ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > โลกร้อนขึ้นทุกครั้ง เมื่อเครื่องบินเทคออฟ ปี 2018 เที่ยวบินขนผู้โดยสารปล่อยก๊าซคาร์บอน 918 ล้านตัน

โลกร้อนขึ้นทุกครั้ง เมื่อเครื่องบินเทคออฟ ปี 2018 เที่ยวบินขนผู้โดยสารปล่อยก๊าซคาร์บอน 918 ล้านตัน

24 ตุลาคม 2019


ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา สภาระหว่างประเทศว่าด้วยการขนส่งที่สะอาด (International Council on Clean Transportation – ICCT) องค์กรเอกชนในยุโรปได้เผยแพร่รายงาน CO2 emissions from commercial aviation, 2018 ซึ่งได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคธุรกิจการบินในปี 2018 ที่จะช่วยผู้กำหนดนโยบายได้มากขึ้นจากเดิมที่ไม่สามารถวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเที่ยวบินไปต่างประเทศเป็นรายประเทศได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งไม่สามารถแยกแยะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเที่ยวบินโดยสารกับเที่ยวบินขนส่งสินค้า หรือเที่ยวบินในประเทศกับเที่ยวบินต่างประเทศได้

รายงานระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อการขนส่งทางอากาศมากขึ้น สายการบินจำนวนมากและรัฐบาลหลายประเทศให้ความสำคัญมากขึ้น แต่นโยบายที่ใช้อยู่ขณะนี้ เช่น มาตรฐานเครื่องบินใหม่และโครงการลดและชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ของ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization- ICAO) ยังไม่มีผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการบินอย่างมีนัยสำคัญ

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคธุรกิจการบินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเทียบภาคธุรกิจการบินโลกเป็นประเทศแล้ว ก็นับว่าเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่อันดับ 6 เมื่อวัดจากการใช้พลังงานในปี 2015 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าเยอรมนีทั้งประเทศ

ICAO คาดว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากธุรกิจการบินทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในปี 2050 และหากภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงแล้ว ภาคธุรกิจการบินก็จะมีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของงบประมาณด้านคาร์บอน

ปี 2009 สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association – IATA) ตั้งเป้าหมาย 3 ข้อด้วยกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากธุรกิจการบิน ประกอบด้วย หนึ่ง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง 1.5% ต่อปีในช่วงปี 2009-2020 สอง จำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธินับตั้งแต่ปี 2020 และ สาม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิลดลง 50% ภายในปี 2050 จากปี 2005

จากการประเมินของภาคธุรกิจการบินโดยตรง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากธุรกิจการบินมีปริมาณ 862 ล้านตันในปี 2017 และประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 2.3% ต่อปีนับตั้งแต่ปี 2009 ขณะที่ IATA ประมาณว่า ปี 2018 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากธุรกิจการบินเพิ่มขึ้น 5.2% จากปี 2017 โดยมีปริมาณรวม 860 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม สายการบินตระหนักและให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ธุรกิจการบินปล่อยก๊าซ 918 ล้านตันปี 2018

รายงานฉบับนี้วัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของธุรกิจการบิน จาก 1) ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารคิดเป็นคน-กิโลเมตร (revenue passenger kilometers – RPKs) หรือจํานวนผู้โดยสารคูณระยะทางที่ขนส่ง กับ 2) ปริมาณการขนส่งรวม คิดเป็นตันกิโลเมตร (revenue ton-kilometers – RTKs) หรือ น้ำหนักผู้โดยสารบวกน้ำหนักพัสดุภัณฑ์และไปรษณียภัณฑ์คูณระยะทางที่ขนส่ง

จำนวนที่เที่ยวบินที่นำมาศึกษามีทั้งหมด 39 ล้านเที่ยว ซึ่ง 38 ล้านเที่ยวเป็นเที่ยวบินที่ใช้เครื่องบินขนส่งผู้โดยสาร อีกทั้งประเมิน RPKs ไว้ที่ 8,503 ล้านล้าน RPKs และประเมิน RTKS ไว้ที่ 260 พันล้าน FTKs

