เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ไอดา ซึ่งเป็นพายุเฮอริเคนที่มีความรุนแรงระดับ 4 ตอน ได้พัดเข้าฝั่งรัฐลุยเซียนา โดยมีความเร็วลมต่อเนื่องประมาณ 150 ไมล์ต่อชั่วโมง พายุได้พัดทำลายหลังคาอาคารและเสาไฟฟ้า และมีพลังมากจนกวาดบ้านเรือนออกจากฐานรากและพัดเรือให้หลุดออกจากท่าจอดเรือ
พายุเฮอริเคนไอดายังส่งผลให้ฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ ทั้งนิวเจอร์ซีย์ นิวยอร์ก เพนซิลเวนีย แมริแลนด์ คอนเน็ตติกัต นิวออร์ลีนส์ มิสซิสซิปปี้ จนมีผู้เสียชีวิตหลายรายจากเหตุการณ์น้ำท่วม ถูกกระกระแสน้ำพัด และมลพิษคาร์บอนไดออกไซด์
พายุเฮอริเคนไอดาที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วเหนืออ่าวเม็กซิโก ได้พัดเข้าฝั่งรัฐลุยเซียนาในวันเดียวกันกับที่พายุเฮอริเคนแคทรีนาพัดเข้าฝั่งเมื่อ 16 ปีก่อน
และเป็นการโจมตีลุยเซียนา ในขณะที่ลุยเซียนายังไม่ทันฟื้นตัวจากพายุเฮอริเคน 2 ลูกใหญ่ในปี 2020
ในเดือนสิงหาคม ปี 2020 พายุเฮอริเคนลอรา ซึ่งมีความรุนแรงระดับ 4 พัดเข้าฝั่งในรัฐลุยเซียนา ทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่งสูงถึง 18 ฟุตเหนือระดับพื้นดิน มีผู้เสียชีวิตหลายสิบรายและสร้างความเสียหายกว่า 17,500 ล้านดอลลาร์ และใน 2 เดือนถัดมาก็ถูกโจมตีโดยพายุเฮริเคนซีต้า ความรุนแรงระดับ 3 ทำให้ประชาชนกว่าครึ่งล้านไม่มีไฟฟ้าใช้ และสร้างความเสียหายกว่า 1,250 ล้านดอลลาร์
โดยรวมแล้วมีพายุทั้งหมด 5 ลูกโจมตีลุยเซียนาในปี 2020
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐนิวเจอร์ซีย์ ทอม มาลิโนว์สกี้ ซึ่งร่วมแถลงข่าวกับผู้ว่าการรัฐในบ่ายวันพฤหัสบดี กล่าวเตือนชาวอเมริกันว่า ภัยพิบัติครั้งนับเป็น “การเตือน”
“ใครก็ตามที่เชื่อว่าต้นทุนการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแพงเกินไป … ต้องตื่นมารับความจริงที่ว่าเราไม่สามารถสูญเสียได้อีกแล้ว”
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate change ทำให้ไอดามีกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนที่จะขึ้นฝั่ง ภายในเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง พายุลูกนี้กระโดดจากความรุนแรงระดับ 1 เป็นระดับ 4 ในขณะที่เคลื่อนตัวผ่านน้ำที่ร้อนอย่างผิดปกติในอ่าวเม็กซิโก
โดยอุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ประมาณ 85 องศาฟาเรนไฮต์ (29 องศาเซลเซียส) ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย อ้างอิงจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA)
ความร้อนที่เพิ่มขึ้นนี้เพิ่มพลังให้กับพายุ เพราะความร้อนคือพลังงาน พายุเฮอริเคนที่มีพลังงานมากขึ้นจะมีความเร็วลมสูงขึ้นและมีคลื่นพายุซัดฝั่งที่ใหญ่ขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าในขณะที่โลกร้อนขึ้น พายุเฮอริเคนขนาดใหญ่ จะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาสมุทรแอตแลนติก แนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน อย่างเช่น พายุเฮอริเคนไอดาที่เคลื่อนตัวเหนือผืนน้ำตื้นและอุ่นของทะเลแคริบเบียน และจากการศึกษาในปี 2019 พบว่าพายุเฮอริเคนที่ก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติกมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผู้อยู่อาศัยตามแนวชายฝั่ง Gulf Coast อาศัยอยู่กับความเป็นจริงของสภาพอากาศแบบนั้นมาหลายปีแล้ว ทั้งเฮอริเคนฮาร์วีย์ในปี 2017 เฮอริเคนไมเคิลในปี 2018 และเฮอริเคนลอราในปี 2020 ทั้งหมดนี้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนจะขึ้นฝั่ง และตอนนี้ยังมีเฮอริเคนไอดาเข้าร่วมด้วย
