ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Climate Change ถ่างความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจทั่วโลกขึ้น 25% รั้งการเติบโตประเทศยากจน

Climate Change ถ่างความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจทั่วโลกขึ้น 25% รั้งการเติบโตประเทศยากจน

1 พฤษภาคม 2019


ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก และมีผลเลวร้ายต่อประเทศยากจนที่ต้องทำอะไรอีกหลายอย่างเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว

ประเทศที่มีส่วนต่อการรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อนน้อยสุดกลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากสุด ประเทศยากจนและมีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนอยู่แล้ว เมื่ออากาศร้อนขึ้นก็จะได้รับความเสียหายมากขึ้นอีก สภาพอากาศที่เลวร้ายสุด เช่น ภาวะแห้งแล้งที่กินเวลานานในไซบีเรีย ภัยพิบัติน้ำท่วมจากลมมรสุมในเอเชียใต้ และไซโคลนอิดาอีในตอนใต้และตะวันออกของแอฟริกา ซึ่งเป็นพายุที่ร้ายแรงสุดเป็นอันดับสาม จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น

เหตุการณ์เหล่านี้มีผลต่อการเสียชีวิต การพลัดพรากจากที่อยู่ ความเสียหายต่อผลผลิต มากขึ้นเป็นทวีคูณ ด้วยเหตุนี้จึงมีการประมาณการณ์ว่า ประเทศยากจนและประเทศที่อากาศร้อนขึ้นจะได้รับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรอบหลายสิบปีข้างหน้า ขณะที่ประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น ประเทศร่ำรวยที่มีส่วนต่อความรับผิดชอบในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากนั้นยังคงได้รับผลดีในระยะสั้น

แต่ผลการวิจัยล่าสุดจากแบบจำลองประเมินผลกระทบจากภาวะโลกร้อนหรือ Global Warming ต่อประเทศต่างๆ ของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสองราย พบว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมาแล้ว 60 ปี โดยในประเทศที่ยากจนอย่างมากนั้น อุณหภูมิที่สูงขึ้น 90% จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตน้อยลงเมื่อเทียบกับโลกที่ไม่มีภาวะโลกร้อน ขณะเดียวกัน ผลกระทบต่อประเทศร่ำรวยจะน้อยกว่า และอาจจะได้รับผลดีจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นด้วยซ้ำ

โนอาห์ ดิฟเฟนบาว นักวิชาการอาวุโสของ Woods Institute for the Environment แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้ทำรายงานวิจัย Global warming has increased global economic inequality ร่วมกับ มาร์แชลล์ เบอร์เคีย นักวิชาการอีกราย กล่าวว่า แบบจำลองในงานวิจัยแสดงให้เห็นชัดว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในหลายปีนี้มีความล่าช้า ทั้งๆ ที่ควรจะมีการพัฒนาในระดับที่ใกล้เคียงกันและความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศลดลงในระดับมากกว่าที่เราเห็น หากไม่เกิดภาวะโลกร้อน

“เราพบว่ามีความเป็นได้สูงที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการกระทำของคนได้เพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ” รายงานระบุ นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้กล่าวอีกว่า แม้ประเทศร่ำรวยในภูมิภาคที่มีอากาศหนาวเย็นจะได้รับผลดีจากอากาศที่อุ่นขึ้น แต่ประเทศยากจนส่วนใหญ่จะเดือดร้อน

“นอกเหนือไปจากการไม่แบ่งปันความเท่าเทียมของผลโดยตรงจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ประเทศยากจนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากอากาศที่ร้อนขึ้นจากการใช้พลังงานของประเทศร่ำรวย” ผู้วิจัยระบุในรายงาน

หลายประเทศได้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นมากในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศลดลงมาก อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำจะลดลงเร็วกว่านี้หากอุณหภูมิโลกไม่สูงขึ้น

ผลการวิจัยได้เปรียบเทียบ GDP ต่อหัวของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดมาตรฐานการครองชีพเฉลี่ยของบุคคลช่วงปี 2504-2553 พร้อมนำเสนอ GDP แต่ละประเทศในกรณีที่ไม่มีผลกระทบจาก Climate Change ให้เห็นได้อย่างชัดเจน

ที่มาภาพ: https:// edition.cnn.com/2019/04/22/economy/inequality-climate-change/index.html

