ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯปัดลงพื้นที่วัดพลัง “บิ๊กป้อม” ชี้สื่อโซเชียลสร้างข่าว-มติ ครม.ผ่านแผนบริหารหนี้ฯปีหน้ากู้เพิ่ม 1.34 ล้านล้าน

นายกฯปัดลงพื้นที่วัดพลัง “บิ๊กป้อม” ชี้สื่อโซเชียลสร้างข่าว-มติ ครม.ผ่านแผนบริหารหนี้ฯปีหน้ากู้เพิ่ม 1.34 ล้านล้าน

28 กันยายน 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯ ปัดลงพื้นที่วัดพลัง “บิ๊กป้อม” ชี้สื่อโซเชียลสร้างข่าว-ไม่หวั่นฝ่ายค้านตีความ กม. ห้ามนั่งนายกฯ เกิน 8 ปี ไล่ไปดู รธน. ที่มานายกฯ 2 สมัย-มติ ครม. ไฟเขียวแผนบริหารหนี้สาธารณะปี’65 กู้เพิ่ม 1.34 ล้านล้าน

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. วันนี้นายกรัฐมนตรีไม่แถลงข่าว แต่ได้มอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

ดร.ธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วม และขอให้คณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ให้กำลังใจพี่น้องประชาชน รวมทั้งดูแลเรื่องการประกอบอาชีพ ซึ่งรัฐบาลเตรียมงบประมาณรองรับแล้ว ส่วนการบริหารจัดการน้ำฝนจะเน้นรอการระบายน้ำลงทะเล โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนประชาชน เพื่อเตรียมแผนการอพยพ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าลดความยากจนด้วยการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของไทย เพื่อให้เกิดรูปแบบทำมาหากิน สร้างอาชีพ เช่น ฟ้าทะลายโจร กระท่อม กัญชา ตั้งแต่ต้นทาง คือ การผลิต กลางทาง คือ การแปรรูป และสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการนำไปใช้โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชน

นอกจากนี้ ดร.ธนกรกล่าวต่อว่า หลังจากประชุม ครม. วันนี้ ได้มีการเปิดเพลงชาติไทย และนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งหมดได้ลุกขึ้นยืนและรองเพลงชาติไปด้วยกัน เนื่องจากวันที่ 28 กันยายน 2564 เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 กันยายน 2559

ปัดลงพื้นที่วัดพลัง “บิ๊กป้อม” ชี้สื่อโซเชียลปั้นข่าว-สร้างดราม่า

สำหรับคำถามจากสื่อมวลชนที่ว่าการลงพื้นที่ของพล.อ. ประยุทธ์ และ พล.อ. ประวิตร มีกลุ่มการเมืองพยายามสร้างกระแสว่าเป็นการวัดกำลังกันเอง ประเด็นนี้ ดร.ธนกรกล่าวตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีว่า “สื่อโซเชียลพยายามสร้างข่าว สร้างดราม่ากันไปเรื่อยๆ อย่าไปสนใจนัก ไม่ได้มีการแสดงพลังแต่อย่างใด เป็นหน้าที่ของนายกฯ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดในการตรวจเยี่ยม ให้ความเห็น กำชับส่วนราชการ”

ดร.ธนกรกล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ไม่ว่าไปวันเดียวกันหรือคนละวัน เป็นเรื่องของเวลาที่ทุกคนมีแตกต่างกัน แต่ทุกคนต้องลงไปเยี่ยมประชาชน โดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วม

ขณะเดียวกันก็มีคำถามว่า การเดินสายของ พล.อ. ประยุทธ์ และ พล.อ. อนุพงษ์ คือการเช็คฐานเสียง เพื่อเตรียมไปเล่นการเมืองกับพรรคของ “ปลัดฉิ่ง” (นายฉัตรชัย พรหมเลิศ) แทนพรรคพลังประชารัฐ โดย ดร.ธนกรกล่าวว่า “เป็นเรื่องที่สื่อโซเชียลคิดขึ้นมาเอง การเดินสายเป็นเรื่องที่เข้าไปดูความต้องการพัฒนาจังหวัดและท้องถิ่น”

สั่ง ททท. ยกเลิกคอนเสิร์ต “THAILAND SHA SHA SHA”

