ThaiPublica > Sustainability > Headline > เอดีบีเพิ่มเป้าระดมเงิน 1 แสนล้านดอลล์ ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เอดีบีเพิ่มเป้าระดมเงิน 1 แสนล้านดอลล์ ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

13 ตุลาคม 2021


มะนิลา ฟิลิปปินส์ (13 ตุลาคม 2564) – ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือเอดีบี ประกาศจะยกระดับเป้าหมายการจัดหาเงินทุนให้ถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปี 2562-2573 เพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change

“การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชียและแปซิฟิกอาจจะชนะหรือแพ้ก็ได้” นายมาซาสึกุ อะซาคาวา ประธานเอดีบีกล่าว “วิกฤตสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลงทุกวัน และกระตุ้นให้เกิดการเรียกร้องในการยกระดับทางการเงินเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งขณะนี้เรากำลังดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามการเรียกร้องดังกล่าว โดยจะเพิ่มเป้าการจัดหาเงินทุนสะสมของเราขึ้นเป็น 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จากแหล่งเงินทุนของธนาคารเองภายในปี 2573”

ในปี 2561 เอดีบีมุ่งมั่นที่จะดำเนินการงานด้านสภาพอากาศให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 75 ของการดำเนินงานทั้งหมด และแหล่งเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของธนาคารเองจะมีมูลค่าสะสมอย่างน้อย 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2573 ซึ่งการประกาศในวันนี้เป็นการเพิ่มเป้าหมายการจัดหาเงินทุนจากแผนดังกล่าว

เอดีบีคาดว่าการจัดหาเงินทุนสะสมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากแหล่งเงินทุนของธนาคารเองในปี 2562-2564 จะสูงถึง 17 พันล้านเหรียญสหรัฐ

การขยายเป้าหมายในการจัดหาเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนประกอบสำคัญของความพยายามในการสนับสนุนประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาของเอดีบี เมื่อเผชิญกับความท้าทายที่เชื่อมโยงถึงกันระหว่างการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาหลายประเทศจึงเร่งดำเนินการส่งเสริมการฟื้นตัวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยืดหยุ่น และครอบคลุมอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับเงินเพิ่มเติมอีก 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐนั้น จะให้การสนับสนุนวาระด้านสภาพภูมิอากาศใน 5 ด้านหลักดังต่อไปนี้:

  • ประการแรก วิธีการใหม่ๆ ในการบรรเทาสภาพอากาศ รวมถึงการกักเก็บพลังงาน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการขนส่งคาร์บอนต่ำ เอดีบีคาดว่าเงินทุนสะสมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสภาพอากาศจะสูงถึง 66 พันล้านเหรียญสหรัฐ
  • ประการที่สอง การยกระดับโครงการเกี่ยวกับการปรับตัวต่างๆ และโครงการในภาคที่อ่อนไหวต่อสภาพอากาศนั้น เช่น การพัฒนาเมือง ภาคเกษตรกรรม และการบริหารจัดการน้ำ โดยโครงการเหล่านั้นจะถูกออกแบบเพื่อให้สามารถปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้น เอดีบีคาดว่าเงินทุนสะสมเพื่อการปรับตัวดังกล่าวจะสูงถึง 34 พันล้านเหรียญสหรัฐ
  • ประการที่สาม การยกระดับทางการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศสำหรับการปฏิบัติการภาคเอกชนของเอดีบี ซึ่งรวมถึงโครงการที่มีความเป็นไปได้เชิงพาณิชยสำหรับทั้งเอดีบีเองและภาคเอกชน การปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติการ ความต้องการเงินกู้หลังฟื้นฟูจากโควิด-19 การสนับสนุนทางการเงินแก่เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสภาพภูมิอากาศ และธุรกิจภาคเอกชนเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศประเภทใหม่ๆ เอดีบีตั้งใจจะสนับสนุนความริเริ่มเหล่านีด้วยเงินทุนสะสมสำหรับการปฏิบัติการภาคเอกชนเพื่อสภาพภูมิอากาศจากแหล่งเงินทุนของธนาคารเองจำนวน 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจากการร่วมระดมทุนจากภายนอกจำนวน 18 – 30 พันล้านเหรียญสหรัฐ
  • ประการที่สี่ การสนับสนุนการฟื้นตัวจากโควิด-19ที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน ยืดหยุ่น และส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ผ่านนวัตกรรมทางการเงินบนแพลต์ฟอร์ม เช่น กองทุน ASEAN Catalytic Green Finance Facility และ Green Recovery Platformซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มแหล่งเงินทุนจากทั้งตลาดทุนและนักลงทุนเอกชนที่เน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
  • ประการที่ห้า การสนันสนุนการปฏิรูปในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้เกิดกิจกรรมผ่านการปล่อยสินเชื่อเชิงนโยบายและสถาบันที่สนับสนุนการปรับตัวและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • นอกจากนั้น เอดีบียังคงขยายการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและระดมเงินทุนภาคเอกชนสำหรับการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง

    เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยังยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค