ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงานธนาคารโลกชี้ โควิดระบาดยืดเยื้อเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก-แปซิฟิกฟื้นตัวช้า

รายงานธนาคารโลกชี้ โควิดระบาดยืดเยื้อเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก-แปซิฟิกฟื้นตัวช้า

28 กันยายน 2021


วอชิงตัน 27 กย. 2564 — ธนาคารโลกแถลงเมื่อวันจันทร์นี้ว่า การฟื้นตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกนั้นถูกบั่นทอนด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ทำให้ปัญหาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจและครัวเรือนต่างๆ ต้องยืดเยื้อออกไป ซึ่งจะชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความเหลื่อมล้ำ

  • ธนาคารโลกชี้วิกฤติโควิด ถ่วงเศรษฐกิจ EAP จี้เร่งฉีดวัคซีน ไทยต้องมีมาตรการเจาะจงช่วยคนจน
  • โควิดระบาดรอบใหม่ยืดเยื้อฉุดการเติบโต

    กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มลดระดับลงในไตรมาสที่สองของปีพ.ศ. 2564 และประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ถูกปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจลง ตามรายงานอัพเดทเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Country Economic Updates) ประจำเดือนตุลาคม 2564 ของธนาคารโลก ระบุว่า ขณะที่จีนคาดว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ 8.5% แต่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคคาดว่าจะเติบโตเพียง 2.5% โดยลดลงเกือบ 200 จุดจากที่คาดการณ์ในเดือนเมษายน 2564 อัตราการจ้างงานและการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานลดลง และจะมีประชากรจำนวนมากถึง 24 ล้านคนตกอยู่ในภาวะยากจนในปี 2564

    “การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญกับชะตาที่พลิกผัน”

    มานูเอลา เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว “แม้ว่าในปี2563 ภูมิภาคนี้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในขณะที่ภูมิภาคอื่นของโลกประสบปัญหา แต่ในปี2564 การแพร่ระบาดได้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ในปีนี้โอกาสที่เศรษฐกิจจะเติบโตต้องลดลงไป อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้ก็เคยผ่านพ้นวิกฤติและกลับมาแข็งแกร่งได้หลายต่อหลายครั้งแล้ว และก็จะสามารถทำได้อีกหากมีนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสม”

    ความเสียหายที่เกิดจากการแพร่ระบาดหลายระลอกอย่างต่อเนื่องของโควิด-19 จะส่งผลเสียต่อการเติบโตและเพิ่มความเหลื่อมล้ำในระยะยาว รายงานระบุว่า การที่ธุรกิจต้องเลิกกิจการไปทั้งที่ควรจะอยู่รอดได้ในสถานการณ์ปกติกำลังนำไปสู่การสูญเสียสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้อันมีค่า ขณะที่ธุรกิจที่ยังอยู่รอดก็ชะลอการลงทุนที่จะก่อให้เกิดผลผลิต กิจการขนาดเล็กได้รับผลกระทบหนักสุด แม้ว่าจะเดือดร้อนกันเกือบถ้วนหน้า แต่กิจการใหญ่ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะมียอดขายตกลงน้อยกว่า และมีแนวโน้มมากกว่าที่จะรับเทคโนโลยีขั้นสูงและเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐบาล

    ครัวเรือนต่างๆ ล้วนประสบความเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่ยากจนมากกว่ามีแนวโน้มสูงกว่าที่จะสูญเสียรายได้ เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารมากกว่า มีลูกที่ไม่ได้เข้าเรียน และต้องเทขายทรัพย์สินที่ไม่ค่อยจะมีทิ้งไป การเพิ่มขึ้นของภาวะแคระแกร็นในเด็ก การเสื่อมถอยของทุนมนุษย์ และการสูญเสียสินทรัพย์ที่ก่อผลผลิตอันเป็นผลตามมา จะส่งผลเสียต่อการหารายได้ในอนาคตของภาคครัวเรือนเหล่านี้ ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นระหว่างกิจการต่างๆ ก็จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างแรงงานได้