ส่วนกรณีที่มีข่าวการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ใช้งบฯ 16 ล้านบาท จัดกิจกรรมมินิคอนเสิร์ต “THAILAND SHA SHA SHA” ขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ช่วงวันที่ 24 กันยายน – 3 ตุลาคม 2564 โดยอ้างเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว และขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดกระแสคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ ในประเด็นนี้ ดร.ธนกรตอบคำถามแทนนายกฯ ว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ชี้แจงในที่ประชุม ครม. แล้ว และสั่งยกเลิกกิจกรรมดังกล่าวไปจนกว่าสถานการณ์จะเหมาะสม”

ไม่หวั่นฝ่ายค้านตีความ รธน.-ห้ามนั่งนายกฯ เกิน 8 ปี

ส่วนกรณีฝ่ายค้านอ้างถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4 ที่ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่” นายกฯ มีความเห็นอย่างไรต่อประเด็นนี้ ดร.ธนกรชี้แจงแทนนายกฯ ว่า “ต้องไปศึกษาดูว่านายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง 2 ครั้ง ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใด ซึ่งรัฐบาลมีฝ่ายกฎหมายพิจารณาเรื่องนี้อยู่แล้ว”

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ:
www.thaigov.go.th/

สั่งซื้อ “แอสตร้าฯ ” สเปนเพิ่ม รวมส่งมอบต้น ต.ค. กว่า 6 แสนโดส

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (ครม.) มีมติเห็นชอบให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แอสตร้าเซนเนก้าจากราชอาณาจักรสเปนเพิ่มเติม จำนวน 165,000 โดส จากเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ให้กรมควบคุมโรคจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากราชอาณาจักรสเปน จำนวน 449,500 โดส รวมทั้งสิ้น จำนวน 614,500 โดส

โดย ครม. เห็นชอบให้กรมควบคุมโรค เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของแอสตร้าเซนเนก้าจากราชอาณาจักรสเปนเพิ่มเติม และอนุมัติให้ รมว.สธ. เป็นผู้มีอำนาจลงนามใน Schedule II to Tripartite Agreement: Form of Doses Offer Notice

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สเปนจะกำหนดส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้ง 2 ชุด ในภายในต้นเดือนตุลาคม 2564 นี้ โดยการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากสเปนเพิ่มเติม เป็นความก้าวหน้าในการเจรจาจัดซื้อวัคซีนจากประเทศในสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ประเทศไทยยังได้มีการเจรจาจัดซื้อ/รับบริจาควัคซีนอื่นๆ เพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อให้เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนของประเทศไทยเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564

ผ่านแผนจัดซื้อวัคซีน “แอสตร้าฯ ” ปี ’65 อีก 60 ล้านโดส

ดร.ธนกรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 สำหรับปี 2565 จากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และเห็นชอบการลงนามในสัญญาซื้อระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า โดยอนุมัติให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาดังกล่าว

“ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ที่มีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก จึงถือเป็นวาระสำคัญของชาติที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน รวมทั้งความจำเป็นเร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม สำหรับปี 2565 โดยมีแผนการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในปี 2565 ภายในไตรมาสแรก จำนวน 15 ล้านโดส ไตรมาสที่สอง จำนวน 30 ล้านโดส และไตรมาสที่สาม จำนวน 15 ล้านโดส” นายธนกร กล่าว

ไฟเขียวแผนบริหารหนี้สาธารณะปี ’65 กู้เพิ่ม 1.34 ล้านล้าน

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งประกอบด้วย 1. แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 1,344,783.84 ล้านบาท 2. แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,505,369.64 ล้านบาท และ 3. แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 339,291.87 ล้านบาท

แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 เป็นกรอบในการกู้เงินสำหรับรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์ในการกู้เงิน ประกอบด้วย (1) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ (2) การกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามมาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี (3) การกู้เงินภายใต้แผนงานตาม พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (4) การกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงการต่างๆ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า เป็นต้น (5) การกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องของรัฐวิสาหกิจ และ (6) การกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้และการชำระหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ

การคาดการณ์หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะนี้ จะอยู่ที่ร้อยละ 62.69 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 70 ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะกรอบใหม่ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่า การลงทุนในแผนงานโครงการต่างๆ ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลาย

ขยายเวลาขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้อง-ทำงานต่อได้ถึง ก.พ. 2566

ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อสนับสนุนการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ 1) แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติผิดกฎหมาย ไม่ได้ขออนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย 2) แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่ดำเนินการขออนุญาตทำงานตามมติ 29 ธันวาคม 2563 แต่กระบวนการยังไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการตามแนวทางดังนี้

1. กลุ่มแรงงานผิดกฎหมายที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและให้ทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องดำเนินการดังนี้

    1.1 นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะสามารถทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2566

    1.2 ให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานแล้ว ต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือประกันสุขภาพ ตรวจโรคต้องห้าม และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 หากไม่ดำเนินการดังกล่าว การอนุญาตทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรจะสิ้นสุดลง

    1.3 เมื่อแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือประกันสุขภาพ ตรวจโรคต้องห้าม และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแล้ว ให้ดำเนินการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ซึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 หากไม่ดำเนินการจะอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึง 1 สิงหาคม 2565

2. กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 แล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยรัฐขยายระยะเวลาการยื่นคำขออนุญาตทำงาน จากภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เป็นภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 เพื่อให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 หากแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าว ต้องการจะทำงานในราชอาณาจักรได้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ต้องดำเนินการตรวจโรค ต้องห้ามภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 และปรับปรุงทะเบียนประวัติภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565

ผ่านร่าง กม.เวนคืนที่ดิน สร้างสะพานเกียกกาย

ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงจตุจักร แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ดังกล่าวในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย เชื่อมต่อกับการสร้างและขยายถนน เพื่อแก้ปัญหาการจราจร โดยให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำการสำรวจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนให้ถูกต้องและชัดเจน ซึ่งที่ดินที่จะเวนคืนมีส่วนแคบที่สุด 50 เมตร และส่วนที่กว้างที่สุด 1,250 เมตร ลักษณะของโครงการเป็นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกายตามแนวถนนทหาร ซึ่งกรุงเทพมหานครพิจารณาแล้วเห็นว่า มีความเหมาะสมและเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด พร้อมทั้งได้ปรับรูปแบบสะพานเกียกกายไม่ให้กระทบพื้นที่รัฐสภาแห่งใหม่ สะพานมีความยาว 320 เมตร 6 ช่องจราจร เชื่อมต่อฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร

ในการดำเนินงานที่ผ่านมา กทม. ได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่แล้วรวม 4 ครั้ง พร้อมจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในกรณีพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ในระยะทาง 2 กิโลเมตรเรียบร้อยแล้ว

ดร.รัชดากล่าวต่อว่า เมื่อสะพานเกียกกายและถนนเชื่อมต่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับปริมาณการสัญจรที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่โดยรอบรัฐสถาแห่งใหม่ได้ประมาณ 1 แสนคันต่อวัน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรและเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายเส้นทางคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนบน

อนุมัติลงนามความร่วมมือด้านการศึกษา “ไทย-ฟินแลนด์”

ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ ซึ่งจะมีการลงนามในเดือนกันยายนนี้ ที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือระหว่างคู่ภาคีในด้านการศึกษาบนพื้นฐานของประโยชน์ร่วมกัน ดำเนินการภายใต้ 4 สาขาความร่วมมือที่สนใจร่วมกันคือ

    1) การศึกษาในระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา
    2) การศึกษาและการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา
    3) การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ
    4) การฝึกอบรมสาหรับครูและหรือผู้บริหารสถานศึกษาใน โรงเรียนและการฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษา

ซึ่งจะขับเคลื่อนผ่าน 6 รูปแบบความร่วมมือ ได้แก่ 1) แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรการศึกษา 2) ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านการพัฒนาการรู้หนังสือ ทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต การศึกษาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาด้านเกษตรกรรม พลศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต 3) ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านการพัฒนาทักษะวิชาชีพและการทำงาน ตลอดจนทักษะการจัดการทางการศึกษาสำหรับครู ผู้อำนวยการ และบุคลากรทางการศึกษา 4) แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านระบบการประเมินผล 5) แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัยทางการศึกษาและสนับสนุนความร่วมมือในการวิจัยร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และ 6) คู่ภาคีอาจตัดสินใจร่วมกันเกี่ยวกับความร่วมมือในสาขาอื่นๆ ได้ ในส่วนของงบประมาณนั้น แต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบจัดหาเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมของตนเอง

