว่างจำนวนผู้ติดเชื้อกับการปรับพฤติกรรมลดลง ข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากขึ้นได้ข้อสรุปว่าความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกิดจากโควิด-19 นั้นไม่สำคัญมากพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นเพราะสถานะการฉีดวัคซีน ความเยาว์วัย หรือความต้องการที่จะก้าวข้ามการระบาดใหญ่ อีกทั้งรัฐบาลบางประเทศเห็นว่า ต้นทุนทางสังคมทั้งหมดที่เกิดจากการล็อกดาวน์ ข้อจำกัดทางธุรกิจ หรือการสวมใส่หน้ากากมีมากกว่าประโยชน์ที่ได้จากการควบคุมในการระบาดใหญ่รอบนี้ ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศยังคงใช้หรือเสริมสร้างนโยบายด้านสาธารณสุข รวมถึงข้อบังคับด้านวัคซีน และสถานที่ทำงานหลายแห่งยังคงมีนโยบายที่ค่อนข้างระมัดระวัง แต่การตอบสนองด้านสาธารณสุขต่อโอมิครอนมักไม่ค่อยเคร่งครัดมากนักเมื่อเทียบกับการระบาดก่อนหน้านี้ที่มีภาระไม่ต่างกัน

มองไปในช่วงที่เหลือของปี

แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีและหลังจากนั้นขึ้นอยู่กับคำถามที่ว่า สายพันธุ์ใหม่จะเกิดขึ้นหรือไม่และเมื่อไรในอนาคต ตราบใดที่โอมิครอนยังคงเป็นสายพันธุ์หลัก ก็มีเหตุผลที่จะมองในเชิงบวก การวิเคราะห์สถานการณ์ของเราชี้ให้เห็นว่า การรักษาในโรงพยาบาลที่มาจากโอมิครอนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกา และยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำตลอดฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน จากนั้นคาดว่าอาจจะเห็นการระบาดระลอกใหม่จากปัจจัยฤดูกาลในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวหน้า แต่การรักษาในโรงพยาบาลน่าจะต่ำกว่าระดับที่ผ่านมา

จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ซึ่งโอมิครอนยังคงเป็นสายพันธุ์หลัก แสดงถึงความต่อเนื่องของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดการโควิด-19 ในฐานะโรคประจำถิ่นที่กำลังดำเนินการในหลายพื้นที่ การที่โอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลัก คนจำนวนมากขึ้นแม้จะไม่ทั้งหมดก็จะรู้สึกว่าการแพร่ระบาดกำลังจะจบลง

จากนี้ไป ส่วนต่างๆ ของโลกจะมีประสบการณ์กับโควิดแตกต่างกัน ประเทศที่มีอัตราภูมิคุ้มกันสูงในปัจจุบันและมีการฉีดเข็มกระตุ้นในวงกว้างจะได้รับการคุ้มครองที่ดีกว่า โครงสร้างอายุประชากรจะยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญ ปัจจัยฤดูกาลอาจทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ และนโยบายของรัฐบาลยังคงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในไม่กี่ประเทศที่ใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ หรือ zero COVID-19 อาจจะจัดการโควิดที่ไม่เหมือนกันในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ในกรณีที่เลือกว่าจะใช้นโยบายนี้ต่อหรือผ่อนคลายนโยบายเปิดประเทศ

สายพันธุ์ใหม่ยังไม่รู้

โดยทั่วไป แนวโน้ม 6 เดือนในหลายประเทศนั้นสดใสกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ความไม่แน่นอนหลายด้านอาจะกระทบต่อการมองโลกในแง่ดีได้ โดยเริ่มจากระยะเวลาของภูมิคุ้มกัน เพราะข้อมูลแสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันทั้งจากธรรมชาติและที่เกิดจากวัคซีนลดลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะต่อการติดเชื้อ แม้เราจะยังรู้ไม่มากนักเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่ลดลงกับโอมิครอน แต่ข้อมูลใหม่บ่งชี้ว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน 3 เข็มอาจได้รับการป้องกันระยะกลาง ในขณะเดียวกันจำนวนผู้ที่ได้วัคซีนเข็มที่ 3 น้อยกว่าเข็มแรกและเข็มที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญในหลายประเทศ ตัวอย่างเช่น ชาวอเมริกัน 215 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วน แต่มีเพียง 93 ล้านคนเท่านั้นที่ได้รับเข็มกระตุ้น ดังนั้น เมื่อเราพิจารณาถึงการระบาดในอนาคต คำถามสำคัญสองข้อที่ยังมีเกี่ยวกับระยะเวลาของการป้องกันคือ ภูมิคุ้มกันจะลดลงมากแค่ไหน และการฉีดเข็มกระตุ้นจะยังคงช้าลงในแต่ละรอบของการฉีดกระตุ้นหรือไม่

