ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > กสิกรไทยสร้างวัฒนธรรม “Green DNA” ย้ำความยั่งยืนไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องทำแต่เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องทำ

กสิกรไทยสร้างวัฒนธรรม “Green DNA” ย้ำความยั่งยืนไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องทำแต่เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องทำ

4 กันยายน 2020


ในเดือนมกราคม 2004 นายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติได้เขียนจดหมายถึงสถาบันการเงินชั้นนำ เพื่อขอให้ริเริ่มนำ ESG สิ่งแวดล้อม(Environment) สังคม(Social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี(Governance) เข้าไปผสมผสานกับตลาดทุน นับตั้งแต่นั้น ESG ได้กลายมาเป็นแนวคิดหลักในการลงทุนของผู้จัดการกองทุน นักลงทุนทั้งสถาบันและนักลงทุนรายบุคคลทั่วโลก และมีแนวโน้มที่จะขยายวงกว้างออกไปต่อเนื่อง เพราะมีข้อมูลชัดเจนแสดงให้เห็นว่า บริษัทที่มีกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมีการกำกับกิจการที่ จะส่งมอบผลการดำเนินงานทางการเงินที่เหนือกว่าและสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าให้กับนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้น ที่สำคัญเป็นการเดินเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

5 ปี ที่ผ่านมา เงินไหลเข้ากองทุนที่คำนึงถึง Climate Change แล้วกว่า 15,000 ล้าน ดอลลาร์ส่งผลให้ขนาดสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมาที่ 37,000 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน และคาดว่าต้องมีการลงทุน 5.5 ล้านล้านดอลลาร์ (7% ของ GDP โลก ปี 2019) ต่อปี ไปจนถึงปี 2030

ผลสำรวจล่าสุดของ Official Monetary and Financial Institutions Forum(OMFIF) และ แบงก์ออฟนิวยอร์กเมลลอน(BNY Mellon) พบว่า 77% ของนักลงทุนทั่วไปทั้งโลกได้ใช้ ESG ในกระบวนการลงทุน

การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ Lombard Odier และ KBank Private Banking เห็นว่า ถึงเวลาที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในบทบาทของนักลงทุนและเป็นการสร้างโลกให้ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ธนาคารกสิกรไทยโดย KBank Private Banking ได้จัดงาน SUSTAINABILITY IN ACTION: Revolutionizing Our Better World through Sustainable Investing ขึ้น โดยได้เชิญมิสเตอร์อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา คนที่ 45 เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2550 บุคคลสำคัญซึ่งมีบทบาทในการรณรงค์ และแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate change และมิสเตอร์ฮูเบิร์ต เคลเลอร์ หุ้นส่วนผู้จัดการ Lombard Odier Group และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการลงทุน Lombard Odier ร่วมให้ข้อมูลพร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองกับอเล็กซ์ เรนเดล นักแสดง ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านอนุรักษสิ่งแวดล้อมและฑูตสันทวไมตรีของโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติในประเทศไทยคนแรก

สร้างวัฒนธรรม “Green DNA”

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า งานในวันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่า ธนาคารให้ความสำคัญกับปัญหา Climate change และการสร้างโลกที่ยั่งยืน จึงได้เรียนเชิญบุคคลสำคัญระดับโลก ที่มีบทบาทในการรณรงค์และแก้ไขปัญหา Climate change ทั้งมิสเตอร์อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 45 เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2550มาร่วมส่งสารสำคัญถึงพวกเรา ประชาชนคนไทยในฐานะพลเมืองของโลก

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก มิสเตอร์ฮูเบิร์ต เคลเลอร์ หุ้นส่วนผู้จัดการ Lombard Odier Group และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการลงทุน Lombard Odier และนักแสดงรุ่นใหม่ คุณอเล็กซ์ เรนเดล ซึ่งมีบทบาทเป็นทูตสันทวไมตรีของยูเอ็น คนแรกของประเทศไทยที่จะมาร่วมถามคำถาม และพูดคุยกับมิสเตอร์อัล กอร์

