ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงานธ.โลกชี้เศรษฐกิจฟื้นไตรมาส 4 โตสุดตั้งแต่โควิดระบาด ฉีดวัคซีนใกล้ 70% หนุนบริโภค

รายงานธ.โลกชี้เศรษฐกิจฟื้นไตรมาส 4 โตสุดตั้งแต่โควิดระบาด ฉีดวัคซีนใกล้ 70% หนุนบริโภค

15 กุมภาพันธ์ 2022


ธนาคารโลกออกรายงานภาวะศรษฐกิจไทย Thailand Monthly Economic Monitorประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่สี่และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาด โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวในวงกว้างของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การขยายตัวของการส่งออกสินค้า และการดำเนินโครงการบรรเทาผลกระทบและฟื้นฟูจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ส่วนอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอีกในเดือนมกราคม โดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น ค่าเงินบาทแข็งค่าในเดือนมกราคมขณะที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ของไทยมากขึ้น

รายงานระบุถึงสถานการณ์โควิดในประเทศว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเป็น 10,533 ต่อวันในช่วง 10 วันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ จากเฉลี่ย 7,000 ราย ต่อวันในเดือนมกราคม จากสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในขณะนี้

แต่ข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า เนื่องจากภูมิคุ้มกันในประชากรเพิ่มขึ้นจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อในช่วงที่ผ่านมา แม้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในเดือนมกราคม แต่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจลดลงครึ่งหนึ่ง จำนวนผู้เสียชีวิตยังลดลงจาก 30 รายต่อวันเป็น 15 รายต่อวันในช่วงเวลาเดียวกันปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ที่ 0.2% ของผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน ลดลงจาก 0.9% ในเดือนธันวาคม

ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ สัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนสูงถึง 69.6% รัฐบาลยังคงเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะจำนวนผู้ป่วยด้วยสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอยู่ที่ 23% รัฐบาลจึงกลับมาใช้มาตรการ Test & Go อีกครั้ง เพื่อเปิดรับชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์

การกลับมาใช้มาตรการ Test & Go จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นในปี 2565 หลังจากที่เดือนธันวาคมถึงมกราคมจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจาก 290,617 รายเป็น 189,193 ราย เพราะมีการระงับใช้มาตรการ Test & Go ชั่วคราวในเดือนมกราคม เพื่อป้องกันผู้ที่ติดเชื้อเดินทางเข้ามา อย่างไรก็ตามคาดว่าจำนวนผู้เดินทางเข้าจะฟื้นตัวในเดือนกุมภาพันธ์

ในเดือนธันวาคมจำนวนผู้เข้าพักในโรงแรมฟื้นตัวมาที่ 49% ของระดับก่อนโควิด-19 โดยได้แรงหนุนจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

กิจกรรมภายในประเทศฟื้นตัวในไตรมาสสี่ โดยแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาด
ในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 8.2% จากไตรมาสก่อนหน้า(qoq) โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว (8.2% qoq) และ การส่งออก (10.1% qoq)

การบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนถึงการฉีดวัคซีนในอัตราที่สูง การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ความต้องการสินค้าคงทนจากที่อั้นไว้ การเปิดประเทศรับผู้เดินทางเข้าที่ฉีดวัคซีนครบถ้วน และความต่อเนื่องของโครงการบรรเทาผลกระทบและฟื้นฟูจากโควิด-19 แม้การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นภายในประเทศและการสัญจรในเดือนมกราคม แต่เศรษฐกิจก็คาดว่าจะดีขึ้นในช่วงที่เหลือของไตรมาส 1 ปีนี้ จากมาตรการควบคุมไวรัสที่เข้มงวดน้อยลงและความต่อเนื่องของโครงการ Test & Go

การส่งออกสินค้ายังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกที่ยังคงแข็งแกร่ง และปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานคลี่คลาย
ในเดือนธันวาคม การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องในอัตรา 24.2% (yoy) จาก 24.7% ในเดือนก่อนหน้า โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวแข็งแกร่ง นอกจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกแล้ว แรงกดดันจากการขาดแคลนชิปทั่วโลกและปัญหาคอขวดด้านโลจิสติกส์ที่คลี่คลายยังมีผลสนับสนุนการส่งออกอีกด้วย โดยรวมในปี 2564 การส่งออกขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่ 17.1% แต่ยังต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคในปี 2564 เนื่องจากการส่งออกของไทยไม่ได้ประโยชน์จากความต้องการอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกเท่ากับประเทศอื่นในภูมิภาค รัฐบาลคาดการณ์ว่าการส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของคู่ค้ารายใหญ่ สถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ดีขึ้น ความต้องการที่แข็งแกร่งในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เนื่องจากเศรษฐกิจดิจิทัลกำลังเติบโต และ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership:RCEP) ซึ่งมีผลแล้วในวันที่ 1 มกราคม

รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 2 แสนล้านบาทเพื่อบรรเทาผลกระทบและฟื้นฟูจากโควิด-19
มาตรการล่าสุดที่มีวงเงิน 53 พันล้านบาท (0.3% of GDP) เพื่อเยียวยาโควิด สำหรับไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ปี 2565 เป็นเงินที่จัดสรรมาจากวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการคนละครึ่งระยะที่ 4, โครงการเราเที่ยวด้วยกันระยะที่ 4, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 4 และกลุ่มเปราะบาง โดยรวมวงเงินกู้ในปีงบประมาณ 2565 ไม่ถึงครึ่งนี้ของงบประมาณที่ได้ใช้ไปในการระบาดระลอกสามปี 2564 และคาดว่าทิศทางนโยบายการคลังในปีงบประมาณ 2565 ไม่น่าจะผ่อนคลายนัก

อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในเดือนมกราคมโดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบโลกที่พุ่งสูงขึ้นและโรคไข้หวัดหมูในประเทศ
เงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นจาก 2.2% เป็น 3.2% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารสดที่พุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ได้ส่งผ่านไปยังราคาในประเทศอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีการคุมราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกต่อลิตรไว้ที่ 30 บาทตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 จากเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รัฐบาลได้อนุมัติเงินกู้ 3 หมื่นล้านบาทในรูปของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ เพื่อสมทบเข้ากองทุนฯ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเป็น 0.52% จาก 0.29% ในเดือนก่อนหน้า ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ภายในช่วงเป้าหมาย (1-3%) แต่ยังติดตามแนวโน้มราคาพลังงานโลกและการส่งผ่านต้นทุนอย่างใกล้ชิด

ค่าเงินบาทแข็งค่าในเดือนม.ค. นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ของไทยมากขึ้น
ค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.4 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนมกราคม อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง (REER) เพิ่มขึ้น 0.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน (รูปที่ 9) ค่าเงินบาทแข็งค่าเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นในแนวโน้มเศรษฐกิจไทย หลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะเร่งลดการเร่งลดการอัดฉีดเงิน และมีวางแผนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

เงินทุนไหลเข้าเพื่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุนของไทย ยังคงเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกันในเดือนมกราคม ที่ 84,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกระเงินไหลเข้าที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562