ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > WHO เรียกร้องโลกลด “ความเหลื่อมล้ำ”ด้านสุขภาพหลังโควิด

WHO เรียกร้องโลกลด “ความเหลื่อมล้ำ”ด้านสุขภาพหลังโควิด

9 เมษายน 2021


วันอนามัยโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 7 เมษายน ของทุกปี ในปีนี้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization — WHO) เรียกร้องให้สร้างโลกหลังโควิด-19 ที่เป็นธรรมและมีสุขภาพดีขึ้น

แถลงการณ์ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบไม่เท่ากัน โดยมีผลกับคนบางกลุ่มรุนแรงกว่าคนอื่นๆ ทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพและสวัสดิการที่มีอยู่ภายในและระหว่างประเทศรุนแรงขึ้น เนื่องในวันอนามัยโลก 7 เมษายน 2564 องค์การอนามัยโลกจึงเรียกร้องให้ดำเนินการเร่งด่วน 5 ด้านเพื่อพัฒนาสุขภาพของประชาชนทุกคน

ในหลายประเทศ การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงขึ้นในกลุ่มที่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ความยากจน การกีดกันทางสังคม ตลอดจนสภาพชีวิตและการทำงานในชีวิตประจำวันที่ไม่เอื้ออำนวย รวมถึงวิกฤติด้านมนุษยธรรม

การระบาดของโรคนี้คาดว่าจะผลักดันให้ผู้คนอีกระหว่าง 119-124 ล้านคนต้องเข้าสู่ความยากจนอย่างรุนแรงในปีที่แล้ว และมีหลักฐานที่น่าเชื่อว่าได้ขยายช่องว่างระหว่างเพศในการจ้างงาน โดยผู้หญิงออกจากกำลังแรงงานมากกว่าผู้ชายในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

ความเหลื่อมล้ำด้านสภาพความเป็นอยู่ บริการสุขภาพ และการเข้าถึงอำนาจ เงินและทรัพยากรเหล่านี้ เป็นสิ่งที่คงอยู่มานาน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในครอบครัวที่ยากจนที่สุด สูงกว่าการเสียชีวิตของเด็กจากครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุดเป็น 2 เท่า อายุขัยของคนในประเทศที่มีรายได้ต่ำ สั้นกว่าคนในประเทศที่มีรายได้สูงถึง 16 ปี ดังจะเห็นจากตัวอย่าง ผู้เสียชีวิต 9 ใน 10 รายทั่วโลกจากมะเร็งปากมดลูกเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง

แต่ในขณะที่ประเทศต่างๆ ยังคงต่อสู้กับโรคระบาด ก็ยังมีโอกาสชัดเจนในการสร้างโลกที่ดีขึ้นและมีสุขภาพดีขึ้น โดยการปฏิบัติตามพันธสัญญา มติ และข้อตกลงที่มีอยู่ ในขณะเดียวกันก็ให้คำมั่นสัญญาใหม่ที่ชัดเจน

“การระบาดของโควิด-19 ขยายวงขึ้นท่ามกลางความไม่เท่าเทียมกันในสังคมของเราและช่องว่างในระบบสุขภาพของเรา” ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกกล่าว “เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกรัฐบาลที่จะต้องลงทุนในการเสริมสร้างบริการด้านสุขภาพของตัวเอง และขจัดอุปสรรคที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่ได้ใช้บริการ ผู้คนจำนวนมากจึงจะมีโอกาสที่จะมีชีวิตอย่างมีสุขภาพดี”

องค์การอนามัยโลกจึงมีข้อคำเรียกร้องให้ดำเนินการ 5 ด้าน

  • เร่งการเข้าถึงเทคโนโลยีโควิด-19 อย่างเท่าเทียมกันระหว่างประเทศและภายในประเทศ

  • วัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพได้รับการพัฒนาและรับรองอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ ความท้าทายในตอนนี้คือ การทำให้วัคซีนมีพร้อมใช้สำหรับทุกคนที่จำเป็นต้องใช้ ประเด็นสำคัญคือ การสนับสนุนโครงการ COVAX ซึ่งเป็นเสาหลักของวัคซีนในโครงการริเริ่มพัฒนาวัคซีนร่วม หรือ ACT-Accelerator ให้มากขึ้น ซึ่งหวังว่าจะถึงมือ 100 ประเทศและเขตปกครองในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

    แต่วัคซีนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเอาชนะโควิด-19 ได้ สินค้าต่างๆ เช่น ออกซิเจนทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ตลอดจนการตรวจวินิจฉัยที่เชื่อถือได้และยาก็มีความสำคัญเช่นกัน เช่นเดียวกับกลไกที่แข็งแกร่งในการกระจายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเหล่านี้อย่างเป็นธรรมภายในเขตแดนของประเทศ โครงการ ACT-Accelerator มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างการทดสอบและการรักษาสำหรับผู้คนหลายร้อยล้านคนในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางซึ่งอาจจะพลาดโอกาสนี้ไป แต่ยังต้องใช้เงิน 22.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในการส่งมอบเครื่องมือที่สำคัญเหล่านี้ไปยังที่ต้องการจำเป็นอย่างมาก

  • ลงทุนในสาธารณสุขมูลฐาน

  • ประชากรอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของโลกยังขาดการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น ผู้คนมากกว่า 800 ล้านคนใช้จ่ายอย่างน้อย 10% ของรายได้ครัวเรือน ในการดูแลสุขภาพ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนเกือบ 100 ล้านคนตกอยู่ในความยากจนในแต่ละปี

    ในขณะที่ประเทศต่างๆ เดินหน้า หลังการระบาดของโควิด-19 การหลีกเลี่ยงการตัดค่าใช้จ่ายภาครัฐด้านสุขภาพและภาคสังคมอื่นๆ จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง การตัดงบประมาณดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความยากลำบากในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอยู่แล้ว รวมทั้งทำให้ประสิทธิภาพของระบบสุขภาพลดลง เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพิ่มแรงกดดันทางการคลังในอนาคต และกัดกร่อนประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนา

    รัฐบาลควรปฏิบัติตามเป้าหมายที่ WHO เสนอแนะให้เพิ่มการใช้จ่ายอีก 1% ของ GDP ในด้านสาธารณสุขมูลฐาน (primary health care: PHC) ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ระบบสุขภาพที่เน้นสาธารณสุขมูลฐาน ได้สร้างผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความเท่าเทียมเพิ่มขึ้นและประสิทธิภาพดีขึ้น การขยายการใช้สาธารณสุขมูลฐานในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางสามารถช่วยชีวิตคนได้ 60 ล้านคนและเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยได้ 3.7 ปีภายในปี 2573

    รัฐบาลต้องลดการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพทั่วโลก 18 ล้านคน ที่จำเป็นต่อการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage: UHC) ภายในปี 2573 ซึ่งรวมถึงการสร้างงานประจำเพิ่มอย่างน้อย 10 ล้านตำแหน่งทั่วโลกและส่งเสริมการสร้างความเท่าเทียมกันทางเพศ ผู้หญิงมีส่วนในการดูแลสุขภาพและสังคมส่วนใหญ่ของโลกคิดเป็นถึง 70% ของบุคคลากรด้านสุขภาพและการดูแลทั้งหมด แต่ไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเป็นผู้นำ แนวทางแก้ไขที่สำคัญ ได้แก่ การจ่ายค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันเพื่อลดช่องว่างค่าตอบแทนระหว่างเพศ และตระหนักถึงงานดูแลสุขภาพที่ไม่ได้รับค่าจ้างของผู้หญิง