นางสาวขัตติยากล่าวว่า นอกจากโรคโควิดที่คนทั้งโลกกำลังทั้งต่อสู้ ปัญหาใหญ่ระดับโลกอีกปัญหาหนึ่งที่มีผลกระทบใกล้ตัวเรามากที่สุดคือ Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเฉียบพลัน หลายคนอาจนึกถึงน้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลาย แต่ในความเป็นจริงมีมากกว่านี้

Climate Change ทำให้เกิดทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม อากาศแปรปรวน พืช สัตว์ สูญพันธ์ แต่ละอย่างเกิดขึ้นบ่อยครั้งและเสียหายมากขึ้นทุกที่ประเทศไทยเกิดภัยแล้งรุนแรงในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกันมากนัก ในปี 2552-2563 ความเสียหายเบื้องต้นเกิดขึ้นกว่า 1 ล้านไร่แล้ว แม่น้ำหลักบางสายแห้งขอดจนเห็นพื้นทรายต่อเนื่องหลายเดือน ชาวบ้านและเกษตรสองแนวริมฝั่งแม่น้ำไม่สามารถใช้นำได้ พื้นที่นาข้าวต้องปล่อยว่าง สัตว์นำขาดน้ำขาดน้ำตาย

นอกจากภัยแล้ง ยังประสบภัยน้ำท่วม ข้อมูลสถิติระดับน้ำของไทยช่วงปี 2556-2551 ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงกว่าค่าเฉบี่ของโลก ประชากรของไทยกว่า 6-7 ล้านคนอาศัยในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 11 ปีจากปี 2548-2559 มีพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากรวมกว่า 925 ตางรางกิโลเมตร

ด้านสภาวะอากาศอุณหภูมิเฉลี่ยของไทยเพิ่มขึ้นตลอด ในปี 2562 ที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยในประเทศสูงสุดในรอบ 69 ปี ปลาและพืชมากกว่า 200 สายพันธ์มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธ์

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เราจะได้รับผลจาก Climate Change โดยตรง ต่อการเพาะปลูกและส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อภาคการผลิตและภาคธุรกิจอื่นๆ

“Climate change เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราต้องแก้ไข ต้นเหตุหลักของ Climate Change คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเกิดจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ ตั้งแต่การผลิต การเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่การบริโภค การใช้ชีวิตตามปกติก็มีส่วนที่จะสร้างก๊าซเรือนกระจกขึ้นมาแล้ว”

ในปี 2553 ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมากเป็นอันดับที่ 22 สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ปี 2559 ไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ต่อหัวมากกว่าเวียดนามเกือบเท่าตัว สัดส่วนพื้นที่ป่าทั้งหมดของไทยอยู่ที่ 32% เวียดนามและมาเลเซียมีพื้นที่ป่าสูงกว่าไทย ที่ 48% และ 68% ตามลำดับ

“คำถามสำหรับเราในฐานะพลเมืองของโลก และฐานะประชาชนคนหนึ่งของไทย ในฐานะนักธุรกิจ และนักลงทุน เราสามารถจะทำอะไรเพื่อมีส่วนชวยเหลือโลกได้บ้าง สำหรับธนาคาร เรามองตัวเองว่าเราเป็นฟันเฟืองของระบบเศรษฐกิจ หน้าที่ของเราไม่ใช่แค่ทำธุรกิจ แต่ต้องช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

คำว่ายั่งยืนมีองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“ด้านธุรกิจนอกจากจะทำหน้าที่สร้างกำไรให้กับผู้ถือหุ้นแล้ว เรายังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสีย มองไปถึง ประชาชน ประเทศชาติ และมองไปถึงว่าการกระทำของเราอะไรก็แล้วแต่ ต้องไม่ทำให้ให้มีผลต่อโลกลูกหลานจะต้องใช้ชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ได้ไม่ด้อยไปกว่าเรา”

ในภาวะโควิด ธนาคารอาจจะยอมให้กำไรของธนาคารลดลงในวันนี้เพื่อช่วยเหลือพนักงานและลูกค้า เพื่อลดปัญหาสังคม และช่วยประเทศให้รอด เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ผลกำไรก็จะกลับมาเพราะลูกค้าและพนักงานยังอยู่

“การรักษาสมดุลแบบนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาความยั่งยืน เพราะเราชื่อว่า ความยั่งยืนไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องทำ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องทำ เราสร้างจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร แล้วเราเรียกว่า Green DNA”

ธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยและอาเซียนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน(Dow Jones Sustainability Indices:DJSI) ซึ่งเป็นดัชนีวัดมาตรฐานการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก ทั้งในกลุ่มดัชนีระดับโลก DJSI World และกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ DJSI Emerging Markets ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2559-2562

  • Sustainability Revolution: A Call for Action “KBank Private Banking” ผลักดันการลงทุนยั่งยืน

    ถึงเวลา “นักลงทุน” บทบาทในฐานะผู้จัดสรรทรัพยากร

    Al Gore

    มิสเตอร์อัล กอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริษัท Generation Investment Management ผู้ก่อตั้งและประธานโครงการ The Climate Reality หุ้นส่วนอาวุโสของ Kleiner Perkins Caufield & Byers และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของ Apple Inc. ได้ร่วมพูดคุยผ่านระบบออนไลน์จากสหรัฐอเมริกา เริ่มทักทาย ด้วยคำว่า “Good Morning” พร้อมบอกว่า เวลาที่สหรัฐฯเป็นช่วงเช้าในรัฐเทนเนสซี่ และเป็นเช้าที่ไม่ปกติเพราะพายุเฮอริเคนกำลังพัดเข้าสู่ชายฝั่งของหลุยส์เซียนา และในเวลาเดียวกันนี้กำลังเกิดไฟป่ากว่า 300 จุด ในแคลิฟอร์เนียและเนวาดา รวมทั้งส่วนอื่นของโลกที่กำลังประสบกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

    เหตุการณ์ของการเกิดภาวะอากาศแบบสุดขั้วกำลังกลายเป็นเรื่องปกติ เกิดถี่มากขึ้น และทำลายล้างสร้างความเสียหายมากขึ้น จะเห็นได้ถึงความเชื่อมโยงชัดเจนมากขึ้นว่า ขณะที่เรากำลังพัฒนาโลกให้เจริญขึ้น อีกด้านหนึ่งเรากำลังทำลายระบบนิเวศของโลกด้วย

    “จุดเปราะบางที่สุดของระบบนิเวศคือ ชั้นบรรยากาศของโลกที่บางลงมาก เวลาเรามองขึ้นไปบนท้องฟ้า เราเห็นว่าท้องฟ้าแจ่มใส แต่ความจริงที่ปรากฏจากข้อมูลของนักบินอวกาศ ที่มองลงมานั้นเป็นสภาพการที่รุนแรงและเลวร้าย ชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกบางมากมาก”

    นอกจากนี้ภายใต้ชั้นบรรยากาศบางๆที่ห่อหุ้มโลกนี้ แต่ละวันเรายังปล่อยมลพิษที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์มากกว่า 1 ล้านล้านตันที่ทำให้เกิดการกักเก็บความร้อน โมเลกุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับองค์ประกอบอื่นของก๊าซเรือนกระจก ในชั้นบรรยากาศได้สะสมมาระยะหนึ่งในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา

    โดยรวมก๊าซที่ทำให้กักเก็บความร้อนสะสมเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ก็จะปล่อยออกมาในแต่ละวันในปริมาณเท่ากับระเบิดปรมาณูที่เคยทิ้งในฮิโรชิมาราว 500,000 ลูกในชั้นบรรยากาศ จึงส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำลายสถิติใหม่ทุกปี จนกลายเป็นเรื่องปกติ

    ปี 2019 เป็นปีที่ร้อนที่สุดอีกครั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ยังประเมินอีกว่า มีโอกาส 70% ที่ปี 2020 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดอีกปีหนึ่ง และอาจจะทำสถิติใหม่

    ทั้งนี้ความร้อนที่เกิดขึ้นราว 93% จะถูกดูดซับโดยมหาสมุทรหรือทะเล ซึ่งมีผลกระทบต่อวงจรน้ำทะเล เพราะอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นมีผลให้น้ำทะเลระเหยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น เมื่อชั้นบรรยากาศรับความชื้นจากทะเลและปล่อยในบริเวณชายฝั่ง ก็จะทำให้เกิดฝนตกหนักมาก ปัจจุบันเรียกว่า Rain Bomb นอกจากนี้ยังทำให้พายุไต้ฝุ่น พายุเฮอริเคน แรงขึ้นและนำไปสู่จำนวนพายุที่ฤทธิ์ทำลายล้างรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