พายุเฮอริเคนอย่างเช่นเฮอริเคนไอดานั้นถือว่าอันตรายมาก เนื่องจากผู้คนมีเวลาในการเตรียมตัวรับมือน้อย เมื่อถึงเวลาที่พลังของพายุปรากฏขึ้น ก็อาจสายเกินไปที่จะอพยพ
นอกจากนี้น้ำที่ร้อนอย่างผิดปกติยังเพิ่มความเสี่ยงของเหตุการณ์น้ำท่วมจากพายุเฮอริเคน เนื่องจากพายุเฮอริเคนดูดความชื้นในขณะที่ก่อตัวเหนือน้ำ แล้วถ่ายเทความชื้นนั้นออกมาเป็นฝน ยิ่งน้ำร้อนขึ้นและอากาศร้อนขึ้น ไอน้ำก็จะยิ่งถูกดูดเข้าไปมากขึ้น
แม้แต่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากชายฝั่งก็มีความเสี่ยงจากน้ำท่วมเช่นเดียวกัน นักพยากรณ์อากาศกำลังเตือนผู้ที่อยู่อาศัยในฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือในเส้นทางไปยังมหาสมุทรแอตแลนติกตอนกลางของเฮอริเคนไอดาว่าพวกเขาควรเตรียมพร้อมสำหรับปริมาณน้ำฝนที่อาจเป็นอันตราย ซึ่งบางส่วนของรัฐมิสซิสซิปปีตอนกลางอาจมีฝนตกถึงเกือบ 1 ฟุตในวันจันทร์(30 สิงหาคม)
พายุเฮอริเคนกำลังรุนแรงขึ้น
Sabarethinam Kameshwar ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมที่ Louisiana State University กล่าวว่าธรรมชาติของการเกิดซ้ำของพายุเฮอริเคนในคาบสมุทรกัลฟ์ ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างมาก ชาวเมืองเลคชาร์ลส์หลายคนที่บ้านของพวกเขาถูกทำลายจากภัยพิบัติครั้งก่อน ใช้เวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมาในการสร้างบ้านขึ้นมาใหม่ และอาศัยอยู่ในโรงแรมหรือที่พักพิงชั่วคราว บางคนยังคงรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางอยู่
“เนื่องจากพายุเฮอริเคนเหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกัน จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อคนที่บ้านเรือนได้รับความเสียหายจากพายุเฮอริเคนลอรา” Kameshwar บอกกับ CNN
“บ้านเรือนจำนวนมากยังไม่ได้รับการซ่อมแซม ดังนั้นสำหรับผู้ที่บ้านเรือนได้รับความเสียหายแล้ว อาจจะมีความเสียหายเพิ่มขึ้นอีก และพายุเฮอริเคนจะทำให้สิ่งต่าง ๆ แย่ลงสำหรับพวกเขา”
ในวันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม ผู้ว่าการรัฐ จอห์น เบล เอ็ดเวิร์ดส์ ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินและระบุว่าลุยเซียนายังคงเปราะบางจากเฮอริเคนในปี 2020
“เรายังไม่ฟื้นตัว” เขากล่าวในการแถลงข่าว “เรายังคงมีธุรกิจต่าง ๆ ที่ปิดเนื่องจากพายุเฮอริเคนครั้งล่าสุด บ้านเรือนยังไม่ได้รับการซ่อมแซมและกลับเข้าอาศัยใหม่ มีบ้านเรือนหลายแห่งที่ได้รับความเสียหายจนถึงจุดที่จำเป็นต้องรื้อถอนและก็ยังไม่ได้ดำเนินการ”
โดยนักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change ทำให้พายุเฮอริเคนรุนแรงมากขึ้น รวมถึงปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น พายุเคลื่อนตัวช้าลง และทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่งขนาดใหญ่ขึ้นตามแนวชายฝั่ง ซึ่งพายุเฮอริเคนไอดาเป็นตัวอย่างสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น
รายงานล่าสุดจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้สรุปว่าความรุนแรงของพายุที่เพิ่มขึ้นในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาไม่ได้มาจากสาเหตุทางธรรมชาติเพียงอย่างเดียว มนุษย์ก็เป็นปัจจัยหนึ่งจากการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
Allison Wing ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศที่ Florida State University กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์พบว่าปริมาณน้ำฝนในพายุเฮอริเคนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่เหตุการณ์น้ำท่วมที่มากขึ้น
“นอกจากจะมีพายุเฮอริเคนติดต่อกัน คุณอาจจะเจอพายุเฮอริเคนแล้วตามด้วยเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรง” เธอกล่าวกับ CNN