ต่อระยะเวลารับนักท่องเที่ยวกลุ่ม STV อีก 1 ปี

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบขยายระยะเวลาการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ต่อไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันนายน 2564 นี้ ไปสิ้นสุด 30 กันยายน 2565 ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ

โดยมีสาระสำคัญเป็นการอนุมัติประกาศกระทรวงมหาดไทย 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ Special Tourist Visa (STV) และ เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษ เข้ามาท่องเที่ยวโดยเรือสำราญและกีฬา (เรือยอชต์)

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า การขยายระยะเวลาโครงการนี้จะสนับสนุนให้คนต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง ที่มีความประสงค์เดินทางมาพร้อมครอบครัวเพื่อพำนักในประเทศไทยระยะยาว (long stay) ตั้งแต่ 90-270 วัน เข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เกิดการสร้างงาน อาชีพ รายได้ มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานว่า ผลการดำเนินงานในระยะ 1 ปีที่ผ่านมามีกลุ่มนักท่องเที่ยวมีศักยภาพและกลุ่ม long stay เดินทางเข้ามาประเทศไทยผ่านแนวทาง STV จำนวน 5,609 ราย สร้างรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 1,243 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สเปนและโครเอเชีย

จังหวัดที่นักท่องเที่ยวเดินทางหลังกักตัวมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) ภูเก็ต อุดรธานี ชลบุรี (พัทยา) ปทุมธานี นนทบุรี เชียงใหม่ และระยอง โดยส่วนใหญ่พำนักในประเทศไทยเฉลี่ย 90 วัน

ไฟเขียว รฟท. กู้เสริมสภาพคล่องปีหน้า 13,500 ล้าน

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการกู้เงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกอบด้วย เงินกู้เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 13,500 ล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) วงเงิน 800 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการคัดเลือกสถาบันการเงินด้วยวิธีขอเจรจาต่ออายุสัญญากู้เงิน ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมรายงานว่า รฟท. ประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 รฟท. คาดการณ์ว่าจะมีเงินสดรับ 60,965.26 ล้านบาท และเงินสดจ่าย 74,565.26 ล้านบาท โดยมีเงินสดยกมาจากปี 2564 จำนวน 100 ล้านบาท ส่งผลให้ รฟท. ขาดเงินสดไว้ใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 13,500 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องกู้เงินในจำนวนดังกล่าว เพื่อให้มีเงินสดหมุนเวียนในการใช้จ่ายดำเนินงาน การลงทุน การจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ และการชำระหนี้เงินกู้ โดย รฟท. คาดว่าจะเริ่มขาดเงินในช่วงเดือนตุลาคม 2564

นอกจากนี้ รฟท. มีความจำเป็นต้องกู้เงินระยะสั้น เพื่อให้มีวงเงินสำรองไว้ใช้เสริมสภาพคล่อง โดยทำสัญญาเงินกู้ระยะสั้น วงเงิน 800 ล้านบาท ด้วยวิธีการขอเจรจาต่ออายุสัญญาเงินกู้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตามเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้เดิม

ยกเลิกพื้นที่สัมปทานแหล่งหินอุตสาหกรรมภาคใต้

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการยกเลิกพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และจัดตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ในภาคใต้ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2538 ซึ่งมติ ครม. ครั้งนั้นได้อนุมัติให้จำแนกพื้นที่แหล่งปูนซีเมนต์เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในเขตภาคใต้ โดยกำหนดพื้นที่ศักยภาพแหล่งหินปูนจำนวน 8 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สตูล สุราษฎร์ธานี และพังงา โดยได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้สิทธิทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และจัดตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ในภาคใต้ พร้อมเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจร่วมลงทุนยื่นขอสิทธิทำเหมืองแร่ โดยผู้ที่ได้รับสิทธิทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม คือ บริษัทปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ตาม ต่อมากรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งว่า จะดำเนินการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ทางบริษัทได้ยื่นคำขอประทานบัตร และจัดตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ไว้ ทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงมีหนังสือถึงกรมอุทยานฯ ขอให้พิจารณากันเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรและพื้นที่ที่บริษัทจะตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ออกจากพื้นที่ที่จะเตรียมประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากเป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมที่มีสัญญาผูกพันไว้กับภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้แจ้งว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีศักยภาพที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติได้ ขณะที่ราษฎรในพื้นที่ตำบลปากแพรกได้คัดค้านการขอประทานบัตร รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลควนทอง ไม่เห็นด้วยที่จะมีการทำเหมืองแร่

