ลำบาก “เหมือนกัน” แต่ “ไม่เท่ากัน” — โควิด-19 “ยิ่งจนยิ่งเจ็บ”
ภายใต้ภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งตามมาด้วยการล็อกดาวน์ ไหนจะสถานการณ์การจัดหาและจัดสรรวัคซีนที่ดูจะล่าช้าเป็นอย่างมาก ย่อมทำให้ใครๆ ต่างก็รู้สึกลำบากกันทุกคนทุกชนชั้น เธอก็ลำบาก ฉันก็ลำบาก เขาก็ลำบาก ขนาดไอ้คนที่ฉันเกลียดนั่นมันก็ยังลำบาก มองไปทางไหนก็มีแต่คนลำบากด้วยกันทั้งนั้น และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจเลยหากจะเห็นคนที่ดูยังไงก็รวยกว่าเรามากๆ พูดว่าเขาเองก็ลำบาก “เหมือนกัน”
แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือลำบาก “เหมือนกัน” ที่ว่า คือเหมือนกันในระดับไหน?
รายงานเรื่อง INEQUALITY in the time of COVID-19 ของ Francisco H. G. Ferreira ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงให้เห็นว่า นอกจากการใช้ตัวชี้วัดในด้านที่ต่างกันจะทำให้เห็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แตกต่างกันไป แต่อย่างหนึ่งที่แน่นอนก็คือ ความเหลื่อมล้ำในหลายๆ ประเทศกำลังเพิ่มภายใต้การระบาดของโควิด-19 โดยในขณะที่คนรวยกำลังรวยขึ้น แต่คนจนนั้นกลับจนลงไปอีก
แล้วจะเกิดอะไรกับคนจนที่กำลังจนยิ่งขึ้นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายงาน The unequal burden of the pandemic: why the fallout of Covid-19 hits the poor the hardest ของ Nicolas Bottan, Bridget Hoffmann และ Diego A. Vera-Cossio ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ Inter-American Development Bank ก็ระบุว่าครัวเรือนที่ยากจนที่สุดในแถบลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 17 ประเทศที่ทำการศึกษานั้น ต้องเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากที่สุด ซึ่งบางส่วนอาจเพราะตลาดแรงงานเป็นภาคนอกระบบเศรษฐกิจในระดับที่สูงมาก (คำว่านอกระบบหมายถึงไม่ใช่งานที่มีรายได้ประจำเป็นเงินเดือน) แรงงานลักษณะนี้ซึ่งอยู่ในภาคการค้าปลีก การบริการ และการก่อสร้าง ต้องสูญเสียอาชีพจากการแพร่ระบาดในอัตราที่สูงมาก และแม้บางคนจะยังไม่สูญเสียงาน แต่ด้วยลักษณะงานซึ่งไม่สามารถทำที่บ้านได้ ก็ยิ่งทำให้คนในกลุ่มนี้สุ่มเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 มากกว่ากลุ่มอื่นอีก เรียกว่านอกจากเสี่ยงจะยากจนกว่าเดิม (ที่ก็คงจะยากจนกว่าเดิมแน่ๆ) แล้วยังเสี่ยงติดโควิด-19 ด้วย ซึ่งเหล่านี้นั้นล้วนแตกต่างจากครัวเรือนที่รายได้หลักมาจากการทำงานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐบาล ที่อัตราการว่างงานต่ำลง
รายงานขององค์กร Human Right Watch เรื่อง United States: Pandemic Impact on People in Poverty ก็ระบุเช่นกันว่า ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วคนที่มีรายได้สูงในสหรัฐอเมริกาแทบไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่คนที่มีรายได้ต่ำนั้นต้องเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดอย่างเกินสัดส่วน หรือก็คือรุนแรงกว่า โดยตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดมาจนบัดนี้มีคนตกงานถึง 74.7 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้นั้นก็อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้ค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงเฉลี่ยอยู่แล้ว และก็แทบไม่ต่างอะไรกับในไทย ที่หลังจากตกงานแล้วหลายคนก็ต้องนำเงินเก็บที่มีมาใช้จนหมด
