ThaiPublica > เกาะกระแส > รู้จัก “ณุศาศิริ” – หุ้นส่วนใหม่ “อุดม หวัง” กับธุรกิจสุขภาพและการแพทย์

รู้จัก “ณุศาศิริ” – หุ้นส่วนใหม่ “อุดม หวัง” กับธุรกิจสุขภาพและการแพทย์

13 กันยายน 2021


(ซ้าย) นายวิษณุ เทพเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (ขวา) นายอุดม หวัง บริษัท จีโอบีเอ บอร์ด จำกัด

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ประชาสัมพันธ์บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ได้ส่งภาพข่าวบริษัทณุศาศิริฯ (มหาชน) และ บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ จับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ กับบริษัท จีโอบีเอ บอร์ด จำกัด

ในภาพข่าวบรรยายว่า “คุณวิษณุ เทพเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (WMA) จับมือเซ็นสัญญาร่วมเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับ คุณอุดม หวัง นักธุรกิจใหญ่ของจีน แห่ง บริษัท จีโอบีเอ บอร์ด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจส่งออกและมีเครือข่ายด้านสุขภาพและการแพทย์ในกว่า 30 เมืองใหญ่ทั่วโลก เพื่อร่วมมือขยายธุรกิจ ผลักดัน พัฒนา และต่อยอดธุรกิจด้านสุขภาพและการแพทย์ ของ WMA ให้กว้างขวางในตลาดโลก โดย WMA ที่ได้ดำเนินธุรกิจด้านสุขภาพและการแพทย์ยังได้เปิดแพลตฟอร์มเพื่อสุขภาพและการแพทย์ ชื่อ MORHELLO และยังมีโรงพยาบาล Panacee ที่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ให้บริการทางการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์ทางเลือกแบบองค์รวม และปัจจุบันกำลังพัฒนาความรู้และงานวิจัยในเรื่องกัญชง กัญชา เพื่อสุขภาพและการแพทย์ โดยทั้งสองบริษัทจะร่วมกันผลักดันและต่อยอด รุกธุรกิจด้านสุขภาพ และการแพทย์ เพื่อตอกย้ำให้ประเทศไทยเป็น medical hub ของโลก และก้าวสู่การเป็นผู้นำไปสู่ตลาดต่างประเทศอย่างยิ่งใหญ่ต่อไป”

บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) เป็นชื่อที่อยู่ในการรายงานข่าวของสื่อมวลชนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นับตั้งแต่องค์การเภสัชกรรมประกาศผลประมูลงานจัดหาชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 antigen self-test test kits หรือ ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด ภายใต้การจัดหาอย่างเร่งด่วน ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุก เพื่อค้นหาผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษารวดเร็วขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรค

นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม แถลงข่าวผ่านเว็บไซต์และเฟซบุ๊กองค์การเภสัช เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ให้บริษัท ออสแลนด์ แคปปิตอล จำกัด ซึ่งเสนอราคาต่ำสุด ชุดละ 70 บาท เป็นผู้ชนะ

การประกาศผลเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมยังไม่ปรากฏชื่อบริษัทณุศาศิริ

ทั้งนี้ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ได้รับอนุญาตจาก อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ให้เป็นผู้นำเข้าชุดตรวจ SARS-CoV-2 antigen rapid test kit (colloidal gold immunochromatography) ของบริษัท Beijing Lepu Medical Technology สาธารณรัฐประชาชนจีน (ผู้ผลิต)

ชื่อของบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ปรากฏในการรายงานข่าวการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ในช่วงบ่ายของวันที่ 13 สิงหาคม เมื่อนางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน)(ภรรยานายวิษณุ เทพเจริญ) และนางสาวรังสินี หวังมั่น product specialist บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าชุดตรวจโควิดฯ เล่อปู๋จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกันแถลงข่าวผ่านระบบ ZOOM ชี้แจงกรณีที่ถูก อย. ของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ “FDA สหรัฐฯ” สั่งระงับการใช้ และให้เรียกเก็บสินค้าออกจากตลาด พร้อมกับแสดงหลักฐานยืนยันประสิทธิภาพของชุดตรวจโควิดฯ เล่อปู๋ว่าเป็นไปตามมาตรฐานยุโรป