    แนวโน้มการเติบโตแย่ลงแนะเร่งฉีดวัคซีน

    ดร.อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
    ในเวลา 8.00 น.วันที่ 28 กันยายน ดร.อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเป็นผู้นำเสนอรายงานอัพเดทเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก กับสื่อมวลชนระดับภูมิภาคผ่านระบบออนไลน์

    ดร.อาดิตยา กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีแนวโน้มที่แย่ลง โดยขณะที่จีนเติบโตดีขึ้นจาก 8.1% ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน เป็น 8.5%ในการประเมินครั้งนี้ ส่วนเอเชียตะวันออกที่เหลือการคาดการณ์เศรษฐกิจได้ถูกปรับลดลงจาก 4.4% 2.5% และแปซิฟิกกลับติดลบ 2.9% จากที่เติบโต 1%

    ประเด็นหลักที่มีผลต่อการเติบโต นอกจากการระบาดของโควิดแล้วยังมาจากความสามารถของรัฐบาลในการที่จะใช้มาตรการควบคุมการระบาดซึ่งการระบาดที่ผ่านมาส่วนใหญ่ใช้การแยกตัวการกักกัน แต่ไม่ได้ผลต่อไวรัสสายพันธ์เดลต้าที่แพร่กระจายและติดเชื้อได้ง่าย และยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้มาก

    ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้ากำลังขยายตัว ภูมิภาคนี้กำลังประสบปัญหา จากความต้องการในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสเดลต้า และในขณะที่ความต้องการในต่างประะเทศกำลังเพิ่มขึ้น รัฐบาลเองมีพื้นที่และงบประมาณจำกัดในการที่จะดำเนินมาตรการสนับสนุน ซึ่งขีดความสามารถของรัฐบาลแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับภาระหนี้ที่มี

    “แต่ข่าวดีก็คือ เราเชื่อว่าหลายประเทศจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศในอัตราส่วนที่สูงได้ภายในกลางปี 2565”

    โดยประเทศกลุ่มแรกที่กำลังเข้าสู่อัตราการฉีดวัคซีนที่สูงได้แก่ จีน มองโกเลีย กัมพูชา มาเลเซีย ไทย แต่คาดว่าประเทศอื่นๆจะมีการฉีดวัคซีนในระดับ 60% ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับที่มองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาได้ อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการฉีดวัคซีนไปอย่างต่อเนื่องให้มากขึ้น

    “การเร่งฉีดวัคซีนและตรวจหาเชื้อเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดจะสามารถฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ที่ยังล้มลุกคลุกคลานให้กลับมาได้เร็วที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปีพ.ศ. 2565 และเพิ่มอัตราการเติบโตเป็นสองเท่าในปีหน้า” ดร.อาดิตยากล่าว

    ดร.อาดิตยากล่าวว่า การที่ให้ความสำคัญกับอัตราการฉีดวัคซีน เพราะได้เห็นจากประเทศอื่นที่ฉีดวัคซีนได้ในระดับ 50-60% ของประชากรแล้ว ส่งผลให้ประชาชนกลับมาสัญจรได้อีกครั้ง ภาคการผลิตกลับมาผลิต และส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

    รายงานประมาณการณ์ว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค รวมถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศได้มากกว่า 60% ภายในครึ่งแรกของปี 2565 ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถขจัดการแพร่ระบาดให้หมดไปโดยสิ้นเชิงก็ตาม แต่ก็จะลดการเสียชีวิตลงไปได้อย่างมาก ทำให้สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไปได้

    อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้ยังจำเป็นต้องพยายามดำเนินการในสี่ด้านอย่างจริงจังเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อ ประกอบด้วย
    1) การจัดการกับความลังเลในการรับวัคซีนและปัญหาการกระจายวัคซีนเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการฉีดวัคซีน
    2) เพิ่มการตรวจ สืบย้อน และกักตัวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
    3) เพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนในภูมิภาคเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า และ
    4) สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีความช่วยเหลือระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนความพยายามภายในประเทศในทุกด้านที่กล่าวมา โดยเฉพาะในประเทศที่มีศักยภาพจำกัด

    “ภูมิภาคนี้ยังจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการป้องกันและระมัดระวัง เพราะภูมิภาคนี้ยังตามหลังในเชิงการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับโควิดในทุกมิติ อันที่จริงแล้วก็มีโอกาสที่จะวางแผนล่วงหน้าในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิดที่ยืดเยื้อ เพราะไวรัสไม่มีทีท่าที่จะจบลงในเร็วๆนี้ จึงต้องปรับตัวให้อยู่กับไวรัส ซึ่งธนาคารโลกมองว่าเป็นการดำเนินการที่มีความสำคัญอย่างมาก”ดร.อาดิตยากล่าว

    เจอ 2 ปัญหาซ้อนครั้งแรกในรอบศตวรรษ

    ดร.อาดิตยากล่าว ปีนี้ยังเป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเจอปัญหาซ้อนกัน ได้แก่ การเติบโตที่ชะลอตัวและและปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น โดยภาคธุรกิจประสบปัญหาการขาดรายได้ ล้มละลาย การจ้างงานลดลง ขณะที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นในหลายมิติ เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร

    นอกจากการควบคุมการแพร่ระบาดแล้ว ยังจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมเพื่อกระตุ้นการเติบโตและทำให้การเติบโตกระจายอย่างทั่วถึง

    ดร.อาดิตากล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการเขาถึงเทคโนโลยีที่มากขึ้นจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวที่ทั่วถึง

    รายงานยังระบุว่าการเร่งกระจายเทคโนโลยีอาจเป็นทางออกสำหรับวิกฤติโดยการกระตุ้นผลิตภาพ สร้างโอกาสที่เท่าเทียมในการศึกษา และเปลี่ยนแปลงหน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเสริม เช่น การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีทักษะในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ จะต้องมีการเสริมด้วยนโยบายเปิดกว้างทางการค้าและการลงทุน และนโยบายการแข่งขันเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้กับธุรกิจต่างๆ ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ การดำเนินการปฏิรูปการศึกษาที่ล่าช้ามานาน เพื่อปรับปรุงคุณภาพการสอนและความสอดคล้องของหลักสูตรจะทำให้มีการเข้าถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

    “แต่ในระยะยาว มีแต่การปฏิรูปที่ลงลึกอย่างจริงจังเท่านั้นจึงจะสามารถป้องกันการเติบโตที่ชะลอตัวและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งการเกิดขึ้นคู่กันของการเติบโตที่ชะลอตัวและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นนั้น ภูมิภาคนี้ไม่เคยประสบมาก่อนเลยในศตวรรษนี้”

    ดร.อาดิตยากล่าวว่า นอกจากเทคโนโลยีแล้ว ภูมิภาคนี้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่จริงจังและเบ็ดเสร็จ เพื่อขีดความสามารถด้วยการปฏิรูปทางการคลัง ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐาน (Soft Infrastructure) และที่สำคัญเสริมสร้างศักยภาพของทุนมนุษย์ผ่านการปฏิรูปการศึกษา

  • ธนาคารโลกชี้ การฟื้นตัวไม่เท่ากัน ถ่างความเหลื่อมล้ำทั่วเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก
  • ไทยขาดพลวัตการปฏิรูปเศรษฐกิจ

    การฟื้นตัวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงจากพัฒนาการของเศรษฐกิจโลก เช่น การลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) อย่างไรก็ตามภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออก การควบคุมการระบาดของโควิดแตกต่างกัน และเริ่มมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ดังที่เห็นจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่สร้างโอกาสการลงทุนใหม่ บรรยากาศทางธุรกิจสดใส จึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายออกนอกภูมิภาค ดังนั้นจึงต้องมีการปฏิรูป

