ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ สั่ง สธ. สอบนำเข้า ATK ปลอม -มติ ครม. ไฟเขียว 58 รัฐวิสาหกิจ จัดซื้อวัคซีนโควิดฯ ฉีดพนักงาน

นายกฯ สั่ง สธ. สอบนำเข้า ATK ปลอม -มติ ครม. ไฟเขียว 58 รัฐวิสาหกิจ จัดซื้อวัคซีนโควิดฯ ฉีดพนักงาน

9 พฤศจิกายน 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯ เล็งจัดทำ MOU นำเข้าแรงงานต่างด้าวปลอดโควิดฯ-สั่ง สธ.สอบ ATK ปลอม — มติ ครม. ไฟเขียวรัฐวิสาหกิจจัดซื้อวัคซีนโควิดฯ ฉีดพนักงาน — จัดงบฯ 1,334 ล้าน สั่งซื้อ “โมลนูพิราเวียร์”-เยียวยาโควิด-19

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ดร. ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

ดร. ธนกร กล่าวว่า ประเทศไทยจะมีการรับมอบตำแหน่งเจ้าภาพในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ก่อนที่จะเตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC โดยนายกรัฐมนตรีได้หารือกับนายกรัฐมนตรีประเทศนิซีแลนด์ถึงประเด็นดังกล่าว

ดร. ธนกร กล่าวถึงความสำเร็จของการเปิดประเทศว่า นายกรัฐมนตรีขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด และได้มีการเล่าความสำเร็จในที่ประชุม COP26 ซึ่งหลายประเทศจะนำโมเดลของไทยไปปรับใช้ อีกทั้งยังฝากทุกหน่วยงานช่วยกัน ปิดช่องโหว่ในการดำเนินงานตรวจรับเอกสารเข้าไทย รวมทั้งให้สถานประกอบการกำชับ และดูแลตัวเองอย่างเข้มงวด

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังได้รายงานความคืบหน้าโครงการสวนป่าเบญจกิติ พื้นที่ 450 ไร่ โดยจะเตรียมพร้อมเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 เพื่อน้อยถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงสวนลุมพินีกับสวนสาธารณะที่ใกล้เคียงเพื่อเปลี่ยนโฉมกรุงเทพฯ ให้เป็น Amazing Natural Park

นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการประชุมครม.สัญจรครั้งที่ 1 ประจำปี 2564 ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2564 จากที่ไปตรวจราชการที่จังหวัดกระบี่และตรัง พร้อมกับหารือผู้ประกอบการในพื้นที่ นับเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ครั้งที่ 1

สั่งเร่งระบายน้ำ-วางกระสอบทราย รับมือน้ำทะเลหนุน

จากนั้น ดร.ธนกร ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนถึง แผนการแก้ปัญหาน้ำทะเลหนุนในระยะยาว ประเด็นนี้ นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า “เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น้ำจากทางภาคเหนือไหลลงมา ขณะที่น้ำทะเลหนุน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น จึงได้สั่งการในที่ประชุม ครม. ขอให้หามาตรการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กระสอบทราย และเร่งใช้เครื่องสูบน้ำระบายออกทะเลโดยเร็วที่สุด”

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการผู้เกี่ยวข้องในที่ประชุม ครม.ให้ช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำท่วม และเยียวยาประชาชน ส่วนพื้นที่น้ำลดให้ดำเนินการซ่อมแซมให้เร็วที่สุด

ตอบปมเหยียดคนอีสาน ขอให้อดทน

นายกรัฐมนตรียังแสดงความคิดเห็นกับกระแสเหยียดคนอีสานในโซเชียลมีเดียว่า “เป็นการกระทำที่ไม่สมควร คนไทยไม่ควรปฏิบัติเช่นนี้ เพราะทุกคนคือคนไทย นายกรัฐมนตรีกำลังดำเนินการสร้างความเข้มแข็งทุกมิติให้กับทุกภาค ภาคอีสานก็มีความสำคัญกับประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรกร ควรจะยกย่องชมเชยมากกว่า ขอให้เข้มแข็งอดทน”

เล็งจัดทำ MOU นำเข้าแรงงานต่างด้าวปลอดโควิดฯ

ส่วนคำถามที่ว่าหลังประกาศเปิดประเทศแล้ว ปรากฎว่ามีแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทยจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ดร.ธนกร ชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรีได้หารือประเด็นนี้ในที่ประชุม ครม. และขอให้พิจารณาจัดทำ MOU นำเข้าแรงงานที่ปลอดภัยจากโควิด-19 และขอความร่วมมือกับกิจการที่ขาดแคลนแรงงาน ช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการค้ามนุษย์

สั่ง สธ.สอบนำเข้า ATK ปลอม

ดร.ธนกรตอบคำถามจากสื่อมวลชนว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหา ATK ปลอมอย่างไร รวมถึง ATK ที่ให้ผลไม่ตรงกับความเป็นจริง (ผลลวง) ว่า “ประเด็นนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังสอบสวนว่านำเข้ามาถูกกฎหมายหรือไม่ และต้องหาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป ส่วน ATK ที่ให้ผลไม่ตรง ต้องดูมีการเจือปนระหว่างการใช้งานหรือไม่ และปลอมหรือเปล่า”

ส่วนคำถามที่ว่านายกรัฐมนตรีวิตกกับคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อหรือไม่ เพราะประชาชนบางส่วนเริ่มหละหลวมกับมาตรการป้องกัน โดยดร.ธนกรกล่าวว่า “คำตอบอยู่ที่คำถามอยู่แล้ว โดยเฉพาะธุรกิจบันเทิงต้องไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่ระมัดระวัง รัฐบาลไม่อยากให้มีการล็อกดาวน์ที่ไม่จำเป็น ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน”

มติ ครม.มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ไฟเขียวรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง จัดหาวัคซีนโควิดฯ ฉีดพนักงาน

ดร. ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติเห็นชอบการกำหนดเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน สำหรับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่รัฐวิสาหกิจนั้น อาจดำเนินการเองได้ ตามมาตรา 13(2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 กรณีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้รัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมสามารถจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (ซิโนฟาร์ม) จากกรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้การบริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุข เพื่อให้บริการแก่พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ ตามระเบียบและแผนการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ โดยไม่ให้มีผลกระทบต่องบประมาณและให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (ซิโนฟาร์ม) จากรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ซึ่งในปี 2564 มีรัฐวิสาหกิจจำนวนทั้งสิ้น 58 แห่ง และมีพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งสิ้นจำนวน 261,464 คน โดยในจำนวนนี้ มีรัฐวิสาหกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหาวัคซีนรวมทั้งสิ้น 40 แห่ง และมีพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่แสดงความประสงค์ขอรับการฉีดวัคซีนจำนวนทั้งสิ้น 117,677 คน

สำหรับอัตราค่าใช้จ่าย จะคำนวณจากราคาวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 ตัวเลือก (ซิโนฟาร์ม) ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งในปี 2564 กำหนดไว้จำนวน 2 เข็ม x จำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจที่ประสงค์ขอรับวัคซีน 117,677 คน และในปี 2565-2568 จำนวน 2 เข็ม x จำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจในปี 2564 ทั้งหมด 261,464 คน จากรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 58 แห่ง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อผลักดันการเปิดประเทศ ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะได้รับเป็นสำคัญ ตามความจำเป็น คุ้มค่า และประหยัด ซึ่งจะมีระบบการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบค่าใช้จ่าย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข อัตราที่กำหนด ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อีกด้วย

เห็นชอบ กคช.ร่วมทุนเอกชนตั้ง “เคหะสุขประชา” พัฒนาอสังหาฯ

ดร. ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งบริษัทในเครือของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) “บริษัทเคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน)” (บมจ. เคหะสุขประชา) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และเห็นชอบการปรับเพิ่มกรอบงบลงทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 หมวดลงทุนอื่น ๆ โดยเพิ่มทั้งวงเงินดำเนินการและเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 245 ล้านบาท ตามสัดส่วนที่ กคช. ถือหุ้นร้อยละ 49 จากทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท โดยเห็นชอบให้ กคช. นำรูปแบบแนวทาง PPP (Public Private Partnership) ตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 62 มาใช้ในการดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ “บมจ.เคหะสุขประชา” นั้นจะเป็นกลไกในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ภาคที่อยู่อาศัย รวมทั้งยกระดับเศรษฐกิจในครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยในชุมชน โดยจะดำเนินการดังนี้