ทั้งนี้ต่อมาบริษัทบริษัทปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือแสดงความจำนงระบุว่า บริษัทไม่ขัดข้องที่จะให้ความร่วมมือโดยจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากการดำเนินโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน โดยขอคืนหนังสือค้ำประกันธนาคารที่ให้ไว้เพื่อเป็นการยุติสัญญาต่อกันโดยสมบูรณ์ โดยที่ทั้งภาครัฐและบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบในทางลบใดๆ จากการยกเลิกสัญญานี้ โดยบริษัทยังไม่ได้เริ่มดำเนินการโครงการใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าว

เปิดเครดิตไลน์ให้ กฟภ. กู้เสริมสภาพคล่อง 3 ปี 5,000 ล้าน

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบกรอบวงเงินกู้เงินระยะสั้น (credit line) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 5,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้ กฟภ. สามารถบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า กฟภ.มีบทบาทสำคัญในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจคิดเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้นประมาณ 22,815.30 ล้านบาท ส่งผลให้ กฟภ. มีแนวโน้มขาดสภาพคล่องจากการที่ไม่สามารถติดตามจัดเก็บค่าไฟฟ้าได้ ซึ่งจากประมาณการเงินสดประจำปี 2563-2565 ในช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2564 พบว่า กฟภ. มีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 5,325.16-7,946.44 ล้านบาท

ขณะที่ กฟภ. มีลูกหนี้ค่าไฟฟ้าค้างสะสม ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 รวมเป็นเงินประมาณ 42,427.59 ล้านบาท แยกเป็นส่วนราชการ 4,411.64 ล้านบาท, เอกชนรายใหญ่ 25,230.99 ล้านบาท และเอกชนรายย่อย 12,784.96 ล้านบาท

รับทราบผลการเจรจาเปิดเส้นทางการบิน “ไทย-คาซัคสถาน”

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทยกับคาซัคสถาน โดยได้รับทราบบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-คาซัคสถาน พร้อมให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของฝ่ายไทย และมอบให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูต ยืนยันการมีผลใช้บังคับของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป

โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้คือ การทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน ในลักษณะดังนี้คือ ร่วมกันกับสายการบินระหว่างคู่ภาคี, ร่วมกันกับสายการบินของประเทศที่สาม หรือ ร่วมกันกับสายการบินของภาคีคู่สัญญาเดียวกันได้ โดยการนับหักสิทธิความจุความถี่จะหักจากสิทธิของประเทศที่กำหนดสายการบินผู้ดำเนินบริการเท่านั้น (operating airline)

สำหรับใบพิกัดเส้นทางบิน สายการบินที่กำหนดของแต่ละฝ่ายสามารถทำการบินตามเส้นทางบินดังต่อไปนี้ สำหรับไทยจุดใดๆ ในไทย ได้แก่ จุดระหว่างทาง 2 จุดที่จะตกลงกัน – อัลมาตี อัสตานา คารากานดี ซิมเคนท์ และจุดในคาซัคสถานอีก 2 จุดที่จะตกลงกัน – จุดพ้น 2 จุดที่จะตกลงกัน ส่วนคาซัคสถานจุดใดๆ ในคาซัคสถาน ได้แก่ จุดระหว่างทาง 2 จุดที่จะตกลงกัน – กรุงเทพ ภูเก็ต อู่ตะเภา กระบี่ และจุดในไทยอีก 2 จุด ที่จะตกลงกัน – จุดพ้น 2 จุดที่จะตกลงกัน

ส่วนการแต่งตั้งสายการบินที่กำหนดนั้น แต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะกำหนดสายการบินสายหนึ่ง หรือหลายสาย เพื่อดำเนินบริการที่ตกลง ด้านความจุความถี่นั้นมีดังนี้ กรุงเทพ-อัลมาตี : 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ กรุงเทพ- อัสตานา : 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และช่วงเส้นทางอื่นใด : 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ต่อช่วงเส้นทาง