  • ให้ความสำคัญด้านสุขภาพและการคุ้มครองทางสังคมเป็นอันดับต้น
  • ในหลายประเทศผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผ่านจากการตกงาน ความยากจนที่เพิ่มขึ้น การหยุดชะงักของการศึกษา และภัยคุกคามต่อโภชนาการ เกินกว่าผลกระทบด้านสาธารณสุข บางประเทศได้มีโครงการการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุม เพื่อลดผลกระทบด้านลบจากความยากลำบากทางสังคมในวงกว้าง และเริ่มการหาแนวทางให้การสนับสนุนต่อชุมชนและผู้คนต่อไปในอนาคต แต่หลายประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายในการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ดังนั้น เพื่อให้การลงทุนที่มีค่าเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือสูงสุด และชุมชนที่ด้อยโอกาส การมีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินโครงการต่างๆ จึงมีความสำคัญ

  • สร้างพื้นที่ใกล้เคียงที่ปลอดภัยมีสุขภาพดีและทั่วถึง

  • ผู้นำของเมืองมักจะเป็นผู้ที่ทรงพลังในการยกระดับการดูแลสุขภาพ เช่น การปรับปรุงระบบขนส่งน้ำและสุขาภิบาล แต่หลายครั้ง การขาดบริการทางสังคมขั้นพื้นฐานสำหรับบางชุมชนทำให้พวกเขาจมอยู่กับความเจ็บป่วยและความไม่มั่นคง การมีที่อยู่อาศัยที่ภาวะแวดล้อมดี ในย่านที่ปลอดภัย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษาและสันทนาการที่เพียงพอ เป็นปัจจัยสำคัญในการมีสุขภาพที่ดีสำหรับทุกคน

    ขณะเดียวกัน 80% ของประชากรโลกที่จัดว่ามีความยากจนสุดขีดอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท ปัจจุบัน 8 ใน 10 คนที่ขาดบริการน้ำดื่มขั้นพื้นฐานอาศัยอาศัยในพื้นที่ชนบท และเช่นเดียวกันมี 7 ใน 10 คนที่ขาดบริการด้านสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน สิ่งสำคัญคือ ต้องเพิ่มการดำเนินการในส่งมอบบริการสุขภาพและบริการทางสังคมขั้นพื้นฐานอื่นให้เข้าถึงชุมชนในชนบทด้วย (รวมถึงน้ำและสุขาภิบาล) ชุมชนเหล่านี้ยังต้องการการลงทุนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วนในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนและการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ดีขึ้น

  • เสริมสร้างข้อมูลและระบบข้อมูลสุขภาพ

  • การเพิ่มความพร้อมใช้งานของข้อมูลคุณภาพสูงในเวลาที่เหมาะสม ที่มีการแยกกลุ่มตามเพศสภาพ ความมั่งคั่ง การศึกษา ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ เพศทางสังคมและถิ่นที่อยู่เป็นปัจจัยสำคัญในการหาจุดที่มีความไม่เท่าเทียมกันและจัดการกับข้อมูลเหล่านั้น การตรวจสอบความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพควรเป็นส่วนสำคัญของระบบข้อมูลสุขภาพแห่งชาติทั้งหมด

    การประเมินทั่วโลกของ WHO ล่าสุดแสดงให้เห็นว่ามีเพียง 51% ของประเทศที่รวมข้อมูลที่เก็บแบบแบ่งจำแนกแยกประเภท ไว้ในรายงานสถิติสุขภาพแห่งชาติที่ สถานะสุขภาพของกลุ่มที่มีความหลากหลายเหล่านี้มักถูกปิดบังเมื่อมีการใช้ค่าเฉลี่ยของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นมักเป็นผู้ที่ถูกทำให้เปราะบาง ยากจน หรือถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะหายไปจากข้อมูลทั้งหมด

    “ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะลงทุนด้านสุขภาพเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนา” ดร.เทดรอส กล่าว “เราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างการยกระดับสุขภาพของประชาชน การสร้างสังคมที่ยั่งยืน การประกันความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่เพียงพอ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการมีเศรษฐกิจในท้องถิ่นที่เฟื่องฟู ผลที่สำคัญทั้งหมดนี้ต้องไปพร้อมกัน”