ThaiPublica > Sustainability > NaTive AD > Climate Tipping Point จุดพลิกผัน เยียวยาโลก ก่อนต้องหาโลกใบใหม่

Climate Tipping Point จุดพลิกผัน เยียวยาโลก ก่อนต้องหาโลกใบใหม่

25 กุมภาพันธ์ 2021


2021 อาจจะเป็นปีแห่งจุดพลิกผัน ที่เราไม่สามารถเยียวยาโลกใบนี้ได้ หากไม่สามารถขยายผลลัพธ์ทางสังคมให้เกิดขึ้น ให้ทุกพื้นที่ ขยะไม่เป็นขยะ

Climate Tipping Point นับถอยหลังลดปล่อยคาร์บอน

“สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปรียบเสมือนเราเป็นกบในหม้อน้ำเย็น แล้วค่อยต้มน้ำให้เริ่มร้อนขึ้น ทีละ 1องศา กบจะไม่กระโดดหนี และตายในหม้อ โลกกำลังร้อนขึ้นทุกปี สภาพอากาศเริ่มเปลี่ยนแปลงทุกปี อากาศจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่เราไม่สามารถทนได้อีกต่อไปแล้ว คำถามคือ คนไทยที่เป็นพลเมืองโลก จะทำตัวเป็นกบที่เจอน้ำเดือดแล้วกระโดดหนีทันที หรือจะว่ายอยู่ในน้ำเย็นที่ร้อนขึ้นๆ จนในที่สุดเราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ และตายไป”

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Survive Climate Tipping Point” ในงาน Climate Care Forum “Survive Climate Tipping Point” ที่จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 1 ปี โครงการ Care the Whale @รัชดา โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564

โลกมีการตั้งเวลานับถอยหลัง ไปจนถึงจุด tipping point ที่กำลังพูดถึงนี้ โดยเหลือเวลาอีก 6 ปีกว่าๆ ไม่ถึง 7 ปี ที่ปริมาณต้นไม้ในโลกนี้จะไม่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้

“การที่พูดถึง Climate tipping point การพูดถึง world clock แสดงว่า หลายฝ่ายเริ่มตระหนักว่าเวลาเราเหลือน้อยเข้ามาทุกที วันนี้เราเหลืออีก 6 ปีกว่าๆ ในการที่จะมาช่วยกันทั้งลดปริมาณคาร์บอนที่มนุษย์ผลิตขึ้น และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโลกใบนี้เพื่อที่จะได้ดูดซับในอนาคต

นายวราวุธกล่าวว่า นโยบายของประเทศไทย ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ 31.2% ให้ได้ 40% ภายใน 20 ปี พื้นที่ป่าที่มี 31.2% นั้นสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 80 ล้านตันต่อปีเท่านั้น แต่ปัจจุบันประเทศไทยผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 350 ล้านตัน แม้หากไทยสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าเป็น 40% ได้ตามเป้าหมายก็ยังดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพียง 100 ล้านตันเท่านั้น หรือหากเปลี่ยนพื้นที่ประเทศไทยทั้ง 323 ล้านไร่ให้เป็นพื้นที่สีเขียวป่าทั้งหมด ก็ยังไม่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่คนไทยผลิตขึ้นได้ทั้งหมด

“เราต้องทำทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวและต้องลดการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ หรือหานวัตกรรมใหม่ การเพิ่มพื้นที่ป่า และการหานวัตกรรมใหม่ ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชนและภาครัฐไม่ใช่เรื่องง่าย”

ประเทศไทยมีความก้าวหน้าพอสมควร ในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อประเมินจาก เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ที่เรียกว่า NDC (Nationally Determined Contribution) ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี โดยไทยกำลังเข้าสู่การดำเนินงานระยะที่สองตาม NDC หลังจากที่ทำได้ตามเป้าหมายการลด 7-15% ในระยะแรก ในภาคการขนส่งและภาคพลังงาน

ในระยะที่สองจะมีความท้าทายมากขึ้น เพราะต้องการที่จะลดให้ได้ 20-25% จากการดำเนินงานตามปกติ โดยภาคที่จะคำนวณมีมากขึ้น ทั้งภาคพลังงาน ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และการใช้ผลิตภัณฑ์