ขณะที่พิกัดอัตราค่าขนส่ง สายการบินจะต้องกำหนดพิกัดอัตราค่าขนส่งโดยตั้งอยู่บนข้อพิจารณาหรือปัจจัยต่างๆ ทางการค้าในตลาดระดับที่สมเหตุสมผล โดยสายการบินไม่ต้องขอใช้อัตราค่าขนส่งที่ตนเองกำหนดต่อเจ้าหน้าที่การเดินอากาศของภาคีคู่สัญญาอีกฝ่าย

ทั้งนี้ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีสิทธิแทรกแซงการกำหนดอัตราค่าขนส่งของอีกฝ่ายได้ เมื่อพบการกำหนดค่าขนส่งที่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการแข่งขันในตลาด โดยการแจ้งภาคีคู่สัญญาทราบถึงเหตุผลความไม่พอใจ และจัดให้มีการปรึกษาหารือกัน
ขณะที่ความปลอดภัยด้านการบินนั้น แต่ละประเทศสามารถปรึกษาหารือ และตรวจสอบอีกฝ่ายเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยในการทำการบิน ทั้งในส่วนของอากาศยาน ลูกเรือ รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้อง

โดยประโยชน์ที่จะได้รับจากผลการเจรจาดังกล่าวนั้น การปรับปรุงสิทธิการบินและข้อบทภายใต้ความตกลงฯ ที่เสนอมาในครั้งนี้เป็นการสนับสนุนให้ปฏิบัติการการบินของทั้งสองฝ่ายมีความคล่องตัว และยืดหยุ่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางแผนการตลาดและการให้บริการของสายการบินเกิดความคุ้มทุนมากขึ้น โดยสายการบินทั้งสองฝ่ายสามารถทำความร่วมมือในการใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันเพื่อขยายเครือข่ายทางการบิน และเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้โดยสารมากขึ้น

เป็นประโยชน์ต่อสายการบินของทั้งสองฝ่ายและต่อทั้งสองประเทศในด้านต่างๆ เช่น การขนส่งผู้โดยสาร ธุรกิจการขนส่งสินค้า อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การค้า และการบริการระหว่างกัน และยังเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ทั้งในระดับสายการบินและระดับรัฐบาลของทั้งสองประเทศต่อไป

จัดงบกลาง 3,810 ล้าน ช่วยกรมราชทัณฑ์เคลียร์หนี้ค่าอาหาร

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,810 ล้านบาท ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เนื่องจากค่าวัสดุอาหารไม่เพียงพอ

โดยกระทรวงยุติธรรมระบุว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ไม่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายจริง ทำให้ยังคงมีหนี้ค่าวัสดุอาหารผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักขัง และผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ จำนวน 3,810 ล้านบาท ซึ่งการมีหนี้ค้างชำระดังกล่าวเป็นเวลานานจะสร้างความเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจกับผู้ขาย ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของส่วนราชการ

ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์ได้จัดทำคำขอตั้งงบประมาณรายการค่าวัสดุอาหาร ปีงบประมาณ 2564 จากฐานผู้ต้องขังจำนวน 300,000 คน แต่ได้รับจัดสรรโดยคำนวณจากฐานผู้ต้องขัง 223,300 คน และค่าวัสดุอาหารผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์จากฐานจำนวน 4,000 คน แต่ได้รับการจัดสรรจากฐาน 2,500 คน โดยในปี 2564 มีจำนวนผู้ต้องขังเฉลี่ยตลอดปีงบประมาณจำนวน 328,344 คน และผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์จำนวน 3,355 คน ซึ่งมากกว่าฐานที่ใช้ในการคำนวณในการจัดสรรงบประมาณ ประกอบกับได้มีการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายเป็นค่าวัสดุอาหารผู้ต้องขังค้างชำระ ปีงบประมาณ 2563 จึงคงเหลืองบประมาณเพื่อเบิกจ่ายค่าวัสดุอาหารผู้ต้องขังปีงบประมาณ 2564 ไม่เพียงพอ จำนวน 3,810 ล้านบาท

ปรับเกณฑ์ปล่อยกู้ช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พร้อมอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับดำเนินโครงการ 135 ล้านบาท

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ปรับปรุง ได้แก่ วัตถุประสงค์การกู้ ให้ครอบคลุมถึงการลงทุน ขยายและปรับปรุงกิจการ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ จากเดิมที่จะให้สินเชื่อเฉพาะการเสริมสภาพคล่องเท่านั้น โดยปรับปรุงระยะเวลาการกู้จากเดิมไม่เกิน 5 ปี เป็น ไม่เกิน 10 ปี โดยปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 2 ปี โดยให้รวมถึงลูกหนี้ที่ได้รับสินเชื่อไปก่อนมีการปรับปรุงรายละเอียดครั้งนี้ด้วย โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ดำเนินโครงการจะประสานติดต่อลูกหนี้ เพื่อดำเนินตามขั้นตอนต่อไป

