การเติบโตของการจ้างงานมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจากโควิด-19 การเพิ่มผลิตภาพของแรงงานและการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานจะช่วยรับมือกับความท้าทายจากภาวะประชากรผู้สูงอายุ ตามรายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลก
เศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 และประมาณการว่าจะลดลง 6.5% ในปี 2563 ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 4.0% ในปี 2564 จากรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลกฉบับล่าสุด “Restoring Incomes; Recovering Jobs” (การฟื้นฟูรายได้และการจ้างงาน) ที่เผยแพร่ในวันที่ 21 มกราคม 2564
รายงานยังได้เน้นว่าการฟื้นตัวของการจ้างงานอย่างยั่งยืนจะมีสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยกลับมาดีขึ้นในปี 2564 และ 2565
ในปี 2563 อุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และการจำกัดการเดินทางภายในประเทศกดดันการส่งออกสินค้าและบริการ รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชน การส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนคาดการณ์ว่าจะลดลง 18.5% และ 4.4% ตามลำดับ ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนลดลง 1.3% รายได้ที่ลดลงทำให้หลายคนมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ แม้ว่ารัฐบาลได้ดำเนินการค่อนข้างดีในการออกมาตรการช่วยเหลือครัวเรือนและผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตามในปี 2563 คาดการณ์ว่าจะมีประชากรที่เข้าสู่ภาวะยากจนเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านคน ตามเส้นแบ่งความยากจนที่ 5.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ 2554) เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นของโควิด-19
ภาคการเงินสามารถผ่านสถานการณ์โควิดมาได้ แต่ความเปราะบางของธุรกิจและระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น เป็นความเสี่ยงที่สำคัญเพราะระดับหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับสองในเอเชียใต้(ที่ 80.2% ของ GDP ในมีนาคม 2563) และ NPLs ในกลุ่ม SMEs อยู่ในระดับสูง
รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลก “Restoring Incomes; Recovering Jobs” ยังระบุว่า การดำเนินนโยบายของไทยได้สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของกลุ่มเปราะบาง
ประเทศไทยมีการดำเนินนโยบายที่ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทั้งในด้านขนาด ความเร็วและการตั้งเป้าหมายของการตอบสนองทางการคลัง ด้วยมาตรการที่มีวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ครอบคลุมการแจกเงิน การตอบสนองทางการแพทย์ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม มีการริเริ่มโครงการการแจกเงินสดขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนกลุ่มที่เปราะบางซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองจากกลไกความช่วยเหลือทางสังคมที่มีอยู่
มาตรการซอฟต์โลนที่ให้แก่กลุ่ม SMEs ยังดำเนินการได้ไม่มาก การเบิกเงินกู้ยังต่ำกว่าที่คาดและโดยรวมสินเชื่อ SMEs ชะลอตัว
การขาดดุลทางการคลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลเร่งใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัส-19 ต่อครัวเรือนและบริษัท งบประมาณของรัฐบาลขาดดุลเพิ่มเป็น 5.9% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2563 จาก 2.3% ของ GDPในปีงบประมาณ 2562 ขณะที่ภาระหนี้ของรัฐบาลเพิ่มเป็น 49.4% ของ GDP ในเดือนกันยายน 2563
ในปีนี้เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 ครั้งที่สองเมื่อเร็ว ๆ นี้ และการเติบโตทางเศรษฐกิจคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.7% ในปี 2565 อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวยังคงอ่อนไหวต่อความเสี่ยงในด้านลบ ซึ่งอาจมาจากการกลับมาแพร่ระบาดซ้ำของโรค ส่งผลให้การท่องเที่ยวและกิจกรรมภายในประเทศซบเซาต่อเนื่อง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกที่อ่อนแอกว่าคาด อาจนำไปสู่ภาวะชะงักงันทางการค้าและห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ รวมทั้งระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง
เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง จากความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายนอกและในประเทศ หากไทยไม่สามารถควบคุมการระบาดรอบใหม่ได้ดี หรือการติดเชื้อทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นและการแจกจ่ายวัคซีนช้ากว่าที่คาด กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจจะชะงักจากการใช้มาตรการรักษาระยะห่างและล็อกดาวน์ การยุติมาตรการการเงินการคลังก่อนเวลาสมควรจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงด้านลบเพราะความเปราะบางทางการเงิน ความตึงเครียดการค้าโลกที่เพิ่มขึ้นและห่วงโซ่อุปทานที่ขาดตอน และสถานการณ์การเมือง การระบาดของโควิด-19 อาจจะสร้างผลเป็นทางเศรษฐกิจในระยะยาวต่อผลผลิตตามศักยภาพและผลกระทบต่อตลาดแรงงาน
ผลจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มคนวัยรุ่น จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลงทำให้รายได้ต่อเดือนน้อยลง จำนวนชั่วโมงการทำงานยังไม่ฟื้นตัวกลับขึ้นมา และการจ้างงานในหลายๆ ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคการผลิตยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปีก่อนหน้า นั้นหมายความว่าตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะที่เปราะบางต่อความไม่แน่นอนต่างๆ ในอนาคต รวมถึงการกลับมาระบาดซ้ำของโควิด-19
“วิกฤตโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจของวิกฤตครั้งนี้ได้ทำให้เห็นถึงจุดเปราะบางสำคัญของประเทศไทย คือจำนวนคนวัยทำงานที่ลดลง อันเป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายในการฟื้นฟูความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว” นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “การเพิ่มการจ้างงาน ผลิตภาพ และรายได้แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ยากจน เป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน”
ผลจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 2 เท่า จาก 1.0% ในไตรมาสแรกของปี 2562 เป็น 2.0% ในไตรมาส 2 ของปี 2563 เป็นระดับสูงนับตั้งแต่ปี 2552 โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่ตกงานเพิ่มขึ้นมาก
ในไตรมาส 2 ของปี 2563 มีการจ้างงานโดยรวมลดลง 700,000 ตำแหน่งจากปีที่แล้ว และน้อยลง 340,000 ตำแหน่งจากไตรมาสก่อนหน้า
การตกงานกระจายไปทั่วทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคการผลิตและค้าส่งที่การจ้างงานลดลงอย่างมาก ขณะที่ภาคเกษตรช่วยรองรับได้ส่วนหนึ่ง
ชั่วโมงทำงานลดลง 5.7% ในกลุ่มแรงงานชายและลดลง 7.2% ในกลุ่มแรงงานหญิง ในช่วงระหว่างไตรมาสแรกและไตรมาสสองของปี 2563 สะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของแรงงานที่ไม่มีชัาวโมงทำงานเลย และการเพิ่มขึ้นของแรงงานที่ทำด้วยชั่วโมงทำงานที่ต่ำกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ชั่วโมงทำงานที่ลดลงและการปรับตัวด้านอื่นใตลาดแรงงาน ส่งผลให้ค่าจ้างรายเดือนเฉลี่ยในภาคเอกชนลดลง 5.4%ในภาคเกษตรและ 1.9% นอกภาคเกษตร
ในไตรมาส 3 ผลกระทบบางส่วนได้ลดลง อัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 และนายจ้างได้จ้างงานเพิ่มขึ้นราว 850,000 ตำแหน่ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และแนวโน้มยังเพิ่มขึ้นในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสสุดท้ายของปี
อย่างไรก็ตามอัตราการว่างงานยังเพิ่มขึ้นในสิ้นปี 2563 ชั่วโมงทำงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และหลายภาคธุรกิจทั้งการผลิตยังน้อยกว่าปีก่อนหน้า
จำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของไทยแสดงให้เห็นว่า สัดส่วนประชากรวัยทำงานจะลดลง และจะฉุดการเติบโตของ GDP ต่อหัวลง 0.86%ในทศวรรษนี้
เพื่อให้การฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 มีความยั่งยืน ภายใต้ภาวะที่ประชากรสูงวัยของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องสร้างงานที่ดีในภาคส่วนที่มีผลผลิตสูงซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานความรู้ที่เริ่มขึ้น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการเพิ่มการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของประชากรสูงวัยและผู้หญิงสามารถรองรับผลกระทบเชิงลบของประชากรสูงวัยได้
รายงานยังแนะนำว่าในระยะสั้น รัฐบาลต้องจัดให้มีโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะของแรงงานและให้ความช่วยเหลือทางการเงินเมื่อแรงงานกลับไปทำงาน สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องพยายามทำอย่างต่อเนื่องคือการทำให้มั่นใจว่าการให้ความรู้และการฝึกอบรมสอดคล้องกับความต้องการของผู้จ้าง
การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ ไทยอาจต้องให้ความสำคัญกับนโยบายการรักษาการจ้างงาน เช่น การอุดหนุนค่าจ้างเพื่อให้คนงานยังมีงานทำ และนโยบายการสร้างงานซึ่งจะช่วยชดเชยชั่วโมงการทำงานที่ลดลง
ในระยะยาวรัฐบาล 1) สามารถเพิ่มการจ้างงานในภาคการดูแล โดยเฉพาะในตลาดที่มีการพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งต้องใช้ทั้งแรงงานที่มีทักษะต่ำและผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรม 2)ทำให้การดูแลเด็กเข้าถึงมากยิ่งขึ้น และลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเพิ่มการจ้างงานของแรงงานผู้หญิง 3)สร้างระบบการพัฒนาบุคลากรที่ขับเคลื่อนด้วยความต้องการและมุ่งเน้นผลลัพธ์มากขึ้น โดยการปรับปรุงหลักสูตรการฝึกอบรมทักษะและปรับปรุงบริการจัดหางานให้ทันสมัย 4)รายงานนี้ยังแนะนำให้ขยายอายุเกษียณออกไปและให้วางแผนโครงการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานและให้มีการจัดระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อยืดอายุการทำงานให้กับผู้สูงวัยอีกด้วย
“การลดลงของประชากรวัยทำงานจะทำให้อุปทานแรงงานและผลผลิตทางเศรษฐกิจลดลงในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องสร้างตำแหน่งงานที่มีคุณภาพในภาคส่วนที่มีผลิตภาพสูงซึ่งสัมพันธ์กับเศรษฐกิจแห่งความรู้ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย การดำเนินนโยบายเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้สูงอายุและสตรีสามารถช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็เป็นการรับมือกับความท้าทายที่มาพร้อมกับภาวะประชากรสูงวัยด้วย” นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว