นายกฯ เมิน ‘ทักษิณ’ ยกมือไหว้ ขอให้ลาออก-ชี้ไม่จำเป็นต้องเคลียร์ใจ “ผู้กองธรรมนัส” — มติ ครม. กู้ 5.45 หมื่นล้าน เติมเงิน “คนละครึ่ง-บัตรคนจน-ยิ่งใช้ยิ่งได้” — เล็งตั้ง ‘นิคมอุตฯ ราชทัณฑ์’ แก้ผู้ต้องขังล้นคุก-สร้างอาชีพหลังพ้นโทษ
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรียังคงมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและตอบคำถามสื่อมวลชนแทน
ตั้ง “ศบค.ส่วนหน้า” ลุยแก้โควิดฯ ชายแดนใต้ ยันไม่ได้รวบอำนาจ
ดร.ธนกรกล่าวว่า นายกรัฐแสดงความเป็นห่วงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้จัดตั้ง ศบค.ส่วนหน้า ในพื้นที่ และยืนยันว่าไม่ได้มีการรวบอำนาจ เน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน
สั่งสำรวจพื้นที่น้ำท่วม เตรียมจ่ายเยียวยา
ดร.ธนกรกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจพื้นที่ที่หลังน้ำลด เพื่อช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชน และเร่งรัดให้ตรวจสอบความเสียหายช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ขณะเดียวกันขอให้กักเก็บน้ำในพื้นที่แก้มลิง
ห่วงราคาน้ำมันขาขึ้น-สั่งทุกหน่วยติดตามราคาสินค้า
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังแสดงความเป็นห่วงเรื่องพลังงานและราคาสินค้า เนื่องจากแนวโน้มพลังงานของโลกมีทิศทางขาขึ้นจากหลายปัจจัย รวมทั้งความสัมพันธ์ของประเทศมหาอำนาจ ขณะเดียวกันในฐานะกองทุนพลังงานก็มีข้อจำกัด โดยวันนี้นายกฯ ได้เชิญนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือ เพื่อดูแลราคาพลังงานให้มีความเหมาะสม รวมทั้งให้ทุกหน่วยติดตามราคาสินค้า
ประชุม ครม.สัญจร จ.กระบี่ 8-9 พ.ย. นี้
ดร.ธนกรกล่าวต่อว่า ในการประชุมวันนี้ได้รับทราบการจัดประชุม ครม.สัญจร จังหวัดกระบี่ ในช่วงวันที่ 8-9 พฤศจิกายน เพื่อติดตามความก้าวหน้าดำเนินการการท่องเที่ยว รองรับการเปิดประเทศ และมอบหมายให้รองนายกลงพื้นที่จังหวัดรอบฝั่งอันดามัน เพื่อติดตามการทำงานของรัฐบาลและรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะจากประชาชน
หารือท่องเที่ยวจัดกิจกรรมกระตุ้น ศก. ส่งท้ายปีเก่า
จากนั้น ดร.ธนกรตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรีถึงเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และแนวทางจัดกิจกรรมช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ว่า “นายกรัฐมนตรีกำลังหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความคุ้มค่าเหมาะสม จากกิจกรรมของรัฐและกิจกรรมที่รัฐจัดร่วมกับเอกชน”
ทำความเข้าใจ ‘อนุทิน’ ปมตั้ง ‘บิ๊กเล็ก’ แก้โควิดฯชายแดนใต้
ถามว่านายกรัฐมนตรีจะแก้ปัญหาหรือทำความเข้าใจอย่างไร กรณีพรรคภูมิใจไทยทักท้วงเรื่องการตั้ง พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นผู้อำนวยการ ศบค.ส่วนหน้า โดยนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า “ได้มีการทำความเข้าใจกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เป็นการบูรณการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.โรคระบาดและสาธารณสุข และมาตรการของ ศบค.เป็นไปตามหลักสาธารณสุข”
ชี้ไม่จำเป็นต้องเคลียร์ใจ “ผู้กองธรรมนัส”
ดร.ธนกรตอบคำถามกรณีที่นายกฯ ไปเคลียร์ใจกับ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า อีกรอบ ตอนนี้ได้รับการยืนยันแล้วใช่ไหมว่าจะไม่มีความขัดแย้งกันอีก โดยนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า “ไม่จำเป็นต้องเคลียร์ใจกับใคร ยังคงทำงานกับพรรคพลังประชารัฐ และทำงานร่วมกับ ส.ส.”
เมิน ‘ทักษิณ’ ยกมือไหว้ ขอให้ลาออก
สุดท้าย ดร.ธนกรตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีว่า มีความคิดเห็นอย่างไรกับกรณีที่คุณทักษิณ ชินวัตร ยกมือไหว้ขอร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออก โดยชี้แจงว่า “ก็แล้วแต่จะพูด คนไทยต้องเรียนรู้ในอดีตว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง”
มติ ครม. มีดังนี้
เล็งตั้ง ‘นิคมอุตฯ ราชทัณฑ์’ แก้ผู้ต้องขังล้นคุก-สร้างอาชีพหลังพ้นโทษ
ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ตามที่กระทรวงยุติธรรมได้ทำการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมฯ โดยผลการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ เพื่อฝึกทักษะอาชีพ พัฒนายกระดับฝีมือแรงงานและสร้างผู้พ้นโทษให้เป็นผู้ประกอบการรายใหม่และเป็นการสร้างอาชีพในอนาคตเพื่อลดจำนวนอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขัง โดยกลุ่มเป้าหมายคือผู้พ้นโทษและผู้อยู่ระหว่างพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษ
แนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภายนอกเรือนจำโดยร่วมกับ กนอ. (ที่ราชพัสดุของหน่วยงานอื่น) 2) การจัดตั้งนิคมฯ ภายในพื้นที่เรือนจำ (ที่ราชพัสดุของกรมราชทัณฑ์) และ 3) การใช้พื้นที่เอกชนเป็นนิคมฯ หากยังมีพื้นที่ว่างที่ยังเหลืออยู่ โดยมีพื้นที่นำร่องต้นแบบ 4 แห่ง ได้แก่ เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร (เรือนจำชั่วคราวบางหญ้าแพรก เรือนจำกลางชลบุรี (เรือนจำชั่วคราวบ้านบึง) เรือนจำกลางสมุทรปราการ (เรือนจำชั่วคราวคลองด่าน) และเรือนจำกลางระยอง (เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว) โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุนคัดเลือกผู้ประกอบธุรกิจที่เน้นนวัตกรรม แรงงานใช้ฝีมือและรูปแบบธุรกิจที่ทันสมัย พร้อมให้สิทธิประโยชน์ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจของภาคธุรกิจในการร่วมลงทุนแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม. มอบหมายให้ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมฯ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ต้นทุน ผลประโยชน์ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า แนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้พ้นโทษ สร้างอาชีพในอนาคต โดย ยธ. ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาและส่งผู้ที่ได้รับการพักการลงโทษเข้าไปทำงานในสถานประกอบการให้ได้จำนวน 16,000 คน/ปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ภาครัฐจะต้องใช้ในการดูแลผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ เฉลี่ย 21,000 บาท/คน/ปี จะทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณที่ใช้ดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำประมาณ 336 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้ ยังสร้างความมั่นคงทางแรงงานให้แก่ผู้ประกอบการด้วย
กู้ 5.45 หมื่นล้าน เติมเงิน “คนละครึ่ง-บัตรคนจน-ยิ่งใช้ยิ่งได้”
ดร.ธนกรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 โดยอนุมัติงบประมาณสำหรับ 4 โครงการเพื่อส่งเสริม มาตรการลดค่าครองชีพ ซึ่งเสนอโดยกระทรวงการคลัง ดังนี้
1. อนุมัติงบประมาณ 8,122.3764 ล้านบาท สำหรับโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าเพิ่มเติมอีกจำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2564 รวมเป็น 500 บาท ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม และรวมเป็น 1,800 บาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนไม่เกิน 13,537,294 คน
2. อนุมัติงบประมาณ 1,383.8814 ล้านบาท สำหรับโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าจำนวน 300 บาท/คน/เดือน ระยะเวลา 2 เดือน (เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564) รวมเป็น 500 บาท/คน ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม และรวมเป็น 1,800 บาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯ เช่น ผู้ที่ไม่สามารถ เข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียง) ผู้ที่ลงทะเบียนด้วยตนเองไม่สำเร็จเนื่องจากข้อมูลส่วนบุคคลไม่ถูกต้อง เป็นต้น จำนวนไม่เกิน 2,306,469 คน
3. อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม 42,000 ล้านบาท สำหรับ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 โดยประชาชนได้รับสิทธิสนับสนุนค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าและบริการทั่วไป รวมทั้งสามารถซื้ออาหาร และเครื่องดื่มจากร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ผ่านผู้ให้บริการระบบ ขนส่งอาหาร (Food Delivery Platform) ร้อยละ 50 ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน อีกจำนวน 1,500 บาทต่อคน โดยจะสนับสนุนเพิ่มในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม รวมรัฐสนับสนุนวงเงินให้ทั้งสิ้น 4,500 บาท/คน สำหรับการใช้จ่ายตลอดระยะเวลาโครงการ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนทั่วไป สัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนไม่เกิน 28 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ลงทะเบียนใหม่และผู้ที่เคยได้รับสิทธิแล้ว
4. อนุมัติงบฯ 3,000 ล้านบาท สำหรับ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ แก่ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีบัตรสวัสดิการของรัฐ ไม่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือ ไม่ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 จำนวนไม่เกิน 1 ล้านสิทธิ โดยปรับเพิ่มหลักเกณฑ์ในการคำนวณการให้สิทธิสนับสนุน e-voucher และเพิ่มวงเงินสนับสนุน e-voucher จากเดิมไม่เกิน 7,000 บาท เป็น 10,000 บาทต่อคน ในเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2564 ดังนี้
-
– สำหรับการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 คำนวณด้วยวิธีการเดิม
– สำหรับการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564
– ผู้ได้รับสิทธิที่มียอดใช้จ่ายที่จะนำมาคำนวณ e-voucher ไม่เกิน 60,000 บาท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 จะได้รับสิทธิ ดังนี้ สำหรับยอดใช้จ่ายจริงตั้งแต่ 1-40,000 บาทแรก ได้รับ e-voucher ร้อยละ 10 ของยอดใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน สำหรับยอดใช้จ่ายจริงตั้งแต่ 40,001– 80,000 บาท ได้รับ e-voucher ร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 6,000 บาทต่อคน สำหรับผู้ได้รับสิทธิที่มียอดใช้จ่ายที่จะนำมาคำนวณ e-voucher เต็มจำนวน 60,000 บาท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 ซึ่งมีสิทธิ ได้รับ e-voucher จำนวน 7,000 บาท เรียบร้อยแล้ว จะมีสิทธิได้รับ e-voucher เพิ่มเติม หากมีการใช้จ่ายเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 20,000 บาท ในระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2564 จะได้รับสิทธิ e-voucher ร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน
“ทุกมาตรการ ที่เกิดขึ้นเป็นไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัว และเป็นการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการให้ลุกขึ้นได้ โดยการอนุมัติงบของ ครม. ทั้งนี้จะทำให้ กรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ คงเหลือทั้งสิ้นรวม 262,485.0671 ล้านบาท” ดร. ธนกร กล่าว
นายกฯ ลงพื้นที่สิงห์บุรีช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมพรุ่งนี้
ดร.ธนกรกล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ รับฟังความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงแนวทางช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี บ่ายวันพุธที่ 20 ตุลาคม 2564 นี้
โดยนายกรัฐมนตรีจะนั่งเรือท้องแบนลงพื้นที่ประสบอุทกภัยชุมชนบางแคใน ใต้สะพานบางระจัน อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัยในชุมชนซึ่งประสบปัญหาระดับน้ำท่วมสูง จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปตรวจสภาพพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดเฉลิมมาศ ตำบลอินทร์บุรี เสร็จแล้ว จะเป็นประธานเปิดโครงการ “ส่งสุขภาพดีให้คนไทย #จากใจไปรษณีย์ไทย Delivers Wellness” ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร
ดร.ธนกรกล่าวย้ำว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีหลายพื้นที่ประสบอุทกภัย ซึ่งนายกรัฐมนตรีพยายามหาโอกาสลงไปติดตามสถานการณ์ด้วยตนเอง พร้อม กำชับส่วนราชการในพื้นที่เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ยืนยันรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
นายกฯ มอบหมาย รมต. ลงพื้นที่ 6 จว. ภาคใต้ฝั่งอันดามัน
ดร.ธนกรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม. สัญจร) ในวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2564 ณ จังหวัดกระบี่ พร้อมกันนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดตรวจราชการ ณ จังหวัดกระบี่ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว รองรับการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย (smart entry) และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรี ลงพื้นที่บริเวณจังหวัดหรืออำเภอโดยรอบกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ ตลอดจนการรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะจากประชาชน โดยนายกรัฐมนตรียังมีบัญชาให้ กระจายการจองโรงแรม/ที่พักหลายแห่ง เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงการประชุม ครม.สัญจร
สำหรับการจัดการประชุม ครม.สัญจร ในครั้งนี้ ให้ความสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ การบริหารจัดการรองรับนักท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมโยง Sandbox อื่นๆ ยกระดับการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานและคุณภาพระดับโลก รวมทั้งยังจะได้มีวาระหารือกับภาคธุรกิจ เอกชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ เพี่อส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเพิ่มมูลค่าภาคการผลิตเกษตร ประมงและปศุสัตว์ด้วย
“ท่านนายกรัฐมนตรีและที่ประชุม ครม. ยังให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด 19 ของ ศบค. โดยมอบหมายให้ ศปก.ศบค. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กำกับแนวทางในการจัดประชุม ครม.สัญจร โดยให้ทุกหน่วยงานจำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่และผู้ติดตามเท่าที่จำเป็น เพื่อลดความแออัดในพื้นที่ และกำชับให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด” ดร.ธนกร กล่าว
เห็นชอบ MOU ‘ไทย-จีน’ ร่วมกันสร้างหนัง ส่งเสริมท่องเที่ยว-วัฒนธรรม
ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ว่า ครม. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านภาพยนตร์ระหว่างทบวงกิจการภาพยนตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะมีการลงนามในช่วงประมาณต้นปี 2565 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศ โดยร่างบันทึกความเข้าใจมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดความร่วมมือด้านภาพยนตร์ของทั้งสองฝ่ายภายในระยะเวลา 5 ปี อาทิ
-
1. เป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการภาพยนตร์หนึ่งครั้ง และส่งคณะผู้แทนภาพยนตร์ไปร่วมกิจกรรม
2. สนับสนุนให้องค์กรภาพยนตร์และบุคคลของทั้งสองประเทศ แลกเปลี่ยน ร่วมมือ และแบ่งปันข้อมูลอุตสาหกรรมซึ่งกันและกัน
3. สนับสนุนการร่วมผลิตภาพยนตร์ในประเด็นความสนใจร่วมกัน
4. สนับสนุนให้ผู้สร้างภาพยนตร์และภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศ มีส่วนร่วมในเทศกาลภาพยนตร์ที่จัดขึ้น
5. สนับสนุนให้ช่องโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศ นำเข้าและออกอากาศภาพยนตร์ของกันและกัน
6. สนับสนุนให้หอภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศ ขยายการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านข้อมูลภาพและเสียงตามหลักผลประโยชน์ร่วมกัน
7. สนับสนุนให้มีการจัดทำข้อตกลงในการร่วมผลิตภาพยนตร์ระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ
ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ในหลายด้าน โดยเฉพาะความร่วมมือในการผลิตภาพยนตร์ระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ สนับสนุนการนำเข้าและออกอากาศภาพยนตร์ระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้สถานที่ถ่ายทำ การเช่าโรงถ่ายทำ การจ้างทีมสตันต์ เป็นต้น นอกจากนี้ การร่วมลงทุนภาพยนตร์ร่วมกันจะถือได้ว่าภาพยนตร์ที่ผลิตได้เป็นภาพยนตร์สองสัญชาติ จะทำให้ไทยสามารถจัดฉายในประเทศจีนได้โดยไม่ต้องผ่านระบบการกำหนดสัดส่วน (quota) ภาพยนตร์ต่างประเทศ ซึ่งตลาดภาพยนตร์ในประเทศจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2562 มีมูลค่าการขายตั๋วอยู่ที่ 64,200 ล้านหยวน หรือประมาณ 337,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 5.9 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนโรงภาพยนตร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2562 มีจำนวนโรงภาพยนตร์ทั้งสิ้น 68,992 โรง ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนโรงภาพยนตร์มากที่สุดในโลก
“นับเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายความร่วมมือเพื่อเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศและความร่วมมือในอุตสาหกรรมออนไลน์และดิจิทัล อีกทั้งจะเป็นการใช้สื่อภาพยนตร์เป็นเครื่องมือด้าน soft power เพื่อนำเสนอ ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์ สร้างกระแสความนิยมของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ด้านอื่นโดยเฉพาะการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวด้วย” ดร.รัชดากล่าว
ขยายเวลาให้แบงก์ลดเงินนำส่งเหลือ 0.23% ถึงสิ้นปี’65
ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบการขยายเวลาการปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราวอีก 1 ปี โดยลดจากเดิมอัตราร้อยละ 0.46 ต่อปี เป็นร้อยละ 0.23 ต่อปี จนถึงสิ้นปี 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อลดต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงินและส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้อย่างเต็มที่
สำหรับผลกระทบจากการขยายระยะเวลาดังกล่าว ทางธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินแล้วว่า ยังมีเงินเพียงพอสำหรับการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงเวลาดังกล่าว ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF 1) และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยที่ 2 พ.ศ. 2545 (FIDF 3) และการชำระคืนหนี้ต้นเงิน FIDF 1 และ FIDF 3 จะแล้วเสร็จภายในปี 2574 เช่นเดิม
ผ่านร่างแถลงการณ์ร่วมความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – เกาหลีใต้ ครั้งที่ 3
ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 3 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ซึ่งร่างถ้อยแถลงร่วมจะมีการรับรองในการประชุมที่จัดขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีประธานาธิบดีเกาหลีใต้และนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นประธานร่วมในการประชุม ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลีใต้ (Mekong-ROK) ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามและเกาหลีใต้ ร่วมมือกันภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือด้านการเมืองเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก สำหรับร่างถ้อยแถลงร่วม มีสาระสำคัญดังนี้
1. เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ในการตอบโต้และรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งเกาหลีใต้จะให้การสนับสนุนในรูปแบบความช่วยเหลือด้านการเงินและสิ่งของจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านกลไก COVAX AMC ภายในปี 2565
2. ยืนยันเจตนารมณ์ในการเสริมสร้างความร่วมมือบนพื้นฐาน 3 เสา ของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลีใต้ ได้แก่ ประชาชน ความเจริญรุ่งเรือง และสันติภาพ ดำเนินการผ่านสาขาความร่วมมือ 7 สาขา ได้แก่
-
1. วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เช่น หามาตรการที่มีประสิทธิภาพต่อการฟื้นฟูการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย อนุรักษ์และฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรม และส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
2. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น แบ่งปันประสบการณ์ในสาขาการอุดมศึกษา จัดหาทรัพยากรสำหรับการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมความร่วมมือในสาขาทรัพยากรมนุษย์
3. การเกษตรและการพัฒนาชนบท เช่น ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และลดช่องว่างด้านการพัฒนาของชุมชนชนบทและการเกษตรของประเทศลุ่มน้ำโขง ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรอัจฉริยะและความมั่นคงความปลอดภัยทางอาหารที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในภูมิภาค
4. โครงสร้างพื้นฐาน เช่น เสริมสร้างความร่วมมือด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เมืองอัจฉริยะ การพัฒนาท่าเรือ และความมั่นคงด้านพลังงานในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อำนวยความสะดวกต่อการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ดีขึ้นสำหรับ MS MEs และ Start-up
5. เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น ส่งเสริมการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ความมั่นคงทางไซเบอร์ เครือข่าย 5G ปัญญาประดิษฐ์ และระบบ Big Data
6. สิ่งแวดล้อม และ 7. ความท้าทายด้านความมั่งคงรูปแบบใหม่
เห็นชอบลงนามความร่วมมืออาเซียน 22 ฉบับ
ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างเอกสารจำนวน 22 ฉบับ ที่จะรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และครั้งที่ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคม 2564 ที่ประเทศบูรไน ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนี้ครอบคลุมความร่วมมือทุกด้าน เช่น การรับมือภัยพิบัติ การดูแลเยาวชน สุขภาพ โควิด-19 วัคซีน ความมั่นคง เศรษฐกิจ และความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาคและกับประเทศทวิภาคี เช่น ASEAN-จีน, ASEAN-สหรัฐฯ, ASEAN-อินเดีย, ASEAN-รัสเซีย, ASEAN-เกาหลี
สำหรับเอกสารทั้ง 22 ฉบับที่ ครม. เห็นชอบในวันนี้เป็นของ 5 หน่วยงาน คือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวัฒนธรรม ประกอบด้วย
1. ร่างเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ รวม 17 ฉบับ ดังนี้
-
(1) ร่างปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวันว่าด้วยข้อริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์และองค์รวมเพื่อเชื่อมโยงการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติของอาเซียน (อาเซียนชิลด์) (กระทรวงการต่างประเทศ)
(2) ร่างปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวันว่าด้วยความสำคัญของครอบครัวเพื่อการพัฒนาชุมชนและการสร้างชาติ (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
(3) ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการธำรงระบบพหุภาคีนิยม (กระทรวงการต่างประเทศ)
(4) ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยเศรษฐกิจภาคทะเล (กระทรวงการต่างประเทศ)
(5) ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการปรับสูตรและการผลิตอาหารและเครื่องดื่มทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ (กระทรวงสาธารณสุข)
(6) ร่างปฏิญญาว่าด้วยการขจัดการระรานเด็กในอาเซียน (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
(7) ร่างแถลงการณ์อาเซียน-รัสเซีย ว่าด้วยการสร้างภูมิภาคที่เป็นปึกแผ่น มั่นคง และยั่งยืน (กระทรวงการต่างประเทศ)
(8) ร่างแถลงการณ์อาเซียน-รัสเซีย ว่าด้วยความร่วมมือในด้านการรับมือและต่อต้านปัญหายาเสพติดโลก (กระทรวงการต่างประเทศ)
(9) ร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการฟื้นฟูการท่องเที่ยว (กระทรวงการต่างประเทศ)
(10) ร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขภาพจิต (กระทรวงการต่างประเทศ)
(11) ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ว่าด้วยการพัฒนาด้านดิจิทัล (กระทรวงการต่างประเทศ)
(12) ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนบวกสาม ว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขภาพจิตในวัยรุ่นและเด็ก (กระทรวงสาธารณสุข)