เศรษฐกิจประเทศยากจนจำนวนมากได้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แต่ต้องแลกด้วยต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมหาศาลเพื่อผลประโยชน์ต่อในการพัฒนาเศรษฐกิจให้สู่ระดับโลก และแม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะถูกเหนี่ยวรั้งจาก Climate Change ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศยากจนและประเทศร่ำรวยวัดจากรายได้ประชากรต่อหัวกว้างขึ้น 25% สูงขึ้นจากระดับที่ควรจะเป็นหากสภาพภูมิอากาศของโลกทรงตัว

ประเทศยากจนรับผลกระทบจากปัญหาที่ไม่ได้ก่อ

ในบรรดา 36 ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศยากจนสุดและอากาศร้อนสุดนั้น มี 34 ประเทศที่ประสบความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจอยู่แล้วแม้ไม่มีภาวะโลกร้อนเมื่อเทียบกับโลก โดยรายได้ต่อหัวลดลง 24%

ประเทศยากจนที่สุดในสัดส่วน 40% ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ทางใต้ของทะเลทรายสะฮาราในแอฟริกา เอเชีย และอเมริกากลางและใต้นั้น GDP ลดลง 17-31% ในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อหัวต่ำสุดประเทศหนึ่ง จัดว่าเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจแถวหน้าในรอบหลายสิบปีนี้ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 30% อีกทั้งแม้ภาคบริการของประเทศรุ่งเรืองอย่างมาก แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรซึ่งเป็นภาคที่มีการจ้างงานถึงครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัวของอินเดียต่ำกว่าระดับปี 2543 ถึง 31% ทั้งที่ไม่ควรจะเป็น หากไม่เกิดภาวะโลกร้อนจากการกระทำของมนุษย์ในครึ่งศตวรรษแรก และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จีดีพีต่อหัวของอินเดียจะเพิ่มขึ้นถึง 40%

เหตุการณ์ฝนตกหนักมากขึ้น 3 เท่าและและภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้นได้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง และสร้างความเสียหายราวม 9-10 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในภาคเกษตร รวมทั้งยังทำให้เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจต้องชะงักงันจนกลายเป็นเรื่องปกติ เช่น มุมไบ ซึ่งมีพลเมืองอาศัยอยู่ราว 12 ล้านคน (มากที่สุดในโลก) ประสบกับน้ำท่วมชายฝั่ง ในปี 2548 และ 2557 ที่ส่งผลให้ต้องปิดสนามบินและเส้นทางคมนาคมทางบก และสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับทรัพย์สิน

ขณะเดียวกัน หน้าร้อนในอินเดียอากาศร้อนมากขึ้นจนกลายเป็นภาวะปกติที่อุณหภูมิสูงเกิน 45 องศาเซลเซียส และประสิทธิผลลดลง มีผู้คนเสียชีวิตหลายพันคน และยังเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากทำให้ตนเองถึงแก่ชีวิต นอกจากนี้ยังใช้เงินจำนวนหลายพันล้านในการสร้างและฟื้นฟูจากพายุไซโคลน ดังเช่น ปี 2542 ที่พายุไซโคลนโอธิษา ที่ส่งผลให้ผู้คน 2 ล้านคนไร้ที่อยู่ ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินเดียและประเทศอื่นๆ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบบังกลาเทศ ทำให้จีดีพีต่อหัวของประชากรต่ำกว่าโลกที่ไม่มีภาวะโลกร้อนถึง 12% ในช่วง 2 ทศวรรษก่อนปี 2543 ซึ่งอับตูร์ รูฟ ทาลักเดอร์ รัฐมนตรีคลังกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า “ปัญหามาจากที่อื่น แต่เราต้องใช้เงินเพื่อการปรับตัว เพราะเราต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป”

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อบางภูมิภาครุนแรงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนใต้ของทะเทรายสะฮารา ทั้งซูดาน บูร์กินาฟาโซ ไนจีเรีย ที่ทำให้จีดีพีต่อหัวประชากรลดลงมากกว่า 20% จากที่ควรจะเป็นในสภาพอากาศที่ปกติไม่มีโลกร้อน นอกจากนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อหัวในชาดลดลง 39% เวเนซุเอลาต่ำลง 32%

ที่มาภาพ: https:// theconversation.com/global-inequality-is-25-higher-than-it-would-have-been-in-a-climate-stable-world-115937