    1) พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภาคที่อยู่อาศัย โดยจัดทำโครงการบ้านเช่าฯ จำนวน 100,000 หน่วย ภายใน 4 ปี (ปี 65-68) แบ่งเป็น ปี 65-66 ปีละ 30,000 หน่วย และปี 67-68 ปีละ 20,000 หน่วย โดยรูปแบบที่อยู่อาศัย4 รูปแบบ ครอบคลุม 4 กลุ่มเป้าหมายดังนี้ กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ แบบบ้านแฝดชั้นเดียว/2ชั้น ที่ดิน 16 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 1,500 บาทต่อเดือน กลุ่มผู้มีสถานะโสด แบบบ้านแฝดชั้นเดียว/2ชั้น ที่ดิน 16 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 2,000 บาทต่อเดือน กลุ่มครัวเรือนใหม่ แบบบ้านแฝดชั้นเดียว/2ชั้น ที่ดิน 17.5 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 40 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 2,500 บาทต่อ เดือน กลุ่มครอบครัว แบบบ้านแฝดชั้นเดียว/2ชั้น ที่ดิน 20 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 50 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 3,500 บาทต่อเดือน ประมาณการรายรับภายใน 4 ปี (ปี 65-68) 60,000 ล้านบาท
    2) รับซื้อทรัพย์สินมาบริหารการขาย โดยรับซื้ออาคารคงเหลือ จาก กคช. เช่นโครงการบ้านเอื้ออาทร ประมาณ 18,000 หน่วย ภายใน 2 ปี (ปีละ 9,000 หน่วย) (ปี 64-66) นำมาบริหารการขาย 4 ปี (ปี 65จำนวน 7,200 หน่วย ปี 66 จำนวน 6,000 หน่วย ปี 67 จำนวน 1,800 หน่วย ปี 68 จำนวน 3,000 หน่วย) ประมาณการมูลค่าการขายรวม 10,890 ล้านบาท
    3) พัฒนาและบริหารชุมชน โดยจะบริหารชุมชนของโครงการบ้านเช่าฯ และรับจ้างดูแลโครงการตามแผนแม่บทฯ รวมจำนวน 200,000 หน่วย โดยจะคิดค่าดำเนินการพัฒนาธุรกิจร้อยละ 5 ของรายได้ 40,000 บาทต่อครอบครัว ประมาณการรายรับ 2,400 ล้านบาทต่อปี
    4) พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (เศรษฐกิจสุขประชา) ในพื้นที่โครงการบ้านเช่า ประมาณ 330 โครงการ อาทิ ตลาดนัดชุมชน ร้านสะดวกซื้อ เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น ประมาณการรายรับ 2,400 ล้านบาทต่อปี
    5) บริหารทรัพย์สินรอการพัฒนา Sunk cost จำนวน 94 แปลง (4,571 ไร่) มูลค่ารวม 12,500 ล้านบาท ประมาณการรายได้พึงรับ 125 ล้านบาท/ปี

สำหรับเงินทุนจดทะเบียนและสัดส่วนการร่วมทุน จะประกอบไปด้วยเงินทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท โดยเงินลงทุนจาก กคช. จำนวน 245 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 49) เงินลงทุนจากภาคเอกชน จำนวน 255 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 51)

“บมจ.เคหะสุขประชา เป็นรูปแบบการร่วมทุนของภาครัฐและเอกชน เพื่อจะพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานโดยเฉพาะที่อยู่อาศัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ผู้มีรายได้น้อยตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (60-79) อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกระดับ เพื่อนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ดร. ธนกร กล่าว

เตรียมเปิด “สวนป่าเบญจกิติ” 12 ส.ค.2565

ดร. ธนกร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบความคืบหน้าโครงการ “สวนป่าเบญจกิติ” ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อพ.ศ. 2534 ในการพัฒนาพื้นที่โรงงานยาสูบเดิม ในเนื้อที่ประมาณ 450 ไร่ ให้เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สวนน้ำ เนื้อที่ 130 ไร่ และ สวนป่า เนื้อที่ 320 ไร่ โดนพื้นที่ส่วนน้ำได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเสด็จร่วมพิธีเปิด เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2557 สำหรับพื้นที่สวนป่า ได้แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 พื้นที่ 61 ไร่ ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 พร้อมมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด

ดร.ธนกร กล่าวว่า ขณะนี้ สวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ในพื้นที่ 259 ไร่ โดยมีการลงนาม MOU ระหว่างกรมธนารักษ์ และกองทัพบก เพื่อเริ่มดำเนินการจัดสร้างโครงการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ซึ่งได้แบ่งพื้นที่ก่อสร้างออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 มีพื้นที่ 160 ไร่ และส่วนมี 2 มีพื้นที่ 103 ไร่ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมให้บริการในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ทั้งนี้ การออกแบบสวนป่าเบญจกิติระยะที่ 2 และระยะที่ 3 พื้นที่ 259 ไร่ อยู่ภายใต้แนวคิดเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปลูกป่าในใจคน ด้วยการส่งเสริมสวนป่าเบญจกิติให้เป็นสวนป่าสำหรับคนเมือง ด้วยพื้นที่สวนสาธารณะที่มีความหลากหลาย ตอบสนองการใช้งานหลายรูปแบบ อาทิ อัฒจันทร์กลางแจ้งขนาดใหญ่ อัฒจันทร์ อาคารพิพิธภัณฑ์ ลานกิจกรรมแปลงนาสาธิต พื้นที่ออกกำลังกาย ทั้งอาคารกีฬาในร่ม เส้นทางปั่นจักรยาน และเส้นทางวิ่ง เป็นต้น