    เราต้องตระหนักถึงความเสียหายเหล่านี้ อีกทั้งพายุที่ใหญ่ขึ้น รุนแรงมากขึ้นก็ทำให้เกิดน้ำท่วม

    นอกจากนี้ความร้อนที่สูงขึ้นยังทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย โดยเฉพาะในกรีนแลนด์ และแอนตาร์กติก ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

    เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคนี้ที่กำลังประสบกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับที่อื่นๆของโลก ทั้ง นิวยอร์ก ไมอามี ฟลอริดา เราได้เห็นเกาะที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากมีความเปราะบางมากขึ้น และพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ตรงปากอ่าวเบงกอล

    “ภูมิภาคนี้ประสบกับภัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว และมีผลให้คนต้องอพยพออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ความร้อนที่สูงขึ้นยังมีผลต่อน้ำท่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทั่วทั้งโลก นำไปสู่ความเสียหายของพืชผลทางการเกษตร การขาดแคลนน้ำจืดในหลายภูมิภาคทั่วโลก

    “แน่นอนว่าผมสามารถพูดถึงความเสียหาย และผลที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนได้อีกมาก แต่ผมก็อยากจะพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในทางบวกบ้าง เพราะเรามีแนวทางในการจัดการกับ climate change สิ่งที่เราต้องการคือความตั้งใจทางการเมืองเพื่อดำเนินนโยบายเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาclimate change ซึ่งตรงนี้นักลงทุน นักธุรกิจสามารถมีบทบาทที่สำคัญ

    ข้อตกลงปารีสที่มีการลงนามในปี 2015 โดย 195 ประเทศเป็นก้าวสำคัญ และสำหรับสหรัฐฯแม้ว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันได้ถอนสหรัฐฯออกไปจากข้อตกลง แต่ในทางกฎหมายยังกลับมาได้หากหลังการเลือกตั้งได้ประธานาธิบดีคนใหม่ ยื่นความจำนงที่จะกลับไปใหม่ใน 30 วัน

    “บทบาทของนักลงทุน นักธุรกิจในการแก้ไข climate change มีความสำคัญ ปัจจุบันผู้จัดการกองทุนให้ความสำคัญกับ climate change มากขึ้น รวมทั้งได้ตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะย้ายการลงทุนจากบริษัทที่มีส่วนในการสร้างปัญหาจากการขุดเจาะน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีการเผามลพิษทางอากาศ และมีโอกาสทางการลงทุนและทำผลตอบแทนหรือไม่จากการจับกระแสการเปลี่ยนผ่านนี้”

    “ผมขอบอกว่า เรามีแนวทาง ผู้นำทางธุรกิจกำลังเดินอยู่บนเส้นทางนี้และมีนักลงทุนจำนวนหนึ่งให้การสนับสนุนทางการเงิน ตัวอย่าง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม”

    คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักว่าในปี 2019 พลังงานไฟฟ้าของทั้งโลกที่ใช้กันนั้นราว 80% ได้มาจากการผลิตด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เราได้เห็นการใช้น้ำมันที่ผ่านระดับสูงสุดแล้ว เราได้เห็นการเลิกใช้ถ่านหิน และจากย้ายออกจากการใช้ก๊าซแล้ว เพราะต้นทุนของพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมลดลงต่อเนื่อง

    5 ปีก่อนไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกหรือพลังงานหมุนเวียนต่ำกว่าไฟฟ้าที่ได้จากก๊าซและน้ำมัน ราว 1% แต่ปีนี้ยิ่งถูกลงไปอีกถึง 30% และในอีก 5 ปีข้างหน้าก็จะถูกกว่าถึง 100% และในขณะเดียวกันรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะราคารถถูกลง ภายใน 2 ปีนี้รถยนต์ไฟฟ้าจะมาแทนที่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบเครื่องยนต์สันดาป

    นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างที่น่าสนใจอีกหลายด้าน ทั้งนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืน บริษัท Generation Investment Management LLP มีความเห็นตรงกันกับ Lombard Odier ว่า เราอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติความยั่งยืน ซึ่งจะมีผลต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมขนานใหญ่ เมื่อผนวกกับการปฏิวัติด้านดิจิทัล บนพื้นฐานของเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI Machine Learning หรือเทคโนโลยีอื่น

    เราในตอนนี้จึงมีโอกาส ที่จะใช้ประโยชน์จากการปฎิวัติความยั่งยืน เพื่อลดการปล่อยก๊าซจากการกระทำของคนได้อย่างมาก ทั้งมลพิษจากก๊าซเรือนกระจก และหยุดการกระทำที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างฉียบพลันของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งไม่ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น แต่เริ่มฟื้นฟูความสมดุลระหว่างความเจริญกับระบบนิเวศของโลก

    “ผมเชื่ออย่างสุดใจว่า เราจะประสบความสำเร็จในการก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เราต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้พลังงาน เราต้องปรับระบบขนส่งให้เป็นระบบไฟฟ้า เราต้องมุ่งไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้มีขยะน้อยที่สุด นำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ เราต้องนำการปฏิวัติความยั่งยืนเข้าไปสู่ภาคเกษตร เราสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงสู่พื้นดินได้ด้วยการปรับกระบวนการทำการเกษตร ซึ่งจะทำให้พื้นดินมีความชุ่มชื้นมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เราต้องรักษาผืนป่าให้มีความยั่งยืนมากกว่าเดิม และปลูกต้นไม้มากขึ้น”

    นอกจากนี้ต้องฟังคนรุ่นหลังมากขึ้น เพราะเป็นคนรุ่นหลังที่ควรจะมีอนาคตที่รุ่งเรืองและเต็มไปด้วยความหวัง เราสามารถสร้างอนาคตแบบนั้นได้ เรามีเครื่องมือพร้อมใช้อยู่แล้ว เราได้รับสัญญานเตือนที่ชัดเจน ไม่เฉพาะจากนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่มาจากธรรมชาติเองอีกด้วย ในรูปของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสียหายที่เกิดขึ้น

    “ผมเชื่อว่า นักลงทุนและผู้นำธุรกิจมีบทบาทสำคัญ รัฐบาลต้องเปลี่ยนนโยบาย แต่หากธุรกิจ แสดงให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่ดีต่อเศรษฐกิจก็จะเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลทำมากขึ้น

    สำหรับใครก็ตามที่เชื่อว่า เราในฐานะมนุษย์อาจจะไม่มีเจตจำนงทางการเมืองที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ขอให้จำไว้ว่าเจตจำนงทางการเมืองเป็นทรัพยากรหมุนเวียน

    กระตุ้นคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม

    ในช่วงพูดคุย อเล็กซ์ เรนเดล ได้ตั้งคำถามแรกว่า ทำไมและเหตุใดที่ยังเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ์เป็นประเด็นที่มีความสำคัญสูงสุด

    มิสเตอร์อัล กอร์ตอบว่า เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่อันตรายและสร้างความเสียหายมากที่สุดให้กับความเจริญของโลกและผู้คน หากเราไม่ระดมสรรพกำลังเพื่อแก้ไขภาวะโลกร้อน ความเจริญของโลกก็อาจจะพบกับจุดจบ ในขณะนี้แน่นอนว่าเราเจอปัญหาเฉพาะหน้าคือ การระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ภาวะโลกร้อนกับวิกฤตการระบาดของโรคไม่ได้มาแข่งขัน แต่ในทางตรงข้ามกับสอดประสานกัน

    มีข้อมูล 2 ด้านที่นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ได้เผยแพร่ให้กับสาธารณชนคือ ข้อแรก การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่เพียงสร้างมลพิษในอากาศ มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ และการมีปัญหาระบบทางเดินทางหายใจเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิตจากการระบาดของไวรัสโควิด

    ข้อมูลทั้งจากจีน หรือสหรัฐฯพบว่าผู้ที่เสียชีวิตจากไวรัสโควิด ส่วนใหญ่เกิดจากการหายใจเอามลพิษเข้าไป ข้อสองความเจริญของโลกได้ขยายเข้าไปในพื้นที่ที่แปลกมากขึ้น เราประสบกับการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดที่ไม่เคยเจอมาก่อน เราเผชิญกับโรคติดต่อใหม่ 5 โรคทุกปี เช่น ไวรัสโควิดที่มีการแพร่เชื้อจากสัตว์มาสู่คน และเมื่อการระบาดยุติลง เราต้องมีการสร้างงานหลายล้านตำแหน่ง เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน แต่ในขณะเดียวสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากศที่กำลังประสบอยู่ก็ป็นโอกาสที่จะสร้างงานที่ดีหลายล้านตำแหน่งเช่นกัน ในสหรัฐฐงานที่ขยายตัวมีการจ้างงานรวดเร็วคือ การติดตั้งแผงโซลาร์ รองลงมาคือช่างเทคนิคพลังงานลม โอกาสยังมีสำหรับการปรับปรุงตึกอาคารเก่าให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดขยะ ในไทย สหรัฐฯ และที่อื่นของโลก

    ตามที่คุณได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ว่านักลงทุน นักลงทุนมีบทบาทที่สำคัญ หลายคนบอกว่าอีกนานกว่าจะประสบเป้าหมายและหลายคนยังตั้งคำถามว่าจะประสบความสำเร็จหรือ นักธุรกิจหรือคนทั่วไปจะมีบทบาทในเรื่องนี้อย่างไร

    มิสเตอร์อัล กอร์ตอบว่า แน่นอน เรื่องนี้สามารถประสบกับความสำเร็จได้ ผู้นำธุรกิจมีบทบาทสำคัญ และส่วนใหญ่ผู้นำธุรกิจเมื่อมองหาคนรุ่นใหม่มาร่วมงาน ก็จะมีการสัมภาษณ์ในขณะเดียวกันก็จะถูกคนรุ่นใหม่เหล่านี้สัมภาษณ์กลับเช่นกัน คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับอนาคตที่ยั่งยืนอย่างมาก พวกเขาต้องการให้นายจ้างไม่เพียงจ่ายเงินเดือนค่าตอบแทนในการทำงานเท่านั้น แต่ต้องการให้นายจ้างเห็นคุณค่าของพวกเขาด้วยว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างธุรกิจ พวกเขาต้องการมีส่วนกันธุรกิจ มีส่วนหนึ่งของแนวทางการดำเนินการ ที่สำคัญที่สุดการปฏิวัติความยั่งยืน การดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน ช่วยลดค่าใช้จ่าย ตอกย้ำแบรนด์ จะดึงและรักษาคนรุ่นใหม่ และแข่งขันได้ในตลาด

    อเล็กซ์ถามต่อว่า คุณได้เริ่มรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อนมาตั้งแต่ 40 ปีก่อนและวันนี้ก็ยังเดินหน้ารณรงค์และทำเรื่องนี้ ทำไมจึงยังทำอยู่ แม้มีความท้าทายหลายอย่างในช่วงที่ผ่านมา

    มิสเตอร์อัล กอร์ ตอบว่า ผมไม่เคยคิดเมื่อตอนยังมีอายุน้อยว่า เรื่องนี้จะอยู่กับชีวิตผม จึงถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีและโชคดีที่ได้ทำงานที่ได้เห็นผลจากการทุ่มเทลงไป แต่ก็มีบางเรื่องที่เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไม่ตั้งใจ เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรี บังเอิญได้เข้าเรียนในชั้นเรียนที่มีผู้สอนเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้าน Climate change ที่เก่งมาก และเป็นคนแรกที่วัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้ ผมได้เรียนรู้จากเขาและเปิดโลกทัศน์ให้ผม และเมื่อผมได้เข้าสู่สภาคองเกรสในฐานะสมาชิกที่มีอายุน้อย ผมได้ตั้งคำถามว่าเราจะดำเนินการอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คำตอบที่ได้คือ ไม่มี จึงเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางนี้ของผม เพื่อหาแนวทางของตัวเอง

    ถ้าถามว่าทำไมผมยังทำเรื่องนี้ เพราะผมใส่ใจเรื่องนี้อย่างมาก และผมเห็นว่าเราเริ่มมีความคืบหน้า วิกฤติแย่ลงอย่างรวดเร็วกว่าช่วงที่เริ่มต้นหาแนวทาง และเราเริ่มมีแรงส่ง(Momentum) และผมคิดว่าในเร็วๆนี้ เราจะก้าวพ้นวิกฤติด้วยการลดมลพิษของโลก และเริ่มฟื้นความสมดุลที่แข็งแกร่งของระบบนิเวศและความเจริญของโลก