หลายคนเริ่มมีความกังวลว่าจะต้องถูกไล่ออกจากที่พักอาศัยเพราะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ และมีมากมายที่เริ่มประสบปัญหาว่าไม่สามารถหาอาหารได้เพียงพอต่อการความต้องการในการดำรงชีวิต ความกังวลนี้สูงขึ้นในครัวเรือนที่มีเด็กอยู่ด้วย เพราะนั่นไม่ใช่แค่ความยากลำบากในวันนี้ แต่อาจส่งผลกระทบไปถึงวันหน้าของเด็กๆ เหล่านั้นเช่นกัน หลายคนเริ่มเป็นหนี้จากบัตรเครดิตและการกู้ยืมมาใช้จ่ายเพื่อการกินอยู่ในชีวิตประจำวัน
รายงานดังกล่าวยังระบุอีกด้วยว่า เมื่อสิ้นเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 หรือก็คือต้นปีที่ผ่านมา ผู้ใหญ่มากกว่า 24 ล้านคนประสบปัญหาอดมื้อกินมื้อบางครั้งหรือกระทั่งบ่อยครั้งภายในช่วง 7 วันก่อนทำการสำรวจ จำนวนดังกล่าวนี้มากกว่าในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 ถึง 5 ล้านคน โดยที่ในช่วงนั้นคนก็เริ่มประสบปัญหาความยากลำบากในการหาอาหารเพื่อการดำรงชีวิตสูงกว่าก่อนการแพร่ระบาดแล้ว
ที่ยิ่งไปกว่านั้น ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ยังฟื้นฟูตัวเองได้ยากกว่าด้วยปัจจัยอีกหลายประการ เช่น ความไม่มั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้คนที่จนอยู่แล้วเหล่านี้ยิ่งจนมากขึ้นไปอีก และยังสุ่มเสี่ยงจะกระเทือนถึงสิทธิของพวกเขาด้วย
แม้แต่ในประเทศไทยเอง บทความภาษาอังกฤษบนเว็บไซต์สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) เรื่อง Easing pandemic pain among the poor โดย Somchai Jitsuchon ระบุว่า คนในกลุ่มเปราะบางนั้นได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากกว่ากลุ่มอื่นมาตั้งแต่การแพร่ระบาดเริ่มต้นขึ้น เพราะส่วนใหญ่แล้วคนในกลุ่มนี้จะทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบซึ่งไม่มีทั้งรายได้ประจำและความมั่นคงในการทำงาน ยิ่งไปกว่านั้น บุตรหลานในครอบครัวลักษณะนี้ยังต้องเผชิญผลด้านอื่นจากการแพร่ระบาดอย่างเรื่องของการเรียนออนไลน์ เพราะฐานะครอบครัวไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการจัดเตรียมสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนออนไลน์ให้เด็กๆ
แม้โดยผิวเผินแล้วการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้ทุกคนทุกชนชั้นต้องเผชิญกับความลำบาก เพราะวิกฤตินี้ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ที่รุนแรงระดับที่เรียกว่าสร้างดิสรัปชันอีกแบบขึ้นในทุกวงการของสังคม
แต่เมื่อดูจากข้อมูลข้างต้นก็จะพบว่า ในความรู้สึกลำบากเหมือนกันนั้น แท้จริงแล้วความลำบากที่แต่ละคนต้องเผชิญกลับไม่เท่ากัน และคำว่าไม่เท่ากันในที่นี้ก็ไม่ได้มาจากความรู้สึกอันเป็นอัตวิสัย แต่มาจากตัวเลขและข้อมูลอันเป็นภววิสัยให้เห็นชัด วัดได้ จนปรากฏให้เห็นว่ามีคนบางกลุ่ม (และในบางประเทศนั้นเป็นกลุ่มใหญ่ด้วย) ที่กำลังลำบากกว่ากลุ่มอื่น
ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้มีไว้เพื่อแข่งกันลำบาก และไม่ได้มีไว้ปิดปากคนที่ลำบากน้อยกว่าคนอื่น แต่คือเพื่อให้ตระหนักถึงความจริงที่สังคมกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะในฐานะสมาชอกร่วมสังคมเดียวกัน หรือรัฐบาลที่ต้องบริหารให้สังคมก้าวไปข้างหน้าโดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
เพราะผลจากความลำบากที่คนกลุ่มที่ลำบากกว่าต้องเผชิญจะไม่หยุดอยู่แค่วันนี้ มันจะยาวนานไปจนถึงวันที่การแพร่ระบาดทุเลาเบาบางหรือกระทั่งหมดไปแล้วด้วยซ้ำ
ถ้าเพียงแต่พวกเขาจะยังรอดไปจนถึงวันนั้น…