สวนป่าเบญจกิติยังมีการใช้พืชพันธุ์ที่หลากหลาย โดยมีพันธุ์ไม้หายากกว่า 350 ชนิด และมีไม้ดอกสวยงาม ที่ออกดอกตามฤดูกาล ทำให้เป็นสวนป่าที่มีสีสันและมีชีวิตชีวาตลอดทั้งปี ทั้งนี้ โครงการสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ยังได้มีโครงการเชื่อมต่อสวนสาธารณะบริเวณใกล้เคียงกันในใจกลางเมือง กทม. บริเวณย่านสุขุมวิท อาทิ สวนลุมพินี เพื่อเป็นการเชื่อมโยงชุมชนเมือง ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของคนในชุมชนอีกด้วย เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงนิเวศในเมืองที่จะส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียวอื่น ๆ ใน กทม. ต่อไป

ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรียังได้เชิญชวน คณะรัฐมนตรีเยี่ยมชมและตรวจความพร้อมก่อนเปิดสวนเบญจกิติอย่างเป็นทางการพร้อมเสนอแนวทางการปลูกพันธุ์ไม้ที่หลากหลาย เพื่อสร้างสีสันให้เมือง การจัดให้มีพี้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง ที่จอดรถ การเชื่องโยงการกับการเดินทางสาธารณะ รวมทั้งติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ รวมทั้งกล้องวงจรปิด เพื่อดูแลความปลอดภัย ซึ่งในอนาคต จะมีการเชื่อมโยงกับสวนลุมพินี และสวนสาธารณะอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันด้วย ซึ่งจะเป็นการปรับโฉมกรุงเทพมหานคร ให้เป็นเมือง Amazing Natural Park ด้วย

แจงกำหนดการ ครม.สัญจรกระบี่ 15-16 พ.ย.นี้

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมเดินทางตรวจราชการจังหวัดกระบี่ และจังหวัดตรัง และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม. สัญจร) ครั้งที่ 1/2564 ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2564 ณ จังหวัดกระบี่ ติดตามความก้าวหน้าพร้อมหารือผู้ประกอบการในพื้นที่ ภายหลังจากที่มีการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภารกิจนายกรัฐมนตรี ดังนี้

ช่วงเช้าของวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปจังหวัดกระบี่ เพื่อรับฟังบรรยายสรุป โครงการปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติ จ.กระบี่ จากนั้นไปยังศูนย์พัฒนาประสิทธิภาพการให้ความช่วยเหลือและสร้างความปลอดภัยทางการท่องเที่ยว ต.ไสไทย อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกระบี่ ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์นี้ขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่ได้คุณภาพมาตรฐานสากล เป็นสถานที่ฝึกอบรมฝึกสอนด้านการดับเพลิง และกู้ภัยแก่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจจากจังหวัดอื่นๆ ให้มาศึกษาหลักสูตรการดับเพลิง และการกู้ภัยที่ครบวงจร จากนั้น เดินทางไปยังศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามันเทศบาลเมืองกระบี่ ต.ปากน้ำ เพื่อเป็นประธานพิธีในเปิดศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนสินค้าโอทอปชุมชน (ANDAMAN OTOP SHOP) 6 จังหวัด (ระนอง ภูเก็ต พังงาน กระบี่ ตรัง และสตูล) พร้อมเยี่ยมชมศูนย์จำหน่ายและทักทายผู้ประกอบการร้านค้าและประชาชน

ส่วนในช่วงบ่ายของวัน 15 พฤศจิกายน 2564 นายกรัฐมนตรีและคณะจะตรวจเยี่ยมชุมชนท่องเที่ยวคลองหรูด (คลองน้ำใส) ต.หนองทะเล และ เป็นประธานพิธีเปิดอุทยานต้อนรับการท่องเที่ยวเมืองกระบี่ และพบผู้ประกอบการ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน พร้อมร่วมปลูกต้นจิกทะเล ณ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่

