ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ มอบ “วิษณุ” ดูตีความวาระ 8 ปี-มติ ครม. แจกนายจ้าง 3,000 บาท 3 เดือน พยุงจ้างงาน 5 ล้านคน

นายกฯ มอบ “วิษณุ” ดูตีความวาระ 8 ปี-มติ ครม. แจกนายจ้าง 3,000 บาท 3 เดือน พยุงจ้างงาน 5 ล้านคน

5 ตุลาคม 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯ ไม่ปรับ ครม. ขอลุยแก้โควิดฯ-น้ำท่วม-ยากจน-มอบ “วิษณุ” ดูปมตีความวาระ 8 ปี-ขอบคุณ พปชร. เสนอชื่อชิงนายกฯ สมัยหน้า-มติ ครม. แจกนายจ้าง 3,000 บาท 3 เดือน พยุงจ้างงานกว่า 5 ล้านคน-เยียวยาเด็กเล็กคนละ 2,000 บาท กว่า 6.6 แสนราย-กำหนดโควตานำเข้ามะพร้าว เกิน 311,235 ตัน เสียภาษี 72%

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

ยันไม่ปรับ ครม. ขอลุยแก้โควิดฯ-น้ำท่วม-ยากจน

ดร.ธนกรกล่าวถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมว่า รัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำตลอดเวลา ขณะนี้รัฐบาลเร่งระบายน้ำจากภาคเหนือ และภาคกลางออกไปทางฝั่งตะวันตก-ตะวันออก และทุ่งรับน้ำต่างๆ และขอบคุณรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี และ ส.ส. ทุกคนที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการที่จะลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ร่วมกับนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อติดตามความพร้อม และแผนการรับมือบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งยังมีตรวจเยี่ยมศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลมะม่วงสองต้น จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นชุมชนที่ใช้เทคโนโลยีต่อยอดมูลค่าผลผลิตของชุมชน และไปเยี่ยมชมโครงการเน็ตประชารัฐในเวลาต่อมา

ดร.ธนกรกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปจัดทำ ‘แซนด์บ็อกซ์ ปศุสัตว์’ โดยเฉพาะการกำหนดพื้นที่กลุ่มสมาชิก โดยรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี รัฐบาลยังทำงานร่วมกันตามปกติ เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 น้ำท่วมและความยากจน

มอบ “วิษณุ” ดูปมตีความวาระนายกฯ 8 ปี

ถามถึงประเด็นที่ฝ่ายค้านเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม 2565 ดร.ธนกรชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมาย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และฝ่ายกฎหมาย เป็นผู้พิจารณาว่าควรดำเนินอย่างไรต่อไป

ขอบคุณ พปชร. เสนอชื่อชิงนายกฯสมัยหน้า

ส่วนคำถามว่า นายกรัฐมนตรีเต็มใจให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกอีกครั้งหรือไม่ ดร.ธนกรตอบแทนนายกรัฐมนตรีว่า “ขอบคุณที่พรรคพลังประชารัฐให้ความไว้วางใจ ขึ้นกับประชาชนว่าจะคิดอย่างไรกับการเลือกตั้งครั้งหน้า”

ถามถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งกิจกรรมรำลึกและบนท้องถนนที่จะจัดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ว่าจะมีความเข้มงวดเป็นพิเศษหรือไม่ ประเด็นนี้ ดร.ธนกรตอบว่า “ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย”

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังชี้แจงประเด็นความขัดแย้งระหว่างจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มีการมอบสิทธิในกระทรวงให้พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ แทน โดยดร.ธนกรชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด และพิจารณาดำเนินการแล้ว

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

มอบกรมควบคุมโรคซื้อ ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ จากฮังการี 400,000 โดส

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ของแอสตร้าเซนเนก้าจากฮังการี จำนวน 400,000 โดส พร้อมอนุมัติให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ลงนามในร่าง Bilateral Agreement ระหว่างฮังการีกับไทย และร่าง Tripartite Agreement ระหว่างฮังการี ไทย และแอสตร้าเซนเนก้า

ดรธนกร กล่าวว่า การจัดซื้อวัคซีนจากฮังการีจะมีการลงนามในร่าง Bilateral Agreement ระหว่างฮังการีและไทย สาระสำคัญของร่างประกอบไปด้วย 1) การขนส่งวัคซีน 2) กรรมสิทธิ์และความเสี่ยง 3) การรักษาความลับ 4) กฎหมายที่ใช้บังคับและการยุติข้อพิพาท และ 5) Indirect taxes/VAT มีการลงนามและร่าง Tripartite Agreement ระหว่างฮังการี ไทย และแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งจะใช้ร่างเอกสารแบบเดียวกันที่ไทยจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากราชอาณาจักรสเปนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 โดยมีสาระสำคัญ 1) Indirect taxes/VAT 2) การส่งมอบ และ 3) กฎหมายที่ใช้บังคับ

“การจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมเป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครบ 126.2 ล้านโดส มั่นใจว่าปีนี้จะสามารถฉีดวัคซีนให้ได้อย่างร้อยละ 70 ของประชากรกลุ่มเป้าหมายภายในเดือนธันวาคม 2564 โดยในวันพรุ่งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะร่วมงานฉีดวัคซีน Pfizer ให้กับเด็ก/เยาวชน ที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี กรุงเทพมหานคร เพื่อเร่งสร้างความมั่นใจในการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 อีกด้วย” ดร.ธนกร กล่าว

ไอซ์แลนด์บริจาคไฟเซอร์ 1 แสนโดส – เยอรมันมอบแอสตร้าเซนเนก้ากว่า 3 แสนโดส

ดร.ธนกร กล่าว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากไอซ์แลนด์และเยอรมนี โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้มีอำนาจลงนามในร่าง Donation Agreement – Delivered Doses ระหว่างไอซ์แลนด์กับไทย พร้อมลงนามในร่าง Tripartite Agreement ระหว่างฮังการี ไทย และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และร่าง Bilateral Agreement ระหว่างเยอรมนีกับไทย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ไอซ์แลนด์มีความประสงค์ที่จะให้การสนับสนุนบริจาควัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับไทย โดยจะบริจาควัคซีน Pfizer จำนวน 100,000 โดส โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ลงนามในร่าง Donation Agreement – Delivered Doses ระหว่างไอซ์แลนด์กับไทย ซึ่งจะดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป

พร้อมกันนี้ เยอรมนีจะให้การสนับสนุนบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 346,100 โดส โดยให้ รมว.สธ. เป็นผู้ลงนามในร่าง Bilateral Agreement ระหว่างเยอรมนีกับไทย และร่าง Tripartite Agreement ระหว่าง เยอรมนี ไทย และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าด้วย

“ไอซ์แลนด์และเยอรมนีคาดว่าจะสามารถส่งมอบวัคซีนได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้สามารถกระจายการฉีดวัคซีนได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ การได้รับสนับสนุนบริจาควัคซีนสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทย และความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรไมตรีระหว่างสหภาพยุโรปอีกด้วย” ดร.ธนกร กล่าว

แจกนายจ้าง 3,000 บาท 3 เดือน พยุงจ้างงานกว่า 5 ล้านคน

ดร.ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักการโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน ตลอดจนสร้างความแข็งแรงให้แก่ธุรกิจ โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานประสานกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาแนวการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับผู้ประกอบการในส่วนของรายได้จากเงินอุดหนุนดังกล่าว พร้อมให้กระทรวงแรงงานจัดทำรายละเอียดข้อเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้พิจารณา ก่อนเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

รายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

1) คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นนายจ้างภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม มีการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทยไม่เกิน 200 คน โดยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในเดือนตุลาคม 2564 และรับเงินอุดหนุนในเดือนที่ 1-3 (ตั้งแต่พฤศจิกายน 2564 ถึงมกราคม 2565)

2) เงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุน

    – รัฐจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมและรักษาการจ้างงานให้แก่นายจ้าง และลูกจ้างสัญชาติไทยจำนวนไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน
    – เงินอุดหนุนคำนวณตามยอดการจ้างจริงทุกเดือน โดยพิจารณาจากจำนวนลูกจ้างที่นำส่งเงินสมทบประกันสังคม
    – นายจ้างจะต้องรักษาการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ในระหว่างร่วมโครงการ โดย (หากต่ำกว่าร้อยละ 95 จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนนั้น) ในกรณีนายจ้างมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มตามจำนวนการจ้างงานจริง ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนลูกจ้างสัญชาติไทย ณ วันเริ่มโครงการ

“มาตรการนี้คาดว่าจะรักษาระดับการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทยในธุรกิจ SMEs ที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 ราย ที่มีสถานประกอบการจำนวน 480,122 แห่ง ซึ่งจะสามารถรักษาการจ้างงานลูกจ้างได้จำนวน 5,040,176 คน” ดร.ธนกร กล่าว

นายกฯ ลงพื้นที่นครศรีธรรมราชตรวจแผนป้องกันน้ำท่วม

ดร.ธนกร กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีกําหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2564 นี้ โดย นายกรัฐมนตรีจะตรวจการบริหารจัดการน้ำในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และตรวจแผนการป้องกันอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จากนั้น นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลมะม่วงสองต้น โดยจะเป็นประธานในพิธีเปิดและมอบอุปกรณ์และครุภัณฑ์ให้แก่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน พร้อมเยี่ยมชมบูธแสดงผลงานที่สำคัญ เช่น เน็ตประชารัฐกับบริการดิจิทัล เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดย บริษัท โทรคมนาคมแห5งชาติ จํากัด (มหาชน) (NT) รู้เร็ว รู้ทัน รู้ป้องกันภัยธรรมชาติ โดย กรมอุตุนิยมวิทยา การส่งเสริมการขายและการตลาดผ่านระบบออนไลน์ โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด เป็นต้น จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะพบปะประชาชนในพื้นที่

“นายกรัฐมนตรีห่วงใยในสถานการณ์น้ำทุกพื้นที่ พยายามลงพื้นที่ด้วยตัวเองเพื่อเร่งแก้ปัญหาต่างๆ ให้ทันถ่วงที ซึ่งการลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ในครั้งนี้ก็เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำ เยี่ยมเยียน เป็นขวัญกำลังใจ ให้กับพี่น้องประชาชนให้ผ่านวิกฤติภัยพิบัติทั้งโควิด-19 และน้ำท่วมไปได้โดยเร็ว” ดร.ธนกร กล่าว

กู้ 1,320 ล้าน เยียวยาเด็กเล็ก 6.6 แสนราย คนละ 2,000 บาท

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติกรอบวงเงิน 1,320 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้ในโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับการช่วยเหลือเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 660,318 คน ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 18,540 แห่ง ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยจ่ายเป็นเงินเยียวยาลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของผู้ปกครองในสถานการณ์โควิด-19 รายละ 2,000 บาทต่อคน ซึ่งจะทำให้กลุ่มเป้าหมายของโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็น 1,389,722 คน (จากเดิมที่ไม่ครอบคลุมเด็กเล็ก) และกรอบวงเงินโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 2,779 ล้านบาท การขยายกลุ่มเป้าหมายครั้งนี้ จะช่วยบรรเทาภาระและผลกระทบทางด้านค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบทางด้านรายได้อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 และช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กเล็กให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดส่งรายชื่อให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจความซ้ำซ้อนกับกลุ่มเป้าหมายโครงการ และจัดทำฐานข้อมูลรายชื่อและจำนวนนักเรียนในแต่ละระดับให้เป็นปัจจุบัน