(13) ร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการฟื้นฟูที่ยั่งยืนและสีเขียว (กระทรวงสาธารณสุข)
(14) ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-อินเดีย ว่าด้วยความร่วมมือต่อมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (กระทรวงการต่างประเทศ)
(15) ร่างแกลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีน ว่าด้วยความร่วมมือในการสนับสนุนกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (กระทรวงการต่างประเทศ)
(16) ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 24 เพื่อฉลองวาระครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน (กระทรวงการต่างประเทศ)
(17)ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 22 ว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมืออาเซียน-สาธารณรัฐภาหลีให้ก้าวไกล (กระทรวงการต่างประเทศ)
2. ร่างเอกสารกำหนดแนวทางเชิงนโยบายของอาเซียนในการดำเนินความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง รวม 4 ฉบับ ดังนี้
-
(1) ร่างแผนปฏิบัติการฉบับครอบคลุมเพื่อดำเนินความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-รัสเซีย (ค.ศ. 2021-2025) (กระทรวงการต่างประเทศ)
(2) ร่างกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจใส่ใจที่ครอบคลุมของอาเซียน (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
(3) ร่างแผนยุทธศาสตร์อาเซียนในประเด็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (กระทรวงพาณิชย์)
(4) ร่างกรอบนโยบายยุทธศาสตร์อาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมการปรับตัวของประชาคมอาเซียนสำหรับความเข้าใจ การยอมรับ และการรับรู้เกี่ยวกับวาระระดับภูมิภาคที่มากขึ้นในหมู่ประชาชนอาเซียน (กระทรวงวัฒนธรรม)
3. ร่างเอกสารกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่คณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 จำนวน 1 ฉบับ (กระทรวงการต่างประเทศ)
ไฟเขียว ‘Flexible Plus Program’ ดูดเงินลงทุนต่างชาติ 3 แสนล้าน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับบัตรสมาชิกพิเศษ (Thailand Privilege Card) อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อการทำงาน และร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับบัตรสมาชิกพิเศษ อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงาน รวม 2 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับบัตรสมาชิกพิเศษ อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เพื่อการทำงาน รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการลงทุน เพื่อเข้าร่วมโครงการ Flexible Plus Program
สำหรับรูปแบบโครงการ Flexible Plus Program ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องลงทุนในประเทศไทยตามประเภทของการลงทุนที่กำหนด ในมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับจากเข้าร่วมโครงการและให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถ ขอรับใบอนุญาตทำงานในราชอาณาจักรได้ เพื่อให้สามารถรองรับกลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติที่มีคุณภาพและกำลังซื้อสูง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
โดยคนต่างด้าวที่ได้รับบัตรสมาชิกพิเศษ Thailand Privilege Card รวมถึงคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีอายุไม่เกิน 20 ปี สามารถขอเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา เป็นประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษเพื่อการทำงาน (non-immigrant visa) มีระยะเวลาคราวละ 5 ปี ตลอดระยะเวลาการลงทุนในโครงการ Flexible Plus Program
สำหรับการลงทุนของคนต่างด้าวที่จะได้รับสิทธิดังกล่าวจะลงทุนได้ใน 3 ประเภท คือ ลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ตามสิทธิของชาวต่างชาติที่พึงได้รับ, ลงทุนในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด และลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นกู้ หรือหน่วยลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมกันไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่าการให้สิทธิประโยชน์ตามโครงการนี้สอดคล้องกับแผนการดึงดูดกลุ่มประชากรที่มีความมั่งคั่งสูงซึ่งคาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ Flexible Plus Program จำนวน 10,000 ราย จะทำให้มีเงินหมุนเวียนภายในประเทศจากการลงทุนประมาณ 300,000 ล้านบาท
กำหนดกรอบการจัดทำงบฯ ปี ’66 เน้นแก้โควิดฯ
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 โดยแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 จะดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ ความต้องการในพื้นที่และแผนพัฒนาพื้นที่ตามความต้องการของประชาชนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณและผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ
ขณะเดียวกันการจัดทำงบประมาณรายจ่ายจะดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา บรรเทา หรือแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และประสิทธิผลการใช้จ่ายของ อปท.
รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือมาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรก ควบคู่ไปกับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิก การดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำหรือหมดความจำเป็น พิจารณาถึงความพร้อม หรือขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณ และนำความสำเร็จในการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณในปี 2564 และ 2565 มาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับศักยภาพการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณ
สำหรับปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ที่สำคัญเช่น วันที่ 19 ตุลาคม 2564 ครม.ให้ความเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณ 2566, วันที่ 22-24 ธันวาคม 2564 กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกันพิจารณาประมาณการรายได้ กำหนดนโยบาย วงเงินงบประมาณรายจ่าย และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และนำเสนอ ครม., วันที่ 4 มกราคม 2565 ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบาย วงเงินงบประมาณรายจ่ายและโครงสร้าง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566, วันที่ 1-2 มิถุนายน 2565 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วาระที่ 1 เป็นต้น
ยืดเวลา “เอเชีย เอรา วัน” จ่ายค่าโอนสิทธิร่วมทุน ‘แอร์พอร์ต เรลลิงก์’
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกันดำเนินงานโดยเร็ว เพื่อให้บริการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้เกิดปัญหาในส่วนของการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เนื่องจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 โดยทาง บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญา มีหนังสือหารือผลกระทบอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำที่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อปรับปรุงข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งผลกระทบเกิดขึ้นจริงจากเหตุสุดวิสัยของภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยขอให้ภาครัฐพิจารณากำหนดมาตรการเยียวยา โดยขอขยายเวลาการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จนกว่าจะได้ข้อยุติในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน และกำหนดมาตรการเยียวยาอื่นได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินร่วมลงทุนโครงการฯ และการขยายระยะเวลาโครงการฯ
ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เห็นว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไม่อาจคาดการณ์ได้ก่อนลงนามในสัญญา และมีผลกระทบเกิดขึ้นจริง จึงมีมติเห็นชอบหลักการเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 ในส่วนของค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์แก่เอกชนคู่สัญญาและแนวทางดำเนินการระหว่างกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเห็นด้วยกับหลักการ และมีความเห็นเพิ่มเติมว่า เรื่องที่เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ตามสัญญาร่วมลงทุนฯ ที่จะถึงกำหนดชำระในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 เนื่องจากโควิด-19 นั้น ไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเหตุผ่อนผันในการไม่ชำระเงิน ดังนั้น กพอ. จึงได้มอบหมายให้ รฟท., สกพอ. และคณะกรรมการกำกับดูแลฯ พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ขอให้ดำเนินการตามกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนนำเสนอ ครม.
ชูประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประจำปี 2564 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2564 โดยท่าทีของประเทศไทยให้ความสำคัญกับ ความเป็นธรรมและความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละประเทศ เน้นย้ำให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้การจัดทำและการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด อยู่ภายใต้หลักการของกรอบอนุสัญญาฯและความตกลงปารีส การกำหนดนโยบายหรือมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การค้า และสังคมของประเทศกำลังพัฒนา ส่งเสริมบทบาทของภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งในด้านการกักเก็บคาร์บอนและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้การกำหนดแนวทางและความกลไกความร่วมมือเกี่ยวกับกลไกตลาด และไม่ใช่ตลาดต้องมีความยืดหยุ่น ไม่เป็นภาระเพิ่มเติม ต้องการให้มีการยกระดับการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพต่อการดำเนินงานด้านการปรับตัวของประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ การวิจัย การเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และเสริมสร้างศักยภาพในภาคเกษตรเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำและยกระดับการสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเพียงพอ สมดุล และต่อเนื่อง ให้มีการยกระดับศักยภาพของบุคลากร สถาบัน และระบบในประเทศกำลังพัฒนาอย่างบูรณาการและยั่งยืน การกำหนดรายละเอียดของกรอบความโปร่งใสในการดำเนินงานและการสนับสนุนต้องมีความยืดหยุ่นและคำนึงถึงศักยภาพที่แตกต่างของประเทศกำลังพัฒนา
ทั้งนี้ประเทศไทยพร้อมจะเป็นประเทศที่ให้และประสานความช่วยเหลือหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย พร้อมเห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดส่งร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว ต่อสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาฯ ในช่วงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2564