การเข้าร่วมข้อตกลงปารีส ทำให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลายอย่าง ขณะที่โลกมีความตื่นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ดังจะเห็นจากการที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ทำหลังจากเข้ารับตำแหน่งเป็นสิ่งแรก คือ การนำสหรัฐฯ กลับเข้าไปอยู่ในข้อตกลงปารีสอีกครั้ง สะท้อนว่า สหรัฐฯ เริ่มให้ความสำคัญกับการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้านยุโรปตั้งเป้าที่จะเป็นกรีนโซนภายในปี 2050 เป็น carbon neutral คือ ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศสุทธิเพิ่มขึ้นจากการดำเนินธุรกิจหรือการบริการของผลิตภัณฑ์

การทำธุรกิจกับต่างประเทศของไทยจะโดนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งพลังงานหมุนเวียน การมีพื้นที่สีเขียว การมี carbon sink หรือแหล่งดูดซับคาร์บอนได้ออกไซด์ รวมทั้ง carbon credit จะมีความสำคัญมากขึ้น ในการเป็นคู่ค้ากับต่างประเทศ

“มาตรการต่างๆที่เราไม่เคยคิด มาตรการต่างๆที่เราไม่เคยพบ จะมีผลกระทบกับเรามากขึ้น”

หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในไทย คือ ปัญหาขยะ ทั้งขยะอาหารที่มีก๊าซมีเธน ซึ่งมีอันตรายมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 30-40 เท่า และก๊าซไนตรัสออกไซด์อันตรายกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 350 เท่า

การลดปริมาณขยะและการลดก๊าซอันตรายเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ประเทศลดและทำตามเป้าหมายของ NDC ที่ได้ทำไว้ตามข้อตกลงปารีสได้

ในปีนี้คาดว่าจะมีการประชุม COP 26 จากที่เลื่อนออกไปในปีก่อนอันเนื่องจากสถานการณ์โควิด และคาดว่าอังกฤษเจ้าภาพในการจัดประชุม จะผลักดันประเทศที่เข้าร่วมข้อตกลงปารีสเพิ่มเป้าหมายของ NDC มากขึ้น จาก 20-25%

“ประเทศไทยได้รับการทาบทามมาแล้วว่า เราจะทำให้เกิน 25% ได้หรือไม่ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งท้าทายที่หากภาครัฐและภาคเอกชน หากไม่ให้ความร่วมมือกันแล้ว การเดินทางไปสู่เป้าหมายของ NDC ทำได้ยาก”

ด้านการดำเนินการจัดการขยะของรัฐบาลนอกจากขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันจัดการกับขยะทุกประเภท ไม่ว่าขยะอาหาร ขยะอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงพาณิชย์ได้ห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะพลาสติกแล้ว “ก้าวต่อไปคือ หาทางยุติการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ”

การลดขยะพลาสติกไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากมีการปฏิบัติในที่ทำงานแล้ว ต้องนำหลักปฏิบัตินี้ไปใช้ที่บ้านและชุมชน เพราะไม่ว่านโยบายของรัฐบาลหลายด้านเกี่ยวกับขยะจะเข้มงวดแค่ไหน แต่หากประชาชนและภาคเอกชน หรือภาครัฐไม่นำไปใช้โดยเคร่งครัด มาตรการเหล่านี้ก็เป็นเพียงตัวหนังสือ และไม่เกิดผล

“การที่มนุษย์จะมีชีวิตรอดไปถึงศตวรรษหน้า หรือการที่จะอยู่รอดจากการเปลี่ยนแปลง คนเราจะต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ ไม่ใช่ธรรมชาติปรับเข้ากับตัวของเรา ดังนั้นเราต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเอง เพราะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมใช้เวลากว่าจะมาถึงวันนี้ การที่จะแก้ไขไม่ใช่เพียงแค่ดึงปลั๊กออก แล้วจบ”

”การแก้ไขเรื่องสิ่งแวดล้อมใช้เวลาพอๆกับการก่อตัวของปัญหา การที่จะปลูกต้นไม้ขึ้นมาต้นหนึ่ง การปลูกป่าขึ้นมาหนึ่งตารางเมตรใช้เวลานับสิบปี หรือ 20-30 ปี หากเราไม่เริ่มแก้ไขตั้งแต่วันนี้ เราจะกลายเป็นกบที่อยู่ในหม้อที่กำลังร้อนขึ้นๆ และเราจะตายคาหม้อน้ำในที่สุด”

“สถานการณ์สิ่งแวดล้อมใกล้ตัวเราเข้ามาทุกทีแล้ว ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทุกปี การที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล การที่เขื่อนมีน้ำเพียง 20% เป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นผลพวงของการที่เรามีเวลาเหลือเพียง 6 ปีกว่า เพื่อจะก้าวสู่ศตวรรษใหม่และส่งต่อโลกใบนี้ให้กับคนรุ่นต่อๆไปในสภาพที่สมบูรณ์ เพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เหมือนที่เราได้รับมาจากคนรุ่นที่ผ่านมา”