หลังจากที่นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม แถลงข่าวผ่านเว็บไซต์องค์การเภสัชฯ ในวันที่ 12 สิงหาคมว่า องค์การเภสัชกรรมได้ชะลอการดำเนินการในขั้นตอนการทำสัญญาออกไปก่อน และองค์การฯ กับ อย. จะเร่งทำการตรวจสอบข้อมูลคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในสินค้า เนื่องจากบางหน่วยงานมีความห่วงใยและไม่มั่นใจในคุณภาพของชุดตรวจ และมีการเผยแพร่ข่าวทางสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์

ทั้งนี้ในเช้าวันที่ 12 สิงหาคม นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กชมรมแพทย์ชนบท เรียกร้องให้ “องค์การเภสัชกรรมต้องจัดหา ATK ที่มีคุณภาพมาตรฐานองค์การอนามัยโลก” โดยให้เหตุผลว่า ชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ LEPU ที่ชนะการประมูลนั้นได้ถูกเรียกเก็บสินค้าออกจากตลาดสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ให้ระงับใช้ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดทั้ง antigen rapid test kit และ antibody rapid test kit ของ Lepu Medical Technology เพราะให้ผลการตรวจที่ไม่แม่นยำ

ในการแถลงข่าวบ่ายวันที่ 13 สิงหาคม นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนจำหน่ายชุดตรวจโควิดฯ ของบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมา บริษัทณุศาศิริฯ มีแผนขยายธุรกิจด้านการแพทย์ สุขภาพ และเทคโนโลยี ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของณุศาศิริ

ก่อนหน้านี้บริษัทณุศาศิริฯ ได้เข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลพานาซีเยอรมนี พบว่าหลายประเทศในยุโรป โดยเฉพาะประเทศเยอรมนี มีการใช้และวางจำหน่ายชุดตรวจโควิด-19 แบบด้วยตนเองที่ผลิตโดย Lepu Medical Technology Co., Ltd. สาธารณรัฐประชาชนจีน กันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งได้รับการรับรองจากสมาคมวัคซีนของเยอรมัน และมาตรฐานจาก EU ส่วนในประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. โดยมีบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้นำเข้ามาทำตลาด ดังนั้น บริษัทณุศาศิริฯ จึงเข้าไปติดต่อบริษัทออสท์แลนด์ฯ เพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายมาเสนอขายให้กับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งนำมาขายผ่านแพลตฟอร์ม “MORHELLO” ของ ณุศาศิริ

“หลังจากที่ณุศาศิริได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายชุดตรวจโควิดฯ ยี่ห้อเล่อปู๋ของบริษัทออสท์แลนด์ฯ ทางณุศาศิริก็ให้บริษัทเวิลด์เมดิคอลฯซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเรา เข้าไปลงทุนนำเข้าชุดตรวจโควิดฯ ยี่ห้อเล่อปู๋ 100% รวมทั้งเข้าไปประมูลงานจัดซื้อชุดตรวจโควิดฯ ขององค์การเภสัชฯ จำนวน 8.5 ล้านชุด โดยบริษัทเวิลด์เมดิคอลฯ จะแบ่งผลประโยชน์ให้กับบริษัทออสท์แลนด์ฯ 20% หากเราได้งานนี้ บริษัทเวิลด์เมดิคอลฯ จะเป็นผู้ลงนามในสัญญาจัดซื้อชุดตรวจโควิดฯ กับองค์การเภสัชกรรม ” นางศิริญากล่าว

“เดิมทีเราสั่งซื้อชุดตรวจโควิดฯ เล่อปู๋ผ่านบริษัทออสท์แลนด์ฯ เพื่อนำมาขายผ่านแฟลตฟอร์ม ‘MORHELLO’ ต้นทุนที่รับมาชุดละ 200 บาท ขายผ่านแฟลตฟอร์มชุดละ 270 บาทให้กับลูกค้า หมดเกลี้ยง ไม่มีเหลือ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และห้องเย็น เพื่อนำ ATK ไปตรวจให้กับพนักงานของโรงงาน หรือลูกค้าที่เข้าพักในโรงแรม จึงเริ่มเจรจาต่อรองกับบริษัท Beijing Lepu Medical Technology ซึ่งเป็นผู้ผลิตชุดตรวจโควิดฯ หากสั่งลอตใหญ่ราคาต่อหน่วยก็จะยิ่งถูกลง จึงตัดสินใจเข้าไประมูลงานขององค์การเภสัชฯ”

ต่อมาวันที่ 23 สิงหาคม 2564 บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ได้แถลงข่าวอีกครั้งผ่านระบบ Google

นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด และ กรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด

โดยนางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) และกรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ดิฉันขอประกาศแถลงการณ์ดังๆ ตรงนี้เลยว่า “ขอไม่ทน” อีกต่อไป บริษัทณุศาศิริฯ และบริษัทเวิลด์เมดิคอลฯ จะเป็นผู้นำเข้า ATK เพื่อคนไทยจำนวน 8.5 ล้านชิ้น มาจำหน่ายให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง ในราคาเพียงชุดละ 75 บาท โดยเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่เราประมูลได้จากทางองค์การเภสัชกรรม ทุกท่านที่สนใจสามารถเข้าไปพรีออเดอร์ขั้นต่ำ 1 กล่อง (1 กล่อง มี 25 ชุด) ได้ตั้งแต่วันที่ 23-31 ส.ค. นี้ (สินค้าพรีออเดอร์รับชุดตรวจที่คลินิกและร้านขายยาที่ร่วมโครงการกับ MORHELLO ได้ภายใน 14-30 วัน นับจากรับยอดโอน) หรือ ติดต่อสั่งซื้อได้ที่ Line @Morhello ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป รวมถึงภาคธุรกิจใดที่สนใจใช้ ATK เพื่อใช้กับพนักงานจำนวนมาก ก็อยากเป็นกระบอกเสียงสู่รัฐบาลในเรื่องการลดหย่อนภาษีตรงนี้ให้กับองค์กรต่างๆ ด้วย”

ในวันที่ 30 สิงหาคม เว็บไซต์ องค์การเภสัชฯ รายงานข่าวว่า นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ได้ลงนามสัญญากับบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อจัดซื้อ ATK แบบตรวจด้วยตนเอง จำนวน 8.5 ล้านชุด ให้ สปสช. และโรงพยาบาลราชวิถี หลังจากเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ที่คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ตามโครงการพิเศษของ สปสช. ที่ได้เห็นชอบราคาชุดตรวจ ATK ตามที่องค์การฯ เสนอ และให้โรงพยาบาลราชวิถีดำเนินการจัดซื้อจากองค์การฯ ต่อไป

ณุศาศิริคือใคร

ในเว็บไซต์บริษัทณุศาศิริ ได้ให้ประวัติความเป็นมาของบริษัทฯ ว่า บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) (เดิมชื่อ บริษัท อั่งเปา แอสเสท จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเกรียงกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)) จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2503 เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งทอ โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2535 หุ้นสามัญของบริษัทฯ ได้เข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) และได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี 2537

เนื่องจากผลขาดทุนในช่วงปี 2536-2540 ส่งผลทำให้ในปี 2541 บริษัทฯ ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องการเข้าเกณฑ์อาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีคำสั่งเปลี่ยนหมวดการซื้อขายหุ้นสามัญของบริษัทฯ จากหมวดสิ่งทอ เป็นหมวดบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างแก้ไขดำเนินการ (REHABCO) ต่อมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการแก้ไขตามแผนการแก้ไขให้พ้นเหตุเพิกถอนดังกล่าวตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงอนุมัติให้หุ้นสามัญของบริษัทฯ เปิดทำการซื้อขายในหมวด REHABCO อีกครั้ง ในเดือนเมษายน 2546

จากการเปิดการค้าเสรี รวมถึงการยกเลิกระบบการจัดสรรโควต้าสิ่งทอในต้นปี 2548 ทำให้ภาวการณ์แข่งขันในตลาดการค้ารุนแรงอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาขายของสินค้าสิ่งทอลดลง และทำให้บริษัทฯ ต้องประสบกับภาวะขาดทุน และมีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงสั่งห้ามซื้อขายหุ้นของบริษัทฯ จนกว่าจะพ้นเหตุเพิกถอนและย้ายกลับหมวดปกติ และเมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ยกเลิกหมวด REHABCO และย้ายบริษัทฯ ไปอยู่ในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด (Non-Performing Group)