สำหรับการประเมินการใช้เชื้อเพลิง กำหนดเวลาเครื่องบินแท็กซี่ก่อนเทคออฟไว้ที่ 25 นาที กำหนดความเร็วไว้ที่ 99% ของระดับความเร็วสูงสุด

ผลการศึกษาพบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากธุรกิจการบินโดยรวมทั้งจากเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารและเที่ยวบินขนส่งสินค้า มีปริมาณ 918 ล้านตันในปี 2018 เพิ่มขึ้น 32% จาก 694 ล้านตันรอบ 5 ปีก่อน มีอัตราการเพิ่มขึ้นแบบทบต้น (compound growth rate) 5.7% ต่อปี มากกว่าการประมาณการณ์ของ ICAO ถึง 70% และคิดเป็น 2.4% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีปริมาณทั้งสิ้น 37.9 ล้านล้านตันทั้งปีในปี 2018

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า เฉพาะการขนส่งผู้โดยสารมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 747 ล้านตันหรือคิดเป็นสัดส่วน 81% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากธุรกิจการบินทั้งหมด และ 40% ของการขนส่งผู้โดยสารเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

รายงานระบุว่า เครื่องบินลำตัวแคบ (แบบมีช่องทางเดินเดียว) เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 43% ส่วนเครื่องบินขนาดลำตัวกว้างเกี่ยวข้อง 33% และเครื่องบินที่ไม่สามารถบินข้ามทวีปได้ (regional aircraft) อีก 5% ที่เหลืออีก 19% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคธุรกิจการบินมาจากการขนส่งสินค้าซึ่งแบ่งเป็นการบรรทุกสินค้าใต้ท้องเครื่อง 11% และจากการบรรทุกสินค้าโดยเฉพาะ 8% จะเห็นได้ว่าการขนส่งผู้โดยสารปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าการขนส่งสินค้าถึง 4 เท่า

ทั้งนี้ เที่ยวบินภายในประเทศมีสัดส่วน 2 ใน 3 ของเที่ยวบินทั่วโลก มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของปริมาณ RPKs จากทั่วโลก และยังเป็นสัดส่วนที่สูงของเที่ยวบินแต่ละประเทศ โดยในบราซิลเที่ยวบินในประเทศมีสัดส่วนถึง 92% สหรัฐฯ 91% จีน 91% อินโดนีเซีย 89% และ ออสเตรเลีย 86% ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นประเทศเล็กกลับให้บริการเที่ยวบินต่างประเทศทั้งหมด

ในบรรดา 230 ประเทศและเขตปกครองพิเศษที่ทำการศึกษานี้ มี 83 ประเทศที่เที่ยวบินในประเทศ 1% หรือต่ำกว่าของเที่ยวบินทั้งหมด

เที่ยวบินเอเชียแปซิฟิกปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุด

โดยที่เที่ยวบินโดยสารมีทั้งขาออกและขาเข้า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเที่ยวบินโดยสาร จึงประเมินจากภูมิภาค และประเทศ จากสนามบินที่เครื่องบินบินออก

ทั้งนี้ จากเส้นทางการบินที่กำหนดโดย ICAO ทั้งหมด 21 กลุ่ม ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเที่ยวบินโดยสารในสัดส่วนสูงสุดถึง 25% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก และเป็นภูมิภาคที่มี 4 จาก 10 ประเทศที่มี RPKs มากที่สุด คือ จีนญี่ปุ่น อินเดีย และ ออสเตรเลีย

เที่ยวบินภายในอเมริกาเหนือกับสหรัฐฯ เที่ยวบินในประเทศแคนาดา และเที่ยวบินข้ามแดน ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 18% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งผู้โดยสารทั่วโลก

สมาชิกสหภาพยุโรปรวมกัน 28 ประเทศปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกัน 142 ล้านตันจากเที่ยวบินโดยสารในปี 2018 คิดเป็น 19% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งผู้โดยสารทั่วโลก

เที่ยวบินภายในยุโรปทั้งจากสมาชิกอียูและจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอียู มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 14% ของการปล่อยก๊าซคาร์ บอนไดออกไซด์จากการขนส่งผู้โดยสารทั่วโลก เที่ยวบินภายในอียูซึ่งรวมอังกฤษปล่อยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 67 ล้านตันหรือ 9% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งผู้โดยสารทั่วโลก