วันที่ 16 15 พฤศจิกายน 2564 นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุม ครม.สัญจร ณ โรงแรมโซฟิเทล กระบี่ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท โดยก่อนการประชุม นายกรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมนิทรรศการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จากนั้น เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ร่วมกับผู้ว่าราชการ 6 จังหวัด ต่อด้วยการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 ซึ่งภายหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีออกเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปยัง จังหวัดตรัง เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิด “ท่าเรือปากเมง เปิดประตูสู่อันดามัน” ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างท่าเรือฯ เนื่องมาจากอายุการใช้งานของท่าเรือที่มีมากกว่า 20 ปี ทำให้ท่าเรือฯ มีสภาพชำรุดทรุดโทรม อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อนักม่องเที่ยวที่ใช้บริการ ปัจจุบันการปรับปรุงแล้วเสร็จ คาดว่าจะพร้อมให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว พร้อมต้อนรับการเปิดประเทศและการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดตรัง รับนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากหาดปากเมงไปยังแหล่งท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการจำนวนมาก โอกาสนี้ นายกฯ พบผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร

ดร.ธนกร กล่าวว่า การประชุม ครม.สัญจร จังหวัดกระบี่ในครั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศ “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยว โดยได้มีการบริหารจัดการรองรับนักท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมโยง Phuket Sandbox และ Samui Plus Model เป็นจุดที่จะส่งต่อนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เพื่อกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นมากที่สุด ยกระดับการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานและคุณภาพระดับโลก นอกจากนี้ ยังมีการหารือกับภาคธุรกิจ เอกชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ เพี่อส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ในประเทศ จำเป็นต้องทีการปรับตัวและแก้ไขปัญหา ควบคู่ไปกับการพัฒนา โดยต้องอาศัยเทคโนโลยีและการเชื่อมโยงของแหล่งท่องเที่ยวให้มีศักยภาพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังการลงพื้นที่ในครั้งนี้ จะสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ตามมาตรการด้านสาธารณสุข การป้องกันโรคที่ยังเข้มงวด และอีกด้านหนึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง

มอบสำนักงบ ฯจัดสรรเงินลงตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฯ ฉบับที่ 13

ดร. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าประชุม ครม. รับทราบสาระสำคัญร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ เป็นแผนระดับที่ 2 ซึ่งเป็นกลไกในการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ โดยระบุทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ควรให้ความสำคัญในระยะ 5 ปี ภายใต้หลักการและแนวคิดสำคัญ 4 ประการ คือ 1) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2) แนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” (Resilience) มุ่งเน้นการลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลง และการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพและยั่งยืน 3) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และ 4) โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) รวมทั้งคำนึงถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย

สำหรับวัตถุประสงค์ของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 คือ เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายหลักที่ต้องการบรรลุผล 5 ประการ คือ 1.การปรับโครงการสร้างผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม 2.การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ 3.การมุ่งสู่สังคมโอกาสและความเป็นธรรม 4.การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน และ5.การเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่ พร้อมกำหนด 13 หมุดหมายของการพัฒนา เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ที่ชัดเจนใน 4 มิติ ดังนี้

    1.มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย 6 หมุดหมาย คือ 1) ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง 2) ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน 3) ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน 4) ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง 5) ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค 6) ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน
    2.มิติโอกาสและความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย 3 หมุดหมาย คือ 7) ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ 8) ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน 9) ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและคนไทยทุกคน มีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม
    3.มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 2 หมุดหมายคือ 10) ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ 11) ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบ จากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    4.มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย 2 หมุดหมายคือ 12) ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต 13) ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

ดร. รัชดา กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมอบหมายให้ สศช. ประสานงานกับ สำนักงบประมาณ เพื่อกำหนดกลไกที่เหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณ และให้ สศช. นำความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาพิจารณาปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และ ครม. พิจารณาความเหมาะสมตามลำดับต่อไป

ไฟเขียวไทยเข้าร่วม FTA “อาเซียน-แคนาดา”

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ว่า ครม.เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-แคนาดา พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ของไทย และร่างเอกสารขอบเขตสาระที่จะเจรจาในการจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา ซึ่งจะมีการเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน – แคนาดา ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – แคนาดา ครั้งที่ 10 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ การเจรจาในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเปิดเสรีทางการค้าผ่านการลดอุปสรรคทางการค้าทางภาษีและที่มิใช่ภาษีในสินค้าทั้งหมดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งเสริมการค้าบริการในสาขาที่สำคัญ และขยายโอกาสด้านการลงทุน ซึ่งการเจรจาในชั้นนี้ยังไม่มีผลผูกผันทางกฎหมาย สำหรับสาระสำคัญของเอกสารทั้ง 2 ฉบับ มีดังนี้