จากการที่บริษัทฯ ได้ยุติการประกอบธุรกิจด้านสิ่งทอ ในปี 2549 โดยหยุดการผลิตในส่วนโรงปั่นด้ายและโรงทอในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 และหยุดการผลิตในส่วนของแผนกการ์เม้นท์ทั้งหมดในเดือนมิถุนายน 2549 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2549 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แจ้งเพิ่มเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนอีกเหตุหนึ่ง เนื่องด้วยบริษัทฯ มีการหยุดประกอบกิจการเกือบทั้งหมด และสินทรัพย์ที่ใช้ในดำเนินงานของบริษัทฯ ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ภายหลังจากการหยุดกิจการสิ่งทอ บริษัทฯ มีโครงการที่จะดำเนินธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยในปี 2551 บริษัทฯ พยายามปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน 2 แห่ง และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการปรับโครงสร้างหนี้และมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้บริษัทฯ จึงได้เริ่มประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยการเป็นนายหน้าขายห้องชุดและมีรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายคอนโดมิเนียม ปี 2552 บริษัทได้ประกอบธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์อย่างจริงจังโดยเข้าไปลงทุนซื้อห้องชุดคอนโดมิเนียม และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อขาย โดยบริษัทฯ เข้าซื้อทรัพย์สินจาก บริษัท ณุศาศิริ แกรนด์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เคเอ็มพี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด จากกลุ่ม ณุศาศิริ เป็นทรัพย์สินโครงการอสังหาริมทรัพย์รวม 5 โครงการ ในมูลค่ารวมไม่เกิน 2,490 ล้านบาท เพื่อเป็นทรัพย์สินในการดำเนินธุรกิจ และดำเนินการบริหารต่อ

โดยบริษัทฯ ได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “ณุศาศิริ” ซึ่งเป็นแบรนด์เดิมที่มีชื่อเสียงในกลุ่มลูกค้าระดับบนอยู่แล้ว และบริษัทฯ ยังได้รับสิทธิให้ใช้เครื่องหมายบริการ “บ้านกฤษณา” ในโครงการบ้านกฤษณา-พระราม 5 ซึ่งเป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักพอสมควร สินทรัพย์ที่ซื้อมา ตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ บริษัทฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 เพื่อเป็นทรัพย์สินในการดำเนินธุรกิจและทำให้บริษัทฯ มีผลประกอบการกำไร เพื่อแก้ไขเหตุแห่งการถูกเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สินทรัพย์ที่ซื้อมาประกอบด้วย
1.พื้นที่ส่วนพลาซ่าของอาคารชุด โครงการณุศาศิริ แกรนด์ คอนโด (สุขุมวิท – เอกมัย)
2.ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโครงการณุศาศิริ สาทร – วงแหวน
3.ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของ โครงการณุศาศิริ สาทร – ปิ่นเกล้า
4.ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโครงการณุศาศิริ พระราม 2
5.โครงการบ้านกฤษณา พระราม 5 – กาญจนาภิเษก

โดยชำระเป็นเงินสดไม่เกิน 1,500 ล้านบาท และชำระเป็นหุ้นเพิ่มทุนให้กลุ่ม ณุศาศิริ ไม่เกิน 3,304.38 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 0.35 บาท คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 1,156.53 ล้านบาท และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อั่งเปา แอสเสท จำกัด (มหาชน) บริษัทได้รับอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์ให้กลับเข้าซื้อขายในหมวดอสังหาริมทรัพย์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 และได้เปิดตัวโครงการในนามบริษัทฯ อีก 2 โครงการ ได้แก่
1.โครงการคอนโดมิเนียม Up Ekamai ถนนเอกมัย
2.โครงการคอนโดมิเนียม Parc Exo ถนนเกษตร-นวมินทร์

ในปี 2555 ได้เปิดตัวโครงการแนบราบ 1 โครงการ ได้แก่ โครงการบ้านเดี่ยว ณ ราธร ถนนสุวินทวงศ์

ในปี 2556 ได้เปิดตัวโครงการสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัด 2 โครงการ โดยมุ่งเน้นการลงทุนไปยังจังหวัดที่มีศักยภาพและมีความเติบโตของความต้องการที่พักอาศัยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1.โครงการบ้านเดี่ยว Nusa Chivani Pattaya พัทยา จังหวัดชลบุรี
2.โครงการบ้านเดี่ยวและที่ดินจัดสรร My Ozone เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา บริหารโดยบริษัทย่อยของบริษัท
ปัจจุบันรายได้หลักของบริษัทฯ มาจากการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อจำหน่ายโดยรับรู้รายได้ จากโครงการที่พัฒนาเสร็จแล้วได้แก่ โครงการ Chivani Pattaya ณุศาศิริพระราม 2 โครงการกฤษณาพระราม 5 โครงการ ณ ราธร โครงการ Parc Exo และโครงการ My Ozone

นายอุดม หวัง ภาพจากหน้าจอ youtube ที่มาภาพ:https://www.youtube.com/watch?v=_b8iKCbvkn0