    “หากการปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นเริ่มขึ้นในสหรัฐฯ โดยมีสาเหตุจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ จึงเป็นปัจจัยเชิงบวก หมายถึงภาวะเศรษฐกิจภายนอกประเทศมีความแข็งแกร่ง ส่งผลให้ภูมิภาคนี้ยังคงส่งออกได้ต่อเนื่อง และจะช่วยกลบผลทางลบที่อาจจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหากสหรัฐฯปรับนโยบายการเงินแบบโปร่งใสและคาดเดาได้ ผลกระทบก็ไม่มาก” ดร.อาดิตยากล่าว

    สำหรับประเทศไทย ดร.อาดิตยากล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิดได้ไม่เท่ากับการระบาดในรอบแรกที่ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ ด้วยการใช้มาตรการสอบสวนโรค แยกตัวกักกันตัว แต่การระบาดรอบล่าสุดไทยเปราะบาง การฉีดวัคซีนแม้ยังอยู่ในระดับต่ำแต่เร่งตัวขึ้น ซึ่งหมายความว่า การฉีดวัคซีนของไทยจะเพิ่มขึ้นแตะระดับที่เอื้อต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในกลางปีหน้า ดังนั้นเมื่อประเมินจากการฉีดวัคซีนอย่างเดียว ก็ยังมีมุมมองทางบวก แต่ไทยต้องยังคงใช้มาตรการเพิ่มการตรวจ การสอบสวนโรคและกักตัว และมาตรการเฝ้าระวังที่ยังมีความสำคัญ

    ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากความต้องการภายนอกที่สดใส การส่งออกยังแข็งแกร่งและยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจของไทยอ่อนตัวลง ขยายตัวเพียง 1% จาก 3.6% ในปีก่อน

    “เศรษฐกิจไทยซบเซาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะการปฏิรูปเศรษฐกิจไม่คืบหน้า ขณะที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เดินหน้า ซึ่งเราไม่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ในไทย ไม่เห็นพลวัตการปฏิรูปในไทย ขณะที่ระบบสาธารณสุขของไทยมีความเข้มแข็งจนได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ แต่สิ่งที่กังวลคือความสามารถในการปฏิรูปเศรษฐกิจให้ลึกมากขึ้น และความสามารถในการปฏิรูปให้มีส่วนร่วมมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานเพื่อพลิกฟื้นภาคบริการที่เป็นเลิศของประเทศ” ดร.อาดิตยากล่าว

    ไทยใช้เวลา 3 ปีกว่าจะกลับไประดับก่อนโควิด

    ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก
    หลังงานแถลงข่าวระดับภูมิภาคเสร็จสิ้น ธนาคารโลกยังได้จัดช่วงแถลงข่าว เวลา 09.00 น. ขึ้นอีกช่วงหนึ่งเพื่อเน้นตอบคำถามเกี่ยวกับประเทศไทยโดยเฉพาะ กับ ดร. เบอร์กิท ฮานสล์ (Birgit Hansl) ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย และ ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก

    ดร.เบอร์กิทกล่าวว่า รายงานอัพเดทเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับล่าสุดจัดทำขึ้นในธีม Long Covid เป็นผลจากการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิดในภูมิภาค และทำให้ต้องปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจลง รวมทั้งยังเห็นว่าในครึ่งปีที่ผ่านมาการการระบาดของโควิดทำให้รัฐบาลในหลายประเทศ รวมทั้งไทยต้องกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวด ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่แข็งแกร่งเท่ากับปีก่อน แม้รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการส่งออกที่ขยายตัว

