ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกชี้ การฟื้นตัวไม่เท่ากัน ถ่างความเหลื่อมล้ำทั่วเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก

ธนาคารโลกชี้ การฟื้นตัวไม่เท่ากัน ถ่างความเหลื่อมล้ำทั่วเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก

26 มีนาคม 2021


การฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

วอชิงตัน 25 มีนาคม 2564 – กว่าหนึ่งปีที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต่างฟื้นตัวได้ไม่เท่ากันอย่างเห็นได้ชัด ธนาคารโลกเผยในรายงานตามติดเศรษฐกิจของภูมิภาคฉบับเดือนเมษายน 2564 East Asia and Pacific Economic Updateที่เผยแพร่ในวันนี้

มีเพียงจีนและเวียดนามเท่านั้นที่มีการฟื้นตัวเป็นรูปตัววีโดยขณะนี้มีผลผลิตสูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 แล้ว เศรษฐกิจของประเทศสำคัญอื่นๆ ในภูมิภาค ผลผลิตยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดราวร้อยละ 5 โดยเฉลี่ย ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ศักยภาพทางเศรษฐกิจยังคงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัส ความสามารถในการคว้าโอกาสจากการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ และศักยภาพของรัฐบาลในการให้ความสนับสนุนทางด้านงบประมาณและการเงิน

ในปี 2563 ความยากจนในภูมิภาคไม่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ ประมาณ 32 ล้านคนในภูมิภาคไม่สามารถออกจากความยากจนได้ (เส้นความยากจน $5.50/วัน) เนื่องจากการแพร่ระบาด

“การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้การลดความยากจนต้องหยุดชะงักไปและความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น” วิคตอเรีย ควาควา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว “ขณะที่เริ่มมีการฟื้นตัวในปี 2564 ประเทศต่างๆ มีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองกลุ่มประชากรที่อยู่ในภาวะเสี่ยงหรือเปราะบางและดูแลให้เกิดการฟื้นฟูที่ครอบคลุม คำนึงถึงสภาพแวดล้อม และพร้อมรับมือและปรับตัวกับอุปสรรคใหม่ที่เข้ามา”

ความยากจนที่เพิ่มขึ้นและความเหลื่อมล้ำที่ฝังแน่น

เนื่องจากภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ ความยากจนในภูมิภาคไม่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี และมี 32 ล้านคนที่ติดกับอยู่ในความยากจน
ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดและการล็อคดาวน์ที่เป็นผลตามมา ตลอดจนการเข้าถึงความช่วยเหลือทางสังคมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ไม่เท่าเทียม

  • การหดหายของทุนมนุษย์และทุนทางกายภาพในหมู่คนยากจนนั้นเลวร้ายกว่า ในบางประเทศเด็กในครอบครัวที่อยู่ในส่วนล่างสุด 2 ใน4 ของการกระจายรายได้มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้น้อยกว่าเด็กในครอบครัวที่อยู่ในส่วนสูงสุด 1 ใน 5 อยู่ถึงร้อยละ 20
  • ผู้หญิงต้องเผชิญความรุนแรงมากขึ้น คือ ร้อยละ 25 ของผู้ตอบแบบสอบถามในลาวและร้อยละ 83 ในอินโดนีเซียระบุว่าความรุนแรงจากคนใกล้ชิดมีสภาพเลวร้ายลงเนื่องจากโควิด-19
  • ยอดขายของกิจการรายย่อยหดตัวลงถึง 1 ใน 3 แต่ของกิจการขนาดใหญ่หดลงเพียงหนึ่งในสี่ นอกจากนี้กิจการขนาดเล็กกว่าก็มีแนวโน้มที่จะคว้าโอกาสทางดิจิทัลใหม่ๆ น้อยกว่า
  • การฟื้นตัวที่แตกต่าง 3 ระดับ