ปรับปรุงเงื่อนไขการชดเชยของรัฐบาล ที่จะชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ร้อยละ 100 สำหรับ NPL ไม่เกินร้อยละ 40 ของวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ จากเดิมที่กำหนดชดเชยร้อยละ 100 สำหรับกรณี NPL ไม่เกินร้อยละ 25 และชดเชยร้อยละ 50 กรณี NPL เกินร้อยละ 25 แต่ไม่กินร้อยละ 40

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า การปรับปรุงเกณฑ์และเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยและเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และสามารถช่วยแบ่งเบาภาระการผ่อนชำระหนี้เพื่อประคับประคองการฟื้นฟูธุรกิจให้สามารถดำเนินการได้ต่อไป รวมถึงช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานว่าโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 ซึ่ง ณ วันที่ 24 ส.ค. 2564 ธพว. ได้อนุมัติสินเชื่อตามโครงการแล้ว 4,639 ราย เป็นเงิน 8,008 ราย จากวงเงินทั้งโครงการ 10,000 ล้านบาท มีวงเงินคงเหลือ 1,992 ล้านบาท

ตั้ง “ปิยวัฒน์ ศิวรักษ์” นั่งเลขาธิการ ก.พ.

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้ง วันที่ 28 กันยายน 2564 ดังนี้

1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงคมนาคม)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นายทวี แสงสุวรรณโณ ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและออกแบบ) (วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ) กรมทางหลวงชนบท ให้ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและออกแบบ) (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายสุวิช ธรรมปาโล นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอแต่งตั้ง นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ รองเลขาธิการ ก.พ. สำนักงาน ก.พ. ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. สำนักงาน ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

4. เรื่อง การให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอให้ นายเหรียญชัย ลิขิตพฤกษ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งหนึ่งปี ในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 คงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2564

5. เรื่อง การอนุมัติองค์ประกอบคณะกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาไทย – อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ประจำปี 2564 – 2565

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติองค์ประกอบคณะกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาไทย – อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ประจำปี 2564 – 2565 จำนวน 7 คน โดยให้คงองค์ประกอบเดิมของคณะกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาไทย – อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ประจำปี 2562 – 2563 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้

    1. นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี (ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ) ประธานกรรมการ
    2. อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ หรือผู้แทน กรรมการ
    3. อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศหรือผู้แทน กรรมการ
    4. ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ
    5. ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรรมการ
    6. นายพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล [รองอธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์และที่ปรึกษาบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)] กรรมการ
    7. นายกสมาคมฟุลไบรท์ไทย กรรมการ

6. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ดังรายชื่อต่อไปนี้
1. ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

    1.1 นายดนุชา พิชยนันนท์
    1.2 นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์
    1.3 นายอนันต์ แก้วกำเนิด
    1.4 นายวันชัย พนมชัย
    1.5 ศาสตราจารย์บรรจง มไหสวริยะ
    1.6 รองศาสตราจารย์สมหมาย ผิวสอาด
    1.7 ศาสตราจารย์ปิยะมิตร ศรีธรา
    1.8 นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์
    1.9 ศาสตราจารย์ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช
    1.10 ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล

2. ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่ข้าราชการ

    2.1 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี
    2.2 นายกลินท์ สารสิน
    2.3 รองศาสตราจารย์สุธรรม อยู่ในธรรม
    2.4 นายสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ
    2.5 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
    2.6 ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์
    2.7 นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช
    2.8 รองศาสตราจารย์วีระพงษ์ แพสุวรรณ
    2.9 นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส
    2.10 นายทศพร ศิริสัมพันธ์

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติและไม่ก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

7. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอการแต่งตั้ง นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร (นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับทรงคุณวุฒิ) กลุ่มที่ปรึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

8. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไท

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดังนี้

    1. นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรรมการ
    2. รองศาสตราจารย์ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย กรรมการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2564 เป็นต้นไป

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 28 กันยายน 2564 เพิ่มเติม