    1.ร่างกรอบการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ของไทย มีสาระสำคัญเป็นการ วางกรอบแนวทางการเจรจาของไทย เพื่อขยายโอกาสการค้าการลงทุน เพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วนในประเทศ เพื่อเจรจาให้ได้ประโยชน์ในภาพรวมสูงสุดกับประเทศ โดยคำนึงถึงความพร้อมระดับการพัฒนาและภูมิคุ้มกันของประเทศ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
    2.ร่างเอกสารขอบเขตสาระที่จะเจรจาในการจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา เป็นการสร้างพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันระหว่างอาเซียนและแคนาดา ถึงขอบเขตประเด็นที่จะเจรจาประกอบด้วย หลักการทั่วไป วัตถุประสงค์ของการเจรจา ตลอดจนหัวข้อสำคัญในการเจรจา ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การค้าสินค้า มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้า กฎว่าด้วยถิ่นกาเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอานวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า แนวทางปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบการค้าและบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน สิ่งแวดล้อม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นโยบายแข่งขันทางการค้า วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ความร่วมมือด้านเทคนิคและเศรษฐกิจ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความโปร่งใส การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ กลไกการจัดการเชิงสถาบัน วัฒนธรรม และเรื่องอื่นๆ ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นการผูกมัดผลการเจรจาที่จะเกิดขึ้น

ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับการเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-แคนนาดา อาทิ 1.GDP ของไทยจะเพิ่มขึ้น ประมาณการได้ตั้งแต่ 7,968 – 254,953 ล้านบาท ตามสมมติฐานที่แตกต่างกัน 2.FTA ช่วยเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของไทยไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งไทยยังไม่เคยมี FTA ด้วยมาก่อน 3.กลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะส่งออกไปแคนาดาเพิ่มขึ้น อาทิ (1)สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ปรุงรส (2)ผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางรถยนต์ ถุงมือยาง (3)เครื่องมือและเครื่องจักร เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ส่วนกลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะนำเข้าจากแคนาดามากขึ้น อาทิ (1)ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อหมูและเครื่องใน เนื้อปลาแช่แข็ง (2)ธัญพืช เช่นข้าวสาลี (3)ไม้แปรรูป เช่น แผ่นชิ้นไม้อัดเรียงแถว เฟอร์นิเจอร์ไม้

อย่างไรก็ตาม การเจรจา FTA กับแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจส่งผลให้ภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และผู้ประกอบการของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น และต้องมีการยกระดับมาตรการกฎระเบียบในเรื่องต่างๆ ให้เป็นสากลมากขึ้น เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การค้าดิจิทัล สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม การแข่งขันทางการค้า และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งข้อกังวลในเรื่องต่างๆ นี้ ขอย้ำว่ารัฐบาลจะเจรจาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจุบันไทยการจัดทำความตกลงการค้าเสรี FTA จำนวน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ โดยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง อินเดีย เปรู และชิลี และไทย ซึ่งครอบคลุมร้อยละ 63 ของการค้าทั้งหมดของไทย มากไปกว่านั้น ยังได้จัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ที่มีสมาชิกประกอบด้วยอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งความตกลง RCEP จะมีผลบังใช้ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ส่งผลให้สินค้าไทยกว่า 2.9 หมื่นรายการ ได้ลดภาษีเหลือ 0% ทันที

จัดงบฯ 1,334 ล้าน สั่งซื้อ “โมลนูพิราเวียร์”-เยียวยาโควิด-19

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ระยะการระบาดระลอกเมษายน 2564 ประจำปีงบประมาณ 2565 พร้อมอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 1,334.945 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 หน่วยงาน ดังนี้ 1. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 528,400,000 บาท 2. กรมการแพทย์ จำนวน 500,000,000 บาท ใช้สำหรับจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ 3. กรมควบคุมโรค จำนวน 58,165,000 บาท และ 4. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จำนวน 248,380,000 บาท และอนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินกิจกรรม และใช้จ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี และเงินเหลือจ่ายจากโครงการที่ ครม.ได้มีมติให้ความเห็นชอบแล้ว ตามมติครม.เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564, 5 พฤษภาคม 2564 และ10สิงหาคม 2564 ซึ่งขยายเวลาไปจนถึงเดือนธันวาคม 2564

สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ระยะการระบาดระลอกเมษายน 2564 ประจำปีงบประมาณ 2565 มีวัตถุประสงค์ 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการสร้างความเชื่อมั่น ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) หรือดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามหลักการแพทย์และสาธารณสุข , ด้านการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันหมู่ และมีความปลอดภัยจากการเสียชีวิตจากโควิด-19 รวมถึงการรักษาระดับความมั่นคงด้านสาธารณสุขได้อย่างต่อเนื่อง , ด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาฟื้นตัว มีอัตราเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) เป็นไปตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล และด้าน เสริมสร้างสังคมและวัฒนธรรม ให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมด้านสังคมและวัฒนธรรมตามเดิมได้ โดยยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค DMHTTA

ทั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชากรในประเทศไทย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ปฏิบัติงานด่านหน้า กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ได้รับการดูแลป้องกัน รักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง สะดวก และรวดเร็ว ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ได้รับการดูแลรักษาจากหน่วยบริการสถานพยาบาลตามระบบการสาธารณสุขที่รัฐจัดให้ตามสิทธิที่พึงได้ ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือน ธันวาคม 2564

ไฟเขียว กลุ่ม GPC ทำสัญญาร่วมทุน สร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.รับทราบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้เห็นชอบแล้ว ตามมติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ซึ่งได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ซึ่งได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินของรัฐเป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อTEU (ตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) ระยะเวลาร่วมลงทุน 35 ปี

สำหรับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียวที่ผ่านการประเมิน หากดำเนินการคัดเลือกใหม่อาจส่งผลให้การเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ F ล่าช้าประมาณ 2 ปี และก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น การที่ปริมาณตู้สินค้าจะเกินขีดความสามารถในการรองรับในปี 2568 รวมถึงข้อจำกัดในการรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ และผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ซึ่งส่งผลต่อประมาณการตู้สินค้าในปัจจุบัน ซึ่งกพอ.พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามเหตุผลและความจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าว

ทั้งนี้การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในการเป็นประตูการค้า การลงทุนของภูมิภาคได้อย่างเต็มศักยภาพ

ผ่านร่าง กม.ออกใบอนุญาต คุม “การผลิต-นำเข้า-จำหน่าย” ภาชนะใส่อาหาร

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหารต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยจากสารเคมีปนเปื้อนที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ และประชาชนจะได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะ และเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหารที่ผลิตจากสารเคมี เช่น พอลิเอทิลีน พอลิพรอพิลีน พอลิสไตลีน พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ และพอลิเมทิลเพนทีน เป็นต้น ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน

ทั้งนี้ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร จะต้องขอรับใบอนุญาตทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 หรือ มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ส่วนผู้จำหน่ายต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นของผู้ได้รับอนุญาตและมีการแสดงเครื่องหมายมาตรฐานถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย

สำหรับผลทางด้านเศรษฐกิจ จะเป็นการส่งเสริมให้ผู้ทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ และป้องกันไม่ให้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยได้กำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 270 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

เห็นชอบแผนพัฒนาชนบท-ขจัดความยากจนอาเซียนปี 2564-68

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนปี 2564-2568 อย่างเป็นทางการ และจะมีการรับรองร่างแผนปฏิบัติการฯในนามของประเทศไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนครั้งที่ 12 ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 โดยมีเป้าหมาย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของคนยากจนในชนบทและช่วยเหลือกลุ่มที่ยากจนที่สุดจากกลุ่มคนในพื้นที่ชนบทให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึง โดยแต่ละประเทศจะใช้ร่างแผนปฏิบัติการฯเป็นแนวทางในการริเริ่มการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การบูรณาการความร่วมมือระดับภูมิภาคต่อไป

สำหรับร่างแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนปี 2564-2568 มีเป้าประสงค์ 5 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ เช่น เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันในชนบท โดยวางแผนการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างชนบทกับเมือง ซึ่งจะนำไปสู่เศรษฐกิจที่มั่นคงในชนบทและลดความยากจนได้ตามเป้าหมาย ด้านการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ เช่น ปรับปรุงการเข้าถึงการศึกษา การฝึกอบรม และการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ ด้านความคุ้มครอง เช่น การบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและการปรับตัวให้เข้ากับ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน

ด้านการเมือง เช่น การสร้างเครือข่ายการพัฒนาชนบทร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน กลุ่มเครือข่ายสตรี เยาวชน คนพิการ และผู้สูงอายุ ด้านกลไกการบูรณาการ เช่น ความเชื่อมโยงของอาเซียนกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการสร้างความตระหนักรู้และการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน

สรุปผลงานรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ปีที่ 2

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปีที่ 2 (25 กรกฎาคม 2563 – 25กรกฎาคม 2564) และให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดทุกกระทรวงรับไปพิจารณาร่างรายงาน ฯอีกครั้งหนึ่ง และส่งการปรับปรุงแก้ไขให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) และให้ สลค.จัดพิมพ์รายงาน พร้อมให้กระทรวงการต่างประเทศแปลบทสรุปสำหรับผู้บริหารเป็นฉบับภาษาอังกฤษเพื่อเผยแพร่ในต่างประเทศ และให้สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์บทสรุปสำหรับผู้บริหารฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการจัดทำรายงานฯ ได้ร่วมกับส่วนราชการจัดทำร่างต้นฉบับรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปีที่ 2 (25 กรกฎาคม 2563 – 25กรกฎาคม 2564) มีสาระสำคัญประกอบด้วย บทสรุปสำหรับผู้บริหาร เช่น สภาพปัญหาก่อนเข้าบริหารประเทศ สถานการณ์หลังการเข้าบริหารประเทศ แนวนโยบายของรัฐบาล ผลการดำเนินงานที่สำคัญของรัฐบาลในช่วงปีที่ 2 ได้แก่ การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ การบริหารจัดการการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19) มาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว การให้ความช่วยเหลือเกษตรกร การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

สำหรับผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ได้แก่ ผลการพัฒนาตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ เช่น ด้านความมั่นคง พบว่า ในปี 2563 ความมั่นคงในทุกมิติและทุกระดับของไทยมีคะแนน 2.245 อยู่ในอันดับที่ 114 จาก 163 ประเทศ ดีขึ้นจากอันดับ 116 ในปี 2562 และผลการประเมินการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศ เช่น ด้านกฎหมาย มีกลไกการออกกฎหมายที่ดีและเท่าที่จำเป็น รวมทั้งมีกลไกในการทบทวนกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และพัฒนากระบวนการจัดทำและตรวจพิจารณาร่างกฎหมายให้รวดเร็ว รอบคอบ และสอดคล้องกับเงื่อนเวลา

นอกจากนี้ยังมีผลการดำเนินงานตามนโยบายหลัก 12 ด้าน เช่น การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก, การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ส่วนผลการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วน มี 12 เรื่อง เช่น การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน โดยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ การปราบปรามการฉ้อโกงหลอกลวงประชาชน และการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย , การช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม ,การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน เป็นต้น

ยันนายกฯไม่ได้สั่งห้ามจัดกิจกรรมวันลอยกระทง

น.ส.ไตรศุลี กล่าวถึงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้นโยบายในที่ประชุม ครม. ว่า ให้งดการกิจกรรมการลอยกระทงนั้น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้ห้ามการจัดกิจกรรมแต่อย่างใด ตามที่สื่อรายงานอาจมีความคลาดเคลื่อน นายกรัฐมนตรีเพียงแต่กำชับให้จัดงานภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวด และให้พิจารณารูปแบบงงานตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ และรูปแบบการจัดงานขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมอนามัยเคร่งครัด

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกแนวทางการจัดงานให้หน่วยงานต่างๆ ถือปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น กำหนดจุดเข้า-ออก มีการลงทะเบียนก่อนข้าและออกจากงาน มีจุดคัดกรองอุณหภูมิ และตรวจสอบความเสี่ยงก่อนเข้างาน เลือกสถานที่จัดงานที่มีการระบายอากาศที่ดี ไม่แออัด เว้นระยะห่างของบูท ร้านค้า โต๊ะ ที่นั่ง อย่างน้อย 1 เมตร กระจายจุดลอยกระทง และมีผู้ควบคุมไม่ให้แออัด แผงลอยหรือพาหนะสำหรับจำหน่ายอาหาร ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดสำหรับพื้นที่จัดบริการอาหารริมบาทวิถี งดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้เข้าร่วมงานสวมหน้ากากตลอดเวลา

โยก 2 รองอธิบดี ขึ้นผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตฯ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงและผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆมีรายละเอียดดังนี้

1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

    1. นายเทอดศักดิ์ เดชคง นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) กรมสุขภาพจิต ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาจิตเวช) สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2564
    2. นายสุริยะ ปิยผดุงกิจ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม) โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

    1. นายธนะ อัลภาชน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    2. นายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวัชร์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564เพิ่มเติม