    เศรษฐกิจในภูมิภาคเริ่มฟื้นตัวหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปี 2563 โดยคาดว่าภูมิภาคคาดจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากร้อยละ 1.2 ในปี 2563 เป็น 7.6 ในปี 2564 แต่ก็มีแนวโน้มที่การฟื้นตัวจะดำเนินไปด้วยความเร็วที่แตกต่างกันสามระดับ โดยมีเพียงจีนและเวียดนามเท่านั้นที่มีการฟื้นตัวเป็นรูปตัววี โดยมีผลผลิตในปีพ.ศ. 2563 สูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 และคาดว่าจะเติบโตมากขึ้นไปอีกในปี 2564 คือ ร้อยละ 8.1 และ 6.6 ตามลำดับ จากร้อยละ 2.3 และ 2.9 ในปี 2563 เนื่องจากสองประเทศนี้บอบช้ำจากวิกฤตน้อยกว่า ก็จะกลับคืนสู่ระดับก่อนโควิดได้เร็ว

    เศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ ในภูมิภาคที่บอบช้ำจากวิกฤตมากกว่า ผลผลิตยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาด ความบอบช้ำจากวิกฤตที่หนักกว่าจะฉุดให้การกลับคืนสู่ระดับก่อนโควิดได้ช้าลง และจะเติบโตประมาณร้อยละ 4.6 โดยเฉลี่ย ซึ่งช้ากว่าอัตราการเติบโตก่อนวิกฤตเล็กน้อยราวร้อยละ 0.4 โดยประเทศที่มีส่วนต่างน้อยที่สุดคือ อินโดนีเซีย (ร้อยละ 2.2) และมากที่สุดคือ ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 8.4)

    เศรษฐกิจมีการหดตัวอย่างรุนแรงและยืดเยื้อในบางประเทศที่เป็นหมู่เกาะเล็กๆ คือ ฟิจิ ปาเลา และวานูอาตู โดยมีผลผลิตในปี 2563 ต่ำกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดมากกว่าร้อยละ 10 การฟื้นตัวคาดว่าจะใช้เวลานานในประเทศหมู่เกาะที่พึ่งการท่องเที่ยว โดยราวครึ่งหนึ่งน่าจะมีการเติบโตที่ติดลบ ถึงแม้จริงๆ แล้วจะไม่ได้มีการแพร่ระบาดมากนักก็ตาม

    ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดผลการดำเนินการเศรษฐกิจที่ดี

    ประเทศที่มีผลการดำเนินการทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นนั้นได้สามารถ

  • ยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการเปลี่ยนผ่านแต่เนิ่นๆ จากการล๊อคดาวน์มาสู่ยุทธศาสตร์ที่อิงการตรวจหาเชื้อ
  • คว้าโอกาสจากการฟื้นฟูการค้าสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอิเล็กโทรนิคส์ และไม่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวมากเกินไป
  • ให้ความสนับสนุนทางการคลังและการเงินได้อย่างมากเนื่องจากรัฐบาลมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่เพียงพอ
  • รายงานฉบับนี้คาดว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะสามารถเพิ่มการเติบโตของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้ถึง 1 จุดร้อยละโดยเฉลี่ยในปี 2564 และเร่งการฟื้นตัวให้เร็วขึ้นได้ประมาณสามเดือนโดยเฉลี่ย ความเสี่ยงในการณ์นี้อยู่ที่ความล่าช้าในการกระจายวัคซีนที่อาจฉุดการเติบโตได้ถึง 1 จุดร้อยละในบางประเทศ เนื่องจากความไม่ตรงกันระหว่างวัคซีนและความจำเป็นและกำลังการผลิตที่จำกัด

    นโยบายที่ควรให้ความสำคัญยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19

    รายงานยังเสนอให้มีการดำเนินการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด พยุงเศรษฐกิจ และช่วยให้เกิดการฟื้นตัวโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม และระบุว่าปริมาณและการจัดสรรวัคซีนในปัจจุบันจะทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีวัคซีนครอบคลุมประชากรมากกว่าร้อยละ 80 ภายในสิ้นปี 2564 ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะครอบคลุมได้เพียงร้อยละ 55 ของประชากรเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ติดได้ง่ายกว่าและอาจดื้อต่อวัคซีนอาจซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงไปอีก

    ในประเทศที่ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ การดำเนินการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วมีความสำคัญสูงสุด ส่วนประเทศที่สามารถจัดการกับการแพร่ระบาดได้ดีอย่างจีนและเวียดนามจะมีพื้นที่ที่จะสามารถพัฒนายุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนให้เหมาะสมกับประชากรจำนวนมากได้มากขึ้น

    เนื่องจากการฉีดวัคซีนจะไม่เพียงพอที่จะขจัดการแพร่ระบาดได้ในเวลาอันใกล้ในประเทศส่วนใหญ่ รัฐบาลของประเทศต่างๆ จึงต้องเพิ่มการดำเนินมาตรการอื่นนอกเหนือจากวัคซีน โดยเฉพาะการตรวจหาเชื้อ-การติดตาม-การกักตัว ที่จะช่วยขยายผลและความคุ้มทุนของวัคซีน

    ให้ความช่วยเหลือวันนี้ เพื่อเสถียรภาพในวันหน้า

    นโยบายทางการคลังถูกคาดหวังให้มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ การฟื้นฟูและการเติบโตของเศรษฐกิจ หลายประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก การบรรเทาไม่พอกับรายได้ที่สูญเสียไป การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ช่วยเยียวยาอุปสงค์หรือความต้องการที่ขาดหายไปได้อย่างเต็มที่ และการลงทุนภาครัฐไม่ได้เป็นส่วนสำคัญของความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 7 ของ GDP ขณะที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้ดำเนินมาตรการทางการคลังเกือบร้อยละ 10 ของ GDP

    รัฐบาลในภูมิภาคสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้จ่ายได้ ยกตัวอย่างเช่น ครัวเรือนและกิจการที่รายได้ไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงวิกฤต มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือแทบไม่ต่างจากครัวเรือนและกิจการที่สูญเสียรายได้ ประเทศที่มีการบริหารจัดการการลงทุนภาครัฐที่ดีได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าประเทศอื่นถึงสี่เท่า

    แทนที่จะลดการใช้จ่ายหรือขึ้นภาษี รัฐบาลประเทศต่างๆ สามารถยึดถือวินัยและดำเนินการปฏิรูปเพิ่มประสิทธิภาพในอนาคต และยังสามารถค่อยๆ ตัดการใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองและถดถอย การอุดหนุนค่าเชื้อเพลิงมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 0.25 ไปจนถึง 1.3 ของ GDP ในประเทศขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

    ประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังสามารถใช้นโยบายทางการเงินต่อไปเพื่อแบ่งเบาภาระของความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเป็นบวก การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่ค่อนข้างสูง และเงินเฟ้อที่ต่ำลดลง

    ดูแลสิ่งแวดล้อมโดยไม่กระทบการเติบโตหรือคนจน

    ภูมิภาคนี้มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีปริมาณการปล่อยเพิ่มเป็นสามเท่านับจากปี 2543 และขณะนี้มีสัดส่วนเกือบหนึ่งในสามของปริมาณการปล่อยทั้งโลก และภูมิภาคนี้ยังประสบผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย แต่การแยกการเติบโตออกจากการปล่อยก๊าซจะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงในแบบแผนการบริโภคและการผลิตขนานใหญ่ มาตรการฟื้นฟูของจีนมีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ก็มีเพียงหนึ่งในห้าเท่านั้น

    ผู้กำหนดนโยบายมีเครื่องมือหลากหลายให้เลือกใช้ คือ (1) ค่อยๆ เลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการอุดหนุนพลังงาน (แผนภาพ O9) (2) ปรับราคาคาร์บอนต่างๆ (3) ส่งเสริมการลงทุนภาครัฐในนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานที่คาร์บอนต่ำ (4) ดำเนินการปฏิรูปนโยบายคาร์บอนต่ำในภาคเศรษฐกิจหลักๆ เช่น พลังงาน ขนส่ง เกษตร การใช้ที่ดิน และการวางผังเมือง

    การเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำจำเป็นจะต้องควบคู่ไปกับมาตรการที่จะดูแลให้มีการกระจายต้นทุนอย่างเป็นธรรม ยกตัวอย่างเช่น การนำรายได้จากการเก็บภาษีคาร์บอนกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจะช่วยอุดหนุนต้นทุนในการลด บรรเทาผลกระทบต่อสังคมในทางลบ และตัดภาษีที่ก่อให้เกิดการบิดเบือนอื่นๆ ทางด้านแรงงาน การบริโภค หรือผลกำไร

    มาตรการ “สีเขียว” ถูกแซงหน้าโดยกิจกรรม “สีน้ำตาล” ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วภูมิภาค โดยเฉลี่ยแล้วมาตรการฟื้นฟูของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมีเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้นที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ

    ใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศเสริมการดำเนินการที่แข็งแกร่งในระดับประเทศ

    ความร่วมมือระหว่างประเทศในการผลิตและรับรองวัคซีน และผลิตภัณฑ์อื่นสำหรับการดำเนินการอื่นนอกเหนือจากวัคซีน เช่น การตรวจหาเชื้อ และความร่วมมือในการจัดสรรโดยยึดตามความจำเป็น จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดและลดการอุบัติขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่

    การประสานงานระหว่างประเทศจะสามารถขยายผลรวมหมู่ของนโยบายการคลังได้เนื่องจากรัฐบาลต่างๆ มีแนวโน้มที่จะออกมาตรการกระตุ้นน้อยกว่าระดับที่เหมาะสมของโลก

    นอกจากการร่วมมือกันในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ความช่วยเหลือระหว่างประเทศจะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนกว่าสามารถดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศได้เต็มที่มากขึ้นกว่าที่จะสามารถทำได้ด้วยทรัพยากรที่จำกัดของตัวเอง

    “ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าครั้งใดๆ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด พยุงเศรษฐกิจ และฟื้นตัวโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม” อาดิตยา แม็ททู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว “จีนสามารถมีบทบาทสำคัญด้วยการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์มากขึ้น กระตุ้นการบริโภค และดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่หนักแน่นมากขึ้น และจีนเองก็จะได้รับประโยชน์จากโลกที่ปลอดภัยขึ้นและการเติบโตที่สมดุลมากขึ้นด้วย”

    จีนสามารถช่วยผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อโลกทั้งสามอย่างได้

    จีนสามารถมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาด ด้วยการขยายการผลิตและส่งออกอุปกรณ์การตรวจเชื้อ หน้ากากอนามัย และวัคซีน ในการฟื้นฟูระดับโลก ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค และสร้างโลกให้เขียวขึ้น ด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่หนักแน่นมากขึ้น ในแต่ละด้านที่กล่าวมา จีนเองก็จะได้รับประโยชน์เองด้วย จากการเปิดพรมแดนในโลกที่ปลอดภัยขึ้น มีการเติบโตในประเทศที่สมดุลมากขึ้น และลดทอนผลกระทบที่จะเกิดในประเทศจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    รายงาน การฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน เน้นที่การฉีดวัคซีน นโยบายทางการคลังและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สืบเนื่องต่อจากรายงานตามติดเศรษฐกิจในภูมิภาคสองฉบับในปี 2563 ที่พิจารณานโยบายด้านอื่นๆ หกด้านเกี่ยวกับการฟื้นฟูอย่างยืดหยุ่นจากการแพร่ระบาด นั่นคือ การจัดการโควิด-19 อย่างฉลาด การจัดการศึกษาอย่างฉลาด การเพิ่มความคุ้มครองทางสังคม ความช่วยเหลือสำหรับกิจการต่างๆ นโยบายภาคการเงินที่สมดุล การปฏิรูปการค้า