มอบ สธ.จ้างหมอ-พยาบาลเพิ่มวงเงินไม่เกิน 4,335 ล้าน

นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการโครงการจ้างแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ และสายงานบริการทางการแพทย์อื่น เพื่อรองรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงินรวม 4,335 ล้านบาท เพื่อเพิ่มบุคลากรในการดูแลรักษาผู้ป่วยของหน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ และรองรับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยโควิด19 และประชาชนชนทั่วไป อีกทั้งยังสามารถแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข พิจารณากำหนดจำนวนกรอบอัตรากำลังที่จะจ้างงานภายใต้โครงการฯ ให้เป็นไปตามความเหมาะสมจำเป็นและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่

ตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษใน EEC เพิ่ม 6 แห่ง รับอุตฯเป้าหมาย

ดร.รัชดา กล่าว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม จำนวน 6 แห่ง และเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 1 แห่ง ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อเพิ่มจุดแข็งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและรองรับการลงทุนในอนาคต เนื่องจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) มีพื้นที่รับรองการประกอบกิจการอุตสาหกรรมและการค้า (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2563) จำนวน 15,836 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะรองรับการลงทุนได้เพียง 5 ปี จึงต้องจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้น 6 แห่ง ดังนี้

1.การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการอุตสาหกรรมรูปแบบนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5 แห่ง โดยมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 6,884 ไร่ สามารถรองรับการประกอบกิจการได้ประมาณ 5,098 ไร่ ตั้งเป้าหมายการลงทุน 280,772 ล้านบาท ภายใน 10 ปี (พ.ศ.2564 – 2573) ประกอบด้วย

    (1)นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 698 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์
    (2)นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 1,501 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์
    (3)นิคมอุตสาหกรรมเอเชียคลีน จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 978 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์สมัยใหม่ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
    (4)นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง จังหวัดระยอง พื้นที่ 421 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ และดิจิทัล
    (5)นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,498 ไร่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์

2.จัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 1 แห่ง คือ ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง จังหวัดระยอง มีพื้นที่รวม 519 ไร่ สามารถรองรับการประกอบกิจการ 360 ไร่ ตั้งเป้าหมายการลงทุน 20,000 ล้านบาท ภายใน 10 ปี (พ.ศ.2564 – 2573) โดยจะพัฒนาพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการ 1)พัฒนางานวิจัย กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลและกิจการที่เกี่ยวข้องไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2)พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จะกำหนดพื้นที่นำร่องของ EEC ในการพัฒนาระบบโครงข่าย 5G อย่างเต็มรูปแบบ

3.เปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 1 แห่ง คือ ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ พัทยา (EECmd) โดยเปลี่ยนแปลงแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ฯ และเพิ่มพื้นที่ประมาณ 18 ไร่ ทำให้พื้นที่รวมของศูนย์มีทั้งสิ้น 585 ไร่ จากเดิม 566 ไร่

กำหนดโควตานำเข้ามะพร้าว เกิน 311,235 ตัน เสียภาษี 72%

ดร.รัชดา กล่าวว่า สืบเนื่องจากปริมาณมะพร้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้ามะพร้าวภายใต้มาตรการปกป้องพิเศษ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้ามะพร้าวได้อย่างต่อเนื่อง มีวัตถุดิบป้อนโรงงานเพียงพอ และที่สำคัญไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวภายในประเทศ วันนี้ ครม. จึงมีมติเห็นชอบมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure: SSG) ภายใต้ความตกลงการเกษตรของ WTO และความตกลง FTA สำหรับการนำเข้าสินค้ามะพร้าว ปี 2564 ตามมติคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช เพื่อป้องกันการนำเข้ามะพร้าวมากเกินไปจนกระทบเกษตรกร โดยในปี 2564 ได้กำหนดปริมาณนำเข้ามะพร้าว (Trigger Volume) ห้ามเกิน 311,235 ตัน หากนำเข้ามะพร้าวรวมกันเกินกว่าปริมาณ Trigger Volume ที่กำหนดไว้ ให้กรมศุลกากรจัดเก็บภาษีในอัตราเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 72 (เท่ากับอัตราปี 2563) จากอัตราภาษีปกติร้อยละ 54 สำหรับการนำเข้ามะพร้าวภายใต้ความตกลง WTO นอกโควตา และอัตราร้อยละ 0 สำหรับการนำเข้ามะพร้าวภายใต้ความตกลง FTA