ทั้งนี้สาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทยนั้น จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการร่วมมือกับประชาคมโลกในการพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส โดยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้น ตามข้อ 4 วรรค 19 ของความตกลงปารีส ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะมีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ณ ปี 2030 มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ และมีความพยายามในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2065 ซึ่งการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศและการได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายนี้ได้
สำหรับยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ของประเทศไทยได้จัดทำโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มีการกำหนดเป้าหมายและมาตรการที่ชัดเจนและสอดคล้องตามแนวทางการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลก 2 องศาเซลเซียส และการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและขนส่งอย่างเร่งด่วน รวมถึงการปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าการลงทุนในธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี 2050
นอกจากนี้การดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (co-benefit) เช่น ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศเพิ่มขึ้น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวประชากรลดลง ทำให้มลพิษทางอากาศ ได้แก่ ออกไซด์ของไนโตรเจน คาร์บอนมอนอกไซด์ PM2.5 ลดลง โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทยจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
มอบ ‘ศักดิ์สยาม’ รับรองร่างปฏิญญาฟื้นฟูธุรกิจการบินที่ได้รับผลกระทบโควิดฯ
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุมระดับสูงว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พร้อมอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างปฏิญญาดังกล่าว โดยมีกำหนดรับรองในวันที่ 22 ตุลาคม 2564 ในการประชุม High-Level Conference on COVID-19(HLCC 2021) ผ่านระบบการประชุมทางไกล
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมรายงานว่า องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือ ICAO) ได้มีหนังสือแจ้งเชิญประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุม HLCC 2021 ระหว่างวันที่ 12-22 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในหัวข้อหลักคือ หนึ่งวิสัยทัศน์เพื่อการฟื้นฟูการบิน ความสามารถในการรับมือกับวิกฤตการณ์และความยั่งยืนภายหลังภาวะระบาดใหญ่ทั่วโลก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุฉันทามติร่วมกันตามแนวทางพหุภาคีในการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมการบินที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ และความยั่งยืนในภาคการบินในอนาคต และจะมีการรับรองปฏิญญาภายใต้หัวข้อดังกล่าวด้วย
สำหรับสาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิก โดยเน้นย้ำความสำคัญของการร่วมมือกันระหว่างรัฐสมาชิกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ICAO และองค์การอนามัยโลก (WHO) มีรายละเอียดที่สำคัญเช่น ประเด็น การฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมการบินจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จะสนับสนุนการทำงานของคณะทำงาน ICAO Council Aviation Recovery Taskforce (CART) และให้ความสำคัญของมาตรฐานร่วมในการเดินทาง การทำงานร่วมกันผ่านระบบดิจิทัลแอปพลิเคชัน ตลอดจนการถอดบทเรียนจากโรคระบาดในปัจจุบัน และการทำงานร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศที่สร้างขึ้นบนแนวทางของ ICAO และ WHO รวมทั้งจัดตั้งยุทธศาสตร์ Public Health Corridors ในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี หรือความตกลงในรูปแบบอื่นๆ ที่มีผลเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยอมรับวัคซีนร่วมกันและการลดความเสี่ยงเพิ่มเติมอื่นๆตามความจำเป็น
ขณะที่การประสานกันของแนวปฏิบัติในการเดินทางระหว่างประเทศนั้น ผู้โดยสารทุกคนควรได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ความสามารถในการเดินทางและการได้รับวัคซีนจะต้องไม่เป็นเงื่อนไขสำหรับการเดินทาง รวมถึง การบรรเทาหรือยกเว้นข้อกำหนดในการตรวจหาเชื้อและกักตัวสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ โดยจัดให้มีทางเลือกอื่นๆสำหรับผู้โดยสารที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และการอำนวยความสะดวกการขนส่งวัคซีนทางอากาศ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการต่อสู้กับโควิด-19 โดยเฉพาะการขนส่งไปยังประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น
ตั้ง ‘วิจารย์ สิมาฉายา’ นั่งประธาน ‘องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก’
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้ง วันที่ 19 ตุลาคม 2564 ดังนี้
1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เสนอแต่งตั้ง นายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน กปร. ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ กปร. สำนักงาน กปร. เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
2. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ดังนี้
-
1. นายวิจารย์ สิมาฉายา เป็นประธานกรรมการ
2. นายสมชาย รังษีธนานนท์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารธุรกิจ
3. นายสมิทธ์ พนมยงค์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงาน
4. นายสุธา ขาวเธียร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
5. นายขวัญชัย ดวงสถาพร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านป่าไม้
6. นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 19 ตุลาคม 2564เพิ่มเติม