    การระบาดระลอกใหม่ยังมีผลให้ความยากจนเพิ่มขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค คาดว่าจะมีคน 24 ล้านคนตกอยู่ในความยากจนในปีนี้ แต่ปัจจัยบวกคือการฉีดวัคซีนที่เร่งตัวขึ้นจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับมาดำเนินการ จึงคาดว่าภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะขยายตัวได้ 7.5% ในปีนี้

  • ธนาคารโลกประเมินโควิดทำคนจนปี’63 เพิ่ม 1.5 ล้าน ชี้จ้างงานช่วยฟื้นตัวยั่งยืน
  • ดร.เกียรติพงศ์ กล่าวว่า รายงานอัพเดทเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับล่าสุดได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาที่ 1% และใช้เวลาในการฟื้นตัวมากขึ้นในการที่จะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด โดยใช้เวลาประมาณ 3 ปี จากการเปิดภาคการท่องเที่ยวที่ล่าช้า และในปีนี้ภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาแม้มีการกระจายวัคซีนทั่วถึงมากขึ้น โดยคาดการณ์นักท่องเที่ยวไว้ที่ 110,000 คน

    “เรามองว่าจะใช้เวลาถึงกลางปีหน้าที่ฉีดวัคซีนได้ถึง 70% และมีโอกาสให้ภาคการท่องเที่ยวขยายมาได้ดีขึ้น ส่วนการบริโภคภาคเอกชนการลงทุนมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลักๆมาจากการส่งออกสินค้า และมีนโยบายการคลังที่เป็นแรงประคับประคองเศรษฐกิจสำหรับภาคครัวเรือนที่ตกงานและเอสเอ็มอีที่ขาดรายได้”ดร.เกียรติพงศ์ กล่าว

    สำหรับฐานะการคลังเชื่อว่ามีพื้นที่การคลังที่เพียงพอที่จะประคับประคองเศรษฐกิจโดยที่รัฐได้ขยายมาตรการและวงเงินการกู้จาก 1 ล้านล้านบาทและขยายรอบสองอีก 5 แสนล้านโดยรวมเป็น 1.5 ล้านล้านบาท โดยรวมยังมีพื้นที่ทางการคลังที่จะรับภาระหนี้ที่เิพิ่มขึ้นเป็น 62%ในปีหน้า ซึ่งภาครัฐเองได้ขยายเพดานการกู้หนี้ก็จะประคองเศรษฐกิจในรอบหน้า

    “การขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นโอกาสให้รัฐประคับประคองเศรษฐกิจในระยะสั้น เพิ่มการลงทุนเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐในระยะปานกลาง ก่อนโควิดระดับหนี้อยู่ในระดับต่ำประมาณกว่า 40% และจากการคำนวณด้วยแบบจำลองของธนาคารโลก ก็พบว่าไทยยังมีโอกาสเพิ่มหนี้ได้มากกว่า 60% และในช่วงที่เศรษฐกิจปรับตัวและฟื้นฟูจากโควิดหนี้สาธารณะจะลดลงไปสู่ระดับที่ต่ำกว่า 60% ดังนั้นการเพิ่มหนี้สาธารณะให้สูงกว่า 60% เป็นเรื่องชั่วคราว” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว

    นอกจากนี้หนี้ของไทยส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมในประเทศ หนี้ต่างประเทศมีสัดส่วนต่ำ เพราะฉะนั้นความเสี่ยงต่อหนี้ต่างประเทศค่อนข้างต่ำมาก และนอกจากการขยายเพดานหนี้ยังช่วยให้ไทยสามารถขยายมาตรการกระตุ้นได้ ในกรณีที่สถานการณ์แย่ลง โดยที่ยังรักษาสถานะทางการคลังในระยะปานกลางได้ แต่ต้องมีความโปร่งใสทั้งในการลงทุน และการใช้มาตรการเยียวยา และรัฐอาจจะพิจารณาใช้นโยบายแบบเตจาะจงเป้าหมายมากขึ้นให้กับกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือจริงเพื่อให้การใช้เงินมีประสิทธิภาพเต็มที่