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการบริหารการนำเข้ามะพร้าวช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 โดยจัดสรรปริมาณนำเข้ามะพร้าวให้ผู้ประกอบการ 15 ราย ปริมาณรวม 78,477 ตัน เป็นการเข้าในอัตรา 1 : 2.5 คือ นำเข้า 1 ส่วน ต่อการรับซื้อมะพร้าวในประเทศ 2.5 ส่วน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มจากอัตราส่วนก่อนหน้า 1 : 2 เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้มะพร้าวในประเทศเพิ่มขึ้น

“การใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (SSG) สำหรับสินค้ามะพร้าวนี้ จะเป็นการสร้างสมดุลระหว่างปริมาณผลผลิตในประเทศและความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมมะพร้าวแปรรูป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางด้านราคาต่อเกษตรกร และเป็นการบริหารจัดการวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปให้มีเพียงพอและสม่ำเสมอ” ดร.รัชดากล่าว

ไฟเขียว ททท.ก่อหนี้ 5 ปี 135 ล้าน หนุน ‘มิชลิน ไกด์’

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก่อหนี้ผูกพันในการสนับสนุนการจัดโครงการ The Michelin Guide Thailand ประจำปี 2565-2569 วงเงิน 4.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 135.3 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละ 820,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 27.06 ล้านบาทให้แก่บริษัท Michelin Travel Partner France ซึ่งเป็นผู้ผลิตคู่มือแนะนำร้านอาหารที่มีชื่อเสียงระดับโลกในนาม Michelin Guide โดยงบประมาณที่ใช้ในปี 2565 จะจัดสรรงบประมาณของททท. และในปีที่ 2-5 ททท.จะตั้งคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป

สำหรับพื้นที่ดำเนินการตามโครงการฯประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต พังงา พระนครศรีอยุธยา และจะสำรวจเพิ่มอีกอย่างน้อย 3 จังหวัด โดยเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างน้อย 1 จังหวัด สำหรับกระบวนการดำเนินโครงการนั้น จะเริ่มจากการคัดเลือกและรวบรวมรายชื่อร้านอาหารที่อยู่ในระดับมาตรฐานของมิชลิน มีขั้นตอนตั้งแต่การลงพื้นที่สำรวจร้านอาหาร การตรวจสอบคุณภาพและรสชาติอาหารโดยผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกที่ผ่านการอบรมตามเกณฑ์ของมิชลิน โดยมิชลินเป็นผู้รับผิดชอบในการคัดเลือกทีมงาน และแต่งตั้งคณะผู้ตรวจสอบเพื่อดำเนินการคัดเลือกร้านอาหารและจัดอันดับร้านอาหารอย่างยุติธรรมตามระเบียบวิธีการของมิชลิน จากนั้นจะมีการพิมพ์หนังสือ The Michelin Guide Thailand ทุกปี เพื่อแนะนำร้านอาหารที่ผ่านกระบวนการประเมินผล

ทั้งนี้จะมีการแถลงข่าวสร้างการรับรู้การจัดทำโครงการ The Michelin Guide Thailand ประจำปี 2565-2569 รวมถึงจัดงานมอบรางวัลให้แก่ร้านอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากมิชลิน พร้อมดำเนินการตรวจสอบคุณภาพร้านอาหารในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้ยังมอบสิทธิรางวัล Michelin Thailand Service Award By TAT ให้แก่ททท. ซึ่งเป็นรางวัลใหม่ ที่เพิ่มขึ้นจากสิทธิประโยชน์เดิม โดยเป็นรางวัลสำหรับบุคลากรผู้ให้บริการยอดเยี่ยม

ขณะเดียวกันทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รายงานว่า โครงการ The Michelin Guide Thailand ประจำปี 2560-2563 ที่ผ่านมา ได้ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมผ่านวัฒนธรรมอาหารที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มมูลค่าและศักยภาพของอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงร้านอาหารริมทาง(Street Food) ช่วยให้ร้านอาหารของไทยมีการพัฒนาและยกระดับคุณภาพเพื่อรักษามาตรฐาน ส่งเสริมภาพลักษณ์ของเชฟไทยสู่เวทีระดับสากล ดึงดูดเชฟชั้นนำต่างประเทศให้มาทำงานในประเทศไทย และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเปิดร้านอาหารระดับ High-End มากยิ่งขึ้น

รับทราบ ธ.ก.ส.ร่วมทุน ‘Startup’ ด้านการเกษตร 2 ราย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบการร่วมลงทุน (Venture Capital) ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)กับผู้ประกอบการภาคการเกษตรของไทย เพื่อสนับสนุนด้านการเงินในลักษณะการร่วมทุนให้กับผู้ประกอบการภาคการเกษตรหรือที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจแต่ขาดโอกาสในการเพิ่มทุนให้มีทุนในการดำเนินกิจการระยะแรกได้ โดยสัดส่วนร่วมทุนไม่เกินร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นหลังระดมทุน และกรณีโครงการร่วมลงทุนไม่เกินร้อยละ 80 ของมูลค่าการลงทุน ระยะเวลาร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี และผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในรูปของบริษัท โดยจะให้มีอำนาจในการบริหารจัดการโดยอิสระ ส่วนธ.ก.ส.ทำหน้าที่ติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

สำหรับคุณสมบัติของผู้ประกอบการ จะต้องเป็นผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้น (Startup) หรือระยะของการขยายธุรกิจ ได้แก่ ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร หรือ โครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆที่มีศักยภาพ เป็นผู้ประกอบการที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับสร้างมูลค่าเพิ่มภาคการเกษตร รวมทั้ง กลุ่มวิสาหกิจ กองทุนหมู่บ้าน ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้อง โดยงบประมาณที่ใช้ร่วมลงทุนจะใช้งบประมาณการดำเนินงานปกติของธ.ก.ส.

ทั้งนี้ธ.ก.ส.ได้คัดเลือกผู้ประกอบการให้เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 2 รายและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เห็นชอบให้ธ.ก.ส.ร่วมลงทุนด้วยแล้ว ได้แก่ บริษัท คิว บ็อคซ์ พอยท์ จำกัด ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีการเกษตร โดยใช้แพลตฟอร์มเพื่อช่วยเกษตรกรในการวางแผนการผลิตให้สัมพันธ์กับความต้องการของตลาดในลักษณะซื้อขายล่วงหน้า มูลค่ากิจการ ณ ต้นปี 2564 อยู่ที่ 135 ล้านบาท อันดับเครดิตอยู่ที่ระดับ AAA รายได้หลักมาจากค่าปรับปรุงแพลตฟอร์มและค่าสมาชิกจากผู้ซื้อผลผลิตการเกษตรรายใหญ่ อย่างไรก็ตามบริษัทฯมีแผนการปรับเปลี่ยนที่มาของรายได้ มาเป็นส่วนแบ่งยอดขายสินค้าเกษตรที่เกิดขึ้นผ่านระบบเพื่อจูงใจให้เกษตรกรใช้บริการแพลตฟอร์มในการขายผลผลิต โดยเสนอให้ธ.ก.ส.ร่วมลงทุน 15 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.10 ของจำนวนหุ้นหลังการร่วมทุน

ส่วนอีกบริษัทได้แก่ บริษัท อินฟิวส์ จำกัด ให้บริการแอปพลิเคชัน “มะลิซ้อน” ผู้ใช้งานหลักคือ ชาวนาที่ซื้อประกันภัยผลผลิต มูลค่ากิจการอยู่ที่ 35.74 ล้านบาท อันดับเครดิตระดับ AA เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรในการบันทึกแปลงที่ดินของเกษตรกร และสามารถแจ้งการประสบภัยเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีเอาประกัน ปัจจุบันมีผู้ใช้ระบบประมาณ 4,000 คน รายได้หลักของบริษัทมาจากการสนับสนุนของสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยมีแผนจะขยายระบบวางแผนบริหารจัดการแปลงเกษตรอย่างครบวงจรเพื่อให้เกษตรกรสามารถเชื่อมโยงกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence :AI) และสามารถวางแผนเพาะปลูกได้ดีขึ้น โดยบริษัทฯเสนอให้ ธ.ก.ส.ร่วมลงทุนจำนวน 7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.58 ของจำนวนหุ้นหลังการร่วมทุน