ประเทศร่ำรวยเศรษฐกิจดีขึ้นทั้งที่ปล่อยก๊าซมาก

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเห็นได้ชัดในการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ผลกระทบมีหลายระดับ ในประเทศอากาศหนาวเย็น เช่น ยุโรปตอนเหนือและยุโรปตะวันตก จีดีพีต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นเร็วเมื่ออากาศร้อนขึ้นมากกว่าปกติ ในประเทศอากาศร้อน อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นมากกว่าปกติจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว อุณหภูมิที่สูงมากขึ้นกว่าปกติทำให้ประสิทธิผลของแรงงานลดลง พืชผลทางการเกษตรน้อยลง รวมทั้งมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งหมดนี้มีผลต่อเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศที่ร่ำรวยติดอันดับโลกนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เพิ่มความมั่งคั่งให้อีก โดยมี 14 ใน 19 ประเทศที่ปล่อยก๊าซสูงสุดมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็นหากอุณหภูมิโลกคงที่ และอยู่ที่ระดับอุณหภูมิเฉลี่ยเหมาะสมราว 13 องศาเซลเซียส

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลต่อเศรษฐกิจอังกฤษให้ดีขึ้น 10% และนอร์เวย์ดีขึ้น 34% แต่กระทบเศรษฐกิจสหรัฐอเมริการาว 0.2% อีกทั้งขนาดของประเทศที่ใหญ่มากทำให้ประสบกับภัยจาก Climate Change หลายรูปแบบ ในเมืองที่ร่ำรวยและมีส่วนต่อเศรษฐกิจ เช่น นิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก ดัลลัส และไมอามี จะประสบกับสภาพอากาศที่เลวร้ายมากขึ้น ทั้งพายุ น้ำท่วม และไฟป่า ซึ่งเป็นผลจากอากาศที่ร้อนขึ้นและสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่มีราคาแพงและโครงสร้างพื้นฐาน

ธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาริชมอนด์ในปีที่แล้วเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลกระทบให้จีดีพีสหรัฐฯ หายไปราว 6% ในสิ้นศตวรรษนี้

สาเหตุหนึ่งของการอพยพ

ปัญหาของประเทศยากจนก็ส่งผลกระทบต่อประเทศร่ำรวย เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุของการอพยพข้ามถิ่น
แคลร์ อัลล์แมน ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเบอร์นาร์ด ตั้งข้อสังเกตว่า รายงานวิจัยชิ้นนี้ยืนยันในสิ่งที่ที่ทุกคนตระหนักดี ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากคือประเทศที่มีส่วนในการสร้างปัญหาน้อยที่สุด

และแม้ว่าประเทศร่ำรวยจะได้รับผลโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยกว่า แต่การลุกฮือทางสังคมจะคุกคามทุกประเทศ

“เราจะไม่ประสบกับปัญหาผู้อพยพตรงพรมแดนหากไม่มีปัญหา Climate Change เพราะคนเหล่านี้หลบหนีจากที่พืชผลทางการเกษตรแห้งเหี่ยวและไม่สามารถทำการเกษตรอีกต่อไปได้” อัลล์แมนกล่าว

ทางด้านบรานโก มิลาวิก ศาตราจารย์มหาวิทยาลัยซิตี้แห่งนิวยอร์ก ที่ศึกษาด้านความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของโลก ซึ่งได้อ่านผลงานวิจัยชิ้นนี้ ให้ความเห็นว่า ประเทศที่ได้รับผลกระทบทางลบ เศรษฐกิจโดยรวมมีความสามารถน้อยที่จะรองรับและตอบสนองต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

“เมื่อเราพูดถึงมาตรฐานการครองชีพ เราหมายถึงรายได้ที่แท้จริง ซึ่งหมายถึงรายได้ต่อหัว หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบทางลบกับประเทศยากจนแล้ว การที่จะขจัดความยากจนให้หมดไปจะยากยิ่งขึ้น” บรานโกกล่าว

ผลกระทบทางลบต่อประเทศหนาวเย็นอาจจะเร็วขึ้น เพราะน้ำแข็งที่ละลายในอลาสกาทำให้ผู้คนไม่สามารถออกไปล่าวาฬได้ อีกทั้งการที่สาหร่ายเกิดขึ้นและกระจายตัวอย่างรวดเร็วทำให้ทะเลสาบซึ่งเคยเป็นสถานที่ดึงนักท่องเที่ยวกลับกลายเป็นสถานที่อันตราย

นอกจากนี้ ประเทศยากจนอาจจะไม่ได้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบฝ่ายเดียว แต่ความยากจนอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น และคนที่ไร้ที่อยู่จากสงครามกับภัยแล้งจะอพยพไปยังประเทศร่ำรวย

เรียบเรียงจาก cbsnews, cnn, time, theconversation