รู้จักหุ้นส่วนใหม่ “อุดม หวัง”

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งการจัดสรรหุ้นให้ PP ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ตามมติผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 มีมติให้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด จำนวน 2,000,000,000 หุ้น ให้แก่บุคคลทั้ง 4 รายดังนี้ 1. บริษัท จีโอบีเอ บอร์ด จำกัด จำนวน 1,000,000,000 หุ้น 2. บริษัท ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ จํากัด จำนวน 500,000,000 หุ้น 3. บริษัท ซีบีดี เอ็กซ์ตร้า จำกัด จำนวน 400,000,000 หุ้น 4. Mr. Oudom จำนวน 100,000,000 หุ้น

ตามมติหากการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเกินระยะเวลา 3 เดือน ที่ประชุมมีมติมอบให้คณะกรรมการบริษัท และ/หรือ บุคคลที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย พิจารณากำหนดตัวบุคคล และราคาเสนอขายใหม่ โดยเป็นบุคคลในวงจำกัด 4 รายเดิม หรือบุคคลในวงจำกัดกลุ่มใหม่ก็ได้ซึ่งราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัดดังกล่าวหรือรายใหม่เป็นราคาที่ไม่มีส่วนลดจากราคาตลาด จึงไม่เข้าข่ายเป็นการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดตามที่กำหนดในประกาศที่ ทจ. 72/2558

และเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 คณะกรรมการบริษัทได้มีมติมอบหมายได้มอบให้กรรมการบริหารหรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ/หรือ บุคคลที่คณะกรรมการบริษัทหรือคณะกรรมการบริหารมอบหมาย มีอำนาจพิจารณากำหนดตัวบุคคล ราคา และเงื่อนไขการเสนอขาย ตามที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น

ณ ปัจจุบันบริษัทได้มีการเสนอขายไปแล้ว จำนวน 2 ครั้ง คือ Mr.Oudom จำนวน 100 ล้านหุ้น และบริษัทจีโอบีเอ บอร์ด จำกัด จำนวน 200 ล้านหุ้น คงเหลือหุ้น จำนวน 1,700,000,000 หุ้น ดังนั้น จากมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 8/2564 วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติให้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนบางส่วนที่เหลือให้กับ Mr.Oudom เพิ่มจำนวน 200,000,000 หุ้น ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ราคาเสนอขาย 0.50 บาท

วันที่ 9 กันยายน 2564 Morhello Official ได้อัปโหลดคลิปที่มีชื่อว่า คุณ “อุดม หวัง” นั่งประธานกรรมการคนใหม่ World Medical Alliance พร้อมให้โอวาทพนักงาน ผ่าน Youtube

ก่อนหน้านี้วันพฤหัสบดี ที่ 30 กรกฎาคม 2563 สำนักข่าวอิศราได้รายงานข่าวเรื่อง แกะรอย ‘อุดม หวัง’ นักธุรกิจลาวโยงคดีต่างด้าว เคยแจ้งสัญชาติ ‘วานูอาตู’-กก.16 บริษัท ไว้ว่า พลิกปูม ‘อุดม หวัง’ นักธุรกิจลาว ผู้ถือหุ้น บ. ไถ่ซีพัฒนา กรุ๊ป 294 ล. โยงคดีอาเปา แซ่เซิน สวมสัญชาติไทยทำธุรกิจ พบช่วงปี 2557-2560 เคยแจ้งเป็นคน ‘วานูอาตู’ ล่าสุดมีชื่อเป็นกรรมการ 16 บริษัท

สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวว่า คดีคนต่างด้าว กลุ่มนายอาเปา แซ่เซิน สวมสิทธิสัญชาติไทยจดทะเบียนจัตตั้งบริษัททำธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เกี่ยวพันกับนิติบุคคลอย่างน้อย 4 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่ บริษัท ไถ่ซี่ พัฒนา กรุ๊ป จำกัด ประกอบธุรกิจให้เช่าสังหาริมทรัพย์ทุกชนิด เป็นนายหน้าตัวแทนเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์