ต้นแบบบริหารจัดการขยะ

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ Care the Whale @รัชดา ดำเนินการภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs)สหประชาชาติ 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่ ข้อ 13 Climate Action การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ข้อ 12 Responsible Consumption การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และข้อ 17 Partnership for the Goal ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมดำเนินการกับ 4 ภาคส่วนสำคัญ ได้แก่ ผู้ประกอบการธุรกิจซึ่งมีที่ตั้งบนถนนรัชดาภิเษก 14 แห่ง และพันธมิตรเอกชน นักธุรกิจเพื่อสังคม พันธมิตรผู้ประกอบการในห่วงโซ่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน และหน่วยงานภาครัฐ

ตลอดระยะเวลา 1 ปีด้วยความมุ่งมั่น โครงการ Care the Whale สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการบริหารจัดการขยะและคัดแยกขยะได้ถึง 4,268,496.0 กิโลคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ใหญ่อายุ 10 ปีจำนวน 472,277 ต้น

ความร่วมมือของโครงการไม่ได้สะท้อนออกมาเป็นตัวเลขเท่านั้น ในด้านกระบวนการปฏิบัติ สมาชิกสามารถบริหารจัดการตั้งแต่การแยกขยะจากต้นทางไปสู่ปลายทาง เพื่อเข้าสู่กระบวนการ circular economy ได้อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากขึ้น

ผลที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เกิดจากความพยายามดำเนินการร่วมกันของสมาชิก ที่ใช้หลักการ 3 ด้าน คือ 1) กำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และการวางแผน ระบบการจัดการที่ร่วมดำเนินงานตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงระดับผู้ปฏิบัติการ 2) การวัดค่า วิเคราะห์ ประเมินผล 3) การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสมาชิก โดยการสื่อสารในวงกว้างเพื่อขยายผลลัพธ์ทางสังคม

“การทำงานทั้งสามด้านคือหัวใจหลักของโครงการ ทำให้โครงการ Care the Whale @รัชดา บนถนนรัชดาภิเษกได้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการเรียนรู้งานบริหารจัดการขยะ รวมถึงโครงการสามารถขยายไปยังพื้นที่อื่นได้ในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา”

โดยมีบริษัทเอกชนเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ได้แก่ บมจ.ทีวีไดเร็ค บนพื้นที่วัชรพล, โครงการคอนโดมิเนียม เดอะไลน์ ถนนอโศกดินแดง โดย บมจ.แสนสิริ, กลุ่มโรงพยาบาลพริ้นซ์ โดยบมจ.พริ้นซิเพิล แคปปิตอล, เทศบาลตำบลนาดี จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นชุมชนเมืองจัดการสิ่งแวดล้อมนำร่องภายใต้ความร่วมมือกับ UNESCAPE

ขยะล่องหน: ถอดบทเรียน สู้โลกร้อน

ภายในงานได้มีการเสวนา ขยะล่องหน: ถอดบทเรียน สู้โลกร้อน” เพื่อชวนภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคสังคม และคนไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม รับฟัง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมหาทางออกจัดการสิ่งแวดล้อมด้านบริหารจัดการขยะ เพื่อทำให้ขยะไม่ใช่ขยะ กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ผู้นำต้นแบบด้านการจัดการขยะ และนักธุรกิจเพื่อสังคมรุ่นใหม่ โดยการเสวนาในช่วงแรกประกอบด้วย พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกำโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ, ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, ดร.ไชยยศ บุญญากิจ รองประธานเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย, นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ส่วนในช่วงที่สอง ผู้เข้าร่วมได้แก่ ดร.สุทัศน์ รงรอง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดูอินไทย จำกัด, นายจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด, นส.วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท วิถี ไทย กรุ๊ป จำกัด ศิลปินที่ใช้ศิลปะเพื่อกระตุ้นเรื่องสิ่งแวดล้อม และ นส.นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การเสวนาในช่วงแรก จากซ้าย นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ผู้ดำเนินการเสวนา,
ดร.ไชยยศ บุญญากิจ, พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกำโร, ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์,
นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล

  • เปลี่ยนMindsetการบริโภคก่อนต้องหาโลกใบใหม่
    ดร.ไชยยศ บุญญากิจ รองประธานเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การวัดว่าโลกยั่งยืนหรือไม่ อย่างแรก ดูจากรอยเท้านิเวศ (ecological footprint) คือวัดจากปริมาณผลผลิตทางชีวภาพทั้งทางบกและทางทะเลที่จำเป็นต่อการผลิตทรัพยากรทั้งหมดที่มนุษย์บริโภคและใช้ในการดูดซับของเสีย เป็นการคำนวณขนาดพื้นที่ที่จำเป็นเพื่อการดำรงชีวิตในหน่วยเฮกแตร์ อย่างที่สอง วัดจากความสามารถรองรับเชิงนิเวศของโลกหรือ biocapacity หมายถึงความสามารถในการทดแทนทางชีวภาพ ความสามารถของระบบนิวเวศที่จะสร้างทรัพยากรชีวภาพที่มีประโยชน์ขึ้นมาใหม่และดูดซับของเสียที่เกิดจากมนุษย์ มีหน่วยเป็นเฮกแตร์ของโลก

    ข้อมูลในปี 2017 พบว่า โลกซึ่งมี GDP ต่อคน 10,713 ดอลลาร์ จากจำนวนประชากรทั้งหมด 7,550 ล้านคน มีกำลังความสามารถรองรับเชิงนิเวศต่อคน 1.6 เฮกแตร์ แต่มนุษย์ได้ใช้ทรัพยากรทั้งเพื่อการบริโภคและใช้ในการดูดซับของเสียไปแล้ว 2.8 เฮกแตร์ ดังนั้นจึงติดลบ 1.2 เฮกแตร์

    สำหรับประเทศไทย คนไทยมีกำลังความสามารถรองรับเชิงนิเวศต่อคน 1.2 เฮกแตร์ แต่ได้ใช้ทรัพยากรทั้งเพื่อการบริโภคและใช้ในการดูดซับของเสียไปแล้ว 2.6 เฮกแตร์ ดังนั้นจึงติดลบ 1.4 เฮกแตร์ สูงกว่าระดับโลก และเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นจากปี 1991

    “หากแนวโน้มนี้ยังต่อเนื่องในปี 2050 เราต้องหาโลกใหม่อยู่”

    ความยั่งยืนของโลกเริ่มขึ้นจากการประชุมครั้งแรกปี 1972 ซึ่งประชากรโลกยังมีจำนวน 3.8 พันล้านคน และมีการตั้งข้อสังเกตว่า มนุษย์ใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือย หากไม่มีคนดูแลจะมีปัญหา จึงมีการจัดตั้ง UNEP ขึ้นมา ต่อมาปี 1992 ประชากรโลกเพิ่มเป็น 5.4 พันล้านคน จึงมีการจัดทำแผนปฏิบัติการ 21 เพื่อให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งประเทศไทยร่วมลงนามรับรองแผนด้วย

    ในอีก 10 ปีต่อมาคือปี 2002 ประชากรโลกเพิ่มเป็น 6.3 พันล้านคน การประชุมจึงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะที่ผ่านมากยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยให้ประเทศสมาชิกรับแนวคิดการพัฒนายั่งยืนเป็นกรอบการพัฒนาประเทศ ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นพันธกรณี ต่อมาปี 2012 ประชากรโลกเพิ่มเป็น 7.1 พันล้านคน การประชุมมีการประกาศ การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว มีการจัดทำ SDGs, UNEP, SCP (Sustainable Consumption and Production) การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน กรอบแผนสิบปี และมีการจัดทำรายงาน Sustainability Report ระดับประเทศ และระดับบริษัท

    ในปี 1994 ได้มีการสำรวจการบริโภคทั่วโลกพบว่า มีการบริโภคเกินความจำเป็น โดยครอบครัวตะวันตกที่มีสมาชิก 4 คน มีปริมาณของใช้ในบ้านถึง 6,000 ชิ้น ครอบครัวญี่ปุ่น ใช้ 9,000 ชิ้น ครอบครัวอินเดียที่มีสมาชิก 6 คน มีของใช้ 22 ชิ้น และครอบครัวไทย มีของใช้ 60 ชิ้น

    “mindset เป็นเรื่องใหญ่สุด บริโภคเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ทุกคนต้องมี mindset และแคร์ในเรื่องสิ่งแวดล้อมของโลกให้ตรงกัน แล้วจะเกิดการผลักดันขึ้นเอง”

    ในอาเซียน ไทยนับว่าอยู่ในอันดับที่ดีที่สุดเพราะมีฉลากสิ่งแวดล้อมที่กำกับผลิตภัณฑ์และบริการว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งกระบวนการผลิต การใช้งาน การจัดการหลังกำจัดซาก ลดการใช้ทรัพยากร ลดการก่อมลพิษ ขณะที่ภาครัฐมีการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงต้องเร่งส่งเสริมการบริโภคและการผลิตเท่าที่จำเป็น

    ประเทศไทยใช้การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2551 ตอนนี้อยู่ในระยะที่สอง และการดำเนินการในระยะสาม 2561-2564 จะขยายไปกลุ่มเป้าหมายชักชวนภาคเอกชนให้เข้าร่วมด้วย ทั้งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

  • ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์
    ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้ข้อมูลว่า พลังงานในประเทศเกียวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด 69% อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนไทยมีการปรับเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น โดยขยับจากการทำกิจกรรมเพื่อสังคมไปสู่การปรับกระบวนการผลิต กระบวนทางธุรกิจมากขึ้น มีการลดขยะ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    ตั้งแต่ปี 1850 ที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม โลกร้อนขึ้น 1 องศา ถ้าไม่ดำเนินการใดๆ เหลือเวลาเพียง 6 ปีโลกจะร้อนขึ้นเกิน 2 องศา จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รัฐต้องร่วมมือกับเอกชน ประชาชน ผู้บริโภค ตามเป้าหมาย SDG ข้อ 17

    ภายใต้ SDG ข้อ 7 พลังงานสะอาด เข้าถึงได้ ราคาไม่แพงเกินไป ทิศทางพลังงานในอนาคตประกอบด้วย 3 D คือ ลดการเรือนประจก decarbonization ลดการรวมศูนย์ decentralization และการใช้ดิจิทัล digiltaization และกำลังมี democratization ประชาธิปไตยด้านพลังงาน เข้ามา ที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงเป็นรูปธรรมอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีศักยภาพ ซึ่งผู้ประกอบการหลายแห่งหลายพื้นที่หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น

    “เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก แต่การไปสู่ตรงนั้นกฎหมายอย่างเดียวไม่พอ ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องใช้เครื่องมืออื่นช่วย เช่น เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เปลี่ยนให้ขยะให้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และอย่าหวังรอแต่ภาครัฐ ทุกคนต้องช่วยกัน”

  • สอดคล้องพระวินัยพุทธศาสนา
    พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ ที่ริเริ่มบริหารจัดการขยะจนปัจจุบันวัดหลายเป็นศูนย์จัดการขยะครบวงจร และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการขยะของชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้า เล่าว่า การจัดการขยะในช่วงแรก เริ่มจากการแยกขยะ แล้วเอาขยะขึ้นชั่ง เพื่อวัดปริมาณขยะเปียกก่อนที่นำไปทำปุ๋ยผสมกับกิ่งไม้เศษใบไม้ในวัด ส่วนขยะพลาสติกได้ขอความร่วมมือจากอาจารย์จากมหาวิทยาลัยกระจอมเกล้าลาดกระบัง พัฒนาเครื่องต้มพลาสติกขนาดเล็กเพื่อผลิตน้ำมัน แม้น้ำมันที่ได้จากการนึ่งพลาสติกนำไปใช้กับรถยนต์และเครื่องยนต์ดีเซลต่างๆ ได้ แต่ไม่คุ้มค่ากับต้นทุน ประกอบกับเครื่องมีขนาดเล็กไม่สามารถกำจัดขยะในชุมชนได้ จึงได้หาแนวทางอื่นเพิ่มเติม

    ในระยะต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทพีทีที โกลบอล เคมีคอล ทำให้การจัดการขยะมีความชัดเจนมากขึ้นจนกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนและจากพื้นที่อื่น

    นอกจากนี้ยังมีการจัดกับการอาหารที่พระได้จากการออกไปบิณฑบาตร โดยจัดระบบตักอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ให้พระตักอาหารให้เพียงพอสำหรับฉัน อาหารที่เหลือยกให้ชาวบ้าน ทำให้ขยะเหลือน้อย อีกทั้งยังได้หาความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ไปเรียนรู้เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและลงมือทำ

    “การจัดการกับขยะยังสอดคล้องกับพระสูตร พระอภิธรรม พระวินัยไตรปิฏก ที่เกี่ยวข้องกับความสะอาด โดยกำหนดให้พระภิกษุเก็บกวาดทำความสะอาด เพื่อไม่เป็นบ่อเกิดของโรค ก็ดึงสิ่งเหล่านี้ออกมาปฏิบัติ”