พัฒนาโรงเรียนมัธยม 6 แห่ง เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการดังนี้คือ พัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษา (ระดับตำบล) ให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ประจำเขตตรวจราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี 6 เขต จำนวน 6 แห่ง เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา รวมถึงการจัดการเรียนการสอนด้าน STEM

โดยทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย เขตตรวจราชการที่ 3 ครอบคลุมจังหวัดเขตพื้นที่บริการ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี, เขตตรวจราชการที่ 9 ครอบคลุมจันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว, เขตตรวจราชการที่ 12 ครอบคลุมกาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด, เขตตรวจราชการที่ 14 ครอบคลุมยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี, เขตตรวจราชการที่ 15 ครอบคลุมเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน, และเขตตรวจราชการที่ 18 ครอบคลุม กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ครม. ได้เห็นขณะเดียวกัน ครม. ยังได้เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าวจำนวน 3,275.958 ล้านบาท หรือแห่งละประมาณ 545.993 ล้านบาท ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565-2569 รวมระยะเวลา 5 ปี ส่วนระยะต่อไปให้ขอจัดตั้งงบประมาณประจำปีตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังให้ปรับปรุงแก้ไขจังหวัดเขตพื้นที่บริการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับจำนวนโรงเรียนและบริบทเชิงพื้นที่ ภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม ระบบราชการ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินการ พร้อมทั้งดำเนินการจัดระเบียบโครงสร้างการบริหารงานกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ให้เกิดเอกภาพ มีความเป็นอิสระ คล่องตัว มีประสิทธิภาพในการบริหารงานบุคคล วิชาการ งบประมาณ และบริหารทั่วไปเพื่อเป็นต้นแบบต่อไป และให้มีคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีอำนาจหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะ หรือ คำแนะนำการบริหารงานและการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย แก่กระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และหน่วยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการกำหนดนโยบาย ทิศทาง การพัฒนา กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย

นอกจากนี้ ครม. ให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นและข้อสังเกตของหน่วยงานต่างๆ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยกระทรวงการคลังขอให้มีการให้ความสำคัญกับการควบคุม กำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ สำนักงบประมาณให้พิจารณาการดำเนินการให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูประบบการศึกษาในภาพรวมการพัฒนาประเทศในทุกมิติ

จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี กระทรวงพาณิชย์

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นโลหะสีขาว(ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 20 บาท เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสครบ 100 ปี กระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 โดยค่าใช้จ่ายในการจัดทำเหรียญกษาปณ์ดังกล่าวมาจากเงินทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของรัฐและการทำของ ประจำปีงบประมาณ 2564

ตั้ง ‘ณัฐพล นาคพาณิชย์’นั่งที่ปรึกษานายกฯ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการดังนี้

1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

    1. นายสุวัฒน์ เอื้อเฟื้อ ผู้อำนวยการสำนักงาน (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนักงานเลขาธิการ สำนักงาน ก.พ. ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ. ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2564

    2. นายสมศักดิ์ เจตสุรกานต์ ผู้อำนวยการสถาบัน (ผู้อำนวยการระดับสูง) สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ. ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2564

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นายนพดล พลเสน เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

4. เรื่อง ขอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของนายโอภาส ทองยงค์ อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

5. เรื่อง การแต่งตั้งผู้แทนกระทรวงการคลังเป็นกรรมการในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอการแต่งตั้ง นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการในคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

6. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงศึกษาธิการ)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งนางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางกนกวรรณ วิลาวัลย์)] ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 5 ตุลาคม 2564 เพิ่มเติม