เธอกล่าวอีกว่า เชื้อเพลิงของพายุเฮอริเคนคือน้ำทะเลอุ่น เมื่อโลกร้อนขึ้นพายุเฮอริเคนก็อาจเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นด้วย ตามหลักวิทยาศาสตร์ ยังไม่แน่ชัดว่าพายุเฮอริเคนจะพัฒนาไปตามกาลเวลาอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมพร้อมสำหรับอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในขณะที่วิกฤติสภาพภูมิอากาศทำให้สภาพอากาศรุนแรงขึ้น
Katharine Hayhoe หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ Nature Conservancy และศาสตราจารย์ที่ Texas Tech University กล่าวว่า สิ่งสำคัญไม่ใช่ความถี่ของพายุ แต่คือความรุนแรงของพายุ
เธอกล่าวกับ CNN ว่า “เราเผชิญกับพายุเฮอริเคนอยู่เสมอ เราเคยเผชิญกับคลื่นความร้อน น้ำท่วมและภัยแล้งมาโดยตลอด แต่สิ่งที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำอยู่คือเพิ่มความเสี่ยงด้านสภาพอากาศแก่เรา”
ต้นเหตุจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของคน
พายุเฮอริเคนหรือที่เรียกว่าพายุหมุนเขตร้อนหรือพายุไต้ฝุ่นนอกทวีปอเมริกาเหนือ กำลังรุนแรงขึ้นจากมหาสมุทรที่ร้อนขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามหาสมุทรดูดซับความร้อนส่วนเกินของโลก ประมาณ 90% ที่มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของคน
นอกจากนี้ผลการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า โลกกักเก็บความร้อนเป็น 2 เท่าของปริมาณความร้อนเมื่อ 15 ปีก่อน และเมื่อโลกร้อนขึ้น พายุก็จะรุนแรงขึ้น
จากรายงานล่าสุดขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสรุปได้ว่า การจัดลำดับสัดส่วนพายุหมุน (Cyclone) จากระดับความรุนแรง 3-5 พบว่าพายุหมุนที่รุนแรงที่สุดเพิ่มขึ้นในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุณหภูมิของมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าทุก ๆ ระดับความร้อนที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่สัดส่วนของพายุหมุนกำลังแรงที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่เหตุการณ์ฝนตกหนักอาจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 7%
ก่อนพายุเฮอริเคนไอดาจะพัดขึ้นฝั่งในวันอาทิตย์ ไอดามีกำลังแรงขึ้นอย่างน่าทึ่ง โดยความเร็วลมต่อเนื่องสูงสุดเพิ่มขึ้น 65 ไมล์ต่อชั่วโมงในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าของพายุในอดีต
นอกจากนี้พายุเฮอริเคนไอดายังถูกจัดอันดับให้เป็นพายุที่รุนแรงที่สุดที่พัดถล่มลุยเซียนาคู่กับพายุเฮอริเคนลอราในปี 2020
พายุเฮอริเคนเคลื่อนที่ช้าลงและชื้นขึ้น
พายุยังทำให้เกิดฝนตกมากขึ้น เนื่องจากความร้อนทุก ๆ องศาที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ชั้นบรรยากาศสามารถกักเก็บไอน้ำได้มากขึ้น 7% ซึ่งไอน้ำเหล่านั้นอาจตกลงมาเป็นฝน หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมเนื่องจากเฮอริเคนฮาร์วีย์พัดทำลายพื้นที่ฮิวสตันในปี 2017 นักวิทยาศาสตร์พบว่า climate change ที่เกิดจากมนุษย์ทำให้ปริมาณน้ำฝนของพายุเพิ่มขึ้นประมาณ 15%
บริการสภาพอากาศแห่งชาติ (National Weather Service: NWS) รายงานว่าพายุเฮอริเคนไอดาได้หอบปริมาณน้ำฝนมากกว่า 15 นิ้วมาทิ้งในหลายพื้นที่ของรัฐลุยเซียนา และคาดว่าจะมีฝนตกอีก 3 ถึง 7 นิ้วในอย่างน้อย 12 รัฐ
Paul Miller นักวิทยาศาสตร์อุตุนิยมวิทยาชายฝั่งที่ Louisiana State University กล่าวว่าทางตะวันออกเฉียงใต้ของลุยเซียนา รวมถึงแบตันรูชและนิวออร์ลีนส์ เผชิญกับฝนตกชุกที่สุดในประวัติศาสตร์ เขากล่าวกับ CNN ว่า “สิ่งนี้ทำให้เกิดความกังวลว่าน้ำเหตุการณ์ท่วมในช่วงเฮอริเคนไอดาจะรุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากพื้นดินดูดซับน้ำไปมากแล้วในปีนี้”