  • ขยะคือวัตถุดิบ
    นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลขยะพลาสติกโดยอ้างอิงสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2562 พลาสติกขยะ มีปริมาณ 2.12 ล้านตัน ปี 2563 ซึ่งเกิดการระบาดของไวรัสโควิดขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็น 3.44 ล้านตัน โดยประมาณ 60% ของขยะนี้สามารถนำพลาสติกกลับมารีไซเคิลได้

    ปี 2562 รีไซเคิลได 495 ตัน ปีที่แล้ว 660,000 ตัน เพิ่มขึ้น 33% สะท้อนว่ามีการจัดการขยะพลาสิกที่ดีขึ้น แต่ยังมีขยะอีกส่วนหนึ่งที่กำจัดไม่หมด จากการสั่งอาหารมากินที่บ้าน และแนวโน้มคงยังเป็นอย่างนี้ต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์โควิด

    สำหรับโครงการวนเกิดขึ้นจาก พนักงานกลุ่มหนึ่งในบรษัทฯ มีความคิดว่า ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ผลิต เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมภายนอก จึงได้หาแนวทางการคัดแยกขยะให้ถูกต้อง เพราะพลาสติกมีหลายประเภท หลายเกรด รีไซเคิลได้บางประเภท ช่วงแรกทดลองภายในบริษัทฯ เป็นเวลา 6 เดือน จึงได้ขยายไปยังเครือข่ายพันธมิตร ปัจจุบันมีหลายองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กทม. ทุกเขตทั้ง 36 เขต กลุ่มโรงงานผลิตพลาสติกขายในประเทศ ตั้งจุดรับขยะพลาสติก ปัจจุบันมีจำนวน 389 จุด

    การดำเนินการได้ผลที่น่าพอใจ โดยจากพลาสติกที่เก็บกลับมา 100 กว่าตันหรือ 1 แสนกว่ากิโล สามารถนำมา นำมาผลิตถุงพลาสติก และลดมลภาวะได้ 93.8 ตัน ลดการใช้พลาสติกใหม่ 100% และผลิตถุงพลาสติกที่ใช้พลาสติกใหม่เพียง 20% ส่วนที่เหลือ 80% เป็นพลาสติกรีไซเคิล

    นอกจากนี้ยังนำมา upcycling ผลิตถังขยะขนาดเล็ก ตัวยึดหน้ากากแบบปรับได้ ที่ใส่กระดาษทิชชู่ หรือถุงพลาสติก กระถางต้นไม้ขนาดเล็ก พวงกุญแจ จานรองแก้ว และยังพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นเพิ่มเติม

    “การดำเนินการลักษณะนี้กระทบต่อรายได้ แต่ยินดีที่จะทำ เพราะเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ที่สำคัญ ให้ทุกคนมองว่า ขยะพลาสติกเป็นวัตถุดิบ ไม่ใช่ขยะ ถ้ามองว่า เป็นวัตถุดิบจะเกิดแรงจูงใจให้เก็บตลอดเวลา เอามาแปรรูป”

    การเสวนาช่วง 2 จากซ้าย ผู้ดำเนินการเสวนา นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์, ดร.สุทัศน์ รงรอง,
    นายจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์, นส.วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ และ นส.นพเก้า สุจริตกุล

  • Care the Whale ขยายผลทางสังคม
    นส.นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า Care the Whale หรือชื่อในภาษาไทย คือ ขยะล่องหน เป็นโครงการที่เริ่มจากปรับมุมคิด ร่วมกับธุรกิจเพื่อสังคม ที่ไม่ได้มุ่งไปที่การคัดแยกขยะ แต่เป็นการเปลี่ยนความคิดว่าไม่มีอะไรในโลกเป็นขยะ เพราะหาทางใช้ให้หมดลงได้ จึงใช้สัญญลักษณ์ปลาวาฬ หมายความถึงการทำให้ขยะล่องหนก่อนที่ไหลลงสู่ทะเลเข้าสู่ท้องปลาวาฬ

    โครงการนี้เริ่มจากไปคุยกับเพื่อนบ้านบนถนนรัชดา ด้วยการทำโมดูล ครอบคลุมวิธีการ การกำหนดตัวคนรับผิดชอบโดยตรง และตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วยคำนวณปริมาณขยะที่ลดลงออกมาเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลง

    “สิ่งที่เราได้จากโครงการคือได้พลเมืองแม่บ้าน พนักงานที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการคัดแยก มาเป็นแนวหน้าในการทำงาน ได้บทเรียนในการเพิ่มทักษะ เสริมทักษะ สามารถจัดทำกระบวนการให้คนที่อยู่ในตึก รู้ว่าจะแยกขยะอย่างไร เป็นการเรียนรู้ของแต่ละบ้าน”

    “ปีนี้จะขยายไปสู่บ้านคนอื่น และขยายจำนวนบ้านและเพิ่มการลดคาร์บอนให้ได้ รวมทั้งขยายลงไปที่พลาสติกกลุ่มอื่น เช่น ถุงขนมขนาดเล็ก ถุงสแนก ถุงบะหมี่สำเร็จรูป ขวดขุ่น และเพิ่มจำนวนการลดการปล่อยคาร์บอน โดยจะพัฒนาแพล็ตฟอร์มการคำนวณเป็นดิจิทัลและรองรับการแยกขยะได้มากขึ้น รองรับการทำงานได้มากขึ้น”

  • ขยะอาหารคือระเบิดนิวเคลียร์
    ดร.สุทัศน์ รงรอง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดูอินไทย จำกัด ให้ข้อมูลและแนวทางการจัดการกับขยะอาหาร ว่า ขยะอาหาร เป็นเรื่องใหญ่ 1 ใน 3 ของการผลิตอาหารทำให้เกิดการสูญเสียระหว่างการผลิต (food loss) และเกิดขยะอาหาร (food waste) และขยะที่เกิดจากสิ่งที่หายไประหว่างการผลิต และขยะที่เกิดจากการกินไม่หมดมีปริมาณรวมกัน 1.3 พันล้านตันต่อปี

    ปริมาณขยะอาหารทำให้โลกร้อน เนื่องจากคนกินอาหารทุกวัน และการผลิตอาหารมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 26% ของโลก เท่ากับ 4 แสนเท่าของระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา

    “เรามีระเบิดนิวเคลียร์ลงมาที่โลก 4 แสนลูกทุกวัน เทียบเท่าพลังงานที่ปล่อยไปในชั้นบรรยากาศ ซึ่ง 26% มาจากการการผลิตอาหาร แต่ 6% ในนั้นจากขยะอาหารล้วนๆ นับว่าเยอะมาก”

    สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ใน SDG ข้อ12 การผลิตและการบริโภค มีตัวชี้วัด ซึ่งเป็นเป้าหมายย่อยข้อ 12.3 คือ FWI Food Waste Index ที่จะบ่งบอกปริมาณขยะอาหาร ธุรกิจอาหารต้องลดการสูญเสียระหว่างการผลิตให้ได้

    “ความสำคัญของโลกร้อนกับความสำคัญของอาหารเป็นเรื่องที่ใกล้กันมากกว่าที่คิด ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน”

    ธุรกิจร้านอาหาร สามารถจัดการได้โดยจัดเก็บข้อมูลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผน การสั่งผลิต การบริโภค ปริมาณที่เหลือ ส่วนที่เหลือมีอะไรบ้าง และอะไรบ้างที่นำไปฝังกลบ และในปริมาณเท่าใด เพราะแม้ลดการปล่อยคาร์บอนได้ แต่กลับก๊าซมีเทนเพิ่มจากการนำไปฝังกลบ

    สำหรับในประเทศไทย ขยะอาหารที่ได้จากกรมควบคุมมลพิษ และเป็นขยะจากการจัดเก็บของเทศบาลมีปริมาณ 30 ล้านตันต่อปี แต่มีส่วนที่จัดการได้ดีเพิ่มขึ้น ส่วนที่จัดการไม่ดีลดลง และในขยะ 30 ล้านตันนี้มีขยะอาหารถึง 64% ส่วนเหลือ 30% เป็นขยะพลาสติก กระดาษ แก้ว โลหะอลูเนียม

    วิธีการที่ทำให้ขยะอาหารไม่ลงไปสู่กระบวนการฝังกลบ 1) เริ่มตั้งแต่ต้นทางต้องมีการวางแผนไม่ให้เหลือตั้งแต่ต้นทางคือผู้ผลิต ตั้งแต่การผลิต อาหารคาวหวาน ผลิตให้สอดคล้องกับฤดูกาลการบริโภค 2) อาหารเหลือนำไปให้คนยากไร้ แต่แนวคิดนี้ต้องทำความเข้าใจกับผู้ให้ขยะให้ชัดเจน มิฉะนั้นผู้ที่ได้รับอาหารเหลือจะกลายเป็นถังขยะผ่องถ่าย 3) นำอาหารเหลือไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ 4) นำไปสู่อุตสาหกรรมที่รับกำจัด เช่น เผา หมัก 5) ย่อยขยะซึ่งจะได้ปุ๋ยออกมา นับเป็นสินทรัพย์ และในที่สุดนำปุ๋ยมาปลูกผักบนหลังคา ชั้นดาดฟ้าได้