เที่ยวบินที่มีประสิทธิภาพต่ำสุดคือเที่ยวบินภายในตะวันออกกลางและภายในแอฟริกา ที่เที่ยวบินโดยสารปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 30% ต่อการขนส่งผู้โดยสาร 1 กิโลเมตร สูงกว่าระดับเฉลี่ยของโลก เนื่องจากใช้เครื่องบินเก่า เครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงประสิทธิภาพต่ำ

สหรัฐฯ ขนส่งผู้โดยสาร-ปล่อยก๊าซอันดับหนึ่ง

สำหรับประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด 10 อันดับแรกซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และ RPKs รวมกันสูงถึง 60% ของการขนส่งผู้โดยสารทั่วโลก

ในปี 2018 เที่ยวบินที่ออกจากสนามบินในสหรัฐฯ และเขตปกครองพิเศษมีปริมาณ RPKs รวมกัน 23% ของ RPKs โลก และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 24% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งผู้โดยสารของโลก

เที่ยวบินในประเทศทั้งขาเข้าและขาออกในสหรัฐฯ และเขตปกครองพิเศษซึ่งมีสัดส่วน 16% ของ RPKs โลก ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 17% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งผู้โดยสารของโลก

เที่ยวบินขาออกจากจีน ฮ่องกง และมาเก๊า มีสัดส่วนราว 9% ของความต้องการการบินและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเที่ยวบินภายในประเทศของจีนมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 62 ล้านตัน ขณะที่มีปริมาณขนส่งผู้โดยสาร 733 พันล้าน RPKs

เมื่อวัดจากกลุ่มประเทศที่แยกออกตามระดับรายได้ พบว่ากลุ่มประเทศรายได้สูงมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 62% จากเครื่องบินขนส่งผู้โดยสาร รองลงมาคือกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง 28% กลุ่มประเทศรายได้ปานปลางระดับต่ำ 9% และกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ 1% ซึ่งหมายความว่าประเทศด้อยพัฒนาที่มีประชากรราวครึ่งหนึ่งของโลกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการขนส่งผู้โดยสารโดยเครื่องบินเพียง 10% เท่านั้น

นอกจากนี้ ขนาดเครื่องบินและระยะทางบินก็มีผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้เครื่องบินลำตัวแคบมีสัดส่วน 2 ใน 3 ของเครื่องบินทั้งหมดที่ทำการบินในปี 2018 มีสัดส่วนใน RPKs ถึง 54% และมีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 53% จากการขนส่งผู้โดยสารไม่รวมการบรรทุกสินค้า

โดยเฉลี่ยเครื่องบินลำตัวแคบที่บินระยะทาง 1,330 กิโลเมตรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 113 กิโลกรัมต่อผู้โดยสาร และเครื่องบินลำตัวกว้างที่บินระยะทาง 4,700 กิโลเมตรปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 400 กิโลกรัมต่อผู้โดยสาร

เที่ยวบินไปกลับระหว่างสองสนามบินที่มีจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 2 เท่า ทั้งนี้ราว 1 ใน 3 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออก ไซด์เกิดจากการขนส่งผู้โดยสารในระยะทางสั้นกว่า 1,500 กิโลเมตร อีก 1 ใน 3 เกิดจากการขนส่งผู้โดยสารในพิสัยปานกลางระยะทางสั้นระหว่าง 1,500-4,000 กิโลเมตร ส่วนที่เหลือมาจากการขนส่งผู้โดยสารในระยะทางเกินกว่า 4,000 กิโลเมตร

สำหรับเที่ยวบินที่มีระยะทางไม่เกิน 500 กิโลเมตรการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกมักจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อ RPKs เทียบกับระยะทางไกล เพราะมีการใช้เชื้อเพลิงพิเศษในการเทคออฟมากกว่าเมื่อเทียบกับการบินที่ประหยัดน้ำมัน และส่วนหนึ่งมาจากการใช้เครื่องบิน regional aircraft ที่ประหยัดเชื้อเพลิงน้อยกว่าในการบินระยะทางสั้น