และจากข้อมูลทางดาวเทียมยังแสดงให้เห็นว่าพายุเริ่มเคลื่อนตัวช้าลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ขึ้นฝั่ง ตามข้อมูลของ Hayhoe ซึ่งพายุที่ใหญ่ขึ้นและเคลื่อนที่ช้าลงนั่นหมายความว่าพวกมันสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขึ้น และทิ้งฝนได้มากขึ้น
นอกจากนี้ผลการศึกษาในปี 2020 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature พบว่าพายุยังรุนแรงขึ้นกว่าช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากพายุเฮอริเคนมีเชื้อคือน้ำทะเลอุ่น ดังนั้นเมื่อเคลื่อนที่เข้าฝั่งพายุควรที่จะอ่อนกำลังลง แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้พายุกลับพัดกระหน่ำนานขึ้นหลังจากเข้าฝั่ง โดยจากการศึกษาสรุปได้ว่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะทำให้พายุ “สลายตัวช้าลง” เนื่องจากจะไปเพิ่มปริมาณความชื้นที่พายุเฮอริเคนสามารถบรรทุกได้
คลื่นพายุซัดฝั่งกำลังสูงขึ้น
คลื่นพายุซัดฝั่งเป็นน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเมื่อลมพายุเฮอริเคนพัดน้ำทะเลขึ้นเหนือพื้นดิน ซึ่งคลื่นพายุซัดฝั่งก็เลวร้ายขึ้นเช่นกันเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
Hayhoe กล่าวว่าคลื่นพายุซัดฝั่งจากพายุเฮอริเคนที่มีความรุนแรงเท่ากันกับเมื่อประมาณ 50 ปีหรือ 100 ปีก่อนสามารถท่วมพื้นที่ได้กว้างกว่าเดิมในปัจจุบัน
เนื่องจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นตามแนวชายฝั่ง ทำให้แม่น้ำและลำธารที่จะไหลลงสู่มหาสมุทรถูกปิดกั้น ระดับน้ำจึงสูงขึ้น ซึ่งคลื่นพายุซัดฝั่งและลมพายุจากเฮอริเคนไอดาทำให้กระแสน้ำในแม่น้ำมิสซิสซิปปีไหลย้อนกลับมาใกล้เมืองนิวออร์ลีนส์ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey: USGS) กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างมาก”
Scott Perrien นักอุทกวิทยาของ USGS บอกกับ CNN ว่าระดับแม่น้ำในวันอาทิตย์เพิ่มขึ้นประมาณ 7 ฟุต เนื่องจากคลื่นพายุซัดฝั่งในเมืองเบลล์ แชส ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของนิวออร์ลีนส์ประมาณ 20 ไมล์ ในเวลาเดียวกันอัตราการไหลของแม่น้ำ “ช้าลงจากประมาณ 2 ฟุตต่อวินาทีเหลือประมาณครึ่งฟุตต่อวินาทีในทิศทางตรงข้าม”
เขากล่าวว่า “ผมจำได้ว่ามีการไหลย้อนกลับของแม่น้ำมิสซิสซิปปีในช่วงพายุเฮอริเคนแคทรีนา แต่มันเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างมาก”
Tom Knutson นักวิทยาศาสตร์อาวุโสขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) กล่าวว่า เมื่อรวมกับลมและฝน คลื่นพายุซัดฝั่งจะเป็น “หนึ่งในลักษณะอันตรายของพายุเฮอริเคน” และเกือบครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตจากพายุเฮอริเคนก็มาจากคลื่นพายุซัดฝั่ง
โดยเครื่องป้องกันคลื่นพายุซัดฝั่งตามธรรมชาติของลุยเซียนา ก็คือพื้นที่ชุ่มน้ำริมชายฝั่ง ซึ่งก็ถูกทำลายไป เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและพายุเฮอริเคนที่รุนแรงต่อเนื่อง
เมื่อมหาสมุทรอุ่นขึ้นเนื่องจากการปล่อยมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิล พื้นที่ชายฝั่ง Gulf Coast ก็มีแนวโน้มที่จะประสบกับพายุเฮอริเคนที่รุนแรงพอ ๆ กับไอดา
Hayhoe กล่าวว่า ทางเลือกเดียวที่มนุษย์เหลือคือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเร็วหรือเผชิญกับผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
เธอกล่าวอีกว่า“สิ่งสำคัญคือ climate change ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาด้านชายฝั่งเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของทุกอย่าง เป็นปัญหาของมนุษย์”