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในระยะต่อไปก็ทำให้เกิดคำถามเช่นกัน ไฟเซอร์และโมเดอร์นาได้ปรับวัคซีนให้รับมือกับโอมิครอนและจะสามารถนำมาใช้ได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่เรายังไม่ทราบประสิทธิภาพ ระยะเวลาในการป้องกัน หรือนโยบายของการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 และยังไม่ชัดเจนว่ามาตรฐานการอนุมัติสำหรับวัคซีนหลายสายพันธุ์เป็นอย่างไร ในอีกด้านหนึ่ง มีความหวังว่า การใช้ยารักษาแบบรับประทาน อย่างแพกซ์โลวิด (paxlovid) และโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) ในวงกว้างจะลดจำนวนผู้ป่วยที่รุนแรงลงอีก แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ยังไม่รู้ผลของการใช้ยาในวงกว้าง และการผลิตของแพกซ์โลวิดยังมีปริมาณไม่มาก

แม้ความไม่แน่นอนเหล่านี้มีความสำคัญ แต่ก็ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่โรคประจำถิ่นด้วยสายพันธุ์โอมิครอน ความเสี่ยงหลักที่จะมีผลไม่ให้เป็นโรคประจำถิ่นคือ การมีสายพันธุ์ใหม่ที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่จะมาแทนที่โอมิครอน ไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 จะยังคงกลายพันธุ์ต่อไปในทุกสถานการณ์ แต่การกลายพันธุ์ส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปสู่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีความสามารถจากวิวัฒนาการ อัลฟา เดลตา และโอมิครอนก็เป็นเช่นนั้น และได้เปลี่ยนวิถีการแพร่ระบาด เบตาและแกมมาก็ส่งผลต่อวิถีการแพร่ระบาดเช่นกัน แต่ในระดับที่น้อยกว่า ความสามารถเชิงวิวัฒนาการของพวกมันยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะครองโลกได้

โอมิครอนเป็นหนึ่งในไวรัสในคนที่แพร่เชื้อได้มากที่สุดที่นักวิทยาศาสตร์รู้จัก แม้การแพร่ระบาดที่ง่ายกว่า (เช่น สายพันธุ์ย่อย BA.2 ) มีความเป็นไปได้ ที่จะกลายเป็นไวรัสที่เป็นสายพันธุ์หลัก แต่สายพันธุ์ใหม่นี้อาจจำเป็นต้องหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันทั้งที่ได้รับจากการติดเชื้อโอมิครอน บางส่วนหรือทั้งหมดก่อน หากสายพันธุ์ที่ว่านี้เกิดขึ้น ความรุนแรงของโรคทางคลินิกโดยเฉลี่ยก็มีความสำคัญ ภาพที่ 3 แสดงตัวอย่างสถานการณ์ตัวอย่าง 3 สถานการณ์ที่เป็นไปได้และเส้นทางของการระบาดใหญ่ภายใต้สายพันธุ์ใหม่ที่เป็นสายพันธุ์หลัก อย่างไรก็ตามภาพที่แสดงไม่ได้แสดงสายพันธุ์ที่เป็นไปได้ในอนาคตทั้งหมด เป็นเพียงความเป็นไปได้บางข้อ

สายพันธุ์ใหม่จะมีการตั้งชื่อด้วยตัวอักษรกรีก แต่กว่าจะถึงตอนนั้น McKinsey ได้สร้างชื่อที่สื่อความหมายมากขึ้นสำหรับสถานการณ์ที่ประเมิน โดยภายใต้สถานการณ์ “Omicron’s twin” เป็นสายพันธุ์ที่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่มีมาก่อนหน้านี้ (รวมถึงจากโอมิครอน) แต่คล้ายกับโอมิครอนในด้านการแพร่กระจายและความรุนแรงของโรคอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่คล้ายกับที่เพิ่งประสบเล็กน้อย หรืออาจจะเลวร้ายกว่า หากไร้การตอบสนองของสาธารณชน รวมทั้งภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากวัคซีนลดลง กรณีที่แย่กว่านั้นอาจเป็น ”เดลตาครอน” (Deltacron) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันก่อนหน้ารวมภูมคุ้มกันจากการติดเชื้อโอมิครอนกับความรุนแรงเฉลี่ยของเดลตา กรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้หากวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรงของโรคน้อยลง และอาจนำไปสู่การระบาดระลอกที่เลวร้ายสุดในหลายพื้นที่ ส่วนสถานการณ์ “milder-cron” จะยังคงมีแนวโน้มไปสู่การมีอาการรุนแรงน้อยกว่า ประเทศต่างๆ อาจประสบกับการระบาดของโอมิครอนระลอกล่าสุดแต่ในระดับที่น้อยกว่า ซึ่งอาจจัดการได้ในวิธีที่สังคมจัดการกับไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่คาดเดาได้ยากกว่า คือ เมื่อไรสายพันธุ์ใหม่ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 จะเกิดขึ้น อาจจะเป็น 6 เดือน หรือหลายปีหลังจากนี้ ความก้าวหน้าที่ไม่ธรรมดาที่เราได้เห็นในเวลาเพียง 2 ปี สายพันธุ์ 4 สายพันธุ์ที่ต่อเนื่องกันได้ครอบงำทั่วโลก ทำให้การวางแผนในสถานการณ์ที่ “ไม่มีสายพันธุ์ใหม่” เป็นเรื่องอันตราย แต่เป็นไปได้ว่าวิวัฒนาการจะไม่สร้างสายพันธุ์ใหม่ที่มีนัยสำคัญทางระบาดวิทยา ความเสี่ยงของการเกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ นั้นสัมพันธ์กับจำนวนผู้ป่วยในโลก เนื่องจากผู้ติดเชื้อแต่ละรายเป็นโอกาสใหม่สำหรับการวิวัฒนาการของไวรัส ด้วยเหตุผลนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นการลงทุนด้านความปลอดภัยโดยรวม

การระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่น: จุดสิ้นสุดและจุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหน

อาจมีคำจำกัดความที่เป็นไปได้หลายประการของการเปลี่ยนจากระยะการแพร่ระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่น (ภาพที่ 4) ในทางระบาดวิทยา โควิด-19 สามารถกำหนดให้เป็นโรคประจำถิ่นเมื่อมีอยู่ในระดับที่คาดการณ์ได้ ซึ่งไม่ต้องใช้มาตรการทางสังคม แม้เราทุกคนหวังว่าระดับนั้นจะเป็นศูนย์ แต่การกำจัดโรคนี้ไม่สามารถทำได้ในประเทศใดก็ตามที่มีการเปิดประเทศ ความเสี่ยงของโควิด-19 ก็อาจจะเหมือนความเสี่ยงจากไข้หวัดใหญ่ ที่ถือว่าเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ สิ่งที่สังคมยอมรับได้ จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ขณะนี้หลายประเทศที่กำลังกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งในช่วงที่การระบาดของโอมิครอนลดลง มีภาระที่แตกต่างกันตัวอย่างเช่น อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อประชากรในเดือนที่ผ่านมาสำหรับสหรัฐอเมริกาสูงกว่าของอาร์เจนตินา 50% และมากกว่าฟิลิปปินส์ถึง 10 เท่า

พฤติกรรมในการปรับตัวรับโรคประจำถิ่นจะเกิดขึ้น เมื่อภาระการเจ็บป่วยมีผลให้พฤติกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละบุคคลเปลี่ยนไปเล็กน้อย โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงส่วนบุคคล (อายุ เงื่อนไขพื้นฐาน และอื่นๆ) และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

เกณฑ์ทางเศรษฐกิจสำหรับการให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น คือ เมื่อการระบาดไม่มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้นได้รับการบรรเทา คำจำกัดความทางเศรษฐกิจนี้เกี่ยวข้องกับคำจำกัดความของพฤติกรรมส่วนบุคคล แต่อาจใช้เวลานานกว่าจะบรรลุผล เนื่องจากผลกระทบรองเหล่านั้น ซึ่งรวมถึงความไม่สมดุลของห่วงโซ่อุปทาน การหยุดชะงักของตลาดแรงงาน และความไม่สมดุลทั่วโลกที่ส่งผลต่อการเดินทางและการค้าอาจยังคงอยู่

สหรัฐอเมริกาและยุโรปมีแนวโน้มที่จะเดินหน้าไปสู่โรคประจำถิ่นตามคำจำกัดความนี้ จนกว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น และภายใต้บางสถานการณ์แม้จะเกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วก็ตาม ประเทศต่างๆ ทั่วยุโรปกำลังกลับมาใช้ข้อจำกัดด้านสาธารณสุข สหราชอาณาจักรวางแผนที่จะยกเลิกข้อกำหนดการแยกตัวสำหรับการตรวจหาเชื้อที่ให้ผลบวก ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกาปรับเปลี่ยนแนวทางการสวมใส่หน้ากากอนามัยด้วยลดการจำกัดในบางสถานที่

การให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ไม่ได้หมายความว่าโรคนี้ไม่มีความเสี่ยง ทั่วโลก เราควรให้ระบบตอบสนอง “ใช้งานได้ตลอดเวลา” และสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว

รายงานฉบับใหม่ของสหรัฐอเมริกาที่มีความยาว 136 หน้า ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มแพทย์อิสระ 53 คนและผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณสุข รวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐทั้งจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต เพื่อเป็นโรดแมปสู่ ​​”next normal” การใช้ชีวิตร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัย และการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะโรคประจำถิ่น ระบุว่า “โอมิครอนจะไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้าย” แต่หากมีนโยบายด้านสาธารณสุขที่เหมาะสม ผู้คนสามารถกลับไปใช้ชีวิตในระดับที่ใกล้เคียงกับ “กิจวัตรและชีวิตก่อนเกิดโรคระบาด” ได้

สายพันธุ์ใหม่อาจเปิดบทใหม่ในการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และสังคมจะต้องเตรียมพร้อมที่จะตอบสนอง หากเกิดขึ้นและเมื่อเกิดขึ้น แต่สำหรับตอนนี้รายงาน McKinsey ระบุว่า การแพร่ระบาดดูเหมือนจะสิ้นสุด