    สุดท้ายนี้คุณอยากจะฝากอะไรกับคนรุ่นใหม่ และกับคนไทย

    มิสเตอร์อัล กอร์ กล่าวว่า อย่างแรก สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจ และเรียนรู้เกี่ยวกับวิกฤติของโลกและขอบคุณที่หาแนวทางในการแก้ไข และขอบคุณในการกระทำและการสนับสนุนให้คนอื่นลงมือทำด้วย และทำมากขึ้น เมื่อผมยังเด็กอายุสัก 11-13 ปี อยู่ในทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ผมเห็นการปฏิวัติที่มุ่งลดการกีดกันอเมริกันคนผิวดำ ซึ่งทำให้คนรุ่นผมและคนรุ่นใหม่ได้ให้ความใส่ใจคำนึงถึง และได้เห็นว่าการปฏิวัติใดๆในโลกที่เกิดขึ้น คนรุ่นใหม่เป็นผู้นำและมีส่วนร่วมทั้งสิ้น ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ต่างกัน สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับคนรุ่นใหม่ คือ นอกจากคำว่าขอบคุณแล้ว ขอให้ทำมากขึ้น ต้องมีการดำเนินการมากขึ้น

    สำหรับข้อความที่อยากจะบอกกับประเทศไทยคือ โลกนับถือประเทศไทยและประชาชนคนไทย นักวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่เปราะบางต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นรุกล้ำน้ำจืดมากกว่าเดิม พายุที่รุนแรงขึ้น ฝนที่ตกหนักขึ้น น้ำท่วมถี่ขึ้น และไม่ต่างจากประเทศอื่นของโลก แต่ไทยมีโอกาสเช่นเดียวกับประเทศอื่น ในการเป็นผู้นำในเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงปารีส และเรามีเวลา 1 ปี ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ที่จะเพิ่มเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสและหวังว่าคนไทยจะกระตุ้นให้ผู้นำปรับเพิ่มเป้าหมาย เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไข climate change

    ปฏิวัติการลงทุนเพื่อความยั่งยืน


    มิสเตอร์ฮูเบิร์ตกล่าวว่า เศรษฐกิจที่กำลังปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน และสร้างความเจริญรุ่งเรืองในวงกว้าง ได้สร้างผลทางลบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ทรัพยากรกำลังจะหมด เรากำลังทำลายความสมดุลของระบบนิเวศอย่างใหญ่หลวง รวมทั้งกำลังสร้างหายนะให้กับสภาพภูมิอากาศ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม ทั่วโลก

    “Lombard Odier ผลักดันความยั่งยืนในทุกมิติของการลงทุนมากกว่า 200 ปี จนกลายเป็น DNA ที่หยั่งรากฝังลึกในประวัติศาสตร์ของธนาคาร และเราเชื่อมาตลอดว่า บริษัทที่มีรูปแบบธุรกิจบนหลักความยั่งยืนจะสามารถส่งมอบบริการที่ดีเยี่ยมได้ต่อเนื่องในระยะยาว”

    “ในโลกการลงทุน เราได้เห็นความท้าทายด้านความยั่งยืนกลายเป็นแนวโน้มที่สำคัญในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเราเชื่อว่าความท้าทายด้านความยั่งยืนในขณะที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่ กำลังพลิกโฉมภูมิทัศน์การลงทุนอย่างเต็มที่”

    Lombard Odier รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสพัฒนาความสัมพันธ์ที่แท้จริงและเป็นพันธมิตรกับกสิกรไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่แรกเราได้แสวงหาคนที่มีแนวคิดเดียวกัน รวมทั้งมี DNA ที่คล้ายคลึงกัน และมีความชื่นชอบที่ตรงกัน และการได้ร่วมมือกับกสิกรไทย ทำให้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านเราได้กลายเป็นเพื่อนกันแล้ว

    มิสเตอร์ฮูเบิร์ต ได้ร่วมแบ่งปันแนวคิดใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย

    1. การเปลี่ยนผ่านของ Climate Change น่าจะเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุด
    เรามีปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราได้ปล่อยคาร์บอนไปแล้ว 2,400 กิกะตัน งบประมาณคาร์บอน(คาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่สามารถปล่อยได้ หรือ Carbon budget)เหลือน้อยลงทุกที เรายังเหลือคาร์บอนอีกเพียง 333 กิกะตันที่จะปล่อยออกมาและไม่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส ซึ่งจากปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกปล่อยออกมาในแต่ละปี

    สหประชาชาติประเมินว่าภายใน 7 ปีเราจะใช้งบประมาณคาร์บอนหมด นี่คือปัญหา หากไม่มีการดำเนินการใด และไม่สามารถบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสได้

    ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) มีการลงนามในปี 2015 มีเป้าหมายเพื่อให้ชาติต่างๆ ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ให้ต่ำกว่า 1.5-2.0 องศาเซลเซียส และพยายามจำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

    เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว ในปีที่แล้วผลของ Climate Change สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลก 225 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 0.5% ของจีดีพีโลกรวมกัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ หากไม่สามารถรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสได้

    แม้ Climate Change เป็นปัญหาเร่งด่วน แต่มีพลังที่กำลังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงและกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของพฤติกรรมผู้บริโภค นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าขึ้น ส่งผลให้มีแนวทางพลังงานที่สะอาดและมีต้นทุนต่ำลง และมีการใช้เงินทุนส่วนตัวอย่างมาก ซึ่งมีความสำคัญต่อการก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำหรือคาร์บอนเป็นศูนย์

    2. การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ หรือการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ น่าจะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุด

    การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำหรือคาร์บอนเป็นศูนย์ เป็นเรื่องสำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในยุคของคนรุ่นปัจจุบัน

    “การก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำหรือคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2025 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายใน 10 ปีข้างหน้า แต่เราไม่สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงได้ตามเวลาที่วางไว้ เพราะฟอสซิลเข้าไปอยู่ในทุกส่วนของเศรษฐกิจแบบฝังลึกมาเป็นเวลานาน เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้นหมายถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยออกมามากขึ้น”

    สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ เราต้องใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจมาใช้พลังงานไฟฟ้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และที่สำคัญต้องเป็นไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานสะอาด เราต้องลดการใช้ฟอสซิลเพื่ออยู่บนเส้นทางพลังงานไฟฟ้า

    เราต้องหาแนวทางที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมเพราะมีความจำเป็นและเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ

    3. เป็นผลที่ตามจากสองเรื่องแรก การปฏิวัติที่สำคัญอย่างมาก คือ การสร้างโอกาสในการลงทุนที่น่าสนใจ
    การเปลี่ยนผ่านของระบบเศรษฐกิจตามที่ต้องการจะเกิดขึ้นได้จริง จะต้องทำให้เกิดการพัฒนาในหลายด้านในน่าสนใจ ด้านแรก ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม ซึ่งต้องมีการลงทุน โดยมีข้อมูลบ่งชี้ว่าต้องมีการลงทุนมากถึง 7% ของจีดีพีโลก ด้านที่สอง บริษัทสามารถที่จะนำเสนอแนวทางในการดำเนินการเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ รวมทั้งบริษัทที่นำเสนอแนวทางในการปรับตัวเข้ากับสภาพการอันเกิดจาก Climate Change

    “ดังนั้นจึงเป็นโอกาสแท้จริงของบริษัทเหล่านี้ที่จะลงทุนในการเปลี่ยนผ่านของตัวเอง และจะมีส่วนแบ่งมากขึ้น รวมทั้งดิสรัปต์บริษัทที่มีอยู่เดิม เพราะสามารถผลิตด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ต่ำกว่าเดิม”

    “เรามีมุมมองทางบวก และเชื่อว่าโลกธุรกิจ ผู้บริโภค นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบายตระหนักและเข้าใจถึงความเร่งด่วนของการปรับไปสู่ net zero economy และการเปลี่ยนผ่านนี้เริ่มขึ้นแล้วและกำลังเปลี่ยนแปลงการลงทุนอย่างเต็มที่”