  • เศรษฐกิจหมุนเวียนข้ามอุตสาหกรรม
    นายจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด และผู้ก่อตั้ง บริษัท วิถี ไทย กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ในประเทศไทยขยะเศษผ้าถูกนับรวมเป็นขยะมูลฝอย แต่ขยะเศษผ้าในโลกมี 80-90 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับคนไทยสามารถมีเสื้อผ้าใส่หนึ่งชุดฟรีต่อวันไปอีก 5-10 ปี และขยะสิ่งทอมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 30% อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมอันดับสองที่ทำให้เกิดโลกร้อน เพราะ 20% ของน้ำเสียมาจากอุตสาหกรรมแฟชั่น 10% ของก๊าซเรือนกระจกมาจากแฟชั่น

    อุตสาหกรรมแฟชั่นมีส่วนในโลกร้อนตั้งแต่การปลูกฝ้าย ฝ้ายหนึ่งต้นผลิตเสื้อผ้าได้ 3 ตัว ฝ้าย 1 กิโลกรัมใช้น้ำ 10,000 ลิตร ขณะที่กระบวนการฟอกย้อม ทอผ้า ตัดเย็บ ทุกกระบวนการมีการปล่อยก๊าซออกมา

    ทิศทางในระดับโลก แบรนด์ระดับโลก เดินหน้าสู่ความยั่งยืน หันมาใช้วัตถุดิบที่สร้างความยั่งยืน แต่ในประเทศไทยอาจจะเป็นเรื่องใหม่แต่เริ่มรณรรงค์

    บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด ซึ่งเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นได้ 2 ปี ต้องการสร้างความตระหนักรู้และสร้างแรงบันดาลใจว่า ทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมแฟชั่นหรือสิ่งทอ สามารถสร้างโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้ ในอีก 5-10 ปีจะเห็นเทคโนโลยีใหม่ สามารถสร้างสิ่งใหม่ให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนข้ามอุตสาหกรรมได้ และเกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ ที่มีการผลิตเสื้อผ้าจากนม

    “บริษัทฯ ไม่เน้นกำไรมากนัก เพราะมีการประหยัดต่อขนาด และมองผลในระยะยาว แม้มีต้นทุนสูงกว่าการดำธุรกิจทั่วไป แต่ทุกคนต้องร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยตัวชี้วัด คือ การลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติ”

  • แปรขยะเป็นงานศิลปแก้สิ่งแวดล้อม
    นส.วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินที่ใช้ศิลปะเพื่อกระตุ้นเรื่องสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า งานศิลปะที่ทำได้ใช้วัสดุเหลือใช้ทั้งหมด เกิดจากความรับรู้ด้วยตัวเอง จากการรู้จักคำว่าตาวิเศษ เศรษฐกิจพอเพียง ที่ตีความว่าใช้วัตถุดิบที่มีและไม่ให้เหลือ ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ สามารถแปรเปลี่ยนขยะได้หมด

    “ชิ้นงานที่ทำได้จดสถิติว่าใช้วัสดุอะไรบ้าง จำนวนเท่าไร เช่น ตัววาฬที่จัดโชว์ด้านหน้าตลาดหลักทรัพย์ ที่ใช้ทั้งฝาขวดน้ำ ขวดน้ำพลาสติด และมีการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ พบว่า วาฬตัวนี้ดูดซับคาร์บอนได้หนึ่งพันกว่ากิโล เทียบเท่าต้นไม้ 162 ต้น”

    สิ่งที่ทำสามารถวัดผลได้จริง จึงได้แชร์ให้กับคู่ค้า ลูกค้า เพื่อให้รับรู้ ถึงผลที่เกิดขึ้นนอกจากงานศิลปะที่สวยงาม และงานที่ทำไปแล้วมีคนรับรู้มากขึ้น เพราะได้คำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์บอกไว้

    “งานศิลปะอยู่ได้ทุกพื้นที่ สามารถนำเสนอได้หลายรูปแบบ งานที่ทำเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับ SDG ทุกเป้าหมาย และเป็นปัญหาเร่งด่วน”