รายงานข่าวได้ให้ข้อมูลว่า บริษัท ไถ่ซี่ พัฒนา กรุ๊ป จำกัด จดทะเบียนวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ชื่อ บริษัท เมลโกลด์พัฒนากรุ๊ป จำกัด ทุน 1 ล้านบาท น.ส.ปัณชญา เหล่าบัณฑิต เป็นกรรมการและถือหุ้นใหญ่ช่วงก่อตั้ง ต่อมา 26 ตุลาคม 2554 เพิ่มทุนเป็น 600 ล้านบาท ประกอบธุรกิจให้เช่าสังหาริมทรัพย์ทุกชนิด เป็นนายหน้า-ตัวแทน เช่า-ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งเลขที่ 202 อาคารเลอคองคอร์ด ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้ถือหุ้นครั้งล่าสุด มีนายอุดม หวัง (สัญชาติลาว) และ นายกิตติพัทร์ สุขหิรัญวัฒนชัย เป็นกรรมการ และงบการเงินบริษัท ไถ่ซี่ พัฒนา กรุ๊ป จำกัด ที่แจ้งว่า มีเงินลงทุนระยะยาวในบริษัทต่างๆ ในปี 2561 และ 2562 รวม 26 บริษัท รวม เป็นเงิน 1,986,430,000 บาท

ในรายงานข่าวเดียวกันนี้สำนักข่าวอิศราได้ให้ ข้อมูลเกี่ยวกับนายอุดม หวัง ดังนี้

1. ข้อมูลเกี่ยวกับสัญชาติ และที่อยู่ นายอุดม หวัง
จากการตรวจสอบเอกสารบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) บริษัท ไถ่ซี่ พัฒนา กรุ๊ป จำกัด

ณ วันที่ 19 ธ.ค. 2557 (เข้ามาถือหุ้นครั้งแรก), 30 เม.ย. 2558, 8 ต.ค. 2558, 15 ก.ค. 2559, 15 ต.ค. 2560 ระบุอาชีพนักธุรกิจ สัญชาติ วานูอาตู ที่อยู่ เลขที่ 202 ชั้นที่ 21 อาคารเลอ คองคอร์ด ถ.รัชดาภิเษก แขวงและเขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ

ที่มาภาพ: สำนักข่าวอิศรา (https://www.isranews.org/article/isranews/90773-report0.html)
ที่มาภาพ: สำนักข่าวอิศรา (https://www.isranews.org/article/isranews/90773-report0.html)
ที่มาภาพ: สำนักข่าวอิศรา https://www.isranews.org/article/isranews/90773-report0.html

ณ วันที่ 30 ม.ค. 2561, 30 เม.ย.2 562 และ 1 ก.ค. 2563 จำนวน 2,940,000 หุ้น (40% มูลค่า 294 ล้านบาท) จากจำนวน 6,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ระบุอาชีพเป็นนักธุรกิจสัญชาติ ลาว ที่อยู่คือ หมู่บ้านแสงอรุณ ต.บ้านดอน อ.ดอนโขง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

2. ข้อมูลการเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียน
จากการตรวจสอบพบว่านายอุดม หวัง ปัจจุบันมีชื่อเป็นกรรมการ 16 บริษัท

นอกจาก บริษัท ไถ่ซี่ พัฒนา กรุ๊ป จำกัดแล้ว ยังรวมถึง บริษัท จีโอบีเอ บอร์ด จำกัด จดทะเบียนวันที่ 12 ก.ย. 2560 ทุน 100 ล้านบาท กิจกรรมการติดตั้งไฟฟ้าระบบท่อและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ตั้ง 202 อาคารเลอคองคอร์ด ชั้น 21 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ บริษัท ไถ่ซี่ พัฒนา กรุ๊ป จำกัด ถือหุ้น 50% น.ส.จ้าว หยูหลิง 49%

สำนักข่าวอิศราตั้งข้อสังเกตว่า 13 บริษัทจาก 16 บริษัท ใช้ที่ตั้งในอาคารอาคารเลอคองคอร์ด

  • องค์การเภสัชจัดซื้อชุดตรวจโควิด 8.5 ล้านชุด ราคาต่ำสุด70 บาท/ชุด จากบริษัทผลิตที่ FDA สหรัฐฯ สั่งระงับใช้
  • ประธานบอร์ด อภ.ชะลอเซ็นสัญญาซื้อชุดตรวจโควิดฯ 8.5 ล้านชุดแล้ว
  • แพทย์ชนบท จี้นายกฯ สั่ง อภ.ยุติลงนามซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด
  • “ณุศาศิริ-ออสท์แลนด์” แจงปมซื้อชุดตรวจโควิดฯ ยัน “Lepu” ผ่านมาตรฐานยุโรป
  • “ณุศาศิริ” เดินหน้านำเข้า “เล่อปู๋” 8.5 ล้านชุด ขายประชาชนชิ้นละ 75 บาท